Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ลัทธิอนาธิปไตย

ลัทธิอนาธิปไตย (อังกฤษ: Anarchism) เป็นปรัชญาและขบวนการทางการเมืองที่ตั้งข้อกังขาต่อการให้ความชอบธรรมแก่อำนาจทุกรูปแบบ และต้องการยกเลิกสถาบันใดก็ตามที่มองว่าใช้การบีบบังคับและการจัดลำดับชั้นโดยไม่จำเป็น ซึ่งโดยทั่วไปรวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะรัฐบาล รัฐชาติ[1] และทุนนิยม ลัทธิอนาธิปไตยสนับสนุนการแทนที่รัฐด้วยสังคมไร้รัฐหรือสมาคมเสรีรูปแบบอื่น ๆ และในฐานะขบวนการฝ่ายซ้ายในประวัติศาสตร์ที่มักถูกวางลงในฝั่งซ้ายสุดของสเปกตรัมการเมือง ลัทธิอนาธิปไตย ชุมชนนิยม (Communalism (Bookchin)) และลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมนับเป็นปีกอิสรนิยมของขบวนการสังคมนิยม (สังคมนิยมแบบอิสรนิยม)

ก่อนการสถาปนารัฐ ราชอาณาจักร หรือจักรวรรดิอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มนุษย์อาศัยในสังคมซึ่งไม่มีลำดับชั้นอย่างเป็นทางการ เมื่อองค์กรแบบลำดับชั้น (hierarchical organization) ถือกำเนิดขึ้น ความกังขาต่ออำนาจก็เช่นกัน แม้ว่าร่องรอยความคิดแนวอนาธิปไตยพบเห็นได้ตลอดห้วงประวัติศาสตร์ ลัทธิอนาธิปไตยสมัยใหม่ถือกำเนิดจากยุคเรืองปัญญา ขบวนการลัทธิอนาธิปไตยเติบโตในหลายแห่งทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 19 และทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20 และมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้ปลดปล่อย (emancipation) กรรมกร ในช่วงเวลานี้มีการก่อตั้งสำนักคิดอนาธิปไตยหลายสำนักขึ้นมา นักอนาธิปัตย์มีส่วนร่วมในการปฏิวัติหลายครั้ง ที่โดดเด่นเช่นคอมมูนปารีส สงครามกลางเมืองรัสเซีย และสงครามกลางเมืองสเปน ที่จุดจบของมันเป็นจุดจบยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย (classical era of anarchism) ขบวนการอนาธิปไตยในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดำเนินมาจนคริสต์ศตวรรษที่ 21 ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ความนิยมและอิทธิพลเติบโตภายในขบวนการต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalist) ขบวนการต่อต้านสงคราม (anti-war) และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ (anti-globalisation)

นักอนาธิปัตย์ใช้ยุทธวิธีที่หลากหลาย (diversity of tactics) ในการบรรลุเป้าหมายทางอุดมการณ์ สามารถแบ่งออกได้อย่างกว้าง ๆ เป็นยุทธวิธีปฏิวัติและยุทธวิธีวิวัฒนาการ ทั้งสองประเภทมีส่วนทับซ้อนกันอยู่บ้าง ยุทธวิธีปฏิวัติมุ่งที่จะล้มอำนาจและรัฐ และในอดีตเคยหันไปหาความรุนแรง ส่วนยุทธวิธีวิวัฒนาการมุ่งที่จะคาดการณ์ว่าสังคมแบบอนาธิปไตยจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร แนวคิด ข้อวิจารณ์ และปฏิบัติการ (Praxis (process)) ของลัทธิอนาธิปไตยมีบทบาทในหลากหลายบริเวณของสังคมมนุษย์

คำศัพท์และนิยาม

วิลเฮ็ล์ม ไวท์ลิง ตัวอย่างของนักเขียนที่มีส่วนร่วมในทฤษฎีอนาธิปไตยโดยไม่ใช้คำว่าลัทธิอนาธิปไตย[2]

ต้นกำเนิดทางศัพทมูลวิทยาของ anarchism คือภาษากรีกโบราณ anarkhia หมายถึง "ไร้ผู้ปกครอง" ซึ่งประกอบขึ้นจากอุปสรรค an- ("ไร้") และคำว่า arkhos ("ผู้นำ" หรือ "ผู้ปกครอง") ส่วนปัจจัย -ism หมายถึงกระแสอุดมการณ์ที่สนับสนุนอนาธิปไตย[3] Anarchism ปรากฎในภาษาอังกฤษใน ค.ศ. 1642 เป็น anarchisme และใน ค.ศ. 1539 เป็น anarchy การใช้งานคำในภาษาอังกฤษในช่วงแรกเน้นความหมายถึงความไร้ระเบียบ[4] หลายฝักฝ่ายในการปฏิวัติฝรั่งเศสตราหน้าฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น anarchists แม้ว่าน้อยคนที่ถูกกล่าวหาจะมีมุมมองร่วมกับนักอนาธิปัตย์ในภายหลัง นักปฏิวัติหลายคนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทิวิลเลียม กอดวิน (William Godwin) (ค.ศ. 1756–1836) และวิลเฮ็ล์ม ไวท์ลิง (Wilhelm Weitling) (ค.ศ. 1808–1871) ได้มีส่วนร่วมต่อหลักการลัทธิอนาธิปไตยของคนรุ่นต่อไป แต่ไม่ได้เรียกตัวเองหรือความเชื่อของตัวเองว่า anarchist หรือ anarchism[5]

นักปรัชญาการเมืองคนแรกที่เรียกตัวเองว่า anarchist (ฝรั่งเศส: anarchiste) คือปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง (Pierre-Joseph Proudhon) (ค.ศ. 1809–1865) เป็นกากบาทจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของลัทธิอนาธิปไตยในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 นับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1890 และเริ่มต้นในประเทศฝรั่งเศส[6] คำว่า libertarianism มักใช้เป็นคำพ้องความหมายกับคำว่าลัทธิอนาธิปไตย[7] และยังคงถูกใช้ในความหมายเดียวกันอยู่อย่างแพร่หลายข้างนอกประเทศสหรัฐอเมริกา[8] การใช้คำว่า libertarianism ในบางกรณีหมายถึงปรัชญาตลาดเสรีปัจเจกนิยม (individualism) เท่านั้น โดยเฉพาะคำว่าลัทธิอนาธิปไตยตลาดเสรี (free-market anarchism) จะใช้คำว่า libertarian anarchism[9]

แม้คำว่า libertarian โดยส่วนมากจะมีความหมายเหมือนกับลัทธิอนาธิปไตย[10] ความหมายของมันเจือจางลงไปจากการใช้งานในวงกว้างโดยกลุ่มที่มีความแตกต่างกันทางอุดมการณ์[11] ไม่ว่าจะเป็นพวกฝ่ายซ้ายใหม่ (New Left) หรือลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยม ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับพวกสังคมนิยมแบบอำนาจนิยม (Authoritarian socialism) และพรรคแนวหน้า (vanguard party) หรือพวกเสรีนิยมทางวัฒนธรรม (cultural liberalism) ซึ่งสนใจเรื่องเสรีภาพของพลเมือง (civil liberties) เป็นหลัก[11] นักอนาธิปัตย์บางคนเรียกตัวเองว่า libertarian socialist[12] เพื่อหลีกเลี่ยงนัยเชิงลบของลัทธิอนาธิปไตยและเน้นความเชื่อมโยงกับแนวคิดสังคมนิยม[11] คำว่า Anarchism เป็นคำที่ใช้เรียกฝ่ายต่อต้านอำนาจนิยม (anti-authoritarianism) ของขบวนการสังคมนิยม[13][nb 1] ลัทธิอนาธิปไตยเป็นขั้วตรงข้ามของสังคมนิยมรูปแบบอิงรัฐหรือจากบนลงล่าง[18] โดยทั่วไป นักวิชาการลัทธิอนาธิปไตยจะเน้นความเป็นสังคมนิยมของลัทธิอนาธิปไตย[19] และวิจารณ์ความพยายามสร้างการแบ่งขั้วระหว่างทั้งสอง[20] นักวิชาการบางคนกล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยได้รับอิทธิพลจากเสรีนิยม[11] และเป็นทั้งเสรีนิยมและสังคมนิยมแต่เป็นมากกว่า[21] ในขณะเดียวกัน นักวิชาการส่วนใหญ่ปฏิเสธแนวคิดลัทธิอนาธิปไตย-ทุนนิยม (anarcho-capitalism) โดยมองว่าเป็นการเข้าใจผิดในหลักการอนาธิปไตย[22][nb 2]

ถึงแม้ว่าแก่นหลักแนวคิดลัทธิอนาธิปไตยคือการต่อต้านรัฐ (Anti-statism) แต่การให้นิยามของลัทธิอนาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการถกเถียงกันอย่างมากระหว่างนักวิชาการและนักอนาธิปัตย์ในประเด็นนี้ และกระแสการเมืองต่าง ๆ มองลัทธิอนาธิปไตยแตกต่างกันไปเล็กน้อย[24][nb 3] องค์ประกอบนิยามหลักประกอบด้วยเจตจำนงมุ่งหาสังคมที่ไร้การบีบบังคับ การไม่ยอมรับกลไกของรัฐ และการเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์ทำให้มนุษย์สามารถดำรงอยู่และรุดหน้าไปสู่สังคมที่ไร้การบีบบังคับได้ และการนำเสนอวิธีการดำเนินไปสู่อนาธิปไตยในอุดมคติ[27]

ประวัติ

ยุคก่อนสมัยใหม่

งานเขียนของเซนอนแห่งกีตีออน (Zeno of Citium) (ป. 334 – ป. 262 ก่อนสากลศักราช) โปลีเตีย (Πολιτεία) เป็นแรงบันดาลใจให้ปิออตร์ โครปอตกิน[28]

ก่อนการก่อตั้งเมืองและนคร อำนาจจัดตั้งยังไม่เกิดขึ้น แนวคิดแบบลัทธิอนาธิปไตยเกิดขึ้นมาในฐานะปฏิกิริยาต่อสถาบันอำนาจ[29] สารตั้งต้นของลัทธิอนาธิปไตยที่โด่งดังที่สุดในโลกโบราณอยู่ในจีนและกรีซ ในจีน นักปรัชญาลัทธิเต๋าเช่นจวงจื่อและเล่าจื๊อวางเค้าโครงให้กับลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญา (philosophical anarchism) (การถกเถียงกันว่าด้วยความชอบธรรมของรัฐ)[30] มีการกล่าวว่าในลัทธิเต๋าและลัทธิสโตอิกมี "การคาดการณ์อย่างมีนัยสำคัญ" ที่มีในลัทธิอนาธิปไตย[31]

มีการแสดงทัศนคติแบบอนาธิปไตยจากนักประพันธ์โศกนาฏกรรมและนักปรัชญาในกรีซ ไอส์คูลอสและโซโพเคลสใช้เรื่องปรัมปราชื่ออันตีโกเนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างกฎหมายซึ่งบังคับใช้โดยรัฐกับอัตตาณัติ (autonomy) ของบุคคล โสกราตีสตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในเอเธนส์อยู่เสมอ และยืนหยัดในสิทธิในเสรีภาพทางความคิดของบุคคล ลัทธิซีนิก (Cynicism (philosophy)) ไม่ยอมรับกฎหมายมนุษย์ (โนมอส (Nomos (sociology))) และอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่พยายามใช้ชีวิตตามธรรมชาติ (ฟูสิส (physis)) ลัทธิสโตอิกสนับสนุนสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและไม่เป็นทางการระหว่างพลเมืองในสังคมโดยปราศจากรัฐ[32]

ในยุโรปยุคกลาง ไม่มีกิจกรรมแบบลัทธิอนาธิปไตยยกเว้นขบวนการศาสนาพรตนิยมบางส่วน ขบวนการเหล่านี้และขบวนการมุสลิมอื่น ๆ ในภายหลังได้ให้กำเนิดแก่ลัทธิอนาธิปไตยเชิงศาสนา (Anarchism and religion) ในจักรวรรดิซาเซเนียน แมซแดก (Mazdak) เรียกร้องสังคมเสมอภาคและการเลิกล้มราชาธิปไตย แต่สุดท้ายโดนพระเจ้าโควอดที่ 1 (Kavad I) ประหารชีวิต[33]

