Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ประวัติศาสนาพุทธ

พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ (บาลี: buddhasāsana พุทฺธสาสนา, สันสกฤต: buddhaśāsana พุทธศาสนา) เป็นศาสนาที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดา มีพระธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง และตรัสสอนไว้เป็นหลักคำสอนสำคัญ มีพระสงฆ์ (ภิกษุ ภิกษุณี) สาวกผู้ตัดสินใจออกบวชเพื่อศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอน ธรรม-วินัย ของพระบรมศาสดา เพื่อบรรลุสู่จุดหมายคือพระนิพพาน และสร้างสังฆะ เป็นชุมชนเพื่อสืบทอดคำสอนของพระบรมศาสดา รวมเรียกว่า พระรัตนตรัย1 นอกจากนี้ในพระพุทธศาสนา ยังประกอบคำสอนสำหรับการดำรงชีวิตที่ดีงาม สำหรับผู้ที่ยังไม่ออกบวช (คฤหัสถ์ - อุบาสก และอุบาสิกา) ซึ่งหากรวมประเภทบุคคลที่ที่นับถือและศึกษาปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา แล้วจะจำแนกได้เป็น 4 ประเภท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือที่เรียกว่า พุทธบริษัท 4

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาอเทวนิยม ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเป็นเจ้าหรือพระผู้สร้าง และเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ ว่าทุกคนสามารถพัฒนาจิตใจ ไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ ด้วยความเพียรของตน กล่าวคือ ศาสนาพุทธ สอนให้มนุษย์บันดาลชีวิตของตนเอง ด้วยผลแห่งการกระทำของตน ตาม กฎแห่งกรรม มิได้มาจากการอ้อนวอนขอจากพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นอกกาย[1] คือ ให้พึ่งตนเอง[2] เพื่อพาตัวเองออกจากกอง ทุกข์[3] มีจุดมุ่งหมายคือการสอนให้มนุษย์หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงในโลกด้วยวิธีการสร้าง ปัญญา ในการอยู่กับความทุกข์อย่างรู้เท่าทันตามความเป็นจริง วัตถุประสงค์สูงสุดของศาสนาคือการหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวงและวัฏจักรการเวียนว่ายตายเกิด เช่นเดียวกับที่พระศาสดาทรงหลุดพ้นได้ด้วยกำลังสติปัญญาและความเพียรของพระองค์เอง ในฐานะที่พระองค์ก็ทรงเป็นมนุษย์ มิใช่เทพเจ้าหรือทูตของพระเจ้าองค์ใด[4] ศาสนาพุทธมีอายุล่วงมา 2,500 ปี

พระพุทธเจ้า พระองค์ปัจจุบันคือพระโคตมพุทธเจ้า มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ได้ทรงเริ่มออกเผยแผ่คำสอนในชมพูทวีป ตั้งแต่สมัยพุทธกาล แต่หลังปรินิพพานของพระพุทธเจ้า พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงสั่งสอน ได้ถูกรวบรวมเป็นหมวดหมู่ด้วยการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก[5] จนมีการรวบรวมขึ้นเป็นพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอดของฝ่าย เถรวาท ที่ยึดหลักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แต่ในการสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่สอง ได้เกิดแนวคิดที่เห็นต่างออกไป[6] ว่าธรรมวินัยสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตามเวลาและสถานการณ์เพื่อความอยู่รอดแห่งศาสนาพุทธ[7] แนวคิดดังกล่าวจึงได้เริ่มก่อตัวและแตกสายออกเป็นนิกายใหม่ในชื่อของ มหายาน ทั้งสองนิกายได้แตกนิกายย่อยไปอีกและเผยแพร่ออกไปทั่วดินแดนเอเชียและใกล้เคียง บ้างก็จัดว่า วัชรยาน เป็นอีกนิกายหนึ่ง แต่บ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของนิกายมหายาน แต่การจัดมากกว่านั้นก็มี[8] หลักพื้นฐานสำคัญของปฏิจสมุปบาท เป็นเพียงหลักเดียวที่เป็นคำสอนร่วมกันของคติพุทธ[9]

ปัจจุบันศาสนาพุทธได้เผยแผ่ไปทั่วโลก โดยมีจำนวนผู้นับถือส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ทั้งในเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันศาสนาพุทธ ได้มีผู้นับถือกระจายไปทั่วโลก ประมาณ 700 ล้านกว่าคน หรืออาจมีถึงหลัก 1 พันล้านกว่าคน (อาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา) [10][11][12] ด้วยมีผู้นับถือในหลายประเทศ ศาสนาพุทธจึงเป็นศาสนาสากล[13]

ชาติกำเนิด

พระพุทธรูป รูปเคารพแทนพระพุทธเจ้าของชาวพุทธ

พระโคตมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายสิทธัตถะ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายา ประสูติในราชตระกูลศากยวงศ์ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ พระองค์ทรงออกผนวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา บำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปี จึงตรัสรู้เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา และทรงประกาศพระศาสนาอยู่ 45 ปี จึงเสด็จปรินิพพานเมื่อพระชนมายุได้ 80 พรรษา[14] ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการนับปีพุทธศักราช

หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลีมลทิน จึงเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะ จนทำให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระโกณฑัญญะจึงกราบทูลขออุปสมบทในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งนับเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก[15] และพระรัตนตรัยจึงเกิดขึ้นในโลกเช่นกันในวันนั้น ต่อมา พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอื่น ๆ เพื่อโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่เหลืออีก 4 องค์ จนบรรลุเป็นพระโสดาบันทั้งหมด หลังจากพระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระโสดาบันหมดแล้ว พระองค์ทรงแสดงธรรมอนัตตลักขณสูตร ซึ่งทำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น

