Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
สถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (สถานีมักกะสัน)
ปัจจุบันเปิดให้บริการเป็นส่วนหนึ่งของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ข้อมูลทั่วไป
สถานะกำลังก่อสร้าง
เจ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ที่ตั้งกรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง
ปลายทาง
จำนวนสถานี9
การดำเนินงาน
รูปแบบรถไฟความเร็วสูง
ระบบโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย
ผู้ดำเนินงานบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด
(สัญญาสัมปทานโครงการสิ้นสุด พ.ศ. 2612)
ศูนย์ซ่อมบำรุงศูนย์ซ่อมบำรุงซอยศูนย์วิจัย สำนักบริหารโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รถในเมือง)
ศูนย์ซ่อมบำรุงบางเตย จังหวัดฉะเชิงเทรา (รถไฟความเร็วสูง)
ขบวนรถซีเมนส์ เดซิโร บริติช เรล คลาส 360/2 (HST และ Airport Express)
ผู้โดยสารต่อวัน(31 สิงหาคม พ.ศ. 2561)
85,888 คน[1]
ประวัติ
เปิดเมื่อ23 สิงหาคม พ.ศ. 2553; 14 ปีก่อน (2553-08-23) (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท-สุวรรณภูมิ)
พ.ศ. 2571 (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท)
พ.ศ. 2573 (รถไฟความเร็วสูง)
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง220 km (140 mi)
รางกว้าง1,435 mm (4 ft 8 12 in)
ระบบจ่ายไฟเหนือหัว
ความเร็ว160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ช่วงในเมือง)
250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ช่วงนอกเมือง)
แผนที่เส้นทาง

ดอนเมือง ท่าอากาศยานดอนเมือง
กรุงเทพอภิวัฒน์
สถานีบางซื่อ
พญาไท
ราชปรารภ ทางรถไฟสายตะวันออก
มักกะสัน
รามคำแหง ทางรถไฟสายตะวันออก
หัวหมาก
บ้านทับช้าง ทางรถไฟสายตะวันออก
ลาดกระบัง ทางรถไฟสายตะวันออก
สุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
สุวรรณภูมิใต้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) (อังกฤษ: The High-Speed Rail Linked 3 Airport Project) หรือ รถไฟฟ้าเอราวัน[ต้องการอ้างอิง] (อังกฤษ: AERA1 SkyTrain) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนที่ต่อยอดจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย ดำเนินการโดย บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด[2] ภายใต้การร่วมลงทุนกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง และยังถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางราง คุนหมิง - สิงคโปร์ สาย Eastern Route ที่จะเชื่อมต่อประเทศกลุ่ม CMLV เข้าเป็นผืนแผ่นเดียวกัน

ประวัติ

ในสมัย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ได้มีการศึกษาในการเปลี่ยนระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ที่ดำเนินการไม่ได้ตามแผน ให้กลายเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง เพื่อเชื่อมต่อ 3 ท่าอากาศยานหลักอันได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ตามหลักยุทธศาสตร์ภายใต้งบประมาณสองล้านล้านบาทของกระทรวงคมนาคม โดยมีสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การบินในประเทศไทยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิถึงขีดจำกัดที่ท่าอากาศยานสามารถรองรับได้ ซึ่งแผนที่รวดเร็วที่สุดที่จะสามารถบรรเทาปัญหาได้คือต้องมีการเปิดใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สองเพิ่มเติมนั่นก็คือท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมการบินในประเทศให้กลับมาเป็นปกติ โดยในระยะแรกเป็นการศึกษาเพื่อขยายเส้นทางของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ไปยังเมืองพัทยา และท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยกลุ่มบริษัทซีเมนส์ที่เป็นเจ้าของขบวนรถก็ได้ให้การยืนยันว่าการขยายเส้นทางไปพัทยาสามารถทำได้โดยไม่มีปัญหาในด้านการดำเนินการ เพราะตัวรถได้รับการออกแบบสำหรับใช้เดินทางระยะไกลตั้งแต่แรกแล้ว แต่แล้วแผนทั้งหมดก็ถูกระงับเนื่องมาจากเกิดเหตุรัฐประหารขึ้นก่อน

ต่อมาในสมัยประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลจีนและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยื่นข้อเสนอขอพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงสำหรับไปยังภาคตะวันออกของประเทศไทย แต่ในขณะนั้นรัฐบาลเองก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงเสนอให้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงโดยใช้โครงสร้างเดิมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เนื่องมาจากโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน ใช้รางรูปแบบเดียวกันกับระบบรถไฟความเร็วสูง คือรางขนาดมาตรฐานความกว้าง 1.435 เมตร หรือ Standard Gauge ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการดำเนินโครงการ เพียงแค่ก่อสร้างเส้นทางเพิ่ม และดำเนินการเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณในระบบเดิมให้เป็นระบบกลางของรถไฟความเร็วสูง สั่งซื้อขบวนรถใหม่ ก็สามารถเปิดใช้งานต่อได้ทันที เพราะโครงสร้างโดยรวมนั้นถูกออกแบบให้รองรับต่อการปรับแบบเป็นรถไฟความเร็วสูงไว้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินโครงการก่อสร้างด้วยวิธีการสรรหาเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการและรับผลประโยชน์กับความเสี่ยงในการดำเนินการทั้งหมด หรือ PPP-Net Cost โดยก่อสร้างเป็นส่วนต่อขยายจากรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิมทั้งเส้นทางใต้ดินและยกระดับ โดยจากปลายทางด้านทิศตะวันตก (สถานีพญาไท) ให้ก่อสร้างเส้นทางไปยังศูนย์คมนาคมพหลโยธิน และท่าอากาศยานดอนเมือง และจากทางด้านทิศตะวันออก (สถานีลาดกระบัง) ให้ก่อสร้างเส้นทางไปยังเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา, จังหวัดชลบุรี และไปจนถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยใช้โครงสร้างทางแยกเดิมที่ทำไว้เป็นจุดเริ่มต้น โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเวนคืนที่ดินเพื่อเตรียมใช้ก่อสร้างโครงการ

