รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 มีที่มาจากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 21 คน มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ สมาชิก คสช. เป็นประธาน[1] เมื่อร่างเสร็จแล้ว มีการลงประชามติในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 61.35 เห็นชอบ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 หลังมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติตามพระบรมราชวินิจฉัย จำนวนมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมด 279 มาตรา มากเป็นอันดับที่ 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจากกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาไทย ชุดที่ 12 จำนวน 250 คน ที่ทำหน้าที่ในช่วง 5 ปีแรก มาจากการแต่งตั้งหรือคัดเลือกโดย คสช. ทั้งหมด ทำให้ถูกมองว่าองค์กรอิสระถูกควบคุมโดย คสช. ในทางอ้อม นอกจากนี้ การรณรงค์ให้ความรู้และให้ลงมติคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญถูกปิดกั้น และคำถามพ่วงในประชามติมีความซับซ้อนเข้าใจยาก ซึ่งมีผลให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้เช่นเดียวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนเนื้อหาอื่น เช่น การแก้ไขให้ "สิทธิ" หลายประการของประชาชนกลายเป็น "หน้าที่" ของรัฐ ตลอดจนบทเฉพาะกาลที่รับรองบรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกวิจารณ์และมีการเรียกร้องให้แก้ไขเพิ่มเติมอยู่หลายครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพียงครั้งเดียวคือเพื่อเปลี่ยนระบบการเลือกตั้ง ส่วนประเด็นยกเลิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ประวัติคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เกิดรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐประหารมีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ต่อมาในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งกำหนดให้มี "คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ" (กรธ.) ประกอบด้วยสมาชิก 36 คน สรรหามาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คณะรัฐมนตรี (ครม.), และ คสช. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ วันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง กยร. ซึ่งมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน[2] ทั้งนี้การร่างรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งโรดแมปสำคัญของ คสช. ก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งครั้งถัดไป[3] ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ กยร. เดิมมี 315 มาตรา หลังจากได้รับข้อเสนอของ สปช. แล้ว กยร. ได้ปรับแก้เนื้อหาให้เหลือ 285 มาตรา[4] แต่ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558 สปช. มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของ กยร.[5] ส่งผลให้ สปช. และ กยร. สิ้นสุดลงในวันนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558 กำหนดให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ขึ้นแทน กยร. ชุดเดิม[6] วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558 คสช. จึงแต่งตั้ง กรธ. โดยมีมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน[1] สมาชิกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีดังนี้
กรธ. ชุดนี้พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561[7][8] เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ
29 มกราคม พ.ศ. 2559 กรธ. ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นผ่านเว็บไซต์ของรัฐสภา[9] 30 มีนาคม พ.ศ. 2559 หนังสือพิมพ์ สเตรดไทมส์ เขียนว่า ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะให้คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองมีอำนาจในรัฐสภาอีกห้าปี โดยจะได้แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน โดยสงวนหกที่นั่งไว้ให้ผู้บัญชาการทหารและตำรวจ นอกจากนี้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ ยังมีบทเฉพาะกาลให้สภาผู้แทนราษฎรเลือกนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง[10] 10 เมษายน พ.ศ. 2559 หนังสือพิมพ์ ประชาไท ลงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตัดสิทธิของบุคคลได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ "อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ" แต่กำหนดให้เป็น "หน้าที่ของรัฐ"[11] เนื้อหาในรัฐธรรมนูญชุดนี้ที่เปลี่ยนไป มีการตัดมาตรา 5 องค์กรแก้วิกฤต แก้ไขมาตรา 12 คุณสมบัติองคมนตรีที่ต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาตรา 15 อำนาจการแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์พ้นจากตำแหน่งขึ้นอยู่กับพระราชอัธยาศัย มาตรา 16 มาตรา 17 การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ เมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร มาตรา 19 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเคยได้รับการแต่งตั้งและปฏิญาณตนมาแล้ว ไม่ต้องปฏิญาณตนที่รัฐสภาอีก และมาตรา 182 เกี่ยวกับเรื่องผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ[12] รวมทั้งการเพิ่ม มาตรา 65 ที่บัญญัติให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ[13] การลงประชามติ26 มีนาคม พ.