ต่อจากนั้น พระองค์ได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดพระยสะและพวกอีก 54 ท่าน จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด ในครั้งนั้นจึงมีพระอรหันต์รวมทั้งพระองค์ด้วยทั้งสิ้น 61 พระองค์ พระพุทธเจ้าจึงพระดำริให้พระสาวกออกประกาศศาสนา โดยมีพระปฐมวาจาในการส่งพระสาวกออกประกาศศาสนาว่า

ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลาย เราหลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวง ทั้งที่เป็นของทิพย์ และของมนุษย์ แม้พวกเธอได้หลุดพ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งของทิพย์และของมนุษย์เช่นกัน พวกเธอจงเที่ยวไปเพื่อประโยชน์ และความสุขแก่มหาชน เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และความสุขแก่ทวยเทพและมนุษย์ พวกเธออย่าไปทางเดียวกัน 2 รูป จงแสดงธรรมให้งามในเบื้องต้น ในท่ามกลางและในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะให้ครบถ้วนบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายผู้มีธุลี คือ กิเลส ในจักษุเพียงเล็กน้อยมีอยู่ แต่เพราะโทษที่ยังไม่ได้สดับธรรม จึงต้องเสื่อมจากคุณที่พึงจะได้รับ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้รู้ทั่วถึงธรรมมีอยู่ แม้เราก็จักไปยังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรม[16]

จึงทำให้พระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรือง และแผ่ขยายไปในชมพูทวีปอย่างรวดเร็ว ชาวชมพูทวีปพากันละทิ้งลัทธิเดิม แล้วหันมานับถือเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามากขึ้นโดยลำดับและเผยแผ่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธศาสนาหลังพระพุทธองค์ปรินิพาน

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว พระพุทธศาสนายังเจริญในอินเดียสืบมา ความเจริญของพุทธศาสนาขึ้นกับว่าได้รับการส่งเสริมจากผู้มีอำนาจในสมัยนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็มีความรุ่งเรืองมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลากาลล่วงไป ความขัดแย้งอันเกิดจากการตีความพระธรรมคำสอนและพระวินัยไม่ตรงกันได้เกิดขึ้นในหมู่พระสงฆ์ จึงมีการแก้ไขโดยมีการจัดทำสังคายนาร้อยกรองพระธรรมวินัยที่ถูกต้องไว้เป็นหลักฐานสำหรับยึดถือเป็นแบบแผนต่อไป

การสังคายนาครั้งที่ 1

การสังคายนาครั้งที่ 1 กระทำขึ้น หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ 3 เดือน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ โดยพระมหากัสสปะเป็นประธาน พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภ์ พระอานนท์เป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระธรรม และพระอุบาลีเป็นผู้ให้คำตอบเกี่ยวกับพระวินัย มีพระอรหันต์เข้าร่วมในการสังคายนา 500 รูป กระทำ 7 เดือนจึงแล้วเสร็จ [17]

การสังคายนาครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะพระสุภัททะกล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยหลังพุทธปรินิพพานเพียง 9 วัน ทำให้พระมหากัสสปะ ดำริจัดสังคายนาขึ้น ในการสังคายนาครั้งนี้ พระอานนท์ได้กล่าวถึงพุทธานุญาตให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ แต่ที่ประชุมตกลงกันไม่ได้ว่าสิกขาบทเล็กน้อยคืออะไร พระมหากัสสปะจึงให้คงไว้อย่างเดิม

เมื่อสังคายนาเสร็จแล้ว พระปุราณะพร้อมบริวาร 500 รูป จาริกมายังแคว้นราชคฤห์ ภิกษุที่เข้าร่วมสังคายนาได้แจ้งเรื่องสังคายนาให้พระปุราณะทราบ พระปุราณะแสดงความเห็นคัดค้านเกี่ยวกับสิกขาบทบางข้อและยืนยันปฏิบัติตามเดิม ซึ่งแสดงให้เห็นเค้าความแตกแยกในคณะสงฆ์[18] แต่ไม่ถือว่าเป็นสังฆเภท เนื่องจากพระปุราณะยึดถือตามพุทธานุญาตที่ทรงให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้

การสังคายนาครั้งที่ 2 : การแตกนิกาย

เมื่อพุทธปรินิพพานล่วงไป 89 ปี ภิกษุชาววัชชี เมืองเวสาลี ได้ตั้งวัตถุ 10 ประการ ซึ่งผิดไปจากพระวินัย ทำให้มีทั้งภิกษุที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนเกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์ พระยสกากัณฑบุตร ได้จาริกมาเมืองเวสาลี และทราบเรื่องนี้ ได้พยายามคัดค้าน แต่ภิกษุชาววัชชีไม่เชื่อฟัง ภิกษุที่สนับสนุนพระยสกากัณฑบุตรจึงนำเรื่องไปปรึกษาพระเถระผู้ใหญ่ในขณะนั้นได้แก่ พระเรวตะ พระสัพกามีเถระ เป็นต้น จึงตกลงให้ทำการสังคายนาขึ้นอีกครั้ง

ภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วมการสังคายนานี้ แต่ไปรวบรวมภิกษุฝ่ายตนประชุมทำสังคายนาต่างหาก เรียกว่า มหาสังคีติ และเรียกพวกของตนว่า มหาสังฆิกะ[19] ทำให้พุทธศาสนาในขณะนั้นแตกเป็น 2 นิกาย คือ ฝ่ายที่นับถือมติของพระเถระครั้งปฐมสังคายนาเรียก เถรวาท ฝ่ายที่ถือตามมติของอาจารย์ของตนเรียก อาจาริยวาท[20] [21]

