เกอร์ตี คอรี
เกอร์ตี เทเรซา คอรี (อังกฤษ: Gerty Theresa Cori; นามสกุลเดิม: แรดนิตซ์ (Radnitz); 15 สิงหาคม ค.ศ. 1896 – 26 ตุลาคม ค.ศ. 1957)[1] เป็นนักชีวเคมีชาวเช็ก/อเมริกัน เกิดที่เมืองปราก จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเช็กเกีย) เป็นบุตรสาวของออตโตและมาร์ธา แรดนิตซ์ เรียนที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยชาลส์ ปราก ขณะเรียนอยู่ที่นั่น เกอร์ตีพบกับคาร์ล คอรี ทั้งคู่แต่งงานกันหลังเรียนจบใน ค.ศ. 1920 และย้ายไปอยู่ที่เมืองเวียนนา โดยเกอร์ตีทำงานที่โรงพยาบาลเด็ก ส่วนคาร์ลทำงานที่ห้องปฏิบัติการ[2] สองปีต่อมา เกอร์ตีและคาร์ลย้ายไปที่สหรัฐและทำงานที่สถาบันมะเร็งรอสเวลล์พาร์กในเมืองบัฟฟาโล รัฐนิวยอร์ก ทั้งคู่ร่วมกันศึกษากระบวนการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตและค้นพบวัฏจักรคอรี[3] ซึ่งเป็นการสร้างแลคเตตจากกระบวนการไกลโคไลซิสแบบไม่ใช้ออกซิเจน ต่อมาใน ค.ศ. 1931 เกอร์ตีและคาร์ลย้ายไปที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี คาร์ลได้รับตำแหน่งนักวิจัย ส่วนเกอร์ตีรับตำแหน่งผู้ร่วมวิจัยที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ทั้งคู่ค้นพบกลูโคส 1-ฟอสเฟตและอธิบายโครงสร้างของเอนไซม์ ฟอสโฟรีเลส ใน ค.ศ. 1947 สามี-ภรรยาคอรีและเบอร์นาโด ฮูสเซย์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์[4] เกอร์ตีเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์และสตรีคนที่สามที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวิทยาศาสตร์[5] ใน ค.ศ. 1953 เกอร์ตีได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกสถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกา[6] เกอร์ตีเสียชีวิตด้วยโรคเกี่ยวกับไขกระดูกใน ค.ศ. 1957 ต่อมานามสกุลของเกอร์ตีได้รับการนำไปตั้งเป็นชื่อของแอ่งดวงจันทร์[7] และแอ่งดาวศุกร์[8] อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|