Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

พระเจ้าแตงหวาน

พระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์
พระบาทองค์ชัย
พระรูปฉลองพระองค์สมเด็จพระองค์ชัย (พระบาทศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 ) ทรงพระแสงหอกลำแพงชัย อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์
กษัตริย์ในตำนาน อาณาจักรพระนคร
ครองราชย์• ค.ศ.1290 - 1336 (จตุมุข)
• ค.ศ.1336 - 1340 (ศรียโศธรปุระ)
ก่อนหน้าพระเจ้าราชนคริน
(ราชวงศ์วรมัน สายราชสกุลมหิธรปุระ)
( เอกสารมหาบุรุษเขมร )[1]
ถัดไปพระบรมนิพพานบท
(ราชสกุลตระซ็อกประแอม)
(เอกสารมหาบุรุษเขมร)
ประสูติค.ศ. 1221
สวรรคตค.ศ. 1341
คู่อภิเษกพระนางจันทรวรเทวี(เขมร: ព្រះ​នាង​ច័ន្ទតារាវត្តី​)
(พระราชธิดาในพระเจ้าราชนคริน.)
พระราชบุตรพระบรมนิพพานบท
พระสิทธานราชา(หรือพระศิริรัตน์เขมร: ព្រះសិរីរតន៍)
( เอกสารมหาบุรุษเขมร )
พระนามเต็ม
พระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์ บรมมหาบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช พระเจ้ากรุงกัมพูชาธิบดี (เขมร: ព្រះបាទស្រីសុរិយោពណ៌ ​សម្ដេច​មហាបពិត្រ​ ​ធម្មិក​រាជា​ធិរាជ​ ​ជា​អង្គម្ចាស់​ផែនដី​ក្រុង​កម្ពុជា​ធិបតី)
ราชวงศ์ราชวงศ์ตรอซ็อกผแอม
เขมร :រាជវង្ស ព្រះបាទអង្គជ័យ (ราชวงศ์พระองค์ชัย )
พระราชบิดาพระปทุมราชา(เขมร: ព្រះបទុមរាជា)
พระราชมารดาพระนางโสภาวดี(เขมร: ព្រះនាងសុភវត្តី)
ศาสนาพระพุทธศาสนาเถรวาท[ต้องการอ้างอิง]

สมเด็จพระองค์ชัย (เขมร: ព្រះបាទអង្គជ័យ) หรือที่รู้จักในพระนาม พระบาทตระซ็อกประแอม ( พระเจ้าแตงหวาน ) (เขมร: ត្រសក់ផ្អែម) หรือพระบาทสมเด็จพระศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 (ព្រះបាទស្រីសុរិយោពណ៌ទី១) โดยทั่วไปถือว่าเป็นกษัตริย์ในตำนานของอาณาจักรพระนครซึ่งสันนิษฐานว่าสวรรคตประมาณ พ.ศ. 1883[2][3]

พระราชประวัติของพระองค์นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงและยังหาข้อสรุปไม่ได้ในหมู่นักวิชาการกัมพูชาและนักวิชาการไทย (โดยเฉพาะแนวคิดว่าด้วยกัมพูชาในช่วงการปฏิวัติขอม)

พระเจ้าแตงหวานในประวัติศาสตร์กัมพูชา

ในปัจจุบันนักวิชาการทางด้านประวัติศาสตร์ของกัมพูชา ยังไม่สามารถระบุตัวตนของพระองค์ทางประวัติศาสตร์ได้ว่าพระองค์ทรงมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะที่มาของพระองค์ไม่มีความชัดเจนซึ่งเมื่อเทียบกับพงศาวดารตำนานเจ้าฟ้างุ้มของลาวซึ่งมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันก็ไม่พบพระนามของพระองค์ หรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงถึงพระองค์ ดังนั้นนักวิชาการกัมพูชาจึงให้สมมุติฐานว่าเรื่องราวของพระองค์อาจเป็นเพียงนิทานที่เล่าสืบต่อกันมาและมีการผูกเรื่องราวกับพระแสงหอกลำแพงชัย เครื่องราชกกุธภัณฑ์กษัตริย์ทำให้การมีตัวตนของพระองค์ยิ่งมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น[4]