ในบัสรา หลายนิกายสอนต่อต้านรัฐ[34] ในยุโรป หลายนิกายพัฒนาแนวคิดที่ต่อต้านรัฐและเป็นแบบอิสรนิยม[35] เริ่มมีความสนใจในยุคโบราณใหม่อีกครั้งในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาและความสนใจในการพิพากษาส่วนบุคคลในการปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์ ซึ่งฟื้นฟูองค์ประกอบของโลกิยนิยมแนวต่อต้านอำนาจนิยม โดยเฉพาะในฝรั่งเศส[36] มีการตั้งคำถามถึงผู้ถืออำนาจทางปัญญา (ทางโลกและทางศาสนา) ในยุคเรืองปัญญา และการปฏิวัติในคริสต์ทศวรรษ 1790 และ ค.ศ. 1848 ล้วนร่วมกันได้กระตุ้นการพัฒนาทางอุดมการณ์ของช่วงเวลาที่จะกลายเป็นยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย[37]

ยุคสมัยใหม่

ในการปฏิวัติฝรั่งเศส กลุ่มพลพรรคอย่างพวกอ็องราเฌ (Enragés) และซ็อง-กูว์ล็อตประสบกับช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของแนวคิดสหพันธรัฐและแนวคิดต่อต้านรัฐที่กำลังคุกรุ่น[38] แนวคิดอนาธิปไตยกระแสแรกพัฒนาขึ้นมาในประเทศอังกฤษยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 จากลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาของวิลเลียม กอดวิน ซึ่งปฏิเสธความชอบธรรมทางจริยธรรมของรัฐ แนวคิดของมัคส์ ชเตียร์เนอร์ (Max Stirner) ปูทางไปสู่ปัจเจกนิยมและทฤษฎีมิวชวลลิสต์ (Mutualism (economic theory)) ของปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง หยั่งรากในฝรั่งเศส[39] จนช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1870 สำนักคิดอนาธิปไตยหลายสำนักมีนิยามที่ชัดเจนแล้ว และคลื่นโลกาภิวัตน์ของลัทธิอนาธิปไตยที่ในขณะนั้นไม่มีใครคาดคิดดำรงอยู่ตั้งแต่ ค.ศ. 1880 ถึง 1914[40] ยุคคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตยจบลงเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนถึงจุดจบ และได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นยุคทองของลัทธิอนาธิปไตย[39]

มีฮาอิล บาคูนิน ต่อต้านเผด็จการโดยชนกรรมาชีพของลัทธิมากซ์ และเป็นพันธมิตรกับกลุ่มนิยมสหพันธรัฐในสากลที่หนึ่งก่อนถูกขับไล่โดยพวกมาร์กซิสต์

มีฮาอิล บาคูนิน สถาปนาลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่ม (collectivist anarchism) โดยดึงเอาแนวคิดจากมิวชวลลิสม์ และเข้าร่วมสมาคมกรรมกรสากล สหภาพแรงงานที่เป็นที่รู้จักในภายหลังในชื่อสากลที่หนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1864 เพื่อรวบรวมกระแสการปฏิวัติต่าง ๆ สากลนี้กลายเป็นอำนาจทางการเมืองที่สำคัญ โดยมีคาร์ล มาคส์ เป็นผู้นำและสมาชิกสภาทั่วไปของสากล ปีกของบาคูนิน (สหพันธ์ฌูรา (Jura Federation)) กับผู้ติดตามของพรูดง (พวกมิวชวลลิสต์) ต่อต้านสังคมนิยมรัฐและสนับสนุนการงดการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการถือครองที่ดินขนาดเล็ก[41] หลักจากขัดแย้งกันอย่างหนัก ปีกของบาคูนินถูกพวกมาร์กซิสต์ขับไล่ออกจากสากลที่การประชุมใหญ่กรุงเฮก ค.ศ. 1872[42] และใน ค.ศ. 1896 อนาธิปัตย์ถูกขับไล่ออกจากสากลที่สองในแบบเดียวกัน[43] คำทำนายของบาคูนินที่โด่งดังกล่าวว่าหากนักปฏิวัติได้อำนาจตามแบบของมาคส์ สุดท้ายพวกเขาก็จะกลายเป็นทรราชคนใหม่ของกรรมกร กลุ่มอนาธิปไตยที่ถูกขับไล่ออกจากสากลที่หนึ่งร่วมกันก่อตั้งองค์การอนาธิปไตยสากลแซ็งต์-อีมีเย ลัทธิอนาธิปไตย-คอมมิวนิสต์เป็นแนวคิดที่คาบเกี่ยวกับกลุ่มนิยม (collectivism) ที่รับอิทธิพลมาจากนักอนาธิปัตย์ชาวรัสเซียปิออตร์ โครปอตกิน (Peter Kropotkin)[44] นักอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์สนับสนุนสหพันธรัฐที่เสรีและการกระจายสินค้าตามความต้องการของแต่ละคน โดยได้แรงบันดาลใจจากคอมมูนปารีส[45]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลัทธิอนาธิปไตยแพร่กระจายไปทั่วโลก[46] และเป็นส่วนสำคัญในขบวนการสหการนิยมระดับนานาชาติ[47] ในประเทศจีน นักเรียนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งชูแนวคิดอนาธิปไตยคอมมิวนิสต์แนวมนุษยนิยมที่สนับสนุนวิทยาศาสตร์[48] เยาวชนขบถจากหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเดินทางมาศึกษาที่โตเกียวซึ่งกลายเป็นศูนย์รวมของนักเรียนกลุ่มนั้น[49] ในลาตินอเมริกา อาร์เจนตินา (Anarchism in Argentina) เป็นฐานที่มั่นของสหการนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-syndicalism) ซึ่งกลายเป็นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่โดดเด่นที่สุดในประเทศ[50] ในช่วงเวลาเดียวกัน อนาธิปัตย์ส่วนน้อยเลือกใช้ยุทธวิธีปฏิวัติด้วยความรุนแรงทางการเมือง (political violence) ที่เรียกว่าการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการกระทำ (propaganda of the deed)[51] หลังขบวนการสังคมนิยมฝรั่งเศสแตกออกเป็นหลาย ๆ กลุ่ม และหลังจากการปราบปรามคอมมูนปารีสและการประหารชีวิตหรือเนรเทศกอมูว์นาร์ (Communards) ไปยังทัณฑนิคมต่าง ๆ ได้เปิดทางให้แก่การแสดงออกและการกระทำทางการเมืองของปัจเจก[52] แม้ว่าอนาธิปัตย์หลายคนถอยตัวเองออกห่างจากการก่อการร้าย ขบวนการก็ได้รับชื่อเสียงในทางลบและมีความพยายามป้องกันไม่ให้อนาธิปัตย์อพยพเข้าสหรัฐ เช่นรัฐบัญญัติคนเข้าเมือง ค.ศ. 1903 (Immigration Act of 1903) เรียกอีกชื่อว่ากฎหมายกีดกันอนาธิปัตย์ (Anarchist Exclusion Act)[53] อีกหนึ่งยุทธวิธีที่อนาธิปัตย์บางคนใช้ในช่วงเวลานี้คือคตินิยมผิดกฎหมาย (Illegalism)[54]

