รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2501
รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 เกิดขึ้นหลังจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ล้มรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม แล้วได้มอบหมายให้พจน์ สารสิน เอกอัครราชทูตไทยประจำ สหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดการเลือกตั้ง และมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 ต่อมา วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สาเหตุการเมืองในรัฐสภาไม่สงบ เนื่องจากบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องเอาผลประโยชน์และมีการขู่ว่าหากไม่ได้ตามที่ร้องขอจะถอนตัวจากการสนับสนุนรัฐบาล เป็นต้น พลโท ถนอม กิตติขจรก็ไม่อาจควบคุมสถานการณ์ได้ ประกอบกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ก็ได้เดินทางไปต่างประเทศเพื่อรักษาโรคประจำตัว เมื่อเดินทางกลับมาในเช้าวันจันทร์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 พลเอกถนอม กิตติขจรจึงเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรกราบถวายบังคมทูลลาออกในเวลาเที่ยงของวันเดียวกัน ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน[1] แต่ยังไม่ได้ประกาศให้แก่ประชาชนทราบโดยทั่วกันกระทั่งเวลา 20.45 น. จึงได้มีการประกาศเรื่องพลเอกถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง[2] โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังคุกคาม[3] โดยมีคำสั่งคณะปฏิวัติให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกสถาบันทางการเมือง ได้แก่ พรรคการเมือง เป็นต้น[4] ผลลัพธ์จากนั้นตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จนถึงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2502 คณะปฏิวัติได้มีประกาศคณะปฏิวัติออกมาทั้งหมด 57 ฉบับ มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการแต่งตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง มีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ซึ่งมีเพียงสั้น ๆ 20 มาตราเท่านั้น ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ก็มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเพียง 14 คนเท่านั้น โดยไม่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง รัฐประหารครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น การยึดอำนาจตัวเอง ก็ว่าได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ส่งผลให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จากรัฐธรรมนูญ มาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดการกับบุคคลที่ก่อความไม่สงบได้ทันที แล้วจึงค่อยแจ้งต่อสภา ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ในการควบคุมสถานการณ์ของประเทศ เช่น การปราบปรามฝิ่น มีการเผาฝิ่นที่ท้องสนามหลวงเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2502 และเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน มีเหตุเพลิงไหม้ติดกันถึง 3 ครั้ง เป็นที่ฝั่งธนบุรี 2 ครั้ง และที่บางขุนพรหมอีก 1 ครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ จอมพลสฤษดิ์เป็นผู้อำนวยการดับเพลิงเอง ต่อมาได้มีการจับกุมผู้วางเพลิงได้ทั้งหมด 3 ราย เป็นคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งทั้งหมดยอมรับว่ารับจ้างมาเพื่อวางเพลิง จึงมีคำสั่งตามมาตรา 17 ให้ประหารชีวิตบุคคลทั้ง 3 ในที่สาธารณะ จากมาตรา 17 นี้ ได้ประหารบุคคลที่สงสัยว่าจะก่อความไม่สงบหลายรายหรือข้อหาคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน เช่น ศิลา วงศ์สิน และศุภชัย ศรีสติ ในข้อหาผีบุญ, ครอง จันดาวงศ์ และทองพันธ์ สุทธิมาศในข้อหาเดียวกัน ที่สนามบินอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นต้น ซึ่งจากเหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลให้เป็นการกดดันชาวบ้าน ประชาชนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากรัฐบาล จึงทำให้ชาวบ้านหลายคนต้องหลบเข้าป่าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จนทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "วันเสียงปืนแตก" เมื่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (พกค.) ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยปืนเป็นครั้งแรกที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 คณะปฏิวัติสิ้นสุดลงเมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเสนอชื่อจอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 สภาร่างรัฐธรรมนูญสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญคณะที่ 2 ของประเทศไทยแต่งตั้งขึ้นตามอำนาจแห่ง ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับถาวร สภาร่างรัฐธรรมนูญมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 240 คนเปิดประชุมสภาครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2502 โดยสมาชิกส่วนมากประกอบไปด้วยทหารและข้าราชการโดยมีพลเอก สุทธิ์ สุทธิสารรณกร นายทหารคนสนิทของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสภาคนแรก หลังจากร่างได้ 9 ปีกว่าพลเอกสุทธิ์ก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมในปีพ.ศ. 2511 นาย ทวี บุณยเกตุ รองประธานสภาจึงขึ้นเป็นประธานสภาแทน ในวันที 21 มิถุนายน พ.ศ. 2511 รัฐธรรมนูญฉบับถาวรได้ประกาศใช้สภาร่างรัฐธรรมนูญจึงสิ้นสุดลง ดูเพิ่ม
อ้างอิง
วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ:
แหล่งข้อมูลอื่น
|