Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต

ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต
ทางรถไฟใกล้สะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหด ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทย–กัมพูชา
ข้อมูลทั่วไป
เจ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย
การรถไฟกัมพูชา
ที่ตั้งจังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย
จังหวัดบันทายมีชัย ประเทศกัมพูชา
ปลายทาง
จำนวนสถานี4
ประวัติ
เปิดเมื่อ22 เมษายน 2498
ข้อมูลทางเทคนิค
ระยะทาง6.7 กม. (4.16 ไมล์)
รางกว้าง1,000 mm (3 ft 3 38 in) มีเตอร์เกจ
แผนที่เส้นทาง

ทางรถไฟสายกรุงเทพ–อรัญประเทศ
254.50
อรัญประเทศ
259.00
คลองลึก
260.23
ไทย
260.28
ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก
260.45
สะพานคลองลึก–ปอยเปต, คลองพรหมโหด
261.20
ปอยเปต
ประเทศกัมพูชา: ทางรถไฟสายพนมเปญ–ปอยเปต

ทางรถไฟสายอรัญประเทศ–ปอยเปต หรือเดิมคือ ทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี[1] เป็นทางรถไฟระหว่างประเทศที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีจุดเริ่มต้นจากสถานีรถไฟอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ผ่านสะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหดจนถึงสถานีปลายทางคือสถานีรถไฟปอยเปต จังหวัดบันทายมีชัย ในอดีตสามารถเชื่อมต่อการเดินรถในเส้นทางไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง จังหวัดพระตะบอง[2] อันเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายพนมเปญ–ปอยเปต[3] หรือทางรถไฟสายตะวันตกของกัมพูชาในปัจจุบัน

เส้นทางรถไฟสายนี้ หยุดการเดินรถและเส้นทางถูกรื้อถอนออกหลายครั้งด้วยเหตุผลทางการเมืองของกัมพูชา[2][4][5] รถไฟสายตะวันออกของไทยจึงเดินรถเพียงสถานีรถไฟอรัญประเทศมากว่า 40 ปี[6][7] ปัจจุบันรัฐบาลกัมพูชาได้บูรณะเส้นทางรถไฟนี้ใหม่เพื่อประโยชน์ด้านการค้า[8][9][10][11]

ประวัติ

แรกเริ่ม

ในปี พ.ศ. 2448 กรมรถไฟหลวงได้มีการจัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากมณฑลกรุงเทพสู่มณฑลปราจิณบุรี กระทั่งในปี พ.ศ. 2462 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างรถไฟหลวงจากจังหวัดฉะเชิงเทราถึงอารัญประเทศ จังหวัดกระบินทร์บุรี[12] และสามารถเปิดการเดินรถจากสถานีรถไฟกระบินทร์บุรีถึงสถานีรถไฟอรัญประเทศเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469[2]

ในช่วงปี พ.ศ. 2484–2489 ไทยได้ดินแดนเขมรส่วนในจากสนธิสัญญาโตเกียวเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ส่งผลให้ไทยได้เมืองพระตะบอง, ศรีโสภณ, มงคลบุรี และเสียมราฐ (ยกเว้นนครวัดและนครธม) กลับมาอีกครั้ง และได้ทำการเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีรถไฟอรัญประเทศกับสถานีรถไฟมงคลบุรีโดยมีทหารญี่ปุ่นบุกเบิกเส้นทางให้ เรียกว่าทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี โดยวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ไทยได้ทำการเวนคืนที่ดินในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเภอมงคลบุรี อำเภอเมืองพระตะบอง และอำเภออธึกเทวเดช จังหวัดพระตะบอง[13] และประกาศเวนคืนอีกครั้งเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2487 ในเขตอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเภอมงคลบุรี อำเภอเมืองพระตะบอง อำเภอรณนภากาศ จังหวัดพระตะบอง[14] เส้นทางรถไฟสายนี้จะสิ้นสุดบริเวณแม่น้ำสังแกตามข้อตกลงไทย-ฝรั่งเศสในขณะนั้น รวมระยะทางตั้งแต่สถานีอรัญประเทศถึงปลายทางเป็นระยะทาง 117 กิโลเมตร[5] แต่หลังจักรวรรดิญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามในปี พ.ศ. 2489 รัฐบาลไทยจึงต้องคืนดินแดน รวมทั้งเส้นทางรถไฟที่เคยสร้างไว้ด้วย[15]