แนวเส้นทาง

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและยกระดับ และมีระบบรถไฟฟ้าให้บริการสองระบบในเส้นทางเดียว มีแนวเส้นทางที่รองรับการเดินทางจากชานเมืองและจังหวัดใกล้เคียงด้านตะวันออกและชานเมืองด้านทิศเหนือ และผู้โดยสารจากท่าอากาศยานทั้งสามแห่ง เข้าสู่เขตใจกลางเมืองได้อย่างรวดเร็ว แนวเส้นทางเริ่มต้นจากท่าอากาศยานดอนเมืองทางฝั่งทิศเหนือ วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์โดยไม่จอดรับผู้โดยสารรายทาง และลดระดับลงเป็นรถไฟใต้ดินผ่านพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เลี้ยวขวาวิ่งตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก แล้วยกระดับกลับเป็นรถไฟฟ้ายกระดับ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ที่สถานีพญาไท เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ที่สถานีราชปรารภ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีมักกะสัน เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีหัวหมาก จากนั้นวิ่งเลียบทางพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี ไปจนถึงย่านลาดกระบัง เลี้ยวขวาเข้าพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้วลดระดับลงเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน จากนั้นวิ่งย้อนกลับ ยกระดับเป็นรถไฟฟ้ายกระดับ แล้วเลี้ยวขวาวิ่งเลียบทางพิเศษระหว่างเมือง กรุงเทพฯ-ชลบุรี ตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกเข้าสู่สถานีรถไฟชุมทางฉะเชิงเทรา เชื่อมต่อกับสายแยกแก่งคอย - คลอง 19 - ฉะเชิงเทรา เพื่อมุ่งหน้าไปยังสายอีสาน แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกเลียบชายฝั่ง เข้าสู่สถานีรถไฟชลบุรี เชื่อมกับท่าเรือแหลมฉบังที่สถานีรถไฟชุมทางศรีราชา เชื่อมกับเมืองพัทยาด้วยรถไฟฟ้าโมโนเรล เมืองพัทยาที่สถานีรถไฟเมืองพัทยา แล้ววิ่งตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกเลียบชายฝั่งจนถึงช่วงเขาชีจรรย์ แนวเส้นทางจะเบี่ยงออกจากแนวเส้นทางรถไฟเดิมเพื่อตีโค้งเข้าจังหวัดระยองแล้วเลี้ยวขวาเข้าพื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง จากนั้นวิ่งย้อนกลับแล้วเลี้ยวขวาวิ่งไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกเลียบชายฝั่งอีกครั้ง ผ่านจังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และสิ้นสุดเส้นทางทั้งโครงการที่จังหวัดตราด รวมระยะทางทั้งโครงการ 413.2 กิโลเมตร

แนวเส้นทางต่อจากนี้จะเป็นทางรถไฟความเร็วสูงที่มุ่งตรงไปยังเขตพรมแดนไทย-กัมพูชา แล้วไปต่อยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อเปลี่ยนเส้นทางมุ่งตรงไปยังนครโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งขึ้นทางเหนือ ไปยังฮานอย ประเทศเวียดนาม ก่อนจะแยกสายไปยังคุนหมิงและหนานหนิง ประเทศจีน ปัจจุบันในฝั่งเวียดนามกำลังวางแผนก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ฮานอย-โฮจิมินห์ ระยะทาง 1,570 กิโลเมตร ที่เคยยกเลิกไปใน พ.ศ. 2553 ส่วนฝั่งกัมพูชากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาเส้นทางช่วง พนมเปญ-โฮจิมินห์ รวมถึงเส้นทางข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชาด้วยเช่นกัน

รูปแบบการให้บริการ

รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีรูปแบบการให้บริการเมื่อแล้วเสร็จทั้งหมดสองรูปแบบ ทั้งแบบรถไฟความเร็วสูง และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสายซิตี้ โดยแบ่งรูปแบบการให้บริการตามพื้นที่ตั้งของสถานีดังต่อไปนี้

  • ช่วงในเมืองและชานเมืองกรุงเทพมหานคร (Urban Area) (จากสถานีดอนเมือง - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) : ให้บริการในรูปแบบ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สายซิตี้ จากสถานีท่าอากาศยานดอนเมือง - สถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แล้วตีกลับ จอดรับผู้โดยสารตามสถานีรายทางทั้งสิ้น 10 สถานี คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง - บางซื่อ - พญาไท - ราชปรารภ - มักกะสัน - รามคำแหง - หัวหมาก - บ้านทับช้าง - ลาดกระบัง - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีจากดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา และ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน รับส่งผู้โดยสาร 4 สถานี ได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง - บางซื่อ - มักกะสัน และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยจำกัดความเร็วสูงสุดที่ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีจากดอนเมืองถึงสุวรรณภูมิ
  • ช่วงพื้นที่ระหว่างเมือง (Rural Area) (จากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา) : ให้บริการในรูปแบบ รถไฟฟ้าเอราวัน สาย Standard Line จากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - สถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา แล้วตีกลับ จอดรับผู้โดยสารตามสถานีรายทางทั้งสิ้น 6 สถานี คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ฉะเชิงเทรา - ชลบุรี - ศรีราชา - พัทยา - ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง 40 นาทีจากกรุงเทพมหานคร และ รถไฟฟ้าเอราวัน สาย Airport Express รับส่งผู้โดยสาร 2 สถานี คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยจำกัดความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทาง 45 นาทีจากกรุงเทพมหานคร

รูปแบบของโครงการ

ทางวิ่งและขบวนรถ

  • เป็นระบบไฟความเร็วสูง (High-speed Rail) ชนิดขับเคลื่อนได้ทั้งสองทางโดยไม่ต้องถอดเปลี่ยนรูปแบบขบวนรถ
  • ทางวิ่งยกระดับที่ความสูง 20 เมตรตลอดทั้งโครงการ ยกเว้น (1) ช่วงสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ - สถานีพญาไท รถไฟฟ้าจะลดระดับลงเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวถนนบริเวณใต้ถนนกำแพงเพชร 5 หลังออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เมื่อพ้นแยกเสาวนีย์จะยกระดับกลับไปที่ความสูง 20 เมตร (2) ช่วงเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าจะลดลงเป็นระดับดินหลังข้ามถนนสุวรรณภูมิ 2 แล้วลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน และ (3) ช่วงเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา รถไฟฟ้าจะลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ความลึก 12 เมตรจากผิวดิน ลอดใต้ถนนสุขุมวิท และย่านการค้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา
  • ขนาดราง 1.435 เมตร (European standard guage) โดยมีสายไฟฟ้าแรงสูงตีขนานอยู่เหนือราง ระบบรถไฟฟ้าใช้วิธีการรับไฟฟ้าจากด้านบนด้วยแพนโทกราฟ
  • ตัวรถเป็นรถปรับอากาศขนาดกว้าง 2.8-3.7 เมตร ยาว 20 เมตร สูงประมาณ 3.7 เมตร ความจุ 250-300 คนต่อคัน ต่อพวงได้ 3-10 คันต่อขบวน ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ 25 กิโลโวลต์ 50 เฮิรตซ์ ส่งจากสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อป้อนระบบขับเคลื่อนรถ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
  • ใช้ระบบอาณัติสัญญาณเดินรถด้วยระบบอัตโนมัติจากศูนย์ควบคุมการเดินรถ และใช้ระบบเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ

ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์ควบคุมการเดินรถ

รถไฟฟ้าในเมือง หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สายซิตี้ จะใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ซอยศูนย์วิจัย (ที่ตั้ง สำนักบริหารโครงการรถไฟฟ้า การรถไฟแห่งประเทศไทย ในปัจจุบัน) ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูงจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ฉะเชิงเทรา (บางเตย-แปดริ้ว) ตั้งอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา รวมถึงมีศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยระยอง ที่จังหวัดระยอง และทางซ่อมบำรุง อยู่ที่จังหวัดตราด ระบบเดินรถทั้งระบบมีศูนย์ควบคุมการเดินรถกลางอยู่ที่ศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ซอยศูนย์วิจัย

สิ่งอำนวยความสะดวก

มีจุดจอดแล้วจร (park and ride) ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ สถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา และสถานีพัทยา

สถานี

มีทั้งหมด 15 สถานี เป็นสถานียกระดับ 7 สถานี เป็นสถานีรูปแบบอาคารผู้โดยสาร 6 สถานี และเป็นสถานีใต้ดิน 2 สถานี

ตัวสถานีมีความยาวประมาณ 210 เมตร รองรับการจอดรถไฟฟ้าได้สูงสุด 10 ตู้โดยสาร (8 ตู้โดยสารสำหรับรถไฟความเร็วสูง) มีประตูชานชาลา (platform screen door) ความสูงแบบ Half-Height ในสถานีประเภทยกระดับทุกสถานีและสถานีแบบอาคารผู้โดยสารบางสถานี และแบบ Full-Height ในสถานีใต้ดินและสถานีแบบอาคารผู้โดยสารบางสถานี ออกแบบให้หลบเลี่ยงสาธารณูปโภคใต้ดินและบนดิน และรักษาสภาพผิวดินให้มากที่สุด มีเสายึดสถานีคร่อมอยู่บนทางรถไฟ

ขบวนรถไฟฟ้า

รถไฟฟ้าที่ใช้ในโครงการทั้งหมดเป็นรถไฟฟ้าประเภทความเร็วสูง ซึ่งมีความเร็วปกติอยู่ที่ 160-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่มีความเร็วขณะเข้าประแจที่ 40 - 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง และมีความเร็วขณะเข้าประแจลงศูนย์ซ่อมบำรุงที่ย่านคลองตันที่ 25 กิโลเมตร/ชั่วโมง

โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในระยะแรกนั้น ใช้ขบวนรถ ซีเมนส์ เดซิโร รุ่นบริติช เรล คลาส 360 ซึ่งเป็นแบบเดียวกับรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานลอนดอนฮีทโธรว์ จำนวน 9 ขบวน ผลิตโดย ซีเมนส์ มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในขบวนรถไฟฟ้าจะมีเก้าอี้แบบแข็งสองแถวตั้งตามความยาวของตัวรถ เหมือนกับรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้ามหานคร

ความถี่ในการเดินรถ

จากรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ได้มีการวิเคราะห์ปริมาณความต้องการในการเดินทางของผู้โดยสารเพื่อกำหนดความถี่ในการเดินรถแต่ละรูปแบบเบื้องต้น เมื่อเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2566 จะมีรูปแบบและความถี่ในการเดินรถดังนี้

  • รถไฟธรรมดา (สายซิตี้) ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ จอดทุกสถานี ความถี่ 13 นาที
  • รถไฟความเร็วสูง (High Speed) ดอนเมือง - อู่ตะเภา จอดเฉพาะสถานีดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ความถี่ 20-30 นาที

โครงการก่อสร้าง

โครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีโครงการสร้างทับบนเส้นทางเดิมของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับท่าอากาศยานหลักในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งสามแห่ง อันได้แก่ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา จังหวัดระยอง ซึ่งรวมไปถึงการเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานคร และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยโครงการก่อสร้างมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ระยะที่หนึ่ง (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) (เตรียมการก่อสร้าง)

พญาไท - กรุงเทพอภิวัฒน์

สำหรับส่วนต่อขยายส่วนนี้มีแผนเพื่อที่จะรองรับผู้โดยสารจากทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ให้สามารถไปยังสถานีรับส่งผู้โดยสารอากาศยานในเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต่อไปได้ และผู้โดยสารจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็สามารถไปยังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามแผนล่าสุดได้มีการยกเลิกการจอดที่สถานีราชวิถี เนื่องจากรถไฟฟ้ามหานคร สายสีส้ม ไม่ได้มาเชื่อมต่อกับโครงการที่สถานีนี้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหยุดรถที่สถานีนี้อีกต่อไป

