Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
เส้นทางถนนนนทบุรี 1, ทางหลวงชนบท นบ.5038
ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
ที่ตั้งอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
ชื่อทางการสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
ผู้ดูแลกรมทางหลวงชนบท
รหัสส.008
เหนือน้ำสะพานพระนั่งเกล้า
ท้ายน้ำสะพานพระราม 5
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานคานขึง
ความยาว460 เมตร
ประวัติ
วันเริ่มสร้าง2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555
วันเปิด26 ธันวาคม พ.ศ. 2557 (อย่างไม่เป็นทางการ)[1]
30 กันยายน พ.ศ. 2558 (อย่างเป็นทางการ)

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์[2] เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี เชื่อมพื้นที่ตำบลสวนใหญ่ (ฝั่งตะวันออก) เข้ากับตำบลบางศรีเมือง (ฝั่งตะวันตก) โดยเริ่มต้นจากปลายสะพานทางแยกต่างระดับบนถนนนนทบุรี 1 ใกล้โรงเรียนศรีบุณยานนท์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลสวนใหญ่ ทางด้านใต้ของชุมชนตลาดขวัญและท่าเรือพิบูลสงคราม 4 โดยวางตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และขึ้นฝั่งตะวันตกบริเวณปากคลองอ้อมฝั่งใต้ ระหว่างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง (เดิม) ที่อยู่ทางเหนือกับอุทยานเฉลิมกาญจนาภิเษกที่อยู่ทางใต้ ในท้องที่หมู่ที่ 3 บ้านท่าน้ำนนท์ ตำบลบางศรีเมือง เส้นทางจากนั้นเป็นแนวถนนตัดใหม่ซึ่งมุ่งไปสู่ทางแยกต่างระดับที่ถนนราชพฤกษ์

ประวัติ

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์สร้างขึ้นตามโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 กับสร้างและขยายถนนต่อเชื่อม ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 มีมติมอบหมายให้กรมทางหลวงชนบทรับผิดชอบดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตจังหวัดนนทบุรีและกรุงเทพมหานครตอนบน[3] เนื่องจากการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินและการขยายตัวของชุมชนเมืองโดยเฉพาะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาได้ส่งผลให้ปริมาณการจราจรบนเส้นทางที่เชื่อมระหว่างสองฝั่งแม่น้ำมีสภาพหนาแน่นขึ้นมาก อีกทั้งเพื่อเป็นการปรับปรุงโครงข่ายเส้นทางคมนาคมในพื้นที่ดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น สอดคล้องตามยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้สามารถรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของชุมชน

กรมทางหลวงชนบทจึงได้ว่าจ้างกลุ่มที่ปรึกษาเพื่อศึกษาความเหมาะสมและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำรวจออกแบบรายละเอียด และสำรวจอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2549[4] โดยเริ่มดำเนินการเวนคืนตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีเดียวกัน จนแล้วเสร็จเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551[3] แหล่งเงินทุนในการดำเนินการก่อสร้างโครงการประกอบด้วยเงินงบประมาณจากรัฐบาลไทยและเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ในอัตราส่วน 30 ต่อ 70 จากนั้นกรมทางหลวงชนบทได้เปิดประกวดราคาเพื่อคัดเลือกผู้รับจ้างและได้ทำสัญญาว่าจ้างกิจการร่วมค้าไอทีดี-เอสเอ็มซีซี (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และสุมิโตโม มิตซุย คอนสตรัคชั่น) ให้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ระยะเวลาก่อสร้างรวม 30 เดือน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557[3] ภายหลังได้ขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปจนถึงวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558 แต่ก็สร้างเสร็จและสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ได้เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557[5] นับเป็นสะพานรถยนต์ข้ามแม่น้ำสะพานที่ 7 ในเขตจังหวัดนนทบุรี

