ลัทธิคอมมิวนิสต์
ลัทธิคอมมิวนิสต์ (อังกฤษ: communism; communis แปลว่า "ร่วมกัน" หรือ "สากล")[1][2] เป็นอุดมการณ์และการเคลื่อนไหวทางปรัชญา สังคม การเมือง และเศรษฐกิจซึ่งมีเป้าหมายในการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ ที่กล่าวคือ ระเบียบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีลักษณะตามแนวคิดเรื่องของกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สิน และปราศจากชนชั้นทางสังคม เงิน และรัฐ ลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นรูปแบบสังคมนิยมที่เฉพาะเจาะจงแต่มีความชัดเจน คอมมิวนิสต์นั้นเห็นด้วยกับความร่วงโรยของรัฐ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเพื่อเป็นการยุติครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างแนวทางของคอมมิวนิเซชั่น (Communization) ไปในทางอิสรนิยมมากขึ้น ลักษณะการเกิดขึ้นเองของการปฏิวัติ (Revolutionary spontaneity) และการจัดการตนเองของแรงงาน (Workers' self-management) และแนวทางที่ถูกขับเคลื่อนโดยผู้นำทางสังคม (Vanguardist) หรือพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้นผ่านทางการพัฒนารัฐธรรมนูญแห่งรัฐสังคมนิยม[3] ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้มีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ รวมทั้งลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์ และสำนักคิดต่าง ๆ ของลัทธิมากซ์ (Marxist schools of thought) ลัทธิคอมมิวนิสต์ประกอบไปด้วยความหลากหลายของโรงเรียนแห่งความคิดซึ่งรวมถึงลัทธิมาร์กซ์ ลัทธิเลนิน และลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม เช่นเดียวกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่ถูกจัดกลุ่มเหมือน ๆ กัน ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ว่า ระเบียบทางสังคมในปัจจุบันที่เกิดมาจากระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจ และวิถีการผลิต ที่กล่าวคือ ในระบบนี้มีอยู่สองชนชั้นทางสังคมที่มีความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างสองชนชั้นนี้คือ การแสวงหาผลประโยชน์และสถานการณ์นี้สามารถแก้ไขได้ในที่สุดโดยผ่านทางการปฏิวัติทางสังคม ทั้งสองชนชั้นทางสังคม ได้แก่ ชนกรรมาชีพ (ชนชั้นแรงงาน) ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนใหญ่ของประชากรภายในสังคมและต้องทำงานเพื่อความอยู่รอด และชนกระฎุมพี (ชนชั้นนายทุน) เป็นคนกลุ่มน้อยขนาดเล็กที่ได้รับผลกำไรจากการจ้างชนชั้นแรงงานผ่านการเป็นเจ้าของส่วนบุคคลของวิถีการผลิต ตามการวิเคราะห์นี้ การปฏิวัติจะทำให้ชนชั้นแรงงานขึ้นมามีอำนาจและในทางกลับกัน การสร้างกรรมสิทธื์ในทรัพย์สินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่มีต่อวิถีการผลิตของคอมมิวนิสต์ ในศตวรรษที่ 20 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่ได้สนับสนุนลัทธิมากซ์–เลนินและรูปแบบต่าง ๆ เข้ามามีอำนาจในส่วนหนึ่งของโลก ครั้งแรกในสหภาพโซเวียตด้วยการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 และต่อมาในส่วนหนึ่งของยุโรปตะวันออก เอเชีย และภูมิภาคอื่น ๆ ไม่กี่แห่งภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง นอกเหนือจากระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นแนวโน้มทางการเมืองที่ครอบงำภายในขบวนการสังคมนิยมระหว่างประเทศ ค.ศ. 1920 การวิพากษ์วิจารณ์ต่อลัทธิคอมมิวนิสต์สามารถแบ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ กล่าวคือ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับลักษณะการปฏิบัติของรัฐคอมมิวนิสต์ในศตวรรษที่ 20 และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการและทฤษฎีคอมมิวนิสต์ นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายคน รวมทั้งนักวิชาการคนอื่น ๆ ได้จัดวางแบบจำลองโซเวียตซึ่งอยู่ภายใต้ในนามของรัฐคอมมิวนิสต์เหล่านี้ได้ดำเนินปฏิบัติอยู่นั้นไม่ใช่แบบจำลองเศรษฐกิจคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงตามคำจำกัดความที่มีการยอมรับมากที่สุดของลัทธิคอมมิวนิสต์ว่าเป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือรูปแบบของระบบทุนนิยมโดยรัฐ (state capitalism) หรือระบบควบคุมบริหารที่ไม่ได้มีการวางแผนเอาไว้ ประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์ช่วงต้นจุดกำเนิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ยังคงเป็นที่ถกเถียง มีกลุ่มบุคคลและนักทฤษฎีในประวัติศาสตร์หลากหลายกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับนักปรัชญาชาวเยอรมัน คาร์ล มากซ์ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของลัทธิคอมมิวนิสต์คือสังคมมนุษย์ในสมัยโบราณที่ส่วนมากจะเป็นนักล่า-เก็บของป่าเรียกว่า "สังคมคอมมิวนิสต์โบราณ" (primitive communism) จนกระทั่งต่อมาเมื่อมนุษย์ได้เรียนรู้ที่จะสร้างส่วนเกินทางเศรษฐกิจ (Economic surplus) ขึ้นมา จึงเกิดระบบความเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ส่วนบุคคลขึ้น และไม่แบ่งปันทรัพย์สินหรือสิ่งของใด ๆ กับผู้อื่นให้ใช้เป็นส่วนรวมอีกต่อไป ตามคำกล่าวของริชาร์ด ไปป์ แนวคิดเกี่ยวกับสังคมที่เท่าเทียมเสมอภาคและปราศจากชนชั้นถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในกรีซโบราณ[4] นอกจากนี้ยังมีขบวนการมัสดาก (Mazdak) ในเปอร์เซียในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ที่ถือว่า "มีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์" (communistic) เนื่องจากท้าทายต่ออภิสิทธิ์ที่มีอยู่อย่างมากมายของชนชั้นนำและนักบวช วิพากษ์วิจารณ์การถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล และมุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่เสมอภาคขึ้นมา[5][6] บางช่วงในประวัติศาสตร์ยังปรากฏว่ามีสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กอยู่อย่างหลากหลาย ซึ่งโดยทั่วไปมีแรงบันดาลใจมากจากคัมภีร์ทางศาสนา[7] เช่น คริสตจักรในสมัยกลางที่ปรากฏว่ามีอารามวาสีและกลุ่มก้อนทางศาสนาบางแห่งร่วมแบ่งปันที่ดินและทรัพย์สินในหมู่สมาชิกด้วยกันเอง (ดูเพิ่มที่ ลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนา และลัทธิคอมมิวนิสต์คริสเตียน) แนวคิดคอมมิวนิสต์ยังสามารถสืบย้อนไปถึงชิ้นงานในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ทอมัส มอร์ ซึ่งตำราของเขานามว่า ยูโทเปีย (ค.