การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย
การก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเป็นสงครามกองโจรที่กินเวลาตั้งแต่ปี 2508 ถึง 2526 สู้รบกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และรัฐบาลไทยเป็นหลัก สงครามเสื่อมลงในปี 2523 หลังรัฐบาลประกาศนิรโทษกรรม และในปี 2526 พคท. เลิกก่อการกำเริบ ภูมิหลังใน พ.ศ. 2470 Han Minghuang นักคอมมิวนิสต์ชาวจีนพยายามจัดตั้งองค์การคอมมิวนิสต์ในกรุงเทพ ก่อนจะถูกจับกุมในเวลาต่อมา[12] ปีถัดมา โฮจิมินห์เดินทางไปยังภาคเหนือของไทย เพื่อพยายามจัดระเบียบโซเวียตในชุมชนเวียดนามท้องถิ่น[12] หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 นายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา กล่าวหาปรีดี พนมยงค์ ศัตรูทางการเมืองว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยรัฐบาลของเขาผ่านพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 ซึ่งกำหนดความผิดทางอาญาต่อลัทธิคอมมิวนิสต์[12] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายคอมมิวนิสต์จัดตั้งพันธมิตรกับขบวนการเสรีไทย จากนั้นใน พ.ศ. 2489 ปรีดี พนมยงค์ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยกเลิกพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ และจัดตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต[12] ใน พ.ศ. 2492 ความพยายามในการกลับมามีอำนาจของปรีดี พนมยงค์หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ถูกทำลายลง การปราบ "กบฎวังหลวง" ทำให้ผู้นำ พคท. เชื่อว่าต้องเตรียมการให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้การกบฏในอนาคตประสบผลสำเร็จ[16] ความล้มเหลวของการก่อกบฏใน พ.ศ. 2495 นำไปสู่การใช้พระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ในวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 โดยมีที่มาจากการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนเล็กน้อยในการก่อกบฏ[16] ในช่วงสงครามเกาหลี ทาง พคท. ยังคงสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ในพื้นที่ชนบทและเตรียมการสำหรับการต่อสู้ด้วยอาวุธ ขณะเดียวกัน พคท. ได้จัดตั้งคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทยขึ้น ซึ่งเป็นขบวนการสันตินิยมที่ดำเนินการในพื้นที่เมือง คณะกรรมการสันติภาพนี้มีส่วนต่อการขยายตัวของ พคท. และเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านอเมริกาในประเทศ[16] ใน พ.ศ. 2503 ทางเวียดนามเหนือจัดตั้งค่ายฝึกอบรมสำหรับอาสาสมัครชาวไทยและลาวที่จังหวัดฮหว่าบิ่ญ ประเทศเวียดนาม โดยในช่วงปีแรกมีผู้เข้าร่วมค่ายรวม 400 คน[12] พคท. มีอุดมการณ์เข้ากับลัทธิเหมา และในช่วงความแตกแยกระหว่างจีน–โซเวียต พรรคนี้เข้าเป็นฝ่ายเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 องค์กรประกาศจุดยืนในข้อความแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสครบรอบ 15 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน[7] ความขัดแย้งต้นคริสต์ทศวรรษ 1950 นักคอมมิวนิสต์ไทย 