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2491 กรมรถไฟส่งหัวรถจักรที่พ่วงรถบรรทุกหินและตู้โดยสาร นำคนงานไปขนหินที่หลักกิโลเมตร 259.16 ระหว่างสถานีรถไฟอรัญประเทศกับคลองลึก ระหว่างที่คนงานกำลังเก็บหินอยู่นั้น สงัด พันธุรัตน์ พนักงานขับรถ ได้ถอดหัวรถจักรกับรถตู้ใหญ่ เพื่อไปอัดจารบีแล้วเผลอหลับไป หัวรถจักรและตู้ใหญ่จึงไหลออกจากฝั่งไทยข้ามไปยังฝั่งอินโดจีนของฝรั่งเศส แล้วชนรถไฟฝรั่งเศสตกรางไปหกตู้ จากความเสียหายดังกล่าวฝรั่งเศสคิดค่าใช้จ่าย 224,000 เปียสตร์ แต่ลดให้ทางการไทย 200,000 เปียสตร์ หรือคิดเป็นเงินไทยคือ 90,000 บาท ซึ่งก็ถือว่าแพงมากอยู่ดี หลังชำระเงินเรียบร้อยแล้วทางการไทยจึงรื้อรางออกตั้งแต่สถานีรถไฟอรัญประเทศจนถึงชายแดนเสีย เพื่อมิให้เกิดซ้ำสอง[5]

หลังกัมพูชาได้รับเอกราชเมื่อปี พ.ศ. 2493 กรมรถไฟของไทยได้เจรจากับคณะผู้แทนรถไฟกรุงกัมพูชาเรื่องการเชื่อมทางรถไฟกัมพูชากับรถไฟไทยเมื่อปี พ.ศ. 2496 และเปิดเดินรถไฟระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2498 ขบวนรถอรัญประเทศ–ปอยเปต–พระตะบอง โดยช่วงแรกได้ใช้รถดีเซลรางของกัมพูชาเดินรถทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ช่วงเวลาเช้า-เย็น ภายหลังได้เพิ่มรถจักรไอน้ำของไทย อันประกอบไปด้วยรถชั้นสองและสาม มีพ่วงตู้สินค้า เดินรถทุกเช้าวันอังคารและเสาร์[2]

หลังเดินรถได้ 4 ปี กัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธ์กับไทย และยุติการเดินรถเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2501 ต่อมาได้เปิดพรมแดนชั่วคราวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 จึงเดินรถตามตารางเดิมที่เคยใช้เมื่อวันที่ 6 มีนาคมปีเดียวกัน[2]

ต่อมากัมพูชาตัดความสัมพันธ์กับไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2504 จึงงดการเดินรถข้ามประเทศ[2] ต่อมาการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มเดินรถข้ามประเทศอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 แต่ลดจำนวนเที่ยวเพียงวันอังคารและพฤหัสบดี[2]

ในช่วงเหตุการณ์พนมเปญแตก การรถไฟแห่งประเทศไทยจึงยุติการเดินรถข้ามพรมแดนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2517[2] หลังยุติการเดินรถทางฝั่งกัมพูชาได้มีการรื้อถอนรางออกไป[11][15] โดยมากรางจะถูกงัดไปขาย[2] และย่านสถานีรวมทั้งเส้นทางรถไฟในปอยเปตได้แปรสภาพเป็นบ่อนกาสิโน โรงแรม และร้านค้า[2][16] คงเหลือเพียงสะพานข้ามคลองพรหมโหดที่ติดกับพรมแดนไทยเท่านั้น[6][7] ส่วนเส้นทางรถไฟฝั่งไทยก็ถูกกลบหายไปจากการสร้างตลาดโรงเกลือ[16]