แนสตอร์ มัคนอ (Nestor Makhno) กับสมาชิกกองทัพกบฏปฏิวัติยูเครน (Revolutionary Insurgent Army of Ukraine) อนาธิปไตย

แม้จะมีความกังวล แต่นักอนาธิปัตย์เข้าร่วมในการปฏิวัติรัสเซียเพื่อต่อต้านขบวนการขาวอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในมัคนอวช์ชือนา (Makhnovshchina) แต่เมื่อรัฐบาลบอลเชวิค (Bolshevik government) คงตัวแล้วกลับถูกปราบปรามอย่างหนัก เช่นในกบฏครอนชตัดต์ (Kronstadt rebellion) อนาธิปัตย์หลายคนจากเปโตรกราดและมอสโกหนีมาที่ยูเครน ก่อนที่พวกบอลเชวิคจะสามารถทำลายขบวนการอนาธิปไตยที่นั่นได้ในที่สุด[55] หลังจากการปราบปรามในรัสเซีย กระแสการเมืองสองกลุ่มใหม่ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกันเกิดขึ้นมา กล่าวคือคติแพลตฟอร์ม (platformism) กับลัทธิอนาธิปไตยสังเคราะห์ (synthesis anarchism) คติแพลตฟอร์มต้องการสร้างกลุ่มก้อนที่เชื่อมโยงกันเพื่อทำการปฏิวัติ ในขณะที่ลัทธิอนาธิปไตยสังเคราะห์ต่อต้านทุกอย่างที่คล้ายพรรคการเมือง คนงานและนักกิจกรรมหลายคนหันหน้าหาพรรคคอมมิวนิสต์หลังจากได้เห็นชัยชนะของพวกบอลเชวิคในการปฏิวัติเดือนตุลาคมและสงครามกลางเมืองรัสเซียที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ขบวนการอนาธิปไตยและสังคมนิยมกระแสอื่น ๆ สมาชิกของขบวนการสหการนิยมขนาดใหญ่ในฝรั่งเศสและสหรัฐลาออกจากองค์กรเดิม อาทิสมาพันธ์แรงงานทั่วไปฝรั่งเศส (General Confederation of Labour (France)) และคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก แล้วไปเข้าร่วมองค์การคอมมิวนิสต์สากล[56]

ในสงครามกลางเมืองสเปนระหว่าง ค.ศ. 1936-1939 นักอนาธิปัตย์กับสหการนิยม (สมาพันธ์แรงงานแห่งชาติสเปนกับสหพันธ์อนาธิปไตยไอบีเรีย) จับมือกับกระแสการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ อีกครั้งหนึ่ง ธรรมเนียมลัทธิอนาธิปไตยสเปน (Anarchism in Spain) ที่มีมาอย่างยาวนานได้ทำให้นักอนาธิปัตย์มีบทบาทหลักในสงคราม โดยเฉพาะในการปฏิวัติสเปน ค.ศ. 1936 (Spanish Revolution of 1936) ในการตอบโต้กองทัพที่กบฏต่อรัฐบาลสาธารณรัฐ ขบวนการชาวนาและคนงานแนวอนาธิปไตยที่ได้รับความสนับสนุนจากกองกำลังติดอาวุธได้เข้าควบคุมเมืองบาร์เซโลนาและพื้นที่ชนบทสเปนขนาดใหญ่และเปลี่ยนที่ดินกลายเป็นของส่วนรวม[57] สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนอยู่บ้างในช่วงต้นสงครามกลางเมืองในปริมาณที่จำกัด ผลสุดท้ายเกิดความขัดแย้งกันระหว่างพวกคอมมิวนิสต์กับพวกฝ่ายซ้ายอื่น ๆ ในเหตุการณ์เมย์เดส์ (May Days) เมื่อโจเซฟ สตาลิน ใช้อำนาจโซเวียตควบคุมเหนือรัฐบาลสาธารณรัฐ และลงเอยด้วยความพ่ายแพ้ของอนาธิปัตย์ด้วยเงื้อมมือคอมมิวนิสต์[58]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

สหกรณ์เย็บผ้า โรจาวาสนับสนุนให้คนงานจัดตั้งสหกรณ์

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงไป ขบวนการอนาธิปไตยอ่อนแออย่างสาหัส[59] ลัทธิอนาธิปไตยเติบโตขึ้นใหม่อีกครั้งในคริสต์ทศวรรษ 1960 เป็นเหตุจากความล้มเหลวของลัทธิมากซ์-เลนินและความตึงเครียดที่เกิดขึ้นจากสงครามเย็น[60] ในช่วงเวลานี้ ลัทธิอนาธิปไตยไปปรากฏอยู่ในขบวนการต่าง ๆ ที่วิพากษ์ทุนนิยมและรัฐ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์ (Anti-nuclear movement) ขบวนการสิ่งแวดล้อม (Environmental movement) ขบวนการสันติภาพ (peace movement) วัฒนธรรมต่อต้านในคริสต์ทศวรรษ 1960 (counterculture of the 1960s) และฝ่ายซ้ายใหม่[61] และยังแปลงตัวเองจากความเป็นปฏิวัติในอดีตไปเป็นการปฏิรูปแบบต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalist reform) แนวยั่วยุท้าทาย[62] ลัทธิอนาธิปไตยถูกเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมย่อยพังก์ (punk subculture) เห็นได้จากวงดนตรีเช่นคราสส์ (Crass) และเซ็กซ์พิสทอลส์[63] สตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตย (anarcha-feminism) ซึ่งเป็นกลุ่มแนวสตรีสิทธินิยมที่มีอยู่ก่อนแล้วกลับมามีพลังท่ามกลางกระแสการเมืองสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง (second-wave feminism)[64] อนาธิปไตยคนผิวดำ (Black anarchism) เริ่มประกอบร่างขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และส่งอิทธิพลให้สัดส่วนประชากรในขบวนการลัทธิอนาธิปไตยเปลี่ยนจากการมีชาวยุโรปเป็นหลัก (Eurocentrism)[65] พร้อมกับการที่ไม่สามารถจับกระแสในยุโรปเหนือได้แต่กลับได้รับความสนใจในระดับที่คาดไม่ถึงในแถบลาตินอเมริกา[66]

