พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นท้องพระโรงเดิมของพระราชวังดุสิต ชื่อของพระที่นั่งนี้ นำมาจากพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2451 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่สร้างไม่ทันเสร็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต จึงสร้างต่อแล้วเสร็จในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[3]จนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 รวมใช้เวลาสร้างทั้งหมด 8 ปี พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอาคารทรงยุโรปล้วน เป็นพระที่นั่งหินอ่อนเพียงองค์เดียวในประเทศไทย[4] ซึ่งก่อสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวชั้นหนึ่งจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี[5] ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาลีนามว่า มาริโอ ตามานโญ มีแรงบันดาลใจมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร งานก่อสร้างทั้งหมดมาจากแรงงานทั้งคนไทยและจีน ส่วนงานภายในที่มีการตกแต่งด้วยศิลปะเฟรสโก เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่าง ๆ มาจากฝีมือช่างจากอิตาลีเป็นส่วนใหญ่[3] พระที่นั่งอนันตสมาคมมีจุดเด่นที่โดมใหญ่ตรงกลางซึ่งทำจากทองแดงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 เมตร[6] และรวมไปถึงโดมย่อยอีก 6 โดม แต่เนื่องจากสนิมทำให้เปลี่ยนสีเป็นสีเขียวอมน้ำเงินในปัจจุบัน ในอดีตพระที่นั่งอนันตสมาคมเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามารับชมได้ จนในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้ปิดปรับปรุงโดยไม่มีกำหนดมาจนถึงปัจจุบัน[7] ประวัติสืบเนื่องจากพระที่นั่งต่าง ๆ ในพระราชวังสวนดุสิต ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างขึ้น ณ ตำบลสามเสน คับแคบ ไม่กว้างขวางพอแก่การพระราชพิธีต่าง ๆ จึงเห็นควรให้ก่อสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่นี้ และพระราชมณเฑียรหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของพระบรมชนกนาถ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถจะบำรุงรักษาต่อไปได้ ครั้นจะสร้างขึ้นใหม่ สถานที่ในพระบรมมหาราชวังก็คับแคบ[8] ด้วยเหตุนี้เอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งองค์ใหม่ขึ้นโดยตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระที่นั่งอัมพรสถาน เพื่อใช้เป็นสถานที่เสด็จออกมหาสมาคม พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2451 ซึ่งตรงกับวันประกอบพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พร้อมทั้งพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งเป็นชื่อพระที่นั่งองค์หนึ่งภายในพระอภิเนาว์นิเวศน์ในพระบรมมหาราชวัง ที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ด้วยสภาพที่ทรุดโทรมยากแก่การบูรณะจึงได้รื้อลง[9] พระที่นั่งอนันตมหาสมาคมออกแบบโดยมาริโอ ตามานโญ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง และมี พระยาประชากรกิจวิจารณ์ (โอ อมาตยกุล) เป็นผู้ช่วย แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตก่อนที่พระที่นั่งจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างพระที่นั่งต่อไปจนเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2458 โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี ใช้งบประมาณประมาณ 15 ล้านบาท สถาปัตยกรรม
พระที่นั่งอนันตมหาสมาคม มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอเรอเนสซองส์ (Neo Renaissance) และนีโอคลาสสิก (Neo classic)[10] โดยตกแต่งพระที่นั่งด้วยหินอ่อน ซึ่งสั่งมาจากเมืองคาร์รารา ประเทศอิตาลี โดยมีจุดเด่น คือ มีหลังคาโดมคลาสสิกของโรมอยู่ตรงกลาง และมีโดมเล็ก ๆ โดยรอบอีก 6 โดม รวมทั้งสิ้นมี 7 โดม โดยโดมทั้งหมดทำขึ้นจากทองแดง (ต่อมาเกิดสนิมสีเขียวขึ้นตามกาลเวลา) ขนาดขององค์พระที่นั่งฯ ส่วนกว้างประมาณได้ 49.50 เมตร ยาว 112.50 เมตร และสูง 49.50 เมตร [11] ลักษณะของโดมมีอิทธิพลมาจากโดม วิหารเซนต์ปีเตอร์ แห่งนครรัฐวาติกัน และโบสถ์เซนต์ปอลแห่งกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภายในพระที่นั่ง บนเพดานโดมมีภาพเขียนเฟรสโก เขียนบนปูนเปียก ซึ่งภาพจะติดทนกว่าภาพที่เขียนบนปูนแห้ง (ภาพจิตรกรรมไทยนิยมเขียนแบบปูนแห้ง) เกี่ยวกับ พระราชกรณียกิจที่สำคัญ ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1-6 จำนวน 6 ภาพ โดยฝีมือเขียนภาพของ นายซี. รีโกลี และศาสตราจารย์แกลิเลโอ กินี
เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์เรือนยอดบรมมังคลานุสรณีย์ เป็นเรือนยอดทรงไทยล้วน ตั้งอยู่ที่ทิศตะวันออกของพระที่อนันตสมาคม สร้างขึ้นโดยสถาบันสิริกิติ์ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดสร้างขึ้นในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2557 ถึงเดือนมิถุนายน 2559[12] เรือนยอดนี้ออกแบบมาทั้งหมด 9 ยอด ซึ่งถือเป็นอาคารที่มีจำนวนยอดปราสาทมากที่สุดในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของกรุงรัตนโกสินทร์ นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มี 5 ยอด[13] เหตุการณ์สำคัญพระที่นั่งอนันตสมาคมได้ทำหน้าที่เป็นรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในช่วงที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ได้ใช้พระที่นั่งองค์นี้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ ณ อาคารรัฐสภาแห่งที่สอง ซึ่งตั้งอยู่ข้าง ๆ พระที่นั่งองค์นี้ พระที่นั่งอนันตสมาคม ยังเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี รัฐพิธี สำคัญ ๆ มากมาย อาทิ รัฐพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชพิธีสถาปนา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ และการเสด็จออกมหาสมาคมของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรอีก 4 ครั้ง พระที่นั่งอนันตสมาคม เคยใช้เป็นที่เสด็จออก ดังนี้
นอกจากนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมยังเคยใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค 2003) พ.ศ. 2546[14] ระเบียงภาพ
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ พระที่นั่งอนันตสมาคม
13°46′18″N 100°30′48″E / 13.771649°N 100.513251°E งานศึกษาทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง |