เออิจิ เนงิชิ
เออิจิ เนงิชิ (ญี่ปุ่น: 根岸 英一; โรมาจิ: Negishi Ei'ichi, 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 – 6 มิถุนายน พ.ศ. 2564) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นที่เกิดในประเทศแมนจู เขาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดู[2] ผลงานที่สำคัญที่สุดของเนงิชิคือการค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิ[3] เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี "สำหรับปฏิกิริยาคู่ควบแบบไขว้ในเคมีอินทรีย์ที่มีแพลเลเดียมเร่งปฏิกิริยา" ร่วมกับริชาร์ด เฮ็กและอากิระ ซูซูกิ[4] วัยเด็กและการศึกษาเนงิชิเกิดที่ซินกิง เมืองหลวงของประเทศแมนจู (หรือในปัจจุบันคือนครฉางชุน มณฑลจี๋หลิน สาธารณรัฐประชาชนจีน) เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2478[5] สองปีถัดมา บิดาของเขาถูกย้ายไปทำงานให้กับการรถไฟแมนจูเรียใต้ ครอบครัวของเขาจึงต้องย้ายไปอยู่ที่ฮาร์บิน[6]จนถึง พ.ศ. 2486 เมื่อเขาอายุได้ 9 ขวบ ครอบครัวของเขาก็ย้ายที่อยู่อีกครั้งไปยังเกาหลี พวกเขาอาศัยอยู่ที่อินช็อนก่อนจะย้ายไปยังคย็องซ็อง (หรือกรุงโซลในปัจจุบัน) ในปีถัดมา สามเดือนหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2488 ครอบครัวเนงิชิย้ายกลับไปที่ญี่ปุ่น เนงิชิจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวเมื่อ พ.ศ. 2501 และฝึกงานที่บริษัทเทจินอยู่ระยะหนึ่งก่อนจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจนจบปริญญาเอกใน พ.ศ. 2506 โดยมีศาสตราจารย์อัลลัน อาร์ เดย์ เป็นที่ปรึกษา งานวิชาการหลังจบปริญญาเอก เนงิชิตั้งใจจะกลับมาเป็นนักวิจัยในสถาบันการศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่มีตำแหน่งงานว่าง[7][8] จึงยังคงทำงานต่อที่เทจินจนถึง พ.ศ. 2509 ก่อนจะลาออกไปทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูกับเฮอร์เบิร์ต ชาลส์ บราวน์ (เช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปีเดียวกัน บราวน์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีเช่นกันใน พ.ศ. 2522) เขาสอนหนังสือที่เพอร์ดูระหว่าง พ.ศ. 2511 และ 2515[9] ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยซีราคิวส์และเลื่อนชั้นขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์ใน พ.ศ. 2522 และกลับไปเป็นศาสตราจารย์ที่เพอร์ดูในปีเดียวกัน[9] เขาค้นพบปฏิกิริยาควบแน่นเนงิชิซึ่งควบแน่นสารประกอบอินทรีย์ของสังกะสีและสารประกอบเฮไลด์อินทรีย์โดยใช้แพลเลเดียมหรือนิกเกิลเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเพื่อสร้างพันธะคาร์บอน–คาร์บอน ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน พ.ศ. 2553[10] นอกจากนี้ เขายังค้นพบด้วยว่าสารประกอบอินทรีย์ของอลูมิเนียมและเซอร์โคเนียมก็ใช้ในปฏิกิริยาควบแน่นแบบไขว้ได้เช่นกัน เนงิชิเลือกที่จะไม่จดสิทธิบัตรปฏิกิริยาของเขาเช่นเดียวกับอากิระ ซูซูกิ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้ทุกคนมีสิทธิใช้ปฏิกิริยานี้สังเคราะห์สารประกอบได้[11] สารประกอบ Zr(C5H5)2 ซึ่งเตรียมจากการรีดิวซ์เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์ยังมีชื่อเรียกว่า เนงิชิรีเอเจนต์ และใช้ในการสังเคราะห์เบนซีนที่มีหมู่แทนที่หลายหมู่ เซอร์โคโนซีนไดคลอไรด์เป็นสารประกอบในกลุ่มเมทัลโลซีน (Metallocene) เช่นเดียวกับเฟอร์โรซีน อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|