อีกราว 100 ปีต่อมา สงฆ์ทั้ง 2 ฝ่ายมีการแตกนิกายออกไปอีก หลักฐานฝ่ายภาษาบาลีว่าแตกไป 18 นิกาย หลักฐานฝ่ายภาษาสันสกฤตว่า แตกไป 20 นิกาย ได้แก่[22]

หลักฐานฝ่ายบาลี

| class="col-break col-break-2" |

หลักฐานฝ่ายสันสกฤต

|}

การสังคายนาครั้งที่ 3

การแพร่กระจายของพระพุทธศาสนาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนา มีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเป็นประธาน ใช้เวลา 9 เดือนจึงสำเร็จ ในการสังคายนาครั้งนี้ พระโมคคัลลีบุตรติสสะ ได้แต่งกถาวัตถุขึ้น เพื่ออธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง[23]

หลังจากการสังคายนาสิ้นสุดลง พระเจ้าอโศกฯได้ส่งสมณทูต 9 สายออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ

  1. คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์และแคว้นคันธาระ
  2. คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสกมณฑล ซึ่งคือ แคว้นไมซอร์และดินแดนลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ในอินเดียใต้ปัจจุบัน
  3. คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นบอมเบย์ในปัจจุบัน
  4. คณะพระธรรมรักขิตะ ไปอปรันตกชนบท แถบทะเลอาหรับทางเหนือของบอมเบย์
  5. คณะพระมหาธรรมรักขิตะ ไปแคว้นมหาราษฎร์
  6. คณะพระมหารักขิตะ ไปโยนกประเทศ ได้แก่แคว้นกรีกในเอเชียกลาง อิหร่าน และเตอร์กิสถาน
  7. คณะพระมัชฌิมเถระ ไปแถบเทือกเขาหิมาลัย คือ เนปาลปัจจุบัน
  8. คณะพระโสณะ และพระอุตตระ ไปสุวรรณภูมิ ได้แก่ ไทย พม่า มอญ
  9. คณะพระมหินทะ ไปลังกา

กำเนิดมหายาน

พระพุทธศาสนามหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 โดยเป็นคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิมที่มีอยู่ 18 - 20 นิกายในขณะนั้น แนวคิดของมหายานพัฒนามาจากแนวคิดของนิกายมหาสังฆิกะและนิกายที่แยกไปจากนิกายนี้ จุดต่างจากนิกายดั้งเดิมคือคณะสงฆ์กลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับการเป็นพระโพธิสัตว์และเน้นบทบาทของคฤหัสถ์มากกว่าเดิม[24] จึงแยกออกมาตั้งนิกายใหม่ เหตุที่มีการพัฒนาลัทธิมหายานขึ้นนั้นเนื่องจาก

  1. แรงผลักดันจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ มีการแต่งมหากาพย์รามายณะและมหาภารตะเพื่อดึงดูดใจผู้อ่านให้ภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า กำหนดให้มีพระเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ประกอบกับได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์ ศาสนาพราหมณ์จึงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ฝ่ายพุทธศาสนาจึงจำเป็นต้องปรับตัว
  2. แรงบันดาลใจจากบุคลิกภาพของพระพุทธองค์ ฝ่ายมหายานเห็นว่าพระพุทธองค์เป็นบุคคลที่ยิ่งใหญ่ ไม่ควรสิ้นสุดหลังจากปรินิพพาน ทำให้เหมือนกับว่าชาวพุทธขาดที่พึ่ง จึงเน้นคุณความดีของพระองค์ ในฐานะที่เป็นพระโพธิสัตว์ เน้นให้ชาวพุทธปรารถนาพุทธภูมิ บำเพ็ญตนเป็นพระโพธิสัตว์ช่วยเหลือผู้อื่น ภายหลังจึงเกิดแนวคิดตรีกายของพระพุทธเจ้า
  3. เกิดจากบทบาทของพุทธบริษัทที่เป็นคฤหัสถ์ เพราะลัทธิมหายานเน้นที่การบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ซึ่งพระโพธิสัตว์เป็นคฤหัสถ์ได้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้คฤหัสถ์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

คณาจารย์ที่สำคัญของนิกายมหายานคือ พระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระอสังคะ พระวสุพันธุ เป็นต้น หลังจากการก่อตัว พุทธศาสนามหายานซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถปรับตัวให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมที่แตกต่างไปในแต่ละท้องถิ่นได้ง่ายกว่าพุทธศาสนาเถรวาทซึ่งเป็นแบบดั้งเดิมได้แพร่กระจายออกจากอินเดียไปในทวีปเอเชียหลายประเทศ[25]

การแผ่ขยายของมหายาน

การแพร่กระจายของมหายานระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 -15

อินเดียและความเสื่อมของพุทธศาสนา

พุทธศาสนามหายานในอินเดียได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์กุษาณ เมื่อสิ้นสุดราชวงศ์กุษาณ พุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์โดยราชวงศ์คุปตะ มีการสร้างศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนา คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เช่น พระนาคารชุน พุทธศาสนาในสมัยนี้ได้แพร่หลายไปยังจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนกระทั่ง การสิ้นสุดอำนาจของราชวงศ์คุปตะจากการรุกรานของชาวฮั่นในพุทธศตวรรษที่ 11[26]

