เซดนา (การตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย : 90377 เซดนา ; อังกฤษ : Sedna ; สัญลักษณ์ : [ 12] ) เป็นดาวเคราะห์น้อย ขนาดใหญ่ในบริเวณส่วนนอกของระบบสุริยะ ซึ่งในปี พ.ศ. 2558 อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 86 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) หรือ 1.29 × 1010 กิโลเมตร อยู่ห่างออกไปมากกว่าดาวเนปจูน เกือบสามเท่า กระบวนการสเปกโทรสโกปี เปิดเผยว่าพื้นผิวของเซดนามีองค์ประกอบคล้ายกับวัตถุพ้นดาวเนปจูน อื่น ๆ บางชิ้น โดยเป็นส่วนผสมของน้ำ มีเทน และไนโตรเจน แข็ง กับโทลีน จำนวนมาก ผิวของเซดนาเป็นหนึ่งในผิวดาวที่มีสีแดงมากที่สุด ท่ามกลางวัตถุอื่นในระบบสุริยะ เซดนาอาจเป็นดาวเคราะห์แคระ ในบรรดาวัตถุพ้นดาวเนปจูนทั้งแปดที่ใหญ่ที่สุด เซดนาเป็นวัตถุเดียวที่ไม่พบดาวบริวาร[ 14]
วงโคจรส่วนใหญ่ของเซดนาอยู่ไกลออกจากดวงอาทิตย์ไปมากกว่าตำแหน่งปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าตำแหน่งที่ไกลจากดวงอาทิตย์มากที่สุดจะอยู่ห่างออกไปถึง 937 AU[ 4] (31 เท่าของระยะของดาวเนปจูน) ทำให้เซดนาเป็นวัตถุหนึ่งที่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ นอกเหนือจากดาวหางคาบยาว [ b]
เซดนามีวงโคจรที่ยาวและยืดเป็นพิเศษ โดยใช้เวลาโคจรหนึ่งรอบประมาณ 11,400 ปี และมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ 76 AU สิ่งนี้นำมาสู่ความคิดเกี่ยวกับต้นกำเนิดของเซดนา ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย จัดเซดนาให้อยู่ในแถบหินกระจาย ซึ่งเป็นกลุ่มของวัตถุที่มีวงโคจรยืดยาวออกไปไกลเนื่องด้วยแรงโน้มถ่วงจากดาวเนปจูน การจัดให้เซดนาอยู่ในแถบหินกระจายนี้กลายเป็นข้อถกเถียง เพราะเซดนาไม่เคยเข้ามาใกล้ดาวเนปจูนมากพอที่จะเหวี่ยงกระจายเซดนาออกไปด้วยแรงโน้มถ่วงจากดาวเนปจูน ทำให้นักดาราศาสตร์บางคนเชื่อว่าเซดนาเป็นวัตถุหนึ่งในเมฆออร์ต ชั้นใน แต่บางคนก็เชื่อว่าเซดนามีวงโคจรที่ยืดยาวแบบนี้เนื่องด้วยดาวฤกษ์ที่เฉียดผ่านเข้ามาใกล้ โดยอาจเป็นหนึ่งในดาวของกระจุกดาวของดวงอาทิตย์ตอนเกิด (กระจุกดาวเปิด ) หรือระบบดาวเคราะห์อื่นอาจจับยึดไว้ สมมติฐานอีกอย่างหนึ่งเสนอว่าวงโคจรของเซดนาได้รับผลกระทบจากดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ดวงหนึ่งที่พ้นวงโคจรดาวเนปจูน [ 16]
ไมเคิล บราวน์ นักดาราศาสตร์ผู้ค้นพบเซดนาและดาวเคราะห์แคระอีริส เฮาเมอา และมาคีมาคี คิดว่าเซดนาเป็นวัตถุพ้นดาวเนปจูนในปัจจุบันที่สำคัญที่สุดในทางวิทยาศาสตร์ เพราะว่าการทำความเข้าใจในวงโคจรที่ไม่เสถียรนี้เป็นไปได้ที่จะให้ข้อมูลอันมีค่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของระบบสุริยะในช่วงแรก[ 17] [ 18]
ประวัติ
การค้นพบ
เซดนา (หรือในชื่อเก่า คือ 2003 VB12 ) ค้นพบโดย ไมเคิล อี. บราวน์ (สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย ) แชด ทรูจีโล (หอดูดาวเจมินี ) และ เดวิด แรบิโนวิตซ์ (มหาวิทยาลัยเยล ) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 การค้นพบเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 ด้วยกล้องโทรทรรศน์ซามูเอลออสชิน ที่หอดูดาวพาโลมาร์ ใกล้กับแซนดีเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้กล้องความชัด 160 เมกะพิกเซลของมหาวิทยาลัยเยล ในวันนั้นพบว่าวัตถุเคลื่อนที่ไป 4.6 ลิปดา โดยใช้เวลา 3.1 ชั่วโมงเมื่อเทียบกับดาวฤกษ์ ซึ่งทำให้ประมาณได้ว่าวัตถุนั้นอยู่ห่างออกไปประมาณ 100 AU การสำรวจต่อมามีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน–ธันวาคม พ.ศ. 2546 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์สมาร์ทที่หอดูดาวนานาชาติ-อเมริกันเซร์โรโตโลโล ในประเทศชิลี กล้องโทรทรรศน์เทเนกรา 4 ในโนกาเลส รัฐแอริโซนา และกล้องของหอดูดาวเคกบนภูเขาไฟเมานาเคอาที่ฮาวาย ประกอบกับการตรวจสอบผ่านภาพเก่า ๆ ที่ถ่ายจากกล้องโทรทรรศน์ซามูเอลออสชินในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 และภาพจากภารกิจตามหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ในปี พ.ศ. 2544–2545 ทำให้การค้นหาวงโคจรมีความแม่นยำมากขึ้น การคำนวณแสดงให้เห็นว่าวัตถุนั้นเคลื่อนไปตามวงโคจรที่เยื้องมาก ๆ ที่ระยะทาง 90.3 AU จากดวงอาทิตย์[ 19] [ 16] ซึ่งการค้นพบภาพก่อนการค้นพบนี้เกิดขึ้นภายหลังในบรรดาภาพการสำรวจท้องฟ้าของปาโลมาร์ย้อนกลับไปถึงวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2533[ 2]
การตั้งชื่อ
ในระยะแรก ไมก์ บราวน์ ตั้งชื่อเล่นให้กับเซดนาว่า "เดอะฟลายอิงดัตช์แมน " หรือแค่ "ดัตช์" ตามชื่อเรือผีสิงในตำนาน เนื่องด้วยการเคลื่อนที่ที่ช้าที่ทำให้ทีมงานรู้ว่าดาวนั้นมีตัวตนอยู่[ 20] สำหรับชื่ออย่างเป็นทางการ ไมก์ บราวน์ เลือกชื่อเซดนา ชื่อจากเทพปกรณัมอินุต ซึ่งบราวน์เลือกด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งว่าอินุตเป็นกลุ่มชนขั้วโลกที่อยู่ใกล้บ้านของเขาที่สุดที่ปาซาเดนา และเหตุผลอีกส่วนหนึ่งว่าชื่อนั้นสะกดง่าย ไม่เหมือนกับควาอัวร์ [ 21] บนเว็บไซต์ของเขา เขาเขียนว่า
“
วัตถุที่ค้นพบใหม่ของเรานั้นหนาวที่สุด อยู่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ ดังนั้นเราจึงรู้สึกว่ามันเหมาะสมที่จะตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เซดนา เทพีอินุต แห่งท้องทะเล ผู้ซึ่งเชื่อกันว่าอาศัยอยู่ ณ ก้นของมหาสมุทรอาร์กติก อันเยือกเย็น[ 22]
”
