Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ศาสนาพุทธในเกาหลี

พระพุทธศาสนาเริ่มเข้าสู่ประเทศเกาหลีเมื่อ พ.ศ. 915 โดยสมณทูตซุนเตา เดินทางจากประเทศจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในอาณาจักรโคกูรยอ คือ ประเทศเกาหลีในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาได้ขยายเข้ามาในเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพียงระยะเวลา 20 ปี ก็มีการสร้างวัดขึ้นมากมาย เฉพาะเมืองหลวงแห่งเดียว 9 วัด ประเทศเกาหลีในสมัยก่อนนั้นประกอบด้วย 3 อาณาจักรคือ โคกูรยอ แพ็กเจ และชิลลา แต่ผู้นำทั้ง 3 อาณาจักรก็นับถือพระพุทธศาสนา และให้การสนับสนุนกิจการต่าง ๆ อันที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเสมอ และที่สำคัญได้ทรงถือว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เพราะคำสอนของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ส่งเสริม และให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน พร้อมทั้งสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชาติ

สมัยราชวงศ์โกคุริโอ

พระพุทธรูปในถ้ำซ็อกคูรัม สมัยชิลลา

ใน พ.ศ. 1200 อาณาจักรชิลลาได้รับชัยชนะ ก็รวมอาณาจักรทั้งสามเป็นปึกแผ่นมั่นคง และรวบรวมพระคัมภีร์ต่าง ๆ มาจัดเป็นแบบแผนเดียวกัน ทำให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ทางรัฐก็ถวายการอุปถัมภ์แก่สงฆ์ เช่น การพิมพ์พระไตรปิฎก 16,000 หน้า ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะ และการจารึกคัมภีร์ 50,000 เล่มเศษ ยุคนี้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก

สมัยราชวงศ์โชซ็อน1

ครั้นถึง พ.ศ. 1935 พระพุทธศาสนาในเกาหลีก็เริ่มเสื่อมลงเมื่อราชวงศ์โชซ็อนขึ้นมามีอำนาจ ราชวงศ์นี้ได้เชิดชูลัทธิขงจื๊อให้เป็นศาสนาประจำชาติ จึงทำการกดขี่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา จนทำให้พระสงฆ์ต้องหนีออกไปอยู่อย่างสงบตามชนบท และป่าเขา

สมัยญี่ปุ่นปกครอง

พ.ศ. 2453 ประเทศเกาหลีได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นราชวงศ์เกาหลีสิ้นสุดลง เมื่อญี่ปุ่นเข้าปกครองเกาหลีก็ได้ออกกฎข้อบังคับควบคุมวัดวาอารามต่างๆ และพยายามก่อความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ เช่น ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวได้และดำรงชีวิตเหมือนฆราวาส[ต้องการอ้างอิง]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้เข้ายึดเกาหลีจากญี่ปุ่น เมื่อ พ.ศ. 2488 เกาหลีจึงถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเทศที่เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือกล่าวคือ ทางตอนเหนืออยู่ภายใต้การคุ้มครองดูแลของสหภาพโซเวียต มีชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ทางตอนใต้อยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐอเมริกา มีชื่อประเทศว่า สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เมื่อเกาหลีพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่นแล้ว ชาวพุทธทั้งหลายในเกาหลี โดยเฉพาะพระสงฆ์ได้มีการเคลื่อนไหว โดยการประชุมใหญ่แล้วลงมติให้รัฐบาลยกเลิกข้อบังคับต่าง ๆ ที่ขัดแย้งกับหลักพระพุทธศาสนาซึ่งตราขึ้นในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครอง พร้อมทั้งให้คณะสงฆ์มีการปกครองตนเอง โดยมีสำนักงานอยู่ในนครหลวงและจังหวัดต่าง ๆ ให้มีสภาบริหารตนเองซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของสำนักงานใหญ่ และได้มีการจัดประชุมเพื่อตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ เมื่อพ.ศ. 2489

พระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีในปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีเหนือนั้นไม่สามารถที่จะรู้สถานการณ์ได้ เพราะประเทศเกาหลีเหนือปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองในประเทศเกาหลีใต้มากกว่า แต่ในประเทศเกาหลีใต้มีการขัดแย้งระหว่างนิกายโชเก (นิกายถือพรหมจรรย์) และนิกายแทโก (นิกายไม่ถือพรหมจรรย์) แก่งแย่งวัดกัน ในช่วงนั้นกลุ่มมิชชันนารีจำนวนมากได้มาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในช่วงแรกมีแต่กลุ่มวัยรุ่น แต่ภายหลัง ไม่ว่าวัยรุ่นหรือวัยไหน ๆ ก็หันมานับถือศาสนาคริสต์กันขนานใหญ่ ศาสนาพุทธจึงตกต่ำลง จน นิกายโชกายต้องหาวิธีให้ชาวเกาหลีมองเห็นว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ชาวเกาหลี มีทัศนคติที่ดี แก่พระพุทธศาสนา เนื่องจากพระสงฆ์มีการติดต่อกับชาวบ้านน้อยมาก ในการตีพิมพ์คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ก็ต้องยืมคำของศาสนาคริสต์ คือ ไบเบิลของพระพุทธศาสนา แต่ปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาบ้างแล้ว

เหล่าพระสงฆ์ขณะเดินกลับกุฏิ ณ วัดแฮอินซา

ในปัจจุบันคณะสงฆ์ในประเทศเกาหลี ถือว่าเป็นคณะสงฆ์ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดปรับตัวให้ทันกับเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอเพื่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนานั่นเอง กิจการที่พระสงฆ์เกาหลีใต้สนใจ และทำกันอย่างเข้มแข็งจริงจังที่สุดคือ การศึกษา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในด้านการศึกษานอกจากจะมีโรงเรียนพระปริยัติธรรมสำหรับสอนพระภิกษุ ภิกษุณี สามเณร และสามเณรี (สตรีที่จะบวชเป็นภิกษุณี) แล้ว คณะสงฆ์เกาหลีใต้ยังมีสถานศึกษาฝ่ายสามัญระดับต่าง ๆ ที่เปิดรับนักเรียนชายหญิงโดยทั่วไปด้วย ซึ่งสถาบันเหล่านี้มีคฤหัสถ์ (บุคคลทั่วไป) เป็นผู้บริหาร แต่อยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมาธิการฝ่ายการศึกษาของคณะสงฆ์ สถานศึกษาเหล่านี้แยกประเภทได้ดังนี้

  • มหาวิทยาลัยและวิทยาลัย 3 แห่ง
  • โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 11 แห่ง
  • โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 16 แห่ง
  • โรงเรียนประถมศึกษา 3 แห่ง
  • โรงเรียนอนุบาล 7 แห่ง

มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลีคือ มหาวิทยาลัยทงกุก ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 ปัจจุบันมีนักศึกษาชายทั้งหมด 6,000 คน มีภิกษุ สามเณรศึกษาอยู่ด้วยประมาณ 60 รูป ใน พ.ศ. 2507 คณะสงฆ์เกาหลีใต้ตั้งโครงการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลีขึ้น เรียกว่า ศูนย์แปลพระไตรปิฎกเกาหลี ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยทงกุก ในประเทศเกาหลีใต้ (พ.ศ. 2526) มีวัดลงทะเบียนจำนวน 3,163 วัด และไม่ลงทะเบียน 4,090 วัด มีภิกษุ 14,206 รูป และภิกษุณีจำนวน 6,549 รูป จำนวนนี้อาจรวมนิกายโชกาย และนิกายเล็กต่าง ๆ

อ้างอิง

  • โรเบิร์ต อี บัสเวลล์ : แต่ง,ประสบการณ์ชีวิตพระวัดเซน,หน้า 39
  • Ven.Eui-Hyun,Korean Buddhism, (Seoul:Korean Buddist Chogye Order,1988),pp.24-25
  • พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย,หน้า 46
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9