Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

สนั่น เกตุทัต

สนั่น เกตุทัต
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
ดำรงตำแหน่ง
30 พฤษภาคม – 5 พฤศจิกายน 2517
นายกรัฐมนตรีสัญญา ธรรมศักดิ์
ก่อนหน้าเยื่อ สุสายัณห์
ถัดไปประมุท บุรณศิริ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458
บ้านถนนนครสวรรค์ อำเภอป้อมปราบศัตรูพ่าย จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม
เสียชีวิต11 มีนาคม พ.ศ. 2548 (89 ปี)
เชื้อชาติไทย
คู่สมรสสัจจา เกตุทัต
บุตร2 คน
บุพการี
  • พระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห (เนียน เกตุทัต) (บิดา)
  • สงวน เกตุทัต (มารดา)
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
อาชีพ
วิชาชีพข้าราชการพลเรือน

สนั่น เกตุทัต (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 – 11 มีนาคม พ.ศ. 2548) ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์[1] อดีตปลัดและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2516[2]

ประวัติ

อาจารย์สนั่น เกตุทัต เกิดเมื่อวันพุธที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2458 ณ บ้านถนนนครสวรรค์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้องรวม 7 คน ของพระพิเรนทรเทพบดีศรีสมุห (เนียน เกตุทัต) กับ นางสงวน เกตุทัต (วิริยศิริ) บิดารับราชการกระทรวงมหาดไทย[3] เมื่ออาจารย์สนั่นอายุประมาณ 6 - 7 ขวบ บิดาย้ายไปเป็นตำรวจรักษาพระองค์อยู่กระทรวงวัง และเช่าบ้านในตรอกวัดสามพระยา จึงได้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสามพระยา

อาจารย์สนั่นเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสามพระยาจนจบชั้นมัธยมปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส ซึ่งเป็นช่วงที่บิดาปลูกบ้านใหม่อยู่ในซอยวัดราชาธิวาสใกล้ๆกับวัด และไปเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ชีวิตในวัยรุ่นของอาจารย์สนั่นเป็นชีวิตที่รื่นรมย์ สนุกสนาน ชีวิตอยู่กับแม่น้ำเจ้าพระยา ชอบเล่นน้ำ เล่นกีฬามาก จนไม่มีเวลาอ่านหนังสือทำให้สอบตกในชั้นมัธยมปีที่ 7 และสอบตกอีกเมื่อเรียนชั้นมัธยมปีที่ 8 แต่ด้วยความมานะและตั้งใจจริงอันเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ทำให้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 8 ได้ใน พ.ศ. 2476

พ.ศ. 2478 เข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง สอบได้เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2481 และมีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ระดับประเทศของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด 69 คน

เมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 ไปสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งเสมียนกองล่ามและชวเลข สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ 20 บาท และย้ายไปเป็นเสมียนประจำกรมการศาลฎีกา (ผู้พิพากษาศาลฎีกา) กระทรวงยุติธรรม ประจำตัวพระยาพลางกูรธรรมวิจัย ทำงานในตำแหน่งนี้เกือบ 4 ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนขึ้นปีละ 2 บาท ในขณะนั้นกำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองด้วย ต่อมาทำงานด้านนกฎหมาย สำนวน คดีความ คำพิพากษา ตลอดจนรวบรวมคำพิพากษาฎีกาต่าง ๆ ไว้มากมาย ต่อมาได้สละสิทธิ์ตำแหน่งจ่าศาลที่แม่ฮ่องสอน เพราะบิดาของท่านทัดทานไว้เนื่องจากเห็นว่าเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างไกลติดต่อสื่อสารและไปมาหาสู่กันลำบาก

