ทางรถไฟสายหนองคาย–เวียงจันทน์
ทางรถไฟสายหนองคาย–เวียงจันทน์[1] เป็นทางรถไฟระหว่างประเทศที่เชื่อมประเทศไทยและประเทศลาว มีระยะทางทั้งหมด 13.96 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟหนองคายข้ามสะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 จนถึงสถานีปลายทางคือคำสะหวาด เคยเป็นเส้นทางรถไฟเพียงสายเดียวของประเทศลาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2552–2564 มีระยะทาง 3.5 กิโลเมตรในเขตแดนของลาว[2][3][4] ประวัติการก่อสร้างช่วงแรกทางรถไฟสายหนองคาย–เวียงจันทน์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางรถไฟผ่านทวีปเอเชียขององค์การสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2543 รัฐบาลไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของกิจการรถไฟ จึงสร้างรางรถไฟไว้บริเวณกลางสะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 จากนั้นได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยก่อสร้างทางรถไฟจากกลางสะพานมิตรภาพเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟหนองคายใหม่[2] เป็นระยะทาง 2.657 กิโลเมตร[5] ทว่ารัฐบาลลาวประสบปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในปี พ.ศ. 2540 การก่อสร้างจึงหยุดชะงักไป ทางรัฐบาลไทยจึงให้ความช่วยเหลือโดยการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบโครงการในปี พ.ศ. 2543 และสำเร็จในปี พ.ศ. 2544 โดยจะเป็นการสร้างเส้นทางรถไฟจากสะพานมิตรภาพไปยังบ้านดงโพสี เมืองหาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์เป็นระยะทาง 3.5 กิโลเมตร[2][3][4] จากนั้นจึงลงนามในสัญญารับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในจำนวนวงเงิน 197 ล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 30 เป็นเงินให้เปล่า ส่วนอีกร้อยละ 70 เป็นเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ[2][3][4][6] เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2549[2] ระหว่างการก่อสร้าง รัฐบาลลาวต้องทำการบุกเบิกพื้นที่ป่า โยกย้ายสิ่งกีดขวางออกจากแนวทางรถไฟ รวมทั้งเวนคืนที่ดินราษฎรบ้านดงโพสีออกไปสามหลัง ใช้งบประมาณ 15 ล้านกีบ และและมอบข้าวสารจำนวน 8.41 ตัน ชดเชยแก่ราษฎรที่ถูกเวนคืนพื้นที่ทำนา และใช้งบประมาณชดเชย 24,390,800 กีบ[2] หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนเมษายน พ.ศ. 2551[2] ได้มีการทดลองเดินรถครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2551[4] และได้มีพิธีเปิดเดินรถปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2552 การนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟอุดรธานีถึงหนองคาย เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีดังกล่าว จากนั้นพระองค์ประทับรถไฟพระที่นั่งจากสถานีรถไฟหนองคายไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้งในประเทศลาว ตามคำกราบทูลบังคมทูลของบุนยัง วอละจิด รองประธานาธิบดีลาว แล้วจึงเสด็จกลับ[7] ผลของการเดินรถเส้นทางใหม่ที่เบนเส้นทางไปหาสะพานมิตรภาพนี้ ส่งผลให้สถานีหนองคาย (เก่า) เปลี่ยนชื่อเป็นสถานีรถไฟตลาดหนองคาย เพื่อป้องกันการสับสนกับสถานีรถไฟหนองคาย (ใหม่) ภายหลังสถานีรถไฟตลาดหนองคายถูกยุบเป็นที่หยุดรถตลาดหนองคาย และยกเลิกการบริการเดินรถมายังที่หยุดตลาดหนองคายในปี พ.ศ. 2551 โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยนำที่ดินของที่หยุดรถหนองคายจำนวน 30 ไร่ไปทำประโยชน์อื่นเพื่อสร้างรายได้[8] และแม้จะมีการเดินรถระหว่างประเทศก็ตาม แต่ที่ตั้งของสถานีรถไฟท่านาแล้งนั้นอยู่ไกลจากตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์พอสมควร เพราะถ้าหากใช้บริการรถไฟก็ต้องใช้บริการรถโดยสารเพื่อเดินทางออกจากบ้านดงโพสีไปยังนครหลวงเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นการเดินทางด้วยรถไฟสายนี้จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าใด[9] ส่วนต่อขยาย23 มีนาคม พ.ศ. 2560 มีพิธีส่งมอบเปิดใช้โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายระยะที่สอง สำหรับงานก่อสร้างระบบราง งานก่อสร้างสถานีรถไฟ และงานก่อสร้างจุดผ่านถนนเสมอระดับ ด้วยวงเงิน 994.68 ล้านบาท และงานก่อสร้างสถานีกองเก็บตู้สินค้าของสถานีรถไฟท่านาแล้ง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบรางเข้ากองเก็บตู้สินค้า และอาคารสำนักงานกรมรถไฟและอาคารที่พักเจ้าหน้าที่ วงเงิน 655.23 ล้านบาท[10][11][12] 28 มิถุนายน พ.