ศ. 1516) ได้ฉายภาพสังคมที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สิน และมีผู้ปกครองบริหารงานด้วยการใช้เหตุผล นอกจากนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งในอังกฤษโดยกลุ่มพิวริตันทางศาสนานามว่า "ดิกเกอร์ส" (Diggers) ที่สนับสนุนให้ยกเลิกสิทธิครอบครองที่ดินส่วนบุคคลไป[8] ด้านนักทฤษฎีสังคมนิยม-ประชาธิปไตยชาวเยอรมัน เอดูอาร์ด แบร์นสไตน์ กล่าวในผลงานปี ค.ศ. 1895 ครอมเวลล์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ (Cromwell and Communism) [9] ของเขาว่าในช่วงสงครามกลางเมืองอังกฤษมีกลุ่มหลายกลุ่มโดยเฉพาะพวกดิกเกอร์สที่สนับสนุนอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เกี่ยวกับที่ดินอย่างชัดเจน แต่ทัศนคติของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ที่มีต่อกลุ่มคนเหล่านี้กลับถือว่าต่อต้านและไปในทิศทางตรงกันข้ามอย่างมากที่สุด[9] ทั้งนี้การวิพากษ์วิจารณ์สิทธิครอบครองทรัพย์สินส่วนบุคคลยังคงดำเนินเรื่อยไปจนถึงยุคเรืองปัญญาในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ผ่านนักคิดอย่าง ฌ็อง-ฌัก รูโซในฝรั่งเศส และต่อมาในช่วงที่วุ่นวายที่สุดของการปฏิวัติฝรั่งเศส ลัทธิคอมมิวนิสต์ก็ถือกำเนิดขึ้นในรูปแบบของลัทธิทางการเมือง[10] ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักปฏิรูปสังคมหลายคนได้ร่วมกันก่อตั้งชุมชนที่มีพื้นฐานอยู่บนความเป็นเจ้าของร่วมกัน แต่ไม่เหมือนกับสังคมคอมมิวนิสต์ยุคก่อน ๆ ตรงที่พวกเขาแทนที่การมุ่งเน้นไปในทางศาสนาด้วยรากฐานการใช้ตรรกะเหตุผลและการกุศลเป็นหลัก[11] โดยหนึ่งในผู้มีชื่อเสียงในกลุ่มนี้คือ โรเบิร์ต โอเวน ผู้ก่อตั้งชมรมสหกรณ์ นิวฮาร์โมนี ในรัฐอินดีแอนา ในปี ค.ศ. 1825 และชาลส์ โฟเรียร์ ที่ผู้ติดตามของเขาก็ได้จัดตั้งชุมชนในบริเวณอื่น ๆ ของสหรัฐอเมริกา เช่น ฟาร์มบรุก (Brook Farm; ค.ศ. 1841–1847) ด้วยเช่นกัน[11] ซึ่งต่อมาในภายหลัง คาร์ล มากซ์ อธิบายนักปฏิรูปสังคมเหล่านี้ว่าเป็นพวก "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" (utopian socialists) เพื่อให้ตรงกันข้ามกับ "ลัทธิสังคมนิยมแบบวิทยาศาสตร์" (scientific socialism) ของเขา (ซึ่งเป็นชื่อที่ฟรีดริช เองเงิลส์ เห็นพ้องด้วย) นอกจากนี้มากซ์ยังเรียก อ็องรี เดอ แซ็ง-ซีมง ว่าเป็น "นักสังคมนิยมแบบอุดมคติ" ด้วยเช่นกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ในรูปแบบปัจจุบันเติบโตมาจากขบวนการสังคมนิยมในยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม นักวิจารณ์ฝ่ายสังคมนิยมหลายคนกล่าวโทษระบบทุนนิยมว่าเป็นต้นเหตุความทุกข์ยากของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่ประกอบไปด้วยแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมเขตเมืองผู้ต้องทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มักจะเป็นอันตรายอยู่บ่อยครั้ง โดยบุคคลสำคัญที่สุดในหมู่นักวิจารณ์นี้ก็คือคาร์ล มากซ์ และภาคีของเขาอย่าง ฟรีดริช เองเงิลส์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1848 มากซ์และเองเงิลส์ได้เสนอนิยามใหม่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ และทำให้นิยามดังกล่าวเป็นที่นิยมแพร่หลายด้วยจุลสารอันโด่งดังของพวกเขานามว่า แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์[11] ลัทธิคอมมิวนิสต์สมัยใหม่การปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. 1917 ในรัสเซีย ได้สร้างเงื่อนไขที่เปิดโอกาสให้พรรคบอลเชวิกของวลาดีมีร์ เลนิน ก้าวขึ้นสู่อำนาจและได้มาซึ่งการปกครองในระดับรัฐ ซึ่งนับเป็นพรรคคอมมิวนิสต์พรรคแรกในประวัติศาสตร์ที่มีฐานะเป็นรัฐบาลอย่างเปิดเผย การปฏิวัติดังกล่าวได้ถ่ายโอนอำนาจไปยังสภาโซเวียตของชาวรัสเซียทั้งมวล (All-Russian Congress of Soviets)[12][13][14] ที่ซึ่งพรรคบอลเชวิกถือครองเสียงข้างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวยังได้สร้างข้อถกเถียงเชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติขนานใหญ่ในหมู่ขบวนการลัทธิมากซ์ เนื่องจากมากซ์ได้พยากรณ์ไว้ว่าระบอบสังคมนิยมจะถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานการพัฒนาที่ก้าวหน้าที่สุดของระบบทุนนิยม แต่ในกรณีของรัสเซียระบอบสังคมนิยมกลับถูกสร้างขึ้นจากสังคมที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป เป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาจำนวนมหาศาลที่ส่วนมากไม่รู้หนังสือ (อันเป็นชนส่วนมาก) และกลุ่มแรงงานส่วนน้อยในภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม มากซ์กล่าวอย่างชัดเจนว่ารัสเซียอาจมีความสามารถมากพอที่จะก้าวข้ามขั้นโดยไม่ต้องใช้การปกครองด้วยชนชั้นกระฎุมพีไปได้เลย[15] ส่วนนักสังคมนิยมกลุ่มอื่น ๆ เชื่อว่าการปฏิวัติในรัสเซียครั้งดังกล่าวอาจเป็นตัวนำที่ชี้ชวนให้ชนชั้นแรงงานก่อการปฏิวัติในลักษณะเดียวในโลกตะวันตก ด้านฝ่ายเมนเชวิก (Mensheviks) อันเป็นชนส่วนน้อยที่มีแนวคิดสังคมนิยมรุนแรงน้อยกว่า คัดค้านแผนการปฏิวัติสังคมนิยมก่อนที่ระบบทุนนิยมจะถูกพัฒนาจนสุดขั้นของพรรคบอลเชวิกของเลนิน (อันเป็นชนส่วนมาก) ทั้งนี้ความสำเร็จที่ส่งให้พรรคบอลเชวิกก้าวขึ้นสู่อำนาจมีพื้นฐานจากคำขวัญ เช่น "สันติภาพ ขนมปัง และที่ดิน" ซึ่งไปตรงใจกับความปรารถนาของสาธารณชนหมู่มากที่ต้องการให้รัสเซียยุติบทบาทในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และความต้องการของชาวนาที่อยากให้มีการปฏิรูปที่ดิน รวมถึงเสียงสนับสนุนส่วนมากให้มีสภาโซเวียต[16] สังคมนิยมสากลที่สอง (Second International) อันเป็นองค์การสังคมนิยมระหว่างประเทศถูกยุบในปี ค.