การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 11 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[4] การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งแรกในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2556 และล่าช้าออกไปเพราะรัฐประหาร พ.ศ. 2557 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก่อนการเลือกตั้งคือพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กว่า 1.38 ล้านเสียง ทำลายสถิติของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ที่เคยทำไว้เมื่อปี พ.ศ. 2556[5][6] คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้งในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[7] ที่มาหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 มีการออกประกาศฉบับที่ 85[8] สั่งระงับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว และต่อมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป[9][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] ก่อนถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จากข้อกล่าวหาว่าทุจริตการจัดซื้อซุ้มไฟของกรุงเทพมหานคร[10] และมีการแต่งตั้งให้พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ซึ่งดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการฯ ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการฯ แทน[11] หลังจากนั้นในวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งให้อำนาจแก่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[12][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้] ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2565 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 พร้อมกับการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร[13] ผู้สมัครการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีจำนวนผู้สมัครมากที่สุดนับตั้งแต่จัดการเลือกตั้งมา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้จำนวน 31 คน แบ่งเป็นผู้สมัครเพศชายจำนวน 25 คน ผู้สมัครเพศหญิงจำนวน 6 คน โดยผู้สมัครที่มีอายุมากที่สุดมีอายุ 72 ปี และผู้สมัครที่มีอายุน้อยที่สุดมีอายุ 43 ปี[14] ผู้ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีรายชื่อดังต่อไปนี้[15][16][17]
ผู้สนับสนุน
การรณรงค์เลือกตั้งชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และรสนา โตสิตระกูล เปิดเผยว่าจะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี 2562[23][24] ส่วนผู้สมัครคนอื่น ๆ ทยอยเปิดเผยว่าจะลงรับสมัครตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เป็นต้นมา สำหรับการหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามวิธีทั่วไป คือ การเยี่ยมบ้าน การลงพื้นที่[25] และการโฆษณาผ่านป้ายประกาศ[26] ชัชชาติเน้นนโยบายด้านคน ระบบเส้นเลือดฝอย สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และเศรษฐกิจ[27] รสนามีนโยบายการลอกคลองเพื่อระบายน้ำท่วม จ้างคนว่างงานขุดคลอง ส่งเสริมการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ จัดสรรที่ดินให้คนจนเมืองได้ปลูกผักอินทรีย์ และควบคุมการจัดผังเมืองไม่ให้เอื้อประโยชน์กลุ่มนายทุน[28] สุชัชวีร์มีนโยบายสร้างเมืองสวัสดิการ สร้างแก้มลิงใต้ดิน ให้มีโรงเรียนสาธิตทุกเขต และเสนอให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2036[27][29] วิโรจน์มีนโยบายการกระจายงบประมาณลงไปยังชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น การเปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่สาธารณะ การสร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง และการกำจัดปัญหาเรื่องส่วย[30][31] อัศวินมีนโยบายป้องกันน้ำท่วม แก้ปัญหาพื้นที่สีเขียว เชื่อมต่อการเดินทาง และสานต่อสิ่งที่ตนเคยทำไว้ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการฯ[32] สกลธี ภัททิยกุล มีนโยบายการนำปัญญาประดิษฐ์เข้ามาใช้แก้ปัญหาจราจร