คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์Faculty of Law, Thammasat University |
|
คติพจน์ | เป็นเลิศ เป็นธรรม ร่วมนำสังคม |
---|
สถาปนา | 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 (90 ปี)[1]
|
---|
คณบดี | รองศาสตราจารย์ ดร. ปกป้อง ศรีสนิท |
---|
ที่อยู่ | |
---|
วารสาร | • วารสารนิติศาสตร์[2] • Thammasat Business Law Journal • วารสารวิชาการกฎหมายขนส่งและพาณิชยนาวี • หนังสือรพี[2] |
---|
เพลง | นิติศาสตร์สามัคคี |
---|
สี | สีขาว |
---|
มาสคอต | ดู สัญลักษณ์คณะ |
---|
เว็บไซต์ | www.law.tu.ac.th |
---|
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อังกฤษ: Faculty of Law, Thammasat University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชา สังกัดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นับได้ว่าเป็นคณะนิติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3][4] โดยมีต้นกำเนิดมาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม (รับโอนภารกิจของโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม) มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ และมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและวงการนิติศาสตร์ของประเทศไทย
ประวัติ
เมื่อเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2477 ยังไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบคณะวิชา การศึกษานิติศาสตร์จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแขนงวิชาที่เรียกว่า "ธรรมศาสตรบัณฑิต"
ในทางหลักการ การเรียนการสอนนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับโอนภารกิจมาจากโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม โดยโรงเรียนกฎหมาย ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียนอันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระนั้นก็ได้มีแจ้งความของโรงเรียนเกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการย้ายไปทำการเรียนการสอนยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม
พ.ศ. 2453 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงพ้นจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม หลังจากนั้นโรงเรียนกฎหมายก็ทรุดโทรมตามลำดับ และต้องไปเปิดทำการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราวที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ราชวรมหาวิหาร และที่เรือนไม้หลังเล็ก ๆ ระหว่างตึกศาลแพ่งกับตึกเก๋งจีนซึ่งบัดนี้ทำลายลงเสียแล้ว
พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับโรงเรียนกฎหมายไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม และให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโรงเรียนนี้ โดยสถานที่เรียนนั้นย้ายมายังตึกกรมประชาสัมพันธ์เดิมบริเวณเชิงสะพานผ่านพิภพลีลา
พ.ศ. 2475 เมื่อมีการปฏิวัติสยามโดยคณะราษฎร รัฐบาลได้จัดตั้งคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วให้โอนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรม ไปสมทบกับคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2476 ครั้งนั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดให้การเรียนการสอนของโรงเรียนกฎหมาย เป็นแผนกวิชาหนึ่งในคณะดังกล่าว โดยผู้สำเร็จหลักสูตรนิติศาสตร์ได้รับเพียงประกาศนียบัตร หากต้องการเป็นเนติบัณฑิตต้องไปสมัครเป็นสมาชิกของเนติบัณฑิตยสภาอีกชั้นหนึ่ง อนึ่ง ปัจจุบันจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งคณะดังกล่าวขึ้นใหม่ โดยแยกออกเป็นคณะรัฐศาสตร์คณะหนึ่ง และคณะนิติศาสตร์อีกคณะหนึ่ง ทั้งนี้ การโอนไปสมทบดังกล่าวเป็นแต่ทางนิตินัย ทว่าโดยพฤตินัยแล้ว ยังคงจัดการเรียนการสอนยังคงอยู่ที่อาคารเดิมของโรงเรียนกฎหมายเชิงสะพานผ่านพิภพลีลาเช่นเดิม[5]
พ.ศ. 2476 สภาผู้แทนราษฎรได้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476 ขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ปีนั้น และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปีเดียวกัน[4] โดยความสำคัญว่า
มาตรา 4 ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมหาวิทยาลัยหนึ่ง เรียกว่า 'มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง' มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชากฎหมาย วิชาการเมือง วิชาเศรษฐการ และบรรดาวิชาอื่น ๆ อันเกี่ยวกับธรรมศาสตร์และการเมือง
มาตรา 5 ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนทรัพย์สินและงบประมาณของคณะเหล่านั้น มาขึ้นต่อมหาวิทยาลัยนี้ ก่อนวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2477
