Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)

พระยาทรงสุรเดช
กรรมการราษฎร
ดำรงตำแหน่ง
28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 – 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 – 1 เมษายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
ดำรงตำแหน่ง
1 เมษายน พ.ศ. 2476 – 18 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(ก้อน หุตะสิงห์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด12 สิงหาคม พ.ศ. 2435
จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 (51 ปี)
พนมเปญ อินโดจีนฝรั่งเศส
พรรคการเมืองคณะราษฎร
คู่สมรสเจ้ากาบคำ ณ เชียงใหม่ (หย่า)[1][2]
คุณหญิงห่วง ทรงสุรเดช
บุตร3 คน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สยาม
 ไทย
สังกัด
ประจำการพ.ศ. 2456 – 2481
ยศ พันเอก
บังคับบัญชากองทัพไทย

พันเอก พระยาทรงสุรเดช (12 สิงหาคม พ.ศ. 2435–1 มิถุนายน พ.ศ. 2487) นามเดิม เทพ พันธุมเสน เป็นนายทหารช่างชาวไทย และเป็นหนึ่งในสี่ทหารเสือที่ร่วมก่อการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นมันสมองผู้ร่างแผนการยึดอำนาจทั้งหมด เมื่อแผนการสำเร็จ พระยาทรงสุรเดชกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทางทหารโดยพฤตินัย ต่อมาเขาเกิดขัดแย้งกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จึงลาออกจากรัฐบาลและย้ายไปประจำเชียงใหม่

ต่อมาเข้าร่วมกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปิดสภาในปี 2476 ภายหลังเป็นตัวเก็งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่พ่ายต่อหลวงพิบูลสงคราม และยังถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามล้มล้างรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามในกบฏพระยาทรงสุรเดช จึงต้องลี้ภัยไปอยู่ในอินโดจีนของฝรั่งเศสจนกระทั่งเสียชีวิตที่กรุงพนมเปญ

ประวัติ

เทพ พันธุมเสน เกิดที่บ้านพักฝ่ายบิดาริมถนนเจริญกรุง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของร้อยโท ไท้ พันธุมเสน นายทหารปืนใหญ่ เทพเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อพ.ศ. 2447 โดยพี่ชายต่างมารดาซึ่งเป็นนายทหารคือ พันตรี หลวงนฤสารสำแดง (วัน พันธุมเสน) เป็นคนฝากเข้าเรียน[3] ในระหว่างที่ศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เขาเริ่มเล็งเห็นความไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้น เทพสังเกตเห็นว่านักเรียนที่เป็นเจ้าจะมีอาหารมาส่งจากวังพญาไทและมีโต๊ะเสวยแยกจากนักเรียนทั่วไป นักเรียนที่เป็นเจ้าสามารถนั่งรถยนต์ไปฝึกภาคสนาม แต่นักเรียนทั่วไปต้องเดินเท้าไปจากโรงเรียนเท่านั้น[4] นักเรียนที่เป็นเจ้าสามารถไปเรียนเช้าเย็นกลับจากวังของตน แต่นักเรียนทั่วไปต้องพักอยู่ในโรงนอน[5] ในช่วงนี้เองบิดามารดาของเทพได้เสียชีวิตลง เทพจึงได้รับการอุปการะจากพี่ชายที่เป็นทหาร[6]

เทพจบจากโรงเรียนนายร้อยด้วยคะแนนดีเป็นอันดับต้นของรุ่นและเลือกทุนไปศึกษาวิชาทหารช่างที่จักรวรรดิเยอรมันเมื่อปีพ.ศ. 2450 หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนการสงครามปรัสเซีย (Preußische Kriegsakademie) เขาได้ประจำการเป็นนายสิบทหารช่างในมัคเดอบวร์คและเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพปรัสเซีย เทพได้รับยศร้อยตรีของสยามเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456[7] เทพเดินทางกลับสยามในปีพ.ศ. 2458 และได้รับยศร้อยโทเมื่อวันที่ 30 เมษายน ปีเดียวกัน[8]

เทพในยศร้อยโทเริ่มรับราชการในกรมทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ และเจริญก้าวหน้าตามลำดับ เทพในยศร้อยเอกได้บรรดาศักดิ์ หลวงณรงค์สงคราม เมื่อพ.ศ. 2461 จากนั้นได้เลื่อนเป็นพันตรีประจำกองพันทหารช่างรถไฟที่โคราช และได้รับมอบหมายภารกิจคุมการสร้างทางรถไฟช่วงอุโมงค์ขุนตาน–เชียงใหม่, ช่วงแปดริ้ว–อรัญประเทศ และช่วงโคราช–ท่าช้าง[3] ต่อมาได้เลื่อนเป็นพันโทและได้บรรดาศักดิ์ พระทรงสุรเดช เมื่อพ.ศ. 2467 ตำแหน่งผู้บังคับกรมทหารปืนใหญ่อยุธยา ก่อนที่จะถูกย้ายมาเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารกรมยุทธศึกษาในปีเดียวกัน