กรุงเทพอภิวัฒน์ - ท่าอากาศยานดอนเมือง

ลาดกระบัง - อู่ตะเภา

  • พื้นที่ที่เส้นทางผ่าน จังหวัดฉะเชิงเทรา (อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา , อำเภอบ้านโพธิ์) , จังหวัดชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี , อำเภอศรีราชา , อำเภอบางละมุง , อำเภอสัตหีบ) , จังหวัดระยอง (อำเภอบ้านฉาง)
  • เส้นทาง หลังจากออกจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าจะเลี้ยวขวาแล้ววิ่งไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก เข้าเขตจังหวัดฉะเชิงเทราแล้วเปลี่ยนเส้นทางไปวิ่งเลียบตามแนวทางรถไฟสายตะวันออกเลียบชายฝั่ง เข้าสู่จังหวัดชลบุรี และเข้าสู่จังหวัดระยอง ก่อนเลี้ยวขวาแล้วลดระดับเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินลอดใต้ถนนสุขุมวิท ย่านการค้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา และจอดที่ใต้อาคารผู้โดยสาร 3 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา จากนั้นออกจากอู่ตะเภาแล้วเลี้ยวขวา ไปสิ้นสุดที่สถานีรถไฟระยอง รวมระยะทาง 193.5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากติดปัญหาพื้นที่ควบคุมสิ่งแวดล้อมบริเวณเส้นทางช่วงที่ผ่านนิคมอุตสาหรรมมาบตาพุด ทำให้ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมใหม่ เส้นทางช่วงอู่ตะเภา - ระยอง จึงกลายเป็นเส้นทางศึกษาในอนาคตไปแทน ทำให้ระยะทางรวมลดเหลือ 170 กิโลเมตร นับจากสถานีลาดกระบัง
  • สถานี 12 สถานี
  • ขบวนรถ แบ่งขบวนให้บริการ 2 รูปแบบหลัก 3 รูปแบบย่อย แบ่งเป็น
    • ซิตี้ไลน์ ให้บริการเพิ่ม 7 สถานี จากสถานีสุวรรณภูมิ ถึงสถานีฉะเชิงเทรา แล้วตีรถกลับสถานีดอนเมือง
    • HST แยกเป็น Standard Line เป็นรถโดยสารที่จอดรับ-ส่งผู้โดยสารตั้งแต่สถานีฉะเชิงเทราเป็นต้นไปทุกสถานี ยกเว้นสถานีช่วงหัวตะเข้-บางเตย และ Airport Express เป็นรถโดยสารที่จะมุ่งตรงไปสถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภาเพียงสถานีเดียว

ระยะที่สอง (อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียดเส้นทาง)

อู่ตะเภา - ตราด

รายชื่อสถานี

รหัส ชื่อสถานี กม.ที่ รูปแบบสถานี รูปแบบชานชาลา หมายเหตุ ขบวนรถ จุดเปลี่ยนเส้นทาง
ARL HST รถในเมือง
(สายซิตี้)
รถธรรมดา
(HST)
รถด่วน
(Airport Express)
ช่วงที่ 1 : ดอนเมือง - พญาไท (ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์)
A10 HE1 ท่าอากาศยานดอนเมือง -20.122 ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง สายสีแดงเข้ม
รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (สายอีสาน)
รถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น (สายเหนือ)
A9 HE2 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ -6.375 อาคารผู้โดยสาร ชานชาลากลาง แยกพื้นที่ชานชาลาสำหรับ
รถไฟในเมืองและรถไฟความเร็วสูง
สายสีแดงเข้ม
สายสีแดงอ่อน
สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ)
ช่วงที่ 2 : พญาไท - สุวรรณภูมิ (รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ในปัจจุบัน)
A8
-
พญาไท 0.179 ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง ปรับปรุงโครงสร้างสถานีเดิม
ให้รองรับรถไฟความเร็วสูง
- - สายสุขุมวิท (พญาไท)
สายสีแดงอ่อน
A7
-
ราชปรารภ 0.982 - - สายสีส้ม (ราชปรารภ)
A6 HE3 มักกะสัน 3.000 (HST)
3.125 (ARL)
อาคารผู้โดยสาร ชานชาลาด้านข้าง สายสีน้ำเงิน (เพชรบุรี)
สายสีแดงอ่อน
A5
-
รามคำแหง 7.399 ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง - - สายสีแดงอ่อน
A4
-
หัวหมาก 12.305 ชานชาลาด้านข้าง - - สายสีเหลือง (หัวหมาก)
สายสีแดงอ่อน
A3
-
บ้านทับช้าง 17.267 ชานชาลาด้านข้าง - - สายสีแดงอ่อน
A2
-
ลาดกระบัง 23.498 - - สายสีแดงอ่อน
A1 HE4 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 28.812 ใต้ดิน ชานชาลากลาง สายสีเงิน (สุวรรณภูมิ ฝั่งใต้)
ช่วงที่ 3 : สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา (รถไฟฟ้าระหว่างเมือง)
A-EX1
-
หัวตะเข้ (พระจอมเกล้าลาดกระบัง) ยกระดับ ชานชาลาด้านข้าง ใช้ประโยชน์จากโครงสร้าง
บางส่วนสร้างสถานีสายซิตี้
- -
A-EX2
-
คลองหลวงแพ่ง - -
A-EX3
-
คลองอุดมชลจร - -
A-EX4
-
เปรง - -
A-EX5
-
คลองแขวงกลั่น - -
A-EX6
-
คลองบางพระ - -
A-EX7
-
บางเตย - -
A-EX8 HE5 ฉะเชิงเทรา 64.839 อาคารผู้โดยสาร ชานชาลากลาง ศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ - สายแยก แก่งคอย - คลอง 19 - ฉะเชิงเทรา
ไปสายอีสาน
- HE6 ชลบุรี 113.449 ชานชาลาด้านข้าง - -
- HE7 ศรีราชา 136.119 - -
- HE8 พัทยา 160.929 ชานชาลากลาง - - รถไฟฟ้าเมืองพัทยา[3]
อุโมงค์ลอด ช่วงเขาชีจรรย์ ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี
- HE9 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา 196.410 ชานชาลากลาง ใต้ดิน -
ช่วงที่ 4 : อู่ตะเภา - ตราด (รถไฟฟ้าระหว่างเมือง)
- HE10 ระยอง n/a อาคารผู้โดยสาร ด้านข้าง - -
- HE11 แกลง n/a - -
- HE12 จันทบุรี n/a - -
- HE13 ตราด n/a - -

