สะพานพระราม 8
สะพานพระราม 8 (อังกฤษ: Rama VIII Bridge) เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 13 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีแนวสายทางเชื่อมต่อกับทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน (สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และมูลนิธิชัยพัฒนา ในปัจจุบัน) แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด บรรจบกับปลายถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้กับธนาคารแห่งประเทศไทย แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประวัติสะพานนี้เกิดจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งที่เสด็จทรงเยี่ยมพระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นถึงปัญหาการจราจรของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรุงเทพมหานครก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อบรรเทาการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรี และเป็นจุดเชื่อมต่อส่วนสุดท้ายของโครงข่ายจตุรทิศ ตะวันตก-ตะวันออก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สะพานพระราม 8 จะช่วยเชื่อมการเดินทางระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีให้สะดวกสบายขึ้น ซึ่งจะช่วยระบายรถบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าได้ถึง 30% และบนสะพานกรุงธน อีก 20% และยังสามารถลดมลพิษทางอากาศบริเวณในเมือง โดยเริ่มเปิดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 เวลา 7:00 น. ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดสะพานพระราม 8 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน ลักษณะโดยทั่วไปสะพานพระราม 8 มีความยาวรวม 475 เมตร สูงเท่าสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และความลาดชันไม่เกิน 3% เป็นสะพานหลักช่วงข้ามแม่น้ำ 300 เมตร สะพานยึดช่วงบนบก 100 เมตร และสะพานช่วงโครงสร้างยึดเสา 75 เมตร มีรูปแบบโดดเด่นสวยงามเพราะได้ออกแบบเป็นสะพานขึงแบบอสมมาตร ซึ่งหมายความว่ามีเสาสะพานหลักเสาเดียวบนฝั่งธนบุรี และมีเสารับน้ำหนัก 1 ต้นบนฝั่งพระนคร จึงไม่มีเสารับน้ำหนักตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ไม่มีปัญหาต่อการสัญจรทางน้ำ ช่วยป้องกันน้ำท่วมและระบบนิเวศวิทยาในน้ำ รวมทั้งไม่กระทบต่อการจัดตั้งกระบวนพยุหยาตราชลมารค การรับน้ำหนักของสะพาน ได้ติดตั้งสายเคเบิลระนาบคู่ 28 คู่ขึงยึดพื้นช่วงข้ามแม่น้ำ และใช้สายเคเบิลระนาบเดี่ยว 28 เส้น ขึงยึดรั้งกับโครงสร้างยึดเสาสะพานบนฝั่งธนบุรี เคเบิลแต่ละเส้นประกอบด้วยสลิงตั้งแต่ 11-65 เส้น เมื่อเกิดปัญหากับเคเบิล สามารถขึงหรือหย่อนได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องปิดการจราจรเหมือนสะพานพระราม 9 เนื่องจากเคเบิลแต่ละเส้นใช้สลิง ภายในซึ่งเป็นขดลวดใหญ่ทำให้ดูแลบำรุงรักษาและซ่อมแซมยากกว่า อีกทั้งสายเคเบิลของสะพานพระราม 8 ยังมีสีเหลืองทอง สีประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อสะท้อนแสงจะส่องประกายสวยงาม โดยเฉพาะยามค่ำคืน ด้านมาตรฐานความปลอดภัยได้ทดสอบแรงดึงในลวดสลิง 1 ล้านครั้ง โดยใช้แรงดึงปกติ 10 ตัน ไม่มีปัญหา และต้องใช้แรงดึงถึง 27 ตัน ลวดสลิงถึงขาดแต่ก็แค่ 1% เท่านั้น นอกจากนี้ได้มีการทดสอบแรงลม แรงสั่นสะเทือน ทิศทางลม รวมทั้งติดตั้งเครื่องวัดไว้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดูความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้น สะพานพระราม 8 เป็นสะพานขึงแบบอสมมาตรที่ยาวติดอันดับ 5 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนีซึ่งติดอันดับถึง 3 สะพาน และประเทศเนปาล โดยนับจากความยาวช่วงของสะพาน