ศ. 2562 มีการลงนามสัญญาการก่อสร้างทางรถไฟระยะที่สอง เริ่มตั้งแต่ปลายย่านลานขนส่งสินค้าท่านาแล้ง ถึงย่านสถานีรถไฟเวียงจันทน์ (คำสะหวาด) เป็นงานก่อสร้างทางรถไฟแบบทางเดี่ยว[13] กระทั่งวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้ทำพิธีเปิดสถานีรถไฟคำสะหวาด หลังจากล่าช้าจากกำหนดการเปิด โดยมีเศรษฐา ทวีสิน และสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีของไทยและลาว เป็นประธานในพิธี[14] และมีการส่งเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งชาติลาวไปอบรมกับเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย[15] ซึ่งมีการเปิดให้บริการขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ เที่ยวแรกในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ให้บริการขบวนรถจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปยังสถานีรถไฟคำสะหวาด[16] และยกเลิกการจอดรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟท่านาแล้ง[17] เส้นทางเดิมทางรถไฟสายหนองคายถึคงท่านาแล้งเป็นส่วนต่อขยายของเส้นทางทางรถไฟสายชุมทางถนนจิระ–หนองคายของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมีสถานีรถไฟหนองคายเป็นสถานีปลายทางของไทย เมื่อเดินรถผ่านกึ่งกลางของสะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 ก็จะเข้าสู่พรมแดนของประเทศลาว และมีสถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวในประเทศคือสถานีรถไฟท่านาแล้ง[18] แม้จะมีการเดินรถระหว่างประเทศก็ตาม แต่ที่ตั้งของสถานีรถไฟท่านาแล้งนั้นอยู่ไกลจากตัวเมืองนครหลวงเวียงจันทน์พอสมควร เพราะถ้าหากใช้บริการรถไฟก็ต้องใช้บริการรถโดยสารเพื่อเดินทางออกจากบ้านดงโพสีไปยังนครหลวงเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่ง ดังนั้นการเดินทางด้วยรถไฟสายนี้จึงไม่ได้รับความนิยมเท่าใด[19] ปัจจุบันประเทศลาวมีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายระยะที่สอง ก่อสร้างเส้นทางจากสถานีรถไฟท่านาแล้งไปยังสถานีรถไฟคำสะหวาด ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร[10] ณ บ้านคำสะหวาด เมืองไชยเชษฐา นครหลวงเวียงจันทน์[20] ด้วยวงเงิน 994.68 ล้านบาท[10] ซึ่งตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมืองหลวง ห่างจากพระธาตุหลวง อันเป็นจุดหมายตาสำคัญเพียง 4 กิโลเมตร[21] และห่างจากสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ ของทางรถไฟสายเวียงจันทน์–บ่อเต็น ที่บ้านไซ ราว 10 กิโลเมตร[22] สถานีทางรถไฟสายหนองคาย–เวียงจันทน์ ปัจจุบันประกอบไปด้วยสถานีสามสถานี ดังนี้
ทางแยกตลาดหนองคายทางแยกตลาดหนองคาย เดิมเป็นอดีตสถานีรถไฟประจำจังหวัดหนองคาย และส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (ชุมทางถนนจิระ–หนองคาย) แต่หลังการก่อสร้างสถานีรถไฟหนองคายแห่งใหม่ที่เบนเส้นทางตามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่หนึ่ง จึงยุบสถานีรถไฟหนองคายแห่งเดิม เป็นที่หยุดรถไฟตลาดหนองคาย มีสถานีหนึ่งแห่งและที่หยุดรถไฟหนึ่งแห่ง[23] กระทั่ง พ.ศ. 2551 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ยกเลิกการเดินรถเข้าไปยังที่หยุดรถไฟตลาดหนองคาย
การเดินรถในช่วงแรกของการเดินรถในเส้นทางหนองคาย–ท่านาแล้งตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2552 ดำเนินการโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย เพราะประเทศลาวยังไม่มีกิจการรถไฟเป็นของตนเอง มีการเดินรถวันละ 4 เที่ยวระหว่างสถานีรถไฟหนองคายกับท่านาแล้งทุกวัน ระยะเวลาเดินทางราว 15 นาที ก่อนเดินทางต้องทำหนังสือผ่านแดนก่อนเดินทางทุกครั้ง[7] ต่อมาเมื่อเปิดให้บริการส่วนต่อขยายระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 ไปยังสถานีรถไฟคำสะหวาด ได้ยกเลิกการจอดรับผู้โดยสารที่สถานีรถไฟท่านาแล้ง และเปลี่ยนเป็นพื้นที่ขนส่งสินค้า[24] และมีการขยายการเดินรถระหว่างประเทศไปและกลับ 4 เที่ยว ได้แก่ ขบวน 133/134 จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์–คำสะหวาด–กลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และขบวน 147/148 สถานีอุดรธานี–คำสะหวาด–อุดรธานี[16][25][26] ดูเพิ่มอ้างอิง
|