สัญญาการก่อสร้าง และขอบเขตการดำเนินการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะใช้วิธีการมอบสัมปทานทั้งโครงการ โดยสัมปทานเป็นของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ชื่อเดิม บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด[4]) อันเป็นนิติบุคคลร่วมค้าเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดย กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน จากประเทศจีน โดยกลุ่มผู้รับสัมปทานจะต้องมีหน้าที่ในการพัฒนาโครงการ และจะมีสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับโครงการตามไปด้วย โครงการมีระยะเวลาของสัญญาสัมปทานที่ 50 ปี แบ่งเป็นระยะเวลาในการก่อสร้างโครงการ การปรับปรุงสถานีเดิม และการพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง 5 ปี หรือมากกว่า และระยะเวลาในการดำเนินการเชิงพาณิชย์ และเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ 45 ปีหลังเริ่มดำเนินการรถไฟความเร็วสูงเชิงพาณิชย์ โดยมีรายละเอียดเนื้องานดังต่อไปนี้

ลำดับที่ เนื้องาน
ขอบเขตที่ 1.ก - ออกแบบและก่อสร้างงานโยธาที่เกี่ยวกับรถไฟ ก่อสร้างงานโยธาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟร่วม และงานระบบเครื่องกล ไฟฟ้า และระบบรถไฟฟ้า
ก.1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างทางยกระดับทั้งโครงการ ระยะทาง 220 กม. (136.7 ไมล์)
ก.2 งานออกแบบควบคู่ก่อสร้างและปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้า 15 สถานี แบ่งเป็น
(ก) งานออกแบบควบคู่การปรับปรุงสถานีเดิม 8 แห่ง และงานออกแบบควบคู่การปรับปรุงพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการรถไฟความเร็วสูงที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์
(ข) งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างสถานีใหม่ 6 แห่ง ได้แก่ สถานีท่าอากาศยานดอนเมือง สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีท่าอากาศยานอู่ตะเภา
ทั้งคู่ให้รวมงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบสถานี และก่อสร้างอาคารจอดแล้วจร (ถ้ามี)
ก.3 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางรถไฟร่วม แบ่งเป็น
(ก) งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงบางซื่อ - สวรรคโลก - กำแพงเพชร 5 ระยะทาง 4.8 กม. (2.98 ไมล์) ของทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยาน รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วง บางซื่อ - มักกะสัน - หัวหมาก และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ - หัวลำโพง
(ข) งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กม. (13.55 ไมล์) ให้รองรับการการเดินรถในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ (กรุงเทพ - พิษณุโลก - เชียงใหม่) และรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ (กรุงเทพ - นครราชสีมา - หนองคาย)
ก.4 งานก่อสร้างและปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการ 2 แห่ง แบ่งเป็น
(ก) งานปรับปรุงศูนย์ซ่อมบำรุงซอยศูนย์วิจัย (คลองตัน) เดิม ให้รองรับการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง
(ข) งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงใหญ่ฉะเชิงเทรา ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
ก.5 งานก่อสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย 1 แห่ง
ก.6 งานจัดหาระบบอาณัติสัญญาณ ระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ ระบบโทรคมนาคมและสื่อสาร ระบบไฟฟ้ากำลัง ระบบประตูกั้นชานชาลา
และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ช่วยให้การเดินรถมีประสิทธิภาพ
ก.7 งานจัดหาระบบรถไฟฟ้า แบ่งเป็น
(ก) ระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่รองรับความเร็วในการเดินทางสูงสุดที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(ข) ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสำหรับเดินรถช่วงในเมือง ความเร็วในการเดินทางสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(ค) จัดหาขบวนรถให้เหมาะสมกับการดำเนินการทั้งโครงการ
ก.8 งานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้การเดินรถมีประสิทธิภาพ
ขอบเขตที่ 1.ข - งานการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา
ข.1 งานเดินรถไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 45 ปี นับตั้งแต่วันที่ รฟท. กำหนดให้มีการเดินรถทั้งระบบอย่างเป็นทางการ โดยให้ยกเว้น
(ก) การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท - สุวรรณภูมิ กำหนดให้เข้าเดินรถได้ทันทีหลังชำระค่าระบบอาณัติสัญญาณและล้อเลื่อน โดยให้รอหมายแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรจาก รฟท. หลัง รฟท. ดำเนินการบอกเลิกสัญญาการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และการโฆษณาบนพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า
(ข) การเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ - ดอนเมือง กำหนดให้เข้าเดินรถได้หลัง รฟท. กำหนดให้มีการเดินรถส่วนต่อขยายอย่างเป็นทางการ
ข.2 งานจัดการระบบเดินรถไฟฟ้าที่ศูนย์ควบคุมกลาง
ข.3 งานจัดการรถไฟ
ข.4 งานจัดการพื้นที่สถานี
ข.5 งานซ่อมบำรุงรถไฟ
ข.6 งานจัดเตรียมอะไหล่สำหรับซ่อมบำรุงรถไฟตามกำหนด
ขอบเขตที่ 2 - งานพัฒนาพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการ
2.ก งานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่สถานีมักกะสันของ รฟท. จำนวน 150 ไร่
กำหนดให้มีพื้นที่ทุกอาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 850,000 ตารางเมตร และมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท
2.ข งานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนพื้นที่สถานีศรีราชาของ รฟท. จำนวน 25 ไร่
กำหนดให้มีพื้นที่ทุกอาคารรวมกันไม่น้อยกว่า 20,000 ตารางเมตร และมูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท
ขอบเขตที่ 3 - งานดำเนินการเชิงพาณิชย์
3.ก งานดำเนินกิจการเชิงพาณิชย์ รวมถึงจัดเก็บค่าโดยสาร จัดเก็บรายได้ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากพื้นที่สถานี ภายนอก และภายในขบวนรถไฟฟ้า ทางเชื่อมต่อกับอาคารอื่น ๆ และการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ

ภายใต้สัญญาว่าด้วยความเข้าใจภายในกลุ่ม กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร แต่ละบริษัทจะมีขอบเขตและหน้าที่การดำเนินงานต่อไปนี้

  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด : จะเป็นผู้นำการประมูล ผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดภายในโครงการ และจะเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามสถานีรายทาง บริเวณที่ดินมักกะสันคอมเพล็กซ์แปลง A และบริเวณที่ดินสถานีศรีราชา
  • บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) : จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาทั้งโครงการ รวมงานปรับปรุงโครงสร้างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เดิม
  • ไชน่า เรลเวยส์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชัน : จะเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างทางวิศวกรรมโดยรวมให้กับโครงการ และเป็นผู้จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้าให้กับโครงการ
  • บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) : จะเป็นผู้ร่วมลงทุนในโครงการ

ผู้รับเหมาก่อสร้างและที่ปรึกษา

ผู้รับเหมาก่อสร้าง
  • บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)
  • บริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด
  • Ferrovie dello Stato Italiane
บริษัทที่ปรึกษาและควบคุมงานก่อสร้าง
ที่ปรึกษาด้านวิศวกรรม
  • บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด
ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม
  • บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด
ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการเงิน

เงินสนับสนุนโครงการและงบประมาณ

โครงการได้รับการอนุมัติงบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดที่ 224,544.36 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนให้ไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณสูงสุดที่คำนวณจากค่าโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ โดยงบประมาณแบ่งออกเป็นสามรายการดังต่อไปนี้

รายการที่ รายละเอียด กรอบวงเงิน
(ล้านบาท)
หมายเหตุ
1 งบลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
1.1 ค่าเวนคืนที่ดิน 3,570.29
1.2 ค่าก่อสร้างงานโยธาและงานวางราง 113,303.88
1.3 ค่าก่อสร้างงานโยธาสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วง Missing Link
เพื่อสร้างอุโมงค์ช่วงจิตรลดา และรถไฟความเร็วสูงสายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ
7,210.67
1.4 ค่างานระบบรถไฟฟ้า 24,712.00
1.5 ค่างานจัดหาตู้รถไฟฟ้า 15,491.32
1.6 ค่าวิศวกรที่ปรึกษา (ควบคุมงานก่อสร้าง และตรวจสอบอิสระ, ICE) 4,429.84
รวมกรอบวงเงินลงทุน 168,718
2 งบลงทุนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
เฉพาะส่วนระบบอาณัติสัญญาณและล้อเลื่อน
10,671.09 ไม่รวมค่าโครงสร้างพื้นฐานของโครงการที่ 22,558.06 ล้านบาท
ซึ่งรัฐฯ เป็นผู้รับภาระค่าโครงสร้างพื้นฐานเอง
3 งบพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบริการรถไฟบนที่ดินสองแห่ง
ได้แก่ที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน (มักกะสัน คอมเพล็กซ์ โซน A) 150 ไร่
และบริเวณสถานีศรีราชา 25 ไร่
3.1 งานพัฒนาพื้นที่สถานีมักกะสัน 40,193.26
3.2 งานพัฒนาพื้นที่สถานีศรีราชา 3,513.01
3.3 เงินลงทุนระบบสาธารณูปโภค ทางเข้า-ออก และสะพานล้อเลื่อน 1,449.00
รวมกรอบวงเงินลงทุน 45,155.27

