Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

มหานิกาย

มหานิกาย เป็นคำเรียกนิกายหรือคณะของพระสงฆ์ไทยสายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์[1]ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นฝ่ายคันถธุระ

เดิมนั้น คำเรียกแบ่งแยกพระสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยออกเป็นมหานิกายและธรรมยุติกนิกายยังไม่มี เนื่องจากคณะพระสงฆ์ไทยในสมัยโบราณ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งคณะธรรมยุตขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่พระสงฆ์ไทยนั้นล้วนแต่เป็นเถรวาทสายลังกาวงศ์[2]ทั้งสิ้น จนเมื่อพระวชิรญาณเถระ หรือเจ้าฟ้ามงกุฏ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แยกออกจากคณะพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่เดิมซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น จึงทำให้พระองค์คิดคำเรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็นสายเถรวาทลังกาวงศ์เดิมว่า พระส่วนมาก หรือ มหานิกาย[3]

ซึ่งคำ มหานิกาย นั้น มาจากธาตุศัพท์ภาษาบาลี มหนฺต + นิกาย แปลว่าพวกมาก กล่าวโดยสรุป มหานิกายก็คือ พระสงฆ์สายเถรวาทลังกาวงศ์ดั้งเดิมในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย[4]

ความเป็นมาลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ (คณะสงฆ์มหานิกาย) หรือคณะคามวาสี ในประเทศไทย

ประวัติของนิกายเถรวาทในประเทศศรีลังกา

เมื่อประมาณ พ.ศ. 236 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่สามในศาสนาพุทธ ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นในชมพูทวีป และจัดส่งสมณทูตไปยังดินแดนต่าง ๆ รวม 9 แห่ง หนึ่งในนั้นรวมดินแดนลังกา (ประเทศศรีลังกา) ด้วย

สถูปทรงโอคว่ำในเมืองอนุราชปุระ (สุวรรณมาลิกสถูป) รูปทรงเดียวกับพระเจดีย์ที่นิยมสร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ต่อมาพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป (ชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งของดินแดนศรีลังกาในอดีต) ได้เจริญรุ่งเรืองและเสื่อมโทรมบ้างตามความศรัทธาของประชาชน และเหตุการณ์บ้านเมือง ครั้นราวพุทธศตวรรษที่ 17 ปรากฏตามมหาวงศ์ว่า เมื่อ พ.ศ. 1696 พระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราช ได้ครองราชสมบัติในลังกาทวีป ซึ่งในเวลานั้นบ้านเมืองยังถูกพวกทมิฬ (ชาวฮินดู) ครอบครองอยู่โดยมาก

พระเจ้าปรักกรมพาหุจึงได้พยายามทำสงครามขับไล่พวกทมิฬไปได้ และถึงกับยกกองทัพข้ามไปตีเมืองทมิฬในอินเดียไว้ในอำนาจได้อีกด้วย เมื่อพระองค์จัดการบ้านเมืองในลังกาได้เรียบร้อยแล้ว จึงได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยให้พระสงฆ์ในลังกาทวีปรวมเป็นนิกายเดียวกัน พร้อมกับจัดทำสังคายนาพระธรรมวินัย (ซึ่งนับถือกันว่าเป็นการสังคายนาครั้งที่ 7 ของฝ่ายเถรวาท) นับแต่นั้นพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นในลังกาทวีป มีกิตติศัพท์เลื่องลือไปทั่วในดินแดนใกล้เคียง ประกอบกับช่วงเวลานั้น พระพุทธศาสนาในอินเดียถูกชาวฮินดูเบียดเบียนให้เสื่อมโทรมลง เมืองลังกาจึงได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นหลักของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาคตินิกายเถรวาทด้วยกัน[5]

การสืบนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในพุกาม

ทะเลเจดีย์ที่เมืองพุกาม หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในดินแดนพม่าในอดีต

กิตติศัพท์ในการทำนุบำรุงการพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปเลื่องลือมาจนถึงดินแดนพม่าในสมัยของพระเจ้านรปติสี่ตู่แห่งอาณาจักรพุกาม ได้อาราธนาให้พระมหาสังฆปรินายกพุกามซึ่งมีนามว่า พระอุตตรชีวะ เป็นสมณทูตไปสืบพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป เมื่อ พ.ศ. 1733[6]