เมื่อแรกสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ไม่ได้มีการแยกเป็นคณะ ๆ ต่าง ๆ ดังปัจจุบัน หากมีแต่การเรียนการสอนที่เรียกว่า "ธรรมศาสตรบัณฑิต" อักษรย่อว่า "ธ.บ." จัดการเรียนการสอนแต่วิชาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476
พ.ศ. 2492 วันที่ 14 มิถุนายน ปีนั้น ได้มีการแยกหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตออกเป็นคณะวิชาสี่คณะ ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี การศึกษาระดับปริญญาตรีมีสี่ปี นอกจากนี้ หลักสูตรการเรียนการสอนของคณะนิติศาสตร์ก็ได้รับการปรับปรุงโดยให้เริ่มวิชาภาษาต่างประเทศและเน้นหนักไปในทางปฏิบัติให้เหมาะสมแก่การประกอบ
พ.ศ. 2496 การศึกษาตามหลักสูตรธรรมศาสตรบัณฑิตเดิมได้เลิกไปเป็นการถาวร
พ.ศ. 2512 คณะนิติศาสตร์เริ่มสร้างอาจารย์ประจำคณะ โดยดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามารับราชการเป็นอาจารย์ประจำ และได้จัดสรรทุนการศึกษาสำหรับส่งอาจารย์ไปศึกษาวิชานิติศาสตร์ในระดับสูงในต่างประเทศ ในระยะเริ่มต้นคณะได้จัดสรรทุนธรรมศาสตร์และทุนจากสมาคมธรรมศาสตร์ให้แก่อาจารย์คณะนิติศาสตร์เพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกโดยมีวัตถุประสงค์ให้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ประจำที่คณะนิติศาสตร์ ซึ่งในระยะตั้งแต่ พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา คณะก็ได้รับทุนการศึกษาจากแหล่งต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ทุน ก.พ. ทุนโอเซี่ยนนิคและสุวรรณมาศ ทุนรัฐบาลฝรั่งเศส ทุนอานันทมหิดล สาขาธรรมศาสตร์ เป็นต้น
พ.ศ. 2514 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนอีกครั้ง โดยนำระบบหน่วยกิตและการวัดผลแบบใหม่เข้ามาใช้ในมหาวิทยาลัย ยังผลให้หลักสูตรทั้งปวงของคณะนิติศาสตร์ก็ได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับระบบของมหาวิทยาลัย เว้นแต่วิธีการวัดผลการศึกษาซึ่งยังใช้ระบบคะแนนดังเดิม โดยถือเป็นเพียงคณะเดียวในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ใช้ระบบคะแนนเฉลี่ย ไม่ใช่ระบบเกรดเฉลี่ย
พ.ศ. 2515 คณะนิติศาสตร์ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตร์สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากสาขาอื่นมาแล้ว เรียกว่า "หลักสูตรชั้นปริญญาตรีคณะนิติศาสตร์ ภาคบัณฑิต" โดยเข้าศึกษาเฉพาะวิชาบังคับ ตามหลักสูตรชั้นปริญญาตรีชั้นปีที่สอง ปีที่สาม และปีที่สี่ ของคณะนิติศาสตร์ ผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรนี้มีศักดิ์และสิทธิเป็น "นิติศาสตรบัณฑิต" แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เสมอกันกับผู้สำเร็จหลักสูตรปรกติ
พ.ศ. 2549 ผลจากมติสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ได้ทำการย้ายการเรียนการสอนหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ ทั้งหมดมาทำการเรียนการสอน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยนักศึกษา รหัส 4901XXXXXX ถือเป็นรหัสแรกที่ต้องศึกษา ณ ศูนย์รังสิต ตลอดหลักสูตรการศึกษา เว้นแต่ภาคฤดูร้อนที่ต้องกลับไปศึกษา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
พ.ศ. 2552 คณะนิติศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ ขึ้น ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เป็นรุ่นแรก ตามนโยบายการกระจายการศึกษาวิชานิติศาสตร์สู่ท้องถิ่น ในเบื้องต้นเปิดรับนักศึกษาจากผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนทั้งสิ้น 200 คน โดยรับด้วยวิธีมหาวิทยาลัยคัดเลือกตรง (สอบตรง) จากผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคเหนือ จำนวน 150 คน และผ่านระบบรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาจากทั่วประเทศอีก 50 คน และในปีเดียวกันนี้ได้ปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคบัณฑิต ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปางลงด้วย[6]
พ.ศ. 2556 คณะนิติศาสตร์ ได้เปิดหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ ภาคภาษาอังกฤษ ณ ศูนย์ท่าพระจันทร์ โดยเป็นสถาบันการศึกษานิติศาสตร์แห่งแรกในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษเต็มรูปแบบในระดับชั้นปริญญาตรี
ปัจจุบัน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คงเปิดดำเนินการและมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นคณะในสถาบันอุดมศึกษาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานเป็นอันดับที่สองของประเทศไทย รองจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[7][8][9][10]
การบริหาร
ทำเนียบคณบดี
หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีและผู้รักษาการแทนคณบดีเป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะรับตำแหน่ง
ศูนย์กฎหมาย
เพื่อประโยชน์ของการศึกษาวิชานิติศาสตร์ และการให้บริการงานวิจัยแก่ภาครัฐ และสังคม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงบริหารงานทางวิชาการในลักษณะของศูนย์วิชานิติศาสตร์ โดยประกอบด้วยศูนย์กฎหมาย ดังต่อไปนี้
ศูนย์หรือสถาบันศึกษากฎหมายเฉพาะทาง
คณะนิติศาสตร์ ได้จัดให้มีศูนย์ศึกษากฎหมายเฉพาะทางหรือสถาบันศึกษากฎหมายเฉพาะทาง ดังนี้
หน่วยงานอื่น
นอกจากหน่วยงานที่ตอบสนองภารกิจพื้นฐานของคณะนิติศาสตร์แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นเพื่อสนองการดำเนินงานตามนโยบาย ดังนี้
สัญลักษณ์
- ตรา – ตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตราธรรมจักร มีรัฐธรรมนูญใส่พานอยู่ตรงกลาง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509[12]
- ธง – ธงประจำคณะนิติศาสตร์ใช้ธงสีเดียวกันกับธงมหาวิทยาลัย คือ ธงสีเหลือง แต่เพิ่มคำว่า "คณะนิติศาสตร์" เข้าไปในธรรมจักร
- สี – สีขาวเป็นสีประจำคณะนิติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ถึงความสะอาดบริสุทธิ์และอวมลทิน ทั้งนี้ ชุดครุยคณะนิติศาสตร๋ใช้แถบสีขาวเป็นแถบครุย
- สัญลักษณ์ – ตราชูหรือดุลพ่าห์เป็นสัญลักษณ์อย่างไม่เป็นทางการของคณะนิติศาสตร์ หมายถึง เครื่องนำพาไปซึ่งความเที่ยงตรง
- สัตว์สัญลักษณ์ – เสือเหลืองเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของคณะ แสดงถึงความสง่างาม การรักษาเกียรติยศ หลงใหลในความยุติธรรม รักสันโดษ พลังอำนาจ ความน่าเกรงขาม และความเป็นผู้นำ นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า เสือเป็นผู้คานอำนาจการปกครองกับสิงห์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคณะรัฐศาสตร์ การใช้สัตว์ทั้งสองเป็นสัญลักษณ์นี้มีที่มาจากการแข่งขันกีฬาของทั้งสองคณะที่เรียก "กีฬาประเพณีเสือเหลือง-สิงห์แดง"
การเรียนการสอน
หลักสูตร
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วยการเรียนการสอนตามหลักสูตรดังต่อไปนี้[15]
การอบรม
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดให้มีการอบรมความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะด้านหลายโครงการแก่บุคคลทั่วไปหรือผู้สนใจ ซึ่งประกอบไปด้วย
- โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน
- โครงการอบรมกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล
- โครงการอบรมภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย
- โครงการอบรมประกาศนียบัตรกฎหมายธุรกิจสำหรับบุคคลทั่วไป
- โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ
การฝึกอบรมเฉพาะทาง
นอกจากโครงการอบรมที่จัดขึ้นเพื่ออบรมบุคคลภายนอกเป็นการทั่วไปแล้ว คณะนิติศาสตร์ยังจัดโครงการอบรมให้กับหน่วยงานภายนอกเป็นการเฉพาะ ดังนี้
ปริญญาตรี
นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) สาขาวิชานิติศาสตร์ (Bachelor of Laws Programme : LL.B)[16]
ทั้งนี้ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ได้เปิดบรรยายดังต่อไปนี้ [17]
- ภาคปกติ หลักสูตร 4 ปี (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยจัดการศึกษา ณ ศูนย์รังสิต และศูนย์ลำปางในแต่ละปีการศึกษาจะคัดเลือกนักศึกษาผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น
- โครงการคัดเลือกผ่านระบบกลางการรับนักศึกษา (Admission)
- โครงการส่งเสริมการศึกษาวิชานิติศาสตร์ (คณะนิติศาสตร์จัดสอบคัดเลือกเอง)
- โครงการขยายโอกาสทางการศึกษา
- โครงการนักศึกษาเรียนดีจากชนบทและเขตเมือง
- โครงการผู้มีความสามารถดีเด่นด้านการกีฬา
- โครงการนักศึกษาเรียนดีแต่ขาดโอกาส
- โครงการนักศึกษาชาวไทยภูเขา
- โครงการคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์โอลิมปิก
- โครงการมหาดไทย
- โครงการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักศึกษาผู้พิการทางสายตา
- โครงการรับนักเรียนพลเมืองจิตอาสาเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คณะนิติศาสตร์ได้จัดให้มีการศึกษาเฉพาะทางสำหรับนักศึกษาผู้สนใจ นักศึกษาอาจเลือกศึกษาวิชาบังคับเลือกและวิชาเลือกของคณะนิติศาสตร์ เพื่อขอรับประกาศนียบัตรสาขาความเชี่ยวชาญทางกฎหมายเฉพาะทางใดสาขาหนึ่งตามข้อกำหนด ซึ่งจัดให้มีการศึกษาความรู้เฉพาะด้านใน 6 สาขาด้วยกัน คือ
- ภาคภาษาอังกฤษ หลักสูตร 4 ปี คือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขากฎหมายธุรกิจ ภาคภาษาอังกฤษ (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) โดยจัดการศึกษา ณ ศูนย์ท่าพระจันทร์
- ภาคบัณฑิต หลักสูตร 3 ปี คือ หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ ยกเว้นสาขานิติศาสตร์)
- โครงการนิติศาสตร์ภาคบัณฑิต ณ ศูนย์ท่าพระจันทร์
ประกาศนียบัตรบัณฑิต