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 ลัทธิอนาธิปไตยได้รับความนิยมและมีอิทธิพลมากขึ้นภายในขบวนการต่อต้านทุนนิยม ขบวนการต่อต้านสงคราม และขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์[67] นักอนาธิปัตย์กลายเป็นที่รู้จักจากการมีส่วนร่วมในการประท้วงต่อต้านการประชุมองค์การการค้าโลก กลุ่ม 8 (G8) และสภาเศรษฐกิจโลก กลุ่มอนาธิปัตย์บางกลุ่มในการประท้วงเหล่านี้เข้าร่วมการจลาจล ทำลายทรัพย์สิน และเผชิญหน้ากับตำรวจด้วยความรุนแรง ปฏิบัติการเหล่านี้กระทำโดยกลุ่มแกนนำนิรนามเฉพาะกิจที่ไม่มีผู้นำที่เรียกว่าแนวร่วมชุดดำ (black bloc) ยุทธวิธีการรวมตัวอื่นซึ่งถูกริเริ่มในช่วงเวลานี้ได้แก่วัฒนธรรมความมั่นคง (security culture) กลุ่มเครือสหาย และการใช้เทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์ เช่นอินเทอร์เน็ต หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานี้คือการประจันหน้ากันที่การประท้วงองค์การการค้าโลกที่ซีแอตเทิล ค.ศ. 1999 (1999 Seattle WTO protests)[67] แนวคิดอนาธิปไตยมีอิทธิพลต่อการพัฒนาของซาปาติสตาในเม็กซิโกและของฝ่ายปกครองตนเองซีเรียเหนือและตะวันออกหรือโรจาวาซึ่งเป็นเขตปกครองตนเองโดยพฤตินัยในซีเรียเหนือ[68]

แม้ว่าลัทธิอนาธิปไตยจะมีจุดมุ่งหมายเป็นการปฏิวัติ แต่หลายกลุ่มไม่ใช้การเผชิญหน้าอีกต่อไป และใช้วิธีการสร้างทางเลือกใหม่สำหรับการจัดระเบียบทางสังคมแทน โดยมีพื้นฐานเป็นการพึ่งพาซึ่งกันและกันและการร่วมมือกันโดยสมัครใจ นักวิชาการคาริสซา ฮันนีเวลล์ (Carissa Honeywell) ยกตัวอย่างของกลุ่มคอลเลกทีฟฟูดนอตบอมส์ (Food not Bombs) เพื่อชี้ถึงวิธีการทำงานของกลุ่มอนาธิปไตย กล่าวคือการกระทำโดยตรง (direct action) การทำงานร่วมกัน และความสามัคคีกับผู้ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และในขณะเดียวกันให้ความรู้เกี่ยวกับอัตราความหิวโหยในโลกที่เพิ่มขึ้น และเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาความหิวโหย ตั้งแต่การลดงบประมาณสนับสนุนอุตสาหกรรมอาวุธจนถึงการจัดการกับนโยบายห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์และสิทธิบัตรของมอนซานโต้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและบรรเทาการทำให้อาหารและที่อยู่อาศัยกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์[69] ฮันนีเวลล์ชี้ว่าอนาธิปัตย์ร่วมสมัยไม่ได้ให้ความสนใจกับความเจริญของมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงความเจริญของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และสิ่งแวดล้อมด้วย[70] และกล่าวว่าปัญหาที่เพิ่มพูนไม่ว่าจะเป็นสงครามที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอหรือความยากจนทั่วโลกกำลังแสดงให้เห็นว่ากรอบที่มีอยู่ในปัจจุบันนอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเหล่านี้ของมนุษยชาติได้แล้ว แต่ยังเป็นเหตุปัจจัยของพวกมันด้วย ส่งผลให้มีแนวคิดที่ปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและองค์ของรัฐเอง[71]

สำนักคิด

โดยทั่วไป สำนักคิดอนาธิปไตยถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มทางประวัติศาสตร์ กล่าวคือลัทธิอนาธิปไตยสังคม (social anarchism) และลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก (individualist anarchism) ตามต้นกำเนิด ค่านิยม และวิวัฒนาการของแต่ละแนวคิด[72] สำนักปัจเจกนิยมให้ความสำคัญกับเสรีภาพเชิงลบ (negative liberty) ในการต่อต้านข้อจำกัดของปัจเจกบุคคลเสรี ในขณะที่สำนักสังคมให้ความสำคัญกับเสรีภาพเชิงบวก (positive liberty) ในการบรรลุศักยภาพเสรีของสังคมผ่านความเท่าเทียมและการเป็นเจ้าของร่วมกันในสังคม (social ownership)[73] หากแบ่งตามลำดับเวลา ลัทธิอนาธิปไตยสามารถแบ่งออกเป็นสำนักคลาสสิกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และสำนักหลังคลาสสิกที่พัฒนาต่อจากนั้นมา (สตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตย ลัทธิอนาธิปไตยสีเขียว (green anarchism) และหลังลัทธิอนาธิปไตย (post-anarchism))[74]

นอกเหนือจากฝักฝ่ายต่าง ๆ ในขบวนการอนาธิปไตยซึ่งเป็นลัทธิอนาธิปไตยทางการเมืองแล้ว ยังมีลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาที่มองว่ารัฐไม่มีความชอบธรรมทางศีลธรรม แต่ไม่ได้ยอมรับว่าการปฏิวัติล้มล้างมันเป็นสิ่งจำเป็น[75] ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก[76] และอาจยอมให้มีรัฐขนาดเล็ก (minimal state) ได้ แต่มองว่าพลเมืองไม่มีภาระหน้าที่ทางศีลธรรม (moral obligation) ที่จะต้องเชื่อฟังรัฐบาลหากมันขัดแย้งกับอัตตาณัติของปัจเจกบุคคล[77] ลัทธิอนาธิปไตยให้ความสนใจกับการให้เหตุผลทางศีลธรรมเป็นพิเศษเพราะจริยธรรมเป็นแก่นกลางของปรัชญาอนาธิปไตย[78] การให้ความสำคัญกับคติต่อต้านทุนนิยม สมภาคนิยม (egalitarianism) และการขยายตัวของชุมชนและความเป็นปัจเจกเป็นสิ่งที่แยกลัทธิอนาธิปไตยออกจากแนวคิดจำพวกลัทธิอนาธิปไตย-ทุนนิยมและอิสรนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic liberalism) ชนิดอื่น ๆ[22]

ลัทธิอนาธิปไตยมักถูกวางไว้บนฝั่งซ้ายสุดของสเปกตรัมการเมือง[79] เศรษฐศาสตร์ (Anarchist economics) และนิติปรัชญา (Anarchist law) ของลัทธิอนาธิปไตยสะท้อนการตีความการเมืองฝ่ายซ้ายและสังคมนิยมแบบต่อต้านอำนาจนิยม ต่อต้านรัฐ อิสรนิยม และมูลวิวัติ (Radical politics)[14] อาทิกลุ่มนิยม คอมมิวนิสต์ ปัจเจกนิยม มิวชวลลิสต์ สหการนิยม (anarcho-syndicalism) และทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แนวสังคมนิยมแบบอิสรนิยมอื่น ๆ[80] ลัทธิอนาธิปไตยมีหลากหลายชนิดและหลากหลายกลุ่มซึ่งแตกต่างกันอย่างมาก[81] เพราะลัทธิอนาธิปไตยไม่ได้กำหนดชุดหลักการจากโลกทัศน์แนวหนึ่งโดยเฉพาะ[82] ลัทธิอนาธิปไตยโดยปราศจากคุณศัพท์เป็นปฏิกิริยาต่อการแบ่งฝักฝ่าย (sectarianism) ภายในแวดวงอนาธิปัตย์ โดยเป็นการเรียกร้องให้อนาธิปัตย์ยอมให้กันและมีเอกภาพ เฟร์นันโด ตาร์ริดา เดล มาร์โมล (Fernando Tarrida del Mármol) เป็นผู้นำมาใช้เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1889 เพื่อตอบโต้การถกเถียงเกี่ยวกับทฤษฎีอนาธิปไตยในยุคนั้น[83] นักอนาธิปัตย์เคยยอมรับแนวคิดสุญนิยม (nihilism) ทางการเมือง[84] ถึงแม้ว่ามีการแบ่งกลุ่มกัน แต่สำนักคิดอนาธิปไตยต่าง ๆ ไม่นับเป็นสิ่งที่ต่างกันแต่เป็นกลุ่มการเมืองที่ผสมและเชื่อมโยงกันผ่านชุดของหลักการที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นอัตตาณัติของปัจเจกและท้องถิ่น ระบบร่วมด้วยช่วยกัน (mutual aid) องค์การแบบเครือข่าย ประชาธิปไตยชุมชน อำนาจที่ชอบธรรม และการกระจายอำนาจ[85]

คลาสสิก

ปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของมิวชวลลิสม์ และผู้มีอิทธิพลต่อนักคิดอนาธิปไตยสังคมและปัจเจกรุ่นต่อมา[86]

กระแสลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกเริ่มต้นมีมิวชวลลิสม์กับลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจก และตามมาด้วยกระแสลัทธิอนาธิปไตยสังคม (กลุ่มนิยม คอมมิวนิสต์ และสหการนิยม) ทั้งสองแตกต่างกันในมุมมองการจัดระเบียบและเศรษฐกิจของสังคมในอุดมคติ[87]

มิวชวลลิสม์เป็นทฤษฎีเศรษฐศาสตร์จากคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งถูกพัฒนากลายเป็นทฤษฎีอนาธิปไตยโดยปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง โดยมีเป้าหมายเป็นการตอบแทนซึ่งกันและกัน (Reciprocity (cultural anthropology)) สมาคมเสรีของผู้ผลิต (Free association of producers) สัญญาสมัครใจ สหพันธรัฐ และการปฏิรูปการเงิน (monetary reform) ทั้งสินเชื่อและเงินตราโดยมีธนาคารของประชาชนเป็นผู้กำกับ[88] ในภายหลังมีการจัดให้มิวชวลลิสม์เป็นแนวคิดที่อยู่กึ่งกลางทางอุดมการณ์ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกกับแบบกลุ่ม[89] พรูดงกล่าวถึงเป้าหมายของเขาเป็นครั้งแรกใน What Is Property? (ค.ศ. 1840) ว่าเป็น "สังคมรูปแบบที่สาม ภาวะสังเคราะห์ของชุมชนกับทรัพย์สิน"[][90] ลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่มเป็นลัทธิอนาธิปไตยแนวสังคมนิยมปฏิวัติ (revolutionary socialism)[91] ซึ่งสัมพันธ์กับมีฮาอิล บาคูนิน[92] อนาธิปัตย์แบบกลุ่มสนับสนุนให้กลุ่มเป็นเจ้าของ (collective ownership) ปัจจัยการผลิตโดยมีทฤษฎีว่าจะสำเร็จได้ผ่านการปฏิวัติด้วยความรุนแรง[93] และสนับสนุนให้คนงานมีรายได้ตามเวลาที่ทำงาน แทนที่จะให้สินค้าถูกกระจายออกตามความต้องการของแต่ละคนอย่างเช่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิอนาธิปไตยแบบกลุ่มเกิดขึ้นมาพร้อมกับลัทธิมากซ์แต่ปฏิเสธแนวคิดเผด็จการโดยชนกรรมาชีพ (dictatorship of the proletariat) ถึงแม้จะมีเป้าหมายแบบลัทธิมากซ์เป็นสังคมไร้รัฐแบบกลุ่มนิยม[94]

ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตยเป็นทฤษฎีลัทธิอนาธิปไตยที่สนับสนุนให้มีสังคมคอมมิวนิสต์ซึ่งส่วนรวมเป็นเจ้าของ (common ownership) ปัจจัยการผลิต[95] โดยมีเครือข่ายสหพันธ์ของสมาคมสมัครใจเป็นผู้ถือครอง[96] และให้การผลิตและการบริโภคอยู่บนพื้นฐานหลักการนำว่า "จากทุกคนตามที่สามารถ ให้ทุกคนตามที่ต้องการ" (From each according to his ability, to each according to his need)[97] ลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตยพัฒนามาจกกระแสการเมืองสังคมนิยมมูลวิวัติหลังจากการปฏิวัติฝรั่งเศส[98] แต่ก่อตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในสัดส่วนอิตาลีของสากลที่หนึ่ง (First International)[99] งานทฤษฎีของปิออตร์ โครปอตกิน ขยายความแนวคิดนี้[100] และต่อมาแนวทางของเขากลายเป็นมุมมองหลักของอนาธิปัตย์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19[101] สหการนิยมแบบอนาธิปไตยเป็นลัทธิอนาธิปไตยที่มองว่าสหการแรงงาน (labour syndicate) เป็นกำลังที่มีศักยภาพปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม แทนที่ทุนนิยมกับรัฐด้วยสังคมใหม่ที่จัดการตนเองโดยคนงานผ่านประชาธิปไตย หลักการพื้นฐานของสหการนิยมแบบอนาธิปไตยประกอบด้วยการกระทำโดยตรง ความสามัคคีของคนงาน (solidarity) และการจัดการโดยคนงานเอง (workers' self-management)[102]

ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกเป็นชุดของกลุ่มการเมืองในขบวนการอนาธิปไตยที่เน้นเรื่องของปัจเจก (individual) และเจตจำนงของปัจเจก (Will (philosophy)) เหนือตัวกำหนดภายนอกชนิดอื่น ๆ[103] ผู้มีอิทธิพลต่อลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกในตอนแรกประกอบด้วยวิลเลียม กอดวิน มัคส์ ชเตียร์เนอร์ และเฮนรี เดวิด ทอโร ลัทธิอนาธิปไตยแบบปัจเจกสามารถดึงดูดศิลปินโบฮีเมียน (bohemianism) และปัญญาชนมาเป็นผู้ติดตามกลุ่มเล็ก ๆ แต่หลากหลายได้ในหลายประเทศ[104] รวมถึงอนาธิปัตย์นอกกฎหมายวัยเยาว์ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักในชื่อคตินิยมผิดกฎหมายและการยึดคืนส่วนบุคคล (individual reclamation)[105]

หลังคลาสสิกและร่วมสมัย

ลอเรนซ์ จะรัก (Lawrence Jarach) (ซ้าย) และจอห์น เซอร์ซัน (John Zerzan) (ขวา) นักเขียนอนาธิปัตย์ร่วมสมัย เซอร์ซันเป็นปากเสียงสำคัญของบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตย (anarcho-primitivism) และจะรักเป็นผู้สนับสนุนสำคัญของอนาธิปไตยหลังฝ่ายซ้าย (post-left anarchy)

หลักการอนาธิปไตยเป็นพื้นฐานของขบวนการทางสังคมแนวมูลวิวัติร่วมสมัยของฝ่ายซ้าย ความสนใจในลัทธิอนาธิปไตยพัฒนาขึ้นพร้อมกับแรงส่งในขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์[106] ที่เครื่อข่ายนักกิจกรรมนำมีแนวโน้มแบบอนาธิปไตย[107] หลักการอนาธิปไตยได้รับการยอมรับมากขึ้นเมื่อมีส่วนในการร่างเค้าโครงคติมูลวิวัติของคริสต์ศตวรรษที่ 21 และส่งสัญญาณถึงความสนใจที่ฟื้นกลับมา[107] ลัทธิอนาธิปไตยยังคงผลิตขบวนการและนักปรัชญาออกมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งบางคราวเป็นการสรรผสานจากหลากหลายแหล่งที่มาและแนวคิดเข้าด้วยกันเพื่อสร้างแนวทางปรัชญาแบบใหม่[108] แนวคิดต่อต้านทุนนิยมของลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกยังคงเป็นแนวคิดหลักในลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัย[109]

การรายงานข่าวร่วมสมัยที่ให้ความสำคัญกับการชุมนุมแบบแนวร่วมชุดดำส่งเสริมภาพจำความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับความไร้ระเบียบและความรุนแรง ชื่อเสียงของมันทำให้นักวิชาการในสาขาวิชาอย่างมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เข้าไปมีส่วนร่วมกับขบวนการอนาธิปไตย อย่างไรก็ตามลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยสนับสนุนการกระทำเหนือทฤษฎีทางวิชาการ[110] กลุ่ม แนวโน้ม และสำนักคิดอนาธิปไตยร่วมสมัยมีอยู่หลากหลาย ทำให้อธิบายลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยได้อย่างยากลำบาก[111] ถึงแม้ว่านักทฤษฎีและนักกิจกรรมจะกำหนดชุดของหลักการอนาธิปไตยที่ค่อนข้างคงที่ไว้แล้ว แต่ยังขาดฉันทมติว่าหลักการใดเป็นแก่นกลางหลัก นักวิจารณ์กล่าวถึงลัทธิอนาธิปไตยในฐานะกลุ่มการเมืองมากกว่าลัทธิอนาธิปไตยแนวคิดเดียว โดยมีหลักการร่วมกันระหว่างแต่ละสำนักอนาธิปไตย แต่แต่ละกลุ่มจะให้ความสำคัญกับหลักการเหล่านั้นแตกต่างกันไป ความเท่าเทียมทางสถานะเพศอาจเป็นหลักการที่มีร่วมกัน แต่มีความสำคัญในสตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตยมากกว่าลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตย[112]

โดยทั่วไป อนาธิปัตย์ต่อต้านอำนาจแบบบีบบังคับในทุกรูปแบบ กล่าวคือ "รัฐบาลที่รวมศูนย์อำนาจและเป็นลำดับชั้นทุกรูปแบบ (อาทิราชาธิปไตย ประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน สังคมนิยมรัฐ ฯลฯ) ระบบชนชั้นทางเศรษฐกิจ (อาทิทุนนิยม ลัทธิบอลเชวิค ระบบเจ้าขุนมูลนาย ระบบทาส ฯลฯ) ศาสนาอัตตาธิปัตย์ (อาทิอิสลามแบบมูลฐานนิยม โรมันคาทอลิก ฯลฯ) ปิตาธิปไตย คตินิยมรักต่างเพศ ความสูงสุดของคนผิวขาว และจักรวรรดินิยม"[][113] แต่ละสำนักอนาธิปไตยเห็นต่างกันตรงที่วิธีการต่อต้านสิ่งเหล่านี้[114] หลักเสรีภาพที่เท่าเทียม (equal liberty) มีความใกล้เคียงกับจริยธรรมทางการเมืองแนวอนาธิปไตยมากกว่าในแง่ที่เป็นการก้าวข้ามแนวทางแบบเสรีนิยมและสังคมนิยม ซึ่งแสดงว่าไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพหรือความเท่าเทียมล้วนไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้รัฐ ส่งผลให้ตั้งคำถามต่อการครอบงำและลำดับชั้นในทุกรูปแบบ[115]