บันทึกของหลวงจีนอี้จิงที่มาถึงอินเดียในพุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวว่า พุทธศาสนารุ่งเรืองในอันธระ ธันยกตกะ และ ฑราวิฑ ปัจจุบัน คือรัฐอันธรประเทศและทมิฬนาดู[27] ยังมีชาวพุทธในเนปาล และสสันภะ ในอาณาจักรคังทา (รัฐเบงกอลตะวันตกในปัจจุบัน) และ หรรษวรรธนะ เมื่อสิ้นสุดยุคอาณาจักรหรรษวรรธนะ เกิดอาณาจักรเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย โดยมีแคว้นราชปุตให้การอุปถัมภ์พุทธศาสนา

จนกระทั่ง ยุคจักรวรรดิปาละในเบงกอล พุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองอีกครั้ง และได้แพร่หลายไปยังสิกขิมและภูฏาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 13-17 เมื่อจักรวรรดิปาละปกครองด้วยกษัตริย์ราชวงศ์เสนะที่นับถือศาสนาฮินดู ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง

ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงอย่างช้า ๆ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ความเสื่อมในอินเดียตะวันออกเริ่มตั้งแต่จักรวรรดิปาละหันไปส่งเสริมศาสนาฮินดูไวษณพนิกาย ส่วนในอินเดียเหนือเริ่มเสื่อมตั้งแต่ พ.ศ. 1736 เมื่อชาวเติร์กที่นับถือศาสนาอิสลาม นำโดยมูฮัมหมัด คิลญี บุกอินเดียและเผามหาวิทยาลัยนาลันทา ตั้งแต่ พ.ศ. 1742 เป็นต้นไป ศาสนาอิสลามแพร่เข้าสู่พิหาร ทำให้ชาวพุทธโยกย้ายไปทางเหนือเข้าสู่เทือกเขาหิมาลัยหรือลงใต้ไปที่ศรีลังกา นอกจากนั้น ความเสื่อมของศาสนาพุทธยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของศาสนาฮินดู ภายใต้การนำของขบวนการต่าง ๆ เช่น อัธไวตะ ภักติ และการเผยแผ่ศาสนาของนักบวชลัทธิซูฟี[28]

พุทธศาสนาในเอเชียกลาง

ดินแดนเอเชียกลางได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาตั้งแต่สมัยพุทธกาล มีกล่าวในเอกสารของฝ่ายเถรวาทว่า พ่อค้าสองคนจากแบกเทรีย คือ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้พบพระพุทธเจ้าและปฏิญาณตนเป็นอุบาสก เมื่อกลับไปบ้านเมืองของตนได้สร้างวัดในพุทธศาสนาขึ้น[29]

เอเชียกลางเป็นดินแดนสำคัญในการติดต่อระหว่างจีน อินเดีย และเปอร์เซีย การุกรานของชาวฮั่นโบราณใน พ.ศ. 343 ไปทางตะวันตกเข้าสู่ดินแดนที่ได้รับอารยธรรมจากกรีกโดยเฉพาะอาณาจักรแบกเทรียทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมขึ้น[30] การขยายตัวของพุทธศาสนาขึ้นสู่ทางเหนือทำให้เกิดอาณาจักรพุทธในเอเชียกลาง เมืองบนเส้นทางสายไหมหลายเมืองเป็นเมืองพุทธที่ต้อนรับนักเดินทางทั้งจากตะวันตกและตะวันออก

พุทธศาสนาเถรวาทแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนของชาวเติร์กก่อนที่จะผสมผสานกับนิกายมหายานที่แพร่หลายเข้ามาภายหลัง ดินแดนดังกล่าว คือ บริเวณที่เป็นประเทศปากีสถาน รัฐแคชเมียร์ อัฟกานิสถาน อิหร่านตะวันออกและแนวชายฝั่ง อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน และทาจิกิสถาน อาณาจักรโบราณในสมัยนั้น คือ แคว้นคันธาระ แบกเทรีย พาร์เทีย และซอกเดีย ศาสนาพุทธในบริเวณนี้ได้แพร่ต่อไปยังจีน อิทธิพลของความเชื่อท้องถิ่นทำให้ศาสนาพุทธในบริเวณนี้แตกเป็นหลายนิกาย นิกายที่โดดเด่น คือ นิกายธรรมคุปตวาทและนิกายสรวาสติวาทิน[31]

ศาสนาพุทธในเอเชียกลางเสื่อมลงเมื่อศาสนาอิสลามแพร่หลายเข้ามาในบริเวณนี้ มีการทำลายสถูปจำนวนมากในสงครามในพุทธศตวรรษที่ 12 ศาสนาพุทธมีท่าทีว่าจะฟื้นตัวขึ้นอีกเมื่อเจงกีสข่านรุกรานเข้ามาในบริเวณนี้ มีการจัดตั้งดินแดนของอิลข่านและชะกะไตข่าน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 แต่อีก 100 ปีต่อมา ชาวมองโกลส่วนใหญ่หันไปนับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ศาสนาอิสลามแพร่หลายไปทั่วเอเชียกลาง

พุทธศาสนาในพาร์เทีย

ศาสนาพุทธแพร่ไปทางตะวันตกถึงพาร์เทียอย่างน้อยถึงบริเวณเมิร์บในมาร์เกียนาโบราณ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเติร์กเมนิสถาน ชาวพาร์เทียจำนวนมากมีบทบาทในการแพร่กระจายของพุทธศาสนาโดยนักแปลคัมภีร์ชาวพาร์เทียจำนวนมากแปลคัมภีร์พุทธศาสนาเป็นภาษาจีน

พุทธศาสนาในแอ่งตาริม

บริเวณตะวันออกของเอเชียกลาง (เตอร์เกสถานของจีน แอ่งตาริม และเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์) พบศิลปะทางพุทธศาสนาจำนวนมาก ซึ่งแสดงอิทธิพลของอินเดียและกรีก ศิลปะเป็นแบบคันธาระ และจารึกเขียนด้วยอักษรขโรษฐี[32]