ใน พ.ศ. 2482 กรมสรรพากรประกาศรับสมัครบุคคลที่เป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต หรือเนติบัณฑิต เข้ารับราชการในตำแหน่งที่ต้องใช้วิชากฎหมายประจำกองข้าหลวงตรวจการสรรพากรภาค จำนวน 5 คน เพื่อไปประจำตามภาคต่างๆ มี 5 ภาค อาจารย์สนั่นไปสมัครสอบและสอบได้เป็นอันดับที่ 2 มีสิทธิ์ได้เลือกไปประจำภาคตามความสมัครใจของผู้สอบได้อันดับต่างๆ อาจารย์สนั่นตัดสินใจเลือกอยู่กองข้าหลวงตรวจการ จึงได้เริ่มงานที่กระทรวงการคลังในตำแหน่งสรรพากรภาค 3 จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และได้กลับมาสมรสกับนางสาวสัจจา จันทรวณิค ที่กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2485 ต่อมาได้ย้ายไปประจำแผนกกองตรวจการสรรพากร ภาค 4 จังหวัดมหาสารคาม จนมีบุตรชายคนแรก คือ เด็กชายณรงค์ เกตุทัต (คุณณรงค์ เกตุทัต กรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)

พ.ศ. 2486 - 2495 อาจารย์สนั่น เกตุทัต ได้ย้ายมาประจำในกรุงเทพมหานคร และทำงานในตำแหน่งหัวหน้าแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำกรมสรรพากร ในเขตสรรพากรภาค 1 เป็นงานที่หนักมาก เพราะจำนวนผู้เสียภาษีในเขตสรรพากรภาค 1 มีถึง 17 จังหวัด และเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีสงครามมหาเอเชียบูรพา อาจารย์สนั่นจึงอพยพครอบครัวหลบภัยไปอยู่ตามที่ต่างๆ หลายแห่ง ครั้งสุดท้ายอพยพไปอยู่ในคลองบางระมาด ฝั่งธนบุรี และ ณ ที่นี้ อาจารย์สนั่นได้มีบุตรอีกหนึ่งคน คือ เด็กหญิงสมศรี เกตุทัต (อาจารย์สมศรี (เกตุทัต) ลัทธพิพัฒน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และกรรมการอำนวยการมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)

อาจารย์สนั่นทำงานในแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่หลายปี จึงได้เลื่อนชั้นรับตำแหน่งใหม่เป็นหัวหน้ากองนิติการ ทำหน้าที่ด้านกฎหมายโดยเฉพาะ และในปี พ.ศ. 2497 ได้ไปดำรงตำแหน่งสรรพากรภาค 7 (นครปฐม) อีกตำแหน่งหนึ่ง เนื่องจากกรมสรรพากรได้ขยายภาคจาก 5 ภาค ขึ้นเป็น 9 ภาค ทำให้ต้องเดินทางไปทำงานไปมาทั้งสองแห่ง ผลจากการที่ได้ทำงานหลายหน้าที่จึงได้เลื่อนชั้นเป็นนิติกรพิเศษ แล้วเลื่อนตำแหน่งต่อไปเป็นผู้อำนวยการกองนิติการ ในปี พ.ศ. 2499 ขณะมีอายุ 41 ปี ช่วงเวลาที่อยู่กองนิติการนี้ อาจารย์สนั่นได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ได้แก่ วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่สอนวิชากฎหมายภาษีอากร ให้นักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทำให้อาจารย์สนั่น ได้นำความเป็น “ครู” ไปใช้ในการทำราชการด้วย