เพิ่มการขนส่งสายรอง การใช้รถบัสไฟฟ้า และการปรับปรุงสวนสาธารณะ[33][34] ส่วนนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี มีนโยบายการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กทม. การพัฒนาโรงเรียนในกทม. ให้คุณภาพเท่ากัน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า และการให้รางวัลจูงใจเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน[35] เนื่องจากผลสำรวจความคิดเห็นปรากฏว่า ชัชชาติมีคะแนนนำมาโดยตลอด ทำให้มีผู้สนับสนุนผู้สมัครบางคนออกมาจูงใจด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นว่าควรเลือกสกลธีเพราะชัชชาติเคย "ได้ประโยชน์จากระบอบทักษิณ" และพลโท นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กว่า "ไม่เลือกเราเขามาแน่ ภาค 2" ซึ่งเรียกร้องให้ผู้ที่จะออกเสียงให้ผู้สมัคร 4 คนที่ "ไม่เอาทักษิณ ชินวัตร" มาเลือกผู้สมัครคนเดียวกันเสียเพื่อให้ชนะชัชชาติ ซึ่งเป็นวิธีการที่เรียกว่า การออกเสียงทางยุทธศาสตร์[36] ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง รสนาใช้วิธีการทำนองเดียวกัน โดยระบุเพิ่มเติมว่า คนที่จงรักภักดีและยึดมั่นในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรจะไม่มีวันเทคะแนนให้คนโกงไปปกครองบ้านเมือง[37] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการสนับสนุนอัศวินให้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกสมัย แม้สารดังกล่าวอาจไม่ชัดเจนด้วยข้อจำกัดตามกฎหมาย นอกจากนี้อัศวินยังได้ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานครพรรคพลังประชารัฐ ช่วยหาเสียงให้[38] ไม่กี่วันก่อนเลือกตั้งมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอ้างว่าตนได้รับข้อความเชิญชวนไปออกเสียงให้กับสุชัชวีร์ แต่พรรคประชาธิปัตย์ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้กระทำ และไม่ทราบที่มาเช่นกัน[39] ในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีการจัดการโต้วาทีระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้งหลายเวที[40][41][42] การเลือกตั้งการเลือกตั้งครั้งนี้มีการจัดคูหาแยกพิเศษสำหรับผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในคูหาเลือกตั้ง รวมถึงมีการตรวจอุณหภูมิและบริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังยินยอมให้ผู้ลงคะแนนนำปากกามาใช้กาเองหากกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19[43] คูหาเปิดให้ลงคะแนนเสียงในเวลา 8 นาฬิกา และบางจุดเลือกตั้งมีผู้มาต่อแถวก่อนเปิดคูหา เช่น สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งมีจุดเลือกตั้งแปดจุดตั้งอยู่รวมกัน[43] ในขณะเลือกตั้ง อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาระบุว่า หากนำปากกามาเองขอให้เป็นปากกาสีน้ำเงินเท่านั้น การนำปากกาสีอื่นมาใช้อาจทำให้บัตรเสีย[44] แต่ ขจิต ชัชวานิชย์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าสามารถใช้ปากกาสีอื่นได้ ตราบใดก็ตามที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ความขัดแย้งกันดังกล่าวสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในอินเทอร์เน็ต[45] ทั้งนี้ กกต. เคยออกเอกสารชี้แจงว่า เบื้องต้นการใช้ปากกาหมึกสีอื่น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นบัตรเสียในทันที เนื่องจากไม่มีกฎหมายหรือระเบียบห้ามไว้[44][46] ด้านแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ลักษณะบัตรเสียตามกฎหมายข้อหนึ่งคือ "บัตรที่ทำสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่สังเกต" การใช้ปากกาสีอื่นนอกจากสีน้ำเงินอาจทำให้มีข้อสงสัยในเรื่องการทุจริต แต่ทั้งนี้ก็อยู่ที่ดุลยพินิจของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ว่าจะให้บัตรที่กาด้วยปากกาที่ไม่ใช่สีน้ำเงิน เป็นบัตรเสียหรือไม่[46] ผลสำรวจความนิยมของผู้สมัคร
ผลการเลือกตั้ง
การวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งผลการเลือกตั้งพบว่าชัชชาติได้คะแนน 1,386,215 คะแนน สูงที่สุดตั้งแต่จัดการเลือกตั้งมา[49] โดยชัชชาติมีคะแนนนำคู่แข่งอันดับสองกว่า 1,131,568 คะแนน เวิร์คพอยท์ทูเดย์วิเคราะห์ว่าสาเหตุที่คะแนนเสียงของชัชชาติถล่มทลายในการเลือกตั้งมีเหตุผลหลายประการ รวมถึงการที่ลงสมัครในนามอิสระ, ผลงานในสมัยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ถูกสกัดกั้นไว้, วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน, จำนวนผู้ติดตามบนเฟซบุ๊กที่มากกว่าผู้สมัครคนอื่น และการเตรียมตัวยาวนานสองปีครึ่งก่อนการเลือกตั้ง[22] ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้ความเห็นว่าผลการเลือกตั้งที่คนเลือกชัชชาตินั้นเป็นเพราะประชาชนไม่ได้อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งมโหฬาร เพียงแต่อยากเห็นการบริหารเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เก็บขยะตรงเวลาหรือเพิ่มพื้นที่สีเขียวเท่านั้น[50] รองศาสตราจารย์อนุสรณ์ ธรรมใจ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ตอกย้ำข้อเท็จจริงว่า "เครือข่ายของกลุ่มแนวคิดอนุรักษ์นิยมขวาจัด กลุ่มปรปักษ์ประชาธิปไตยอ่อนแอลง และ ไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่แนวความคิดก้าวหน้า เสรีนิยม และการยึดถือหลักการประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้นอย่างชัดเจน"[51] ขณะที่พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองว่าการแบ่งขั้วในกรุงเทพมหานครลดลงเนื่องจากชัชชาติสามารถรวบรวมเสียงได้จากฝ่ายต่าง ๆ ได้[52] ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ กล่าวว่าผลการเลือกตั้งนี้เป็นเสมือนการประท้วงต่อการบริหารงานที่ผิดพลาดและด้อยประสิทธิภาพของระบบทหารที่ครอบงำการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน[53] ยุทธพร อิสรชัย วิเคราะห์ว่าผลการเลือกตั้งนี้สะท้อนถึงความเบื่อหน่ายต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน และอาจส่งผลไปยังการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง[54] ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ของทักษิณ ชินวัตร[55] แต่ทักษิณเสริมว่าชัชชาติได้คะแนนเสียงจากผู้ที่ชอบพรรคก้าวไกลด้วย แต่เลือกออกเสียงตามยุทธศาสตร์เพื่อหวังให้ชัชชาติชนะขาดลอย[55] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วิเคราะห์ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้เลือกตั้งอยู่ในฝ่ายต่อต้านรัฐบาล 1.71 ล้านเสียง (63.99%) ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ถึง 3 แสนเสียง ขณะที่อยู่ในฝ่ายรัฐบาล 1.26 ล้านเสียง (29.08%) หรือลดลงเกือบ 5 แสนเสียงในช่วงเวลาเดียวกัน[56] อย่างไรก็ดี มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มองว่าผลการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครสะท้อนเสียงร้อยละ 20–30 ของเสียงในนครใหญ่ ๆ เท่านั้น[57] การประกาศผลและข้อร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมหารือการประกาศผลคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการครั้งแรก ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ส่วนการร้องเรียนนั้น เบื้องต้นมี 24 สำนวน ส่วนมากเป็นประเด็นการปิดป้ายหาเสียงไม่ถูกต้อง และใช้ข้อความหาเสียงหมิ่นเหม่และเกินขอบอำนาจ โดยชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถูกร้องเรียนในเรื่องการนำป้ายเลือกตั้งมาทำกระเป๋าผ้า และการดูถูกระบบราชการ[58] ด้านโคทม อารียา อดีต กกต.ให้ความเห็นว่าข้อกล่าวหาต่อชัชชาติไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะกระทบการประกาศผลเลือกตั้ง[59] สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เชื่อว่า กกต. จะไม่กล้าให้ใบส้ม (จัดการเลือกตั้งใหม่โดยตัดชัชชาติออก) โดยยกตัวอย่างกรณีการให้ใบส้มที่เขต 8 เชียงใหม่เมื่อปี 2562[60] ซึ่งศาลจังหวัดฮอดได้สั่งให้ กกต. ชดใช้ค่าเสียหายรวมกว่า 70 ล้านบาท[61] กกต. ถูกวิจารณ์ว่ารับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2565 ล่าช้า[62] แม้ กกต. จะยืนยันว่าตนมีอำนาจประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30–60 