ดินแดนเอเชียกลาง เป็นตัวเชื่อมสำคัญในการเผยแผ่ศาสนาพุทธไปทางตะวันออก ผู้แปลคัมภีร์เป็นภาษาจีนรุ่นแรก ๆ เป็นชาวพาร์เทีย ชาวกุษาณ หรือชาวซอกเดีย การติดต่อแลกเปลี่ยนพุทธศาสนาระหว่างเอเชียกลางกับเอเชียตะวันออกพบมากในพุทธศตวรรษที่ 15 ทำให้ศาสนาพุทธเข้าไปตั้งมั่นในจีนจนปัจจุบัน

พุทธศาสนาในจีน

คาดว่าพุทธศาสนาเข้าสู่จีนเมื่อพุทธศตวรรษที่ 6 โดยผ่านเอเชียกลาง (แม้จะมีเรื่องเล่าว่ามีพระภิกษุเข้าไปถึงประเทศจีนตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช) จนในพุทธศตวรรษที่ 13 จีนจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของพุทธศาสนา

ใน พ.ศ. 610 มีการก่อตั้งศูนย์กลางการเผยแผ่พุทธศาสนาในจีนโดยพระภิกษุสององค์ คือพระกาศยปะมาตังคะ และพระธรรมรักษ์[33] ใน พ.ศ. 611 พระเจ้าหมิงตี้แห่งราชวงศ์ตงฮั่นได้สร้างวัดม้าขาวซึ่งยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน อยู่ใกล้กับเมืองหลวง คือ เมืองลั่วหยาง คัมภีร์ทางพุทธศาสนามหายานแปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกโดยพระภิกษุจากกุษาณ โลก๊กเสมา ในเมืองลั่วหยาง ระหว่าง พ.ศ. 721- 732[34]ศิลปะทางพุทธศาสนายุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบคันธาระ

พุทธศาสนาในจีนรุ่งเรืองมากในยุคราชวงศ์ถัง[35] ราชวงศ์นี้ได้เปิดกว้างต่อการรับอิทธิพลจากต่างชาติ และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับอินเดีย มีพระภิกษุจีนเดินทางไปอินเดียมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-16 เมืองหลวงในสมัยราชวงศ์ถัง คือ ฉางอาน กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของพุทธศาสนาและเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาต่อไปยังเกาหลีและญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากต่างชาติกลายเป็นผลลบในตอนปลายของราชวงศ์ถัง ใน พ.ศ. 1388 จักรพรรดิหวู่ซุง ประกาศให้ศาสนาจากต่างชาติ ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ และศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ผิดกฎหมาย หันไปสับสนุนลัทธิเต๋าแทน ในสมัยของพระองค์มีการทำลายวัด คัมภีร์และบังคับให้พระภิกษุสึก ความรุ่งโรจน์ของพุทธศาสนาจึงสิ้นสุดลง พุทธศาสนานิกายสุขาวดีและนิกายฌานยังคงรุ่งเรืองต่อมา และกลายเป็นนิกายเซนในญี่ปุ่น นิกายฌานในจีนมีอิทธิพลในสมัยราชวงศ์ซ้อง

พุทธศาสนาในเกาหลี

พุทธศาสนาเข้าสู่เกาหลีเมื่อราว พ.ศ. 915 เมื่อราชทูตจากจีนนำคัมภีร์และภาพวาดไปยังอาณาจักรโคกูรยอ[36] ศาสนาพุทธรุ่งเรืองในเกาหลีโดยเฉพาะนิกายเซนในพุทธศตวรรษที่ 12 จนกระทั่ง ถึงยุคของการฟื้นฟูลัทธิขงจื๊อในสมัยราชวงศ์โชซ็อนตั้งแต่ พ.ศ. 1935 ศาสนาพุทธจึงเสื่อมลง

พุทธศาสนาในญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นได้รับพุทธศาสนาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 11 โดยพระภิกษุชาวเกาหลีนำคัมภีร์และศิลปะทางพุทธศาสนาเข้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อสิ้นสุดยุคของเส้นทางสายไหม พร้อม ๆ กับการเสื่อมของพุทธศาสนาในอินเดีย เอเชียกลางและจีน ญี่ปุ่นยังคงรักษาความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนาไว้ได้ ตั้งแต่ พ.ศ. 1253 เป็นต้นมา มีการสร้างวัดและรูปเคารพจำนวนมากในเมืองหลวงคือเมืองนารา โดยการนำแบบแผนทางวัฒนธรรมจีนเข้ามาผสมผสานในศิลปะแบบญี่ปุ่นจากการเดินทางมาของหลวงจีนเจี้ยนเจิน พุทธศิลป์แบบญี่ปุ่นรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 – 18 ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 พุทธศาสนานิกายเซนรุ่งเรือง รวมทั้งศิลปะที่สืบเนื่องจากนิกายเซนด้วย พุทธศาสนายังคงรุ่งเรืองในญี่ปุ่นจนถึงปัจจุบัน

พุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 6 การค้าทางบกผ่านเส้นทางสายไหมถูกจำกัดเนื่องจากการขยายตัวในตะวันออกกลางของจักรวรรดิเปอร์เซีย และการเป็นศัตรูกับโรม ชาวโรมันที่ต้องการสินค้าจากตะวันออกไกลจึงทำการค้าทางทะเล ติดต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับจีน ผ่านอินเดีย ในช่วงเวลานี้เองอินเดียมีอิทธิพลเหนือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก ตั้งแต่ภาคใต้ของพม่า ภาคกลางและภาคใต้ของไทย กัมพูชาตอนล่างและภาคใต้ของเวียดนาม การค้าชายฝั่งเจริญขึ้นมาก