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดให้มีการเรียนการสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรสำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับนิติศาสตรบัณฑิต โดยมิได้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรในระดับปริญญาโท หากแต่เป็นโครงการที่มีลักษณะเฉพาะที่สมบูรณ์ในตัวเอง การศึกษาตามโครงการนี้จะเน้นให้ศึกษาได้มีความรู้ ทั้งทางด้านกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติที่เป็นอยู่โดยจะศึกษาทั้งทางด้านทฤษฎีควบคู่กับการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละเรื่องในทางปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายมหาชน (Graduate Diploma Programme in Public Law)
- ประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายธุรกิจ (Graduate Diploma Programme in Business Law)
ปริญญาโท
นิติศาสตรมหาบัณฑิต (น.ม.) (Master of Laws Programme : LL.M)[18]
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันแรกในประเทศไทยที่เปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทโดยเกิดขึ้นพร้อมกับการจัดตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ. 2477 และได้ปรับปรุงหลักสูตรนี้โดยตลอด การปรับปรุงครั้งล่าสุดมีขึ้นในปี พ.ศ. 2553 โดยประกอบไปด้วยสาขาวิชาดังต่อไปนี้
- หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต หลักสูตร 2 ปี ไม่เกิน 4 ปี (สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต) เปิดรับสมัคร 8 สาขา ดังนี้
- หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต ภาคภาษาอังกฤษ สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต ดังนี้
- Master of Laws Program in Business Laws (English Programme)
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (Master of Arts Programme : M.A.) สำหรับผู้ที่สำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต หรือปริญญาบัณฑิตอื่น ดังนี้
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตด้านกฎหมายมหาชน (Public Law)
- หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขานิติเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศ
ปริญญาเอก
หลักสูตรปริญญาเอกคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดดำเนินการเรียนการสอนเป็นสถาบันแรกของประเทศไทย และได้จัดการเรียนการสอนตลอดมา โดยผู้สมัครเป็นผู้เสนอหัวข้อให้บัณฑิตศึกษา คณะนิติศาสตร์ เป็นผู้พิจารณาวิทยานิพนธ์ เป็นต้น โดยประกอบไปด้วยหลักสูตรดุษฎีบัณฑิต จำนวน 2 หลักสูตร ดังนี้
- นิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต (น.ด.) (Doctor of Laws Programme : LL.D.)
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.) สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม (Doctor of Philosophy Program in Justice Administration : Ph.D.)
กิจการนักศึกษา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดระบบกิจกรรมนักศึกษา โดยให้นักศึกษามีอิสระในการดำเนินกิจกรรม ซึ่งมีคณะกรรมการนักศึกษาคณะนิติศาสตร์เป็นผู้ดำเนินกิจกรรมหลัก ทั้งนี้ ยังประกอบด้วยกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ภายในคณะอีกด้วยที่มีคณะกรรมการนักศึกษาฯ เป็นผู้ประสานงาน
เครือข่ายนักศึกษา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นภาคีสมาชิกองค์การต่อไปนี้
- Asian Law Students Association (ALSA)
- องค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สมัชชาประชาคมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กิจกรรมประจำ
กิจกรรมหลักในแต่ละปีการศึกษาประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้เป็นต้น
- วันแรกพบ และรับเพื่อนใหม่คณะนิติศาสตร์
- Nitiday โดยเป็นกิจกรรมสำหรับสานความสัมพันธ์ภายในคณะสำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี
- ไหว้ครูนิติศาสตร์ โดยเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณและทำบุญอุทิศแด่บูรพคณาจารย์นิติศาสตร์
- นิติสัมพันธ์ โดยเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์กับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- นิติสัมพันธ์ (รังสิต–ลำปาง) โดยเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์กับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง
- นิติวังหน้า–ศิริราชวังหลัง โดยเป็นกิจกรรมสานความสัมพันธ์กับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- Shaking Law กิจกรรมตอบแทนเพื่อนเก่าผู้มาก่อน โดยเพื่อนใหม่ที่มาทีหลัง
- งานประกวดโต๊ะกลุ่ม และดาวเดือน
- งานประกวดร้องเพลงมหาวิทยาลัยภายในคณะ
- ละคอนเวทีคณะนิติศาสตร์
- วันรพี
และยังประกอบด้วยกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ เป็นต้นว่า
- สันทนาการคณะนิติศาสตร์
- ชุมนุมขับร้องประสานเสียงคณะนิติศาสตร์ (Juris Chorus)
- โครงการค่ายเปิดประตูสู่นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Pre–Camp)
- โครงการเผยแพร่วิชานิติศาสตร์ (คพน.)
