รัฐประหารในประเทศสยาม มิถุนายน พ.ศ. 2476
รัฐประหารในประเทศสยาม มิถุนายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารในประเทศสยาม เกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดย พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจการปกครองของนายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้มีหลังจากที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมถูกบังคับให้ออกจากประเทศไทย ด้วยถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์จากการเสนอสมุดปกเหลือง ตามด้วยการที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน ในเดือนมิถุนายน สี่ทหารเสือคณะราษฎรลาออกจากตำแหน่งสำคัญทางทหาร พระยามโนปกรณ์นิติธาดาจึงแอบร่วมมือกับพันโทพระยาศรีสิทธิสงคราม ว่าที่เจ้ากรมยุทธการทหารบก วางแผนจับกุมและประหารชีวิตคณะราษฎรจำนวนหกสิบคน[1] แต่ข่าวรั่วถึงพันโทหลวงพิบูลสงครามเสียก่อน ในเวลาหัวค่ำของคืนวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ได้นำกำลังทหารบีบให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะรัฐบาลกระทำการเป็นเผด็จการ ทำลายระบอบใหม่[2] ผลสืบเนื่องพระยาพหลพลพยุหเสนามอบหมายให้เจ้าพระยาพิชัยญาติ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล หัวหิน เพื่อโปรดเกล้าฯ ให้เปิดประชุมสภาฯ พร้อมถวายรายงานเรื่องการยึดอำนาจ ที่ประชุมสภาลงมติเลือกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พระยาพหลพลพยุหเสนาดำรงตำแหน่งเพียงสิบวันก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเห็นว่าตนเป็นผู้บัญชาการทหารบก มิสมควรจะเป็นผู้นำรัฐบาล แต่ในหลวงยับยั้งการลาออก อีกด้านหนึ่ง บุคคลสำคัญรัฐบาลชุดที่แล้ว เช่น พระยาทรงสุรเดช ก็เดินทางออกนอกประเทศและถูกกีดกันจากแวดวงการเมือง ส่วนพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเลือกเดินทางลี้ภัยไปที่ปีนัง อีกด้านหนึ่ง พระยาศรีสิทธิสงครามก็แค้นหลวงพิบูลสงครามถึงขั้นประกาศว่าจะต้องฆ่าให้ตาย[3] การรัฐประหารในครั้งนี้มีบันทึกของพระยาพหลพลพยุหเสนาไว้ว่า ง่ายดายกว่าเมื่อครั้งปฏิวัติวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งการรัฐประหารครั้งนี้ ผู้ก่อการต้องกระทำ หาไม่แล้ว อาจจะถูกจัดการหมดทั้งคณะจากกลุ่มที่นิยมระบบการปกครองแบบเก่าก็ได้[4] ดูเพิ่มอ้างอิง
|