เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์
ศาสตราจารย์พิเศษ เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประวัติเถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473 เป็นบุตรของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กับนางธำรงนาวาสวัสดิ์ (แฉล้ม ธารีสวัสดิ์) เป็นบุตรคนที่ 2 และเขาสมรสกับนวลนาถ (สกุลเดิม อัชราชทรงสิริ) มีบุตรสามคน[1] หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เถลิง เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493[2] เขาสำเร็จการศึกษาระดัปริญญาตรีสาขาเกษตรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยคอนเนตทิคัต รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา และระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์การเกษตร จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน รัฐวิสคอนซิน เถลิง รับราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดคือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[3] เป็นประธานคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเป็นเวลา 15 ปี ซึ่งตลอดวาระการดำรงตำแหน่ง ดร.เถลิง มีส่วนช่วยจัดตั้งอุทยานแห่งชาติกว่า 80 แห่ง โดยจำนวน 12 แห่งในนั้นเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล[4] ต่อมามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้แต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[5] การเมืองเถลิง ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2515 ภายหลังการปฏิวัติตัวเองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติอีกครั้ง[6] ในปี พ.ศ. 2517 เถลิงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์[7] จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2518 หลังการเลือกตั้งทั่วไป และมีรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เถลิง ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2520 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2539[8] นอกจากนั้น เถลิง ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2535[9] เป็นกรรมการบริหารพรรคนำไทย ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งพรรคเมื่อ พ.ศ. 2537 และเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิฝนหลวง ในปี พ.ศ. 2548[10] ถึงแก่อนิจกรรมเถลิง ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551 สิริอายุ 77 ปี เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
|