พระทรงสุรเดชเป็นผู้แต่งตำราจำนวนมาก ทั้งวิชายุทธวิธี วิชาทหารช่าง วิชาศาสตราวุธ และวิชาทหารบก[3] จึงเป็นที่นับถือโดยลูกศิษย์จำนวนมาก เมื่อพันโทพระทรงสุรเดชได้รับภารกิจไปดูงานที่ยุโรปร่วมกับพันโท พระศรีสิทธิสงคราม ในพ.ศ. 2473 ก็ได้พบกับร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส[9] พระทรงสุรเดชถูกชักชวนจากร้อยโทประยูรให้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองและเกิดความสนใจร่วมด้วย

ชีวิตครอบครัว

พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ใช้ชีวิตคู่สมรสคุณหญิงทรงสุรเดช (ห่วง พันธุมเสน) มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่

  1. นายทศ พันธุมเสน
  2. นางเทพี เศวตนาค (พันธุมเสน)
  3. นายทวีวงศ์ พันธุมเสน

การปฏิวัติสยาม

หาแนวร่วม

พระทรงสุรเดชได้พบปะกับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่น ๆ โดยการนำพาของร้อยโทประยูรในกรุงปารีส[10] ก็ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย ขณะที่พระศรีสิทธิสงครามขอถอนตัวโดยรับปากว่าจะไม่เอาความลับไปแพร่งพรายและจะติดตามดูอยู่จากวงนอกเท่านั้น[11] ภายหลังเดินทางกลับสยามก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาทรงสุรเดช เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ. 2474

พระยาทรงสุรเดชเล็งเห็นว่าพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ผู้อำนวยการโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เป็นนายทหารที่มีแนวคิดก้าวหน้าและนิยมระบอบประชาธิปไตย จึงได้ชักชวนพระประศาสน์ฯ ให้เข้าร่วมในแผนการ พระประศาสน์ฯ เคารพนับถือพระยาทรงสุรเดชเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงตอบตกลงในทันที[3] พระยาทรงสุรเดชได้ชักชวนเพื่อนร่วมงานและลูกศิษย์ของตนให้เข้าร่วมก่อการได้หลายคน ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง พันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็ขยายแนวร่วมในโรงเรียนเสนาธิการทหารบกได้อีกจำนวนมาก[3] จะเห็นได้ว่านายทหารส่วนใหญ่ในสายพระยาทรงสุรเดชไม่ได้มีกำลังพลเป็นของตนเอง แต่อาศัยความเป็นอาจารย์ในโรงเรียนทหารชักชวนเหล่าลูกศิษย์ลูกหาเป็นทอด ๆ [12] พระยาทรงสุรเดชบันทึกของแนวคิดของตนไว้ว่า "ราษฎรไทยกลัวเจ้าและนายของเขาทั้งหมดอย่างกับหนูและแมว ลำพังราษฎรจะไม่มีปัญญาคิดปลดแอกได้เลย และไม่มีใครกล้าชักชวนกันควบคุมเป็นพวกได้แม้จะต้องอดตาย..."[3]

การวางแผนตระเตรียมการ

การประชุมในประเทศสยามได้ประชุมกันสองครั้ง ครั้งแรกประชุมกันที่บ้านพักของพระยาทรงสุรเดชที่ถนนประดิพัทธ์ และครั้งที่สองที่บ้านพักของร้อยโทประยูรที่ถนนเศรษฐศิริ

การประชุมครั้งแรก พระยาทรงสุรเดชเสนอให้ใช้ทหารยึดพระที่นั่งอัมพรสถานซึ่งเป็นที่ประทับของพระปกเกล้าในเวลากลางคืน และขอถวายความอารักขาแก่ในหลวงในฐานองค์ประกัน แล้วบังคับให้ลงพระปรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย แต่แผนนี้พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ) ไม่เห็นด้วย เพราะระหว่างที่บุกเข้าไปอาจปะทะกับทหารมหาดเล็กจนนองเลือดและเสียเวลามาก และเสนอให้ก่อก่อการในช่วงที่พระปกเกล้าเสด็จแปรพระราชฐานประทับที่วังไกลกังวล

การประชุมครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาทรงสุรเดชได้เสนอแผนการทั้งหมดสามแผน

  • แผน 1 ให้นัดประชุมบรรดานายทหารที่กรมเสนาธิการ หรือที่กรมยุทธศึกษา หรือที่ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อประกาศว่าจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ผู้ใดไม่เห็นด้วยก็จะเข้าควบคุมตัวไว้ ในระหว่างนั้นคณะผู้ก่อการฝ่ายทหารเรือและพลเรือนแยกย้ายกันไปคุมตัวเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มากักตัวไว้ในพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือบนเรือรบ
  • แผน 2 ให้จัดหน่วยทหารไปคุมตามวังเจ้านายและข้าราชการคนสำคัญ ในขณะเดียวกันให้จัดหน่วยปฏิบัติการตัดการติดต่อสื่อสาร เช่น โทรเลข โทรศัพท์ และให้จัดการรวบรวมกำลังทหารไปชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยวิธีออกคำสั่งลวงในตอนเช้าตรู่แล้วประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อหน้าทหารเหล่านั้น และจัดนายทหารฝ่ายก่อการเข้าควบคุมบังคับบัญชาทหารเหล่านั้นแทนผู้บังคับบัญชาคนเดิมแล้ว ทหารก็คงจะฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาคนใหม่ต่อไป การณ์ก็คงสำเร็จลงโดยเรียบร้อยโดยมิต้องมีการต่อสู้จนเลือดนองแผ่นดิน
  • แผน 3 ให้หน่วยทหารหนึ่งจู่โจมเข้าไปในวังบางขุนพรหม และเข้าจับกุมจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้เป็นภัยต่อคณะปฏิวัติที่สุด มาประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเพื่อประกันความปลอดภัยของคณะปฏิวัติ และให้ดำเนินการอย่างอื่น ๆ ตามที่กล่าวแล้วในแผนสอง

ซึ่งทั้งหมดเห็นด้วยกับแผนสาม จึงตกลงทำตามนี้ และได้กำหนดวันดำเนินการในชั้นแรกว่าให้เป็นวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน อย่างไรก็ตาม คณะผู้ก่อการสืบทราบว่ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตมักเสด็จประพาสลำน้ำเจ้าพระยาในวันเสาร์และจะเสด็จกลับในวันจันทร์ ถ้าดำเนินการในวันอาทิตย์ก็อาจจะไม่ได้ตัวพระองค์มาเป็นองค์ประกัน จึงได้เลื่อนการปฏิบัติการไปเป็นวันอังคารที่ 21 มิถุนายน แต่ต่อมาที่ประชุมได้ตกลงเลื่อนวันปฏิบัติการไปเป็นวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน เนื่องจากได้รับรายงานว่า ในวันอังคาร เรือรบยามฝั่งยังไม่กลับ หากทำการในวันพฤหัสบดีที่ 23 ก็จะขาดทหารเรือ

ในวันพุธที่ 22 มิถุนายน ก็มีรายงานว่า บรรดาสมาชิกคณะราษฎรยังไม่พร้อมที่จะทำการยึดอำนาจในวันที่ 23 มิถุนายน ดังนั้นวันปฏิบัติจึงเลื่อนไปวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน แทน แต่ทั้งหมดก็ยังไม่รู้ว่าพระยาทรงสุรเดชจะนำกำลังทหารออกมายึดอำนาจได้อย่างไร

บทบาทของพระยาทรงสุรเดชในวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น คือ การปล่อยข่าวลวงและล่อหลอก เพื่อชักนำให้ทหารแต่ละกรมกองมาชุมนุมร่วมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อให้เข้าร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อย่างไม่ขัดขืน

ลงมือปฏิวัติ

ในเวลาเย็นของวันที่ 23 มิถุนายน พระยาทรงสุรเดชในฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหารของโรงเรียนนายร้อยทหารบก ได้ไปพบ พันโท พระเหี้ยมใจหาญ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย เพื่อขอให้นำนักเรียนนายร้อยทั้งหมดพร้อมอาววุธปืนบรรจุกระสุนไปที่ลานหน้าพระบรมรูปทรงม้าในตอนเช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน เพื่อฝึกยุทธวิธีทหารราบต่อสู้รถถัง โดยจะใช้นักเรียนนายร้อยทำหน้าที่ทหารราบและนำรถถังจากกรมทหารม้ามาใช้ในการฝึก ต่อจากนั้นได้ไปพบผู้บังคับกองพันทหารราบที่รู้จักอีกสองคน เพื่อขอร้องให้นำทหารไปฝึกหน้าลานพระบรมรูปทรงม้าเวลาหกโมงเช้า และไปพบผู้บังคับการกองพันทหารช่างที่บางซื่อ เพื่อขอร้องให้นำทหารมาที่สนามหน้าโรงทหารในเวลาหกโมงเช้าเช่นกัน เพื่อจะนำไปฝึกต่อสู้กับรถถัง

