Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ)

พระยาศรีสิทธิสงคราม
(ดิ่น ท่าราบ)
รัฐมนตรี
ดำรงตำแหน่ง
18 มิถุนายน พ.ศ. 2476 – 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด10 พฤษภาคม พ.ศ. 2434
อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ราชอาณาจักรสยาม
เสียชีวิต23 ตุลาคม พ.ศ. 2476 (42 ปี)
อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ประเทศสยาม
คู่สมรสคุณหญิงตลับ ศรีสิทธิสงคราม
บุตร4 คน
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ สยาม
 ไทย
สังกัด
ประจำการพ.ศ. 2457 – 2476
ยศพันเอก
บังคับบัญชากองทัพภาคที่1
ผ่านศึกกบฎบวรเดช

พระยาศรีสิทธิสงคราม (10 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2476) นามเดิม ดิ่น ท่าราบ เป็นนายทหารบกชาวไทย มีบทบาทสำคัญในฐานะแม่ทัพภาคที่ 1 ในเหตุการณ์กบฎบวรเดช

ประวัติ

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

พระยาศรีสิทธิสงคราม มีนามเดิมว่า ดิ่น ท่าราบ เกิดที่ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี ในครอบครัวชนชั้นกลางซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดิ่นเป็นคนเรียนเก่ง สอบเข้านายร้อยทหารบก และจบการศึกษาได้ที่ 1 จึงได้ทุนการศึกษาไปศึกษาต่อที่จักรวรรดิเยอรมันรุ่นเดียวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ทั้งสามคนเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยในเมืองพ็อทซ์ดัมเป็นเวลาหนึ่งปี และเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยปรัสเซียในกรุงเบอร์ลิน[1] ในช่วงนี้ทั้งสามคนสนิทสนมกันมากจนได้รับฉายาจากพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ ว่าเป็น "สามทหารเสือ" เช่นเดียวกับสามทหารเสือในนวนิยายของอาแล็กซ็องดร์ ดูว์มา

ระหว่างที่อยู่ทวีปยุโรปนี้ ประยูร ภมรมนตรี เริ่มเป็นตัวกลางชักชวนบุคคลต่างๆให้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ประยูรใช้เวลาตามจีบพระยาศรีสิทธิสงครามกว่าปีเศษจึงยอมร่วมมือ แต่มีเงื่อนไขว่าขอดูตัวผู้ที่จะเป็นหัวหน้าคณะก่อการเสียก่อน แต่เมื่อทราบผู้นำการก่อการคือสองเพื่อนสนิทของตน ดิ่นจึงขอถอนตัวโดยรับปากว่าจะไม่เอาความลับไปแพร่งพราย และจะติดตามดูอยู่จากวงนอกเท่านั้น[2]

ดิ่นอยู่ที่ยุโรปประมาณสิบปีแล้วจึงเดินทางกลับสยามและได้รับยศร้อยตรีเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2457 และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ตามลำดับ จนได้รับยศเป็นพันเอก เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2471 ขณะอายุได้ 37 ปี[3] แรกเป็นนายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก ต่อมาได้เป็นหัวหน้าแผนกที่ 2 กรมเสนาธิการทหารบกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2473[4] และดำรงตำแหน่งเสนาธิการกองทัพที่ 1 ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน[5] พระศรีสิทธิสงครามได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระยาเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474[6] ขณะอายุได้ 40 ปี พระยาศรีสิทธิสงครามเคยออกความเห็นว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไม่เหมาะสมแก่ยุคสมัย สมควรเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องเป็นวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรง

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลพลพยุหเสนาชักชวนพระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมคณะราษฎร แต่พระยาศรีสิทธิฯก็ปฏิเสธไปเนื่องจากไม่ชอบวิธีการรุนแรงที่คณะราษฎรใช้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาทรงสุรเดชไม่พอใจจึงสั่งย้ายพระยาศรีสิทธิฯไปประจำกระทรวงธรรมการ นัยว่าเป็นการลงโทษ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2476 พระยาพหลฯกับพระยาทรงฯทะเลาะกันเรื่องงานจนวังปารุสก์แทบแตก พระยาทรงสุรเดช, พระยาฤทธิอัคเนย์ (สละ เอมะศิริ), พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) ปรึกษากันแล้วเห็นว่าถ้ารับราชการแล้วต้องมาทะเลาะกันแบบนี้ก็ลาออกดีกว่า ทั้งสามพระยาจึงลาออก ส่งผลให้พระยาพหลฯต้องลาออกตามเพื่อรักษามารยาท นั่นทำให้ตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลและกองทัพที่เคยเป็นของสี่เสือคณะราษฎรว่างลงทั้งหมด

นายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาปรึกษากับพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้ข้อสรุปว่าจะให้พันโทประยูรไปเชิญพลตรีพระยาพิไชยสงครามมาเป็นผู้บัญชาการทหารบก, เชิญพันเอกพระยาศรีสิทธิสงครามมาเป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก ส่วนตัวหลวงพิบูลจะขอเป็นเพียงผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พระยาพหลฯไม่คัดค้านจึงเป็นอันตกลงกันได้ ในที่สุดก็มีพระบรมราชานุญาติให้สี่ทหารเสือลาออกในวันที่ 18 มิถุนายน[7] และจะมีผลในวันที่ 24 มิถุนายน ระหว่างนี้ให้บุคลลที่จะได้รับแต่งตั้งรักษาราชการในตำแหน่งที่ว่างลงไปพลางก่อน

เมื่อกลับสู่กองทัพ พระยาศรีสิทธิสงครามเตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรทั้งหมดออกจากตำแหน่งคุมกำลังพล การข่าวเรื่องนี้หลุดไปถึงหลวงพิบูลสงคราม ทำให้ในวันที่ 20 มิถุนายน พระยาพหลฯ หลวงพิบูลฯ และหลวงศุภชลาศัย ชิงก่อรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา หลวงพิบูลบอกพันโทประยูรว่า "ประยูร จำเป็นต้องทำ ไม่มีทางเลี่ยง เพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อหักหลัง เตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้กุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนมือและถูกฆ่าตายในที่สุด"[2] ประยูรได้เขียนบันทึกไว้ว่า "ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่าหลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก ท่านจะต้องกำจัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด..."[2] พระยาศรีสิทธิสงครามถูกโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงธรรมการตามเดิม[8]

กบฏบวรเดช

ในเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 พระยาศรีสิทธิสงครามเข้าร่วมด้วย มีฐานะเป็นแม่ทัพ รับหน้าที่เป็นกองระวังหลัง จนเมื่อทางฝ่ายกบฏเพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาล ในเวลาพลบค่ำของวันที่ 23 ตุลาคม ปีเดียวกัน พระยาศรีสิทธิสงครามถูกยิงเสียชีวิตใกล้กับที่สถานีรถไฟหินลับ จังหวัดสระบุรี โดยหน่วยของว่าที่ร้อยตรีตุ๊ จารุเสถียร จากนั้นร่างของพระยาศรีสิทธิสงครามได้ถูกส่งกลับกรุงเทพมหานคร โดยทำการฌาปนกิจอย่างเร่งด่วนที่วัดอภัยทายาราม หรือวัดมะกอก โดยที่ทางครอบครัวไม่ได้รับรู้มาก่อนเลย และกว่าจะได้อัฐิกลับคืนก็เป็นเวลาล่วงไป 3-4 ปีแล้ว อีกทั้งยังถูกคุกคามต่าง ๆ นานา ตลอดสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งวันที่ 27 มกราคม 2491 ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานคืนยศ บรรดาศักดิ์ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ย้อนหลังให้กับท่าน[9]

ชีวิตส่วนตัว

ชีวิตครอบครัวของพระยาศรีสิทธิสงคราม สมรสกับคุณหญิงศรีสิทธิสงคราม (ตลับ ท่าราบ - นามสกุลเดิม อ่ำสำราญ) มีบุตรธิดาทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นางอัมโภช จุลานนท์ (มารดาของพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์), แพทย์หญิงโชติศรี ท่าราบ, นางอารีพันธ์ ประยูรโภคราช และนายชัยสิทธิ์ ท่าราบ[10][11]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

ในปี พ.ศ. 2567 ได้มีการสร้างแอนิเมชันเรื่อง ๒๔๗๕ รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ โดยมีตัวละคร พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) พากย์เสียงโดย วันชนะ สวัสดี

บรรดาศักดิ์และยศ

  • 21 สิงหาคม 2457 – นายร้อยตรี[12]
  • 2 กันยายน 2457 – โปรดเกล้าฯ ให้กระทรวงกลาโหมส่งสัญญาบัตรยศทหารบกไปพระราชทาน[13]
  • 30 เมษายน 2458 – นายร้อยโท
  • 20 เมษายน พ.ศ. 2461: หลวงศรีสิทธิสงคราม[14]
  • 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2467: พระศรีสิทธิสงคราม[15]
  • 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2474: พระยาศรีสิทธิสงคราม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ย้อนราก “3 ทหารเสือ” คณะราษฎร ผลผลิตจากโรงเรียนนายร้อยเยอรมนี ศิลปะวัฒนธรรม. 25 มีนาคม พ.ศ. 2563
  2. 2.0 2.1 2.2 หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์. หน้า 35-40
  3. พระราชทานยศ
  4. ราชกิจจานุเบกษา. เรื่องย้ายนายทหารรับราชการ
  5. ราชกิจจานุเบกษา. แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องเลื่อนและย้ายนายทหารรับราชการ
  6. พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๔๗๓)
  7. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศ เรื่อง ตั้งนายทหารรักษาราชการแทน เล่ม 50 หน้า 383
  8. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศ เรื่อง ตั้งนายทหารเข้าประจำการ เลื่อน ย้ายและปลดเป็นกองหนุน เล่ม 50 หน้า 925
  9. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศบรรดาศักดิ์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์กลับคืน
  10. "'เขา' ชื่อ 'พระยาศรี'" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-07-02.
  11. 90ปี "โชติศรี ท่าราบ" จาก "หมอจิ๋ว" ลูกกบฏ สู่ "หมอเพลง บรรเลงภาษา" ผู้เลอค่าในแวดวงวรรณกรรม จากมติชน[ลิงก์เสีย]
  12. พระราชทานยศนายทหารบก
  13. รายวันส่งสัญญาบัตรยศนายทหารบกไปพระราชทาน
  14. "พระราชทานตั้งเลื่อนบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 35: 208. 28 เมษายน 2461. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-07-03. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  15. "พระราชทานบรรดาศักดิ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 41 (ง): 1244. 20 กรกฎาคม 2467. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 21 ตุลาคม 2559. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  16. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๕๐๖, ๕ มกราคม ๒๔๗๒
  17. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๓๙ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๐๘, ๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕
  18. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๖๘, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐
  19. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๖ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๖๘๙, ๑๙ มกราคม ๒๔๗๒
  20. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ, เล่ม ๔๐ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๔๓๐, ๗ มกราคม ๒๔๖๖
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9