Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พระไตรปิฎกภาษาจีน

พระไตรปิฎกภาษาจีน (จีน: 大藏經 Dàzàngjīng ต้าจั้งจิง) เป็นพระไตรปิฎกที่รวบรวมเอาคัมภีร์ทั้งของทั้งสามนิกายคือ ฝ่ายนิกายหินยานเรียกส่วนนี้ว่าอาคม, คัมภีร์ของฝ่ายมหายาน และบางส่วนของวัชรยาน พระไตรปิฏกนี้ใช้เหมือนกันทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เพียงแต่มีสำเนียงต่างกัน เรียกในสำเนียงญี่ปุ่นว่า "ไดโซเคียว" ในสำเนียงเกาหลีเรียกว่า "แทจังคยอง" และในสำเนียงเวียดนามเรียกว่า "ไดตังกิง"

นับตั้งแต่พุทธศาสนาเผยแผ่เข้ามาถึงแผ่นดินจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่น ได้มีการแปลพระธรรมวินัยกันแล้ว โดยการแปลพระธรรมวินัยครั้งแรก เป็นผลงานของพระอันซื่อกาว (安世高) พระภิกษุชาวพาร์เธีย และต่อมาไม่นานนักได้รับการเผยแพร่ในวงกว้างโดยพระโลกะเกษม (支婁迦讖) พระภิกษุชาวกุษาณะ

อย่างไรก็ตาม กว่าจะมีการแปลพระธรรมวินัยครั้งมโหฬาร และมีรวบรวมเป็นพระไตรปิฎกพากย์จีนอย่างเต็มรูปแบบนั้น ก็ล่วงมาถึงสมัยราชวงศ์เหนือใต้ หรือราวศวรรษที่ 4 – 5 (พุทธศตวรรษที่ 9 – 11, พ.ศ. 844 – 1043) โดยคณาจารย์ยุคเดียวกับท่านกุมารชีพ (鸠摩罗什) โดยในชั้นต้นเป็นการรวบรวมเฉพาะพระสูตร เป็นพระสุตันตปิฎกเท่านั้น

การรวบพระไตรปิฎกจีนอย่างเป็นระบบครั้งแรก เป็นผลงานของพระต้าวอัน (道安) ในปีค.ศ. 374 (พ.ศ. 917) โดยท่านได้ขจัดทำบัญชีรายชื่อคัมภีร์ทางพุทธศาสนาที่ได้รับการอัญเชิญมายังแผ่นดินจีนเป็นครั้งแรก และเป็นแนวทางให้กับการรวบรวมเป็นพระไตรปิฎกพากย์จีนฉบับสมบูรณ์ในเวลาต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง[1]

เนื้อหา

พระไตรปิฏกจีน บรรจุเนื้อหามากมายมหาศาล เพราะรวบรวมเอาพระธรรมวินัยของนิกายเถรวาท และนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนายุคต้นเอาไว้ด้วย โดยเรียกว่า “อาคม” หรือที่ในพระไตรปิฎกบาลีเรียกว่า “นิกาย” เช่น ทีรฆาคม คือ ทีฆนิกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายอภิธรรมของนิกายต่างๆ พระสูตรจำเพาะของฝ่ายมหายาน ข้อเขียน หรือศาสตร์ต่าง ๆ ที่รจนาโดยคณาจารย์ฝ่ายมหายาน รวมถึงปกรณ์พงศาวดาร ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาตั้งแต่ยุคต้นที่อินเดีย จนถึงยุคต้นในจีน นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์และธารณีของฝ่ายมนตรายานเช่นกัน

จากการศึกษาของเสถียร โพธินันทะ ได้แบ่งหมวดหมู่ของพระไตรปิฎกภาษาจีน ดังต่อไปนี้

หมวดพระวินัยปิฎก (律藏)

1. ทศภาณวารสรวาสติวาทวินัย 60 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระปุณยาตระ, พระกุมารชีพ, พระธรรมรุจิ, พระวิมลรักษ์ รวม 4 รูป เมื่อ พ.ศ. 947 – 950 ต่อมาสมณะอี้จิงได้แปลวินัยปกรณ์ของนิกายนี้อีก 15 ปกรณ์ ซึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องปลีกย่อย ว่าด้วยเรื่องอุปสมบทกรรม, การจำพรรษา, เภสัชชะและเรื่องสังฆเภทเป็นต้น

2. จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย 60 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์แปลสู่ ภาษาจีน โดยพระพุทธยศ เมื่อ พ.ศ. 953

3. มหาสังฆิกวินัย 30 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ แปลสู่ภาษาจีนโดย พระพุทธภัทรกับสมณะฝ่าเซียน เมื่อ พ.ศ. 963 – 965

4. ปัญจอัธยายมหิศาสกวินัย 30 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดย พระพุทธชีวะ กับ สมณะต้าวเซิง เมื่อ พ.ศ. 966

5. สมันตปาสาทิกาวินัยอรรถกถา 18 ผูก เป็นอรรถกถา พระวินัยปิฎกนิกายเถรวาท แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆภัทรเมื่อ พ.ศ. 1032 แต่เป็นฉบับย่อไม่มีพิสดาร เช่น ต้นฉบับบาลี

6. ปาฏิโมกข์ศีลสูตรของนิกายกาศยปิยะ เป็นเพียงหนังสือสั้น ๆ มิใช่พระวินัยปิฎกทั้งหมด

หมวดพระสุตตันตปิฎก (經藏)

1. เอโกตตราคม 51 ผูก คือ อังคุตตรนิกายของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระธรรมนันทิเมื่อ พ.ศ. 927

2. มัธยามาคม 60 ผูก มัชฌิมนิกาย ของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆรักษกับพระสังฆเทวะเมื่อ พ.ศ. 941

