Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

เกาะเกร็ด

ตำบลเกาะเกร็ด
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันTambon Ko Kret
เจดีย์เอียงริมน้ำวัดปรมัยยิกาวาส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี
เจดีย์เอียงริมน้ำวัดปรมัยยิกาวาส ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี
ประเทศไทย
จังหวัดนนทบุรี
อำเภอปากเกร็ด
พื้นที่
 • ทั้งหมด4.2 ตร.กม. (1.6 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2563)
 • ทั้งหมด5,823 คน
 • ความหนาแน่น1,386.43 คน/ตร.กม. (3,590.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 11120
รหัสภูมิศาสตร์120608
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

เกาะเกร็ด เป็นเกาะแม่น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และมีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 4.2 ตารางกิโลเมตรหรือ 2,625 ไร่[1] เป็นที่อยู่ของชาวไทยเชื้อสายมอญที่มีอาชีพปั้นเครื่องปั้นดินเผาเป็นส่วนใหญ่

เกาะเกร็ดเกิดจากการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อปี พ.ศ. 2265 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ[2] คลองลัดดังกล่าวเรียกว่า "คลองลัดเกร็ดน้อย"[3] หรือ "คลองเตร็ดน้อย"[4] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมตอนหนึ่งว่า

"...ในปีขาล จัตวาศก ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กอง เกณฑ์พลนิกายคนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อย ลัดคุ้งบางบัวทองนั้นคดอ้อมนัก ขุดลัดตัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามา ให้เกณฑ์พลนิกายในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คน ๑๐,๐๐๐ เศษ ให้ขุดคลองเตร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๓ วา ยาวทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึ่งแล้ว..."[4]

ต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศเนื่องจากไหลทางตรงได้สะดวกกว่าและกัดเซาะตลิ่งทำให้คลองสายนี้ขยายเป็นแม่น้ำลัดเกร็ด แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะกลางแม่น้ำ ในรัชสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระบุในโฉนดชื่อว่า เกาะศาลากุล ตามชื่อวัดศาลากุลที่สร้างโดยเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ (กุน รัตนกุล) ตั้งแต่สมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อตั้งอำเภอปากเกร็ด จึงเรียกเป็น เกาะเกร็ด[5]

ประวัติ

เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นทั้งชุมชนค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง ๆ ที่จะเดินทางผ่านไปยังอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขุดคลองลัดตามลำน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เพื่อลดระยะทางย่นระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งทางน้ำ และแก้ปัญหาที่ทำให้การเดินเรือสำเภาชักช้าและเกิดเหตุขัดข้อง รวมถึงเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของอยุธยาในสมัยนั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลวกกลับมาทางทิศตะวันออก ในปี พ.ศ. 2265 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์ไพร่พล คนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คนหมื่นเศษให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้งบางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดให้ตรง พระธนบุรีรับคำสั่งแล้วถวายบังคมลามาเกณฑ์ไพร่พลบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลึก 6 ศอก กว้าง 6 วา ทางไกลได้ 29 เส้นเศษ(1 เส้น 80 เมตรหรือ 40 วา) ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลให้ทราบทุกประการ เมื่อทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ทำให้เกิดการเดินเรือลัดได้เร็วขึ้น เรียกคลองในสมัยนั้นว่า คลองลัดเกร็ดน้อย ต่อมานิยมเรียกว่า คลองลัดเกร็ด ต้นคลองหรือปากคลองเรียกว่า ปากเกร็ด[6]

ต่อมาคลองลัดเกร็ดได้ถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จนกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นแม่น้ำไป ที่ดินบริเวณที่เป็นแหลมยื่นออกไปจึงมีลักษณะเป็น เกาะ เรียกกันว่า เกาะเกร็ด ในสมัยโบราณเรียกเกาะเกร็ดที่เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กนี้ว่า เกร็ดน้อย (ที่เชียงราก จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า เกร็ดใหญ่ เพราะมีการขุดคลองลัดแล้วกลายเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะเกร็ด) อาจเป็นไปได้ว่าคนสมัยโบราณนิยมเรียกเกาะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่า เกร็ด

ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับ พ.ศ. 2317 ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวชาวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด (รวมทั้งในเกาะเกร็ด) และสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมอญแพ้สงครามกับพม่า บางส่วนจึงอพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกพื้นที่ช่วงเกาะเกร็ดและปากเกร็ดเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากเวียงจันทน์ โดยทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จล่วงหน้าขึ้นไปในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 3 ครั้นถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 จึงเสด็จไปรับที่พระตำหนักบางธรณีด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางครั้งนี้นับเป็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ใช้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่ปากเกร็ดและเกาะเกร็ด มีการจัดกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และกระบวนเรืออัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่ยิ่งใหญ่