ความคืบหน้า

  • 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับประชาชาติธุรกิจว่า จะเปิดให้ประมูลโครงการภายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 โดยเชิญชวนผู้เข้าร่วมประมูลทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงรอผลการแก้ไขสัญญาร่วมทุนให้ต่างด้าวสามารถถือโครงการได้เกิน 50% จาก คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... เพื่อเปิดทางให้บริษัททุนต่างชาติเข้าร่วมลงทุนโครงการได้โดยไม่ต้องผ่านการจัดตั้งบริษัทลูกในประเทศไทย[5]
  • 27 มีนาคม พ.ศ. 2561 - ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติร่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน ระยะทาง 220 ในส่วนเส้นทางพญาไท-บางซื่อ-ท่าอากาศยานดอนเมือง และส่วนเส้นทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ - ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยมอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินงานร่วมกับเอกชนในรูปแบบ PPP-Net Cost ระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ภายใต้กรอบเงินลงทุนรวมร่วมกับเอกชนไม่เกิน 119,000 ล้านบาท รวมมูลค่าโครงการทั้งโครงการในระยะเวลาสัมปทานแรก 400,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะออก TOR เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมการประมูลได้ภายในเดือนเมษายนนี้
  • 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เปิดเผยว่า กศน. ต้องการออก TOR โครงการรถไฟความเร็วสูง ให้มีความครอบคลุมในการดำเนินการกับนานาประเทศ ยกระดับโครงการจากเมกะโปรเจกต์เป็นเมกะเวิลด์ ด้วยการเปลี่ยนแผนการลงทุนโครงการเป็นการลงทุนแบบนานาชาติตามข้อกำหนดของธนาคารโลก ดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการแข่งขันจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับโครงการระดับเมกะเวิลด์ที่ประเทศไทยจะเปิดประมูลในอนาคต จึงจำเป็นต้องใช้เวลาในการพิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและใช้เวลาในการปรับปรุงร่าง TOR เนื่องจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วพบว่าร่าง TOR ยังไม่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว คาดว่าจะออก TOR เชิญชวนได้ไม่เกินเดือนพฤษภาคมนี้[6]
  • 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้จัดทำร่าง TOR แล้วเสร็จกว่า 90% แต่ยังไม่สามารถออกเอกสารได้เนื่องจากต้องรอประกาศจากทางคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ของผู้เข้าร่วมลงทุนในโครงการก่อนเช่น สัดส่วนการถือหุ้นระหว่างไทยกับต่างชาติ เกณฑ์เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์การใช้ที่ดิน เป็นต้น จากนั้น รฟท. จะต้องนำร่าง TOR ที่จัดทำขึ้นไปเทียบเคียงกับประกาศว่าสอดคล้องกันหรือไม่ หากไม่สอดคล้องจะต้องทำการปรับเงื่อนไขใหม่ ทำให้ไม่สามารถออกร่างได้ทันในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 และต้องเลื่อนแผนการดำเนินการออกไปเป็นปี พ.ศ. 2562 คาดการณ์ว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน พ.ศ. 2567[7]
  • 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินว่า รฟท. อยู่ในระหว่างการศึกษา พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมที่จะออกเงื่อนไขการประมูลและเอกสารเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (TOR) ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ในต้นปี พ.ศ. 2562 [8]
  • 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนา “GAME CHANGER เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต” ว่า ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 รัฐบาลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เตรียมขายซองเพื่อให้นักลงทุนที่สนใจในโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา ซึ่งจะทำให้รู้กรอบของ TOR ชัดเจนขึ้น โดยสัดส่วนการถือหุ้นจะยึดตามกฎหมายไทย คือต่างด้าวถือหุ้นในโครงการได้ไม่เกิน 49% จากนั้นภายในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 จะขายเอกสารประกวดราคาและเปิดยื่นซองประมูลภายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คาดว่าจะได้ผู้ชนะอย่างเร็วในช่วงปลายปี หรืออย่างช้าต้นปี พ.ศ. 2562 เพราะการเจรจาอาจจะใช้เวลานาน เนื่องจากเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินลงทุนสูง[9]
  • 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างทีโออาร์ ได้แถลงถึงการดำเนินโครงการและกรอบเวลาในการเปิดประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินว่า ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 รัฐฯ จะประกาศเชิญชวนผู้สนใจลงทุนและให้ข้อมูลเงื่อนไขการประมูล ในเบื้องต้นรัฐฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะได้ตัวผู้ชนะการประมูลซึ่งคาดว่าเป็นกลุ่มกิจการร่วมค้าภายใน พ.ศ. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการในการต่อรองราคาครั้งสุดท้ายเพื่อยื่นเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติผู้ชนะการประมูล และคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ประมาณต้นปี พ.ศ. 2562 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ปรับเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณและเปลี่ยนถ่ายผู้ให้บริการ 2 ปี และเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ. 2567 โดยรูปแบบการร่วมลงทุนจะเป็นแบบ PPP Net Cost อายุสัมปทาน 50 ปี ครบสัญญาทรัพย์สินจะตกเป็นของรัฐบาล[10]
  • 18 มิถุนายน - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 - เริ่มเปิดขายซองประมูลโครงการฯ โดยมีเอกชนแสดงความสนใจเข้าซื้อซองประมูลทั้งหมด 31 ราย [11]
  • 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 - เปิดรับเอกสารข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการ และเอกสารเสนอราคา มีเอกชนยื่นข้อเสนอเป็นกิจการร่วมค้า 2 ราย จาก 8 บริษัท ดังนี้[12]
    1. กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (60% เป็นผู้นำการประมูล), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชัน จำกัด (มหาชน) (20%) และ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (20%))
    2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (70% เป็นผู้นำการประมูล), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (รวมกัน 15%), China Railway Construction Corporation Limited (10%) และ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (5%))
  • 14 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเปิดเผยว่าหลังจากเปิดรับเอกสารข้อเสนอเข้าร่วมลงทุนในโครงการ และเอกสารเสนอราคา ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร เป็นผู้ยื่นข้อเสนอดีที่สุด อย่างไรก็ตาม รฟท. ไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขได้ เนื่องมาจากตัวเลขที่กลุ่มฯ เสนอเข้ามานั้นต่ำเกินเกณฑ์ที่คาดการณ์ไว้ อาจจะส่อเค้าทำให้รัฐฯ และกิจการของรัฐฯ ได้รับความเสียหาย จึงต้องเจรจาในรายละเอียดและเงื่อนไขการลงทุนแบบละเอียด หากการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ รฟท. จะเรียก กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เข้ามาเจรจาร่วมลงทุนแทน
  • 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินเปิดเผยหลังจากการประชุมสรุปซองข้อเสนอด้านการเงินและผลตอบแทน ผลปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอด้านการเงินที่ดีที่สุด คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเสนอราคาที่ 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบวงเงินที่รัฐบาลอนุมัติไว้ที่ 2,198 ล้านบาท ในขณะที่ กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เสนอราคาที่ 169,934 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินที่อนุมัติไว้ 50,509 ล้านบาท และสูงกว่ากลุ่มซีพีถึง 52,707 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รฟท. ได้รับหนังสือชี้แจงรายละเอียดของกรอบวงเงินจากทั้งสองกลุ่มเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยกลุ่มบีเอสอาร์ชี้แจงว่าในกรอบวงเงินที่เสนอมา มีการรวมค่าปรับปรุงโครงสร้างทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เข้ามาในงบที่เสนอด้วย รวมถึงงบที่เสนอเป็นงบที่คำนวณจากฐานค่าก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนซึ่งใช้เกณฑ์เดียวในการอ้างอิงกับโครงการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย แต่ทางกลุ่มซีพีไม่ได้มีการเปิดเผย เพียงระบุว่าตัวเลขที่เสนอมาเป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ในหลาย ๆ กรณี ทั้งนี้ รฟท. จะเชิญชวนตัวแทนกลุ่มซีพีเข้ามาร่วมเปิดซองข้อเสนอพิเศษของโครงการในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และจะเริ่มดำเนินการเจรจาในรายละเอียดในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตามหากการเจรจาไม่ได้ข้อสรุปภายในระยะเวลาสองอาทิตย์ ก็จะเชิญกลุ่มบีเอสอาร์เข้ามาเปิดซองข้อเสนอพิเศษของโครงการและดำเนินการเจรจาต่อ เพื่อให้ได้ผู้ชนะและเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้ภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2562
  • 4 เมษายน พ.ศ. 2562 - นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปิดเผยหลังจากการประชุมและเจรจารายละเอียดโครงการฯ ผลปรากฏว่า กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอราคาต่ำสุดที่ 117,227 ล้านบาท ได้บรรลุการตกลงในเรื่องต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้ฝ่ายกฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน และฝ่ายกฎหมายของ สำนักงานโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) จะดำเนินการเจรจาและร่างสัญญาสัมปทานโครงการร่วมกัน คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการอีอีซี และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติสัญญาสัมปทานได้ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2562 และลงนามสัญญาสัมปทานได้ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562
  • 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 - คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทยกับ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ตามที่สำนักงานโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้ยื่นเข้ามาพิจารณา คาดว่าจะลงนามสัญญาสัมปทานได้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562
  • 7 มิถุนายน พ.ศ. 2562 - คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเข้าที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562[13]
  • 24 มิถุนายน พ.ศ. 2562 - ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยใช้เวลาพิจารณารายงานเพียง 10 นาที และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเรื่องแผนการจัดทำแผนฉุกเฉิน กู้ภัยและอุบัติเหตุ[14]
  • 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562 - การรถไฟแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สำนักงาน EEC) ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาสัมปทานกับ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร และสัญญาว่าด้วยความเข้าใจในเรื่องการสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงาน EEC และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ณ ตึกสันติไมตรี(หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล โดยบริษัทดังกล่าวจะเป็นผู้ถือสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และเป็นบริษัทที่จะดำเนินการในส่วนธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด
  • 31 มกราคม พ.ศ. 2565 - การรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอของบผูกพัน 2 ปี (2566-2567) เป็นจำนวนเงิน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ รวมทั้งจัดทำรายงานแผนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายระยอง-จันทบุรี-ตราด คาดว่าจะเสนอให้บอร์ด รฟท. อนุมัติได้ใน พ.ศ. 2567 ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ. 2568 หลังจากนั้นจะเริ่มเจรจากับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด หรือกลุ่มซีพี ตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทานของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่กลุ่มซีพีจะได้รับสิทธิ์การเจรจาเข้าลงทุนส่วนต่อขยายจากส่วนสัมปทานก่อน หากกลุ่มซีพีไม่สนใจเข้าลงทุนถึงจะมีการเปิดประมูลหาเอกชนร่วมลงทุนโครงการใน พ.ศ. 2569 โดยระยะแรกจะเร่งรัดให้มีการก่อสร้างช่วงอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร มูลค่า 14,000 ล้านบาทก่อนเป็นลำดับแรก
  • 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 - การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หลังจากที่ รฟท. และ เอเชีย เอรา วัน ยังไม่สามารถตกลงการรับ NTP ได้ ทำให้โครงการล่าช้ามาแล้ว 5 ปี และก่อให้เกิดความเสียหายกับโครงการพัฒนา EEC และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชันแนล เอวิเอชัน จำกัด โดยล่าสุด รฟท. รับมติของสำนักงาน EEC ที่ให้เร่งรัดการก่อสร้างและการออก NTP ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 หากไม่เป็นไปตามเช่นนั้น สำนักงาน EEC จะเสนอให้มีการแจ้งบอกเลิกสัญญาสัมปทานกับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เพื่อให้ รฟท. เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาของโครงการด้วยตนเอง และ รฟท. จะหาเอกชนเข้าประมูลโครงการเพื่อรับสัมปทานในการดำเนินโครงการต่อไป