3. ทีรฆาคม 22 ผูก ทีฆนิกายของนิกายธรรมคุปต์ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระพุทธยศเมื่อ พ.ศ. 956

4. สังยุกตาคม 50 ผูก สังยุตตนิกายของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระคุณภัทรเมื่อ พ.ศ. 986

หมวดพระอภิธรรมปิฎก (論藏)

ส่วนประเภทพระอภิธรรมปิฎก และคัมภีร์ประเภทศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษของนิกายต่าง ๆ ก็มีมาก เช่น อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์ 20 ผูก, อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์ 12 ผูก, อภิธรรมวิชญานกายปาทศาสตร์ 16 ผูก, อภิธรรมปกรณะปาทศาสตร์ 18 ผูก, อภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์ 200 ผูก, อภิธรรมนยายนุสารศาสตร์ 80 ผูก, อภิธรรมปกรณศาสนศาสตร์ 40 ผูก, อภิธรรมหฤทัยศาสตร์ 4 ผูก, สังยุกตาภิธรรมหฤทัย ศาสตร์ 11 ผูก, ปกรณ์เหล่านี้เป็นของนิกายสรวาสติวาทิน, อภิธรรมโกศศาสตร์ 20 ผูก, คัมภีร์นี้ระคนด้วยลัทธิในนิกายสรวาสติวาทิน กับนิกายเสาตรันติกวาทิน, สารีปุตราภิธรรม 30 ผูก ของนิกายวิภัชวาทิน, อภิธรรมสัตยสิทธิวยกรณศาสตร์ 16 ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะหรือนิกายเสาตรันติก หรือนิกายพหุสุตวาทยังไม่แน่นอน จตุราริยสัจจปกรณ์ 4 ผูก, และคัมภีร์วิมุตติมรรค 12 ผูก, คุณวิภังคนิทเทศศาสตร์ 3 ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะ, สัมมิติยะศาสตร์ 2 ผูก ของนิกายสัมมิติยะ ฯลฯ

นอกจากนี้ ในหนังสือประมวลสารัตถะพระไตรปิฎก แต่งครั้งราชวงศ์หยวน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้บอกจำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์ไว้ดังนี้

1. พระสูตรฝ่ายมหายาน 897 คัมภีร์ 2,980 ผูก

2. พระวินัยฝ่ายมหายาน 28 คัมภีร์ 56 ผูก

3. ศาสตร์ฝ่ายมหายาน 118 คัมภีร์ 628 ผูก

4. พระสูตรฝ่ายสาวกยาน 291 คัมภีร์ 710 ผูก

5. พระวินัยฝ่ายสาวกยาน 69 คัมภีร์ 504 ผูก

6. ศาสตร์ฝ่ายสาวกยาน 38 คัมภีร์ 708 ผูก

รวมทั้งสิ้นเป็น 1,441 คัมภีร์ 5,586 ผูก[2]

อย่างไรก็ตาม จำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ มีการชำระกันหลายครั้งหลายคราว จำนวนคัมภีร์กับจำนวนผูกเปลี่ยนแปลงไม่เสมอกันทุกคราว ในหนังสือว่าด้วยสารัตถะความรู้จากการศึกษาพระไตรปิฎกแต่งครั้งราชวงศ์หมิง ได้แบ่งหมวดพระไตรปิฎก เพื่อสะดวกแก่การศึกษาดังนี้

หมวดอวตังสกะ 華嚴部

หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร หรือ อวตังสกสูตร 80 ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อย ๆ อีกหลายสูตร

หมวดไวปุลยะ

มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร 120 ผูก เป็นหัวใจ นอกนั้นก็มีมหาสังคีติสูตร 10 ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร 20 ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร 30 ผูก, สุวรรณประภาสสูตร 10 ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร 11 ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร 10 ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร 10 ผูก, จันทรประทีปสมาธิสูตร 11 ผูก, ลังกาวตารสูตร 7 ผูก, สันธินิรโมจนสูตร 5 ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร 4 ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร 2 ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร 2 ผูก, มโยปมสมาธิสูตร 3 ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร 1 ผูก, อมิตายุรธยานสูตร 1 ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร 2 ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร 1 ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร 3 ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร 3 ผูก, และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร 7 ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร 6 ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร 3 ผูก, สุสิทธิกรสูตร 3 ผูก, วัชร เสขรสูตร 7 ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร 5 ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร 7 ผูก, วัชรเสขระประโยคโหมตันตระ 1 ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร 2 ผูก ฯลฯ

หมวดปรัชญา 般若部

มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร 600 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร 2 ผูก, วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

หมวดสัทธรรมปุณฑริก 法華部

มีพระสูตรใหญ่ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร 8 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร 4 ผูก, วัชรสมาธิสูตร 2 ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร 2 ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

หมวดปรินิรวาณ 涅槃部

มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร 40 ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร 5 ผูก, มหามายาสูตร 2 ผูก, มหาเมฆสูตร 4 ผูก, อันตรภาวสูตร 2 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

พระวินัยลัทธิมหายาน

ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน ที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาท คือ โพธิสัตวสิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณะทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร 9 ผูก, พุทธปิฏกสูตร 4 ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) 2 ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร 1 ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดียมี 33 ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ 100 ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ 15 ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ 2 ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีนมี 38 ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร 60 ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก 5 คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร 8 ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร 10 ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร 6 ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร 20 ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร 33 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย

มี 104 ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ 100 ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา 20 ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ 16 ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ 3 ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ 2 ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ 1 ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ 2 ผูก, มาธยมิกศาสตร์ 2 ผูก, ศตศาสตร์ 2 ผูก, มหายานวตารศาสตร์ 2 ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ 11 ผูก, มหายานสูตราลังการ 15 ผูก, ชาตกมาลา 10 ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ 2 ผูก, สังยุกตอวทาน 2 ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ 1 ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิชญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาสตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์ เป็นอาทิ ฯลฯ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน

มี 14 ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนา โดยคันถรจนาจารย์ อินเดียมี 11 ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี 18 ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้างที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของลัทธิอื่นๆ ด้วย รวม 50 ปกรณ์ อาทิเช่น พุทธจริต 5 ผูก, ลลิตวิสตระ 20 ผูก, นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) 3 ผูก, อโศกอวทาน 5 ผูก, สุวรรณสัปตติศาสตร์ของลัทธิสางขยะ 3 ผูก, และไวเศษิกปทารถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก 3 ผูก เป็นต้น ส่วนปกรณ์ปกิณณคดีประเภทต่างๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน รวมทั้งประเภทประวัติ ศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีนมีประมาณ 186 ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ[3]

ภาษาที่ใช้

ภาษาที่ใช้ในพระไตรปิฎกพากย์จีน ส่วนใหญ่ใช้ภาษาจีนโบราณ (古文) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้กันระหว่างปลายยุครณรัฐ หรือยุคชุนชิว (春秋时代) ระหว่างศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 144 - 243) จนถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น (汉朝) หรือในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล (พ.ศ. 244 - 343) ภาษาจีนโบราณใช้ในวงวรรณคดีมาจนถึงยุคก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองช่วงต้นศตวรรษที่ 20 (ประมาณ พ.ศ. 2444 - ...) ภาษาโบราณนี้มีความแตกต่างจากภาษาจีนยุคปัจจุบันค่อนข้างมาก ทั้งในด้านสำเนียงการออกเสียง และไวยากรณ์ จำเป็นต้องอาศัยการศึกษาเฉพาะด้าน และคู่มือเอกเทศ จึงจะสามารถเข้าใจได้

ทั้งนี้ ยังมีข้อยกเว้น คือพระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย หรือ Mi Tripitaka (蕃大藏經) ที่ได้รับการศึกษาและเผยแพร่โดยนาย เอริก กรินสเตด (Eric Grinstead) ผู้ที่ตีพิมพ์ฉบับนี้ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อปี 1971 (พ.ศ. 2514) ในชื่อ พระไตรปิฏกฉบับตังกุต (The Tangut Tripitaka) ทั้งนี้ ตังกุต (Tangut) เป็นชนชาติเชื้อสายทิเบต-พม่า อาศัยอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ระหว่างปีค.ศ. 1038 - 1227 (พ.ศ. 1581 - 1770) ชนชาตินี้ได้สถาปนาราชวงศ์ซีเซี่ย (西夏) หรืออาณาจักรไป๋เกาต้าเซี่ยกั๋ว (白高大夏國) คาบเกี่ยวกับราชวงศ์ซ่ง และราชวงศ์เหลียว ทั้ง 3 อาณาจักรนี้ แม้สถาปนาโดยคนต่างเชื้อชาติกัน แต่กับเนื่องเป็นหนึ่งในราชวงศ์ทางการตามประวัติศาสตร์จีนโบราณ อีกทั้ง ทั้ง 3 ราชวงศ์ยังอุปถัมภ์ศาสนาพุทธอย่างยิ่งยวดไม่แพ้กัน ผิดกันเพียงแต่ว่า ชาวซ่งและชาวเหลียว ใช้ภาษาและอักษรจีนในการจารึกพระไตรปิฎก ขณะที่ชาวซีเซี่ยใช้ภาษาของตนเองในการจารึก[4]

นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบพระไตรปิฎกที่ใช้ภาษาท้องถิ่นในแว่นแคว้นทางตะวันตกของแผ่นดินจีน หรือแผ่นดินซียู้ (西域) ปัจจุบันอยู่ในแถบเขตปกครองตนเองพิเศษซินเจียง แต่เดิมนั้นแว่นแคว้นเหล่านี้มีภาษาและวัฒนธรรมของตนเอง ในช่วงก่อนศตวรรษที่ 8 นั้น พุทธศาสนาเฟื่องฟูมาก จึงมักใช้ภาษาตนเองในการบันทึกพระธรรม ในเวลาต่อมาแว่นแคว้นตะวันตกรับศาสนาอิสลาม พระคัมภีร์ต่างๆ จึงสาบสูญไปมาก แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีการค้นพบพระไตรปิฏกภาษาของชาวซียู้ ที่ถ้ำตุนหวง เรียกขานกันอย่างไม่เป็นทางการว่า พระไตรปิฎกตุนหวง[5]

ส่วนพระไตรปิฎกพากย์จีน ฉบับไทโช (大正新脩大藏經) ที่รวบรวมขึ้นที่ญี่ปุ่น ยังมีการรวมเอาข้อเขียนในภาษาญี่ปุ่นโบราณเกี่ยวกับพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย

กระบวนการแปล

เสถียร โพธินันทะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ได้แบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้างๆ ได้ 4 สมัย คือ

1. สมัยราชวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 610- 1273) ในระยะเวลา 663 ปี นี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม 176 ท่าน ผลิตคัมภีร์ 968 คัมภีร์ 4,507 ผูก

2. สมัยกลางราชวงศ์ถัง ถึงราชวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. 1273 - 1332) มีธรรมทูต ทำงานแปล 8 ท่าน

3. สมัยปลายราชวงศ์ถัง ถึงต้นราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1332 - 1580) มีธรรมทูตทำงาน แปล 6 ท่าน

4. สมัยราชวงศ์ซ่ง ถึงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1580 - 1828) มีธรรมทูตทำงานแปล 4 ท่าน

