ปานปรีย์ พหิทธานุกร
ปานปรีย์ พหิทธานุกร (เกิด 20 สิงหาคม พ.ศ. 2500) ชื่อเล่น ตั๊ก เป็นนักการเมืองชาวไทย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตประธานกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ อดีตผู้แทนการค้าไทย อดีตประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และอดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศ ในรัฐบาล พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ประวัติปานปรีย์ พหิทธานุกร เกิดเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2500[1] ที่อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของปรีชา พหิทธานุกร และบุญทิวา พหิทธานุกร สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ (รุ่น 90)[2] จากนั้นได้เข้าศึกษาต่อและจบปริญญาตรีที่คณะคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโทด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และปริญญาเอกด้านการบริหารจัดการภาครัฐจาก Claremont Graduate University ปานปรีย์ สมรสกับ ปวีณา พหิทธานุกร (สกุลเดิม หงษ์ประภาส) หลานตาของพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยมีบุตรสาวคือ ปัทมรัตน์ พหิทธานุกร สมรสกับ พสุ ลิปตพัลลภ บุตรชายของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน การทำงานปานปรีย์เริ่มทำงานเป็นข้าราชการที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน และเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ[1] เมื่อพลเอกชาติชาย ถูก คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ปฎิวัติในปี 2534 ปานปรีย์ขณะนั้นเป็นเลขาธิการพลเอกชาติชาย เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจองจำที่สโมสรกองทัพอากาศเป็นเวลา 15 วัน[3][4] [5] ในปี พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการต่างประเทศในรัฐบาลของพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี พ.ศ. 2545 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ในปี พ.ศ. 2546 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างปี พ.ศ. 2546 – 2548 ได้รับมอบหน้าที่ให้เป็นหัวหน้าคณะเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (ประเทศอินเดีย และกลุ่มประเทศ BIMST-EC) และในปี พ.ศ. 2547 เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรม มีบทบาทสำคัญในการวางแผน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่ออุตสาหกรรมใน Eastern Seaboard จนเป็นผลสำเร็จ ในปี พ.ศ. 2548 ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนการค้าไทย และได้รับมอบให้ทำหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมการลงทุนและการค้าภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี และประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า ในปี พ.ศ. 2551 เป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ลำดับที่ 1) รับผิดชอบในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และเป็นกรรมการยุทธศาสตร์พรรค (7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 – 9 กันยายน พ.ศ. 2553) ในปี พ.ศ. 2556 ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปานปรีย์ เป็นบุคคลหนึ่งที่ถูกทาบทามให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ[6] แต่ก็ไม่ได้ตอบรับเข้าทำหน้าที่ดังกล่าว ในปี พ.ศ. 2566 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ปานปรีย์เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน[7] ในปี พ.ศ. 2567 หลังการปรับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในวันที่ 27 เมษายน ซึ่งประกาศอย่างเป็นทางการในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน เขาพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี แต่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เขาลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในวันเดียวกัน[8] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|