การบูรณะ

สถานีรถไฟปอยเปตก่อนการบูรณะ พ.ศ. 2555
สะพานคลองลึกข้ามคลองพรหมโหด พ.ศ. 2559 หลังการบูรณะ เมื่อมองจากฝั่งปอยเปต

ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชียให้กัมพูชากู้ยืมเงินสำหรับบูรณะเส้นทางรถไฟช่วงศรีโสภณปอยเปตเป็นระยะทาง 48 กิโลเมตรเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟกับประเทศไทยที่อรัญประเทศ การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยเสนอของงบประมาณในปี พ.ศ. 2555 แต่ถูกตัดงบประมาณ ต่อมาชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีการปรับปรุงรางและอื่น ๆ ในเส้นทางชุมทางคลองสิบเก้าอรัญประเทศ และอรัญประเทศ–คลองลึก รวมถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556[2] เพราะเบื้องต้นเส้นทางดังกล่าวมีปัญหาคือเส้นทางเดิมขาด และมีน้ำท่วมขัง[17] ใช้งบประมาณ 2,808 ล้านบาท โดยบริษัทอิตาเลียนไทยชนะประมูลการก่อสร้าง[6][7] พ.ศ. 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาเยือนประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งเจรจากับฮุน เซนเกี่ยวกับโครงการระบบรางและร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ[18]

พ.ศ. 2559 รัฐบาลกัมพูชาเวนคืนที่ดินซึ่งเป็นกาสิโนจำนวนสามแห่งรวมทั้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกเพื่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างอรัญประเทศ–ปอยเปต[19] ทว่ามีตึกกาสิโนและโรงแรมกีดขวางทางรถไฟ กัมพูชาจึงแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางรถไฟผ่านใต้ตึก โดยฝังรางรถไฟไว้ใต้คอนกรีต ทางรถไฟจะผ่านตึกทะลุไปถึงสถานีรถไฟปอยเปตที่ถูกบูรณะใหม่[16]

วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทำการรื้อถอนสะพานข้ามคลองพรหมโหดเดิมที่มีอายุ 120 ปี เพื่อสร้างใหม่ เพื่อเชื่อมเส้นทางไปยังพรมแดนกัมพูชา[6][7] โดยทางรัฐบาลไทยได้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากอรัญประเทศจนถึงสะพานข้ามคลองพรหมโหดแล้วเสร็จตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561[20] และกำลังก่อสร้างสถานีรถไฟใหม่บริเวณบ้านดงงู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว[9] ในปีเดียวกัน การรถไฟแห่งประเทศไทยวางแผนจะมอบรถดีเซลรางฮิตาชิรีโนเวตจำนวน 4 คันแก่กิจการรถไฟกัมพูชา พร้อมกับอบรมพนักงานขับรถของกัมพูชา[21][22] เป็นของขวัญแก่กัมพูชา[9] เบื้องต้นจะมีการเดินรถระหว่างประเทศโดยมุ่งเน้นขนส่งประชาชนเป็นหลัก[23]

28 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ทางการไทยสร้างสถานีรถไฟด่านพรมแดนบ้านคลองลึกใกล้ตลาดโรงเกลือใกล้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนโดยไม่ต้องเดินทางไปขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟอรัญประเทศ คาดว่าจะมีการเดินรถสปรินเตอร์ในต้นปี พ.ศ. 2562 ส่วนการเดินรถระหว่างประเทศนั้น ยังติดขัดปัญหาบางประการของทางการกัมพูชา จึงยังไม่มีการเดินรถข้ามพรมแดนระหว่างกัน[24] ซึ่งถูกเลื่อนมาแล้วหลายครั้ง[9][25]

22 เมษายน พ.ศ. 2562 มีการเปิดการเดินรถและส่งมอบหัวรถจักรและตู้รถไฟสี่คันแก่กัมพูชา การนี้ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย[26][27] วรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่าทางรถไฟสายนี้ใช้ความเร็วได้เพียง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และต้องพัฒนาระบบการดูแลเส้นทาง ระบบสัญญาณ และทางร่วมแยกที่ถูกปิดมากว่า 40 ปี[28] มีโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายจากสถานีรถไฟปอยเปตถึงสถานีรถไฟศรีโสภณระยะทาง 48 กิโลเมตร ในอนาคตยังมีแผนที่จะฟื้นฟูเส้นทางไปยังสถานีรถไฟพระตะบอง และก่อสร้างเส้นทางเชื่อมยังสถานีรถไฟพนมเปญใหม่[17]

