หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์)
พลตรี หลวงชำนาญยุทธศิลป์ นามเดิม เชย รมนะนันทน์ (28 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 – 3 ธันวาคม พ.ศ. 2499) อดีตนายทหารบกผู้เป็นหนึ่งในคณะราษฎร ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ[1] ผู้ต้องหาในคดีกบฏพระยาทรงสุรเดช และเป็นต้นตระกูลรมยะนันทน์โดยได้ขอพระราชทานนามสกุลจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับหมวดโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมและได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2460 เป็นลำดับที่ ๔๒๖๕ [2] ประวัติหลวงชำนาญยุทธศิลป์ มีชื่อจริงว่า เชย รมยะนันทน์ เป็นบุตรของคุณพ่อชื่นและคุณแม่สุ่น เกิดเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 ณ ตำบลสี่แยกมหานาค อำเภอป้อมปราบสัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร และมีพี่สาวร่วมบิดามารดา 1 ท่านคือ คุณชม รมยะนันทน์ เมื่อกำเนิดเป็นเด็กที่กำพร้าบิดา จึงมีความอุตสาหะในการเรียนเป็นอย่างมาก ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นเมื่ออายุ 13 ปีจึงได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาราชบูรณะ (โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) เป็นเวลา 4 ปี จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2452[3] ต่อมาเมื่อรับราชการเป็นทหารบก ในขณะที่มียศ ร้อยเอก (ร.อ.) สังกัดโรงเรียนนายร้อยทหารบก หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้เข้าร่วมกับคณะราษฎร ที่ประกอบไปด้วยพลเรือน, ข้าราชการพลเรือน และข้าราชการทหารทั้งทหารบกและทหารเรือ กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยบทบาทของหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ไปพบกับคณะของพระยาทรงสุรเดช ซึ่งเป็นเสนาธิการผู้วางแผนการทั้งหมดในการปฏิวัติ ที่บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ ย่านสะพานควาย ห่างจากบ้านของพระยาทรงสุรเดชไปราว 200 เมตร ซึ่งเป็นตำบลนัดพบ ในเวลา 05.00 น. จากนั้นทั้งหมดจึงได้เดินทางไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่สี่แยกเกียกกาย เพื่อลวงเอากำลังทหารและยุทโธปกรณ์มาใช้ในการปฏิวัติ โดย หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ขึ้นไปยังโรงนอนของพลทหารม้า พร้อมกับหลวงรณสิทธิชัย และหลวงสวัสดิ์รณรงค์ เพื่อปลุกทหารให้ตื่นด้วยการตะโกนเสียงดังเนื้อหาว่า เวลานี้เกิดกบฏขึ้นแล้ว ยังมัวนอนอยู่อีก ให้ลุกขึ้นแต่งตัว โดยไม่ต้องล้างหน้า จึงทำให้ได้กำลังทหารมาทำให้การปฏิวัติสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี จากนั้นที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นฐานบัญชาการของคณะราษฎร หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังเป็นผู้อ่านคำประกาศฉบับต่าง ๆ ของคณะราษฎรให้แก่ราษฎรที่ออกมาดูเหตุการณ์ด้วย[3] ครอบครัวเชย รมยะนันทน์ ท่านได้แต่งงานกับ นางชำนาญยุทธศิลป์ (ชุ่ม สุนทรมาลัย) บุตรสาวของนายแช่มและนางริ้ว สุนทรมาลัย เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2469 มีบุตร-ธิดาด้วยกัน 4 คน ได้แก่ สุชัจ รมยะนันทน์, อัชฌา รมยะนันทน์, วัชรี รมยะนันทน์, เชิดศักดิ์ รมยะนันทน์ บทบาททางการเมืองหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ลอย) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการถึง 2 สมัย ในสมัยที่ พระยาพหลพลหยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการก่อตั้งโรงงานยาสูบขึ้นด้วย ในปี พ.ศ. 2482 โดยมีสถานะเป็นผู้อำนวยการโรงงานยาสูบเป็นคนแรกด้วย[4][5] อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช เมื่อ พ.ศ. 2476 หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังมีหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารกองหนุน มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรวมไปจนถึงกำลังทหารราบ และปืนกลหนักต่าง ๆ ด้วยทุกกองพันในพื้นที่จังหวัดพระนคร จากนั้นเมื่อ พันเอก แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเพื่อนนายทหารผู้ร่วมในการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยกัน ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปลายปี พ.ศ. 2481 ด้วยความขัดแย้งกับพระยาทรงสุรเดช ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อตั้งคณะราษฎรด้วยกันแต่เริ่มต้น จึงเกิดมีการจับกุมนักการเมือง และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ขึ้นในข้อหาลอบสังหารนายกรัฐมนตรี เช่น ร้อยโท ณเณร ตาละลักษณ์, นายโชติ คุ้มพันธ์, นายเลียง ไชยกาล, พระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หรือแม้กระทั่ง พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูง ซึ่งหลวงชำนาญยุทธศิลป์เองก็ถูกจับในข้อหานี้ด้วยเช่นกัน โดยถูกให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัด ขณะที่ตัวของหลวงชำนาญยุทธศิลป์กำลังไปราชการที่ประเทศอังกฤษ และเมื่อเดินทางกลับมาถึงที่สถานีรถไฟหัวลำโพงก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม ซึ่งขณะที่ถูกจองจำนั้นอยู่นั้น หลวงชำนาญยุทธศิลป์ยังกล่าวกับนักโทษคนอื่น ๆ ซึ่งร่วมคดีเดียวกันว่า คงเกิดความเข้าใจผิดระหว่างรัฐบาลกับตนเอง [6] ท้ายที่สุด หลวงชำนาญยุทธศิลป์ ได้ถูกย้ายไปจองจำที่เรือนจำกองมหันตโทษเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2482 พร้อมกับนักโทษคนอื่น ๆ ก่อนถูกตัดสินให้ถูกประหารชีวิตในปลายปีเดียวกัน แต่ได้ถูกลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิตเช่นเดียวกับ พระยาเทพหัสดิน เนื่องจากเคยเป็นผู้ที่ความดีความชอบแก่ประเทศมาก่อน โดยถูกจองจำเดี่ยวในห้องขังหมายเลข 38 ที่แดน 6 อันเป็นห้องสุดท้ายติดกับบันได ซึ่งก่อนที่นักโทษประหารชุดต่าง ๆ จะถูกนำตัวไปประหารด้วยการยิงเป้าในเช้าตรู่ของแต่ละวัน รวมเป็นเวลา 3 วัน ต่างได้มาร่ำลาหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ถึงหน้าห้องขัง เช่นเดียวกับพระยาเทพหัสดิน ด้วยความที่เคยเป็นผู้บังคับบัญชามาก่อน[6] ถึงแก่กรรมหลังการพ้นจากตำแหน่งของ พ.อ.แปลก ในกลางปี พ.ศ. 2487 เมื่อ นายควง อภัยวงศ์ ได้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นักโทษทางการเมืองคดีต่าง ๆ ต่างได้รับการปลดปล่อยตัว หลวงชำนาญยุทธศิลป์ก็ได้รับการปล่อยตัวด้วย และออกมาใช้ชีวิตอย่างสงบ มารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ณ ที่คลองเตย ได้รับพระราชทานยศสูงสุดเป็น พลตรี (พล.ต.) จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2499 สิริอายุได้ 62 ปี โดยมีพิธีพระราชทานเพลิงศพ ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2501 เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|