เรื่องราวตำนานของพระเจ้าแตงหวานนี้มีลักษณะแบบเดียวพระเจ้าญองอู้ ซอยะฮ่านแห่งราชวงศ์พุกามซึ่งเป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชนชาติในภูมิภาคนี้

ในปี พ.ศ. 2448 พระเจ้าแตงหวานหรือพระเจ้าตระซ็อกประแอมเริ่มได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในกัมพูชาว่าเป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์โดยมีการเชิดชูพระเกียรติยศโดยกษัตริย์กัมพูชาหลายพระองค์ทั้งในราชสกุลนโรดมและราชสกุลสีสุวัตถิ์ โดยในปีพ.ศ. 2508 พระองค์ยังคงเป็นบุคคลทั่วไปในการอภิปรายทางประวัติศาสตร์การเมืองและมีความชัดเจนในตัวตนของพระองค์มากขึ้น[5]

แต่ต่อมาในปีพ.ศ. 2538 พระเจ้าแตงหวานได้กลายเป็นบุคคลเพียงในตำนานมากกว่าจะบุคคลเป็นบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์เพราะการหาหลักฐานมาพิสูจน์ความมีตัวตนของพระองค์นั้นแทบไม่มีหลักฐานใดๆที่เชื่อมโยงถึงพระองค์นอกจากพระราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาฉบับนักองค์เองซึ่งยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

วง โสเธียรา ( Vong Sotheara ) ศาสตราจารย์ด้านจารึกเขมรและประวัติศาสตร์กัมพูชา-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการมีตัวตนของพระเจ้าตรอซ็อกผแอม[6]โดยศึกษารวบรวมจากจารึกและเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่พบความเชื่อมโยงใดๆเกี่ยวกับพระองค์และระยะช่วงเวลาการมีพระชนม์ชีพนั้นอยู่ระหว่าง ค.ศ.1221 - ค.ศ.1340 นั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและมีความเป็นไปได้ที่ พระเจ้าตรอซ็อกผแอม (ตาชัย) และพระบาทศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 (พระบาทองค์ชัย) อาจไม่ใช่บุคคลคนเดียวกัน

พระราชประวัติของพระบาทองค์ชัยนั้นระบุว่าทรงเป็นพระราชบุตรเขยของพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร ( พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ) และทรงอภิเษกสมรสกับพระนางจันทรวรเทวีพระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 9[7]ในปี ค.ศ. 1290 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์การสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ถึง 45 ปี โดยจารึกระบุปีที่พระเจ้าแตงหวานขึ้นครองราชสมบัติหลังการสวรรคตของพระสัสสุระคือปี ค.ศ. 1336 แต่ตำนานพระเจ้าแตงหวานระบุว่าทรงปลงพระชนม์พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ในปี 1336 และอภิเษกกับพระนางจันทรวรเทวีและสถาปนาขึ้นเป็นพระมเหสี ซึ่งในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 พระองค์ทรงหันมานับถือศาสนาฮินดูและพยายามโน้มน้าวพระทัยพระราชบิดาให้หันกลับมานับถือฮินดู โดยบ้านเมืองในขณะนั้นมีการยึดถือระบบชนชั้นวรรณะอย่างเข้มข้นการที่พระองค์จะให้พระราชธิดาซึ่งมีวรรณะกษัตริย์อภิเษกสมรสกับตาชัยผู้เฝ้าสวนแตงและมีวรรณะศูทรนั้นย่อมเป็นไปได้ยาก หากเป็นเช่นนั้นจริงพระบรมนิพพานบทพระราชโอรสจะขึ้นครองราชสมบัติขณะมีพระชนมายุเพียง 4 ชันษาแต่พงศาวดารระบุว่าพระองค์ครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดาเมื่อพระชนมายุ 49 พรรษา และสวรรคตขณะมีพระชนมายุได้ 54 พรรษา