ไมเคิล บราวน์ยังเสนอต่อศูนย์ดาวเคราะห์น้อยของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ว่าวัตถุใด ๆ ที่จะค้นพบในอนาคต ถ้าอยู่ในบริเวณเดียวกับเซดนา ควรตั้งชื่อตามสิ่งที่อยู่ในเทพปกรณัมอาร์กติก[ 22] ทีมผู้ค้นพบตีพิมพ์ชื่อ "เซดนา" ก่อนการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ[ 23] ไบรอัน มาร์สเดน ผู้อำนวยการศูนย์ดาวเคราะห์น้อย กล่าวว่าการทำเช่นนี้เป็นการละเมิดพิธีสารและอาจมีนักดาราศาสตร์ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลโต้แย้ง[ 24] ถึงกระนั้น ไม่มีข้อคัดค้านใด ๆ ต่อชื่อนี้เลย และไม่มีชื่ออื่นใดเสนอเข้ามา การประชุมของคณะกรรมการร่างชื่อวัตถุขนาดเล็กจึงยอมรับชื่อ "เซดนา" ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2547[ 25] และอนุญาตให้มีการตั้งชื่อก่อนที่จะได้รับชื่ออย่างเป็นทางการ สำหรับกรณีที่น่าสนใจเป็นพิเศษที่คล้ายกัน[ 23]
วงโคจรและการโคจร
วงโคจรของเซดนาเมื่อเทียบกับวงโคจรของวัตถุระบบสุริยะชั้นนอก (ภาพจากด้านบนและด้านข้าง วงโคจรดาวพลูโตเป็นสีม่วงและวงโคจรดาวเนปจูนเป็นสีน้ำเงิน)
เซดนาเป็นวัตถุที่มีคาบการโคจรนานที่สุดเป็นลำดับที่สองของระบบสุริยะ ซึ่งคำนวณแล้วอยู่ที่ 11,400 ปี[ 4] วงโคจรของเซดนามีความเยื้องสูงมาก ด้วยจุดไกลที่สุดจากดวงอาทิตย์อยู่ที่ 937 AU[ 4] และจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ที่ 76 AU โดยตำแหน่งที่ใกล้ที่สุดของเซดนาอยู่ไกลกว่าของวัตถุอื่น ๆ ในระบบสุริยะจนกระทั่งค้นพบ 2012 VP113 [ 26] [ 27] ณ จุดไกลที่สุดนั้น เซดนาโคจรด้วยความเร็วเพียงแค่ 1.3% ของความเร็วที่โลกโคจร เมื่อมีการค้นพบเซดนาที่ระยะห่างจากดวงอาทิตย์ 89.6 AU[ 28] ขณะเคลื่อนที่เข้าใกล้จุดใกล้ที่สุด เซดนากลายเป็นวัตถุที่ไกลที่สุดในระบบสุริยะ ภายหลังอีริส แซงเซดนาเมื่อตรวจพบอีริสโดยวิธีเดียวกันที่ระยะห่าง 97 AU จากดวงอาทิตย์ มีเพียงดาวหางคาบยาวบางดวงเท่านั้นที่มีคาบโคจรมากกว่าคาบของเซดนา ดาวหางเหล่านี้จางเกินไปที่จะสามารถค้นพบได้ เว้นแต่จะผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน ถึงแม้ว่าเซดนาจะอยู่ ณ จุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในช่วงกลางปี พ.ศ. 2619[ 11] ดวงอาทิตย์ที่ปรากฏบนเซดนานั้นอาจมีขนาดเท่าปลายเข็มซึ่งสว่างกว่าดวงจันทร์ ตอนเต็มดวง 100 เท่า (เมื่อเทียบกับโลกแล้ว ดวงอาทิตย์ที่เห็นบนโลกสว่างกว่าตอนดวงจันทร์เต็มดวง 400,000 เท่า) และดวงอาทิตย์อยู่ไกลเกินกว่าที่จะเห็นเป็นรูปร่าง[ 29]
เมื่อค้นพบครั้งแรกนั้น คาดว่าเซดนามีคาบหมุนรอบตัวเองที่นานมาก ๆ (20 ถึง 50 วัน)[ 29] ระยะแรกเชื่อกันว่าการหมุนรอบตัวเองของเซดนาที่ช้าเป็นผลมาจากแรงโน้มถ่วงจากดาวบริวารขนาดใหญ่ คล้ายกับแครอน ดาวบริวารของดาวพลูโต [ 22] การค้นหาดาวบริวารดวงนั้นด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 ไม่พบอะไรเลย[ 30] [ e] และจากผลการคำนวณจากกล้องโทรทรรศน์เอ็มเอ็มในเวลาต่อมาพบว่าเซดนาหมุนโดยใช้ระยะเวลาสั้นกว่าที่คาดไว้มาก ประมาณ 10 ชั่วโมง ซึ่งค่อนข้างปกติสำหรับดาวขนาดอย่างเซดนา[ 32]
ลักษณะทางกายภาพ
เซดนามีความส่องสว่างสัมบูรณ์ อยู่ที่ประมาณ 1.8 และอัตราส่วนสะท้อน อยู่ที่ประมาณ 0.32 จึงประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางไว้ที่ 1,000 กิโลเมตร[ 7] ณ เวลาที่ค้นพบเซดนานั้น ได้จัดให้เซดนาเป็นวัตถุที่ส่องสว่างภายในมากที่สุดในระบบสุริยะตั้งแต่ค้นพบดาวพลูโต ในปี พ.ศ. 2473 ในปี พ.ศ. 2547 เหล่าผู้ค้นพบวางค่าสูงสุดของเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ 1,800 กิโลเมตร[ 34] แต่ในปี พ.ศ. 2550 ก็ลดลงมาต่ำกว่า 1,600 กิโลเมตร หลังจากที่สังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ [ 35] ในปี พ.ศ. 2555 การคำนวณจากหอดูดาวอวกาศเฮอร์เชลเสนอว่าเซดนามีเส้นผ่านศูนย์กลาง 995 ± 80 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้มีขนาดเล็กกว่าแครอน ดาวบริวารของดาวพลูโต[ 7] เนื่องจากเซดนาไม่มีดาวบริวาร การหามวลโดยไม่ส่งยานอวกาศไปจึงเป็นไปไม่ได้และเซดนาก็เป็นวัตถุพ้นดาวเนปจูนที่ใหญ่ที่สุดที่ไม่มีดาวบริวารในปัจจุบัน[ 14] มีความพยายามในการหาดาวบริวารนั้นเพียงครั้งเดียว[ 36] [ 37] และคาดการณ์กันว่ามีโอกาสที่ไม่พบดาวบริวารนั้นอยู่ 25%
การสังเกตจากกล้องโทรทรรศน์ SMARTS แสดงให้เห็นว่าในระยะแสงที่มองเห็นได้ เซดนาเป็นหนึ่งในวัตถุที่สีแดงที่สุดในระบบสุริยะ เกือบมีสีแดงเท่าดาวอังคาร [ 22] แชด ทรูจีโลและเพื่อนร่วมงานของเขาเสนอว่าสีแดงเข้มของเซดนานั้นเกิดจากผิวของดาวนั้นปกคลุมไปด้วยตะกอนไฮโดรคาร์บอน หรือโทลีน ซึ่งเกิดจากสารประกอบอินทรีย์ขนาดเล็กกว่าที่สัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเล็ต ยาวนาน[ 39] ผิวของเซดนาเหมือนกันทั้งสีและสเปกตรัมทั่วทั้งดาว ซึ่งอาจเกิดจากการที่เซดนาไม่ค่อยปะทะกับวัตถุอื่นใด ไม่เหมือนกับวัตถุอื่น ๆ ที่ใกล้ดวงอาทิตย์กว่าที่มักจะปะทะกับวัตถุอื่น ซึ่งแสดงให้เห็นแถบน้ำแข็งสว่างที่มีเหมือนกับบน 8405 แอสโบลัส [ 39] เซดนาและวัตถุที่อยู่ไกลมากสองชิ้น ได้แก่ 2006 SQ372 และ (87269) 2000 OO67 มีสีเดียวกันกับวัตถุดั้งเดิมในแถบไคเปอร์ชั้นนอกและเซนทอร์ 5145 โฟบัส วัตถุเหล่านี้อาจมีต้นกำเนิดในบริเวณเดียวกัน[ 40]