ศ. 1916 จากความแตกแยกภายในซึ่งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายตามประเทศต้นกำเนิด โดยพรรคสังคมนิยมสมาชิกในองค์การจากแต่ละประเทศไม่สามารถรักษาจุดยืนร่วมกันในการต่อต้านสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเอาไว้ได้ แต่กลับสนับสนุนบทบาทของรัฐบาลตามแนวทางของชาติตนแทน ด้วยเหตุนี้เลนินจึงก่อตั้ง สังคมนิยมสากลที่สาม (Third International) หรือ "โคมินเทิร์น" ในปี ค.ศ. 1919 และได้ส่งเงื่อนไขยี่สิบเอ็ดข้อ (Twenty-one Conditions) ซึ่งรวมเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์ (Democratic socialism) ไว้ภายใน ให้แก่พรรคการเมืองสังคมนิยมในยุโรปที่ต้องการจะยึดถือเป็นหลักปฏิบัติ ในฝรั่งเศสมีตัวอย่างให้เห็นคือสมาชิกส่วนมากที่เป็นพรรคแรงงานสากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิโอ" (French Section of the Workers' International; SFIO) แยกตัวออกมาในปี ค.ศ. 1921 เพื่อก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สากลสาขาฝรั่งเศสหรือ "แอสเอฟอิเซ" (French Section of the Communist International; SFIC) ดังนั้นคำว่า "คอมมิวนิสซึม" หรือลัทธิคอมมิวนิสต์จึงถูกใช้หมายถึงวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นภายใต้โคมินเทิร์น โครงการของพวกเขาก็คือหลอมรวมแรงงานทั่วโลกเข้าเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันสำหรับการปฏิวัติ ซึ่งจะตามมาด้วยการสถาปนาระบอบการปกครองแบบเผด็จการโดยชนชั้นกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เช่นเดียวกับการพัฒนาภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ในช่วงสงครามกลางเมืองรัสเซีย (ค.ศ. 1918–1922) พรรคบอลเชวิกได้ยึดเอาทรัพย์สินที่ใช้สำหรับการผลิตทั้งหมดและประกาศนโยบายที่ชื่อว่า สงครามลัทธิคอมมิวนิสต์ (war communism) ซึ่งยึดเอาบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและทางรถไฟมาอยู่ใต้การควบคุมของรัฐอย่างเข้มงวด เก็บรวบรวมและปันสวนอาหาร และริเริ่มการจัดการอุตสาหกรรมแบบกระฎุมพี หลังจากริเริ่มนโยบายดังกล่าวไปได้ 3 ปี และเกิดเหตุการณ์กบฏโครนสตัดท์ขึ้นในปี ค.ศ. 1921 เลนินจึงได้ประกาศ นโยบายเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Policy; NEP) ในปีเดียวกัน เพื่อจำกัด "สถานที่และเวลาแก่ระบบทุนนิยม" นโยบายดังกล่าวยังคงอยู่ไปจนกระทั่งปี ค.ศ. 1928 เมื่อโจเซฟ สตาลิน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคและริเริ่ม แผนห้าปี (Five Year Plans) มาลบล้างนโยบายเก่าของเลนิน และหลังสงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1922 พรรคบอลเชวิกได้สถาปนาสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (ยูเอสเอสอาร์) หรือเรียกโดยย่อว่า "สหภาพโซเวียต" ขึ้นมาจากจักรวรรดิรัสเซียในอดีต หลังจากรับเอาคติประชาธิปไตยรวมศูนย์มาแล้ว พรรคการเมืองแนวลัทธิเลนินก็หันมาจัดโครงสร้างองค์กรแบบลำดับขั้น (hierarchy) โดยมีสมาชิกระดับหน่วยย่อยเป็นฐานล่างสุด ถัดขึ้นมาถึงจะเป็นสมาชิกระดับอภิสิทธิ์ที่เรีกยว่า คาดส์ (cadres) ซึ่งจะได้รับแต่งตั้งจากบุคคลระดับสูงภายในพรรคเท่านั้น โดยจะต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและยึดมั่นในแนวทางของพรรคอย่างมากจึงจะได้รับแต่งตั้ง[17] ถัดมาเกิดการกวาดล้างครั้งยิ่งใหญ่ขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1937 – 1938 ตามนโยบายของสตาลินที่ต้องการจะทำลายขั้วตรงข้ามที่อาจแข็งข้อภายในพรรคคอมมิวนิสต์ และในการพิจารณาคดีที่มอสโกได้กล่าวหาสมาชิกพรรคบอลเชวิกดั้งเดิมหลายคนที่มีบทบาทเด่นในช่วงการปฏิวัติรัสเซีย ค.ศ. 1917 หรือในรัฐบาลของเลนินหลังจากนั้น เช่น คาเมนเนฟ, ซีโนวีฟ, รืยคอฟ และบูคาริน ว่าได้กระทำความผิด จึงตัดสินให้ลงโทษและนำไปประหารชีวิตในท้ายที่สุด[18] สงครามเย็นสหภาพโซเวียตผงาดขึ้นเป็นชาติมหาอำนาจจากบทบาทนำในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากเหนือภูมิภาคยุโรปตะวันออกและบางส่วนของเอเชีย และหลังสงครามโลกสิ้นสุดลง จักรวรรดิต่าง ๆ ในยุโรปและจักรวรรดิญี่ปุ่นก็แตกแยกออกเป็นส่วน ๆ บรรดาพรรคคอมมิวนิสต์หลายแห่งจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างบทบาทนำในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช ต่อมาด้วยความช่วยเหลือของสหภาพโซเวียต พรรคการเมืองแนวลัทธิมากซ์-เลนินที่ยึดถือสหภาพโซเวียตเป็นต้นแบบต่างพากันก้าวขึ้นสู่อำนาจในบัลแกเรีย เชโกสโลวาเกีย เยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ ฮังการี และโรมาเนีย นอกจากนี้ยังเกิดการตั้งรัฐบาลแนวลัทธิมากซ์-เลนินภายใต้การนำของนายพลตีโตในยูโกสลาเวียด้วยเช่นกัน แต่นโยบายความเป็นอิสระของตีโตทำให้ยูโกสลาเวียถูกขับออกจาก "โคมินเทิร์น" ซึ่งเป็นองค์การสืบทอดต่อจากโคมินฟอร์ม ดังนั้นยูโกสลาเวียจึงกลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อิสระที่ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตหรือเป็นประเทศใน "ลัทธิตีโต" เช่นเดียวกับแอลเบเนียก็เป็นรัฐอิสระในลัทธิมากซ์-เลนินอีกแห่งหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง[19] เมื่อถึงปี ค.ศ. 1950 ฝ่ายนิยมลัทธิมากซ์-เลนินในจีนก็สามารถควบคุมจีนแผ่นดินใหญ่ทั่วทุกแห่งหนได้สำเร็จ นอกจากนี้ในช่วงสงครามเกาหลีและสงครามเวียดนาม ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้ต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรอีกหลายประเทศเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจในประเทศของตน ซึ่งได้บทสรุปจากสงครามทั้งสองครั้งนั้นก็แตกต่างกันไป ไม่เพียงเท่านั้นยังพยายามรวมกลุ่มกับฝ่ายชาตินิยมและฝ่ายสังคมนิยมเพื่อต่อสู้กับลัทธิจักรวรรดินิยมของโลกตะวันตกในประเทศยากจนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกมองว่าเป็นคู่แข่งและภัยคุกคามต่อลัทธิทุนนิยมในโลกตะวันตกตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[20] ซึ่งสภาพการแข่งขันของทั้งสองค่ายนี้ถึงจุดสูงสุดในช่วงสงครามเย็น เมื่อสองชาติมหาอำนาจของโลกที่ยังคงเหลืออยู่อันได้แก่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ได้แบ่งขั้วทางการเมืองและผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ ต้องเข้าร่วมกับค่ายใดค่ายหนึ่งเท่านั้น ชาติมหาอำนาจทั้งสองยังสนับสนุนให้เกิดการแผ่ขยายระบบการเมืองและเศรษฐกิจของตนไปสู่ประเทศอื่น ๆ อีกด้วย ส่งผลให้เกิดการขยายขนาดของกองทัพ การกักตุนอาวุธนิวเคลียร์ และการแข่งขันด้านสำรวจอวกาศ