50 คนเดินทางไปกรุงปักกิ่ง ที่ซึ่งได้รับการฝึกด้านอุดมการณ์และการโฆษณาชวนเชื่อ ในปี 2504 กลุ่มผู้ก่อการกำเริบขบวนการปะเทดลาวขนาดเล็กแทรกซึมเข้าภาคเหนือของประเทศไทย มีการจัดระเบียบกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ท้องถิ่นและมีการส่งอาสาสมัครไปยังค่ายฝึกในประเทศจีน ลาวและเวียดนามเหนือ โดยการฝึกมุ่งไปยังการต่อสู้ด้วยอาวุธและยุทธวิธีก่อการร้าย ระหว่างปี 2505 ถึง 2508 ชาวไทย 350 คนรับการฝึกนาน 8 เดือนในเวียดนามเหนือ เดิมทีกองโจรมีปืนคาบศิลาจำนวนจำกัด ตลอดจนอาวุธฝรั่งเศส จีนและญี่ปุ่น ในครึ่งแรกของปี 2508 ผู้ก่อการกำเริบลักลอบนำอาวุธที่ผลิตในสหรัฐ 3,000 ชิ้นและเครื่องกระสุน 90,000 นัดเข้าจากประเทศลาว สินค้าเหล่านี้เดิมจัดส่งให้กองทัพลาวที่สหรัฐหนุนหลัง แต่ถูกขายให้ผู้ลักลอบส่งออก แล้วแลกเปลี่ยนอาวุธให้แก่ พคท. แทน[4][11] ระหว่างปี 2504 ถึง 2508 ผู้ก่อการกำเริบลอบฆ่าทางการเมือง 17 ครั้ง พคท. ยังไม่เปิดฉากสงครามกองโจรเต็มขั้นจนฤดูร้อนปี 2508 เมื่อ พคท. เริ่มปะทะกับฝ่ายความมั่นคง มีบันทึกรวม 13 ครั้งในช่วงนั้น ครึ่งหลังของปี 2508 มีเหตุการณ์ความรุนแรงอีก 25 ครั้ง และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2508 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเริ่มปฏิบัติการที่ซับซ้อนมากขึ้น รวมทั้งการซุ่มโจมตีกองลาดตระเวนของตำรวจที่จังหวัดนครพนม[12] ในปี 2509 การก่อการกำเริบลามไปส่วนอื่นของประเทศไทย แต่เหตุการณ์การก่อการกำเริบร้อยละ 90 เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ[4] ในวันที่ 14 มกราคม 2509 โฆษกกลุ่มแนวร่วมรักชาติไทยเรียกร้อง "สงครามประชาชน" ในประเทศไทย แถลงการณ์นั้นเป็นเครื่องหมายการยกระดับความรุนแรงในความขัดแย้งนี้ และต้นเดือนเมษายน 2509 ผู้ก่อการกำเริบฆ่าทหาร 16 นายและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 คนระหว่างการปะทะในจังหวัดเชียงราย[12] มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรวม 45 นายและพลเรือน 65 คนเสียชีวิตจากการโจมตีของผู้ก่อการกำเริบในครึ่งแรกของปี 2509[12] ขณะที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศจีน เล่าว่าปรีดี พนมยงค์ได้รับข้อเสนอว่าทางการจีนพร้อมเปิดสงครามกลางเมืองคอมมิวนิสต์ในไทยเพื่อให้ปรีดีกลับไปมีอำนาจในประเทศไทย โดยขอแลกกับการเพิ่มสิทธิให้แก่ชาวจีนในประเทศไทย แต่เขาปฏิเสธ[17]: 797–801 แม้จะมีผุ้ก่อการกำเริบโจมตีฐานทัพที่กองทัพอากาศสหรัฐตั้งทัพในไทยถึง 5 ครั้ง การมีส่วนในความขัดแย้งของสหรัฐมีอยู่ในวงจำกัด[4][18] หลังกองทัพปฏิวัติชาติพ่ายในสงครามกลางเมืองจีน กองพลที่ 49 ข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยจากมณฑลยูนนาน ทหารจีนบูรณาการเข้ากับสังคมไทยอย่างรวดเร็ว และเข้าร่วมการค้าฝิ่นที่ได้กำไรงามภายใต้การคุ้มครองของข้าราชการฉ้อฉล การค้ายาเสพติดเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากรท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ทหารคณะชาติยังให้ความร่วมมือกับรัฐบาลระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่อการกำเริบ ในเดือนกรกฎาคม 2510 เกิดสงครามฝิ่นเมื่อผู้ปลุกฝิ่นไม่ยอมจ่ายภาษีให้พรรคก๊กมินตั๋ง กำลังรัฐบาลเข้าร่วมความขัดแย้งนี้ด้วย โดยทำลายหมู่บ้านจำนวนหนึ่งแล้วย้ายถิ่นฐานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ประชากรที่ถูกย้ายใหม่นี้เป็นทหารเกณฑ์ใหม่สำหรับ พคท.