- กลุ่มศึกษากฎหมายภาคปฏิบัติ (กศป.)
- วารสารนิติศาสตร์
- Law Students Club
- ศาลจำลอง (Moot Court)
- ค่ายเทียน ณ สวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- ค่ายอาสาพัฒนาชนบท คณะนิติศาสตร์ ซึ่งในหนึ่งปีจะมีอย่างน้อย 3 ค่าย โดย 3 กลุ่มกิจกรรม
- กลุ่มนักร้องประสานเสียงคณะนิติศาสตร์
- TILSA (Thammasat International Legal Scholars Association)
- หนังสือพิมพ์ฎีกา
- สโมสรฟุตบอลคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กลุ่มเฟมินิสต์แห่งคณะนิติศาสตร์ (Thammasat Law School Feminist Club)
กิจกรรมเด่น
วันรพี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเนื่องในวันรพี (วันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์) เป็นประจำในวันที่ 7 สิงหาคมของทุกปี ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การแข่งขันตอบปัญหากฎหมายระดับอุดมศึกษาชิงถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระบรมราชอิสริยยศในขณะนั้น) และระดับมัธยมศึกษาชิงถ้วยรางวัลประทานพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (พระอิสริยยศในขณะนั้น) การแสดงศาลจำลอง การเสวนาวิชาการ การแนะแนวการศึกษา ลานน้ำชาปัญญาชน ห้องประวัติศาสตร์เดือนตุลา การจัดแสดงนิทรรศการวิชาการ และการจัดขบวนเชิญพวงมาลาไปถวายสักการะพระรูปพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ณ ลานพระรูปหน้าศาลยุติธรรม
นอกจากนี้ ในแต่ละปียังมีการคัดเลือกนักศึกษาจำนวนแปดคน เป็นชายสี่คน และหญิงสี่คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากนักศึกษาด้วยกันเองให้เป็น "ทูตกิจกรรมงานวันรพี" หรือที่นิยมเรียกว่า "ทูตรพี" อีกด้วย ทูตกิจกรรมงานวันรพีนั้นมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมทั้งปวงและมีหน้าที่เชิญพวงมาลาไปวางหน้าพระรูปพร้อมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยตามกำหนดการ
งานวันรพีของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มักได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน เนื่องจากมีการเสวนาทางวิชาการเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศ และผู้ร่วมเสวนามักเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและผู้มีชื่อเสียงในสังคม[19][20]
โต๊ะ
โต๊ะ หมายถึง นักศึกษาที่ได้รับการจัดเป็นกลุ่ม ซึ่งมีธรรมเนียมว่า นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีหนึ่ง ให้เลือกโต๊ะของตนด้วยการจับสลากในวันรับเพื่อนใหม่นิติศาสตร์ ธรรมเนียมนี้ริเริ่มอย่างเป็นรูปเป็นร่างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2525 ปัจจุบัน มีโต๊ะทั้งสิ้นยี่สิบห้าโต๊ะ ดังนี้[21]
- โต๊ะกลมก้อน
- โต๊ะกลางสวน
- โต๊ะข้างลิฟต์
- โต๊ะโดมนนทรี
- โต๊ะตูล่า
- โต๊ะใต้กะได
- โต๊ะนิติรักษ์
|
- โต๊ะปาล์มขวด
- โต๊ะพรรคมาร
- โต๊ะยูเนี่ยนวัน
- โต๊ะรพีพัฒน์
- โต๊ะรังมด
- โต๊ะรากไม้
- โต๊ะริมทาง
|
- โต๊ะศาลา
- โต๊ะเสือกระดาษ
- โต๊ะเสือเขย่ง
- โต๊ะเสือซ่อนเล็บ
- โต๊ะเสือสี่แยก
- โต๊ะเสือเอาละวา
- โต๊ะแสดดำ
|
- โต๊ะไส้สอด
- โต๊ะหางนกยูง
- โต๊ะเอาท์ลอว์
- โต๊ะฮิจุ๋ม
|
พ.ศ. 2553 คณะอนุกรรมการนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จัดให้มีโต๊ะขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ทั้งสิ้นสิบสองโต๊ะ[22] ดังนี้
- โต๊ะกล้าธรรม (ทำ)
- โต๊ะซอมพอ
- โต๊ะมิตรเต่า
|
- โต๊ะยอดตึกโดม
- โต๊ะสิงเสาบันไดโดม
- โต๊ะเสือ (กะ) ธรรม
|
- โต๊ะเสือเคียงโดม
- โต๊ะเสือสะอ้าน
- โต๊ะเสือสิงหฺสมุด
|
- โต๊ะ InLaw
- โต๊ะเสือร้าย
- โต๊ะโต๊ะเตียง
|
ระบบการจัดการและธรรมเนียมเฉพาะของแต่ละโต๊ะมีความแตกต่างกันไป ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ที่มีการจัดโต๊ะเพื่อให้สมาชิกโต๊ะดูแลช่วยเหลือกันตามอัธยาศัย ส่วนนักศึกษาที่เป็นสมาชิกโต๊ะรุ่นก่อนหน้าก็จะให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ แก่รุ่นน้อง โดยอาจจัดให้มีรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้องเป็นราย ๆ ไป และไม่ใช้ระบบรหัสนักศึกษา ซึ่งสมาชิกภาพของสมาชิกโต๊ะนั้นสิ้นสุดลงเมื่อสมาชิกผู้นั้นแสดงเจตนาขอถอนตัวต่อกลุ่มโต๊ะ หรืออาจสิ้นสุดลงเมื่อขาดการติดต่อกับโต๊ะโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการจัดกลุ่มโต๊ะของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีการจัดกิจกรรมอย่างเป็นกิจลักษณะ เนื่องจากการตกลงร่วมกันของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์
ศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียง
พระบรมวงศานุวงศ์
- ก
- กล้านรงค์ จันทิก : กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
- กำชัย จงจักรพันธ์, ศาสตราจารย์ : คณบดีคณะนิติศาสตร์, กรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- กิตติศักดิ์ ปรกติ, รองศาสตราจารย์ : อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, ศาสตราจารย์พิเศษ : คณบดีคณะนิติศาสตร์, กรรมการทุนอานันทมหิดล กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
- แก้วสรร อติโพธิ, อาจารย์ : รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539, สมาชิกวุฒิสภา, กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
- โกเมน ภัทรภิรมย์, ศาสตราจารย์ : อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และอดีตอัยการสูงสุดของไทย
- กัญจน์ จิระวุฒิพงศ์, นักวิจัย: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย
- ค
- จ
- จงรัก จุฑานนท์, พลตำรวจเอก : อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และอดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2
- จตุรนต์ ถิระวัฒน์, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- จรัล บูรณพันธุ์ศรี : กรรมการการเลือกตั้ง
- จิตติ ติงศภัทิย์, ศาสตราจารย์ : คณบดีคณะนิติศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, องคมนตรี
- จุมพต สายสุนทร, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- เจษฎ์ โทณวณิก, รองศาสตราจารย์ : นักกฎหมายอิสระ, อาจารย์พิเศษทางกฎหมาย
- จำรัส เขมะจารุ,ศาสตราจารย์พิเศษ : ศิษย์เก่าธรรมศาสตรบัณฑิต, ประธานศาลฎีกา, องคมนตรี
- จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม นักร้อง
- ช
- ด
- ถ
- ท
- ธ
- ธะนิต พิศาลบุตร : กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ จำกัด
- ธานินทร์ กรัยวิเชียร, ศาสตราจารย์ : ศิษย์เก่าธรรมศาสตรบัณฑิต, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา, นายกรัฐมนตรี, องคมนตรี
- ธนกร วงษ์ปัญญา : บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ด
- น
- บ
- ป
- ประมาณ ชันซื่อ : ประธานศาลฎีกา
- ประสิทธิ์ เอกบุตร, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ประเสริฐ นาสกุล : ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- ประสพสุข บุญเดช, ศาสตราจารย์พิเศษ : อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานศาลอุทธรณ์, ประธานวุฒิสภา
- ประภาศน์ อวยชัย, ศาสตราจารย์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ราชบัณฑิตสาขานิติศาสตร์ สำนักวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ : รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตเลขาธิการสมาพันธ์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทยสมัยพฤษภาทมิฬ
- ปรีดี เกษมทรัพย์, ศาสตราจารย์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณบดีคณะนิติศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ปัญญา ถนอมรอด : ประธานศาลฎีกา, นักกฎหมายดีเด่นรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์
- ปาล พนมยงค์ : ผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพ, บุตรชายคนแรกของนายปรีดี พนมยงค์
- ปิยบุตร แสงกนกกุล, รองศาสตราจารย์ ดร.: อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นักการเมือง
- เปี่ยมชล ดำรงค์สุนทรขัย : นักร้อง, นักแสดง
- ผ
- พ
- พล ตัณฑเสถียร : นักแสดง, เชฟ
- พระนาย สุวรรณรัฐ,นายกองเอก : ปลัดกระทรวงมหาดไทย,อดีต ผอ ศอบต
- พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, รองศาสตราจารย์ : รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านคนชายขอบ
- พิชญา เชาวลิต : นักแสดง, ยูทูบเบอร์
- พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- พีรพล ตริยะเกษม : นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยเหตุการณ์ 14 ตุลา
- เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ : พลตำรวจเอก ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
- ไพโรจน์ กัมพูศิริ, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ไพโรจน์ วายุภาพ, ศาสตราจารย์พิเศษ ประธานศาลฎีกา
- ไพศิษฐ์ พิพัฒนกุล, ศาสตราจารย์ : คณบดีคณะนิติศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ม
- ร
- ล
- ว
- วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- วรรณชัย บุญบำรุง, ศาสตราจารย์พิเศษ : สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, กรรมการกฤษฎีกา
- วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ : ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
- วัลลภ พลอยทับทิม : ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- วาสนา เพิ่มลาภ, พลตำรวจเอก : ประธานกรรมการการเลือกตั้ง
- วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.: อดีตนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย
- วิษณุ เครืองาม, ศาสตราจารย์ ดร.: รองนายกรัฐมนตรี, เลขาธิการคณะรัฐมนตรี, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตสาขานิติศาสตร์ สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
- วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตประธานสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย, สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
- วีระกานต์ มุสิกพงศ์ : รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย , นักการเมือง
- วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ, ศาสตราจารย์พิเศษ : ศาสตราจารย์พิเศษประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ศ
- ส
- สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ศาสตราจารย์ ดร. : ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย
- สดศรี สัตยธรรม : กรรมการการเลือกตั้ง
- สนอง ตู้จินดา : ผู้บริหารธนาคารไทยทนุ จำกัด
- สมคิด เลิศไพฑูรย์, ศาสตราจารย์ : ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , คณบดีคณะนิติศาสตร์, เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2550
- สมชาย ปรีชาศิลปกุล, รองศาสตราจารย์ : อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, นักกฎหมายด้านสังคมศาสตร์
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายกรัฐมนตรี
- สมยศ เชื้อไทย, รองศาสตราจารย์ : คณบดีคณะนิติศาสตร์, รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คณะกรรมการกฤษฎีกา
- สมัคร สุนทรเวช : หัวหน้า พรรคพลังประชาชน, นายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลายกระทรวง, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- สหสมภพ ศรีสมวงศ์ : ผู้จัดการนักมวยรางวัลชนะเลิศระดับโลกหลายคน
- สอง วัชรศรีโรจน์ : นักกิจกรรม, ผู้ลงทุนในตลาดหุ้น
- สัก กอแสงเรือง : กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ, อดีตนายกสภาทนายความ, อดีตเลขาธิการเนติบัณฑิตยสภา, สมาชิกวุฒิสภา
- สันติ ทักราล : ประธานศาลฎีกา, องคมนตรี
- สัญญา ธรรมศักดิ์, ศาสตราจารย์ : คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายกรัฐมนตรี, ประธานองคมนตรี
- สุรพล นิติไกรพจน์, ศาสตราจารย์ : อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ, คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- สุดเขต จึงเจริญ, นักร้องนำวง ซีซันไฟฟ์
- เสาวนีย์ อัศวโรจน์, ศาสตราจารย์ : ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
- โสภณ รัตนากร, ศาสตราจารย์พิเศษ : อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ประธานศาลฎีกาคนที่ 26, ปลัดกระทรวงยุติกรรม, กรรมการกฤษฎีกา
- สัมผัส พึ่งประดิษฐ์ : ผู้ต้องหาในคดีกบฏสันติภาพ, ทนายความ, อดีตกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์
- ห
- อ
- อรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์), ศาสตราจารย์ พระยา : คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ, ศาสตราจารย์พิเศษ : ประธานศาลฎีกา, องคมนตรี
- อำนาจ วงศ์บัณฑิต, ศาสตราจารย์ : อนุญาโตตุลาการ กรุงเฮก
- อักขราทร จุฬารัตน, ศาสตราจารย์พิเศษ : ประธานศาลปกครองสูงสุด, อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, นักกฎหมายดีเด่นรางวัลสัญญา ธรรมศักดิ์
- อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส, ศาสตราจารย์ ดร. : อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ, รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
- อิศริยา สายสนั่น : พิธีกร, นักแสดง
- อุดม รัฐอมฤต, ศาสตราจารย์ : ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมาธิการคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ
- อุดมศักดิ์ นิติมนตรี, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
- โอภาส อรุณินท์ : อัยการสูงสุด, ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคนแรก
- อาทร สิขัณฑกนาค : รองอัยการสูงสุด
อ้างอิง
- ↑ มารุต บุนนาค, และคนอื่นๆ. ธรรมศาสตร์ประกาศนาม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน,2548.