ในจารึกวัดกัลยาณีกล่าวไว้ว่า เมื่อคราวพระมหาเถระอุตราชีวะไปเมืองลังกาครั้งนั้น มีเด็กชาวมอญชาวเมืองพสิมคนหนึ่ง ได้ถวายตัวเป็นศิษย์แล้วบวชเป็นสามเณร มีนามปรากฏว่า “ฉปัฎ” ได้บวชติดตามท่านไปลังกาด้วย ครั้นเมื่อพระมหาเถระอุตราชีวะจะกลับเมืองพุกาม สามเณรฉปัฎขออยู่เล่าเรียนที่เมืองลังกา เมื่ออายุครบบวชก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุในวงศ์ของคณะสงฆ์ลังกา และได้เล่าเรียนศึกษาพระธรรมวินัยตามลัทธิที่สังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุจนเชี่ยวชาญรอบรู้แตกฉาน เมื่อบวชครบ 10 พรรษา บรรลุเถรภูมิ (เป็นพระเถระ) จึงได้ชักชวนเพื่อนสหธรรมิกภิกษุที่ได้เล่าเรียนและเป็นพระมหาเถรภิกษุด้วยกันอีก 4 รูป มีนามว่า

  • พระสีวลี ชาวลิตถิคาม (ลังกา) รูป 1
  • พระตามะลินทะ พระโอรสของพระเจ้ากรุงกัมโพช รูป 1
  • พระอานันทะ ชาวเมืองกาญจนบุรี (หรือปัจจุบัน คอนชิวรัม Gonjeevaram เมืองมัทราษฎร์ ในอินเดียใต้) รูป 1
  • พระราหุล ชาวลังกา รูป 1

จาริกโดยสารเรือมายังเมืองพสิมแล้วขึ้นต่อไปยังเมืองพุกาม

พระเถระ 5 องค์ที่บวชมาจากลังกา เมื่อเห็นวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ในเมืองพม่าผิดกับพระสงฆ์ลังกามากนัก จึงไม่ยอมร่วมลงสังฆกรรมกับพระสงฆ์ในคณะพื้นเมือง ทำให้พระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในเมืองพุกามเกิดเป็น 2 นิกายขึ้น (แยกกันลงสังฆกรรม)

พระสงฆ์ลังกาวงศ์นั้น เป็นพระมหาเถระ สำรวมสังวรวัตรปฏิบัติเคร่งครัด ผิดกับพระสงฆ์ในพื้นเมืองสมัยนั้น ทำให้เมื่อพระมหาเถระทั้ง 5 องค์ ได้ศึกษาภาษาพม่าจนสามารถสั่งสอนชาวเมืองได้ ก็ทำให้มีคนเลื่อมใสมาก จนกระทั่ง พระเจ้านรปติสิทธุ ก็ทรงเลื่อมใสทำนุบำรุงคณะพระสงฆ์ลังกาวงศ์ และสนับสนุนให้ชาวพม่าบวชในนิกายลังกาวงศ์มากขึ้นเป็นลำดับมา[5]

ประวัติการตั้งนิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช

พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เดิมมีลักษณะแบบมณฑปพระบรมธาตุไชยาแต่เปลี่ยนมาเป็นทรงโอคว่ำแบบลังกาในสมัยพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาตั้งวงศ์ในประเทศไทย

ต่อมา พระราหุลเถระ หนึ่งในพระมหาเถระทั้ง 5 องค์[7] ได้นำกลุ่มคณะพระสงฆ์มายังประเทศหนึ่ง ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า เมืองมลายะ (นครศรีธรรมราช) ซึ่งมีกษัตริย์อาณาจักรศรีวิชัย เชื้อสายมลายูปกครองอยู่เป็นอิสระ

ต่อมา กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชได้เลื่อมใสในพระราหุลเถระ จึงตั้งให้เป็นพระราชครู หลังจากนั้นจึงมีพระสงฆ์ชาวลังกาตามมาอีกมาก และได้มีชาวเมืองและชาวเมืองอื่น ๆ ในดินแดนแถบประเทศไทยและใกล้เคียง ได้พากันไปบวชเรียนที่เมืองลังกามากขึ้น ความนิยมนับถือในคติพระพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์จึงแพร่หลายตั้งมั่นในดินแดนประเทศไทยสืบมา (ลัทธิลังกาวงศ์เริ่มมาตั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชเมื่อ พ.ศ. 1740 ก่อนตั้งกรุงสุโขทัยประมาณ 50 ปี) [5]

ความเจริญของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลังกาวงศ์ในดินแดนประเทศไทย

วัดมหาธาตุ (จังหวัดสุโขทัย) ศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในอาณาจักรสุโขทัย

เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์กรุงสุโขทัย (พ.ศ. 1822 - พ.ศ. 1841) ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย[8]

ต่อมาทั้งชาวไทยวน ชาวมอญ และชาวเขมร ต่างก็นิยมฝ่ายลังกาวงศ์จึงได้ส่งพระสงฆ์ไปสืบพระพุทธศาสนาที่ลังกาบ้าง มีการนิมนต์พระลังกามาเป็นอุปัชฌาย์ในเมืองของตนบ้าง การเผยแพร่พระพุทธศาสนาสายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในดินแดนแถบสุโขทัยจึงรุ่งเรืองมานับแต่นั้น ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และศาสนาฮินดูซึ่งเจริญมาแต่ก่อนนั้น หมดความนิยมไป

เมื่อคณะสงฆ์ได้รวมกันเป็นคณะเดียวกันแล้ว จึงได้แบ่งธุระ ออกเป็น 2 พวก[9]คือ พวกที่สมาทานคันถธุระ ก็เล่าเรียนภาษาบาลี พระไตรปิฎก คณะสงฆ์ฝ่ายนี้มักเลือกวัดที่อยู่ใกล้บ้าน จึงได้ชื่อว่า "คณะคามวาสี" ส่วนพวกที่สมาทานวิปัสสนาธุระ ก็จะบำเพ็ญหาความสงบสุขอยู่ตามวัดในป่า จึงได้ชื่อว่า "คณะอรัญวาสี" เผยแผ่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองสืบมา[2]

การแยกนิกายของพระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทย

วัดบวรนิเวศวิหาร ศูนย์กลางของคณะธรรมยุติกนิกาย

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ในวงศ์พระสงฆ์มอญ (รามัญนิกาย) เมื่อ พ.ศ. 2372 และได้ทรงตั้ง คณะธรรมยุต ขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุตสืบต่อมา

และใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121” มีสาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทำให้มีการแบ่งแยกเรียกนิกายของคณะสงฆ์ใหม่ ตามศัพท์บัญญัติของพระวชิรญาณเถระ ว่า "ธรรมยุติกนิกาย" และเรียกกลุ่มพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์พื้นเมือง[10]ที่มีมาอยู่แต่เดิมว่า "มหานิกาย" สืบมาจนปัจจุบันนี้

พระธรรมทูต สายคณะสงฆ์ไทยฝ่ายมหานิกาย การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ

การสังเกตการครองผ้าของพระสงฆ์ไทยทั้ง 2 นิกาย

แบบการครองจีวรของภิกษุเดิมในพระไตรปิฎกได้กล่าวไว้ชัดเจน มีในเสขิยวัตรว่า "ให้ทำความสำเหนียกว่า จักนุ่งจักห่มให้เป็นปริมณฑล คือ เรียบร้อย พึงนุ่งปิดสะดือและปกหัวเข่าให้เรียบร้อย พึงทำชายทั้งสองให้เสมอกัน ห่มให้เรียบร้อย ในการแสดงเคารพหรือทำวินัยกรรม "ให้ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า" ซึ่งก็คือห่มจีวรเฉวียงบ่า" [11]

ในการเข้าบ้าน กล่าวว่า "ห่มสังฆาฏิทั้งหลายทำให้มีชั้นและกลัดดุม แต่กำชับไว้ให้ปิดกายด้วยดี ห้ามไม่ให้เปิดไม่ให้เวิกผ้าขึ้น" สันนิษฐานว่าคือการห่มคลุมทั้งสองบ่า[12]

การแบ่งประเภทของการครองจีวร

พระภิกษุสงฆ์มหานิกายในประเทศไทยมีการครองผ้าจีวร หลายประเภทเช่น "ห่มดอง", "ห่มลดไหล่" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า" (เวลาลงสังฆกรรม), "ห่มคลุม" (เวลาออกนอกอาราม) และ "ห่มมังกร"