ในจำนวนธรรมทูต 4 สมัย 194 ท่านนี้ ผู้มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันซื่อกาว, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์ศิริมิตร, สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, สังฆปาละ, ฝ่าเซียน, เสวียนจั้ง, เทพหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ, อโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละ เป็นต้น ในบรรดาท่านเหล่านี้ มีพิเศษอยู่ 5 ท่านที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ

1. พระกุมารชีพ (鸠摩罗什) เลือดอินเดียผสมคุจะ (龟兹) มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 9 แปลคัมภีร์ 74 ปกรณ์ 384 ผูก

2. พระปรมารถะ (真諦) ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 10 แปลคัมภีร์ 64 ปกรณ์ 278 ผูก

3. พระสมณะเสวียนจั้ง (玄奘) ชาวมณฑลเหอหนาน จาริกไปอินเดียศึกษา พระธรรมวินัยเมื่อ พ.ศ. 1172 กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 1188 แปลคัมภีร์ 74 ปกรณ์ 1330 ผูก (หรือ 1325 หรือ 1335 ผูกไม่แน่)

4. พระสมณะอี้จิง (义净) ชาวเมืองฟันหยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. 1214 กลับประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. 1237 แปลคัมภีร์ 56 ปกรณ์ 230 ผูก

5. พระอโมฆวัชระ (不空) เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์เมื่อ พ.ศ. 1289 - 1314 จำนวน 77 ปกรณ์ 101 ผูก[6]

พระเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง

งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้

1. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาอินเดียภาคต่างๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ที่แปลโดยตรง

2. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้ว ก็แปลเป็นภาษาจีน โดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน

3. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานใน อักษรศาสตร์จีนดีก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้

4. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปลที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่

5. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีนซึ่งแปลจดไว้แล้วให้ สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ดี ผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้

6. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรสตรงกันกับต้นฉบับโดยสมบูรณ์ทุกประการ

7. ผู้ทำหน้าที่ธรรมาภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความ ในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง

8. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องกันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง

9. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่งๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ[7]

พระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับต่าง ๆ

พระไตรปิฎกฉบับเขียน

ในยุคโบราณนั้น โลกยังไม่ปรากฏเทคโนโลยีการพิมพ์ แต่ด้วยความที่ชาวจีนเป็นผู้ประดิษฐ์กระดาษขึ้นในศตวรรษที่ 2 ทำให้การเผยแพร่ความรู้ และศาสนาเป็นไปอย่างกว้างขวางไม่น้อย ซึ่งกระดาษนี่เองที่มีส่วนในการส่งเสริมให้พุทธศาสนาเฟื่องฟูในแผ่นดินจีน โดยในชั้นต้นนั้น มีการจารึกพระธรรมวินัยในกระดาษด้วยการเขียนลายมือก่อน โดยได้รับการอุปถัมภ์จากจักรพรรดิพระองค์ต่างๆ เรื่อยมา

ในสมัยแผ่นดินจักรพรรดิเหลียงอู่ (梁武帝) แห่งราชวงศ์เหลียง เมื่อ พ.ศ. 1061 มีพระราชโองการให้ ชำระรวบรวมพระไตรปิฎกเท่าที่แปลแล้ว และพวกปกรณ์วิเศษ ได้จำนวนรวม 1,433 คัมภีร์ จำนวนผูกได้ 3,741 ผูก ต่อมาในสมัยวงศ์เว่ย (ยุคราชวงศ์เหนือใต้) มีชำระพระไตรปิฎกพากย์จีนครั้งหนึ่ง สมัยวงศ์เป่ยฉี (ยุคราชวงศ์เหนือใต้) มีการชำระอีกครั้ง ต่อมาในสมัยราชวงศ์สุยมีการชำระ 3 ครั้ง จวบจนถึงสมัยวงศ์ถัง พุทธศาสนารุ่งเรืองยิ่ง มีการชำระพระไตรปิฎกถึง 9 ครั้ง ดังนี้

1. แผ่นดินพระเจ้าถังไท่จง (太宗 ) ศักราชเจิ้งกวน (貞觀) ปีที่ 9 (พ.ศ. 1169) จำนวน 739 คัมภีร์ 2,712 ผูก

2. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง (高宗 ) ศักราชเสี่ยนชิ่ง (顯慶) ปีที่ 4 (พ.ศ. 1202) จำนวน 800 คัมภีร์ 3,361 ผูก

3. แผ่นดินพระเจ้าถังเกาจง (高宗 ) ศักราชลิ่นเต๋อ (麟德) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1207) จำนวน 816 คัมภีร์ 4,066 ผูก

4. แผ่นดินจักรพรรดินีบูเช็กเทียน (武则天) ศักราชว่านซุ่ย (萬歲) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1238) จำนวน 860 คัมภีร์ 3,929 ผูก

5. แผ่นดินพระเจ้าถังเสวียนจง (玄宗) ศักราชไคหยวน (開元 ) ปีที่ 18 (พ.ศ. 1273) จำนวน 1,076 คัมภีร์ 5,048 ผูก

6. แผ่นดินพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชซิ่งหยวน (興元) ปีที่ 1 (พ.ศ. 1327) จำนวน 1,147 คัมภีร์ 5,049 ผูก

7. แผ่นดินถังพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชเจินหยวน (興元) ปีที่ 11 (พ.ศ. 1338) จำนวน 1,243 คัมภีร์ 5,393 ผูก

8. แผ่นดินพระเจ้าถังเต๋อจง (德宗) ศักราชเจินหยวน ปีที่ 15 (พ.ศ. 1,342) จำนวน 1,258 คัมภีร์ 5,390 ผูก