อย่างไรก็ตามเรื่องราวของพระบาทศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 นั้นมีความสอดคล้องกับพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา พงศาวดารจามปาและศึกสงครามระหว่างเมืองพระนครกับอาณาจักรจามปา รวมถึงรอยต่อทางประวัติศาสตร์ของสงครามที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทรงมีชัยชนะเหนืออาณาจักรจามปา[8] และมีการกวาดต้อนเชื้อพระวงศ์จามปามาไว้ในเมืองพระนครหลวงและเกณฑ์เป็นแรงงานสร้างเมืองนครธม [9] ดังนั้นนักวิชาการจึงยังไม่ตัดประเด็นความเป็นไปได้ที่พระบาทศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 ( พระองค์ชัย ) พระราชบิดาพระบรมนิพพานบท และพระสิทธานราชาจะมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาตร์ซึ่งอาจมีความเป็นไปได้ที่พระองค์อาจจะไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันกับตาชัยผู้เฝ้าสวนแตงหรือพระเจ้าแตงหวาน

พระราชประวัติ

สมเด็จพระองค์ชัย (เขมร: ព្រះបាទអង្គជ័យ อักษรโรมัน: Trasak Peam ) หรือพระเจ้าตระซ็อกประแอม หรือพระบาทศรีสุริโยพันธุ์ที่ 1 พระเจ้าแตงหวานทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นปกครองเมืองทางตอนใต้ (ใกล้เมืองจตุมุข,พนมเปญ) โดยการรวมตัวของทาสที่เป็นกลุ่มพวกเดียวกันในพระราชอาณาจักรชัยวรมันที่หลบหนีออกจากพระนครหลวงและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆที่เป็นชนชั้นที่ถูกปกครองทางตอนใต้ โดยช่วงเวลานั้นอำนาจในพระนครหลวงได้เริ่มเสื่อมอำนาจลงอย่างมาก เมืองภายใต้การปกครองพยายามแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระ ซึ่งต่อมาเมืองนี้ได้กลายเป็นฐานอำนาจสำคัญของราชสกุลตระซ็อกประแอม เมื่อพระบรมราชาหรือเจ้าพญาญาติทรงย้ายราชธานีจากพระนครหลวงมายังเมืองนี้[10][11]ซึ่งเป็นฐานอำนาจเก่ามาตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าแตงหวาน พระเจ้าแตงหวานทรงขึ้นปกครองเมืองนี้เมื่อพระชนมายุ 70 ปี ในปี ค.ศ. 1290 และทรงอภิเษกกับพระนางจันทรวรเทวีพระราชธิดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ในปีนี้ด้วยต่อมาทรงได้ครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระนครหลวง ในปี ค.ศ. 1336-1340 พระเจ้าแตงหวานทรงเป็นผู้สร้างพระแสงหอกลำแพงชัย อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญมากที่สุดของอาณาจักรกัมพูชาคู่กับ พระขรรค์ราช ทรงเฉลิมพระนามหลังจากเสวยราชสมบัติว่า พระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์ บรมมหาบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช (เขมร: ព្រះបាទ​សម្ដេច​មហាបពិត្រ​ ​ធម្មិក​រាជា​ធិរាជ​ ​ជា​អង្គម្ចាស់​ផែនដី​ក្រុង​កម្ពុជា​ធិបតី ) อยู่ในราชสมบัติ 5 ปี

พระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา

ในพระราชพงศาวดารกรุงกัมพูชาซึ่งพระราชนิพพนธ์โดยสมเด็จนักองค์เอง[12] พระเจ้าแผ่นดินแห่งพระราชอาณาจักรเขมรในขณะนั้น (ปัจจุบันคือ เมืองอุดงฦาไชย จังหวัดกำปงสปือ) กล่าวว่า สมเด็จพระองค์ชัย หรือ พระเจ้าแตงหวานนี้ เป็นปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ของราชสกุลนโรดม และทรงเป็นผู้สร้างพระแสงหอกลำแพงชัย อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญมากที่สุดของอาณาจักรกัมพูชาคู่กับ พระขรรค์ราช พระเจ้าแตงหวานมีชื่อเดิมว่าองค์ชัย พระราชบิดาเป็นเจ้าชายเชื้อพระวงศ์แห่งอาณาจักรจามปา เมื่อครั้งพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรพระนครหลวงยกทัพหลวงจากละโว้ (ลพบุรี) เข้าโจมตีเมืองพระนครหลวงได้คืนจากพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรจามปาที่ปกครองพระนครหลวงแล้วยกทัพหลวงบุกต่อไปถึงอาณาจักรจามปา จนมีชัยชนะสามารถผนวกดินแดนจามปาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิได้สำเร็จ เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะเหนือจามปา พระองค์ได้กวาดต้อนเชื้อพระวงศ์จามปา รวมถึงไพร่ทาสชาวจามปาเข้าเป็นเชลยเกณฑ์เป็นแรงงานสร้างปราสาทหิน เจ้าชายปทุมะแห่งจามปาผู้เป็นพระราชบิดา ได้ถูกกวาดต้อนมาในครั้งนี้ด้วย ด้วยเป็นเชื้อพระวงศ์ที่สวามิภักดิ์จึงได้รับการดูแลเยี่ยงเชลยศักดิ์ ต่อมาพระองค์ได้ทูลขอเสด็จออกบวชเป็นพราหมณ์ขึ้นไปบำเพ็ญตบะอยู่บนเขาพนมกุเลน ส่วนพระนางโสภาวดีพระชายาทรงพระครรภ์ปลอมปนพระองค์อยู่กับเชลย เมื่อพระนางคลอดบุตรชายตั้งชื่อว่าองค์ชัย เป็นเด็กฉลาดและมีบุญญาธิการมากพออายุได้ 7 ปี มารดาให้ออกตามหาบิดาที่ออกบวชอยู่บนเขา บิดาได้มอบเมล็ดแตงให้ 3 เมล็ดและเหล็กอีกก้อนหนึ่งเชื่อว่าเป็นของวิเศษ องค์ชัยได้นำเมล็ดแตงมาปลูก ต่อมาเด็กเลี้ยงวัวมาเก็บกินพบว่ารสชาติดีมีรสหวานฉ่ำ องค์ชัยจึงหวงแตงนั้นมากวันหนึ่งมีวัวจะมากินแตงที่ปลูกไว้องค์ชัยได้นำเหล็กที่บิดามอบให้ขว้างใส่วัวจนทะลุตัววัวเสียชีวิต เรื่องราวของผลแตงหวานนั้นดังไปถึงหูพระราชาพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 พระองค์จึงโปรดที่จะเสวยแตงนั้น เมื่อเสวยแล้วทรงโปรดปรานยิ่งนักจึงทรงแต่งตั้งเป็นหัวหน้าสวนหลวง และโปรดให้นำเหล็กที่ขว้างวัวจนตายไปตีเป็นหอก ไว้ป้องกันโจรขโมยมาลักขโมยแตง พระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ทรงพระราชทานพระแสงหอกลำแพงชัยนั้นให้เป็นอาญาสิทธิ์ อยู่มาวันหนึ่งพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ปรารถนาเสวยแตงขึ้นมากลางดึก จึงเสด็จลงไปในสวนจะไปเก็บแตงมาเสวย ซึ่งนายแตงหวานนึกว่าเป็นโจรมาลักแตง จึงขว้างพระแสงหอกลำแพงชัยอันเป็นอาญาสิทธิ์โดนพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 ถึงแก่สวรรคต บรรดานาหมื่นสรรพมุขมนตรีทั้งหลายจึงพร้อมใจกันถวายราชสมบัติให้ขึ้นสืบราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงพระนครหลวง ต่อมา[13]โดยเฉลิมพระนามหลังจากเสวยราชสมบัติว่า พระบาทกมรเตง อัญศรีสุริโยพันธุ์ บรมมหาบพิตรธรรมิกมหาราชาธิราช (เขมร: ព្រះបាទ​សម្ដេច​មហាបពិត្រ​ ​ធម្មិក​រាជា​ធិរាជ​ ​ជា​អង្គម្ចាស់​ផែនដី​ក្រុង​កម្ពុជា​ធិបតី ) และทรงรับพระนางจันทรวรเทวี(เขมร: ព្រះ​នាង​ច័ន្ទតារាវត្តី​) อันพระราชธิดาในพระเจ้าชัยวรมันที่ 9 เป็นสมเด็จพระอัครมเหสี เรื่องราวตำนานของพระเจ้าแตงหวานนี้มีลักษณะแบบเดียวพระเจ้าญองอู้ ซอยะฮ่านแห่งราชวงศ์พุกาม นักวิชาการกัมพูชาเชื่อว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าตระซ็อกประแอมไม่ใช่เหตุบังเอิญแต่มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนและมีการเตรียมการไว้โดยพระปทุมราชาพระราชบิดาและเชลยทาสชาวจามปาที่ต้องการยึดอำนาจเพื่อปลดแอกจากพวกชนชั้นปกครอง เพราะหลังจากการเสด็จขึ้นครองราชย์พระเจ้าตระซ็อกปะแอมได้ทำการกวาดล้างกลุ่มอำนาจเก่าจนเกือบสิ้น[14][15]