วัน[63] แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่าเป็นความล่าช้าโดยไม่มีเหตุอันควร และไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน[64][65] ความไม่พอใจดังกล่าวทำให้เกิดแฮชแท็ก #กกตเป็นเหี้ยอะไร ติดเทรนด์ทวิตเตอร์[66] อนึ่ง กกต. เคยถูกวิจารณ์ทำนองเดียวกันในการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า[67][68] ซึ่งในขณะนั้น กกต. รับรองให้ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556 หลังวันเลือกตั้ง 24 วัน[69] กกต. ได้ประกาศรับรองผลเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2565[3] ปฏิกิริยาชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าคะแนนเสียงของวิโรจน์ได้น้อยกว่าที่คาดถึง 2–3 เท่า โดยคิดจากคะแนนเสียงอย่างน้อย 6 แสน ถึง 8 แสนสมัยเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ทำให้เกิดคำถามว่าแนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนออาจไม่เป็นที่ยอมรับของชาวกรุงเทพมหานคร เขากล่าวว่า "ก็เป็นประเด็นให้เรากลับไปคิดได้ แต่ก็มีอีกเหมือนกันที่บอกว่าแบบนี้ควรทำงานการเมืองระดับชาติดีกว่า แต่มันไม่ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เพราะมีคนจำนวนหนึ่งที่บอกพร้อมเลือก ส.ก.ก้าวไกล แต่ไม่ขอเลือกวิโรจน์เป็นผู้ว่าฯ เพราะมองภาพผู้ว่าฯ เป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าวิโรจน์ไปทำงานการเมืองภาพใหญ่ โอเคเลย"[70] ด้านอดีตนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่ง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นบททดสอบสมมติฐานของจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ที่ว่า หากไม่มีประยุทธ์ คนจะกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์แถลงว่า "คะแนนที่ออกมาเป็นไปในทิศทางบวกสำหรับพรรค" แต่คะแนนเสียงของสุชัชวีร์ยังน้อยกว่า 470,000 เสียงที่เคยได้ในกรุงเทพมหานครสมัยเลือกตั้งทั่วไปปี 2562[70] ชัชชาติกล่าวว่า "วันนี้เป็นวันที่มีความหมายสำหรับผมส่วนตัว เมื่อ 8 ปีที่แล้วอยู่ในเหตุการณ์รัฐประหาร ถูกคลุมหัว มัดมือ ถูกนำตัวไปที่ใดก็ยังไม่รู้ เพราะเขาคลุมหัวไปและกลับ แต่ไม่ได้รู้สึกโกรธ แค้น หรือ เกลียด ให้อภัยกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่เป็นความทรงจำที่เตือนใจเรา เมื่อไหร่ที่ประชาชนทะเลาะ เกลียด โกรธ ซึ่งกันและกัน สุดท้ายจะมีกลุ่มคน ที่มาได้ผลประโยชน์ เราเห็นต่างกันได้ แต่โกรธ อย่าเกลียด สร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน" พร้อมกับให้ข้าราชการไปศึกษานโยบายของเขาทางเว็บไซต์ "ถ้าหากไม่ฟังประชาชน ทู่ซี้ ประชาชนทนไม่ไหวก็จะอยู่ลำบาก" ชัชชาติกล่าว เมื่อถูกถามว่าจะประสานงานกับรัฐบาลได้หรือไม่ ชัชชาติตอบว่า "ผมว่าผู้ว่าฯ กทม. ได้คะแนนเสียงมากกว่านายกฯ อีกนะ ไม่ได้ท้าทาย แต่เราเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ไม่ได้คุยด้วยอารมณ์ หรือ ทะเลาะกัน แต่เมื่อ ประชาชนเลือกเรามา ก็ต้องใช้เหตุผล และการคุยกันก็ต้องมีระบบระเบียบ ขั้นตอน"[71] ด้านประยุทธ์ตอบโต้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จัดขึ้นใน "จังหวัดหนึ่งเท่านั้นเอง" ไม่ได้สะท้อนถึงความนิยมของเขาหรือรัฐบาลในภาพรวมของประเทศ[72] ในช่วงไล่เลี่ยกับการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลายปีหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติระงับการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ได้เกิดกระแสเรียกร้องให้ต่างจังหวัดสามารถเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของตนเองได้ โดยมีการทำกิจกรรมทั้งในจังหวัดขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ และภูเก็ต ด้าน รศ. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "กระแสความต้องการมีมากขึ้นจริง ๆ และการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจแก่พวกเขาแล้ว"[73] หมายเหตุ
ดูเพิ่มอ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|