9. สมัยวงศ์ถังภาคใต้ (南唐) ศักราชเป่าต้า ปีที่ 3 (พ.ศ. 1488) จำนวน 1,214 คัมภีร์ 5,421 ผูก[8]

วัชรเฉทิกะปรัชญาปารมิตาสูตร สิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก จากสมัยราชวงศ์ถัง
คัมภีร์ธารณี หนึ่งในสิ่งพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สมัยราชวงศ์ชิลลา ของเกาหลี ร่วมสมัยราชวงศ์ถัง

รวมการชำระรวบรวมพระไตรปิฎกฉบับเขียน 15 ครั้ง

พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์

สิ่งพิมพ์ชิ้นแรกของโลกคือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ที่ถูกค้นพบที่ถ้ำตุนหวง มณฑลกานซู ประเทศจีน เป็นพระสูตรที่พิมพ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง แต่แม้จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์มาตั้งแต่ครั้งนั้น การพิมพ์พระไตรปิฎกจะเริ่มขึ้นในช่วงหลังจากนั้นมาก คือในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซึ่งได้พัฒนากระบวนการพิมพ์ให้มีความก้าวหน้าขึ้น กล่าวคือมีการใช้ระบบเรียงพิมพ์ตัวอักษร แทนที่การแกะแม่พิมพ์ไม้ทั้งแผ่น ทั้งนี้ พระไตรปิฎกฉบับตัวพิมพ์ฉบับต่างๆ มีดังต่อไปนี้

1. พระไตรปิฎกฉบับไคเป่า (開寶藏) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง พระเจ้าซ่งไท่จู่ (宋太祖) ฮ่องเต้ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ เมื่อศักราชไคเป่า (開寶) ปีที่ 4 (พ.ศ. 1514) มีพระราชโองการให้ขุนนางผู้ใหญ่ชื่อเตียช่งสิ่ง ไปชำระรวบรวมพิมพ์พระไตรปิฎกที่มณฑลเสฉวน พระไตรปิฎกฉบับนี้มาแล้วเสร็จเมื่อรัชสมัย พระเจ้าซ่งไท่จง (宋太宗) พ.ศ. 1526 กินเวลา 12 ปี เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับไคเป่า” นับ เป็นปฐมพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดของโลกพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน พระไตรปิฎกฉบับไคเป่ามีคัมภีร์ 1,076 คัมภีร์ 5,048 ผูก แต่หายสาบสูญเสียมากกว่ามาก เหลือเพียงข้อความกระท่อนกระแท่นบางคัมภีร์เท่านั้น[9]

2. พระไตรปิฎกฉบับชี่ตาน หรือคี่ตาน (契丹大藏經) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “เคอร์ตานจั๋ง”) พิมพ์โดยพระราชโองการกษัตริย์ราชวงศ์เหลียว ซึ่งเป็นชาวเผ่าเคอร์ตาน หรือ คี่ตาน นับเป็นเผ่าเตอร์กพวกหนึ่ง ปกครองดินแดนของมณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน รวมถึงดินแดนทั้งหมดของประเทศมองโกเลียในปัจจุบันพระไตรปิฎกพิมพ์ ด้วยอักษรจีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 จำนวน 6,006 ผูก 1,373 คัมภีร์ บัดนี้ต้นฉบับสาบสูญกันหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม มีการสลักบางส่วนของพระไตรปิฎกลงในศิลา ประดิษฐาน ณ อารามอวิ๋นจู (云居寺)ในกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้ บางส่วนยังหลงเหลืออยู่ในพระไตรปิฎกฉบับเกาหลี (Tripitaka Koreana) และนักวิชาการบางส่วน โดยเฉพาะชาวเกาหลี ยกย่องว่า ฉบับราชวงศ์เหลียว หรือคี่ตาน มีความครบถ้วนสมบูรณ์กว่าฉบับราชวงศ์ซ่ง[10]

3. พระไตรปิฎกฉบับราชวงศ์จิน หรือฉบับจ้าวเฉิง ( 赵城金藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “กิมจั๋ง”) พิมพ์ครั้งราชวงศ์จิน เมื่อ พ.ศ. 1691-1716 ในรัชศกต้าติ้ง (大定) ของฮ่องเต้ จินซื่อจง (金世宗) ซึ่งราชวงศ์จิน สถาปนาโดยชนเผ่านฺวี่เจิน บรรพบุรุษของชนเผ่าแมนจู แต่ฉบับนี้ใช้อักษรจีนในการจารึก ยังมีคัมภีร์เหลืออยู่ ณ บัดนี้ 4,950 ผูก จากทั้งหมด 6,980 ผูก ซึ่งพิมพ์ขึ้นจากแม่พิมพ์ไม้แกะสลักจำนวนถึง 168,000 ชิ้น ทำที่วัดเทียนหนิง โดยศรัทธาของอุบาสิกานามว่าชุยฝ่าเจินร่วมกับอุบาสกอุบาสิกาในพื้นที่ ต่อมาต้นฉบับที่หลงเหลืออยู่ถูกค้นพบที่วัดกว่างเซิง (广胜寺) อำเภอจ้าวเฉิง มณฑลซานสี เมื่อปี 1933 ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันในชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าฉบับจ้าวเฉิง ปัจจุบันเก็บรักษา ณ หอสมุดแห่งชาติกรุงปักกิ่ง และได้รับการพิมพ์เผยแพร่อีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2551[11]