การล่มสลายของสหภาพโซเวียตสหภาพโซเวียตล่มสลายลงในวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1991 อันเป็นผลมาจากการแถลงการณ์เลขที่ 142-เอช โดยสภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียต[21] แถลงการณ์ดังกล่าวได้รับทราบการประกาศเอกราชของอดีตสาธารณรัฐโซเวียตและสถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชขึ้นแทน ซึ่งการลงนามรับรองแถลงการณ์ดังกล่าวมีเหตุต้องล่าช้าออกไปหรือไม่มีการลงนามรับรองเลยแต่อย่างได้ ในขณะที่หนึ่งวันก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีโซเวียต มิคาอิล กอร์บาชอฟ (ผู้นำสหภาพโซเวียตคนที่แปดและคนสุดท้าย) ประกาศลาออก ยุบตำแหน่ง และถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดแก่ประธานาธิบดีรัสเซีย บอริส เยลต์ซิน ซึ่งรวมถึงสิทธิ์ครอบครองรหัสปล่อยขีปนาวุธนำวิถีของสหภาพโซเวียต ต่อมา เวลา 7.32 น. ของเย็นวันเดียวกันนั้น ธงชาติสหภาพโซเวียตถูกลดลงจากยอดเสาของพระราชวังเครมลินเป็นครั้งสุดท้าย และแทนที่ด้วยธงชาติรัสเซียแบบที่ใช้ก่อนการปฏิวัติ[22] ช่วงเวลาก่อนหน้านี้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงธันวาคม สาธารณรัฐโซเวียตแต่ละแห่งรวมถึงรัสเซียเองได้แยกตัวออกจากการเป็นสหภาพมาก่อนแล้ว โดยที่อดีตสาธารณรัฐโซเวียตทั้ง 11 แห่ง ได้ร่วมลงนามในพิธีสารอัลมา-อาตา ซึ่งได้สถาปนาเครือจักรภพรัฐเอกราชและประกาศยุบสหภาพโซเวียตหนึ่งสัปดาห์ก่อนการล่มสลายอย่างเป็นทางการ[23][24] ปัจจุบันในปัจจุบันมีประเทศที่ปกครองด้วยรัฐบาลลัทธิมากซ์-เลนินและใช้ระบบพรรคการเมืองเดี่ยวเหลือเพียง 4 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน คิวบา ลาว และเวียดนาม ส่วนเกาหลีเหนือไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์ตามแบบฉบับลัทธิมากซ์-เลนินแล้ว หากแต่ยึดถืออุดมการณ์ตามหลัก จูเช ที่ฉายภาพว่าพัฒนามาจากลัทธิมากซ์-เลนินแทน ในขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์หรือพรรคการเมืองสืบทอดที่หลงเหลืออยู่ก็ยังคงมีบทบาททางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศ เช่น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งแอฟริกาใต้ที่เข้าร่วมเป็นพรรครัฐบาลภายใต้การนำของพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่เป็นรัฐบาลปกครองรัฐเกรละของอินเดีย ฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเนปาล[25] และพรรคคอมมิวนิสต์บราซิลที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคแรงงานสังคมนิยมประชาธิปไตย สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ปรับเปลี่ยนมุมมองที่ตกทอดมาจากลัทธิเหมาหลายด้าน เช่นเดียวกันกับลาว เวียดนาม และคิวบา (มีการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่า) โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ได้ผ่อนคลายการควบคุมทางเศรษฐกิจลงเพื่อกระตุ้นการเติบโต ทั้งนี้รัฐบาลจีนภายใต้การนำของเติ้ง เสี่ยวผิง ได้เริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งหลังจากนั้นเป็นต้นมาจีนสามารถลดระดับความยากจนลงจากร้อยละ 51 ในสมัยเหมา เจ๋อตุง มาเป็นเพียงร้อยละ 6 ในปี ค.ศ. 2001[26] ในขณะเดียวกันยังได้ริเริ่มเขตเศรษฐกิจพิเศษไว้สำหรับกิจการที่อิงกับระบบตลาดเป็นหลัก โดยที่ไม่ต้องกังวลการควบคุมหรือการแทรกแซงจากรัฐบาลกลาง ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่ประกาศตนว่ายึดถือในอุดมการณ์ลัทธิมากซ์-เลนิน เช่น เวียดนาม ก็พยายามริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจให้อิงกับระบบตลาดด้วยเช่นกัน การปฏิรูปทางเศรษฐกิจนี้บางครั้งถูกวิจารณ์จากโลกภายนอกว่าเป็นการถอยกลับไปหาลัทธิทุนนิยม แต่พรรคคอมมิวนิสต์แย้งว่าเป็นการปรับตัวที่จำเป็นเพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต และเพื่อใช้สมรรถนะทางอุตสาหกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในประเทศที่ดำเนินการปฏิรูปเหล่านี้ ที่ดินทั้งมวลถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะซึ่งบริหารจัดการโดยรัฐ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมและบริการที่จำเป็น รวมไปถึงทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นภาครัฐจึงถือเป็นภาคส่วนทางเศรษฐกิจหลักในระบบเศรษฐกิจดังกล่าว และรัฐเป็นผู้มีบทบาทกลางในการประสานงานเพื่อให้เกิดพัฒนาการทางเศรษฐกิจ คอมมิวนิสต์แบบลัทธิมากซ์ลัทธิมากซ์มากซ์และเองเงิลส์พยายามหาแนวทางที่จะนำจุดจบมาสู่ระบบทุนนิยมและการกดขี่ผู้ใช้แรงงานเหมือนกับนักสังคมนิยมคนอื่น ๆ แต่ในขณะที่นักสังคมนิยมคนอื่นหวังถึงการค่อย ๆ ปฏิรูปสังคมในระยะยาว ทั้งมาร์กซ์และเองเกิลส์คิดว่ามีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นที่จะนำไปสู่ระบอบสังคมนิยมได้ นั่นคือการปฏิวัติ[27] ตามที่ข้อสนับสนุนลัทธิคอมมิวนิสต์ของมากซ์กล่าวไว้ว่า ลักษณะเฉพาะของเผ่าพันธุ์มนุษย์ในสังคมชนชั้นคือความไม่สนใจซึ่งกันและกัน และยังกล่าวอีกว่าความคิดแบบคอมมิวนิสต์คือสิ่งที่มนุษย์ปรารถนา