ปี พ.ศ. 2358 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวชาวมอญ ซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวชาวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์ (พระประแดง) บ้าง ดังนั้นจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในเกาะเกร็ดและหลายท้องที่หลายตำบลในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากมีชาวมอญอพยพเข้ามา 2 ครั้ง คือ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินปี พ.ศ. 2317 และสมัยรัตน์โกสินทร์ปี พ.ศ. 2358

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มักจะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางปะอินเสมอ กล่าวกันว่าทรงแวะพักเรือพระที่นั่งตามวัดต่าง ๆ บริเวณปากเกร็ดและเกาะเกร็ดนี้ทุกวัด และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกับพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงอภิบาลทำนุบำรุงสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์มาตั้งแต่ครั้นทรงพระเยาว์ ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะปากเกร็ดเป็นชื่อของอำเภอ เกาะเกร็ดจึงได้ยกฐานะเป็นตำบลเกาะเกร็ดด้วยจนถึงปัจจุบัน

สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหลังจากพ.ศ. 2475 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่บ้านในตำบลย่านเกาะเกร็ดและปากเกร็ดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมรับสภาวะวิกฤตในกรุงเทพมหานคร มีนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้มาสร้างบ้านสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาทางราชการได้เข้ายึดบ้านดังกล่าว

ภูมิศาสตร์

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลคลองพระอุดม
  • ทิศใต้ ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลท่าอิฐ
  • ทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลปากเกร็ด
  • ทิศตะวันตก ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและตำบลอ้อมเกร็ด

ภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศของเกาะเกร็ด มีลักษณะเป็นพื้นที่ราบต่ำล้อมรอบด้วยแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณพื้นที่ริมน้ำเป็นที่ลุ่มมากกว่าตอนกลาง พื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง ทำให้พื้นที่ทั่วทั้งเกาะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้ว่ามีการทำสวนไม้ผลไม้ยืนต้นอยู่ทั่วไป ผลไม้ที่นิยมปลูกได้แก่ กล้วย มะม่วง มะพร้าว ส้มโอ บริเวณส่วนกลางของเกาะเกร็ดแต่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเจ้า แต่ไม่มีการทำนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เนื่องจากบริเวณกลางเกาะเป็นที่ดอนสูงกว่าบริเวณริมเกาะ การดึงน้ำเข้าสู่พื้นที่นาต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำอีกทั้งสภาพคูคลองภายในเกาะเกร็ดปัจจุบันตื้นเขินไม่มีการขุดลอกมาเป็นระยะเวลานาน การทำนาจึงไม่คุ้มกับการลงทุน ทำให้พื้นที่นาในอดีตกลายมาเป็นพื้นที่รกร้างเป็นผืนใหญ่ติดต่อกัน ส่วนพื้นที่ริมเกาะเป็นพื้นที่ลุ่มจึงทำให้เกิดน้ำท่วมได้ง่าย เกาะเกร็ดจึงประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปี คือ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน และเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับพื้นที่มีลักษณะเป็นดินเหนียวอุ้มน้ำได้ดี ทำให้การระบายน้ำค่อนข้างล่าช้าจึงเกิดน้ำท่วมขัง

ภูมิอากาศ

ลักษณะภูมิอากาศของบริเวณเกาะเกร็ด มีลักษณะคล้ายคลึงกับภูมิอากาศโดยทั่วไปของอำเภอปากเกร็ด และจังหวัดนนทบุรี คือ เขตอากาศร้อนชื้นหรือมรสุมเมืองร้อน ฝนจะตกชุกในช่วงฤดูฝน และตกมากที่สุดในเดือนกันยายน บางปีเกิดพายุดีเปรสชั่นหรือฝนตกหนาแน่นติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทั้งบริเวณเกาะเกร็ด ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในรอบปีของบริเวณเกาะเกร็ด ประมาณ 1,225 มิลลิเมตร หรือ 50.20 นิ้ว/ปี โดยมีการกระจายตัวของฝนในช่วงแต่ละเดือนมากกว่า 110 มิลลิเมตร อยู่หนึ่งช่วง คือ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม เดือนที่ฝนตกมากที่สุดคือ เดือนกันยายน สำหรับในฤดูแล้งสภาพของพื้นดินไม่แห้งแล้งมากนัก เพราะพื้นที่เกาะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสวนไม้ผล ไม้ยืนต้น และยังล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาทำให้สามารถเก็บความชุ่มชื้นได้ตลอดทั้งปี

