อากิระ ซูซูกิ
อากิระ ซูซูกิ (ญี่ปุ่น: 鈴木 章; โรมาจิ: Suzuki Akira) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีใน พ.ศ. 2553 เขาค้นพบและตีพิมพ์ปฏิกิริยาซูซูกิ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาในเคมีอินทรีย์ระหว่างกรดโบโรนิกที่มีหมู่แอริลหรือไวนิลกับแอริลหรือไวนิลเฮไลด์โดยใช้สารประกอบโคออร์ดิเนชันของแพลเลเดียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาเมื่อ พ.ศ. 2522[1][2][3][4] วัยเด็กและการศึกษาซูซูกิเกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2473 ที่เมืองมูกาวะ กิ่งจังหวัดอิบูริ จังหวัดฮกไกโด บิดาของซูซูกิเสียชีวิตตั้งแต่ซูซูกิยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาเข้าศึกษาวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยฮกไกโดจนจบระดับปริญญาเอกและทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในสถาบันเดียวกัน ในวัยเด็กซูซูกิสนใจคณิตศาสตร์มากกว่า[5] แต่ความสนใจของเขาเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้อ่านตำราเคมีอินทรีย์สองเล่มได้แก่ Textbook of Organic Chemistry โดยหลุยส์ ฟีเซอร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและ Hydroboration โดยเฮอร์เบิร์ต ซี. บราวน์จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดู[6] งานวิชาการซูซูกิเข้าทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกตั้งแต่ พ.ศ. 2506 ถึง 2508 กับเฮอร์เบิร์ต ซี. บราวน์ที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูก่อนจะกลับมาดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยฮกไกโด ที่มหาวิทยาลัยฮกไกโด ซูซูกิได้นำประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยเพอร์ดูมาใช้ศึกษาปฏิกิริยาควบแน่นร่วมกับผู้ช่วยได้แก่โนริโอะ มิยาอูระ (ญี่ปุ่น: 宮浦憲夫; โรมาจิ: Miyaura Norio) และนำไปสู่การค้นพบปฏิกิริยาซูซูกิใน พ.ศ. 2522[7] ข้อได้เปรียบของปฏิกิริยานี้คือกรดโบโรนิกเสถียรในน้ำและอากาศ ทำให้ใช้งานได้ง่ายกว่าปฏิกิริยาควบแน่นแบบอื่น ๆ [8] กลไกการเกิดปฏิกิริยาซูซูกิแสดงด้านล่าง ซูซูกิลาออกจากมหาวิทยาลัยฮกไกโดเมื่อ พ.ศ. 2537 ก่อนจะไปทำงานมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์โอกายามะจนถึง พ.ศ. 2538 แล้วย้ายไปที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และศิลปะคูราชิกิจนถึง พ.ศ. 2542[9] (ทั้งสองแห่งตั้งอยู่ในจังหวัดโอกายามะ) และยังได้เป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยเพอร์ดูใน พ.ศ. 2544 และมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันใน พ.ศ. 2545 ซูซูกิได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับริชาร์ด เฮ็กและเออิจิ เนงิชิเมื่อ พ.ศ. 2553[10] มุมมองซูซูกิมองว่าเคมีมักถูกมองเป็นตัวร้ายที่ก่อมลพิษ แต่ในความเป็นจริงแล้วเคมีเป็นวิชาที่สำคัญที่ทำให้ชีวิตในปัจจุบันสะดวกสบาย เขามองว่ากระบวนการผลิตสารเคมีที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ โดยในบทสัมภาษณ์ในนิตยสารยูเนสโกคูเรียร์ใน พ.ศ. 2554 เนื่องในโอกาสปีสากลแห่งเคมี ซูซูกิกล่าวว่า[11]:
ครั้งหนึ่งเมื่อนักศึกษาชาวแคนาดาเชื้อสายจีนคนหนึ่งถามว่าทำอย่างไรจึงจะเป็นนักเคมีที่ดีได้ ซูซูกิตอบว่าสิ่งสำคัญคือต้องมองทะลุสิ่งที่มองเห็นภายนอกเพื่อค้นพบใจความสำคัญข้างใน[12] ซูซูกิไม่จดสิทธิบัตรปฏิกิริยาของเขาเนื่องจากเขาคิดว่างานวิจัยของเขาได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ[13] ทำให้เทคโนโลยีนี้เผยแพร่ไปสู่วงกว้าง[14] จนถึงปัจจุบัน สิทธิบัตรและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาซูซูกิมีมากกว่า 6,000 ฉบับ[6] อ้างอิง
|