เพราะมันนำมาซึ่งความหยั่งรู้และการพบกับอิสรภาพแห่งมนุษย์อย่างแท้จริง มากซ์ในที่นี้กล่าวตามนักปรัชญาชาวเยอรมัน จอร์จ วิลเฮล์ม ฟรีดริช เฮเกิล (G.W.F. Hegel) ที่กล่าวว่าอิสรภาพมิใช่เพียงแค่การมิให้อำนาจเข้ามาควบคุมเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกระทำที่มีสำนึกศีลธรรมอีกด้วยไม่เพียงแค่ระบอบคอมมิวนิสต์จะทำให้คนทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการเท่านั้น แต่การทำให้มนุษย์ที่มีสถานภาพเดียวกันและความเหมือนกันนั้น จะทำให้พวกเขาไม่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์สู่ตนเองอีกต่อไป ในขณะที่เฮเกิลคิดถึงการใช้ชีวิตตามหลักจรรยา ผ่านมโนภาพที่ยิ่งใหญ่ แต่สำหรับมากซ์แล้ว คอมมิวนิสต์นั้นเกิดขึ้นได้จากวัตถุและผลิตผล[28] โดยเฉพาะการพัฒนารายได้ที่ประชาชนจะได้รับจากการผลิต ลัทธิมากซ์นั้นยึดถือว่ากระบวนการแตกแยกระหว่างชนชั้นที่ต่างกัน ผสมกับการดิ้นรนต่อสู้ที่จะปฏิวัติ จะนำชัยชนะมาสู่ชนชั้นแรงงาน และนำมาซึ่งการก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ที่ที่สิทธิ์ในการการครอบครองทรัพย์สมบัติส่วนบุคคลจะค่อย ๆ ถูกลบล้างไป และรายได้ของประชาชนจากการผลิต และความเป็นอยู่ที่ยึดติดอยู่กับชุมชนจะค่อย ๆ เข้ามาแทนที่ ตัวมากซ์เองนั้นชี้แจงไว้เพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่เมื่ออยู่ภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ แต่กล่าวถึงข้อมูลเฉพาะส่วนหลัก ๆ ที่เป็นแนวทางไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวกับการลดขอบเขตของสิ่งที่บุคคลพึงกระทำ เห็นได้จากคำขวัญของกลุ่มเคลื่อนไหวลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีความว่า สังคมคอมมิวนิสต์คือโลกที่ทุก ๆ คนทำในสิ่งที่พวกเขาถนัด และได้รับตามที่พวกเขาต้องการ ตัวอย่างที่อธิบายแนวคิดของมากซ์มาจากผลงานเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นของเขาที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอนาคตของลัทธิคอมมิวนิสต์โดยละเอียดคือ แนวคิดลัทธิของเยอรมัน (The German Ideology) ในปี ค.ศ. 1845 งานชิ้นนั้นมีใจความว่า:
วิสัยทัศน์ที่มั่นคงของมากซ์ ทำให้วิสัยทัศน์นี้กลายเป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับความเป็นไปของสังคมที่เป็นระบบ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริง และเป็นทฤษฎีทางการเมืองที่อธิบายถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำการปฏิวัติเพื่อที่จะได้สิ่งใดๆ มาที่มีข้อกังขาเล็กน้อย ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยามของคำว่า ระบอบสังคมนิยม และ ระบอบคอมมิวนิสต์ มักถูกใช้แทนกัน อย่างไรก็ตาม มากซ์และเองเงิลส์เห็นว่า สังคมนิยมคือระดับปานกลางของสังคมที่ทรัพย์สมบัติส่วนใหญ่จากการผลิตมีมวลชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยที่ยังคงความแตกต่างระหว่างชนชั้นไว้เล็กน้อย โดยที่พวกเขาสงวนนิยามของระบอบคอมมิวนิสต์ไว้ว่า เป็นขั้นสุดท้ายของสังคมที่ไม่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้น ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี และรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป หลักเกณฑ์เหล่านี้ต่อมาจึงถูกพัฒนา โดยเฉพาะจากวลาดีมีร์ เลนิน ซึ่งมีอิทธิพลในการกำหนดลักษณะของพรรคคอมมิวนิสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ให้โดดเด่น นักเขียนรุ่นต่อมาเปลี่ยนแปลงวิสัยทัศน์ของมาร์กซ์โดยมอบอำนาจให้กับรัฐให้เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาสังคมดังกล่าว โดยแย้งว่าการที่จะให้เป็นคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์ได้นั้น ต้องเริ่มมาจากการเป็นสังคมนิยมเสียก่อน จึงค่อย ๆ แปลงสังคมภายใต้ระบอบสังคมนิยม ให้กลายเป็นสังคมคอมมิวนิสต์โดยสมบูรณ์[29] คนรุ่นเดียวกับมาร์กซ์บางคน เช่น อนาธิปัตย์อย่างมิคาเอล บาคูนิน ก็สนับสนุนแนวคิดคล้าย ๆ กัน แต่ต่างกันในทัศนคติของพวกเขาในเรื่องของวิธีที่จะนำไปสู่สังคมสามัคคีที่ไร้ชนชั้นได้ จนมาถึงทุกวันนี้ยังคงมีการแบ่งกลุ่มเคลื่อนไหวของคนงานอยู่ระหว่างกลุ่มลัทธิคอมมิวนิสต์ของมาร์กซ์และกลุ่มอนาธิปัตย์ โดยที่พวกอนาธิปัตย์มีความคิดเป็นปฏิปักษ์และต้องการที่จะล้มล้างทุกอย่างที่เป็นของรัฐบาล แต่ในหมู่พวกเขาก็มีนักอนาธิปัตย์-คอมมิวนิสต์อย่าง ปีเตอร์ โครพอตคิน ที่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ไร้ชนชั้นในทันที ในขณะที่นักอนาธิปัตย์-สหการนิยมเชื่อในสหภาพแรงงานที่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในสังคม ตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ (ที่เชื่อในสังคมไร้ชนชั้น นั่นคือไม่มีผู้นำ) ลัทธิเลนิน
ลัทธิเลนินคือตัวตนของทฤษฎีการเมืองที่พัฒนาโดยและตั้งชื่อตามนักปฏิวัติชาวรัสเซีย วลาดีมีร์ เลนิน ผู้ซึ่งภายหลังก้าวขึ้นเป็นผู้นำโซเวียต สำหรับองค์กรทางประชาธิปไตยของพรรคแนวหน้าการปฏิวัติและความสำเร็จของเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ อันจะเบิกทางไปสู่การสถาปนาลัทธิสังคมนิยมในทางการเมือง ลัทธิเลนินประกอบขึ้นจากทฤษฎีเศรษฐกิจและการเมืองต่าง ๆ ซึ่งพัฒนามาจากลัทธิมากซ์ เช่นเดียวกับการตีความทฤษฎีมากซิสต์ของเลนินเองเพื่อให้สามารถไปประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติกับสภาพแวดล้อมเงื่อนไขของจักรวรรดิรัสเซีย ที่เป็นสังคมเกษตรกรรมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 ลัทธิเลนินถูกนำไปปฏิบัติใช้เป็นระยะเวลา 5 ปีในฐานะปรัชญาการเมืองและเศรษฐกิจตามแนวทางมากซิสต์ในแบบฉบับของรัสเซีย ซึ่งบังคบใช้จริงและยังให้เกิดผลโดยพวกบอลเชวิก พรรคการเมืองแนวหน้าผู้นำการต่อสู้เพื่ออิสรภาพทางการเมืองของชนชั้นแรงงาน ลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิสตาลิน และลัทธิทรอตสกีลัทธิมากซ์-เลนินและลัทธิสตาลินลัทธิมากซ์-เลนิน คือแนวคิดทางการเมืองที่พัฒนาโดยโจเซฟ สตาลิน[31] ซึ่งถ้ายึดถือตามผู้เสนอแล้วเป็นแนวคิดที่มีพื้นฐานมาจากลัทธิมากซ์และลัทธิเลนิน ลัทธิดังกล่าวอธิบายแนวคิดทางการเมืองแบบจำเพาะที่สตาลินริเริ่มปฏิบัติในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต (ระดับรัฐ) และโคมินเทิร์น (ระดับสากล) อย่างไรก็ตาม คำถามที่ว่าแท้จริงแล้วสตาลินได้ปฏิบัติตามแนวทางลัทธิมากซ์และเลนินตามชื่อลัทธิหรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักประวัติศาสตร์[32] เนื่องจากมีเนื้อหาสาระบางแง่มุมที่อาจจะเบี่ยงเบนไปจากเนื้อหาสาระของลัทธิมากซ์ เช่น แนวทาง สังคมนิยมประเทศเดียว[33][34] ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินคือแนวคิดของขบวนการคอมมิวนิสต์ที่เห็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด จึงเป็นลัทธิซึ่งเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ที่โดดเด่นมากที่สุด ลัทธิมากซ์-เลนินยังอาจกล่าวถึงในฐานะระบบเศรษฐกิจ-สังคมและแนวคิดทางการเมืองซึ่งริเริ่มโดยสตาลินในสหภาพโซเวียต และภายหลังถูกลอกเลียนและนำไปใช้บนพื้นฐานจากตัวแบบโซเวียต (Soviet model) โดยรัฐอื่น ๆ เช่น การวางแผนจากส่วนกลาง และรัฐพรรคการเมืองเดียว เป็นต้น ในขณะที่ลัทธิสตาลินจะกล่าวถึงการปกครองในแบบฉบับของสตาลิน เช่น การกดขี่ทางการเมือง และลัทธิบูชาบุคคล เป็นต้น ทั้งนี้ลัทธิมากซ์-เลนินยังคงอยู่หลังกระบวนการล้มล้างลัทธิสตาลิน (de-Stalinization) นอกจากนี้ ในจดหมายฉบับสุดท้ายก่อนถึงแก่กรรม เลนินเคยกล่าวเตือนถึงอันตรายจากบุคลิกของสตาลินมาก่อน และเร่งเร้าให้รัฐบาลโซเวียตหาบุคคลที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่งผู้นำแทน[35] ลัทธิเหมาคือรูปแบบหนึ่งของลัทธิมากซ์-เลนินซึ่งข้องเกี่ยวกับผู้นำจีน เหมา เจ๋อตง หลังการล้มล้างลัทธิสตาลิน สหภาพโซเวียตยังคงยึดมั่นในลัทธิมากซ์-เลนิน แต่กระแสต่อต้านลัทธิแก้ (Anti-revisionism) บางส่วน เช่น ลัทธิฮกไฮ (Hoxhaism) และลัทธิเหมา ต่างแย้งว่าลัทธิมากซ์-เลนินหลังยุคสตาลินคือรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไป ดังนั้นนโยบายของคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียและจีนจึงแตกต่างและถอยห่างออกจากสหภาพโซเวียต ลัทธิมากซ์-เลนินถูกวิจารณ์จากแนวคิดคอมมิวนิสต์และมากซิสต์แนวอื่น ๆ ว่ารัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์ไม่ได้สถาปนาระบอบสังคมนิยม หากแต่เป็นระบอบทุนนิยมรัฐ (state capitalism) เสียมากกว่า[29] ซึ่งตามแนวทางลัทธิมากซ์แล้ว เผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) เป็นตัวแทนถึงการปกครองของชนหมู่มาก (ประชาธิปไตย) มากกว่าที่จะเป็นของพรรคการเมืองเดียว ถึงขนาดที่หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งลัทธิมากซ์ ฟรีดริช เองเงิลส์ เคยอธิบาย รูปแบบจำเพาะ ของการปกครองนี้ไว้ว่าเป็นระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย[36] นอกจากนี้ เองเงิลส์ยังอธิบายว่าทรัพย์สินของรัฐแท้จริงแล้วก็คือทรัพย์สินของเอกชน (ทรัพย์สินส่วนตน) ตามธรรมชาติของระบอบทุนนิยม[37] เว้นแต่หากเหล่าชนชั้นกรรมาชีพสามารถควบคุมอำนาจทางการเมือง (รัฐ) ได้ ทรัพย์สินนั้นต่างหากจะถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะโดยแท้จริง[38] ซึ่งคำถามที่ว่าชนกรรมาชีพแท้จริงแล้วมีอำนาจควบคุมเหนือรัฐมากซิสต์-เลนินนิสต์หรือไม่ ยังคงเป็นที่ถกเถียงในหมู่ลัทธิมากซ์-เลนินด้วยกันเอง และลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้สำหรับลัทธิคอมมิวนิสต์สายอื่น ๆ แล้ว ลัทธิมากซ์-เลนินอาจไม่ใช่ทั้งลัทธิมากซ์ ลัทธิเลนิน หรือการรวมกันของลัทธิทั้งสอง แต่เป็นเพียงบทนิยามที่ประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เรียกการที่สตาลินบิดเบือนแนวคิดมากซ์-เลนินไปจากเดิม[39] แล้วนำเอาแนวคิดของตนดังกล่าวไปบังคับใช้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตและโคมินเทิร์น ในสหภาพโซเวียตเรียกขานแนวทางต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนินนี้ว่า ลัทธิทรอตสกี ซึ่งเรียกขานตนเองว่าเป็นลัทธิในแนวทางมากซ์และเลนิน (Marxist and Leninist tendency) ลัทธิทรอตสกีลัทธิทรอตสกี คือแนวคิดตามแนวทางมากซ์และเลนินที่พัฒนาโดยเลออน ทรอตสกี แต่ต่อต้านลัทธิมากซ์-เลนิน ลัทธิดังกล่าวสนับสนุนทฤษฎีการปฏิวัติถาวร (permanent revolution) และการปฏิวัติโลก แทนที่ทฤษฎีสองขั้นและแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว นอกจากนี้ยังสนับสนุนลัทธิชนกรรมาชีพสากล (proletarian internationalism) และการปฏิวัติคอมมิวนิสต์อีกครั้งหนึ่งในสหภาพโซเวียต ที่ซึ่งทรอตสกีอ้างว่าได้กลายเป็น รัฐแรงงานเสื่อมสภาพ (degenerated worker's state) ไปเสียแล้วภายใต้การนำของสตาลิน และความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นผิดเพี้ยนไปในรูปแบบใหม่ แทนที่จะเป็นเผด็จการโดยชนกรรมาชีพตามแนวทางลัทธิมากซ์แบบดั้งเดิม ทรอตสกีและผู้สนับสนุนดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจเหนือสหภาพโซเวียตและขับไล่สตาลินออกจากการปกครอง ได้แบ่งการจัดตั้งเป็นฝ่ายซ้ายต่อต้าน (Left Opposition) ซึ่งภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อลัทธิทรอตสกี อย่างไรก็ตาม สตาลินสามารถรวบรวมอำนาจควบคุมเบ็ดเสร็จไว้ได้สำเร็จในท้ายที่สุด ส่งผลให้ความพยายามของทรอตสกีล้มเหลวและต้องลี้ภัยออกจากสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1929 ในขณะที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศนั้น ทรอตสกียังคงดำเนินการต่อต้านสตาลินอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น การก่อตั้งสังคมนิยมสากลที่สี่ (Fourth International) ในปี ค.ศ. 1938 ขึ้นมาแข่งกับโคมินเทิร์น ท้ายที่สุดแล้วทรอตสกีถูกลอบสังหารในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1940 ณ กรุงเม็กซิโกซิตี ตามคำสั่งของสตาลิน ทั้งนี้การเมืองตามแบบฉบับของทรอตสกีแตกต่างไปจากสตาลินและเหมาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการประกาศเรียกร้องให้เกิดการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพในระดับสากล (แทนที่จะเป็นแนวทางสังคมนิยมประเทศเดียว) และการสนับสนุนเผด็จการโดยชนกรรมาชีพบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตยโดยแท้จริง ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมคือกรอบปรัชญาทางเศรษฐกิจและการเมืองกว้าง ๆ ที่เน้นการต่อต้านแง่มุมอำนาจนิยมภายในลัทธิมากซ์ ซึ่งในช่วงต้นรู้จักกันในชื่อ คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย[40] และมีจุดยืนตรงกันข้ามกับลัทธิมากซ์-เลนิน[41] รวมถึงแนวคิดย่อยอื่น ๆ เช่น ลัทธิสตาลิน ลัทธิเหมา และลัทธิทรอตสกี[42] นอกจากนี้ยังมีจุดยืนที่เน้นไปทางปฏิรูปนิยมเช่นเดียวกับพวกประชาธิปไตยสังคมนิยม[43] กระแสลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมักจะยึดถือผลงานชิ้นหลัง ๆ ของมากซ์และเองเงิลส์ โดยเฉพาะ กรุนด์ริสเซอ (เยอรมัน: Grundrisse; ปัจจัยพื้นฐาน) และ สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส (The Civil War in France)[44] ซึ่งเน้นความเชื่อของมากซ์ที่ว่าชนชั้นแรงงานสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเองได้โดยไม่ต้องพึงพานักปฏิวัติหรือรัฐเข้ามาเป็นตัวกลางหรือตัวช่วยในการปลดแอกตนเอง[45] ดังนั้นลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมจึงถือเป็นแนวคิดกระแสหลักหนึ่งในสองกระแสภายใต้ลัทธิสังคมนิยมแบบอิสรนิยมเคียงคู่กับอนาธิปไตย[46] ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมยังรวมถึงแนวคิดกระแสอื่น ๆ เช่น ลัทธิลุกเซิมบวร์ค ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้าย โซซียาลิสม์อูบาร์บารี (ฝรั่งเศส: Socialisme ou Barbarie; สังคมนิยมหรืออนารยชน) แนวทางจอห์นสัน-ฟอเรสต์ ลัทธิสังคมนิยมโลก ลัทธิเลททริหรือสภาวะนิยม (Lettrism หรือ Situationism) ออปอเรซโม (อิตาลี: Operaismo) หรืออัตินิยม (autonomism) และฝ่ายซ้ายใหม่[47] ซึ่งบ่อยครั้งที่ลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมมีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวคิดฝ่ายซ้ายยุคหลัง (post-left) และอนาธิปไตยแบบสังคมนิยม นักทฤษฎีตามลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมที่มีชื่อเสียง เช่น ออนทอน พันเนอคุก, รายา ดูนาเยฟสกายา, ซี.แอล.อาร์. เจมส์, คอร์นีเลียส กัสโตรรีอาดีส, เมาริซ บรินตัน, กี เดอบอร์, ดานียาล เกแรง, แอเนสโต สเครปันติ และราอูล วาเนญอง ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมคือการเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายจัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 มีพรรคกรรมกรคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (KAPD) เป็นหลักสำคัญขององค์กร และยังคงดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวตามเหตุผลและหลักการของมาร์กซิสต์และสังคมนิยมแบบอิสรนิยม หลักการสำคัญของลัทธินีคือให้รัฐบาลและเศรษฐกิจควรจะอยู่ภายใต้การบริหารขององค์คณะแรงงาน (workers' council) ซึ่งประกอบด้วยการเลือกผู้แทนจากสถานที่ทำงานและสามารถให้มีการถอดถอนผู้ได้รับเลือกตั้งได้ทุกเมื่อ จากแนวคิดดังกล่าว หลักการของสภาคอมมิวนิสต์จึงขัดต่อลัทธิอำนาจนิยม สังคมนิยมรัฐ และทุนนิยมรัฐ รวมไปถึงการต่อต้านพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ เนื่องจากจะนำไปสู่พรรคการเมืองเผด็จการในที่สุด ทั้งยังสนับสนุนประชาธิปไตยโดยชนชั้นแรงงาน ซึ่งเหล่าผู้ใช้แรงงานจะสามารถจัดตั้งสหพันธ์แรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของตน นอกจากนี้ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบองค์คณะนิยมมักจะถูกมองว่ามีส่วนคล้ายกับลัทธิอนาธิปไตย เนื่องจากแนวคิดต่อต้านลัทธิอำนาจนิยมตามแบบลัทธิเลนินและปฏิเสธแนวคิดของพลพรรคแนวหน้านิยม (party vanguardism) ลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายลัทธิคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายคือกรอบมุมมองตามลัทธิคอมมิวนิสต์ที่ยึดถือโดยฝ่ายซ้าย วิจารณ์แนวคิดและแนวปฏิบัติทางการเมืองหลังระลอกการปฏิวัติโดยพวกบอลเชวิกและพวกประชาธิปไตยสังคมนิยมที่ทำให้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งสิ้นสุดลง โดยคอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายแสดงจุดยืนที่ว่าตนเองคือกลุ่มก้อนที่มีแนวคิดยึดโยงตามลัทธิมากซ์และชนกรรมาชีพอย่างแท้จริงมากกว่าคอมมิวนิสต์ตามลัทธิมากซ์-เลนิน ซึ่งสนับสนุนโดยคอมมิวนิสต์สากลหลังการประชุมครั้งที่หนึ่ง (เดือนมีนาคม ค.ศ. 1919) และระหว่างการประชุมครั้งที่สอง (เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ค.ศ. 1920)[48] คอมมิวนิสต์ฝ่ายซ้ายประกอบไปด้วยขบวนการทางการเมืองหลายกลุ่ม ไล่ตั้งแต่พวกลัทธิมากซ์-เลนิน (ที่ถูกมองว่าแท้จริงคือพวกฝ่ายซ้ายของระบอบทุนนิยมมากกว่า) และพวกลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (บางส่วนถือว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากล) เช่นเดียวกับกลุ่มปฏิวัติสังคมนิยมอื่น ๆ อีกหลายแนว เช่น ลัทธิเดอเลออน (De Leonism) ที่มักจะถูกมองว่าเป็นพวกสังคมนิยมสากลในบางโอกาส[49] คอมมิวนิสต์แบบอื่นรูปแบบหลักของลัทธิคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของลัทธิมากซ์ อย่างไรก็ตามลัทธิคอมมิวนิสต์ตามแนวทางอื่นที่ไม่ใช่ลัทธิมากซ์ยังปรากฏให้เห็นด้วยเช่นกัน ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย (หรือรู้จักในชื่อ ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม) คือทฤษฎีตามลัทธิอนาธิปไตย มีเป้าหมายเพื่อล้มล้างรัฐ ทรัพย์สินส่วนบุคคล และระบอบทุนนิยม และแทนที่ด้วยการเป็นเจ้าของร่วมในปัจจัยการผลิต [50][51] ประชาธิปไตยโดยตรง