Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

รัฐนิยม

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ขณะตรวจสอบนักเรียน
จอมพล แปลก กล่าวสุนทรพจน์สนับสนุนกิจกรรมการเกษตร

รัฐนิยม เป็นแนวปฏิบัติทางวัฒนธรรมซึ่งคณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 9 (พ.ศ. 2481–2485) กำหนดแก่ประชาชนชาวไทย[1] มุ่งหมายให้เป็นประเพณีนิยมของรัฐ ทำนองเดียวกับพระราชนิยมที่กำหนดขึ้นจากความนิยมส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์[1]

รัฐนิยมมีทั้งสิ้น 12 ฉบับ[1] ฉบับแรกออกในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นวันชาติ[2] ฉบับสุดท้ายออกในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2485[3]

ประวัติ

คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 9 ซึ่งมีจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น มีนโยบายปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยในลักษณะที่ไม่ทอดทิ้งประเพณีเดิม โดยเรียกว่า "การสร้างชาติ" และหนึ่งในวิธีการสร้างชาตินี้ คือ จัดระเบียบประเพณีบ้านเมืองเสียใหม่[4] ในปีที่ 2 ของการดำรงตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีจึงออกประกาศในเรื่องนี้เป็นฉบับแรก เรียกว่า "รัฐนิยม" โดยออกในวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ในวันดังกล่าว จอมพล แปลก แถลงทางวิทยุว่า "รัฐนิยม คือ การปฏิบัติให้เป็นประเพณีนิยมที่ดีประจำชาติ เพื่อให้บุตรหลานอนุชนคนไทยเรายึดถือเป็นหลักปฏิบัติ รัฐนิยมนี้มีลักษณะและละม้ายคล้ายคลึงกับจรรยมารยาทของอารยชนจะพึงประพฤติ"[1] และหลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ) รัฐมนตรีในคณะเดียวกัน ยังแถลงว่า "เรื่องรัฐนิยมได้กำเนิดขึ้นมาจากความวิตกหมกมุ่นของนายกรัฐมนตรีในปัญหาสำคัญอันเกี่ยวแก่ประเทศชาติ คือ ปัญหาที่คิดจะทำคนไทยให้เป็นไทยจริง ๆ โดยชั้นต้น คือ ให้คนไทยสามารถดำรงตนอยู่โดยอิสระ ขั้นที่สอง ก็คือ ฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยให้ชาวไทยได้รับความยกย่องจากนานาชาติ"[1]

การกำหนดรัฐนิยมนั้นดำเนินการโดยตั้งคณะกรรมการชื่อว่า "คณะกรรมการรัฐนิยม" มีหลวงวิจิตรวาทการนั้นเองเป็นประธาน และมีหน้าที่ร่างรัฐนิยมต่าง ๆ ขึ้นตามความต้องการของรัฐบาล[1]

รัฐบาลเลือกออกรัฐนิยมในรูปแบบประกาศเชิญชวน มากกว่าออกเป็นกฎหมายบังคับ เนื่องจากเห็นว่า "ไม่สมควรที่จะออกกฎหมายบีบบังคับราษฎรในระยะแรก ๆ เพราะอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควรถ้าจะต้องใช้วิธีบังคับ แต่การที่ค่อยเป็นค่อยไปโดยให้ราษฎรได้ซึมซับแนวปฏิบัติรัฐนิยมไปทีละน้อย น่าจะกลายเป็นลักษณนิสัยของประชาชนชาวไทยไปได้ในที่สุด"[4] ในเรื่องนี้ หลวงวิจิตรวาทการอธิบายว่า "หน้าที่ของรัฐบาล...เป็นหน้าที่ที่ก่อสร้างความถาวรวัฒนาให้แก่ประเทศชาติ... แต่การสร้างความถาวร กับการสร้างความวัฒนานั้น วิธีการไม่เหมือนกัน การสร้างความถาวรอาจอาศัยกฎหมายได้ แต่การสร้างความวัฒนานั้นไม่สะดวกที่จะใช้กฎหมาย รัฐบาลจึ่งได้จัดให้มีระเบียบการอันหนึ่งขึ้น เรียกว่า รัฐนิยม รัฐนิยมมีลักษณะเช่นเดียวกับพระราชนิยมในสมัยก่อน ผิดกันแต่ว่า พระราชนิยมเป็นมติของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว ส่วนรัฐนิยมเป็นมติของรัฐซึ่งตั้งขึ้นโดยอนุโลมตามมติมหาชนเป็นประเพณีนิยมประจำชาติ"[1]

ในโอกาสถัด ๆ มา ก็ได้ออกรัฐนิยมฉบับอื่น ๆ อีกตามลำดับ จนสิ้นอายุคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2485 จึงมีรัฐนิยมทั้งสิ้น 12 ฉบับ[1]

รัฐนิยม

รัฐนิยมมีทั้งสิ้น 12 ฉบับ เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2482 จนถึง พ.ศ. 2485 ในปีแรกนั้นออกมากถึง 6 ฉบับ แต่ในปีถัด ๆ มา ลดลงเรื่อย ๆ[1] รัฐนิยมทั้ง 12 ฉบับมีดังนี้

ฉบับที่ ลงวันที่ เรื่อง อ้างอิง
1 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รัฐนิยมใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ [2]
2 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 การป้องกันภัยที่จะบังเกิดแก่ชาติ [5]
3 2 สิงหาคม พ.ศ. 2482 การเรียกชื่อชาวไทย [6]
4 8 กันยายน พ.ศ. 2482 การเคารพธงชาติ เพลงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมี [7]
5 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย [8]
6 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ [9]
7 21 มีนาคม พ.ศ. 2482 ชักชวนให้ชาวไทยร่วมกันสร้างชาติ [10]
8 26 เมษายน พ.ศ. 2483 เพลงสรรเสริญพระบารมี [11]
9 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ภาษาและหนังสือไทยกับหน้าที่พลเมืองดี [12]
10 15 มกราคม พ.ศ. 2484 การแต่งกายของประชาชนชาวไทย [13]
11 8 กันยายน พ.ศ. 2484 กิจประจำวันของคนไทย [14]
12 28 มกราคม พ.ศ. 2485 การช่วยเหลือคุ้มครองเด็ก คนชรา หรือคนทุพพลภาพ [3]

ผลสืบเนื่อง

รัฐนิยมมีลักษณะเป็นแนวปฏิบัติ มิใช่เป็นข้อบังคับ และไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน[1] ทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือและไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก[4] คณะรัฐมนตรีชุดถัดมา คือ คณะรัฐมนตรีไทย คณะที่ 10 (พ.ศ. 2485–2487) ซึ่งมีจอมพล แปลก เป็นนายกรัฐมนตรีดังเดิม จึงหันไปผลักดันนโยบายสร้างชาติผ่านการออกกฎหมายบังคับแทน คือ พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ซึ่งวางโทษทางอาญาสำหรับผู้ฝ่าฝืน นำไปสู่การถกเถียงอย่างกว้างขวางในสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะจากสมาชิกสภาผู้ไม่เห็นด้วยกับการบีบบังคับ[4] เมื่อสิ้นคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว จึงมีการยกเลิกบทบังคับหลายประการที่ได้ประกาศใช้ไป[4] และเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 จึงกำหนดไว้ในมาตรา 66 ว่า "รัฐพึงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประจำชาติ แต่ต้องไม่กระทำโดยวิธีการอันเป็นการบังคับฝืนใจบุคคล"[15]

ในสมัยหลัง

ภาพจากแหล่งข้อมูลภายนอก
image icon ค่านิยมของคนไทย 12 ประการ (PDF). กองบัญชาการกองทัพไทย.[ลิงก์เสีย]

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คณะทหารซึ่งขึ้นสู่อำนาจด้วยการก่อรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 ได้พยายามจัดระเบียบทางวัฒนธรรมทำนองเดียวกัน ผ่านการกำหนด "ค่านิยมของคนไทย 12 ประการ"[16] และกำหนดให้นักเรียนไทยท่องจำค่านิยมนี้ทุกวันในระหว่างพิธีเคารพธงชาติตอนเช้าและในชั้นเรียน[17]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 เปรมา สัตยาวุฒิพงศ์ (2009). "รัฐนิยม: เอกสารสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม". 100 เอกสารสำคัญ: สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย: 251–318. ISBN 978-616-7070-03-2.
  2. 2.0 2.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 810. 1939-06-24.
  3. 3.0 3.1 "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 มกราคม 2485" . ราชกิจจานุเบกษา. 59 (8): 331. 1942-02-03.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 ณรงค์ พ่วงพิศ (2002). "การประกาศใช้รัฐนิยมในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481–2487)". วารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ: 20–44.
  5. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 1010. 1939-07-10.
  6. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 1281. 1939-08-07.
  7. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 กันยายน 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 810. 1939-09-09.
  8. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 2359. 1939-11-06.
  9. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 10 ธันวาคม 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 2653. 1939-12-10.
  10. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 21 มีนาคม 2482" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 3641. 1940-03-21.
  11. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 26 เมษายน 2483" . ราชกิจจานุเบกษา. 56: 78. 1940-04-30.
  12. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2483" . ราชกิจจานุเบกษา. 57: 151. 1940-06-24.
  13. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 15 มกราคม 2484" . ราชกิจจานุเบกษา. 58: 113. 1941-01-21.
  14. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 8 กันยายน 2484" . ราชกิจจานุเบกษา. 58: 1132. 1941-09-09.
  15. "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492" . ราชกิจจานุเบกษา. 66 (17): 1–80. 1949-03-23.
  16. "ค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ตามนโยบายของ คสช". อบต. ซับสมบูรณ์. 2015.[ลิงก์เสีย]
  17. "Students to recite '12 core values' of the nation daily". nationthailand (ภาษาอังกฤษ). 2014-09-17. สืบค้นเมื่อ 2021-12-06.

แหล่งข้อมูลอื่น

  • ณรงค์ พ่วงพิศ. “การประกาศใช้ ‘รัฐนิยม’ ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. 2481-2487).” วารสารประวัติศาสตร์ (2545): 20–44.
  • นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. “ระบอบรัฐนิยมของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม : การก่อรูปของแนวความคิดและความหมายทางการเมือง.” ใน ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475. พิมพ์ครั้งที่ 2. น. 363–403. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2546.
  • สุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ. “สังคมและวัฒนธรรมไทย พ.ศ. 2398-2500.” ใน เอกสารการสอนชุดวิชา ประวัติศาสตร์ไทย 10201 หน่วยที่ 8–15 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4). น. 13-1–13-62. นนทบุรี: สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2567.
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9