ศ. 2559 โฆษก กรธ. แถลงว่า กรธ. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต่อมาวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2559 สนช. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. .... วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาห้ามรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ[14] 9 เมษายน พ.ศ. 2559 สนช. เห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มคำถามประชามติให้สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่[15] 19 เมษายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ[16]
7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติ ผลปรากฏว่า ร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเรื่องอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนข้างมากของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จากนั้น กรธ. นำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงในบางมาตราและในบทเฉพาะกาลเพื่อให้เข้ากับคำถามพ่วงเป็นเวลา 30 วัน หลังจากนั้น ส่งร่างคืนนายกรัฐมนตรีให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ดี มีการวิเคราะห์ว่าเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านประชามติเป็นเพราะแนวคิด "รับไปก่อน จะได้เลือกตั้ง" รวมทั้งมีการจับกุมและดำเนินคดีต่อผู้รณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหลายกรณี[17] "ข้อสังเกตพระราชทาน" และการประกาศใช้วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เพื่อลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับที่ 20 และประทับตราพระราชลัญจกร นับเป็นพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญและรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญในรอบ 48 ปี 9 เดือน 2 สัปดาห์ 3 วัน[18]นับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ที่มีรัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ฉบับที่ 8 อนึ่ง ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้น ได้ทรงมอบ "ข้อสังเกตพระราชทาน" และให้รัฐบาลแก้ไขให้เป็นไปตามข้อสังเกตดังกล่าว[19] ได้แก่ มาตรา 5, 17 และ 182[20] ใจความสำคัญคือ 1) ตัดข้อความที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกประชุมประมุขสามอำนาจเพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง, 2) พระมหากษัตริย์ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และ 3) ผู้รับสนองกฎหมาย พระบรมราชโองการและประกาศพ้นจากความรับผิดชอบ[21] เป็นการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามพระราชประสงค์หลังจากมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ข้อวิจารณ์ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น จากภาควิชาการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งมีผลงานเขียนเกี่ยวกับประเทศไทยในหลายประเด็น วิจารณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญชุดนี้ในทำนองว่า "ทำให้ทหารมีที่ยืนอย่างถาวรในรัฐบาล เพื่อให้การแทรกแซงกลายเป็นเรื่องปกติ"[22] รวมไปถึง ส.ว. มาจากการคัดเลือกของ คสช. และมีวาระ 5 ปี ซึ่งนานกว่าชุดอื่น ทั้งยังมีอำนาจร่วมออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจกำกับดูแลให้รัฐบาลชุดใหม่ต้องทำตามยุทธศาสตร์ที่ คสช. จัดทำขึ้น[23] สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,164 คน ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ใหม่ โดยส่วนใหญ่มองว่า เป็นฉบับปราบโกง เน้นป้องกันทุจริต แต่จุดอ่อนเป็นการสืบทอดอำนาจของ คสช.[24] ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งสามารถเลือกได้เพียงตัวเลือกเดียวเพื่อเลือกทั้งผู้สมัครและพรรคการเมือง มีการแถลงความมุ่งหมายของระบบดังกล่าวไว้ว่า เพื่อให้พรรคการเมืองส่งผู้สมัครที่ดีที่สุด ไม่ใช่ส่ง "เสาโทรเลข" อย่างไรก็ตาม ความมุ่งหมายแฝงเร้น คือ ป้องกันพรรคการเมืองขนาดใหญ่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 จึงเกิดยุทธศาสตร์ "พรรคแบงก์ย่อย" ซึ่งพรรคการเมืองพันธมิตรของทักษิณ ชินวัตร มีการตั้งพรรคการเมืองหลายพรรคแล้วส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อแยกกัน[25] นอกจากนี้ ยังมีปรากฏการณ์ครึกโครมที่พรรคพลังประชารัฐดึงตัวผู้สมัครในช่วงปี พ.ศ. 2561[26] นอกจากนี้ แม้รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเปิดเผยชื่อบุคคลที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 88 แต่มาตรา 272 เปิดช่องให้รัฐสภาพิจารณาบุคคลนอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอมาได้ อีกทั้ง ส.