ผลจาการเผยแผ่อารยธรรมอินเดียเข้าสู่บริเวณนี้ ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตแพร่เข้ามาพร้อมกับศาสนาพุทธทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน ศาสนาพราหมณ์ได้เผยแผ่เข้ามาในบริเวณนี้เช่นกัน พร้อมกับวรรณคดีสำคัญ คือ รามายณะและมหาภารตะ

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 10 – 18 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจักรวรรดิที่รุ่งเรืองทางด้านพุทธศาสนาและศิลปะอยู่สองแห่ง ความเชื่อสำคัญในยุคนี้เป็นแบบมหายาน จักรวรรดิที่มีอิทธิพลทางใต้บริเวณหมู่เกาะ คือ อาณาจักรศรีวิชัย ส่วนทางเหนือ คือ อาณาจักรขอม ที่มีการสร้างรูปพระโพธิสัตว์มาก

อาณาจักรศรีวิชัย

นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อว่าอาณาจักรศรีวิชัยมีศูนย์กลางอยู่มี่ปาเล็มบัง บนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย[37] นับถือพุทธมหายานหรือวัชรยานภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทร์ หลวงจีนอี้จิงบันทึกไว้ว่าที่ปาเล็มบังมีภิกษุมากกว่า 10,000 รูป ท่านอตีศะเคยมาศึกษาที่นี่ ก่อนเข้าไปเผยแผ่พุทธศาสนาในทิเบต

ศิลปะทางพุทธศาสนาของศรีวิชัยแพร่หลายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่า ศิลปะศรีวิชัย สิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ คือ บุโรพุทโธ (สร้างเมื่อราว พ.ศ. 1323) ในเกาะชวา อาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลงเนื่องจากความขัดแย้งกับราชวงศ์โจฬะในอินเดีย ก่อนจะรับอิทธิพลอารยธรรมอิสลามในพุทธศตวรรษที่ 18

อาณาจักรขอม

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 - 18 พุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดูรุ่งเรืองในอาณาจักรขอม มีการสร้างศาสนสถานมากมายในดินแดนที่ปัจจุบันเป็นไทยและกัมพูชา รวมทั้งนครวัด มหายานรุ่งเรืองที่สุดในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้สร้างนครธม มหายานเสื่อมลงในพุทธศตวรรษที่ 16 ไล่เลี่ยกับความเสื่อมของมหายานในอินเดีย จากนั้น พุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เข้ามามีอิทธิพลแทนที่

กำเนิดวัชรยาน

พุทธศาสนานิกายวัชรยาน หรือ พุทธศาสนาลัทธิตันตระ กำเนิดขึ้นครั้งแรกทางตะวันออกของอินเดีย เมื่อราว พ.ศ. 700 - 1200[38] บางครั้งจัดเป็นส่วนหนึ่งของมหายานแต่บางครั้งก็แยกตัวเองออกมาต่างหาก หลักปรัชญาของวัชรยานเป็นแบบเดียวกับมหายาน แต่มีวิธีการหรือ "อุปาย" ต่างไป โดยมีการใช้ญาณทัศน์และโยคะอื่น ๆ เข้ามา การฝึกเหล่านี้ได้อิทธิพลจากลัทธิตันตระของศาสนาฮินดู วัชรยานในทิเบต ก่อตั้งโดยท่านปัทมสัมภวะ

วัชรยานยุคแรก ผู้ฝึก เรียกว่า มหาสิทธา มักอยู่ตามป่า จนกระทั่งราว พ.ศ. 1400 วัชรยานจึงแพร่เข้าสู่มหาวิทยาลัยทางพุทธศาสนาในยุคนั้น คือ มหาวิทยาลัยนาลันทาและมหาวิทยาลัยวิกรมศิลา[39] วัชรยานเสื่อมจากอินเดียเมื่อราว พ.ศ. 1700 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรุกรานอินเดียของชาวมุสลิม ทำให้ขาดผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา วัชยานได้แพร่หลายไปสู่ทิเบตและกลายเป็นพุทธศาสนานิกายหลักที่นั่น บางส่วนได้แพร่หลายต่อไปยังจีนและญี่ปุ่นเกิดเป็นนิกายเชนเหยน หรือมี่จุงในจีน และนิกายชินกอนในญี่ปุ่น

การฟื้นฟูนิกายเถรวาท

การแพร่กระจายของพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ศาสนาพุทธในอินเดียเริ่มเสื่อมลงตั้งแต่ราว พ.ศ. 1600 - 1700 เนื่องมาจากการทำสงครามกับชาวมุสลิมที่เข้ามารุกรานอินเดีย และอาจเกิดจากการเน้นศึกษาด้านปริยัติของเหล่าพระภิกษุ ขาดการปฏิบัติ และไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ทำให้การนับถือพุทธศาสนามหายานในดินแดนที่เป็นประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบันเสื่อมลงด้วย ในช่วงเวลานั้น การค้าขายทางทะเลระหว่างตะวันออกกลางไปยังจีนผ่านทางศรีลังกาเริ่มเฟื่องฟูขึ้น และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการฟื้นฟูนิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลีที่ศรีลังกาอีกครั้ง นิกายนี้จึงแพร่หลายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระเจ้าอโนรธามังช่อ กษัตริย์ผู้ก่อตั้งจักรวรรดิพม่าครั้งแรกเป็นผู้รับพุทธศาสนาเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์นี้เข้าสู่พม่า มีการสร้างเจดีย์ในเมืองหลวงมากมาย[40] แม้ในกาลต่อมา อำนาจของพม่าเสื่อมถอยลงเพราะถูกมองโกลรุกราน และไทยมีอำนาจขึ้นแทน พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็ยังคงเป็นนิกายหลักในพม่า