ทรูจีโลและเพื่อนร่วมงานยังวางค่าสูงสุดขององค์ประกอบพื้นผิวของเซดนาอยู่ที่มีเทนแข็ง 60% และน้ำแข็ง 70%[ 39] การมีอยู่ของมีเทนแข็งยังช่วยสนับสนุนถึงการมีอยู่ของโทลีนบนผิวเซดนา เนื่องด้วยโทลีนเหล่านี้เกิดจากการฉายรังสีของมีเทน[ 41] บารุชชีและเพื่อนร่วมงานของเขาเปรียบเทียบสเปกตรัมของเซดนากับไทรทัน และตรวจพบแถบดูดซึมอย่างอ่อนของมีเทนและไนโตรเจนแข็ง จากการสังเกตเหล่านี้ พวกเขาจึงเสนอองค์ประกอบผิวดาวเป็นโทลีน ชนิดไทรทัน 24% คาร์บอนอสัณฐาน 7% ไนโตรเจนแข็ง 10% เมทานอล 26% และมีเทน 33%[ 42] และได้ยืนยันการตรวจพบมีเทนและน้ำแข็งในปี พ.ศ. 2549 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์[ 41] การมีอยู่ของไนโตรเจนบนผิวดาวเสนอว่าเซดนาอาจมีชั้นบรรยากาศบาง ๆ แม้เพียงระยะเวลาสั้น ระหว่าง 200 ปีใกล้กับจุดใกล้ที่สุด อุณหภูมิสูงสุดบนเซดนาควรเกิน 35.6 เคลวิน (-237.6 องศาเซลเซียส) การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิระหว่างไนโตรเจนแข็งระยะแอลฟากับระยะบีตาบนไทรทัน ที่ 38 เคลวิน ความดันไอ ของ N2 อาจอยู่ที่ 14 ไมโครบาร์ (1.4 ปาสกาล)[ 42] ความชันสเปกตรัม สีแดงเข้มของเซดนาแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสารประกอบอินทรีย์จำนวนมากบนผิวดาว และแถบการดูดกลืนมีเทนจาง ๆ ชี้ว่ามีเทนบนผิวดาวนั้นมีอายุมาก สิ่งนี้หมายความว่าเซดนานั้นหนาวเกินกว่าที่มีเทนจะระเหยไปจากผิวดาวและตกกลับมาในรูปของหิมะ ซึ่งเกิดขึ้นบนไทรทันและอาจจะบนดาวพลูโตด้วย[ 41]
แบบจำลองของความร้อนภายในดาวด้วยการสลายตัวกัมมันตรังสี เสนอว่าเซดนาอาจมีมหาสมุทร เป็นน้ำเหลวอยู่ใต้ผิวดาว[ 43]
ต้นกำเนิด
ในรายงานการค้นพบเซดนา ไมก์ บราวน์ และเพื่อนร่วมงานของเขาบรรยายไว้ว่าเซดนาเป็นวัตถุแรกที่อยู่ในบริเวณเมฆออร์ต ซึ่งเป็นเมฆสมมติของดาวหาง ที่เชื่อกันว่ามีอยู่ไปไกลถึงเกือบหนึ่งปีแสงจากดวงอาทิตย์ พวกเขาสังเกตว่าจุดใกล้ที่สุดของเซดนา (76 AU) นั้นไกลเกินกว่าที่อิทธิพลความโน้มถ่วงจากดาวเนปจูนจะกระจายเซตนาได้ แตกต่างจากวัตถุแถบหินกระจาย เช่น อีริส [ 16] เนื่องจากเซดนาอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์เกินกว่าที่คาดไว้สำหรับวัตถุเมฆออร์ต ประกอบกับมีวงโคจรที่เอียง ในระนาบใกล้เคียงกับวัตถุอื่นในแถบไคเปอร์และดาวเคราะห์ พวกเขาจึงบรรยายวัตถุค้นพบใหม่ชิ้นนี้เป็น "วัตถุเมฆออร์ตชั้นใน" ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณแถบหินกระจายในแถบไคเปอร์ไปจนถึงบริเวณที่เป็นทรงกลมของเมฆออร์ต[ 44] [ 45]
ถ้าเซดนากำเนิดขึ้นในตำแหน่งปัจจุบัน จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ดั้งเดิมของดวงอาทิตย์ต้องแผ่ออกไปไกลถึง 75 หน่วยดาราศาสตร์ (AU) ในอวกาศ[ 46] วงโคจรดั้งเดิมของเซดนาก็ต้องเกือบเป็นวงกลมเช่นกัน มิเช่นนั้นการกำเนิดโดยการชนกันจากวัตถุขนาดเล็กกว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าจะรบกวนความเร็วสัมพัทธ์ ที่มากระหว่างชิ้นส่วนเล็ก ๆ มากเกินไป ดังนั้นจะต้องเหวี่ยงเซดนามายังวงโคจรปัจจุบันด้วยแรงโน้มถ่วงของวัตถุบางอย่าง[ 47] ในรายงานแรกของพวกเขานั้น บราวน์ ราบิโนวิตซ์ และเพื่อนร่วมงานเสนอว่ามีสามตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่จะเป็นวัตถุที่มารบกวนนี้ ได้แก่ ดาวเคราะห์ที่ยังไม่ค้นพบที่อยู่ถัดออกไปจากแถบไคเปอร์ ดาวฤกษ์ที่โคจรผ่านมา หรือหนึ่งในดาวฤกษ์แรกเกิดที่ตรึงอยู่กับดวงอาทิตย์ในกระจุกดาวฤกษ์ครั้งที่ดวงอาทิตย์กำเนิดขึ้น[ 16]
ไมก์ บราวน์ และทีมงานของเขาสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า "การเหวี่ยงเซดนามาให้อยู่ในวงโคจรปัจจุบันทำได้ด้วยดาวฤกษ์จากกระจุกดาวเปิด ของดวงอาทิตย์" ให้เหตุผลด้วยว่าจุดที่ไกลที่สุดของเซดนาที่ประมาณ 1,000 AU ซึ่งใกล้มากเมื่อเทียบกับจุดที่ไกลที่สุดของดาวหางคาบยาวทั้งหลาย ไม่ไกลเพียงพอที่จะได้รับผลกระทบจากดาวฤกษ์ที่โคจรผ่านมา ณ ตำแหน่งปัจจุบันจากดวงอาทิตย์ พวกเขาเสนอว่าวงโคจรของเซดนาสามารถอธิบายได้ดีที่สุดด้วยการที่ดวงอาทิตย์กำเนิดในกระจุกดาวเปิดของดาวฤกษ์จำนวนมากที่ค่อย ๆ แยกจากกันไปตามเวลา[ 16] [ 48] [ 49] สมมติฐานนั้นพัฒนาต่อไปโดยทั้งอาเลสซานโดร มอร์บีเดลลี และสกอตต์ เจย์ เคนยอน [ 50] [ 51] แบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยฮูลิโอ เอ. เฟร์นันเดซ และเอเดรียน บรูนีนี เสนอว่าการโคจรผ่านของดาวฤกษ์แรกเกิดหลายครั้งในกระจุกดาวเปิดแบบนั้นอาจดึงวัตถุต่าง ๆ จนมีวงโคจรแบบเซดนา[ 16] การศึกษาของมอร์บีเดลลี และเลวิสัน เสนอว่าคำอธิบายที่เป็นไปได้มากที่สุดเกี่ยวกับวงโคจรของเซดนา คือ ดาวฤกษ์อีกดวงหนึ่งต้องเคยรบกวนเซตนาจากในระยะใกล้ (ประมาณ 800 AU) ใน 100 ร้อยล้านปีแรกหรือมากกว่านั้นจากตอนที่ระบบสุริยะกำเนิดขึ้น[ 50] [ 52]
ภาพการเปรียบเทียบ ดาวพลูโต , อีริส , มาคีมาคี , เฮาเมอา , เซดนา , 2007 OR10 , ควาอัวร์ , ออร์คัส , และ โลก . ( )
สมมติฐานวัตถุพ้นดาวเนปจูน นั้นก้าวหน้าไปในหลากหลายรูปแบบโดยนักดาราศาสตร์จำนวนหนึ่ง รวมทั้ง รอดนีย์ โกเมส และปาทรึก ลือกาวกา สมมติฐานรูปแบบหนึ่งมีการรบกวนของวงโคจรเซดนาโดยวัตถุสมมติขนาดเท่าดาวเคราะห์ในเมฆฮิลล์เข้ามาเกี่ยวข้อง แบบจำลองล่าสุดแสดงให้เห็นว่าลักษณะการโคจรของเซดนาสามารถอธิบายด้วยการรบกวนจากวัตถุมวลเท่าดาวเนปจูน ณ ตำแหน่ง 2,000 AU หรือน้อยกว่า วัตถุมวลเท่าดาวพฤหัสบดี ณ ตำแหน่ง 5,000 AU หรือแม้กระทั่งวัตถุมวลเท่าโลก ณ ตำแหน่ง 1,000 AU[ 49] [ 53] แบบจำลองคอมพิวเตอร์โดยปาทรึก ลือกาวกา เสนอว่าวงโคจรของเซดนาอาจเป็นผลมาจากวัตถุขนาดประมาณใกล้เคียงกับโลกที่ถูกเหวี่ยงออกมาข้างนอกโดยดาวเนปจูนในช่วงเริ่มแรกของระบบสุริยะ และขณะนี้ก็อยู่ในวงโคจรที่ยืดออกไปในช่วงระหว่าง 80 และ 170 AU จากดวงอาทิตย์[ 54] การสำรวจท้องฟ้าหลายครั้งของไมก์ บราวน์ตรวจไม่พบวัตถุขนาดเท่าโลกใด ๆ ในช่วงระยะทางถึงประมาณ 100 AU เป็นไปได้ว่าวัตถุนั้นอาจหลุดออกไปนอกระบบสุริยะหลังจากการก่อตัวของเมฆออร์ตชั้นใน[ 55]