ว. ชุดแรกซึ่งมีวาระ 5 ปียังมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 272 ได้ หมายความว่า ส.ว. ดังกล่าวจะมีอำนาจลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้ 2 คน (หากคิดวาระคนละ 4 ปี)[26] กฎหมายไม่ได้กำหนดสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่ชัดเจน แต่ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 คณะกรรมการการเลือกตั้งเลือกตีความให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ และพรรคอนาคตใหม่เสียประโยชน์[27] ทั้งที่พรรคเล็กเหล่านั้นเสียงไม่ถึงคะแนนขั้นต่ำที่ได้รับจัดสรร ส.ส. พึงมี[28] ในปี 2565 รัฐสภามีมติให้ใช้ระบบคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับทั้งประเทศหาร 500 (ซึ่งอาจทำให้เกิดเหตุการณ์การตีความแบบในปี 2562) ทำให้พรรคเพื่อไทยเตรียมยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่[29] ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเนื้อหาเนื้อหาโดยย่อของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ให้รายละเอียดนั้น ให้รายละเอียดไว้ว่า[30] ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เป็นกรอบนโยบายหลักที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศไทยในระยะยาว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้แก่ประเทศไทย ยุทธศาสตร์ชาตินี้มีลักษณะเป็นแผนที่ครอบคลุมหลากหลายด้าน ซึ่งจะบังคับใช้เป็นระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี เพื่อตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในอนาคต ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีถูกแบ่งออกเป็น 6 ด้านหลัก ซึ่งแต่ละด้านมีเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ดังนี้:
นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยให้การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง ในทางปฏิบัติ การดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะถูกกำกับดูแลและประเมินผลโดยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าและการประเมินผลเป็นระยะ เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายและสามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนการพัฒนาที่ยาวนานและครอบคลุมหลายด้าน ซึ่งต้องการความร่วมมือและความตั้งใจจริงจากทุกภาคส่วนของสังคมในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต ข้อวิจารณ์แม้จะมีความตั้งใจดีในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศในระยะยาว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ผูกมัดให้รัฐบาลในอนาคตต้องปฏิบัติตามแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้ ส่งผลให้เกิดระบอบการปกครองที่เรียกว่า 'ประชาธิปไตยที่มีกองทัพชี้นำ' รวมทั้งลดทอนบทบาทของนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น[31] การนี้ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจอีกด้วย งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พบว่า ตัวยุทธศาสตร์ชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาความไม่ต่อเนื่องของนโยบายของรัฐที่เกิดจากความไร้เสถียรภาพทางการเมือง แต่การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด เนื่องจากปัญหาทางการเมืองไทยล้วนเกิดจากการแทรกแซงจากกองทัพและชนชั้นนำ[32] นอกจากนี้ยังมีการแสดงให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือยและความไร้ประสิทธิภาพในหลาย ๆ ด้าน
ไอลอว์รายงานว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์ที่มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565 พบว่ามีกฎหมายปฏิรูปประกาศใช้แล้วเพียง 2 ฉบับจากเป้าหมาย 45 ฉบับ รวมทั้งมีบางแผนปฏิรูปที่กำหนดเป้าหมายให้บรรลุตั้งแต่ยังไม่เริ่มทำงาน[33] วุฒิสภาวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารทั้งหมด อีกทั้งมีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือสำหรับสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[34] ไอลอว์ยังรายงานว่าสมาชิกวุฒิสภามีการแต่งตั้งญาติของตัวเองเข้ามาเป็นคณะทำงาน และออกเสียงร่างกฎหมายไปในทิศทางเดียวกันถึงร้อยละ 98[35] มีการเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง เหลือเป็นสภาเดี่ยว ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องสำคัญข้อหนึ่งของการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ในปี 2562 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณให้สัมภาษณ์ว่า มั่นใจว่าจะควบคุม ส.ว. ได้เพราะตั้งมาเอง[36] และในปี 2565 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐให้สัมภาษณ์ว่า เชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐจะยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป เพราะมี ส.