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. แอร์พอร์ต ลิงก์โชว์ยอดผู้โดยสารเพิ่ม สิงหาคมแตะ2.1ล้านคน
  2. บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด - thaicorporates.com
  3. "โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ในรูปแบบรถไฟฟ้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-01-28. สืบค้นเมื่อ 2020-11-17.
  4. ซี.พี.รีแบรนด์ไฮสปีด3 สนามบิน เปลี่ยนชื่อเป็น”บ.เอเชีย เอรา วัน” พลิกโฉมระบบรางแห่งเอเชีย
  5. เปิด TOR รถไฟไฮสปีดอีอีซี พ่วงที่ดินมักกะสัน-แอร์พอร์ตลิงก์
  6. ปลดล็อก พ.ร.บ.ฮั้วประมูล เปิดทางกลุ่มทุนจีนลุยไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา
  7. เลื่อนประมูลไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน ไม่ทัน 15 พ.ค. นี้ รถไฟแจงต้องรอประกาศอีอีซี
  8. รฟท.เปิดประมูลไฮสปีดเทรน คุยลั่นทุ่งนักลงทุนแห่แย่งชิงขุมทรัพย์เดือน พ.ค.นี้
  9. รัฐบาลเตรียมขายซองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน24พ.ค.นี้
  10. เปิดหวูดประมูลรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน 30 พ.ค. ได้ตัว ธ.ค. 61
  11. ว้าว! เซ็นทรัลก็มาซื้อซองประมูลไฮสปีด 3 สนามบิน 2.2 แสนล้าน ปิดจ็อบวันสุดท้ายท่วมท้น 31 ราย
  12. ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย
  13. ผู้จัดการออนไลน์ (8 มิถุนายน 2562). "ผ่านแล้ว EIA รถไฟ 3 สนามบิน รอชุดใหญ่ 24 มิ.ย. คาดเซ็นสัญญา "ซี.พี." ไม่เกินต้น ก.ค." mgronline.com. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  14. ประชาชาติธุรกิจ (24 มิถุนายน 2562). "ฉลุย! "บิ๊กป้อม" ไฟเขียว EIA ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินใน 10 นาที". www.prachachat.net. สืบค้นเมื่อ 4 สิงหาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya