สงครามกลางเมืองลาว
สงครามกลางเมืองลาว (พ.ศ. 2502-2518) บ้างเรียก การปฏิวัติลาว เป็นการสู้รบระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ (ปะเทดลาว) ซึ่งส่วนใหญ่มีเชื้อสายมาจากชาวลาวในประเทศเวียดนามเหนือ กับรัฐบาลราชอาณาจักรลาว โดยทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำนาจแห่งสงครามเย็น ในหมู่ทหารอเมริกันจากกองกิจการพิเศษ หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา และทหารผ่านศึกชาวม้งเรียกสงครามนี้ว่า สงครามลับ (Secret War) ราชอาณาจักรลาวกลายเป็นสมรภูมิลับระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ในสงครามเวียดนาม สนธิสัญญาไมตรีและสมาคมฝรั่งเศส-ลาวที่ลงนามในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2496 ส่งผลให้ฝรั่งเศสถ่ายโอนอำนาจที่เหลือคืนให้กับรัฐบาลลาวในระบอบกษัตริย์ ยกเว้นอำนาจควบคุมการทหาร โดยสนธิสัญญาไม่มีตัวแทนจากขบวนการลาวอิสระ ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธซึ่งมีความคิดต่อต้านการล่าอาณานิคมและสนับสนุนแนวคิดชาตินิยม ได้ร่วมลงนามด้วย สนธิสัญญายังสถาปนาให้ลาวเป็นสมาชิกซึ่งมีสถานะเป็นเอกราชในสหภาพฝรั่งเศส หลังจากที่สนธิสัญญาได้รับการลงนาม ก็มีการต่อสู้กันทางการเมืองระหว่างฝ่ายนิยมความเป็นกลาง นำโดยเจ้าสุวรรณภูมา รัตนวงศา, ฝ่ายขวา นำโดยเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ และฝ่ายซ้าย ในนามแนวร่วมรักชาติลาว นำโดยเจ้าสุภานุวงศ์ และไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีในอนาคต มีความพยายามหลายครั้งที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสม จนกระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลสามพรรคได้สำเร็จ โดยจัดตั้งขึ้นที่นครเวียงจันทน์ การสู้รบในประเทศลาวเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพเวียดนามเหนือ, กองทัพอเมริกัน, กองทัพไทยและกองทัพเวียดนามใต้ ซึ่งทำการสู้รบทั้งทางตรงและผ่านทหารกองโจร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อครอบครองด้ามขวานของลาว กองทัพเวียดนามเหนือสามารถเข้าควบคุมพื้นที่นี้ได้ และนำพื้นที่ดังกล่าวมาใช้เป็นเส้นทางเสบียงโฮจิมินห์ และเป็นที่มั่นในการระดมกำลังเพื่อรุกเข้าไปยังเวียดนามใต้ จุดที่สองที่เกิดการสู้รบกันอย่างหนักที่ทุ่งไหหินและบริเวณโดยรอบ กองทัพเวียดนามเหนือ และปะเทดลาว ได้รับชัยชนะในที่สุดใน พ.ศ. 2518 และถือว่าเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอินโดจีน ภาพรวมจากการประชุมเจนีวาใน พ.ศ. 2497 ลาวได้ประกาศให้ตนเองเป็นรัฐที่เป็นกลาง อย่างไรก็ตาม กองทัพประชาชนเวียดนาม (PAVN) ยังคงปฏิบัติการอยู่ในทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงใต้ของลาว มีความพยายามหลายครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ในการบังคับกองกำลังเวียดนามเหนือให้ออกจากประเทศลาว แต่ไม่ว่าจะด้วยข้อตกลง หรือคำยินยอมใด ๆ ก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลฮานอย ซึ่งตั้งใจที่จะไม่ทิ้งสหายคอมมิวนิสต์ชาวลาวไป ออกไปจากประเทศได้ ฝ่ายเวียดนามเหนือจัดตั้งเส้นทางเสบียงโฮจิมินห์ขึ้นมา ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว ซึ่งมีชายแดนติดเวียดนามอยู่ เส้นทางเสบียงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ทหารเวียดนามเหนือสามารถแทรกซึมเข้าไปในเวียดนามใต้ได้ ทั้งยังเป็นเส้นทางในการส่งเสบียงไปเพื่อช่วยเหลือแนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติเวียดนามใต้อีกด้วย ฝ่ายเวียดนามเหนือมีกำลังทหารเป็นจำนวนมากอยู่ทางตอนเหนือของลาว ซึ่งทำหน้าที่เป็นกำลังสนับสนุนกลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว และเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้กับรัฐบาลลาวในระบอบกษัตริย์ หน่วยสืบราชการลับกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (CIA) ที่ต้องการจะรบกวนปฏิบัติการณ์ในลาวโดยไม่ใช้กำลังทหาร ตอบโต้เวียดนามเหนือด้วยการฝึกกองโจรที่ประกอบด้วยชาวเขาบนดอยลาวประมาณ 30,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเผ่าม้ง กับชาวเผ่าเมี่ยนกับชาวเผ่าขมุอีกบางส่วน นำโดยนายพลหวังเปา จากกองทัพบกลาว ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวม้ง กองทัพนี้ได้รับการสนับสนุนจากสายการบินแอร์อเมริกา (ซึ่ง CIA ควบคุมอยู่อย่างลับ ๆ), ประเทศไทย, กองทัพอากาศลาว และปฏิบัติการลับทางอากาศที่ควบคุมโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศลาว เพื่อต่อสู้กับกองทัพประชาชนเวียดนาม, แนวร่วมปลดปล่อยแห่งชาติ (NLF) และสหายปะเทดลาว ซึ่งผลการรบออกมาโดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังคุมเชิงกันอยู่ แต่ก็ยังส่งผลดีต่อสหรัฐ อย่างมากในสงครามเวียดนาม ความเป็นไปของสงครามทางตอนเหนือขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วงเวลาของปี เมื่อฤดูแล้งเริ่มต้นขึ้น ซึ่งมักอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ปฏิบัติการณ์ทางทหารของทหารเวียดนามเหนือก็เริ่มต้นขึ้นเช่นกัน โดยทหารใหม่และเสบียงจะเดินทางจากเวียดนามเหนือลงมาตามทางที่แห้งพอจะเดินผ่านได้ ซึ่งอาจจะเริ่มเดินทางมาจากเดียนเบียนฟู ผ่านทางหลวงสภาพดีของแขวงพงสาลีลงมา หรืออาจจะผ่านทางสาย 7 ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน กองทัพลับของ CIA จะยอมหลีกทางให้ โดยจะทำการก่อกวน PAVN และปะเทดลาวก่อนที่จะถอนกำลังออกไป จากนั้นกองควบคุมการบินระวังหน้าเรเวน (Raven FACs) จะสั่งให้โจมตีฝ่ายคอมมิวนิสต์ทางอากาศด้วยเครื่องบินไอพ่นของกองทัพอากาศสหรัฐ และกองทัพอากาศลาวก็จะโจมตีด้วยรถถัง ที-28 เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ยึดครองนครเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้สำเร็จ เมื่อฤดูฝนมาถึงในอีก 6 เดือนต่อมา ฝนที่ตกลงมาจะทำให้เส้นทางเสบียงของเวียดนามเหนือใช้การไม่ได้ จากนั้นฝ่ายเวียดนามก็จะต้องล่าถอยกลับไปยังประเทศของตนเอง ในขณะเดียวกัน การสู้รบในบริเวณด้ามขวานทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการสู้รบเพื่อทำลายเส้นทางเสบียงโฮจิมินห์ ซึ่งส่วนมากแล้วมักจะเป็นการโจมตีทางอากาศจากกองทัพอากาศและกองทัพเรือสหรัฐ เนื่องจากข้อจำกัดทางการเมืองทำให้ไม่สามารถโจมตีเส้นทางเสบียงทางบกได้ Raven FACs ยังเป็นผู้สั่งการโจมตีทางอากาศในภูมิภาคนี้ด้วย ในขณะที่กองควบคุมการบินระวังหน้าอื่น ๆ จากเวียดนามใต้ อย่างเช่น Covey FACs จากกองบินยุทธวิธีสนับสนุนทางอากาศที่ 20 และ Nail FACs จากกองบินยุทธวิธีสนับสนุนทางอากาศที่ 23 ก็ทำการสั่งการโจมตีเช่นกัน การโจมตีทางอากาศอื่น ๆ จะได้รับการวางแผนล่วงหน้า โดยการประสานงานการยุทธทางอากาศโดยรวมจะถูกควบคุมโดยศูนย์ควบคุมและบัญชาการทางอากาศ บางครั้งสื่อในสหรัฐ จะรายงานถึงความขัดแย้งในลาว โดยเรียกความขัดแย้งนี้ว่า "สงครามลับในลาวของ CIA" เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับความขัดแย้งไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะรัฐบาลปฏิเสธว่าความขัดแย้งดังกล่าวเกิดขึ้น การปฏิเสธจากรัฐบาลสหรัฐ ถูกพิจารณาว่าจำเป็นเนื่องจากทั้งรัฐบาลเวียดนามเหนือและรัฐบาลสหรัฐ ต่างก็ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยความเป็นกลางของลาว แต่ในทางปฏิบัติ สหรัฐ ถือว่าการเข้าไปแทรกแซงนั้นจำเป็น เนื่องจากเวียดนามเหนือนั้นสามารถยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในประเทศลาว อีกทั้งบทบาทของเวียดนามเหนือในลาวก็มีมากไม่แพ้กัน ถึงกระนั้น แม้รัฐบาลสหรัฐ จะปฏิเสธว่าได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่สงครามกลางเมืองลาวก็ถือเป็นปฏิบัติการณ์ลับที่ใหญ่ทุกสุดของสหรัฐ ก่อนหน้าสงครามโซเวียต–อัฟกานิสถาน มีการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องในดินแดนของลาวที่เวียดนามเหนือควบคุมอยู่ โดยเครื่องบินของสหรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการยุทธที่มีการทิ้งระเบิดหนักหน่วงที่สุดในประวัติศาสตร์ เจตจำนงค์ของสหรัฐ นั้นไม่พ้นการต่อสู้เพื่อเอาชนะสงครามเย็นด้วยการจำกัดการแพร่กระจายระบอบสังคมนิยม ซึ่งมาจากนโยบายของสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตในการเผยแพร่ระบอบคอมมิวนิสต์ด้วยการบ่อนทำลายและการก่อกบฏ ปฏิกิริยาของรัฐบาลไทยด้านประเทศไทยได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย นครพนม หนองคาย อุดรธานี และอุบลราชธานี ในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2496[8] และได้มีการประกาศสถานการณ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ สกลนคร และศรีสะเกษ ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2496[9] ต่อมารัฐบาลไทยได้สั่งให้ประชาชนอยู่ในเคหะสถานตั้งแต่เวลาเที่ยงคืนถึงตี 5 ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย ตำบลบึงกาฬ อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย กับในเทศบาลเมืองนครพนม ตำบลอุเทน อำเภออุเทน ตำบลบ้านแพง กิ่งอำเภอบ้านแพง ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม ตำบลมุกดาหาร อำเภอมุกดาหาร ตำบลศรีบุญเรือง ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม [10]ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2497 และออกคำสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ในวันเดียวกัน[11] ในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2497 รัฐบาลได้ออกข้อบังคับตามพระราชบัญญัติในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 โดยห้ามคนต่างชาติกักตุนสินค้า เรี่ยไรสินค้า ชวนคนไทยให้ก่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อราชอาณาจักรหรือแม้แต่ให้ที่อยู่คนไทยเพื่อก่อการเป็นปฏิปักษ์ต่อเจ้าหน้าที่[12] ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร[13] และในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร[14] ต่อมาในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2501 มีการยกเลิก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เลย นครพนม หนองคาย อุดรธานี อุตรดิตถ์ สกลนคร ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และเขตท้องที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา[15] อ้างอิง
บรรณานุกรมเอกสารรัฐบาล
ปะวัติศาสตร์
บันทึกความทรงจำ
ข้อมูลทุติยภูมิ
แหล่งข้อมูลอื่น
|