อัลเฟรด เฮอร์ชีย์
อัลเฟรด เดย์ เฮอร์ชีย์ (อังกฤษ: Alfred Day Hershey; 4 ธันวาคม ค.ศ. 1908 – 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1997) เป็นนักวิทยาแบคทีเรียและนักพันธุศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นผู้พิสูจน์ว่าดีเอ็นเอเป็นสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิต และได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ร่วมกับซัลวาดอร์ ลูเรียและมักซ์ เดลบรึคในปี ค.ศ. 1969 ประวัติอัลเฟรด เดย์ เฮอร์ชีย์เกิดที่เมืองโอวอสโซ รัฐมิชิแกน ในปี ค.ศ. 1908 เป็นบุตรของรอเบิร์ต เดย์ เฮอร์ชีย์และอัลมา วิลเบอร์ เฮอร์ชีย์[2] เรียนจบปริญญาตรีสาขาเคมีที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตตในปี ค.ศ. 1930 และเรียนจบปริญญาเอกสาขาวิทยาแบคทีเรียในปี ค.ศ. 1934 ก่อนจะทำงานที่ภาควิชาวิทยาแบคทีเรียที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ ในปี ค.ศ. 1940 เฮอร์ชีย์ร่วมกับซัลวาดอร์ ลูเรียและมักซ์ เดลบรึคทำการทดลองแบคเทริโอเฟจ พวกเขาพบว่าเมื่อไวรัสสองชนิดเกาะบนเชื้อแบคทีเรียตัวเดียวกัน ไวรัสสองชนิดนี้อาจมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลพันธุกรรมกัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1950 เฮอร์ชีย์และมาร์ธา เชส ผู้ช่วย ย้ายไปทำงานที่ภาควิชาพันธุศาสตร์ สถาบันคาร์เนกีแห่งวอชิงตันในเมืองโคลด์สปริงฮาร์เบอร์ รัฐนิวยอร์ก สองปีต่อมา ทั้งสองได้ร่วมกันสร้างการทดลองเฮอร์ชีย์–เชส ซึ่งพิสูจน์ว่าสารพันธุกรรมในสิ่งมีชีวิตคือดีเอ็นเอ ไม่ใช่โปรตีน[3] ในปี ค.ศ. 1962 เฮอร์ชีย์ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันคาร์เนกี ต่อมาในปี ค.ศ. 1969 เฮอร์ชีย์ ลูเรียและเดลบรึคได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ จากผลงานการค้นพบการจำลองตัวเองของไวรัสและโครงสร้างทางพันธุกรรม[4] เฮอร์ชีย์แต่งงานกับแฮร์เรียต เดวิดสัน เฮอร์ชีย์ มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน เฮอร์ชีย์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1997 ด้วยภาวะหัวใจวาย[5] อ้างอิงแหล่งข้อมูลอื่น
|