เรียวจิ โนโยริ
เรียวจิ โนโยริ (ญี่ปุ่น: 野依 良治; โรมาจิ: Noyori Ryōji; เกิด 3 กันยายน ค.ศ. 1938) เป็นนักเคมีชาวญี่ปุ่นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีกึ่งหนึ่งใน ค.ศ. 2001 ร่วมกับวิลเลียม สแตนดิช โนลส์ "สำหรับผลงานว่าด้วยปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล" ในขณะที่อีกกึ่งหนึ่งมอบให้กับคาร์ล แบร์รี ชาร์เพลส "สำหรับปฏิกิริยาออกซิเดชันที่มีตัวเร่งปฏิกิริยาไครัล"[2][3][4][5][6][7][8] ประวัติการศึกษาเรียวจิ โนโยริเกิดที่โคเบะ ในวัยเด็กเขาสนใจฟิสิกส์เนื่องจากพ่อของเขาเป็นเพื่อนสนิทกับฮิเดกิ ยูกาวะ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ใน ค.ศ. 1949 แต่ต่อมาหลังจากเขาได้เห็นการนำเสนอเกี่ยวกับไนลอนในงานแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรม เขาก็เริ่มเบี่ยงเบนความสนใจไปทางด้านเคมีเพราะเห็นว่าเคมีสามารถ "สร้างสิ่งที่มีคุณค่าได้จากสิ่งที่แทบไม่มีค่าอะไรเลย" โนโยริเข้าเรียนในภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโตและจบการศึกษาระดับปริญญาตรีใน ค.ศ. 1961 และเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทด้านเคมีอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกียวโตเช่นกัน ระหว่าง ค.ศ. 1963 และ 1967 โนโยริทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกียวโต และเป็นผู้ฝึกสอนในกลุ่มวิจัยของฮิโตชิ โนซากิ เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเกียวโตใน ค.ศ. 1967[9] และเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเดิมใน ค.ศ. 1968 โนโยริทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับอีไลอัส เจ. คอรีก่อนจะกลับไปเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนาโงยะใน ค.ศ. 1972 โนโยริยังคงประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาโงยะและนอกจากนี้ยังเป็นประธานของศูนย์วิจัยริเก็ง ศูนย์วิจัยระดับชาติของประเทศญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 2003 และ 2015[10] งานวิจัยและมุมมองด้านวิชาการโนโยริเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของตัวเร่งปฏิกิริยาและเคมีสีเขียว เขาเขียนบทความหนึ่งใน ค.ศ. 2005 แสดงเจตนามุ่งมั่นไปสู่ "ความสวยงามที่ใช้ประโยชน์ได้จริงในการสังเคราะห์สาร"[11] ในบทความดังกล่าวโนโยริกล่าวว่า "ความสำเร็จในการคิดค้นวิธีการสังเคราะห์ที่ตรงไปตรงมาและใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความอยู่รอดของมนุษยชาติ" นอกจากนี้เขายังเคยกล่าวด้วยว่า "การวิจัยนั้นเป็นไปเพื่อประเทศชาติและมนุษยชาติ ไม่ใช่เพื่อตัวนักวิจัยเอง" โนโยริยังสนับสนุนให้นักวิทยาศาสตร์มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยกล่าวว่า "นักวิจัยต้องกระตุ้นความคิดเห็นของประชาชนและนโยบายของรัฐบาลเพื่อไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21"[12] โนโยริดำรงตำแหน่งประธานสภาปฏิรูปการศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจัดตั้งโดยอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะหลังขึ้นสู่อำนาจใน ค.ศ. 2006[13] โนโยริเป็นที่รู้จักจากปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโดยใช้สารประกอบโคออร์ดิเนชันของโรเดียมและรูทีเนียมเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา โดยเฉพาะสารประกอบที่มีไบแนปเป็นลิแกนด์อย่างเช่นในปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรโนโยริ ปฏิกิริยาไฮโดรจีเนชันแบบอสมมาตรของแอลคีนโดยใช้ ((S)-BINAP)Ru(OAc)2 ได้นำไปใช้ในการสังเคราะห์ยาระงับปวดนาโปรเซนในเชิงพาณิชย์ ในขณะที่การสังเคราะห์ยาต้านแบคทีเรียลีโวฟลอกซาซินก็ใช้กระบวนการในลักษณะเดียวกันในการเติมไฮโดรเจนลงในคีโทนโดยใช้สารเชิงซ้อนรูทีเนียม(II) ไบแนปแฮไลด์ โนโยริยังมีผลงานอื่นเกี่ยวกับการสังเคราะห์แบบอสมมาตร ผลงานหนึ่งได้แก่ปฏิกิริยาไอโซเมอไรเซชันของแอลลิลลิกเอมีนซึ่งทากาซาโงะอินเทอร์แนชันนัลคอร์พอเรชันได้นำไปใช้สังเคราะห์เมนทอลซึ่งสามารถผลิตได้ปีละ 3000 ตัน[14] การเชิดชูเกียรติรางวัลเรียวจิ โนโยริก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เรียวจิ โนโยริโดยสมาคมเคมีอินทรีย์สังเคราะห์แห่งประเทศญี่ปุ่น ใน ค.ศ 2000 โนโยริได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแรนเอิง ที่ซึ่งเขาเคยสอนใน ค.ศ. 1995[15] ต่อมาใน ค.ศ. 2005 เขาได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิกและมหาวิทยาลัยแอร์เวเทฮาอาเคินในประเทศเยอรมนี และได้รับเลือกเป็นภาคีสมาชิกชาวต่างชาติแห่งราชสมาคมในปีเดียวกัน[1] รางวัลสำคัญที่เรียวจิ โนโยริได้รับ:
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|