- ↑ 2.0 2.1 สมคิด เลิศไพฑูรย์. (2551, 6 สิงหาคม). สาส์นคณบดี. หนังสือรพี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (51).
- ↑ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 1 มิถุนายน). พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawPDF.jsp?LType=2A&formatFile=pdf&vID=1[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
- ↑ 4.0 4.1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. (2549, 25 สิงหาคม). พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2531. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.krisdika.go.th/lawHeadPDF.jsp?formatFile=pdf&hID=0[ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ: 15 สิงหาคม 2551).
- ↑ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. ธรรมศาสตร์การเมืองไทย จากปฏิวัติ 2475 ถึง 16 ตุลา 2516 - 6 ตุลา 2519.กรุงเทพฯ : มติชน,2547.
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง. (2551,กันยายน). รับสมัครบุคคลเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี (ภาคปกติ) หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต. จุลสารข่าวคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง. ฉบับพิเศษ, 8.
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547). ประวัติคณะนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2008-10-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
- ↑ มหาวิทยาลัยมหิดล. (2549). ประวัติของมหาวิทยาลัยมหิดลโดยสังเขป. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2] เก็บถาวร 2008-09-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
- ↑ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2548). ประวัติศาสตร์จุฬาฯ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3] เก็บถาวร 2008-10-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
- ↑ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. (2551). Kasetsart University : แนะนำมหาวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4] เก็บถาวร 2019-11-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 25 สิงหาคม 2551).
- ↑ ประวัติบุคคลสำคัญเกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์. (2550). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.law.tu.ac.th/About_LAW/list_dean/list_dean.html เก็บถาวร 2008-09-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 16 สิงหาคม 2551).
- ↑ "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดภาพเครื่องหมายราชการตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 50) ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509". (2509, 1 มีนาคม). ราชกิจจานุเบกษา, (เล่ม 83, ตอนที่ 19). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <คลิก เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน>. (เข้าถึงเมื่อ: 27 กรกฎาคม 2552).
- ↑ บ้านคนรักสุนทราภรณ์. (มปป.).
นิติศาสตร์สามัคคี . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [5]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
- ↑ บ้านคนรักสุนทราภรณ์. (มปป.).
นิติศาสตร์สมานฉันท์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2551).
หลักสูตรต่าง ๆ ที่เปิดบรรยายในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7] เก็บถาวร 2008-10-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 6 ตุลาคม 2551).
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547).
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานิติศาสตร์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8] เก็บถาวร 2008-12-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2553). รายงานการประเมินตนเอง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9][ลิงก์เสีย]. (เข้าถึงเมื่อ : 2 สิงหาคม 2553).
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. (2547).
หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [10] เก็บถาวร 2008-09-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 20 สิงหาคม 2551).
- ↑ ฐาปน แสนยะบุตร และกัญญารัตน์ จันททรา. (2551, 6 สิงหาคม). บทบรรณาธิการ. หนังสือรพี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์. (51).
- ↑ กิจกรรมวันรพี'49 7-8 ส.ค. ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์. (2549, 5 สิงหาคม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www4.eduzones.com/topic.php?id=5386 เก็บถาวร 2011-07-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 17 สิงหาคม 2551).
- ↑ LAWTHAM WEBBOARD (2552). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [11] เก็บถาวร 2009-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 24 กรกฎาคม 2552).
- ↑ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง (2553). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: [12] เก็บถาวร 2010-05-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (เข้าถึงเมื่อ: 15 พฤษภาคม 2553).
แหล่งข้อมูลอื่น
14°04′32″N 100°37′02″E / 14.07559°N 100.61722°E / 14.07559; 100.61722
|
---|
สัญลักษณ์ | | |
---|
ศูนย์ | |
---|
คณะ | |
---|
วิทยาลัย | |
---|
หน่วยงานวิจัย และบริการวิชาการ | |
---|
วันสำคัญ | |
---|
คณะบุคคล | |
---|
สวัสดิการและบริการ | |
---|
อื่น ๆ | |
---|
|