ห่มลดไหล่

"ห่มลดไหล่" "ห่มเฉียง" หรือ "ห่มเฉวียงบ่า"ซึ่งเป็นการห่มที่ใช้ในการแสดงความเคารพ ปัจจุบันใช้ในการห่มในเขตวัด โดยนำผ้าจีวรผืนหนึ่งมาพันตัวชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบวางบนบ่า

ห่มคลุม

ห่มคลุมหมายถึงการคลองจีวรด้วยการม้วนผ้าชายจรดชายม้วนเข้าหาตัวลูกบวบมาวางบนบ่าคลุม 2 บ่ามิดชิดดี ใช่ในการห่มออกนอกวัด ซึ่งถ้าไม่ห่มคลุมในเวลาออกนอกเขตวัด (เขตติจีวรวิปวาโส) ต้องอาบัติทุกกฎ ปัจจุบันมักห่มดองออกนอกวัดโดยถือเป็นเรื่องธรรมดาว่าถูกต้อง โดยเฉพาะภาคเหนือ ทั้ง ๆ ที่ผิดวินัย

ห่มดอง

การห่มดอง หมายถึง การครองผ้าลดไหล่ของภิกษุแบบมหานิกาย มีสังฆาฏิพาด คือการครองผ้าจีวรอันเป็นปริมณฑล (ห่มครบไตรจีวร) ที่เรียกว่า "ห่มดอง" กระทำโดยมีการพับจีวรเป็นทบแล้วคลี่ทาบมาที่บ่าชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงนำผ้าสังฆาฏิซึ่งพับเป็นผืนยาวมาพาดไหล่ด้านซ้ายของผู้ห่มก่อนที่จะนำ "ผ้ารัดอก" มารัดบริเวณอกอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันเป็นการห่มที่เป็นที่นิยมทั่วไปของพระสงฆ์มหานิกาย ซึ่งดูเรียบร้อยและทะมัดทะแมงแน่นหนา เนื่องจากมีผ้ารัดอก ข้อเสียคือเปิดสีข้างดูไม่งาม อีกทั้งไม่ใช่การครองจีวรที่มีมาตามพระบรมพุทธานุญาติ เนื่องจากผ้ารัดอกไม่มีในอัฏฐบริขาร

ห่มมังกร

ห่มมังกร หมายถึงการครองผ้าที่หมุนผ้าลูกบวบไปทางขวา เมื่ออยู่ในวัดจะห่มเฉวียงบ่า และห่มคลุมในเวลาออกนอกวัด เป็นการห่มตามธรรมเนียมของพระมหานิกาย (ปัจจุบันยังมีบางวัดนิยมการห่มแบบนี้อยู่ โดยมากจะเป็นวัดมหานิกายในกรุงเทพมหานครเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูง)[2] ที่ถือว่าถูกต้องตามพระบรมพุทธานุญาต คือ "ชายจรดชายม้วนขวา[13] หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่าข้างนอก(พาหันตะ) คือ ม้วนออกข้างนอกตัวซึ่งก็เข้ากันได้กับการม้วนขวา[14] วางบนแขน" การที่ม้วนขวาเนื่องจากในสมัยพุทธกาลถือว่าการม้วนขวานั้นเป็นมงคล (ประทักษิณ) ถ้าห่ม "บิดขวา" เป็นการห่มแบบมหานิกายแท้[15] เป็นวัตรปฏิบัติในการครองจีวรของพระสงฆ์มหานิกาย หรือพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในประเทศไทยก่อนที่จะมีคำสั่งของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ให้พระภิกษุทั่วสังฆมณฑลห่มผ้าตามแบบของธรรมยุติกนิกายทั้งหมดนั้น[16] (ปัจจุบันพระฝ่ายมหานิกายส่วนมากนิยมหมุนซ้ายแบบธรรมยุต หรือพระรามัญไปแทบทั้งสิ้น)

