วิลเลิม ไอนต์โฮเฟิน
วิลเลิม ไอนต์โฮเฟิน (ดัตช์: Willem Einthoven; 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1860 – 29 กันยายน ค.ศ. 1927) เป็นแพทย์และนักสรีรวิทยาชาวดัตช์ เกิดที่เมืองเซอมารัง หมู่เกาะอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (ปัจจุบันคือประเทศอินโดนีเซีย) เป็นบุตรของยาโกบ ไอนต์โฮเฟิน และลูวีเซอ มารียา มาติลเดอ กาโรลีเนอ เดอ โฟเคิล[1] ต่อมาบิดาเสียชีวิต มารดาจึงพาบุตรทั้ง 6 คนย้ายกลับมาอาศัยในเนเธอร์แลนด์โดยตั้งรกรากที่เมืองยูเทรกต์ ไอนต์โฮเฟินเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยยูเทรกต์และดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยไลเดิน[2] ไอน์ไทโฟนศึกษาเรื่องคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งในสมัยนั้นมีการค้นพบแล้วว่าการเต้นของหัวใจก่อให้เกิดคลื่นไฟฟ้า แต่ยังไม่มีเครื่องมือที่ใช้วัดอย่างแม่นยำ ในปี ค.ศ. 1901 ไอนต์โฮเฟินประดิษฐ์เครื่องสตริงกัลวานอมิเตอร์[3] ซึ่งประกอบด้วยเส้นใยที่พาดผ่านแม่เหล็กกำลังสูง เมื่อคลื่นไฟฟ้าวิ่งผ่านเส้นใย สนามแม่เหล็กจะทำให้เส้นใยขยับเป็นเงาบนม้วนกระดาษที่เคลื่อนที่ ไอนต์โฮเฟินใช้เครื่องมือนี้ในการศึกษาโรคหัวใจต่าง ๆ นอกจากนี้ไอนต์โฮเฟินยังกำหนดให้ใช้ตัวอักษร P, Q, R, S และ T ในการแปรผล รวมถึงคิดค้นสามเหลี่ยมไอนต์โฮเฟิน ซึ่งเป็นการอธิบายตำแหน่งขั้วไฟฟ้าหัวใจ[4] ในปี ค.ศ. 1924 ไอนต์โฮเฟินได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์[5] ในช่วงบั้นปลายชีวิต ไอนต์โฮเฟินสนใจด้านสวนศาสตร์ ไอนต์โฮเฟินเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1927 อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|