การก่อจลาจลในพระนครหลวง

ในปี ค.ศ. 1335 - 1336 ตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร แห่งพระนครหลวงได้เกิดการลุกฮือของชนชั้นทาสในเมืองพระนครหลวงเนื่องจากการถูกบังคับกดขี่ใช้แรงงานหนักจากชนชั้นปกครองในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวร(เอกสารเขมรระบุว่าทรงปกครองโดยไม่ชอบธรรม ทำให้บ้านเมืองเกิดกลียุค) จนเกิดเหตุการณ์การปฏิวัติขอม จากบันทึกของโจว ต้ากวาน ทูตชาวจีนที่เข้ามาในเมืองพระนครหลวงในรัชสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่ 3 ได้บันทึกว่า ในเมืองมีทาสมากกว่านายทาส [16]ซึ่งอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมทาสถึงกล้าลุกฮือขึ้นก่อจลาจลเพื่อปลดแอกจากชนชั้นปกครอง จากนั้นทาสได้ร่วมกันสังหารนายทาสจนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ต่อมาในปี ค.ศ.1336 ได้ปรากฏพระนามกษัตริย์พระองค์ใหม่พระนามพระบาทศรีสุริโยพันธุ์ หรือพระเจ้าแตงหวาน[17][18] ซึ่งกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาและยกเลิกประเพณีการสร้างปราสาทหินเพื่อถวายแด่เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ฮินดู พระเจ้าแตงหวานเกิดและโตในอาณาจักรขะแมร์ในฐานะชนชั้นกสิกรซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่บรรดาทาสชาวจามเลือกที่จะยกพระเจ้าแตงหวานขึ้นเป็นกษัตริย์เพราะทรงสืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์จาม พงศาวดารกล่าวว่าพระเจ้าแตงหวานทรงซัดพระแสงหอกลำแพงชัยถูกพระเจ้าชัยวรมันปรเมศวรถึงแก่สวรรคตในปี ค.ศ. 1336 บรรดาขุนนางจึงยกพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ซึ่งพระองค์ไม่ใช่คนในราชวงศ์หรือเกี่ยวข้องกันกับกษัตริย์ในราชสกุลมหิธรปุระ และเป็นเรื่องยากที่บรรดาขุนนางที่ภักดีกับกษัตริย์องค์ก่อนจะยกคนที่สังหารกษัตริย์ขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่เว้นแต่มีการก่อกบฏยึดพระราชอำนาจขุนนางจึงจำยอมต้องสวามิภักดิ์