อาจารย์สนั่น ทำงานด้านภาษีอากรหลายปี จนในปี พ.ศ. 2508 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น รองอธิบดีกรมสรรพากรฝ่ายปราบปรามที่ดูแลควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรทุกประเภททั่วราชอาณาจักร โดยทำงานในตำแหน่งรองอธิบดีกรมสรรพากรอยู่ 4 ปีและในปี พ.ศ. 2511 ได้รับแต่งตั้งให้เป็น อธิบดีกรมธนารักษ์ ซึ่งต้องดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินทั่วประเทศ ตลอดจนควบคุม ดูแลเกี่ยวกับการผลิตเหรียญกษาปณ์ทุกชนิด อาจารย์สนั่นได้ขยายงานโดยกำหนดให้มีเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ประจำจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบไปยังจังหวัดต่างๆ อาจารย์สนั่นเป็นอธิบดีกรมธนารักษ์จนถึง พ.ศ. 2515 ตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรว่างลง ปลัดกระทรวงการคลังขณะนั้น คือ คุณบุญมา วงษ์สวรรค์ ประสงค์จะให้อาจารย์สนั่นไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร อาจเป็นเพราะได้เห็นผลงาน และความสามารถของอาจารย์สนั่นเกี่ยวกับการดูแลจัดเก็บภาษีที่กรมสรรพากรมาแล้ว อาจารย์สนั่นจึงต้องไปรับตำแหน่ง อธิบดีกรมศุลกากร ในปีพ.ศ. 2515 ทำหน้าที่ควบคุมและจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับสินค้านำเข้าและสินค้าส่งออกบางชนิด ควบคุมและปราบปรามการลักลอบสินค้านำเข้าโดยไม่เสียภาษีของกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ยาก แต่ค่อนข้างเสี่ยงอันตราย อาจารย์สนั่นเป็นอธิบดีกรมศุลกากรได้เพียงปีเศษๆ ปลายปี พ.ศ. 2516 อาจารย์ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งสูงสุดของการเป็นข้าราชการประจำ และในช่วงเวลาไม่ห่างกันเท่าใดนัก อาจารย์ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

หลังจากที่ทำงานในตำแหน่งปลัดกระทรวงผ่านไปได้ 6 เดือน ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้อาจารย์สนั่น เกตุทัต ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในคณะรัฐบาลที่มี ฯพณฯ ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี[4] อาจารย์สนั่นปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งปลัดกระทรวงควบคู่กับการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อมีเหตุการณ์ทางการเมืองที่ทำให้อาจารย์ต้องลำบากใจในการทำงาน จึงขอลาออกจากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[5] คงทำหน้าที่เฉพาะตำแหน่งปลัดกระทรวงเพียงตำแหน่งเดียว จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2518

อาจารย์สนั่น เกตุทัต ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2548 ศิริอายุ 89 ปี เมื่อท่านสิ้นชีวิต ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมรับศพของท่านไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ โดยได้พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมเป็นเครื่องประกอบเกียรติยศ พระราชทานพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมในเจ็ดวันแรก พระราชทานพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลครบ 50 วัน 100 วัน และพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในการออกเมรุ รวมทั้งได้ทรงพระราชกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพ

การศึกษา

พ.ศ. 2471 - จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนวัดราชาธิวาส

พ.ศ. 2476 - จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 โรงเรียนเทพศิรินทร์

พ.ศ. 2481 - ธรรมศาสตร์บัณฑิต (ได้อันดับที่ 1 ระดับประเทศ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

พ.ศ. 2506 - ปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร

ประวัติการทำงาน

งานรับราชการ

พ.ศ. 2478 - 2482 - เสมียนประจำผู้พิพากษาศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม

พ.ศ. 2482 - 2485 - ตำแหน่งประจำแผนกกองตรวจการสรรพากร ภาค 4

พ.ศ. 2486 - 2495 - หัวหน้าแผนกภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำกรมสรรพากร

พ.ศ. 2495 - 2493 - หัวหน้าแผนกพิจารณาอุทธรณ์

พ.ศ. 2497 - 2499 - ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นเอก ตำแหน่งสรรพากรภาค 7

พ.ศ. 2499 - 2505 - หัวหน้ากองนิติการ

พ.ศ. 2505 - 2506 - ข้าราชการพลเรือนสามัญชั้นพิเศษ ตำแหน่งหัวหน้ากองนิติการ

พ.ศ. 2506 - 2508 - นิติกรพิเศษ กรมสรรพากร

พ.ศ. 2508 - 2510 - รองอธิบดีกรมสรรพากร

พ.ศ. 2511 - 2514 - อธิบดีกรมธนารักษ์

พ.ศ. 2515 - จนถึงแก่กรรม - กรรมการอำนวยการพระคลังข้างที่

พ.ศ. 2515 - 2518 - สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

พ.ศ. 2515 - 2516 - อธิบดีกรมศุลกากร

พ.ศ. 2516 - 2517 - ปลัดกระทรวงการคลัง

พ.ศ. 2517 - 2518 - รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

งานวิชาการ

  • อาจารย์พิเศษ วิชาการภาษีอากร ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
  • อาจารย์พิเศษ วิชากฎหมายภาษีอากร ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • อาจารย์พิเศษ วิชากฎหมายภาษีอากร วิทยาลัยกรุงเทพการบัญชี