4. พระไตรปิฎกฉบับฉงหนิงว่านโซ่วต้าจั้ง (崇宁万寿大藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ช่งหลิงบ้วนซิ่วจั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งเสินจง (宋神宗) สมณะชงจิง วัดตงฉาน เมืองฝูโจว บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1623-1647 ฉบับนี้มีความพิเศษตรงที่ เป็นฉบับแรกที่ใช้การเข้าเล่มแบบพับเล่มคล้ายสมุดไทย ต่อมามีการพิมพ์เติมต่อมาอีกหลายหนสำหรับฉบับนี้ รวมจำนวน 6,434 ผูก 1,440 คัมภีร์ ปัจจุบันกระจัดกระจายหมด[12]

5. พระไตรปิฎกฉบับผีหลู หรือฉบับไวโรจนะ (毘盧藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “พี่ลู้จั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งฮุยจง (宋徽宗) สมณะปุงหงอ วัดไคหยวน (开元寺) เมืองฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน บอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ. 1658-1693 มี 6,132 ผูก 1,451 คัมภีร์ ยังมีฉบับเหลืออยู่ที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ ด้วยความที่ฉบับฉงหนิง และฉบับพีหลู พิมพ์ขึ้นที่เมืองฟู่โจว ในเวลาไล่เลี่ยกัน และมีความคล้ายคลึงกัน จึงมักเรียกรวมกันว่าฉบับฝูโจว[13]

6. พระไตรปิฎกฉบับซือชีหยวนเจวี๋ย (思溪圆觉藏) หรือฉบับเฉียนซือชี - ซีชียุคก่อน (前思溪藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ซือเคยอิ้กั๋กจั๋ง”) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าซ่งกาวจง (宋高宗) โดยพุทธบริษัทชาวหูโจว มณฑลเจ้อเจียง พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 1675 มีจำนวน 1,451 คัมภีร์ 5,480 ผูก ยังมีฉบับสมบูรณ์อยู่ที่ญี่ปุ่น[14]

7. พระไตรปิฎกฉบับจือฝู (資福) หรือฉบับโห้วซือชี - ซีชียุคหลัง (后思溪藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ซือเคยจือฮกจั๋ง”) พิมพ์ที่เมืองหูโจว ในปีพ.ศ. 1718 จำนวนทั้งหมด 5940 ผูกรวม 145 คัมภีร์ ปัจจุบันคงเหลือบางส่วนเท่านั้น[15]

8. พระไตรปิฎกฉบับฉีซา (碛砂藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “จีซาจั๋ง”) พิมพ์ราว พ.ศ. 1774 มี 1,535 คัมภีร์ 6,362 ผูก พิมพ์ที่เมืองซูโจว สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งแต่แล้วเสร็จในสมัยราชวงศ์หยวน โดยความช่วยเหลือของพระภิกษุนิกายวัชรยาน จากอาณาจักรซีเซี่ย เป็นฉบับที่มีความพิเศษตรงที่มีการแทรกภาพประกอบไว้ด้วย ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 30 มีการค้นพบฉบับนี้ที่วัดไคหยวน (开元寺) ในฝูโจว และวัดหว่อหลง (卧龙寺) ในนครซีอาน เป็นจุดเริ่มต้นทำให้นักวิชาการตื่นเต้น และหันมาสนใจค้าหาพระไตรปิฎกฉบับจีนโบราณกันมากขึ้นนับแต่นั้น[16]

9. พระไตรปิฎกฉบับผูหนิง (普宁藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “โพหลิงจั๋ง”) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 1821 สมณะต้าวอัน วัดผูหนิง มณฑลเจ้อเจียง สมัยวงศ์หยวนบอกบุญเรี่ยไรพิมพ์ขึ้น เป็นผลงานของผู้ศรัทธาในนิกายเมฆขาว (白云宗) ซึ่งเป็นพุทธศาสนาในระดับชาวบ้านแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง ฉบับนี้มี 1,594 คัมภีร์ 6,327 ผูก ยังเหลือบริบูรณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาการสร้างฉบับต่อขยายในพ.ศ. 1849 มีการเพิ่มเติมคัมภีร์ของนิกายวัชรยานเข้ามาก[17]

10. พระไตรปิฎกฉบับหงฝ่า (弘法藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ห่งหวบจั๋ง”) เป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนอย่างเป็นทางการฉบับแรกที่พิมพ์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หยวน ครั้งแผ่นดินพระเจ้าหยวนซื่อจู่ฮ่องเต้ (元世祖) หรือ กุบไลข่าน ศักราชจื้อหยวน (至元) ปีที่ 14 (พ.ศ. 1820) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้น ถึง พ.ศ. 1837 จึงแล้วเสร็จ มี 1,654 คัมภีร์ 7,182 ผูก ฉบับนี้เคยคิดกันว่าหายสาบสูญไปจนแล้ว จนกระทั่งมีการค้นพบในกรุงปักกิ่ง เมื่อปลายศตวรรษที่ 20[18]

11. พระไตรปิฎกฉบับหยวนกวน (元官藏 ) หรือฉบับทางการราชวงศ์หยวน พิมพ์ที่มณฑลอวิ๋นหนาน ระหว่างพ.ศ. 1873 – 1879 จำนวน 6,500 ผูก พบที่กรุงปักกิ่ง ปลายศตวรรษที่ 20[19]

12. พระไตรปิฎกฉบับหงอู่หนานฉัง (洪武南藏) หรือฉบับทักษิณยุคแรก (初刻南藏) เป็นฉบับแรกที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าหมิงไท่จู่ (明太祖) ทรงมีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่ระหว่างพ.ศ. 1915 – 1942 ที่นครหนานจิง มีจำนวน 7,000 ผูก 1,600 คัมภีร์ ต่อมาฉบับจำลองถูกค้นพบที่มณฑลเสฉวน ใน พ.ศ. 2477[20]

13. พระไตรปิฎกฉบับหย่งเล่อหนานฉัง (永乐南藏) หรือ หนานจั้ง (南藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “น่ำจั๋ง”) สร้างขึ้นครั้งแผ่นดินพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ฮ่องเต้ (明成祖) ระหว่างพ.ศ. 1955 – 1960 มีจำนวน 6,942 ผูก 1,610 คัมภีร์[21]