เสด็จสวรรคต

พระเจ้าแตงหวาน ทรงประชวรด้วยทรงพระชราภาพสวรรคต ในปี ค.ศ. 1341 พระชนม์มายุ 120 ปี หลังจากสวรรคตกองทัพอยุธยาได้ยกทัพเข้าโจมตีพระนครหลวงในรัชสมัยพระราชโอรสของพระองค์คือพระบรมนิพพานบทแต่ยังไม่สามารถตีชิงเอาเมืองได้พระบรมนิพพานบททรงประชวรสวรรคตครองราชสมบัติได้ 5 ปี[19]พระสิทธานราชาอนุชาจึงขึ้นสืบราชบัลลังกเพื่อรักษาราชสมบัติ ทัพอยุธยาจึงยกทัพกลับไปในรัชสมัยพระสิทธานราชา หลังจากพระเจ้าแตงหวานสวรรคตได้ 12 ปี กรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพเข้าโจมตีพระนครหลวงอีกครั้ง กรุงแตกในรัชสมัยพระบรมลำพงษ์ราชา[20]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. ธิบดี บัวคำศรี. "เอกสารมหาบุรุษเขมร : การศึกษางานเขียนประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของกัมพูชา". จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  2. "Cambodia's King Trasak Paem 'is just a fictional monarch' - Khmer Times". Khmer Times. 26 December 2022. สืบค้นเมื่อ 3 February 2023.
  3. Phoeun, Mak (1995). Histoire du Cambodge: de la fin du XVIe siècle au début du XVIIIe (ภาษาฝรั่งเศส). Presses de l'Ecole française d'Extrême-Orient. p. 30. ISBN 978-2-85539-776-4.
  4. Harris, Ian (2008-03-11). Cambodian Buddhism: History and Practice. University of Hawaii Press. p. 109. ISBN 978-0-8248-3298-8.
  5. Phoeun, Mak (1995). Histoire du Cambodge: de la fin du XVIe siècle au début du XVIIIe (in French). Presses de l'Ecole française d'Extrême-Orient. p. 30. ISBN 978-2-85539-776-4.
  6. Cambodia's King Trasak Paem 'is just a fictional monarch' - Khmer Times". Khmer Times. 26 December 2022
  7. Phoeun, Mak (1995). Histoire du Cambodge: de la fin du XVIe siècle au début du XVIIIe (in French). Presses de l'Ecole française d'Extrême-Orient. p. 30. ISBN 978-2-85539-776-4.
  8. Georges Coedès: Un grand roi de Cambodge - Jayavarman VII., Phnom Penh 1935.
  9. Paul Mus: Angkor at the Time of Jayavarman VII., Bulletin de Société des Études Indochinoises (Paris), 27 (1952) 3: 261-273
  10. ប្រវត្តិសាស្ត្រខ្មែរភាគរឿងនិទាន ដោយលោកបណ្ឌិតសភាចារ្យ រស់ ចន្ទ្រាបុត្រ
  11. Renowned for its ability to grow tasty cucumbers," according to A. Dauphin-Meunier, History of Cambodia.
  12. ศานติ ภักดีคำ. เขมรรบไทย. กทม. มติชน. 2554. หน้า 272
  13. ↑ "Renowned for its ability to grow tasty cucumbers," according to A. Dauphin-Meunier, History of Cambodia.
  14. http://www.rfa.org/khmer/news/history/the-king-of-angkor-continued-06252014003352.html
  15. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-06. สืบค้นเมื่อ 2019-09-06.
  16. Zhou Daguan (2007). A Record of Cambodia. Translated by Peter Harris. University of Washington Press. ISBN 978-9749511244.
  17. พงศาวดารกัมพูชาที่แปลชำระและที่นิพนธ์เป็นภาษาไทย พ.ศ. 2339-2459 กับหน้าที่ที่มีต่อชนชั้นปกครองไทย,ธิบดี บัวคำศรี
  18. วัฒนธรรมขอมกับความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา, อุดม เชยกีวงศ์, สำนักพิมพ์ภูมิปัญญา,พศ. ๒๕๕๒, หน้า ๑๖๓
  19. สถาบันกษัตริย์เขมรโบราณจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 ,หอสมุดวังท่าพระ(PDF)
  20. เขมรรบไทย,ศานติ ภักดีคำ.มติชน .2554
  • A Study report of Ankor Vat
  • สุมาลี บำรุงสุข. นักองค์เอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 155 - 157
ก่อนหน้า พระเจ้าแตงหวาน ถัดไป
พระเจ้าชัยวรมันที่ 9
(ราชวงศ์วรมันแห่งเมืองพระนครหลวง)
สมเด็จพระเจ้าศรียโศธราปุระแห่งพระนครหลวง
(ค.ศ.1290 ถึง 1341)
พระบรมนิพพานบท
(ราชวงศ์ตระซ็อกประแอม)
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9