Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง

ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง
ขณะแล่นบนสะพานข้ามคลองอ้อม บ้านบางพลู อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของบริษัท รถไฟสายบางบัวทอง จำกัด[1]
ที่ตั้งจังหวัดธนบุรี, นนทบุรี และปทุมธานี[2]
ประวัติ
เปิดเมื่อพ.ศ. 2458[3][4]
ปิดเมื่อ2 มกราคม พ.ศ. 2486
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง68 กม. (42.25 ไมล์)[5]
รางกว้าง75 เซนติเมตร[3][4]

ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง[6] หรือ ทางรถไฟพระยาวรพงษ์[7] เป็นทางรถไฟราษฎร์หรือทางรถไฟเอกชนสายหนึ่ง ดำเนินกิจการโดยบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัด ของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา)[1] ช่วงปี พ.ศ. 2458–2486

เบื้องต้นทางรถไฟสายนี้จะเดินรถระหว่างอำเภอบางพลัด จังหวัดธนบุรี กับอำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี แต่ภายหลังได้มีการปรับปรุงและขยายเส้นทางการเดินรถถึงตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[2]

แต่หลังการอนิจกรรมของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์และสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้บริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดประสบปัญหาด้านรายได้และการซ่อมบำรุง กระทั่งวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 จึงหยุดการเดินรถ ก่อนยกเลิกกิจการถาวรในวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486[3][5]

ประวัติ

เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคราวเปิดทางรถไฟที่ผาเสด็จเมื่อ พ.ศ. 2444 ท่านมีความสนใจรถไฟที่ใช้สำหรับขนไม้ป่าไปปลูกในพระราชอุทยาน ประกอบกับเบื่อรำคาญจากการเดินทางไปเยี่ยมย่าที่นนทบุรีซึ่งดำเนินไปอย่างเชื่องช้า จึงคิดริเริ่มที่จะสร้างทางรถไฟเพื่อเชื่อมการเดินทางระหว่างพระนครกับนนทบุรีให้รวดเร็วขึ้น[8] ส่วนสาเหตุที่เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เลือกบางบัวทอง ก็เพราะช่วงนั้นมีการใช้อิฐสำหรับก่อสร้างวังและคฤหาสน์ขุนนางที่นั่นมีธุรกิจคึกคัก ท่านจึงเช่าเตาอิฐบางบัวทองเพื่อผลิตอิฐชั้นดีสำหรับก่อสร้าง[4] หลังจากนั้นเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์จึงส่งคนออกไปซื้อที่ดินโดยใช้ทุนส่วนตัวจากเงินยืม[3] และจากการทำธุรกิจต่าง ๆ เช่น โรงสี โรงเลื่อยจักร ท่าเรือจ้าง และมวนบุหรี่ขาย ด้วยความเจ้าของที่บางแห่งไม่ยอมขาย บ้างก็จะขายยกแปลงในราคาสูง ทำให้ที่ดินที่จะสร้างทางรถไฟมีลักษณะคดเคี้ยวนัก[4][9] และเริ่มวางรางช่วงแรกข้างวัดบวรมงคลเมื่อปี พ.ศ. 2452 แต่หยุดไปหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[10]

ต่อมาเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ได้ก่อตั้งบริษัท รถไฟบางบัวทอง จำกัดสินใช้ พร้อมผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคือหม่อมราชวงศ์อรุณ วรพงศ์พิพัฒน์, หม่อมราชวงศ์สนิท อิศรเสนา, หม่อมราชวงศ์ภาคย์ อิศรเสนา, หม่อมหลวงยาใจ อิศรเสนา, หม่อมหลวงเนื่อง อิศรเสนา และหม่อมหลวงเรี่ยม อิศรเสนา[1] โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2465[11] กระทั่งใน พ.ศ. 2457 จึงก่อสร้างทางรถไฟอีกครั้งโดยเกณฑ์คนนำเศษอิฐมาถมที่สำหรับวางราง หากขอไม่ได้ก็ซื้อ และเปิดการเดินรถในปี พ.ศ. 2458[3] ซึ่งทางรถไฟสร้างไปถึงบางกร่างและบางศรีเมือง จนกระทั่ง พ.ศ. 2461 จึงก่อสร้างและเดินรถถึงสถานีบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรีสำเร็จ[10]

วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทองได้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อสร้างเส้นทางใหม่ โดยให้กรมรถไฟหลวงเป็นธุระจัดหาที่ดินให้[2] วันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2473 รถไฟราษฎร์สายบางบัวทองได้ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถ โดยยกเลิกเส้นทางไปศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งเก่าย่านตลาดขวัญ และเส้นทางไปยังศาลากลางจังหวัดปทุมธานีแห่งเก่า แล้วต่อเติมเส้นทางอีกสองเส้น คือเส้นหนึ่งไปฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรีแห่งใหม่ย่านบางขวาง และอีกเส้นหนึ่งเชื่อมไปยังตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี[12] โดยก่อสร้างสถานีรถไฟระแหง ริมคลองระแหง ตรงข้ามวัดบัวแก้วเกษรใกล้ตลาดระแหง[13] ต่อมาเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์สำรวจพื้นที่เพื่อจะสร้างทางรถไฟถึงตลาดเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หวังจะพัฒนาเป็นนิคม แต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 การวางรางส่วนที่ยังไม่แล้วเสร็จจึงชะงัก[13]

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 รถรางสายบางบัวทองชนกันเอง เป็นเหตุให้คนขับช้ำในตาย[3]

ช่วงปี พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา กิจการรถไฟราษฎร์บางบัวทองมีรายได้แค่พอจุนเจือพนักงานเท่านั้น ประกอบกับเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนไม่กล้าใช้บริการรถไฟ และระหว่างเกิดสงครามก็ไม่สามารถสั่งซื้ออะไหล่จากต่างประเทศได้ ทำให้รถไฟบางบัวทองหยุดการเดินรถ[5] วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 จึงประกาศยกเลิกกิจการรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง มีการรื้อถอนรางและขายรถจักรแก่โรงงานน้ำตาลวังกะพี้ใช้สำหรับขนอ้อย กระทั่งวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2486 จึงประกาศยกเลิกกิจการรถไฟอย่างเป็นทางการ[3][5]

การเดินรถ

ขณะแล่นข้ามคลองบ้านสามวังเพื่อไปตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี

รถไฟราษฎร์สายบางบัวทองเป็นรถไฟขนาดเล็ก โดนเบื้องต้นใช้หัวรถจักรไอน้ำพลังงานฟืนขนาดน้อยสำหรับการเดินรถ ขบวนหนึ่งมีตู้โดยสารสองตู้ และมีตู้บรรทุกสินค้าหนึ่งถึงสองตู้[3] แต่ระยะหลังฟืนหายาก[4] ใน พ.ศ. 2470 จึงเปลี่ยนหัวรถจักรเป็นรถรางสี่ล้อเครื่องเบนซิน และในปี พ.ศ. 2477 จึงเป็นไปใช้รถรางสี่ล้อเครื่องดีเซล เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย[3]

โดยการเดินรถจะแบ่งออกเป็นสองสาย คือสายบ้านปูน–บางบัวทองจะเน้นรับส่งผู้โดยสารเป็นหลัก และมีชาวสวนนำสินค้าใส่กระจาดติดตัวมาขาย และสายที่สองบางบัวทอง–ลาดหลุมแก้วจะเน้นขนส่งสินค้าเป็นหลัก โดยสินค้าจากลาดหลุมแก้วไปบางบัวทองจะเป็นข้าว ส่วนสินค้าจากบางบัวทองไปลาดหลุมแก้วจะเป็นผัก น้ำตาล และเสื้อผ้า[3] โดยสายบางบัวทอง–ลาดหลุมแก้วจะมีรถขบวนเดียว วิ่งวันละสองรอบ คือออกจากลาดหลุมแก้วช่วงเช้ามืดไปยังบางบัวทอง ครั้นเวลา 10.00 น. จึงวิ่งกลับไปลาดหลุมแก้ว พอช่วงบ่ายจึงวิ่งจากลาดหลุมแก้วไปบางบัวทอง แล้วตอนเย็นก็วิ่งออกจากบางบัวทองถึงลาดหลุมแก้วในเวลา 18.00 น.[3] โดยรถไฟจะทำความเร็วได้ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง[3]

เส้นทาง

อดีต

เส้นทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทองแบ่งออกเป็นสองช่วง คือ ช่วงแรก (บ้านปูน–บางบัวทอง) เส้นทางจะตัดผ่านสวน มีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น เส้นทางตัดขวางทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ[3] และด้วยความยุ่งยากในการจัดซื้อที่ดินสำหรับวางรางรถไฟ เพราะเจ้าของที่บางคนไม่ยอมขายให้ จึงทำให้ทางรถไฟช่วงอำเภอบางใหญ่ อำเภอตลาดขวัญ และอำเภอบางแม่นาง โก่งโค้งคดเคี้ยวไปมาดั่งงูเลื้อย[3][4][9] บางแห่งมีรัศมีโค้งแคบมาก ส่วนหินรองรางนั้นใช้อิฐจากเตาของเจ้าพระยาวรพงศ์เองสำหรับรองราง[3] โรม บุนนาค อธิบายการนั่งรถไฟสายบางบัวทองช่วงนี้ว่า "...การเดินทางเหมือนได้นั่งเรือฝ่าคลื่น ส่ายและกระเทือนไปตลอดทาง ผ่านสวนทุเรียนที่มีลูกห้อยระย้าอยู่สองข้างทาง"[4] ส่วนเส้นทางช่วงที่สอง (บางบัวทอง–ลาดหลุมแก้ว) ตัดผ่านเรือกสวนไร่นา มีผู้คนอยู่เบาบาง และจากพระราชกฤษฎีกา เส้นทางช่วงนี้จึงตัดได้ตรงไม่โก่งโค้งดั่งเส้นทางช่วงที่หนึ่ง[13]

