วิลาศ โอสถานนท์
พันตรี วิลาศ โอสถานนท์ (7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 - 13 มกราคม พ.ศ. 2540) หนึ่งในคณะราษฎรสายพลเรือน ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 อดีตประธานพฤฒสภาและประธานรัฐสภา ประวัติพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 ณ บ้านริมคลองโอ่งอ่าง อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรคนโตของ พระยาประชากิจกรจักร (ชุบ โอสถานนท์) และ คุณหญิงนิล โอสถานนท์ (สกุลเดิม ศรีไชยยันต์) โดยมีชื่อ "วิลาศ" นั้น เป็นชื่อที่ได้รับประทานจาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีความหมายว่า "ฝรั่งชาติอังกฤษ" เนื่องจากบิดาเป็นนักเรียนเก่าของประเทศอังกฤษ โดยมีน้องร่วมมารดา 8 คน และต่างมารดาอีก 2 คน การศึกษาจบการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยใช้เวลาศึกษาเป็นเวลา 9 ปี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ต่อจากนั้นจึงได้รับพระราชทานทุนจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนสำเร็จการศึกษาเทียบเท่าปริญญาตรี [B.D.F.A] จาก City & Guild Engineering College School of University of London ทางวิศวกรรม และทางด้านเกษตรกรรม จาก Sylhale Agricultural Collage Devenshire การรับราชการเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรก เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานนา กรมเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2472 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2474 จึงได้เป็นผู้จัดการนาทดลองรังสิต พันตรีวิลาศ ได้เข้าร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองกับคณะราษฎร จากการชักชวนของ นายทวี บุณยเกตุ[1] ซึ่งเป็นเพื่อนข้าราชการกรมเกษตรเช่นเดียวกัน ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก่อนปฏิบัติการจริงแค่วันเดียวเท่านั้น โดยในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน อันเป็นวันปฏิบัติการนั้น นายวิลาศ ได้สวมชุดทหารมหาดเล็ก เข้าร่วมในการตัดสายโทรศัพท์และโทรเลขร่วมกับ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์), นายประยูร ภมรมนตรี และนายประจวบ บุนนาค ณ กรมไปรษณีย์โทรเลข เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า โดยเริ่มกันตั้งแต่เวลา 04.00 น. และต้องเสร็จให้ทันภายในเวลา 05.00 น. [2] วิลาศ เป็นหัวหน้าสำนักงานโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์) ในปี พ.ศ. 2481 - 2484[3] บทบาทการเมืองต่อมา พันตรีวิลาศ โอสถานนท์ ได้รับการจัดตั้งเป็นผู้แทนราษฎร (ชั่วคราว) ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน นายวิลาศได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ประเภทที่ 2 ในรัฐสภา และได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี (ลอย) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 9 ซึ่งมีแปลก พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 พันตรีวิลาศ ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกพฤฒสภา และได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาและประธานพฤฒสภา ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน ปีเดียวกัน ถึง 24 สิงหาคม ปีเดียวกัน[4]หลังจากพ้นจากตำแหน่งได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในคณะรัฐมนตรี ชุดที่ 17 ซึ่งมี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากนั้นแล้วยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. 2502 อีกด้วย และยังได้รับตำแหน่งทางราชการอีก อาทิ อธิบดีกรมโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์) เป็นคนแรก และผู้พิพากษากลางเมือง เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็น ทหารราชองครักษ์ สังกัดทหารสื่อสาร และยังได้ร่วมเป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทยด้วย ทั้งนี้มีบันทึกไว้ว่าทางญี่ปุ่นได้ตั้งข้อรังเกียจ ดร.วิลาศ ร่วมกับ หลวงประดิษฐมนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ว่าอาจมีใจเอนเอียงไม่ช่วยเหลือทางญี่ปุ่นอย่างแท้จริง เนื่องจาก ดร.วิลาศ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีภริยา (คุณหญิงอมร สีบุญเรือง) ซึ่งเป็นบุตรสาวของ นายเซียว ฮุดเช็ง ซึ่งเป็นประธานพรรคก๊กมินตั๋งในประเทศไทย ที่มีแนวทางทางการเมืองสนับสนุน นายพลเจียง ไคเช็ค ซึ่งต่อต้านญี่ปุ่นอยู่[5] ชีวิตส่วนตัวด้านชีวิตครอบครัว พันตรีวิลาศ สมรส 2 ครั้ง ครั้งแรกกับ คุณหญิงอมร สีบุญเรือง มีบุตร 2 คน คือ เรือโท วีระ โอสถานนท์ และ นายอภิลาศ โอสถานนท์ ครั้งที่ 2 กับ นางบุญเรือน โอสถานนท์ มีบุตร 2 คน คือ นายประสาน โอสถานนท์ และ นางกาญจนา สิงหเสนี ถึงแก่อสัญกรรมพันตรี วิลาศ โอสถานนท์ ได้ใช้ชีวิตช่วงปลายอย่างสุขสงบ ท่ามกลางครอบครัวและบุตรหลาน มีสุขภาพและความทรงจำดีกว่าคนในวัยเดียวกัน แม้ว่าจะเข้ารับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงเป็นครั้งคราว จนกระทั่งเมื่อล้มเจ็บลงด้วยโรคหวัด ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม 2539 ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมิติเวช เรื่อยมา และถึงแก่อสัญกรรมด้วยระบบหัวใจล้มเหลว ด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2540 สิริอายุได้ 97 ปี 67 วัน [6] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2540 ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
พระบรมราชโองการ ประกาศ การแต่งตั้งและตั้งเพิ่มรัฐมนตรี (นายพันตรี หลวงเชวงศักดิ์สงคราม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นรัฐมนตรี) พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรตราธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม (๑. หลวงเดชสหกรณ์ ๒. นายพันตรี วิลาศ โอสถานนท์)
|