ในปี พ.ศ. 2557 กรมทางหลวงชนบทได้ทำเรื่องกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 อย่างเป็นทางการจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้เสนอชื่อ "สะพานเจษฎาบดินทร์" เพื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยหรือจะทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออื่นตามพระราชอัธยาศัย[6] ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2558 กระทรวงคมนาคมแถลงว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานชื่อสะพานแห่งนี้ว่า "สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์"[7] ซึ่งมีความหมายว่า สะพานที่เป็นอนุสรณ์ถึงพระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว[8] ด้วยสะพานนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหารที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และพระราชชนนีซึ่งมีนิวาสถานเดิมอยู่บริเวณนั้น โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จะเดินทางสัญจรไปมาระหว่างพื้นที่ฝั่งตะวันออกกับฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดนนทบุรี นอกจากนี้ยังจะช่วยระบายความหนาแน่นของการจราจรจากเส้นทางข้างเคียงโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นถนนรัตนาธิเบศร์ ถนนงามวงศ์วาน ถนนติวานนท์ หรือถนนนครอินทร์ และจะช่วยแบ่งเบาการจราจรบนสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ สะพานพระนั่งเกล้าซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 54,568 คันต่อวัน สะพานคู่ขนานสะพานพระนั่งเกล้าซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 139,776 คันต่อวัน และสะพานพระราม 5 ซึ่งมีปริมาณจราจรเฉลี่ย 96,550 คันต่อวัน[9] โดยคาดว่าสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์จะสามารถรองรับปริมาณรถได้ประมาณวันละ 45,000-50,000 คันต่อวัน[5][10]

ลักษณะ

สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์มีขนาด 6 ช่องจราจร ช่องจราจรละ 3.50 เมตร ความยาว 460 เมตร (ช่วงกลางสะพานระหว่างตอม่อยาว 200 เมตร และช่วงข้างสะพานยาวด้านละ 130 เมตร)[11] มีเสาใหญ่ (pylon) เป็นเสาคอนกรีต 2 ต้น สูงจากพื้นสะพานประมาณ 45 เมตร (รวมยอดประดับ) เสาแต่ละต้นขึงสายเคเบิลไว้ 12 คู่ มีตอม่อซึ่งเป็นที่ตั้งเสาใหญ่ตั้งอยู่ในน้ำ 1 ตอม่อ อยู่บนบกริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ 1 ตอม่อ และมีช่องลอดสำหรับการสัญจรทางน้ำกว้าง 150 เมตร สูง 5.60 เมตร[11]

โครงสร้างของสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์เป็นสะพานคานขึง (extradosed prestressed concrete bridge)[11] ซึ่งมีลักษณะผสมระหว่างสะพานเคเบิลขึงกับสะพานคานคอนกรีตอัดแรง (girder bridge) ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการก่อสร้างสะพานคานขึงในประเทศไทย[10][12] สาเหตุที่เลือกสร้างสะพานรูปแบบนี้เนื่องจากพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ต่ำ ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นสะพานคอนกรีตที่ใช้ตอม่อเป็นตัวรับน้ำหนักสะพานเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้พื้นสะพานหนาขึ้นและเหลือช่องลอดต่ำ ไม่เช่นนั้นก็ต้องสร้างสะพานให้สูงขึ้นซึ่งต้องใช้พื้นที่เชิงลาดมากขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่มากขึ้น[13] หากสร้างเป็นสะพานขึงซึ่งใช้เสาใหญ่และสายเคเบิลเป็นตัวรับน้ำหนักสะพาน แม้พื้นสะพานจะบางกว่า แต่จะทำให้งบประมาณการก่อสร้างสูงขึ้นมาก

ผู้ออกแบบสะพานได้นำสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์มาใช้เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ให้กับตัวสะพาน กล่าวคือ ยอดประดับของเสาใหญ่ทั้งสองต้นมีรูปทรงดอกบัวบานและมีแกนกลางเป็นดอกบัวตูมเปล่งแสงสว่าง เปรียบเสมือนแสงแห่งปัญญาตามหลักศาสนา[12] อีกนัยหนึ่งรูปทรงดังกล่าวยังเปรียบเสมือนพระมหาพิชัยมงกุฎ แสดงถึงการเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี[13] นอกจากนี้ ยังมีการประดับตัวสะพานด้วยเสาไฟซึ่งออกแบบตามสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ร่วมสมัยเช่นกัน