คอนสแตนติน บาตีกิน นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และไมก์ บราวน์ตั้งสมมติฐานไว้เกี่ยวกับการมีตัวตนของดาวเคราะห์ยักษ์ในระบบสุริยะชั้นนอก พวกเขาให้ชื่อเล่นว่า ดาวเคราะห์เก้า ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีมวลมากกว่าโลก 10 เท่า มีวงโคจรที่เยื้องมาก ๆ และมีระยะทางเฉลี่ยจากดวงอาทิตย์ประมาณ 20 เท่าของดาวเนปจูน (ซึ่งโคจรที่ระยะทางเฉลี่ยที่ 30.1 AU (4.50 × 109 กิโลเมตร)) คาบการโคจรอาจอยู่ที่ 10,000 ถึง 20,000 ปี การมีตัวตนของดาวเคราะห์ดวงนี้สมมติขึ้นจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์และแบบจำลองคอมพิวเตอร์แต่ยังไม่เคยสังเกตโดยตรง ดาวเคราะห์ดวงนี้อาจอธิบายลักษณะวงโคจรของกลุ่มของวัตถุที่รวมไปถึงเซดนา[ 56] [ 57]
มีการเสนอว่าวงโคจรของเซดนานั้นเป็นผลมาจากอิทธิพลของดาวคู่ขนาดใหญ่ของดวงอาทิตย์ที่อยู่ห่างออกไปหลายพันหน่วยดาราศาสตร์ ดาวคู่สมมติหนึ่ง คือ เนเมซิส ดาวคู่ มืดของดวงอาทิตย์ที่เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคาบการเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ บนโลกอันเกิดมาจากการพุ่งชนของดาวหาง ร่องรอยการพุ่งชนบนดวงจันทร์ และองค์ประกอบวงโคจรที่คล้าย ๆ กันของดาวหางคาบยาวจำนวนมาก[ 53] [ 58] ไม่มีหลักฐานโดยตรงเกี่ยวกับเนเมซิสเลย และหลักฐานหลายอย่าง เช่น จำนวนหลุมอุกกาบาต ทำให้การมีตัวตนของดาวดวงนั้นกลายเป็นข้อกังขา[ 59] [ 60] จอห์น เจ. มัลทีส และดาเนียล พี. วิทไมร์ ผู้ที่เสนอความเป็นไปได้ของดาวคู่ดวงอาทิตย์มาอย่างยาวนาน เสนอว่าวัตถุมวล 5 เท่าของดาวพฤหัสบดีที่อยู่ออกไปประมาณ 7,850 AU จากดวงอาทิตย์ อาจทำให้วัตถุหนึ่งมีวงโคจรแบบเซดนา[ 61]
มอร์บีเดลลี และเคนยอน ยังเสนออีกว่าเซดนาอาจไม่ได้กำเนิดในระบบสุริยะ แต่มาจากระบบดาวเคราะห์ อื่นที่โคจรผ่านมาแล้วโดนดวงอาทิตย์จับไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบของดาวแคระน้ำตาล ที่มีมวล 1/20 เท่าของดวงอาทิตย์ [ 50] [ 51] [ 62] [ 63]
ประชากร
แนวคิดเกี่ยวกับผิวดาวเซดนาของศิลปิน มีทางช้างเผือก แอนทาเรส ดวงอาทิตย์ และสไปกา อยู่ด้านบน
วงโคจรที่เยื้องอย่างมากของเซดนาหมายความว่า มีโอกาสตรวจพบเพียงแค่ 1 ใน 80 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจมีวัตถุขนาดเท่าเซดนา 40–120 ชิ้นอยู่ในบริเวณเดียวกัน เว้นเสียแต่ว่าการค้นพบเซดนาเป็นเรื่องบังเอิญ [ 16] [ 31] 2000 CR105 วัตถุอีกชิ้นหนึ่งมีวงโคจรที่คล้ายกันกับเซดนาแต่เยื้องน้อยกว่า โดยมีจุดที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 44.3 AU จุดไกลที่สุดอยู่ที่ 394 AU และมีระยะเวลาการโคจรอยู่ที่ 3,240 ปี ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบในแบบเดียวกันกับเซดนา[ 50]
แต่ละกลไกที่เสนอมาสำหรับวงโคจรสุดขั้วของเซดนานี้อาจทิ้งร่องรอยที่แตกต่างกันบนโครงสร้างและพลวัตของกลุ่มประชากรใด ๆ ที่กว้างกว่า ถ้าวัตถุพ้นดาวเนปจูนมีส่วนเกี่ยวข้อง วัตถุเหล่านี้ควรมีจุดที่ใกล้ที่สุดในบริเวณเดียวกัน (ประมาณ 80 AU) ถ้าระบบดาวเคราะห์อื่นที่หมุนรอบในทิศทางเดียวกันกับระบบสุริยะจับเซดนาได้ ประชากรทั้งหมดก็จะต้องมีวงโคจรที่เอียงน้อย และมีกึ่งแกนเอก อยู่ในช่วง 100–500 AU ถ้าดาวหมุนรอบในทิศทางตรงข้าม ประชากรสองกลุ่มจะเกิดขึ้น ได้แก่กลุ่มที่วงโคจรเอียงน้อยและเอียงมาก การรบกวนจากดาวฤกษ์ที่โคจรผ่านมาอาจทำให้เกิดความหลากหลายในทั้งจุดที่ใกล้ที่สุดและความเอียงของวงโคจร ขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งและมุมที่ดาวดวงนั้นเข้ามา[ 55]
การได้รับตัวอย่างที่ใหญ่กว่าของวัตถุเหล่านี้อาจช่วยให้ตัดสินใจว่าสถานการณ์แบบใดที่เป็นไปได้มากที่สุด[ 64] "ผมเรียกเซดนาว่าเป็นฟอสซิลแห่งระบบสุริยะยุคแรกเริ่ม" กล่าวโดยบราวน์ในปี พ.ศ. 2549 "ในที่สุด เมื่อค้นพบฟอสซิลอื่น ๆ เซดนาช่วยบอกถึงวิธีการเกิดของดวงอาทิตย์และจำนวนดาวที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ครั้งตอนเกิด"[ 17] การสำรวจโดยบราวน์ ราบิโนวิตซ์ และเมแกน ชวามบ์ในปี พ.ศ. 2550–2551 พยายามที่จะระบุตำแหน่งของวัตถุกลุ่มสมมติของเซดนาชิ้นอื่น ๆ แม้ว่าการสำรวจนั้นจะจับได้ถึงการเคลื่อนที่ที่ห่างออกไปถึง 1,000 AU และค้นพบดาวเคราะห์แคระที่เป็นไปได้อย่าง 2007 OR10 แต่ก็ไม่พบวัตถุเซดนอยด์ใหม่เลย[ 64] แบบจำลองต่อมาที่รวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ เข้าด้วยแล้วเสนอว่าอาจมีวัตถุขนาดเท่าเซดนาอยู่ประมาณ 40 ชิ้นในบริเวณนั้น โดยวัตถุที่มีความส่องสว่างที่สุดอาจประมาณความส่องสว่างของอีริส (–1.0)[ 64]
ในปี พ.ศ. 2557 นักดาราศาสตร์ประกาศการค้นพบ 2012 VP113 [ 27] วัตถุขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของเซดนาในวงโคจรกว่า 4,200 ปีคล้ายกับวงโคจรของเซดนา และมีจุดที่ใกล้ที่สุดอยู่ภายในระยะของเซดนาที่ประมาณ 80 AU[ 65] ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าวัตถุนี้อาจเป็นหลักฐานของดาวเคราะห์พ้นดาวเนปจูน[ 66]
การจัดระบบ
เซดนาเมื่อเทียบกับวัตถุโคจรระยะไกลอื่น ๆ [ f]
ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดระบบวัตถุต่าง ๆ ในระบบสุริยะ จัดให้เซดนาเป็นวัตถุแถบหินกระจาย[ 67] การจัดนี้เป็นข้อสงสัยอย่างมาก โดยนักดาราศาสตร์จำนวนมากเสนอว่าเซดนาควรจัดอยู่ในหมวดหมู่ใหม่ของวัตถุไกลโพ้นที่เรียกว่า วัตถุแถบหินกระจายขยาย (Extended scattered disc objects)[ 68] วัตถุที่ไกลออกไป [ 69] วัตถุแยกออกระยะไกล [ 53] หรือ วัตถุกระจาย–ขยาย ในการจัดระบบอย่างเป็นทางการโดย Deep Ecliptic Survey [ 70]
การค้นพบเซดนานั้นรื้อฟื้นคำถามที่ว่าเทห์ฟ้าใดควรหรือไม่ควรเป็นดาวเคราะห์ ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2547 บทความเกี่ยวกับเซดนาของสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงรายงานว่าค้นพบดาวเคราะห์ดวงที่สิบแล้ว คำถามนี้สามารถตอบได้โดยใช้นิยามดาวเคราะห์ ของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ที่นำมาใช้ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งบอกว่าดาวเคราะห์ต้องไม่มีเทห์ฟ้าอื่น ๆ โคจร ในบริเวณเดียวกัน เซดนามีค่าสเติร์น–เลวิสันต่ำกว่า 1 โดยประมาณ[ g] ดังนั้นจึงไม่จัดว่าเซดนาไร้ซึ่งเทห์ฟ้าโดยรอบ แม้ว่ายังไม่ค้นพบวัตถุอื่นในบริเวณเดียวกัน แต่คาดกันว่าเซดนาน่าจะเป็นดาวเคราะห์แคระ โดยเซดนาต้องอยู่ในสภาวะสมดุลอุทกสถิต เนื่องจากมีความสว่างพอ ดังนั้นดาวจึงมีขนาดใหญ่พอที่จะรักษาความเป็นทรงกลม[ 72] และนักดาราศาสตร์หลายคนก็เรียกเซดนาว่าเป็นดาวเคราะห์แคระแล้ว[ 73] [ 74] [ 75] [ 76] [ 77]
การสำรวจ
เซดนาจะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณปี พ.ศ. 2618–2619 การเข้าใกล้ครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการสำรวจดาว ซึ่งจะไม่มีโอกาสเช่นนี้อีกจนกระทั่ง 12,000 ปีข้างหน้า ถึงแม้เซดนาจะมีรายชื่อในเว็บไซต์การสำรวจระบบสุริยะของนาซา[ 78] แต่ปัจจุบันยังไม่มีแผนการใด ๆ เพื่อสำรวจเซดนา[ 79] มีการคำนวณออกมาว่าจะใช้เวลา 24.48 ปี ในการเดินทางจากโลกถึงเซดนา โดยใช้แรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีช่วยเหวี่ยง คาดว่าวันปล่อยยานอาจจะเป็น 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2576 หรือ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2589 เมื่อยานไปถึงแล้วเซดนาจะอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ 77.27 และ 76.43 AU ตามลำดับ[ 80]
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 อีธาน ซีเกล นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ สนับสนุนยานอวกาศสำหรับศึกษาเซดนาที่ตำแหน่งใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอย่างเปิดเผย ซีเกลกล่าวว่าเซดนาเป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูด เนื่องจากเป็นไปได้ที่เซดนาจะเป็นวัตถุเมฆออร์ตชั้นใน และด้วยคาบการโคจรอันยาวนานของเซดนาซึ่งอาจเป็นเพียงโอกาสเดียวในหลายสหัสวรรษที่จะได้ศึกษาเซดนาที่ระยะใกล้จากดวงอาทิตย์ขนาดนั้น[ 81] ภารกิจเช่นนี้สามารถทำให้สะดวกขึ้นได้ด้วยเครื่องพ่นไอออน Dual-Stage 4-Grid ที่สามารถย่นเวลาการเดินทางได้อย่างมาก ถ้าให้พลังงานด้วยบางอย่าง เช่น เตาปฏิกรณ์[ 82]
เชิงอรรถ
↑ ข้อมูลเมื่อ 2014[update] เซดนาอยู่ที่ประมาณ 86.3 AU จากดวงอาทิตย์[ 10] อีริส ดาวเคราะห์แคระที่มีมวลมากที่สุด และ 2007 OR10 วัตถุที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะที่ไม่มีชื่อ ขณะนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากกว่าเซดนาที่ 96.4 AU และ 87.0 AU ตามลำดับ[ 15] อีริสอยู่ใกล้กับจุดที่ไกลที่สุด (อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด) ขณะที่เซดนากำลังเข้าใกล้จุดที่ใกล้ที่สุด ในปี 2619 (อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด)[ 11] เซดนาจะแซงอีริส กลายเป็นวัตถุที่ไกลที่สุดในระบบสุริยะในปี 2657 แต่วัตถุที่อาจเป็นดาวเคราะห์แคระ อย่าง 2007 OR10 แซงเซดนาไปได้ไม่นาน และจะแซงอีริสในปี พ.ศ. 2588[ 11]
↑ การสำรวจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลพบว่าไม่มีดาวดวงใดที่มัวน้อยกว่า 500 เท่าของเซดนาเลย (บราวน์และซูเอร์ 2007).[ 31]
↑ วัตถุที่มาเปรียบเทียบกับเซดนา ได้แก่ 2015 DB216 (วงโคจรผิด), 2000 OO67 , 2004 VN112 , 2005 VX3 , 2006 SQ372 , 2007 TG422 , 2007 DA61 , 2009 MS9 , 2010 GB174 , 2010 NV1 , 2010 BK118 , 2012 DR30 , 2012 VP113 , 2013 BL76 , 2013 AZ60 , 2013 RF98 , 2015 ER61
↑ ค่าสเติร์น–เลวิสัน (Λ ) นิยามขึ้นโดยแอลัน สเติร์น และแฮโรลด์ เอฟ. เลวิสัน ในปี พ.ศ. 2545 ใช้ตัดสินว่าวัตถุใดมีวงโคจรที่โล่งจากวัตถุขนาดเล็กโดยรอบอื่น ๆ นิยามโดยอัตราส่วนของมวลดวงอาทิตย์ (คือมวลของวัตถุหารด้วยมวลของดวงอาทิตย์) ยกกำลังสองกับกึ่งแกนเอกของวัตถุนั้นยกกำลัง 3/2 คูณด้วยค่าคงตัว 1.7× 1016 .[ 71] (see equation 4) ถ้าวัตถุนั้นมีค่า Λ มากกว่า 1, แสดงว่าวัตถุนั้นมีวงโคจรที่โล่งจากวัตถุอื่น และอาจถูกพิจารณาถึงความเป็นดาวเคราะห์ โดยใช้มวลโดยประมาณที่สูงเกินจริงของเซดนาที่ 2× 1021 กก. ค่า Λ ของเซดนา คือ (2× 1021 /1.9891× 1030 )2 / 5193/2 × 1.7× 1016 = 1.44× 10−6 . ซึ่งน้อยกว่า 1 มาก ดังนั้นเซดนาไม่ใช่ดาวเคราะห์ตามนิยามนี้
อ้างอิง
↑
"Discovery Circumstances: Numbered Minor Planets (90001)–(95000)" . IAU: Minor Planet Center. สืบค้นเมื่อ 23 July 2008 .
↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6
"JPL Small-Body Database Browser: 90377 Sedna (2003 VB12)" (2020-01-21 last obs). เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2020. สืบค้นเมื่อ 27 February 2020 .
↑ 3.0 3.1
Marc W. Buie (22 November 2009). "Orbit Fit and Astrometric record for 90377" . Deep Ecliptic Survey . สืบค้นเมื่อ 17 January 2006 .
↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6
Horizons output. "Barycentric Osculating Orbital Elements for 90377 Sedna (2003 VB12)" . สืบค้นเมื่อ 18 September 2021 . (Solution using the Solar System barycenter . Select Ephemeris Type:Elements and Center:@0) (Saved Horizons output file 2011-Feb-04 "Barycentric Osculating Orbital Elements for 90377 Sedna" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 19 November 2012. ) In the second pane "PR=" can be found, which gives the orbital period in days (4.160E+06, which is 11,390 Julian years ).
↑ Malhotra, Renu; Volk, Kathryn; Wang, Xianyu (2016). "Corralling a distant planet with extreme resonant Kuiper belt objects". The Astrophysical Journal Letters . 824 (2): L22. arXiv :1603.02196 . Bibcode :2016ApJ...824L..22M . doi :10.3847/2041-8205/824/2/L22 .
↑
Kaib, Nathan A.; Becker, Andrew C.; Jones, R. Lynne; Puckett, Andrew W.; Bizyaev, Dmitry; Dilday, Benjamin; Frieman, Joshua A.; Oravetz, Daniel J.; Pan, Kaike; Quinn, Thomas; Schneider, Donald P.; Watters, Shannon (2009). "2006 SQ372: A Likely Long-Period Comet from the Inner Oort Cloud". The Astrophysical Journal . 695 (1): 268–275. arXiv :0901.1690 . Bibcode :2009ApJ...695..268K . doi :10.1088/0004-637X/695/1/268 . S2CID 16987581 .
↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Pál, A.; Kiss, C.; Müller, T. G.; Santos-Sanz, P.; Vilenius, E.; Szalai, N.; Mommert, M.; Lellouch, E.; Rengel, M.; Hartogh, P.; Protopapa, S.; Stansberry, J.; Ortiz, J. -L.; Duffard, R.; Thirouin, A.; Henry, F.; Delsanti, A. (2012). " "TNOs are Cool": A survey of the trans-Neptunian region. VII. Size and surface characteristics of (90377) Sedna and 2010 EK139 ". Astronomy & Astrophysics . 541 : L6. arXiv :1204.0899 . Bibcode :2012A&A...541L...6P . doi :10.1051/0004-6361/201218874 .
↑ "Case of Sedna's Missing Moon Solved" . Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics. 2005-04-05. สืบค้นเมื่อ 2005-04-07 .
↑
Stephen C. Tegler (26 January 2006). "Kuiper Belt Object Magnitudes and Surface Colors" . Northern Arizona University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 1 September 2006. สืบค้นเมื่อ 5 November 2006 .
↑ 10.0 10.1
"AstDys (90377) Sedna Ephemerides" . Department of Mathematics, University of Pisa, Italy. สืบค้นเมื่อ 6 July 2019 .
↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4
JPL Horizons On-Line Ephemeris System (18 July 2010). "Horizons Output for Sedna 2076/2114" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 25 February 2012. สืบค้นเมื่อ 18 July 2010 . Horizons
↑ U+2BF2 ⯲. David Faulks (2016) 'Eris and Sedna Symbols,' L2/16-173R, Unicode Technical Committee Document Register.
↑ 14.0 14.1
Lakdawalla, E. (19 October 2016). "DPS/EPSC update: 2007 OR10 has a moon!" . The Planetary Society . สืบค้นเมื่อ 19 October 2016 .
↑
"AstDys (136199) Eris Ephemerides" . Department of Mathematics, University of Pisa, Italy. สืบค้นเมื่อ 6 July 2019 .
↑ 16.0 16.1 16.2 16.3 16.4 16.5 16.6
Mike Brown; David Rabinowitz; Chad Trujillo (2004). "Discovery of a Candidate Inner Oort Cloud Planetoid". Astrophysical Journal . 617 (1): 645–649. arXiv :astro-ph/0404456 . Bibcode :2004ApJ...617..645B . doi :10.1086/422095 . S2CID 7738201 .
↑ 17.0 17.1
Cal Fussman (2006). "The Man Who Finds Planets" . Discover . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 June 2010. สืบค้นเมื่อ 22 May 2010 .
↑ Chang, Kenneth, Ninth Planet May Exist Beyond Pluto, Scientists Report , New York Times, 21 January 2016, page A1
↑
"MPEC 2004-E45 : 2003 VB12" . IAU: Minor Planet Center. 15 March 2004. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018 .
↑ Michael E. Brown (2012). How I Killed Pluto And Why It Had It Coming . New York: Spiegel & Grau. p. 96 . ISBN 978-0-385-53110-8 .
↑ Michael E. Brown (2012). How I Killed Pluto And Why It Had It Coming . New York: Spiegel & Grau. p. 103 . ISBN 978-0-385-53110-8 .
↑ 22.0 22.1 22.2 22.3
Brown, Mike. "Sedna" . Caltech. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 25 July 2010. สืบค้นเมื่อ 20 July 2010 .
↑ 23.0 23.1 "MPEC 2004-S73 : Editorial Notice" . IAU Minor Planet Center. 2004. สืบค้นเมื่อ 2010-07-18 .