พุทธศาสนานิกายเถรวาทจากลังกาแพร่หลายเข้าสู่ประเทศไทยที่นครศรีธรรมราชและสุโขทัยเมื่อราว พ.ศ. 1800[41] และยังคงนับถือสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน พุทธศาสนานิกายเถรวาทได้แพร่หลายจากไทยไปยังลาวและกัมพูชา ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของไทยมาก่อน ส่วนดินแดนในเขตหมู่เกาะของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาณาจักรศรีวิชัยที่เคยนับถือนิกายมหายานเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามเกือบทั้งหมด รวมทั้ง ดินแดนแถบภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย

พุทธศาสนาในโลกตะวันตก

นักบุญโยซาฟัตในเอกสารกรีก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพุทธประวัติที่แปลเป็นภาษากรีก

มีหลักฐานว่าพุทธศาสนาแพร่หลายไปถึงตะวันตกมานาน ชาดก ซึ่งเป็นคัมภีร์หนึ่งในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา มีผู้แปลเป็นภาษาซีเรียค และภาษาอาหรับ เช่น Kalilag and Dammag พุทธประวัติแปลเป็นภาษากรีกโดย จอห์นแห่งดามัสกัส ได้เป็นที่แพร่หลายในหมู่ชาวคริสต์ในนามของบาร์ลาอัมและโยซาฟัต เรื่องนี้เป็นที่นิยมของชาวคริสต์ จนกระทั่ง เมื่อประมาณ พ.ศ. 1800 ชาวคริสต์ยกย่องโยซาฟัตให้เป็นนักบุญแห่งนิกายคาทอลิก

ความสนใจในพุทธศาสนาเริ่มขึ้นอีกครั้งในยุคอาณานิคม เมื่อมหาอำนาจตะวันตกได้มีโอกาสศึกษาศาสนาในรายละเอียดมากขึ้น ปรัชญาในยุโรปสมัยนั้นได้รับอิทธิพลจากศาสนาในตะวันออกมาก การเปิดประเทศของญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ. 2396 ทำให้มีการยอมรับศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่น รวมทั้งวัฒนธรรมเกี่ยวกับศาสนาพุทธด้วย งานแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเป็นภาษาตะวันตกเริ่มขึ้นโดย Max Muller ผู้จัดพิมพ์ Sacred Books of the East "คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งตะวันออก" มีการจัดตั้งสมาคมบาลีปกรณ์เพื่อจัดพิมพ์พระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพุทธศาสนาอื่นๆ แต่ความสนใจยังจำกัดในหมู่ปัญญาชน [42]

ศาสนาพุทธเริ่มเป็นที่สนใจของชาวยุโรปอย่างกว้างขวาง ในพุทธศตวรรษที่ 25 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2เป็นต้นมา ความเชื่อทางศาสนาของชาวตะวันตกเปลี่ยนไปเน้นที่ความเชื่อของปัจเจกบุคคลมากขึ้น ทำให้ศาสนาพุทธเป็นที่ดึงดูดใจ จากการที่มีข้อพิสูจน์ให้พิสูจน์ได้ด้วยการปฏิบัติด้วยตนเอง มีการตั้งองค์กรทางพุทธศาสนาระดับโลกโดยชาวพุทธจากเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือรวม 27 ประเทศที่ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. 2493 ในชื่อองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก[43]

ประเทศอังกฤษ

พุทธศาสนาเข้าสู่อังกฤษครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2448 โดย J.R. Jackson เป็นผู้ก่อตั้งพุทธสมาคมในอังกฤษ และ Charls Henry Allen Bernett ผู้ซึ่งต่อมาบวชเป็นพระภิกษุในพม่า มีฉายาว่า "อานันทเมตเตยยะ" เป็นพระภิกษุชาวอังกฤษคนแรก [44] คณะสงฆ์ไทยส่งคณะทูตไปเผยแผ่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2507 และได้สร้างวัดไทยชื่อวัดพุทธปทีปในลอนดอน

ประเทศเยอรมนี

มีการตั้งสมาคมเผยแผ่พระพุทธศาสนาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2446 ต่อมามีชาวเยอรมันไปบวชเป็นพระภิกษุที่ศรีลังกา การเผยแผ่พุทธศาสนาในเยอรมันชะงักไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และถูกห้ามในสมัยของฮิตเลอร์ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาโดยพระภิกษุจากพม่า และมีการติดต่อกับพุทธสมาคมในศรีลังกา มีวัดไทยในเบอร์ลินเช่นกัน [45]

สหรัฐอเมริกา

พุทธศาสนาเข้าสู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ. 2448 โดยเป็นพุทธศาสนาจากจีนและญี่ปุ่น ในยุคต่อมาจึงเป็นพุทธศาสนาแบบทิเบต ใน พ.ศ. 2504 มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเปิดสอนปริญญาเอกสาขาพุทธศาสตร์เป็นแห่งแรกในสหรัฐ คณะสงฆ์ไทยสร้างวัดไทยแห่งแรกในสหรัฐเมื่อ พ.ศ. 2515 [46]