อ้างอิง

  1. http://www.manager.co.th/ibizchannel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000148454[ลิงก์เสีย]
  2. กระทรวงคมนาคม. "รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลรอบ 6 เดือน." เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.], 2558, หน้า 104.
  3. 3.0 3.1 3.2 กรมทางหลวงชนบท. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1. "ความเป็นมาของโครงการ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://203.151.234.15/~nonthabu/nonthaburi_th/index.php/ความเป็นมาโครงการ[ลิงก์เสีย] [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 ธันวาคม 2557.
  4. "พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลตลาดขวัญ ตำบลสวนใหญ่ ตำบลบางศรีเมือง และตำบลบางกร่าง อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พ.ศ. ๒๕๔๙". ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 123 (ตอนที่ 46 ก): หน้า 5-7. 3 พฤษภาคม 2549.
  5. 5.0 5.1 ทีมข่าวภูมิภาค. "คนนนท์ฯ เฮ! 'สะพานนนทบุรี 1' สร้างเสร็จพร้อมเปิดใช้." ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/content/471286 2557. สืบค้น 26 ธันวาคม 2557.
  6. ทีมข่าวกทม.-จราจร. "สะพานแห่งใหม่ ‘นนท์ 1’ เปิด ธ.ค. 57." เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dailynews.co.th/bangkok/256822 2557. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2558.
  7. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. "กระทรวงคมนาคมแถลงผลการดำเนินงาน รอบ 6 เดือน." รัฐบาลไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thaigov.go.th/th/news-ministry/2012-08-15-09-40-45/item/91494-กระทรวงคมนาคมแถลงผลการดำเนินงาน-รอบ-6-เดือน.html 2558. สืบค้น 28 เมษายน 2558.
  8. ทีมข่าวกทม. "สะพานมหาเจษฎาบดินทร์ฯ." ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/content/496245 2558. สืบค้น 3 พฤษภาคม 2558.
  9. ทีมข่าวกทม.-จราจร. "เปิดสะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งใหม่ ‘สะพานนนทบุรี 1’." เดลินิวส์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.dailynews.co.th/Content/bangkok/289694/เปิดสะพานข้ามเจ้าพระยาแห่งใหม่+‘สะพานนนทบุรี 1’ 2557. สืบค้น 26 ธันวาคม 2557.
  10. 10.0 10.1 ทีมข่าวกทม. "นนทบุรี 1 สะพานข้ามแม่น้ำรูปลักษณ์ใหม่." ไทยรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/content/456347 2557. สืบค้น 4 ธันวาคม 2557.
  11. 11.0 11.1 11.2 กรมทางหลวงชนบท. กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่. "กรมทางหลวงชนบท เผยโครงการสะพานนนทบุรี 1 คืบหน้ากว่า 50%." วารสารกรมทางหลวงชนบท 10, 12 (2556): 4.
  12. 12.0 12.1 กรมทางหลวงชนบท. โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1. "การออกแบบสะพานและภูมิสถาปัตย์." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://203.151.234.15/~nonthabu/nonthaburi_th/index.php/component/content/article/79-2012-08-01-12-56-32/75-2012-08-01-13-21-35 เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน [ม.ป.ป.]. สืบค้น 4 ธันวาคม 2557.
  13. 13.0 13.1 Daoreuk Studio. "วีดิทัศน์ประกอบการเปิดให้ประชาชนใช้สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนนนทบุรี 1 อย่างไม่เป็นทางการ." [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: https://www.youtube.com/watch?v=NGTc5kmCYa4 2557. สืบค้น 26 ธันวาคม 2557.

แหล่งข้อมูลอื่น

13°51′12″N 100°28′49″E / 13.853372°N 100.480399°E / 13.853372; 100.480399

สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานรถไฟฟ้าสายสีม่วง
สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์
ท้ายน้ำ
สะพานพระราม 5
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9