↑
Walker, Duncan (16 March 2004). "How do planets get their names?" . BBC News . สืบค้นเมื่อ 22 May 2010 .
↑
"MPC 52733" (PDF) . Minor Planet Center. 2004. สืบค้นเมื่อ 30 August 2010 .
↑
Chadwick A. Trujillo; M. E. Brown; D. L. Rabinowitz (2007). "The Surface of Sedna in the Near-infrared". Bulletin of the American Astronomical Society . 39 : 510. Bibcode :2007DPS....39.4906T .
↑ 27.0 27.1
Trujillo, Chadwick A.; S. S. Sheppard (2014). "A Sedna-like body with a perihelion of 80 astronomical units". Nature . 507 (7493): 471–474. Bibcode :2014Natur.507..471T . doi :10.1038/nature13156 . PMID 24670765 . S2CID 4393431 .
↑
"AstDys (90377) Sedna Ephemerides 2003-11-14" . Department of Mathematics, University of Pisa, Italy. สืบค้นเมื่อ 6 July 2019 .
↑ 29.0 29.1
"Long View from a Lonely Planet" . Hubblesite, STScI-2004-14. 2004. สืบค้นเมื่อ 21 July 2010 .
↑
"Hubble Observes Planetoid Sedna, Mystery Deepens" . Hubblesite, STScI-2004-14. 2004. สืบค้นเมื่อ 30 August 2010 .
↑ 31.0 31.1
Michael E. Brown (2008). "The largest Kuiper belt objects" (PDF) . ใน M. Antonietta Barucci; Hermann Boehnhardt; Dale P. Cruikshank (บ.ก.). The Solar System Beyond Neptune . University of Arizona Press. pp. 335–345. ISBN 978-0-8165-2755-7 .
↑
B. Scott Gaudi; Krzysztof Z. Stanek; Joel D. Hartman; Matthew J. Holman; Brian A. McLeod (2005). "On the Rotation Period of (90377) Sedna". The Astrophysical Journal . 629 (1): L49–L52. arXiv :astro-ph/0503673 . Bibcode :2005ApJ...629L..49G . doi :10.1086/444355 . S2CID 55713175 .
↑ 33.0 33.1 "AstDyS-2, Asteroids - Dynamic Site" . สืบค้นเมื่อ 2018-12-26 . Objects with distance from Sun over 59 AU
↑
W. M. Grundy; K. S. Noll; D. C. Stephens (2005). "Diverse Albedos of Small Trans-Neptunian Objects" . Icarus . Lowell Observatory, Space Telescope Science Institute. 176 (1): 184–191. arXiv :astro-ph/0502229 . Bibcode :2005Icar..176..184G . doi :10.1016/j.icarus.2005.01.007 . S2CID 118866288 .
↑
John Stansberry; Will Grundy; Mike Brown; Dale Cruikshank; John Spencer; David Trilling; Jean-Luc Margot (2008). "Physical Properties of Kuiper Belt and Centaur Objects: Constraints from Spitzer Space Telescope" (PDF) . ใน M. Antonietta Barucci; Hermann Boehnhardt; Dale P. Cruikshank (บ.ก.). The Solar System Beyond Neptune . University of Arizona Press. pp. 161–179. arXiv :astro-ph/0702538v2 . Bibcode :2008ssbn.book..161S . ISBN 978-0-8165-2755-7 .
↑
Brown, Michael E. (16 March 2004). "Characterization of a planetary-sized body in the inner Oort cloud – HST Proposal 10041" . สืบค้นเมื่อ 27 March 2018 .
↑
"Hubble Observes Planetoid Sedna, Mystery Deepens" . Space Telescope Science Institute. 14 April 2004. สืบค้นเมื่อ 27 March 2018 .
↑ 39.0 39.1 39.2
Trujillo, Chadwick A. ; Brown, Michael E. ; Rabinowitz, David L. ; Geballe, Thomas R. (2005). "Near‐Infrared Surface Properties of the Two Intrinsically Brightest Minor Planets: (90377) Sedna and (90482) Orcus". The Astrophysical Journal . 627 (2): 1057–1065. arXiv :astro-ph/0504280 . Bibcode :2005ApJ...627.1057T . doi :10.1086/430337 . S2CID 9149700 .
↑
Sheppard, Scott S. (2010). "The colors of extreme outer Solar System objects". The Astronomical Journal . 139 (4): 1394–1405. arXiv :1001.3674 . Bibcode :2010AJ....139.1394S . doi :10.1088/0004-6256/139/4/1394 . S2CID 53545974 .
↑ 41.0 41.1 41.2
J. P. Emery; C. M. Dalle Ore; D. P. Cruikshank; Fernández, Y. R.; Trilling, D. E.; Stansberry, J. A. (2007). "Ices on 90377 Sedna: Conformation and compositional constraints" . Astronomy and Astrophysics . 406 (1): 395–398. Bibcode :2007A&A...466..395E . doi :10.1051/0004-6361:20067021 .
↑ 42.0 42.1
M. A. Barucci; D. P. Cruikshank; E. Dotto; Merlin, F.; Poulet, F.; Dalle Ore, C.; Fornasier, S.; De Bergh, C. (2005). "Is Sedna another Triton?" . Astronomy & Astrophysics . 439 (2): L1–L4. Bibcode :2005A&A...439L...1B . doi :10.1051/0004-6361:200500144 .
↑
Hussmann, Hauke; Sohl, Frank; Spohn, Tilman (November 2006). "Subsurface oceans and deep interiors of medium-sized outer planet satellites and large trans-neptunian objects" (PDF) . Icarus . 185 (1): 258–273. Bibcode :2006Icar..185..258H . doi :10.1016/j.icarus.2006.06.005 .
↑
Jewitt, David; Morbidelli, Alessandro; Rauer, Heike (2007). Trans-Neptunian Objects and Comets: Saas-Fee Advanced Course 35. Swiss Society for Astrophysics and Astronomy . Berlin: Springer. p. 86. arXiv :astro-ph/0512256v1 . Bibcode :2005astro.ph.12256M . ISBN 978-3-540-71957-1 .
↑
Lykawka, Patryk Sofia; Mukai, Tadashi (2007). "Dynamical classification of trans-neptunian objects: Probing their origin, evolution, and interrelation". Icarus . 189 (1): 213–232. Bibcode :2007Icar..189..213L . doi :10.1016/j.icarus.2007.01.001 .
↑
S. Alan Stern (2005). "Regarding the accretion of 2003 VB12 (Sedna) and like bodies in distant heliocentric orbits". The Astronomical Journal . 129 (1): 526–529. arXiv :astro-ph/0404525 . Bibcode :2005AJ....129..526S . doi :10.1086/426558 . S2CID 119430069 .
↑ Sheppard, Scott S.; Jewitt, David C. (2005). "Small Bodies in the Outer Solar System" (PDF) . Frank N. Bash Symposium . The University of Texas at Austin. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 16 July 2010. สืบค้นเมื่อ 25 March 2008 .
↑
Brown, Michael E. (2004). "Sedna and the birth of the solar system". Bulletin of the American Astronomical Society . 36 (127.04): 1553. Bibcode :2004AAS...20512704B .
↑ 49.0 49.1
"Transneptunian Object 90377 Sedna (formerly known as 2003 VB12)" . The Planetary Society . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 25 November 2009. สืบค้นเมื่อ 3 January 2010 .
↑ 50.0 50.1 50.2 50.3
Morbidelli, Alessandro; Levison, Harold F. (2004). "Scenarios for the Origin of the Orbits of the Trans-Neptunian Objects 2000 CR105 and 2003 VB12 (Sedna)" . The Astronomical Journal . 128 (5): 2564–2576. arXiv :astro-ph/0403358 . Bibcode :2004AJ....128.2564M . doi :10.1086/424617 . S2CID 119486916 .