สันนิษฐานว่า สมณะนอกศาสนานั้นย่อมห่มชายจรดชายม้วนขวา ม้วนเข้าหาตัวลูกบวบวางบนบ่าเช่นเดียวกัน เพราะสังคมอินเดียสมัยนั้นถือว่าม้วนขวา (ประทักษิณ) เป็นมงคล ม้วนซ้ายเป็นกาลกิณี แต่ว่า น่าจะวางไว้ที่บ่าขวาเมื่อห่มเฉวียงบ่าจะเปิดไหล่ซ้าย เช่นเดียวกับนักบวชของศาสนาฮินดู หรือนอกศาสนาพุทธในประเทศอินเดียที่นิยมเปิดบ่าซ้าย (สังเกตได้แม้ในปัจจุบันนี้) ดังนั้น พระสงฆ์ในพุทธศาสนาจึงวางไว้ที่บ่าซ้าย และเปิดบ่าขวาเพื่อแสดงถึงความแตกต่าง

การห่มมังกรนั้นแบ่งออกเป็น สองอย่างคือการห่มมังกรอย่างไทยและการห่มมังกรอย่างพม่า การห่มมังกรอย่างไทยนั้น จะใช้รักแร้หนีบลูกบวบไว้ และจะไม่คลี่ลูกบวบเพื่อเอามือออกแต่จะเวิกผ้ายกขึ้นมาเลย ส่วนการห่มมังกรอย่างพม่านั้น จะวางลูกบวบบนบ่า และจะคลี่ลูกบวบเพื่อเอามือออก และจะติดกระดุมสองแห่งคือปิดที่คอ และชายผ้า ซึ่งการห่มมังกรอย่างพม่าจะเป็นการห่มแบบดั้งเดิม

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. "ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ประวัติลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-11.
  2. 2.0 2.1 2.2 "การเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย (สารานุกรมวัฒนธรรมไทย)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-28. สืบค้นเมื่อ 2007-04-10. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "การเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ในอาณาจักรสุโขทัย" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. “สัมภาษณ์พิเศษ พระไพศาล วิสาโล,” (2547, 5-11 มกราคม). วารสารเนชั่นสุดสัปดาห์. [ออน-ไลน์]. หน้า 1. แหล่งที่มา : http://www.skyd.org/html/life-social/Paisal-2547.html
  4. เทวประภาส มากคล้าย. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  5. 5.0 5.1 5.2 ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.เที่ยวเมืองพม่า-เรื่องพระสงฆ์ลังกาวงศ์มาเมืองไทยจากเมืองพุกาม พิมพ์ครั้งที่ -. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545.
  6. หลักฐานจากศิลาจารึก 4 ภาษาวัดกัลยาณี
  7. ปรากฏตามจารึกวัดกัลยาณีว่าพระราหุลเถระเกิดความกำหนัดอยากจะสึก พระเถระอีก 4 องค์ทักท้วงว่าถ้าสึกเสียที่เมืองพุกาม จะทำให้ประชาชนดูหมิ่นอาจจะถึงไม่มีใครนับถือพระสงฆ์ลังกาวงศ์ จึงแนะนำท่านว่าให้หลบไปสึกในประเทศที่ห่างไกล แต่ก็ปรากฏว่าท่านมิได้สึกเป็นฆราวาสแต่อย่างใด
  8. "ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย ประวัติลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-02. สืบค้นเมื่อ 2007-04-11.
  9. "การศึกษาสมัยลานนาไทยและสุโขทัย (1800-1893) , แม่กองบาลีสนามหลวง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-10-01.
  10. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงให้ความหมายว่า “พระสงฆ์อันมีเป็นพื้นเมือง (ในประเทศไทย) ก่อนเกิดธรรมยุติกนิกาย” (การคณะสงฆ์ น. 90)
  11. พระไตรปิฎก เล่มที่ 2 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 2 มหาวิภังค์ ภาค 2
  12. พระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2[ลิงก์เสีย]
  13. พระไตรปิฎก วินัยปิฏกเล่ม 11 ท้ายเรื่องพระเทวทัต
  14. มงคลทีปนี เล่ม 1 เรื่อง วินัย หนังสือเรียนชั้นป.ธ.4
  15. "พระราชปรารภเรื่องการครองผ้าของพระสงฆ์ไทย ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20.
  16. "วิธีการห่มจีวรของนิกายเถรวาท". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-02-08. สืบค้นเมื่อ 2007-04-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9