จานรอบดาวเคราะห์
จานรอบดาวเคราะห์ (อังกฤษ: circumplanetary disc) คือกลุ่มสสารที่ประกอบกันเป็นรูปวงแหวนหรือแพนเค้ก ประกอบไปด้วย ก๊าซ, ฝุ่น, เศษชิ้นส่วนของดาวเคราะห์, ดาวเคราะห์น้อย หรือชิ้นส่วนจากการชนกัน ในวงโคจรรอบดาวเคราะห์ สสารเหล่านี้อาจเป็นแหล่งที่มาของวัสดุที่ก่อตัวเป็นดวงจันทร์ขึ้นมา แผ่นจานลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นมาได้จากหลายสาเหตุ ในเดือนสิงหาคม 2018 นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีแผ่นจานรอบดาวเคราะห์รอบดาว CS Cha b[1] โดยได้กล่าวว่า “ระบบ CS Cha นี้เป็นระบบเดียวที่มีแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ปรากฏให้เห็นชัดเจน”[2] ในเดือนมิถุนายน 2019 นักดาราศาสตร์ตรวจพบหลักฐานของแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ PDS 70b โดยพิจารณาจากสเปกโทรสโกปีและได้ตรวจเจอสัญญาณที่แสดงถึงการพอกพูนกันของสสาร[3] ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ยังมีการตรวจพบในดาวเคราะห์อื่นๆก่อนหน้านี้ด้วย แล้วในเดือนกรกฎาคม 2019 นักดาราศาสตร์ก็ได้ตรวจพบแผ่นจานรอบดาวเคราะห์เป็นครั้งแรกโดยใช้ Atacama Large Millimeter/submillimeter Array (ALMA)[4][5][6] โดย ALMA ทำการสังเกตในช่วงความยาวคลื่นระดับมิลลิเมตรและซับมิลลิเมตร ซึ่งเหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝุ่นที่กระจุกตัวอยู่ในบริเวณระหว่างดาวเคราะห์ เพราะดาวฤกษ์จะแผ่รังสีในช่วงความยาวคลื่นนี้ค่อนข้างน้อย ในขณะที่การสังเกตการณ์ในช่วงแสงที่ตามองเห็นมักจะยากกว่าเพราะถูกรบกวนโดยแสงจากดาวฤกษ์ได้ง่าย แผ่นจานรอบดาวเคราะห์ถูกตรวจพบรอบดาวคล้ายดาวพฤหัส ซึ่งมีมวลมากและอายุน้อย PDS 70c นอกจากนี้ยังอาจมีแผ่นจานอยู่รอบดาวเคราะห์อีกดวงคือ PDS 70b ด้วยเช่นกัน ดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบดาว PDS 70 ซึ่งอยู่ห่างจากโลกประมาณ 370 ปีแสง (110 พาร์เซก)[7] อันเดรอา อีเซลลา (Andrea Isella) หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ในฮิวสตันรัฐเท็กซัสกล่าวว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของแผ่นจานรอบดาวเคราะห์ ซึ่งช่วยสนับสนุนทฤษฎีการก่อตัวของดาวเคราะห์จำนวนมาก.. เมื่อเปรียบเทียบกับการสังเกตการณ์ความละเอียดสูงในช่วงอินฟราเรดและแสงในช่วงที่ตามองเห็นแล้ว เราสามารถเห็นได้ชัดเจนว่ามีฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกาะตัวกันอย่างหนาแน่นซึ่งน่าจะเป็นแผ่นจานของฝุ่นที่ล้อมรอบดาวเคราะห์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการสังเกตเจอลักษณะแบบนี้” ดูเพิ่มอ้างอิง
|