↑ 51.0 51.1
Kenyon, Scott J.; Bromley, Benjamin C. (2 December 2004). "Stellar encounters as the origin of distant Solar System objects in highly eccentric orbits" . Nature . 432 (7017): 598–602. arXiv :astro-ph/0412030 . Bibcode :2004Natur.432..598K . doi :10.1038/nature03136 . PMID 15577903 . S2CID 4427211 .
↑
"The Challenge of Sedna" . Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics. สืบค้นเมื่อ 26 March 2009 .
↑ 53.0 53.1 53.2
Gomes, Rodney S.; Matese, John J. & Lissauer, Jack J. (2006). "A distant planetary-mass solar companion may have produced distant detached objects". Icarus . 184 (2): 589–601. Bibcode :2006Icar..184..589G . doi :10.1016/j.icarus.2006.05.026 .
↑
Lykawka, P. S.; Mukai, T. (2008). "An Outer Planet Beyond Pluto and the Origin of the Trans-Neptunian Belt Architecture" . The Astronomical Journal . 135 (4): 1161–1200. arXiv :0712.2198 . Bibcode :2008AJ....135.1161L . doi :10.1088/0004-6256/135/4/1161 . S2CID 118414447 .
↑ 55.0 55.1
Schwamb, Megan E. (2007). "Searching for Sedna's Sisters: Exploring the inner Oort cloud" (PDF) (Preprint). Caltech. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 12 May 2013. สืบค้นเมื่อ 6 August 2010 .
↑ Batygin, Konstantin; Brown, Michael E. (2016). "Evidence for a Distant Giant Planet in the Solar System". The Astronomical Journal . 151 (2): 22. arXiv :1601.05438 . Bibcode :2016AJ....151...22B . doi :10.3847/0004-6256/151/2/22 .
↑ Fesenmaier, Kimm. "Caltech Researchers Find Evidence of a Real Ninth Planet" . สืบค้นเมื่อ 13 September 2017 .
↑ Staff (25 April 2006). "Evidence Mounts For Companion Star To Our Sun" . SpaceDaily . สืบค้นเมื่อ 27 November 2009 .
↑ Hills, J. G. (1984). "Dynamical constraints on the mass and perihelion distance of Nemesis and the stability of its orbit". Nature . 311 (5987): 636–638. Bibcode :1984Natur.311..636H . doi :10.1038/311636a0 .
↑ "Nemesis is a myth" . Max Planck Institute. 2011. สืบค้นเมื่อ 2011-08-11 .
↑ Matese, John J.; Whitmire, Daniel P. & Lissauer, Jack J. (2006). "A Widebinary Solar Companion as a Possible Origin of Sedna-like Objects" . Earth, Moon, and Planets . 97 (3–4): 459–470. Bibcode :2005EM&P...97..459M . doi :10.1007/s11038-006-9078-6 . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2019-09-16. สืบค้นเมื่อ 2010-08-17 .
↑ Ken Croswell. "Sun Accused of Stealing Planetary Objects from Another Star" . Scientific American .
↑ Govert Schilling. "Grand Theft Sedna: how the sun might have stolen a mini-planet" . New Scientist .
↑ 64.0 64.1 64.2
Schwamb, Megan E.; Brown, Michael E.; Rabinowitz, David L. (2009). "A Search for Distant Solar System Bodies in the Region of Sedna". The Astrophysical Journal Letters . 694 (1): L45–L48. arXiv :0901.4173 . Bibcode :2009ApJ...694L..45S . doi :10.1088/0004-637X/694/1/L45 . S2CID 15072103 .
↑
"JPL Small-Body Database Browser: (2012 VP113)" (2013-10-30 last obs). Jet Propulsion Laboratory. สืบค้นเมื่อ 26 March 2014 .
↑
"A new object at the edge of our Solar System discovered" . Physorg.com . 26 March 2014.
↑ IAU: Minor Planet Center (2008-07-02). "List of Centaurs and Scattered-Disk Objects" . Central Bureau for Astronomical Telegrams, Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02 .
↑
Gladman, Brett J. (2001). "Evidence for an Extended Scattered Disk?" . Observatoire de la Côte d'Azur. สืบค้นเมื่อ 22 July 2010 .
↑
"The Solar System Beyond The Planets". Solar System Update : Topical and Timely Reviews in Solar System Sciences . Springer Praxis Books. Springer-Praxis Ed. 2006. pp. 267 –293. doi :10.1007/3-540-37683-6_11 . ISBN 978-3-540-26056-1 .
↑
Elliot, J. L.; Kern, S. D.; Clancy, K. B.; Gulbis, A. A. S.; Millis, R. L.; Buie, M. W.; Wasserman, L. H.; Chiang, E. I.; Jordan, A. B.; และคณะ (2006). "The Deep Ecliptic Survey: A Search for Kuiper Belt Objects and Centaurs. II. Dynamical Classification, the Kuiper Belt Plane, and the Core Population" . The Astronomical Journal . 129 (2): 1117. Bibcode :2005AJ....129.1117E . doi :10.1086/427395 .
↑
Stern, S. Alan & Levison, Harold F. (2002). "Regarding the criteria for planethood and proposed planetary classification schemes" (PDF) . Highlights of Astronomy . 12 : 205–213, as presented at the XXIVth General Assembly of the IAU–2000 [Manchester, UK, 7–18 August 2000]. Bibcode :2002HiA....12..205S . doi :10.1017/S1539299600013289 .
↑ Brown, Michael E. "The Dwarf Planets" . California Institute of Technology, Department of Geological Sciences. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 29 February 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-02-16 .
↑ Barucci, M.; Morea Dalle Ore, C.; Alvarez-Candal, A.; De Bergh, C.; Merlin, F.; Dumas, C.; Cruikshank, D. (2010). "(90377) Sedna: Investigation of surface compositional variation" . The Astronomical Journal . 140 (6): 6. Bibcode :2010AJ....140.2095B . doi :10.1088/0004-6256/140/6/2095 .
↑ Rabinowitz, Schaefer, Tourtellotte, 2011. "SMARTS Studies of the Composition and Structure of Dwarf Planets". Bulletin of the American Astronomical Society, Vol. 43
↑ Malhotra, 2010. "On the Importance of a Few Dwarf Planets". Bulletin of the American Astronomical Society , Vol. 41
↑
Tancredi, G.; Favre, S. (2008). "Which are the dwarfs in the solar system?" (PDF) . Asteroids, Comets, Meteors. สืบค้นเมื่อ 5 January 2011 .
↑
Michael E. Brown (23 September 2011). "How many dwarf planets are there in the outer solar system? (updates daily)" . California Institute of Technology. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 18 October 2011. สืบค้นเมื่อ 23 September 2011 .
↑ "Solar System Exploration: Multimedia: Gallery" . NASA . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-09-30. สืบค้นเมื่อ 2022-09-12 .
↑ "Solar System Exploration: Missions to Dwarf Planets" . NASA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2012-07-03. สืบค้นเมื่อ 2022-09-12 .
↑ McGranaghan, R.; Sagan, B.; Dove, G.; Tullos, A.; Lyne, J.E.; Emery, J.P. (2011). "A Survey of Mission Opportunities to Trans-Neptunian Objects". Journal of the British Interplanetary Society . 64 : 296–303. Bibcode :2011JBIS...64..296M .
↑ Siegel, Ethan. "Is Humanity Ignoring Our First Chance For A Mission To An Oort Cloud Object?" . Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-07-13 .
↑ Bramanti, C; Izzo, D; Samaraee, T; Walker, R; Fearn, D (2009-04-01). "Very high delta-V missions to the edge of the solar system and beyond enabled by the dual-stage 4-grid ion thruster concept" . Acta Astronautica (ภาษาอังกฤษ). 64 (7–8): 735–744. Bibcode :2009AcAau..64..735B . doi :10.1016/j.actaastro.2008.11.013 . ISSN 0094-5765 .
แหล่งข้อมูลอื่น