โรแบร์ต บาราญ
โรแบร์ต บาราญ (ฮังการี: Róbert Bárány; 22 เมษายน ค.ศ. 1876 – 8 เมษายน ค.ศ. 1936) เป็นนักโสตวิทยาชาวออสเตรีย-ฮังการี เกิดที่กรุงเวียนนา ในครอบครัวชาวยิวฮังการี เป็นบุตรของอิกนาซ บาราญ และมาริยา ฮ็อค[1] บาราญเรียนวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเวียนนา เมื่อทำงานเป็นแพทย์ บาราญได้ทดลองฉีดของเหลวเข้ารูหูของผู้ป่วยเพื่อลดอาการวิงเวียน เขาพบว่าเมื่อฉีดของเหลวเย็นเข้าไป ผู้ป่วยจะมีอาการรู้สึกหมุนและตากระตุก และเมื่อเปลี่ยนเป็นของเหลวอุ่น ผู้ป่วยจะมีอาการตากระตุกในทิศทางตรงข้าม บาราญจึงตั้งสมมติฐานว่าเอนโดลิมฟ์จะต่ำลงเมื่ออยู่ในอุณหภูมิเย็นและสูงขึ้นเมื่ออยู่ในอุณหภูมิอุ่น เขาพบว่าทิศทางการไหลของเอนโดลิมฟ์มีผลต่อการรับรู้อากัปกิริยาและการรักษาสมดุลของร่างกาย บาราญได้ทดลองจนพบว่าการผ่าตัดสามารถรักษาโรคทางระบบรักษาสมดุลได้ หลังจากนั้นเขาได้ศึกษาด้านอื่น ๆ ของการรักษาสมดุล รวมถึงหน้าที่ของสมองส่วนซีรีเบลลัม[2] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง บาราญทำงานเป็นศัลยแพทย์ในกองทัพออสเตรีย-ฮังการี แต่ถูกกองทัพรัสเซียจับตัว ขณะถูกคุมขัง บาราญได้รับแจ้งว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี ค.ศ. 1914 บาราญได้รับการปล่อยตัวในปี ค.ศ. 1916 หลังมีการเจรจาทางการทูตระหว่างรัสเซียกับกาชาด บาราญเข้าร่วมพิธีรับรางวัลโนเบลในปีเดียวกัน ปีต่อมา บาราญดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุปซอลา และดำรงตำแหน่งนี้จนกระทั่งเสียชีวิต[3] ด้านชีวิตส่วนตัว บาราญแต่งงานกับอีดา เฟลีซีทัส แบร์เกอร์ ในปี ค.ศ. 1909 มีบุตรด้วยกัน 3 คน บาราญเสียชีวิตที่เมืองอุปซอลาในปี ค.ศ. 1936[3] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|