[1] ในเดือนกุมภาพันธ์และสิงหาคม 2510 รัฐบาลดำเนินการตีโฉบฉวยต่อต้านการก่อการกำเริบจำนวนหนึ่งในกรุงเทพมหานครและธนบุรี จับกุมสมาชิก พคท. ได้ 30 คนรวมทั้งเลขาธิการพรรค ธง แจ่มศรี มีการจับกุมตามมาในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2511[12] รัฐบาลวางกำลังกว่า 12,000 นายในจังหวัดภาคเหนือของประเทศในเดือนมกราคม 2515 ดำเนินปฏิบัติการนานหกสัปดาห์ซึ่งทำให้ผู้ก่อการกำเริบเสียชีวิตกว่า 200 คน ฝ่ายรัฐบาลมีทหารเสียชีวิต 30 นายและได้รับบาดเจ็บ 100 นาย[12] ปลายปี 2515 กองทัพ ตำรวจและอาสารักษาดินแดนทำการ "เผาลงถังแดง" พลเรือนกว่า 200 คน[15] (บันทึกไม่เป็นทางการกล่าวว่าสูงถึง 3,000 คน)[19][20] ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนคอมมิวนิสต์ในตำบลแหลมทราย จังหวัดพัทลุง คาดว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรเป็นผู้สั่งการ[15][21] ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ "รูปแบบการละเมิดอำนาจของกองทัพและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย"[22] ระหว่างปฏิบัติการต่อต้านการก่อการกำเริบที่ป่าเถื่อนในปี 2514–2516 ซึ่งทำให้มียอดพลเรือนเสียชีวิต 3,008 คนทั่วประเทศ[15] (ส่วนประมาณการอย่างไม่เป็นทางการว่ามีระหว่าง 1,000 ถึง 3,000 ในจังหวัดพัทลุงที่เดียว)[20] ผู้ที่ถูกฆ่าทั้งหมดถูกกล่าวหาว่าทำงานร่วมกับ พคท. จนถึงเวลานั้นผู้ต้องสงสัยคอมมิวนิสต์ที่ถูกทหารจับกุมปกติถูกยิงข้างถนน มีการริเริ่มเทคนิค "ถังแดง" ภายหลังเพื่อกำจัดหลักฐานใด ๆ ผู้ต้องสงสัยจะถูกทุบตีจนเกือบหมดสติก่อนถูกทิ้งลงในถังน้ำมันแล้วเผาทั้งเป็น[23][24] ถังแดง 200 ลิตรมีตะแกรงกั้นเหล็ก โดยมีไฟด้านล่าง และผู้ต้องสงสัยอยู่ด้านบน[25] วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ท่ามกลางความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ยึดประเทศเช่นเดียวกับที่เกิดในเวียดนาม ตำรวจและกำลังกึ่งทหารโจมตีการเดินขบวนของนักศึกษาฝ่ายซ้ายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณการอย่างเป็นทางการระบุว่ามีนักศึกษาถูกฆ่า 46 คน และได้รับบาดเจ็บ 167 คน[26] ตั้งแต่ปี 2522 ท่ามกลางความเจริญของลัทธิชาตินิยมไทยและความเสื่อมของความสัมพันธ์จีน–เวียดนาม ภายใน พคท. เกิดการต่อสู้อย่างรุนแรง สุดท้ายฝ่ายนิยมเวียดนามแยกตัวออกไปตั้งกลุ่มแยกต่างหาก ชื่อ "พรรคใหม่"[7] ความพยายามยุติการก่อการกำเริบนำสู่นิรโทษกรรมซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 นายกรัฐมนตรี เปรม ติณสูลานนท์ ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 คำสั่งนี้มีผลสำคัญต่อความเสื่อมของการก่อการกำเริบ ในปี 2526 การก่อการกำเริบก็ถึงคราวยุติ[27] ดูเพิ่มหมายเหตุอ้างอิง
|