14. พระไตรปิฎกฉบับหย่งเล่อเป่ยจั้ง (永乐北藏) หรือเป่ยจั้ง (北藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “ปักจั๋ง”) แผ่นดินพระเจ้าหมิงเฉิงจู่ฮ่องเต้ (明成祖) ศักราชหย่งเล่อ ปีที่ 8 (พ.ศ. 1953) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ขึ้นที่นครปักกิ่ง มาแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 1984 มี 6,924 ผูก 1662 คัมภีร์ ยังอยู่บริบูรณ์ดี[22]

15. พระไตรปิฎกฉบับอู่หลิน (武林藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “บูลิ้มจั๋ง”) พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2065-2109 ฉบับนี้มิได้ร่องรอยที่ละเอียด ทราบแต่เพียงว่าพิมพ์ที่เมืองหังโจว และค้นพบบางส่วนในปีพ.ศ. 2525[23]

16. พระไตรปิฎกฉบับว่านหลี่ (万历藏) สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าหมิงเสิ่นจง (明神宗) พิมพ์ที่นครหนานจิง ระหว่างพ.ศ. 2132 – 2200 จำนวน 6,234 ผูก 1,659 คัมภีร์ ถูกค้นพบที่มณฑลซานซีในปีพ.ศ. 2526[24]

17. พระไตรปิฎกฉบับเจียซิง (嘉兴藏) หรือฉบับจิ้งซาน (径山藏) สร้างขึ้นระหว่างพ.ศ. 2132 2219 คาบเกี่ยวระหว่างราชวงศ์หมิงกับราชวงศ์ชิง มีจำนวน 12,600 ผูก 2,090 คัมภีร์ เป็นฉบับแรกที่มีการเข้าเล่มแบบเย็บเล่ม และมีการแบ่งบรรพคัมภีร์เบ็ดเตล็ดเป็นครั้งแรกอีกด้วย[25]

18. พระไตรปิฎกฉบับชิงจั้ง (清藏) หรือฉบับชิงหลง – ฉบับหลวงราชวงศ์ชิง (清龙藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับเล่งจั๋ง) แผ่นดินพระเจ้าชิงซื่อจง (清世宗) หรือรัชสมัยยงเจิ้ง (雍正) ปีที่ 13 (พ.ศ. 2178) มีพระราชโองการให้ชำระพิมพ์ที่กรุงปักกิ่ง มาแล้วบริบูรณ์ในแผ่นดินพระเจ้าเฉียนหลง ปีที่ 3 (พ.ศ. 2281) จึงเรียกกันในอีกชื่อว่า เฉียนหลงป่านต้าฉังจิง (乾隆版大藏经) มีจำนวน 7,168 ผูก 1,669 คัมภีร์ สร้างจากแม่พิมพ์ไม้จำนวนทั้งสิ้น 79,036 ชิ้น ปัจจุบันอยู่ที่กรุงปักกิ่ง นับเป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนฉบับสุดท้ายที่ได้รับการอุปถัมภ์การจัดสร้างโดยราชสำนัก[26]

สุวรณประภาโสตตมะราชสูตร ฉบับตัวเขียนภาษาตังกุต
ตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์สมัยราชวงศ์ซ่ง

การพิมพ์พระไตรปิฎกยุคปัจจุบัน

ในช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนถึงยุคสาธารณรัฐจีน ยังคงมีการจัดสร้างพระไตรปิฎกอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้รับการอุปถัมภ์จากราชสำนักอีกต่อไปก็ตาม นอกจากนี้การจัดสร้างยังประสบอุปสรรคมากมาย เนื่องจากจีนตกอยู่ในความมุ่นวายของสงครามและปัญหาการเมืองยืดเยื้อนานเกือบครึ่งศตวรรษ ในช่วงปลายราชวงศ์ชิง จนถึงยุคสาธารณรัฐ มีการจัดสร้างครั้งสำคัญๆ อาทิ พระไตรปิฎกฉบับไป่หนา (百衲藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “แปะนั่มจั๋ง”) สร้างขึ้นครั้งแผ่นดินพระเจ้าถงจื่อ (同治) ปีที่ 5 (พ.ศ. 2409) โดยนายยินซัน อุบาสกคนสำคัญในสมัยนั้นบอกบุญเรี่ยไรชำระพิมพ์ขึ้นที่หนานจิง ฉบับนี้ยังไม่สมบูรณ์

ต่อมามีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับผินเจีย (频伽藏) (เสถียร โพธินันทะเรียกฉบับ “พิงแคจั๋ง”) ในปีที่ 1 แห่งแผ่นดินพระเจ้าเสวียนถง (宣統) จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิง หรือพ.ศ. 2452 โดยพุทธบริษัทชาวเมืองเซี่ยงไฮ้จัดพิมพ์ขึ้นมาแล้วเสร็จเมื่อศักราชสาธารณรัฐ หรือปีหมินกั๋วที่ 2 (พ.ศ. 2457) มีจำนวน 1,916 คัมภีร์ 8,416 ผูก ต่อมายังมีพระไตรปิฎกฉบับซกจั๋ง สร้างขึ้นในศักราชหมินกั๋วปีที่ 11 หรือพ.ศ. 2465 โดยสำนักพิมพ์ชางวู เมืองเซี่ยงไฮ้ จัดพิมพ์ มีจำนวน 1,757 คัมภีร์ 7,148 ผูก