งานบริหาร

  • ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และผู้รับใบอนุญาต
  • ประธานกรรมการ บริษัท สำนักงานสนั่น เกตุทัตและเพื่อน จำกัด
  • ประธานกรรมการ บริษัท สยามร่วมมิตร จำกัด

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

การก่อตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก่อตั้งโดยดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ และอาจารย์สนั่น เกตุทัต

เมื่อปี พ.ศ. 2508 ขณะที่อาจารย์สนั่น เกตุทัต ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากร มีความรับผิดชอบสูงกับงานในหน้าที่ควบคุมการจัดเก็บภาษีอากรทุกประเภททั่วราชอาณาจักร และขณะเดียวกันอาจารย์ยังมีความรับผิดชอบในหน้าที่ครูสอนหนังสือในสถาบันการศึกษาหลายแห่งด้วย และ ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องเขย ซึ่งทำงานด้านการศึกษาในตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการค้า (พ.ศ. 2507 - 2508) ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการได้อนุญาตให้ “โรงเรียนธุรกิจบัณฑิตย์” เปิดทำการได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2511 ต่อมาในวันที่ 30 พฤษภาคม ปีเดียวกัน ได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยมี ฯพณฯ ทวี บุณยเกตุ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมกับเปลี่ยนคำว่า “โรงเรียน” เป็น “สถาบัน” ก่อตั้งบนพื้นที่ 1 ไร่ 14 ตารางวา ณ เลขที่ 73 ถนนพระราม 6 สถาบันการศึกษานาม “ธุรกิจบัณฑิตย์” ใน พ.ศ. 2513 ต่อมาใน พ.ศ. 2527 เปลี่ยนมาเป็น “มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์” บนเนื้อที่ 36 ไร่ ริมคลองประปา ถนนประชาชื่น

ตำแหน่งงานของอาจารย์สนั่น เกตุทัต ในมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

  • ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 - เมื่อแรกเริ่มตั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อาจารย์สนั่น เกตุทัต เป็นอาจารย์สอนวิชาการภาษีอากรและกฎหมายภาษีอากร ในสถาบันธุรกิจบัณฑิตย์
  • 16 มิถุนายน พ.ศ. 2513 - เมื่อเริ่มมีพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2512 อาจารย์สนั่น เกตุทัต ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารวิทยาลัย (กรรมการสภามหาวิทยาลัย)
  • พ.ศ. 2522 - เป็นอุปนายกสภาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2528 - 2540 - เป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัย
  • 13 สิงหาคม พ.ศ. 2540 - เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์กิตติมศักดิ์จนถึงแก่กรรม

อ้างอิง

  1. "ศาสตราภิชาน และ สิปนนท์เกตุทัต". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-11-15. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08.
  2. "พระบรมราชโองการ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2015-09-27. สืบค้นเมื่อ 2014-07-08.
  3. อรชา เผือกสุวรรณ. ประวัติอาจารย์สนั่น เกตุทัต. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, 2552. 34 หน้า.
  4. พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี (๓๐ ราย)
  5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 34[ลิงก์เสีย]
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย เก็บถาวร 2015-09-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข หน้า ๕๒, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
  7. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๕๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๔, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๐ ตอนที่ ๕๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๖
  9. ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีรายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๘๖๒, ๑๕ มีนาคม ๒๔๗๘
  10. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๘๑๔, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
  11. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๘๗ ตอนที่ ๒๑ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๗, ๑๓ มีนาคม ๒๕๑๓
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9