ปัจจุบัน

สถานีต้นทางอยู่บริเวณซอยรถไฟพระยาวรพงษ์ (ปัจจุบันคือซอยจรัญสนิทวงศ์ 46) ใกล้วัดลิงขบ ตรงข้ามกับปากคลองผดุงกรุงเกษม ตัดขวางกับทางรถไฟสายใต้ที่สถานีรถไฟบางบำหรุ อำเภอบางใหญ่ (บางกรวยปัจจุบัน) จังหวัดนนทบุรี ผ่านอำเภอตลาดขวัญและอำเภอบางแม่นาง ไปสิ้นสุดที่อำเภอบางบัวทอง โดยมีเส้นทางแยกออกจากทางหลักที่ตำบลบางสีทองไปยังท่าน้ำบางศรีเมือง ฝั่งตรงข้ามศาลากลางจังหวัดนนทบุรี (หลังเก่า)[14] และที่ตำบลบางเลนไปยังคลองบางกอกน้อย ฝั่งตรงข้ามที่ว่าการอำเภอบางแม่นาง[7]

ปัจจุบันแนวทางรถไฟกลายเป็นซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 แยก 19, ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (พระยาวรพงษ์), ซอยจรัญสนิทวงศ์ 57 (วัดรวก), ถนนเทอดพระเกียรติ, ถนนบางกรวย-ไทรน้อย (ช่วงทางแยกเทอดพระเกียรติถึงทางแยกสามวังและช่วงวงเวียนการไฟฟ้าบางใหญ่ถึงคลองบางกอกน้อย), ถนนเทศบาลบางศรีเมือง 1,[15] ถนนบางศรีเมือง (ช่วงทางแยกบางศรีเมืองถึงท่าน้ำบางศรีเมือง), ถนนบางศรีเมือง-วัดโบสถ์ดอนพรหม (ช่วงต้น),[16] ซอยบางกร่าง 1 (พระยาวรพงษ์), ซอยบางเลน ซอย 21 (วัดบางเลนเจริญ)[17] และถนนเทศบาล 14 (สามวัง) ส่วนระยะทางที่เหลือตั้งแต่ตัวอำเภอบางบัวทองไปจนถึงตัวอำเภอลาดหลุมแก้วยังเหลือร่องรอยคันทางเก่าตัดผ่านท้องนาให้เห็นอยู่บ้าง[18]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 "หนังสือบริคณสนธิ สำหรับบริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 112. 23 สิงหาคม 2468.
  2. 2.0 2.1 2.2 "พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นเพื่อประโยชน์ของรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 10. 23 สิงหาคม 2468.
  3. 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟสายบางบัวทอง". สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 โรม บุนนาค. บันทึกแผ่นดิน ชุด เรื่องเก่าเล่าสนุก 3. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2554, หน้า 100-103
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "เหลือไว้เพียงตำนานรถไฟสายบางบัวทอง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. "พระราชกฤษฎีกา จัดซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นสร้างทางรถไฟราษฎร์สายบางบัวทอง" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ก): 10. 11 พฤษภาคม 2473.
  7. 7.0 7.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จัดตั้งสุขาภิบาลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 73 (พิเศษ 60 ง): 7–8. 3 สิงหาคม 2499.
  8. "กำเนิดตำนาน...รถไฟบางบัวทอง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. 9.0 9.1 "ความยุ่งยาก...ถากถางเส้นทาง". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  10. 10.0 10.1 "วางรางระยะที่ 1". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  11. "พระบรมราชโองการ ประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษแก่บริษัทรถไฟสายบางบัวทอง จำกัดสินใช้" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 42 (0 ก): 109. 23 สิงหาคม 2468.
  12. "แจ้งความกรมรถไฟหลวง เรื่องสร้างและเดิรรถไฟราษฎร์บริษัทรถไฟบางบัวทองจำกัด" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 47 (0 ง): 1175. 11 พฤษภาคม 2473.
  13. 13.0 13.1 13.2 "วางรางระยะที่ 2". ห้องสมุดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-10. สืบค้นเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. รถไฟสายบางบัวทอง
  15. รถไฟสายบางบัวทอง
  16. รถไฟสายบางบัวทอง
  17. รถไฟสายบางบัวทอง
  18. ทางรถไฟสายบางบัวทอง
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9