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 มีการเดินรถกรุงเทพ–ด่านพรมแดนบ้านคลองลึก ซึ่งมีรถวิ่งวันละสี่ขบวน แบ่งเป็นขาขึ้นและขาล่องอย่างละสองขบวน[29]

อ้างอิง

  1. "พระราชกฤษฎีกา กำหนดป่าสองข้างทางรถไฟสายอรัญญประเทศ–มงคลบุรี หรือป่าปอยเปตในท้องที่ตำบลมรกฏ ตำบลบ้านจังหัน ตำบลศรีโสภณ ตำบลสวายจิก และตำบลทัพไทย อำเภอศรีโสภณ จังหวัดพิบูลสงคราม ให้เป็นป่าคุ้มครอง พุทธศักราช 2488" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 62 (38 ก): 448. 17 กรกฎาคม 1945.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 สุนันทา เจริญปัญญายิ่ง. "ทางรถไฟที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน". สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  3. "บันทึกประวัติศาสตร์.. เขมรเปิดหวูดเดินรถไฟชายแดนไทย-ศรีโสภณครั้งแรกในรอบ 30 ปี". ผู้จัดการออนไลน์. 5 เมษายน 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  4. ยุทธนา พึ่งน้อย, บ.ก. (22 เมษายน 2019). "ชื่นมื่น นายกไทยฯ -กัมพูชา ร่วมพิธีเปิด สถานีรถไฟ บ้านคลองลึก - สถานีปอยเปต". Thainews Online. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2021.
  5. 5.0 5.1 5.2 อาทิตย์ ทรงกลด. เรื่องลับเขมร ที่คนไทยควรรู้. กรุงเทพฯ : สยามบันทึก, 2552, หน้า 140–143 ISBN 9786117180033.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 "รื้อสร้างใหม่! สะพานรถไฟประวัติศาสตร์ 120 ปีคลองลึก รับเออีซี". ไทยรัฐออนไลน์. 20 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 "รื้อสะพานรถไฟสายประวัติศาสตร์เชื่อมไทย-เขมร". ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน กรมประชาสัมพันธ์. 23 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  8. Amornrat Mahitthirook (2 เมษายน 2013). "Bids called on Cambodia rail link". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 "รถไฟสายไทย-เขมร! พร้อมเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์ มิ.ย.นี้ ได้ใช้กันแน่". ไทยรัฐออนไลน์. 20 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  10. "เส้นทางรถไฟสายกรุงเทพ-พนมเปญใกล้เสร็จ ฝั่งกัมพูชาเหลืออีก 1 กิโลเมตร". ข่าวสด. 13 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  11. 11.0 11.1 "เปิดหวูดจากปอยเปต เม.ย.นี้ เตรียมตัวขึ้นรถไฟฟรีไปเล่นสงกรานต์พระตะบอง". MGR Online. 24 มีนาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  12. "พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากฉะเชิงเทรา ถึง อารัญประเทศ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 36 (0 ก): 18. 8 พฤษภาคม 2462.
  13. "พระราชกริสดีกา กำหนดเขตที่ดินไนบริเวนที่ที่จะเวนคืน ไนท้องที่อำเพออรัญประเทส จังหวัดปราจีนบุรี อำเพอสรีโสภน จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเพอมงคลบุรี อำเพอเมืองพระตะบอง อำเพออธึกเทวเดช จังหวัดพระตะบอง พุทธสักราช 2485" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (73 ก): 2251. 24 พฤศจิกายน 1942.