และเครือข่ายของหน่วยงานอาสาและสภาแรงงานที่มีโครงสร้างเป็นแนวนอน (horizontal) ซึ่งมีลักษณะการผลิตและบริโภคตามหลักการ "จากแต่ละคนตามความสามารถ ให้แต่ละคนตามความต้องการ" (From each according to his ability, to each according to his needs)[52][53] ลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยแตกต่างจากลัทธิมากซ์เนื่องจากปฏิเสธมุมมองที่ว่าจำเป็นต้องมีรัฐคอมมิวนิสต์ก่อนถึงจะสถาปนาระบอบคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงได้ นักทฤษฎีคนสำคัญตามแนวคิดนี้คือ ปีเตอร์ ครอพอตกิน ได้แย้งว่าสังคมนักปฏิวัติควรที่จะ "เปลี่ยนผ่านตนเองไปสู้สังคมคอมมิวนิสต์โดยทนที" หรือเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ "ขั้นที่สูงและสมบูรณ์กว่า" ตามคำนิยามของมากซ์[54] ซึ่งเป็นแนวทางที่พยายามหลีกเลี่ยง "การแบ่งแยกชนชั้นและความปรารถนาให้รัฐเป็นผู้สอดส่องดูแลทุกอย่าง"[54] รูปแบบบางประการของลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย เช่น ลัทธิอนาธิปไตยที่เน้นแนวทางการจราจล (insurrectionary anarchism) ถูกจัดว่าเป็นรูปแบบตามลัทธิอัตนิยม (egoism) และได้รับอิทธิพลทางความคิดอย่างมากจากลัทธิปัจเจกนิยม (individualism)[55][56][57] ซึ่งเชื่อว่าลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยไม่จำเป็นต้องมีลักษะณะแบ่งปันร่วมกันหรือเป็นส่วนรวมแต่อย่างใด (คอมมิวนิสต์เองเป็นชื่อที่แปลว่า "ส่วนรวม") ในขณะที่ผู้ที่เชื่อในลัทธิดังกล่าวมองลัทธิของตนว่าเป็นแนวทางประนีประนอมความปฏิปักษ์ระหว่างปัจเจกชนและสังคม[58][59][60] ในประวัติศาสตร์มนุษย์ยุคปัจจุบัน ตัวอย่างดีที่สุดของสังคมตามลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยคือดินแดนอนาธิปไตย (ดินแดนในสภาพไร้ขื่อแป) ช่วงระหว่างการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 และดินแดนเสรี (Free Territory) ช่วงระหว่างการปฏิวัติรัสเซีย ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีพื้นฐานใกล้เคียงกับแนวคิดในปัจจุบันและเป็นที่รู้จักในแวดวงวิชาการประวัติศาสตร์ทั่วโลก กระแสนิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตยในสเปนเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1936 ด้วยความพยายามและอิทธิพลของกลุ่มอนาธิปไตยสเปนในช่วงการปฏิวัติสเปนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามกลางเมืองสเปน ส่วนมากรวมกลุ่มกันในอารากอน บางส่วนของเลเวนเตและอันดาลูซิอา รวมถึงพื้นที่แกนกลางของกลุ่มอนาธิปไตยกาตาลันในกาตาลุญญา แต่ภายหลังถูกบดขยี่และปราบปรามอย่างรุนแรงโดยกองกำลังผสมระหว่างกลุ่มอำนาจนิยมของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (ซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม) กองกำลังของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ กองกำลังของเบนิโต มุสโสลินี การปราบปรามโดยพรรคคอมมิวนิสต์สเปน (ซึ่งสหภาพโซเวียตให้การสนับสนุน) เช่นเดียวกับการปิดกั้นทางเศรษฐกิจและยุทโธปกรณ์โดยกลุ่มประเทศในระบอบทุนนิยมและสาธารณรัฐสเปน ในขณะที่รัสเซียในช่วงการปฏิวัติ นักอนาธิปไตยอย่างเนสเตอร์ มักห์โน ดำเนินกิจกรรมจัดตั้งและปกป้องดินแดนเสรีในยูเครนผ่านกองทัพปฏิวัติ-จราจลยูเครน และกลุ่มผู้นิยมลัทธิคอมมิวนิสต์-อนาธิปไตย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1919 จนกระทั่งพ่ายแพ้แก่กองกำลังของฝ่ายบอลเชวิกในปี ค.ศ. 1921 ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์คือรูปแบบหนึ่งของลัทธิคอมมิวนิสต์ทางศาสนาซึ่งมีหลักพื้นฐานอยู่บนศาสนาคริสต์ เป็นทฤษฎีการเมืองและศาสนศาสตร์ที่มองว่าคำสอนของพระเยซูบังคับให้ชาวคริสต์สนับสนุนลัทธิสังคมนิยมในฐานะระบอบสังคมในอุดมคติ และแม้จะไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่าลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ก่อตั้งเมื่อใด แต่นักคริสเตียนคอมมิวนิสต์หลายคนพยายามนำเสนอหลักฐานจากคัมภีร์ไบเบิลที่บ่งชี้ว่าชาวคริสต์ยุคแรก (รวมถึงอัครทูต) ได้ก่อตั้งสังคมคอมมิวนิสต์ขนาดเล็กของตนเองหลังการสิ้นพระชนม์และคืนพระชนม์ของพระเยซู ด้วยเหตุนี้ผู้สนับสนุนลัทธิดังกล่าวจึงมักจะเสนอว่าพระเยซูคริสต์เป็นผู้สอนและอัครทูตเป็นผู้นำแนวทางนี้ไปปฏิบัติใช้ด้วยตนเอง ลัทธิคริสเตียนคอมมิวนิสต์ยังถูกมองว่าเป็นรูปแบบสุดโต้งของลัทธิคริสเตียนสังคมนิยม คริสเตียนคอมมิวนิสต์จึงอาจจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับลัทธิมากซ์ในทุกประเด็น เช่น การที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางอเทวนิยมและต่อต้านศาสนาของฝ่ายฆราวาสนิยมในลัทธิมากซ์ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับแง่มุมทางเศรษฐกิจและอัตถิภาวนิยมหลาย ๆ ประเด็นของทฤษฎีมากซิสต์ เช่น แนวคิดที่ว่าระบอบทุนนิยมเอาเปรียบชนชั้นแรงงานด้วยการรีดไถมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานในรูปของกำไร และแนวคิดที่ว่าระบบแรงงานว่าจ้าง (wage labor) เป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์เกิดความแปลกแยก (alienation) ซึ่งจะทำให้เกิดอำนาจหน้าที่ที่ไม่ยุติธรรมและฉาบฉวย นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกับลัทธิมากซ์ด้วยว่าระบอบทุนนิยมก่อให้เกิดแง่มุมด้านลบของมนุษย์ แทนที่ค่านิยมด้านบวก เช่น ความเมตตา ความกรุณา ความยุติธรรม และความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความโลภ ความเห็นแก่ตัว และความมักใหญ่ใฝ่สูง ข้อวิจารณ์ข้อวิจารณ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือ มีการพยายามจัตตั้งรัฐคอมมิวนิสต์ในตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20[61] และสิ่งอื่น ๆ กับพวกเขาทั้งหลายที่เกี่ยวกับกฎและหลักการต่าง ๆ ของลัทธิคอมมิวนิสต์[62] ดูเพิ่มอ้างอิงหมายเหตุ
บรรณานุกรม
หนังสือเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ลัทธิคอมมิวนิสต์
|