Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(ฉบับชั่วคราว)
พุทธศักราช 2557
ข้อมูลทั่วไป
ผู้ตราคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ผู้ลงนามสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามิทราธิราช บรมนาถบพิตร
วันลงนาม22 กรกฎาคม 2557
ผู้ลงนามรับรองพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
(หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ)
วันลงนามรับรอง22 กรกฎาคม 2557
วันประกาศ22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557
(ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131/ตอนที่ 55 ก/หน้า 1-17)
วันเริ่มใช้22 กรกฎาคม 2557
ท้องที่ใช้ ไทย
ผู้ยกร่างวิษณุ เครืองาม และคณะ
การแก้ไขเพิ่มเติม
การยกเลิก
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560แทน
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นฉบับชั่วคราว จัดทำร่างโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตและทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 131 ตอนที่ 55 ก และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายทันที แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ที่มา

วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ก่อรัฐประหาร ทำให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง คณะที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และในวันเดียวกัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง เว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ [1][2]

ทั้งนี้ ในอารมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ระบุว่า การจัดให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อยู่ในแนวทางการแก้ปัญหาระยะที่ 2 จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้กำหนดไว้ทั้งสิ้น 3 แนวทาง ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาระยะที่ 2 จะจัดให้มีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จัดตั้งสภาขึ้นทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ ให้มีคณะรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินแก้ไขสถานการณ์อันวิกฤติให้กลับคืนสู่สภาวะปกติ จัดตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและองค์กรต่างๆ เพื่อให้มีการปฏิรูปในด้านการเมืองและด้านอื่นๆ และให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก่อนจะส่งมอบภารกิจเหล่านี้แก่ผู้แทนปวงชนชาวไทยและคณะรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินในระยะต่อไป ซึ่งในการดำเนินการนี้จะให้ความสำคัญแก่หลักการพื้นฐานยิ่งกว่าวิธีการในระบอบประชาธิปไตย จึงจำเป็นต้องใช้เวลาสร้างบรรยากาศแห่งความสงบเรียบร้อยและปรองดอง เพื่อนำความสุขที่สูญหายไปนานกลับคืนสู่ประชาชน และปฏิรูปกฎเกณฑ์บางเรื่องที่เคยเป็นชนวนความขัดแย้ง จึงให้มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จนกว่าจะได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะจัดทำขึ้นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป[1]

วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557 มีประกาศว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อให้มีผลใช้บังคับแทนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม เป็นหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ [3]

วันที่ 22 มีนาคม 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานพระบรมราชานุญาตและลงพระปรมาภิไธย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 133 ตอนที่ 25 ก [4]

ในวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ที่กำหนดให้มีการแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่มเติมจากเดิม 220 คนเป็น 250 คน โดยได้มีการประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2559 [5]

เนื้อหา

รัฐธรรมนูญนี้มีทั้งหมด 48 มาตรา

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดทางให้สถาปนาสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อใช้อำนาจนิติบัญญัติ คณะรัฐมนตรีชั่วคราวเพื่อรับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน สภาปฏิรูปแห่งชาติ (และต่อมาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) เพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างกว้างขวางและอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่แน่นอนสำหรับงานเหล่านี้[6]

รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีชั่วคราว โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีสมาชิก 200 คน มาจากการเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเกินกึ่งหนึ่งเป็นนายทหาร[7] สภาปฏิรูปแห่งชาติมีสมาชิก 250 คน ซึ่งมาจากการเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเช่นกัน[8]

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังกำหนดการเตรียมรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีสมาชิก 35 คน โดย 20 คนมาจากสภาปฏิรูป 5 คนมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 5 คนมาจากคณะรัฐมนตรีชั่วคราว และ 5 คนมาจาก คสช.[3] สภาปฏิรูปจะอนุมัติร่างรัฐธรรมนูญก่อนกราบทูลฯ พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยผ่านเป็นกฎหมาย[8] เดิมกำหนดให้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับร่างได้รับอนุมัติจากพลเรือนในการลงประชามติทั่วประเทศก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทว่า คสช. ไม่อนุมัติข้อกำหนดดังกล่าว และข้อกำหนดนี้ถูกลบไป[3] รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะกำหนดให้ คสช. ควบคุมคณะรัฐมนตรีชั่วคราวและให้อำนาจ คสช. ออกคำสั่งใด ๆ ที่เห็นว่าชอบด้วยกฎหมายเพื่อความมั่นคงของชาติ[7]

บทบัญญัติทั่วไป

มาตรา 1 และ 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยวและปกครองแบบ "ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"[9] มาตรา 3 กำหนดว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" มาตรา 4 รับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของชาวไทย

มาตรา 5 ว่า เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตราบที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้

มาตรา 44

"ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว"

การใช้อำนาจตามมาตรานี้ยังปรากฏภายหลังจากที่ราชอาณาจักรไทยประเทศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในการออกคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ[10]เนื่องจาก มาตรา 265 บัญญัติว่า ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้ รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่

ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2559 และให้ถือว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติยังคงมีผลใช้บังคับได้ต่อไป ให้นำความในมาตรา 263 วรรคเจ็ด มาใช้บังคับแก่การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม


ข้อวิจารณ์

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าไม่เป็นประชาธิปไตยและยิ่งเสริมอำนาจของทหาร โดยมาตรา 48 ซึ่งนิรโทษกรรมความผิดของทหารทั้งในอดีตและอนาคต และให้สิทธิคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการออกคำสั่งใดๆ เพื่อการปฏิรูปหรือความมั่นคง และคำสั่งเหล่านั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมาย[11]

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้อำนาจแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเหนืออำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการซึ่งคล้ายคลึงกับธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาตรา 17 ที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้ร่าง ทำให้ผู้เผด็จการสั่งการฆ่าคนนอกกระบวนการยุติธรรมได้ โดยจอมพลสฤษดิ์ สั่งประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากที่ถูกกล่าวหาความผิดอาญาโดยไม่มีการไต่สวนในศาลอย่างเหมาะสม อาชญากรรมที่ถูกกล่าวหานั้นมีตั้งแต่วางเพลิง เป็นคอมมิวนิสต์ ประกาศตนเป็นนักบุญซึ่งจอมพลสฤษดิ์ เห็นว่าเป็นภัยคุกคามต่อราชบัลลังก์[12] นักการเมืองจากพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แสดงความกังวลต่อมาตรานี้ และขอให้ คสช. ใช้อำนาจในมาตรานี้ตามความจำเป็น[13][14][15]

ปฏิกิริยา

วันที่ 31 กรกฎาคม เมื่อเวลา 18.20 น. มีผู้ประท้วงสวมหน้ากากกาย ฟอคส์ 7 คน ชุมนุมที่บีทีเอสสกายวอล์คช่องนนทรีเป็นเวลาห้านาที พร้อมถือป้ายแสดงข้อความต่อต้านนิรโทษกรรม ฯลฯ ผู้ประท้วงคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตนต้องการยืนยันว่า นิรโทษกรรมให้ตัวเองนั้นยอมรับไม่ได้ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ทำ และ "ฉันคิดว่าผู้คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ เมื่อปีที่แล้วควรออกมาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฉบับร่วมกับเรา ไม่ใช่เฉพาะฉบับที่เสนอโดยคนที่ไม่ชอบ"[16]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-08-01. สืบค้นเมื่อ 27 October 2015., เล่ม ๑๓๑, ตอน ๕๕ ก, ๒๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗, หน้า ๑-๑๗
  2. "คสช. ประกาศสิ้นสุด รธน. คงอำนาจ สว". Post Today. 2014-05-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-24. สืบค้นเมื่อ 2014-05-22.
  3. 3.0 3.1 3.2 "คสช. สั่งตัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่". Isara News. 2014-06-23. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 133 ตอนที่ 25 ก
  5. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2559 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอน 77 ก หน้า 1 1 กันยายน พ.ศ. 2559
  6. Taweporn (2014-07-24). "2014 Interim Charter to re-engineer Thai political landscape". Prachatai. สืบค้นเมื่อ 2014-07-27.
  7. 7.0 7.1 "คาดทหารนั่ง สนช. ครึ่งสภาจาก 200 คน - รธน. ชั่วคราว ม. 17 คงอำนาจเหนือ รบ". Isara News. 2014-06-26. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
  8. 8.0 8.1 "เปิดสเปค สภาปฏิรูป - สนช. คสช. เลือกเอง". Prachatai. 2014-06-20. สืบค้นเมื่อ 2014-06-27.
  9. คือ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยระบบรัฐสภา
  10. ประเทศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
  11. Elizabeth Jackson (2014-07-27). "Thai military announces new constitution". ACB News. สืบค้นเมื่อ 2014-07-27.
  12. Noranit Setabutr (2007). รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย (pdf). Bangkok: Thammasat University Press. p. 173–176. ISBN 9789745719996.
  13. 'นิพิฏฐ์' ห่วง ม.44 รอดู คสช.ใช้อำนาจ, ไทยรัฐ, 24 กรกฎาคม 2557
  14. 'จาตุรนต์'แนะ คสช.ใช้อำนาจ ตามจำเป็น, ไทยรัฐ, 24 กรกฎาคม 2557
  15. 'มาร์ค' ขอคสช. ขยายความอำนาจพิเศษ ม.44 ให้ชัด, ไทยรัฐ, 24 กรกฎาคม 2557
  16. "Guy Fawkes protesters oppose amnesty for coup makers". Prachatai. 2014-07-31. สืบค้นเมื่อ 2014-08-03.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ถัดไป
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
(24 สิงหาคม 2550 - 6 เมษายน 2560)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
(22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 - 6 เมษายน พ.ศ. 2560)
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
(6 เมษายน 2560 - ปัจจุบัน)
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9