อ้างอิง

  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต คาถาธรรมบท อัตตวรรคที่ ๑๒. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  2. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค อัตตทีปวรรคที่ ๕ อัตตทีปสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[2]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  3. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เจลสูตร (ว่าด้วยการมีธรรมเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[3]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  4. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑2 อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต ทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[4]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  5. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ปัญจสติกขันธกะ (เรื่องพระมหากัสสปเถระ สังคายนาปรารภคำของพระสุภัททวุฑฒบรรพชิต). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[5]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  6. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ เรื่องพระสัมภูตสาณวาสีเถระ. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[6]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  7. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ สัตตสติกขันธกะ ที่ ๑๒ (ถามและแก้วัตถุ ๑๐ ประการ). พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[7]>. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  8. Nine Yana categorisation
  9. Dalai Lama. The Middle Way. Wisdom Publications 2009, page 22.
  10. Major Religions Ranked by Size เก็บถาวร 2008-06-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; U.S. State Department's International Religious Freedom Report 2004. http://www.state.gov/g/drl/rls/irf/2004/ Accessed 20 September 2008; Garfinkel, Perry. "Buddha Rising", National Geographic Dec. 2005: 88–109; CIA - The World Factbook เก็บถาวร 2010-01-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  11. Lopez, Story of Buddhism. p. 239
  12. Lopez, Buddhism. p. 248
  13. ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 602
  14. ศาสดาและประวัติ เก็บถาวร 2007-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เว็บไซต์กรมการศาสนา
  15. พระอัญญาโกณฑัญญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู
  16. พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย ฉบับหลวง (เล่ม 4) 2525 ; 32/32
  17. อภิชัย, 2539 น. 10-11
  18. อภิชัย, 2539 น. 12-21
  19. อภิชัย, 2539 น. 12-21
  20. อภิชัย, 2539 น. 12-21
  21. หลังจากสังคายนาครั้งที่ 2 อาจาริยวาทยังมีลักษณะใกล้เคียงกับเถรวาทมากกว่ามหายานในปัจจุบัน ต่างกันที่ความเห็นเกี่ยวกับพระอรหันต์และพระพุทธเจ้า และวินัยเป็นหลัก ยังไม่เน้นที่การเป็นพระโพธิสัตว์ ส่วนมหายานแบบปัจจุบันเริ่มขึ้นหลังจากนั้นในยุคที่มีการปรับตัวเพื่อสู้กับศาสนาฮินดู โดยจุดที่ต่างจากยุคแรกคือเน้นความสำคัญที่การเป็นพระโพธิสัตว์มากขึ้นส่วนวินัยพัฒนามาจากอาจาริยวาทแบบเดิมและเพิ่มวินัยของพระโพธิสัตว์เข้ามา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ อภิชัย, 2539 และ ประยงค์, 2548
  22. อภิชัย, 2539 น. 41-79
  23. อภิชัย, 2539 น. 30-35
  24. อภิชัย, 2539 น. 83-93
  25. อภิชัย, 2539 น. 83-93
  26. ประยงค์, 2548
  27. "Xuanzang's Time and his Footsteps". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-24. สืบค้นเมื่อ 2007-08-11.
  28. เสถียร, 2513
  29. Richard Foltz 1999
  30. Richard Foltz, 1999
  31. สุชาติ, 2545 น. 51-59
  32. สุชาติ, 2545 น. 51
  33. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย, น.580-581
  34. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย, น.580-581
  35. ประยงค์, 2548 น.108-109
  36. สุชาติ, 2545 น.59
  37. นงคราญ, 2544 น. 170-178 (ดูการวิเคราะห์ที่ตั้งของศรีวิชัยได้ในหนังสือเล่มนี้)
  38. ประยงค์, 2548 น.77
  39. ประยงค์, 2548 น. 77-78 และอภิชัย, 2539
  40. สุชาติ, 2545 น.101
  41. สุชาติ, 2545 น.106-107
  42. สุชาติ, 2545 น.171
  43. พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล, 2548 น.581-582
  44. สุชาติ, 2545 น.173
  45. สุชาติ, 2545 น.170-175
  46. สุชาติ, 2545 น. 175
  • นงคราญ ศรีชาย. ตามรอยศรีวิชัย.กทม. มติชน.2544
  • ประยงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม.โอเดียนสโตร์. 2548
  • พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากลอังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัญฑิตยสถาน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. ราชบัณฑิตยสถาน. 2548
  • สุชาติ หงษา. ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาจากอดีตถึงปัจจุบัน. กทม. สถาบันบันลือธรรม. 2545
  • เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. บรรณาคาร. 2513
  • อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539
  • "Japanese Buddhism" by Sir Charles Eliot, ISBN 0-7103-0967-8
  • "Religions of the Silk Road" by Richard Foltz (St. Martin’s Griffin, New York, 1999) ISBN 0-312-23338-8

หนังสืออ่านเพิ่มเติม

  • พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต). พระพุทธศาสนาในอาเซีย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ธรรมสภา, 2548. ISBN 978-975-005-933-9
  • "Dictionary of Buddhism" by Damien Keown (Oxford University Press, 2003) ISBN 0-19-860560-9
  • "Living Zen" by Robert Linssen (Grove Press, New York, 1958) ISBN 0-8021-3136-0
  • "The Shape of Ancient Thought. Comparative studies in Greek and Indian Philosophies" by Thomas McEvilley (Allworth Press, New York, 2002) ISBN 1-58115-203-5
  • "Hinduism and Buddhism: An Historical Sketch" by Sir Charles Eliot, ISBN 81-215-1093-7
  • "The Crossroads of Asia. Transformation in Image and symbol", 1992, ISBN 0-9518399-1-8
  • "Revival of Buddhism in India and Role of Dr. Baba Saheb B.R. Ambedkar" by Bhagwan Das (Dalit Today Prakashan, 18/455, Indira Nagar, Lucknow, U.P., India, 1998)
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9