  14. "พระราชกริสดีกา กำหนดเขตที่ดินไนบริเวนที่ที่จะเวนคืน ไนท้องที่อำเพออรัญประเทส จังหวัดปราจีนบุรี อำเพอสรีโสภน จังหวัดพิบูลสงคราม และอำเพอมงคลบุรี อำเพอเมืองพระตะบอง อำเพอรนนภากาส จังหวัดพระตะบอง พุทธสักราช 2487" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 61 (72 ก): 1146. 24 พฤศจิกายน 1944.
  15. 15.0 15.1 อภิญญ ตะวันออก (6 กันยายน 2017). "แด่หนุ่มสาว (12) / กาลครั้งหนึ่ง ณ ทางรถไฟไทย-กัมพูชา". มติชนสุดสัปดาห์. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  16. 16.0 16.1 16.2 วันวิสข์ เนียมปาน, บ.ก. (22 เมษายน 2019). "Train to Cambodia ไทย-กัมพูชากลับมาเชื่อมทางรถไฟอีกครั้ง สานฝันทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์". The Cloud.
  17. 17.0 17.1 "45 ปีที่รอคอย "บิ๊กตู่-ฮุนเซน" ฟื้นรถไฟอรัญฯ-ปอยเปต". ประชาชาติธุรกิจ. 17 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2019.
  18. "นายกไทยและนายกกัมพูชา ประสบความสำเร็จในการเจรจา". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. ศูนย์ข้อมูลข่าวอาเซียน. 31 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2021.[ลิงก์เสีย]
  19. "เส้นทางรถไฟ ′ปอยเปต-พนมเปญ′ สร้างเสร็จสิ้นปีนี้ หวังกระตุ้นท่องเที่ยว". ประชาชาติธุรกิจ. 5 มกราคม 2016. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  20. "ไทยสร้างรางรถไฟถึงชายแดนรอกัมพูชามาเชื่อมต่อ". โพสต์ทูเดย์. 20 มกราคม 2018. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  21. "รฟท. เร่งอบรม พนง. ขับรถไฟกัมพูชาก่อนเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์รถไฟไทย-กัมพูชาอย่างเป็นทางการ". ฐานเศรษฐกิจ. 22 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.
  22. นภสร แก้วคำ (20 พฤศจิกายน 2017). "การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งจัดอบรมพนักงานขับรถไฟของกัมพูชา ก่อนเปิดเที่ยวปฐมฤกษ์รถไฟไทย – กัมพูชา อย่างเป็นทางการ". สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  23. "เตรียมเฮ นั่งรถไฟเที่ยวเขมร เปิดวาร์ปคิวต่อไปเวียดนาม". โฮม. 28 พฤศจิกายน 2017. สืบค้นเมื่อ 3 พฤษภาคม 2018.[ลิงก์เสีย]
  24. "สระแก้วเฮ! คาดเดือนหน้าเตรียมเปิดสถานีรถไฟด่านอรัญฯหน้าตลาดโรงเกลือ". แนวหน้า. 28 ตุลาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2018.
  25. "ก.ค. ลุ้นเปิดเดินรถไฟ เชื่อม ไทย-กัมพูชา เส้นทาง อรัญฯ-พนมเปญ". ข่าวสด. 17 พฤษภาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 30 ตุลาคม 2018.
  26. "ร.ฟ.ท.ทดลองเดินรถไฟสายประวัติศาสตร์ไทย-กัมพูชาเที่ยวปฐมฤกษ์ เสมือนจริง". ผู้จัดการออนไลน์. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2019.
  27. "'ประยุทธ์ - ฮุน เซน' เตรียมฉลองสะพานมิตรภาพไทย - กัมพูชา นั่งรถไฟขบวนพิเศษ". วอยซ์ทีวี. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2019.
  28. "45 ปี! ทดลองรถไฟไทย-กัมพูชา เที่ยวปฐมฤกษ์รับ "ประยุทธ์-ฮุนเซน"". ไทยพีบีเอส. 21 เมษายน 2019. สืบค้นเมื่อ 24 เมษายน 2019.
  29. "ประเดิมเที่ยวปฐมฤกษ์ รถไฟสายตลาดโรงเกลือ-กทม. เชื่อประชาชนสะดวกขึ้น". ไทยรัฐออนไลน์. 1 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2019.
Kembali kehalaman sebelumnya