เช้าวันที่ 24 มิถุนายน คุณหญิงทรงสุรเดช ผู้เป็นภริยาตื่นตั้งแต่เวลา 04.00 น. และได้พบเจอพระยาทรงสุรเดชรับประทานข้าวผัดที่เหลือจากมื้อเมื่อคืน ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับ ร้อยเอก หลวงทัศนัยนิยมศึก (ทัศนัย มิตรภักดี) และนายทหารม้าอีก 3 คน ที่มารับถึงบ้านตามแผนที่วางไว้ ไปยังตำบลนัดหมายที่ทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ (ปัจจุบัน คือ สี่แยกเทอดดำริ) ห่างจากบ้านไปเพียง 200 เมตร ด้วยการเดินเท้า เพื่อสมทบกับกลุ่มของ พระยาพหลพลพยุหเสนา พระประศาสน์พิทยายุทธ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และพวก[13] โดยได้บอกกับคุณหญิงทรงสุรเดช ตั้งแต่คืนก่อนว่าจะไปดู "การสวนสนามที่หน้าพระลาน"

จากนั้นแผนการนำทหารออกมาใช้เปลี่ยนแปลงการปกครองของพระยาทรงสุรเดชก็ได้เปิดเผยออกมาเป็นลำดับ ทั้งหมดในเวลา 05.00 น. ก็ได้มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ วงเวียนเกียกกาย (ปัจจุบันคือ สี่แยกเกียกกาย) มีเป้าหมายเพื่อยึดรถเกราะ ยึดรถรบ ยึดคลังกระสุน และหลอกพาทหารเดินมาขึ้นรถบรรทุกของกรมทหารปืนใหญ่ ภายใต้การบังคับบัญชาของพระยาฤทธิอัคเนย์ ที่อยู่ใกล้กัน ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปลานพระบรมรูปทรงม้า

เมื่อไปถึงกรมทหารม้า ด่านแรกที่จะต้องฝ่าไปให้ได้คือกองรักษาการณ์ที่ด้านหน้า สามทหารเสือ คือ พระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา และพระประศาสน์พิยายุทธ เข้าไปในกองรักษาการณ์ ถามหาตัวผู้บังคับการกองรักษาการณ์ แล้วผู้ก่อการก็พูดด้วยเสียงดุว่า

"เวลานี้เกิดกบฏกลางเมืองขึ้นแล้ว มัวแต่หลับนอนอยู่ได้ เอารถเกราะ รถรบ เอาทหารออกไปช่วยเดี๋ยวนี้"

ฝ่ายผู้บังคับการที่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อย เมื่อเผชิญหน้ากับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเคยเป็นอาจารย์มาก่อน ก็หลงเชื่ออย่างสนิทใจ ชั่วอึดใจเดียวเสียงเป่าแตรแจ้งสัญญาณเหตุสำคัญก็ปลุกทหารทั้งกรมตื่นขึ้นมาด้วยความโกลาหล

ช่วงเวลาแห่งความระทึกนี้ นายทหารผู้ก่อการต่าง ๆ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ก็แยกย้ายกันไป

พระยาพหลพลพยุหเสนา ใช้กรรไกรตัดเหล็กที่พระประศาสน์พิยายุทธเตรียมมาตัดโซ่กุญแจคลังกระสุนได้สำเร็จ ช่วยกันลำเลียงกระสุนออกมาอย่างรวดเร็ว

พระประศาสน์พิทยายุทธ ตรงไปยังโรงเก็บรถพร้อม ร.อ.หลวงทัศนัยนิยมศึก เร่งระดมให้ทหารสตาร์ตรถถัง รถเกราะ ออกมาโดยเร็ว

ร้อยเอกหลวงรณสิทธิชัย และพรรคพวกพากันขึ้นไปยังโรงทหาร เร่งให้ทหารแต่งเครื่องแบบโดยเร็วด้วยคำสั่งที่ว่า "ทหารไม่ต้องล้างหน้า แต่งเครื่องแบบทันที"

ไม่กี่นาทีต่อมา ทหารม้าก็พร้อมแล้วที่ออกเดินทางไปขึ้นรถบรรทุกทหารภายในกรมทหารปืนใหญ่ที่ได้นัดแนะเอาไว้แล้ว พระยาฤทธิอัคเนย์สั่งให้ทหารปืนใหญ่ขึ้นรถ พระประศาสน์พิทยายุทธ นำขบวนรถถัง รถเกราะ รถขนกระสุนและปืนกลเบาราว 15 คัน ออกมาจากที่ตั้งกรม นำหน้าขบวนรถทั้งหมด มุ่งหน้าตรงไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า สมทบกับทหารหน่วยอื่น ๆ ที่นัดหมายกันไว้

เมื่อขบวนรถบรรทุกทหารแล่นผ่านกองพันทหารช่าง ซึ่งเหล่าทหารกำลังฝึกอยู่บนสนามหน้ากองพัน พระยาทรงสุรเดชก็กวักมือพลางตะโกนเรียกให้ขึ้นรถ ผู้บังคับการทหารช่างเข้าใจว่าได้เวลาที่จะไปฝึกการต่อสู้รถถังตามที่ตกลงกันเมื่อเย็นวาน จึงสั่งทหารช่างขึ้นรถบรรทุกไปด้วย

ปฏิบัติการยึดกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์สำเร็จลงอย่างรวดเร็วตามความคาดหมายภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง มีคำถามมากมายว่า เพราะเหตุใดกองรักษาการณ์กรมทหารม้าจึงไม่ได้ทำอะไรเลย ทำไมยามคลังกระสุนจึงปล่อยให้พระยาพหลพลพยุหเสนา งัดประตูเอากระสุนออกไปได้ ทำไมนายทหารในกรมนี้จึงปล่อยให้นายทหารที่อื่นนำทหารของตัวออกไปได้โดยไม่แสดงปฏิกิริยาอันใดเลย

สำหรับคำตอบของคำถามนี้ พระยาทรงสุรเดชได้บันทึกเหตุการณ์ครั้งนี้ไว้ชัดเจนว่า

เป็นเพราะนายทหาร นายสิบ พลทหารเหล่านั้นเห็นด้วยในการปฏิวัติหรือ...เปล่าเลย ทั้งนายทหาร นายสิบ พลทหาร ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรเลย ตั้งแต่เกิดมาก็ไม่มีใครเคยได้เห็นได้รู้ การปฏิวัติทำอย่างไร เพื่ออะไร มีแต่ความงงงวยเต็มไปด้วยความไม่รู้ และข้อนี้เองเป็นเหตุสำคัญแห่งความสำเร็จ ! สำหรับพลทหารทั้งหมดไม่ต้องสงสัยเลย เขาทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาของเขาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง เขาถูกฝึกมาเช่นนั้น และหากนายทหารอื่นมาสั่งให้ทำโดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เขาก็ทำเช่นเดียวกัน ทำไมเขาจะไม่ทำ เพราะในชีวิตเป็นทหารของเขา เขายังไม่เคยถูกเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ไม่ได้เลยว่าเป็นการลวง ในเมื่อเขาโดนเป็นครั้งแรก ...นายทหารทั้งหมดส่วนมากได้เรียนในโรงเรียนนายร้อยในสมัยที่ผู้อำนวยการฝ่ายทหารเป็นอาจารย์ใหญ่ เพราะฉะนั้นจึงมีความเคารพและเกรงในฐานผู้ใหญ่

[14]

ผลลัพธ์การปฏิวัติ

หลังจากที่พระยาทรงสุรเดชและคณะได้ลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองจนสำเร็จแล้ว ก็ได้ดำรงตำแหน่ง ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ (เทียบเท่ารองผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการในปัจจุบัน) และรักษาราชการแทนเจ้ากรมยุทธการทหารบก โดยพฤตินัยแล้วพระยาทรงสุรเดชเป็นนายทหารที่มีอำนาจในกองทัพโดยมากที่สุดในเวลานั้น ได้เริ่มวางรากฐานการปฏิรูปกองทัพให้มีความทัดเทียมกับอารยประเทศ เช่น ส่งเสริมการศึกษาและพัฒนารถยานเกราะในประเทศไทย, ตัดลดงบประมาณหลายส่วนในกองทัพ, ปรับลดขนาดกองทัพให้มีขนาดเล็กลงโดยจะไม่ให้มีนายทหารยศเกินพันเอกอีกต่อไป ฯลฯ

ด้วยแนวทางการพัฒนากองทัพที่ขัดใจกลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มในเวลานั้น ทำให้กลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มที่ยังต้องการให้กองทัพมีความโอ่อ่าหรูหราอยู่ เกิดความไม่พอใจขึ้น แต่ก็ด้วยความที่เป็นทหารชั้นผู้น้อยและแทบไม่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่สามารถขัดขวางการปฏิรูปกองทัพครั้งนี้ได้

หลังจากพระยาทรงสุรเดชได้วางรากฐานในการปฏิรูปกองทัพเสร็จสิ้นแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้วางมือจากการเมืองเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับนายทหารรุ่นหลังไม่ให้เข้าไปข้องเกี่ยวกับอำนาจทางการเมืองอีก จึงลาออกจากทุกตำแหน่งในทางการเมืองและในกองทัพ แล้วใช้ชีวิตอย่างสันโดษมักน้อย

เนื่องจากพระยาทรงสุรเดชเป็นที่เคารพอย่างสูงทั้งจากนายทหารด้วยกันและจากสมาชิกผู้แทนราษฎรที่เป็นพลเมือง พระยาทรงสุรเดชจึงได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้ง แต่ท่านก็ปฏิเสธเสมอมา

หลังจากพระยาทรงสุรเดชได้วางมือจากทุกตำแหน่งแล้ว ความนิยมในตัวพระยาทรงสุรเดชได้แพร่ขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มทหารหนุ่มบางกลุ่มที่กำลังทวีอำนาจมากขึ้น ทั้งในกองทัพและในทางการเมือง จึงคิดหาทางที่จะทำลายพระยาทรงสุรเดชด้วยวิธีการต่าง ๆ ตั้งแต่การสั่งห้ามไม่ให้ตีพิมพ์บทความที่มีเนื้อหาชื่นชมพระยาทรงสุรเดชลงบนหนังสือพิมพ์ การใส่ร้ายป้ายสีตามช่องทางต่าง ๆ หรือการพยายามกำจัดกลุ่มนายทหารที่มีเคารพต่อพระยาทรงสุรเดชออกไป จนในที่สุดพระยาทรงสุรเดชและคณะก็ถูกกำจัดด้วยคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช

มีความพยายามที่จะใส่ร้ายพระยาทรงสุรเดชว่าไม่จงรักภักดีต่อพระราชวงศ์ แต่สำหรับผู้ใกล้ชิดแล้ว ย่อมตระหนักดีว่าพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์อย่างยิ่ง[15]

รัฐประหาร พ.ศ. 2476

ดูเนื้อหาหลักที่ รัฐประหารในประเทศไทย เมษายน พ.ศ. 2476

สืบเนื่องจากการยื่นเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจโดยนายปรีดี พนมยงค์ ที่เรียกกันว่า "สมุดปกเหลือง" ที่ต่อมาได้สร้างความขัดแย้งอย่างกว้างขวางระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ข้าราชการ และนักการเมืองในหมู่คณะราษฎรด้วยกัน เพราะได้มีการวิจารณ์ว่าเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้มีลักษณะเป็นสังคมนิยมคล้ายคอมมิวนิสต์ในแบบของสตาลิน พระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) นายกรัฐมนตรี ก็ไม่เห็นด้วย พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้เกลี้ยกล่อมพระยาทรงสุรเดช พระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ อันเป็น "4 ทหารเสือ" ซึ่งเป็นนายทหารระดับสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชเห็นด้วยกับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และได้ชักชวนพระยาฤทธิ์อัคเนย์ และพระประศาสน์พิทยายุทธ เห็นชอบด้วยกับการปิดสภาผู้แทนราษฎรและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่ทว่าพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรกลับเห็นด้วยกับเค้าโครงเศรษฐกิจฉบับนี้ จึงมีการกล่าวหากันว่า พระยาทรงสุรเดชพยายามที่จะโดดเดี่ยว พระยาพหลพลพยุหเสนา และคิดแย่งตำแหน่งจากพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเป็นผู้รับใช้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา [16]

กบฏพระยาทรงสุรเดช

ดูเนื้อหาหลักที่ กบฏพระยาทรงสุรเดช

ทั้งก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชขัดแย้งกับหลวงพิบูลสงคราม ซึ่งเป็นนายทหารรุ่นหลังที่มียศชั้นต่ำกว่า ในหลายเรื่องอย่างรุนแรง เช่น การประชุมวางแผนกันก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทั้งคู่ก็มีปากเสียงกัน ถึงขนาดที่หลวงพิบูลสงคราม ปรารภออกมาหลังการประชุมว่า ตนไม่อาจอยู่ร่วมโลกกับพระยาทรงสุรเดชได้[17]

และต่อมาทั้งคู่ก็มีแนวคิดต่างกันในเรื่องของโครงสร้างกองทัพ โดยพระยาทรงสุรเดชเห็นว่า นายทหารนั้นควรมียศไม่เกิน พันเอก (พ.อ.) และกองกำลังทหารนั้นไม่ควรรวมศูนย์อยู่ที่เมืองหลวง แต่ให้กระจายกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ อันเป็นภูมิลำเนาของทหารแต่ละคน อาวุธก็ให้เก็บประจำกายไว้ จนกว่าจะมีคำสั่งเรียกรวมพลหรือเรียกเพื่อการฝึกใด ๆ จึงมารวมตัวกัน อันเป็นลักษณะรูปแบบของกองทัพแบบประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พระยาทรงสุรเดชเคยได้ศึกษาดูงานมา แต่ทางหลวงพิบูลสงคราม เห็นว่าทหารควรจะมียศชั้นสูงถึง จอมพล และอำนาจทางทหารต้องรวมไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อธำรงไว้ซึ่งเกียรติยศของทหาร[16]

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาประกาศไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่ออีกในปลายปี พ.ศ. 2481 ทั้งคู่เสมือนเป็นคู่แข่งกันในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึงขนาดที่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับได้ลงรูปและเขียนข้อความใต้ภาพของทั้งคู่เปรียบเทียบกันบนหน้าหนึ่งว่าเป็น ผู้ที่จะขึ้นเป็นนายกฯคนต่อไป[18] ในคราวแรกมีการหยั่งเสียงกัน ปรากฏว่าเสียงสนับสนุนพระยาทรงสุรเดชมีถึง 50 เสียง ขณะที่เสียงสนับสนุนหลวงพิบูลสงครามมีเพียง 5 เสียงเท่านั้น แต่ทว่าเมื่อมีการลงคะแนนเสียงจริงในสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าเสียงสนับสนุนหลวงพิบูลสงครามมีมากกว่า จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด[16] ดังนั้นความขัดแย้งกันทั้งหมดนี้ได้กลายมาเป็นข้อกล่าวหากันในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดชในเวลาต่อมา

บั้นปลายชีวิต

หลังจากมีความขัดแย้งกับสมาชิกระดับสูงในคณะราษฎรด้วยกันเองมาตลอด พระยาทรงสุรเดชก็ได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศศรีลังกาเป็นระยะเวลา 2 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2481 เมื่อเห็นว่าสถานการณ์เหมาะสมแล้วจึงเดินทางกลับประเทศ และเสนอต่อกระทรวงกลาโหมขอตั้งโรงเรียนรบขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สภากลาโหมอนุมัติ จึงนำนายทหารระดับหัวกะทิทั้งหมด 29 นายขึ้นไปเรียนที่นั่น แต่ทาง หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเกรงว่าจะเป็นการซ่องสุมผู้คนก่อการกบฏ จึงส่งหน่วยสอดแนมไปติดตามดูความเคลื่อนไหวเป็นระยะ

เมื่อนักเรียนรุ่นแรกศึกษาจบแล้ว พระยาทรงสุรเดชได้นำลูกศิษย์ตระเวนดูงานทหารตามกรมกองต่าง ๆ แต่เมื่อถึงกรมทหารราชบุรี ได้ถูกยื่นซองขาวมีข้อความให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ พร้อมกับบีบบังคับให้เดินทางออกสู่ต่างประเทศ

พระยาทรงสุรเดชพร้อมนายทหารคนสนิทเมื่อถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ จึงถูกให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดและถูกบีบให้เดินทางออกนอกประเทศ ไปพร้อมกับ ร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ นายทหารคนสนิท โดยถูกควบคุมตัวขึ้นรถไฟไปที่อำเภออรัญประเทศ และเดินทางข้ามพรมแดนต่อไปยังประเทศกัมพูชาซึ่งในขณะนั้นเป็นดินแดนในอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่ลี้ภัยอยู่ที่กัมพูชาได้ไม่นาน ทางการกัมพูชาก็ไม่อนุญาตให้อยู่ จึงต้องเดินทางไปพำนักอยู่ที่เมืองไซ่ง่อน โดยมีภริยาติดตามไปด้วย จากนั้นจึงได้รับอนุญาตให้กลับมาที่พนมเปญอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในระหว่างที่ยังพำนักอยู่ที่เมืองไซง่อน พระยาทรงสุรเดชได้เขียนบันทึกไว้เล่มหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2482 เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งหมด ตลอดจนความล้มเหลวของผลในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งบันทึกเล่มนี้ต่อมาได้ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2513 ในชื่อ "บันทึกพระยาทรงสุรเดช"

ชีวิตพระยาทรงสุรเดชที่กัมพูชา ไม่มีทรัพย์เงินทองเหลือติดตัวอยู่เลย ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำขนมกล้วยขายพร้อมกับภริยา ซึ่งต้องลงมือโม่แป้งด้วยตนเอง รวมทั้งรับจ้างซ่อมจักรยาน[19] [20]

ซึ่งช่วงที่อยู่กัมพูชานั้น เมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น ในปี พ.ศ. 2484 เมื่อกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นได้บุกเข้าประเทศไทย และบีบบังคับรัฐบาลขอใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อที่จะบุกไปพม่า และอินเดีย พระยาทรงสุรเดชมีความคิดที่จะต่อต้านญี่ปุ่น โดยคิดว่าจะเดินข้ามพรมแดนไปประเทศไทยตามลำพัง เนื่องจากอยู่ในที่ ๆ ห่างไกลข้อมูลข่าวสาร จึงไม่มีโอกาสได้ทราบว่าในประเทศไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นกำเนิดขึ้นมาเหมือนกัน พระยาทรงสุรเดชจึงตกอยู่ในสภาพเสมือนว่าต่อต้านญี่ปุ่นอยู่คนเดียว และก็ไม่มีโอกาสได้ลงมือกระทำจริง ต่อมา พระยาทรงสุรเดชสิ้นชีวิตอย่างกะทันหันทั้งที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงดีมากโดยตลอด เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ที่ตำหนักร้างแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งแพทย์ชาวเยอรมันลงความเห็นว่า เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ (แต่ก็มีข้อสงสัยว่าอาจเสียชีวิตเพราะถูกวางยาพิษ ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์)[21][20]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) พากย์เสียงโดย กิตติ เชี่ยววงศ์กุล

เกียรติยศ

ยศ

  • 30 เมษายน 2458 – นายร้อยโท

บรรดาศักดิ์

  • 20 เมษายน พ.ศ. 2461: หลวงณรงค์สงคราม[22]
  • 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2467: พระทรงสุรเดช[23]
  • 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474: พระยาทรงสุรเดช[24]
  • 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2485: ประกาศยกเลิกบรรดาศักดิ์[25]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิงและเชิงอรรถ

  1. "ตามรอย "เจ้านายสตรีล้านนา" เครื่องมือทางการเมือง? ? และความรักที่ไม่สมหวัง…". Matichon Academy. 17 มีนาคม 2564. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. ฮิมวัง (10 กันยายน 2565). "สัมพันธ์ เจ้านายสตรีล้านนา กับเจ้านาย-ขุนนางสยาม ความรัก ผลประโยชน์ การเมือง?". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 11 พฤษภาคม 2567. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 เสทื้อน ศุภโสภณ, ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดชกรุงเทพฯ: คณะอนุกรรมการจัดพิมพ์หนังสือโครงการ 60 ปี ประชาธิปไตย, 2535)
  4. จุลจักรพงษ์, พระองค์เจ้า. เกิดวังปารุสก์ ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ: ริเวอร์บุคส์, 2540.
  5. ประภาส จารุเสถียร, จอมพล. ฝากเรื่องราวไว้ให้ลูกหลาน 1 : อัตชีวประวัติจอมพลประภาส จารุเสถียร กรุงเทพฯ: มติชน, 2534,
  6. "พระยาทรงสุรเดช (1) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-28. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  7. ตั้งตำแหน่งยศนายทหารบก
  8. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชทานยศนายทหารบก
  9. นายหนหวย. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ : พิมพ์จำหน่ายด้วยตัวเอง, 2530. 704 หน้า. หน้า 214.
  10. กุหลาบ สายประดิษฐ์, เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475 กรุงเทพฯ: ส้านักพิมพ์บูรพาแดง, 2518
  11. หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์. หน้า 35-40
  12. ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) ต.ช. ณ เมรุวัดเทพศิริทราวาส วันพฤหัส ที่ 15 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2522, 117.
  13. 24 มิถุนายน (5) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย นรนิติ เศรษฐบุตร หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
  14. ยุทธการยึดเมือง, สารคดีฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542
  15. ชีวิตและการต่อสู้ของพระยาทรงสุรเดช, เสทื้อน ศุภโสภณ
  16. 16.0 16.1 16.2 หน้า 103, บทสัมภาษณ์ คุณทศ พันธุมเสน บุตรชายพันเอก พระยาทรงสุรเดช. สารคดีฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542
  17. สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" .สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555
  18. ยุคทมิฬ โดย พายัพ โรจนวิภาค (พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2554) นนทบุรี สำนักพิมพ์ศรีปัญญา ISBN 978-616-7146-22-5
  19. "พระยาทรงสุรเดช (2) คอลัมน์ ส่วนร่วมสังคมไทย โดย [[นรนิติ เศรษฐบุตร]] หนังสือพิมพ์เดลินิวส์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-10. สืบค้นเมื่อ 2010-07-23.
  20. 20.0 20.1 นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ โดย โรม บุนนาค. หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550
  21. ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อยรอยรัฐประหารไทย" .สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554
  22. "พระราชทานตั้งเลื่อนบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 35: 208. 28 เมษายน 2461. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  23. "พระราชทานบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 41 (ง): 1244. 20 กรกฎาคม 2467. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  24. "พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (ง): 3011. 15 พฤศจิกายน 2474. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-30. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  25. "พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง การยกเลิกบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 48 (33ก): 1089. 15 พฤษภาคม 2485. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-08-13. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  26. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๕ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๑๔๓, ๒๔ กันยายน ๒๔๘๑
  27. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-05-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๐๘๕, ๑๕ พฤศจิกายน ๒๔๗๔
  28. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๖๐๖, ๑๑ ธันวาคม ๒๔๖๔
  29. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๐๓, ๑๒ มกราคม ๒๔๗๒
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9