ต่อมาในปีพ.ศ. 2486 มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับผู่ฮุ่ย (普慧藏) ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ แต่ผู้รวบรวมไม่อาจสร้างจนสำเร็จได้ หลังจากนั้น การสร้างพระไตรปิฏกในจีนขาดช่วงไป

ระหว่างที่จีนกำลังเผชิญกับความวุ่นวายอยู่นั้น ในญี่ปุ่นได้มีการรวบรวมพระธรรมวินัยครั้งใหญ่รวมเอาทั้งคัมภีร์ของฉบับจีน ของเกาหลี และปกรณ์ต่างๆ ที่รจนาขึ้นโดยชาวพุทธในญี่ปุ่น เรียกพระไตรปิฎกฉบับนี้ว่า “ไทโช ชินชู ไดโซเคียว” (大正新脩大藏經) หรือ “ไทโช” เพราะสร้างขึ้นในรัชสมัยของจักพรรดิไทโช ในโครงการที่มีขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2467 - 2477 โดยนักวิชาการชาวญี่ปุ่นชื่อ ทะคะคุสุ จุนจิโร เป็นบรรณาธิการ ปัจจุบันได้มีการเผยแพร่ทั้งฉบับผ่านระบบดิจิทัล บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต[27]

ต่อมายังมีพระไตรปิฎกฉบับโซคุเคียว (卍續藏) เป็นฉบับเอกเทศ แต่มักยกให้เป็นฉบับผนวกต่อจากฉบับไทโช ต่อมาในปีค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) ที่ไต้หวัน ยังมีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับต้าฉังจิงปู่เปียน (大藏經補編) หรือฉบับต่อยอด เป็นส่วนขยายสำหรับฉบับอื่นๆ ในอดีตเช่นกัน[28]

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่พระไตรปิฎกฉบับแปดหมื่นพระคัมภีร์ (八萬大藏經) หรือฉบับเกาหลี (高麗大藏經) หรือที่เรียกกันว่า Tripitaka Koreana ที่สืบทอดมาจากฉบับไคเป่า และฉบับคี่ตาน สมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์เหลียว ตัวประไตรปิฎกฉบับนี้ เป็นแม่พิมพ์ไม้แกะสลักสร้างขึ้นในสมัยศตวรรษที่ 13 จำนวน 81,258 แผ่น เก็บรักษาไว้ที่วัดแฮอินซา (해인사 หรือ 海印寺) มีจำนวน 6,568 ผูก 1,496 คัมภีร์ ปัจจุบันมีการจัดพิมพ์ทั้งแบบหนังสือและแบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง[29]

ทั้งนี้ การพิมพ์พระไตรปิฎกในจีนแผ่นดินใหญ่เฟื่องฟูอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลผ่อนปรนและให้เสรีภาพทางศาสนามากขึ้น เริ่มต้นระหว่างทศวรรษที่ 80 - 90 เป็นต้นมา ได้มีการตีพิมพ์พระไตรปิฏกจีนที่มีการรวบรวมคัมภีร์ตกหล่น และคัมภีร์ที่ค้นพบใหม่มากขึ้น รวมถึงการถ่ายเอกสารจากฉบับโบราณ และรวมเอาคัมถีร์ที่พบใหม่ที่ถ้ำตุนหวง เพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ หนึ่งในนั้นคือพระไตรปิฏกฉบับเอกสารโบราณจีน (中華大藏經–漢文部份) หรือ The Chinese Manuscripts in the Tripitaka Sinica พิมพ์โดยสำนักพิมพ์จงหัว ในกรุงปักกิ่ง ระหว่างปี พ.ศ. 2526 - 2540 มีขนาดทั้งสิ้น 107 เล่ม นับเป็นฉบับที่ครบถ้วนบริบูรณ์ที่สุดฉบับหนึ่ง แต่ในอนาคตยังจะมีการปรับปรุงฉบับโครงการ Tripitaka Sinica ต่อไปอีก เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น[30]

ตัวอย่างพระไตรปิฎกฉบับเกาหลี

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

รายชื่อพระสูตรในพระไตรปิฎกภาษาจีน (ฉบับเกาหลี)

ข้อมูลเพิ่มเติม

มหาสางฆิกะ ปราติโมกษ์ เก็บถาวร 2020-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

อวตังสกสูตร (คำอ่านภาษาจีน) เก็บถาวร 2020-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ฉบับย่อ) เก็บถาวร 2020-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร (ภาษาญี่ปุ่น) เก็บถาวร 2020-09-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน

อ้างอิง

  1. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  2. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  3. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  4. 国图藏西夏文文献的价值
  5. 怀念北图馆长北大教授王重民先生
  6. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  7. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  8. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  9. เสถียร โพธินันทะ. ประวัติพระไตรปิฎกฉบับจีนพากย์
  10. 房山云居寺石刻佛教大藏
  11. The Zhaocheng Jin Tripitaka
  12. Two Rare Buddhist Books in the End of the Ming Dynasty
  13. 宋雕崇寧藏毗盧藏殘卷考
  14. 漢文大藏經刊刻源流表
  15. Tripitaka (大藏經)
  16. 浅谈当代汉文大藏经整理传译之方向
  17. 漢文大藏經刊刻源流表
  18. 漢文大藏經刊刻源流表
  19. 漢文大藏經刊刻源流表
  20. 漢文大藏經刊刻源流表
  21. 漢文大藏經刊刻源流表
  22. 漢文大藏經刊刻源流表
  23. 漢文大藏經刊刻源流表
  24. 漢文大藏經刊刻源流表
  25. The Economics of the Jiaxing Edition of the Buddhist Tripitaka
  26. Tripitaka Script of Qing Dynasty’s Imperial Edition
  27. 中华大藏经
  28. 中华大藏经
  29. Haeinsa
  30. 中华大藏经

บรรณานุกรม

Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9