เขตการปกครอง

ตำบลเกาะเกร็ดมีเขตการปกครองทั้งหมด 7 หมู่บ้าน[7] ได้แก่

  • หมู่ที่ 1 บ้านบนบ้านล่าง[7] หรือบ้านมอญ[8]
  • หมู่ที่ 2 บ้านคลองศาลากุล
  • หมู่ที่ 3 บ้านศาลากุล
  • หมู่ที่ 4 บ้านคลองสระน้ำอ้อย
  • หมู่ที่ 5 บ้านท่าน้ำ
  • หมู่ที่ 6 บ้านวัดเสาธงทอง
  • หมู่ที่ 7 บ้านโอ่งอ่าง

จำนวนประชากร

เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2561 ตำบลเกาะเกร็ดมีจำนวนประชากรทั้งหมด 5,862 คน ความหนาแน่นเฉลี่ย 1,395.71 คนต่อตารางกิโลเมตร

จากจำนวนประชากรทั้งหมดของตำบล แยกตามการตั้งถิ่นฐานและเชื้อชาติได้ดังนี้

  • หมู่ที่ 1, 6, 7 มีประชากรเชื้อชาติมอญร้อยละ 35 ของประชากรทั้งตำบล
  • หมู่ที่ 2,3 ประชากรซึ่งอาศัยบริเวณริมแม่น้ำ มีประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 15 ของประชากรทั้งตำบล
  • หมู่ที่ 2, 3, 4, 5 เป็นประชากรเชื้อชาติไทย, ไทย-จีน บางส่วนร้อยละ 50 ของประชากรทั้งตำบล

โบราณสถานในเกาะเกร็ด

ชื่อ รูปภาพ จุดน่าสนใจ
วัดปรมัยยิกาวาส
  • เจดีย์เอียง ตั้งอยู่หัวมุมเกาะ เป็นสัญลักษณ์ประจำเกาะเกร็ด
  • เป็นที่ประดิษฐาน พระนนทมุนินท์ พระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี
  • พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาส จัดแสดงเครื่องปั้นดินเผาและพระราชประวัติ ร.5
วัดเสาธงทอง
  • วัดที่ประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ด
  • ที่ประดิษฐานเจดีย์ทรงมะเฟืองกลีบอวบ แห่งเดียวในไทย
  • ต้นยางใหญ่อายุประมาณ 200 ปี ข้างพระอุโบสถ[9]
วัดฉิมพลีสุทธาวาส
  • เป็นวัดประจำชุมชนด่านขนอน
  • พระมหาจุฬามณีเจดีย์ เจดีย์ทรงมอญย่อมุมไม้สิบหก
  • พระอุโบสถที่มีสัดส่วนสูงยาว กว่าอุโบสถอื่นๆ ในเกาะเกร็ด
วัดป่าเลไลยก์
  • เป็นวัดร้าง ปัจจุบันอยู่ในดูแลของวัดฉิมพลีสุทธาวาส
  • ภายในพระอุโบสถมี พระพุทธรูปบนฐานชุกชีเป็นประธานอยู่ทางด้านหลัง และบริเวณกลางห้องประดิษฐานพระพุทธรูปปางปรินิพพานที่มีพระสาวกนั่งพนมมือ[10]

อ้างอิง

  1. "งานอนามัยสิ่งแวดล้อมฯ บนพื้นที่เกาะเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-28. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
  2. หวน พินธุพันธ์. ประวัติศาสตร์เมืองนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2547, หน้า 38.
  3. "เกาะเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-14. สืบค้นเมื่อ 2008-02-16.
  4. 4.0 4.1 พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม. อ้างถึงใน คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดนนทบุรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภา, 2543, หน้า 41.
  5. วีระศักดิ์ จันทร์ส่องแสง. หลังม่านต้นไม้. ISBN 974-92952-4-2
  6. "เดินเล่นชิลๆ @ เกาะเกร็ด ย้อนรอยวิถีชาวมอญ". โพสต์ทูเดย์.
  7. 7.0 7.1 "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 115 (พิเศษ 34 ง): 213–241. 6 พฤษภาคม 2541. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-13. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
  8. "รายชื่อตำบล หมู่บ้าน เทศบาล อบต. และขนาดพื้นที่ : อำเภอปากเกร็ด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-21. สืบค้นเมื่อ 2009-04-14.
  9. วัดเสาธงทอง, Website:https://www.touronthai.com/ .สืบค้นเมื่อ 15/10/2561
  10. วัดป่าเลไลยก์ (ร้าง),website: http://www.tourwatthai.com/ .สืบค้นเมื่อ 15/10/2561

ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

13°54′38″N 100°28′33″E / 13.91043°N 100.47593°E / 13.91043; 100.47593

Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9