ส่วนสะพานพระราม 9 ซึ่งเป็นสะพานขึงตัวแรกแต่เป็นแบบสมมาตร เพราะมี 2 เสา ถือว่าอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก โดยนับความยาวช่วงของสะพานได้ 450 เมตร การออกแบบความโดดเด่นสวยงามที่เกิดขึ้น ผสมผสานไปด้วยศิลปะแบบไทย จากแนวคิดในการสร้างเพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร กรุงเทพมหานครจึงได้อัญเชิญ "พระราชลัญจกร" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ มาเป็นต้นแบบในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบกำหนดทิศทางของสะพานและพระบรมราชานุสรณ์ ได้ออกแบบให้สัมพันธ์กับวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในวันที่ 21 และ 22 ธันวาคม ของทุกปี โดยในเวลาเช้ามืดดวงอาทิตย์โผล่เด่นพ้นขอบฟ้าขึ้นตรงเส้นกลางถนนบนสะพานด้านทิศตะวันออก และขึ้นตรงหน้าพระบรมราชานุสรณ์ เสมือนเป็นมาตรที่บ่งบอกทิศทางการโคจรเป็นวงรี วกกลับของดวงอาทิตย์เมื่อเทียบในระนาบ 2 มิติตามวิถีคิดในอดีตกาล ส่วนประกอบต่าง ๆ ของสะพานเน้นความโปร่งบาง เรียบง่าย และสวยงาม วัสดุที่ใช้ในโครงสร้างของสะพานเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม เช่น ในส่วนสะพานเสาสูงรูปตัว Y คว่ำ เป็นเสาคอนกรีตเสริมเหล็ก ทำหน้าที่หิ้วส่วนโครงสร้างสำคัญอื่น ๆ ของสะพาน ซึ่งมองเห็นได้ในระยะไกล ๆ ได้ออกแบบโดยใช้เค้าโครงมโนภาพของเรือนแก้ว ราวกันตก ซึ่งทำจากโลหะจำลองมาจากดอกบัวและกลีบบัว เสาโครงสร้างใต้แผ่นพื้นตกแต่งด้วยลวดลาย ใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบา มีคุณสมบัติช่วยสะท้อนแสงลงสู่ผิวจราจรใต้ทางยกระดับ ช่วยเพิ่มความสว่างบริเวณใต้ทางยกระดับและประหยัดไฟฟ้าในเวลากลางคืน บริเวณด้านล่างซึ่งเป็นฐานของเสาถูกพัฒนาเป็นสวนสาธารณะหรือสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งมีก่อสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 8 ที่ใหญ่กว่าขนาดพระองค์จริง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาเปิดพระบรมรูปอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555[2] สิ่งพิเศษของสะพานพระราม 8 ที่สะพานอื่นในกรุงเทพมหานครยังไม่มีก็คือ ที่ปลายยอดเสาสูงของตัวสะพานจะมีจุดชมทิวทัศน์ ซึ่งมีโครงสร้างโลหะกรุกระจก ลักษณะคล้ายดอกบัว สูงจากพื้นดินถึง 165 เมตร หรือสูงเท่าตึก 60 ชั้น พื้นที่ 35 ตารางเมตร จุคนได้ครั้งละเกือบ 50 คน ซึ่งจะเปิดให้บริการกับประชาชนทั่วไปด้วย แต่การก่อสร้างส่วนนี้จะแล้วเสร็จภายหลังพร้อม ๆ กับลิฟต์ของคนพิการซึ่งอยู่หัวมุม 2 ฝั่งแม่น้ำ เนื่องจากโครงสร้างเสาสูงเป็นแบบตัว Y คว่ำ การขึ้นลงจุดชมทิวทัศน์จึงต้องติดตั้งลิฟต์ทั้งในแนวเฉียงและแนวดิ่ง โดยเป็นแนวเฉียงจากพื้นดิน 80 เมตรก่อน จากนั้นจึงเป็นแนวดิ่งอีก 155 เมตร แต่บรรทุกได้เที่ยวละประมาณ 5 คน ใช้เวลาขึ้น-ลง 2-3 นาที นอกจากนี้ยังมีลิฟต์ธรรมดาอยู่คนละด้านเพื่อใช้สำหรับเจ้าหน้าที่ในการดูแลและตรวจตราสะพาน สะพานพระราม 8 ปรากฏในด้านหลังของธนบัตร 20 บาท แบบ 15 ซึ่งอยู่เบื้องหลังพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ความพิเศษ
ผลกระทบจากการก่อสร้างการก่อสร้างสะพานพระราม 8 มีผลกระทบกับชุมชนรายรอบการก่อสร้าง พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยพื้นที่ 50 ไร่ บริเวณสะพานพระราม 8 ถูกปรับปรุงเพื่อก่อสร้างสวนหลวงพระราม 8 ซึ่งเป็นสวนชุมชน ซึ่งรวมถึงพิพิธภัณฑ์ของรัชกาลที่ 8 พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ อาทิ ชุมชนบ้านปูน โรงงานสุราบางยี่ขัน ซึ่งให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ออกแบบรายละเอียด ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ สะพานพระราม 8
13°46′08″N 100°29′55″E / 13.76895°N 100.498703°E
|