ว. สนับสนุน[37] การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงในการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ตั้งต่อข้อเรียกร้องสามประการที่เสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 มีการเสนอญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ญัตติทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีการอภิปรายร่วมของรัฐสภาและลงมติในวันที่ 24 กันยายน 2563 ในวันดังกล่าว รัฐสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ อันเป็นผลให้เลื่อนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญออกไปอย่างน้อย 1 เดือน[38] หลังจากนั้นมีการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญในวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งจะไม่แก้ไขรัฐธรรมูญหมวด 1 และหมวด 2 และไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ส่วนร่างที่ไอลอว์รวบรวมรายชื่อกว่า 1 แสนรายชื่อถูกตีตก
ในเดือนมีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านการลงประชามติ 2 ครั้ง เพื่อให้ความเห็นชอบว่าจะให้มีการแก้ไข และให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอ[40] หลังจากนั้น รัฐสภาลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวาระสาม (ซึ่งมีเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ)[41] รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 รัฐสภาลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเฉพาะของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งจากใบเดียวเป็นสองใบเท่านั้น โดยไม่สนใจได้แก้ไขเรื่องอำนาจของสมาชิกวุฒิสภา ก่อนหน้านี้ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ไม่บรรจุร่างรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยที่มีเนื้อหาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้แล้ว[42] ในเดือนกันยายน 2564 รัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, สัดส่วน สส. แบ่งเขต 400 คน กับ สส. บัญชีรายชื่อ 100 คน, และใช้สูตรเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 อีกครั้ง และผ่านวาระ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยายน ทั้งนี้พรรคก้าวไกลกับภูมิใจไทยงดออกเสียง พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย ลงมติเห็นชอบ เช่นเดียวกับสมาชิกวุฒิสภาเกินกึ่งหนึ่ง[43] ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในชื่อ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564" ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต 400 คนและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แทนใบเดียวที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 โดยสมาชิกวุฒิสภาลงมติเห็นชอบ 149 เสียง หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภา[44] นักวิชาการมองว่าระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบจะเป็นระบบที่ทำให้พรรคใหญ่ได้เปรียบโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย อาจเห็นพรรคเล็กย้ายไปอยู่รวมกับพรรคใหญ่ และพรรคพลังประชารัฐจะเผชิญกับปัญหาการต่อรองผลประโยชน์เพื่อรักษาเอกภาพของพรรค[45] ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับถัดไปในเดือนเดียวกันยังมีการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกครั้งโดยกลุ่ม Re-Solution นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ จากกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และปิยบุตร แสงกนกกุล จากคณะก้าวหน้า มีเนื้อหาตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาแล้วโอนให้มาเป็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งให้ยกเลิกวุฒิสภากลับมาใช้ระบบสภาเดี่ยว แต่รัฐสภาลงมติคัดค้านร่างดังกล่าวตั้งแต่วาระแรก[46] ในปี 2565 ปิยบุตรเป็นแกนนำในการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อให้กระจายอำนาจมากขึ้น[47] ในเดือนกันยายน 2565 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ร่าง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิบุคคลและชุมชน สิทธิและเสรีภาพของประชาชน คุณสมบัติ ที่มาของนายกรัฐมนตรี และการตัดอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา เนื่องจากถึงแม้จะได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา แต่เสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภาไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด[48]
ปัญหาสืบเนื่องรัฐธรรมนูญกำหนดห้ามบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันเกิน 8 ปี แต่เรื่องการนับวาระของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดปัญหาขึ้นว่าจะนับแบบใด เนื่องจากต่างฝ่ายต่างตีความกันไปคนละแบบ จนเกิดปัญหาข้อกฎหมายในปี 2565[49] ด้านทักษิณ ชินวัตร เชื่อว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาเพื่อต้องการกีดกันเขาคนเดียว[50] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิซอร์ซมีเอกสารต้นฉบับในเรื่องนี้: รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
|