ยุทธวิธี

อนาธิปัตย์ใช้ยุทธวิธีหลากหลายรูปแบบ แต่โดยทั่วไปมีอยู่สองเป้าหมายหลัก ๆ กล่าวคือ ประการแรกเพื่อต่อต้านสถาบันที่ดำรงอยู่ (the Establishment) และประการที่สองเพื่อส่งเสริมจริยธรรมอนาธิปไตยและสะท้อนวิสัยทัศน์ของสังคมแบบอนาธิปไตย เหล่านี้แสดงถึงเอกภาพระหว่างวิธีการกับเป้าหมาย[116] การจัดประเภทโดยกว้างแบ่งแยกระหว่างเป้าหมายเพื่อที่จะทำลายรัฐและสถาบันที่กดขี่ด้วยวิธีการปฏิวัติในด้านหนึ่ง กับเป้าหมายเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านวิธีการวิวัฒนาการในอีกด้านหนึ่ง[117] ยุทธวิธีวิวัฒนาการใช้แนวทางความไม่รุนแรง (nonviolence) ปฏิเสธความรุนแรง และเดินหน้าสู่เป้าหมายอนาธิปไตยแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม ยุทธวิธีทั้งสองแบบมีส่วนทับซ้อนกันอยู่[118]

ยุทธวิธีอนาธิปไตยเปลี่ยนไปตลอดศตวรรษที่ผ่านมา อนาธิปัตย์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ให้ความสำคัญกับการนัดหยุดงานและการปะทะ แต่อนาธิปัตย์ร่วมสมัยใช้แนวทางที่กว้างขึ้น[119]

สมัยคลาสสิก

ความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับความรุนแรง (anarchism and violence) เป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างอนาธิปัตย์ ในภาพเลออน ชอว์กอช (Leon Czolgosz) กำลังลอบสังหาร (Assassination of William McKinley) วิลเลียม แมกคินลีย์

ในสมัยคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย อนาธิปัตย์มีแนวทางปะทะต่อสู้ นอกจากการเผชิญหน้ากับกองกำลังติดอาวุธของรัฐเช่นในสเปนและยูเครน ยังมีการใช้การก่อการร้ายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อด้วยการกระทำ มีความพยายามลอบสังหารประมุขแห่งรัฐซึ่งในบางกรณีทำได้สำเร็จ อนาธิปัตย์ยังมีส่วนร่วมในการปฏิวัติต่าง ๆ[120] อนาธิปัตย์บางคน โดยเฉพาะพวกกัลเลอานิสตี (Galleanisti) เชื่อว่าความพยายามเหล่านี้จะกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการปฏิวัติต่อต้านทุนนิยมและรัฐ[121] ในหลายกรณีผู้โจมตีเป็นปัจเจกบุคคลและส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1870 ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1880 และในคริสต์ทศวรรษ 1890 และยังมีบางกรณีเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1900[122] ความแพร่หลายของวิธีนี้ลดน้อยลงไปอันเป็นผลจากอำนาจตุลาการที่เพิ่มขึ้นและการเพ่งเล็งและเก็บรายชื่อโดยสถาบันรัฐ[123]

มุมมองของอนาธิปัตย์ต่อความรุนแรงเป็นข้อถกเถียงมาโดยตลอด[124] ลัทธิอนาธิปไตยแบบสันตินิยม (Anarcho-pacifism) สนับสนุนวิธีการไม่รุนแรงเพื่อให้ได้มาซึ่งเป้าหมายไม่รุนแรงที่ไม่มีรัฐ[125] อนาธิปัตย์กลุ่มอื่น ๆ สนับสนุนการกระทำโดยตรงซึ่งอาจประกอบด้วยการก่อวินาศกรรม (sabotage) หรือการก่อการร้าย แนวคิดนี้เป็นทัศนคติหลักในศตวรรษที่ผ่านมาเพราะมองว่ารัฐเป็นทรราช และอนาธิปัตย์บางคนเชื่อว่าพวกเขาย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้านการกดขี่ (oppression) โดยรัฐด้วยวิธีใดก็ตามที่มีความสามารถจะทำ[126] เอมมา โกลด์แมน (Emma Goldman) และแอร์รีโก มาลาเตสตา (Errico Malatesta) เป็นผู้สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในระดับจำกัด โดยกล่าวว่าความรุนแรงนี้เป็นเพียงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นต่อความรุนแรงโดยรัฐและเป็นความชั่วร้ายจำเป็น (necessary evil)[127]

อนาธิปัตย์มีบทบาทอย่างแข็งขันในการนัดหยุดงาน (strike action) แม้ว่าจะไม่พอใจกับแนวคิดสหการนิยมตามแบบและมองว่าเป็นแนวคิดปฏิรูปนิยม (reformism) พวกเขามองว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างรัฐและระบอบทุนนิยม.[128] อนาธิปัตย์ยังได้ส่งเสริมโฆษณาชวนเชื่อภายในแวดวงศิลปะ บางส่วนปฏิบัติตามคตินิยมธรรมชาติ (naturism) พวกเขาสร้างชุมชนบนพื้นฐานของมิตรภาพและมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมข่าว (news media)[129]

ปฏิวัติ

กลุ่มผู้ประท้วงแนวร่วมชุดดำกำลังชูภาพของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอนาธิปไตย อาทิคติพจน์ว่า "ไม่มีสงครามนอกจากสงครามชนชั้น" (No War but the Class War)

อนาธิปัตย์ชาวอิตาลีอัลเฟรโด โบนันโน (Alfredo Bonanno) ผู้สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยแบบก่อการกบฏ (insurrectionary anarchism) ได้รื้อฟื้นข้อถกเถียงเกี่ยวกับความรุนแรงขึ้นมาใหม่ด้วยการปฏิเสธยุทธวิธีไม่รุนแรงที่โครปอตกินและอนาธิปัตย์คนสำคัญต่อ ๆ มานำมาใช้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 โบนันโนและกลุ่มชาวฝรั่งเศสที่ชื่อว่าคณะกรรมการล่องหน (The Invisible Committee) สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มเครือสหายขนาดเล็กที่ไม่เป็นทางการขึ้นมา โดยสมาชิกแต่ละคนจะรับผิดชอบการกระทำของตัวเองแต่ทำงานร่วมกันเพื่อโค่นล้มการกดขี่ผ่านการก่อวินาศกรรมและการใช้ความรุนแรงรูปแบบอื่น ๆ ต่อรัฐ ทุนนิยม และศัตรูอื่น ๆ สมาชิกของคณะกรรมการล่องหนถูกจับกุมใน ค.ศ. 2008 ด้วยหลายข้อหา หนึ่งในนั้นคือข้อหาก่อการร้าย[130]

โดยรวมแล้ว อนาธิปัตย์ร่วมสมัยใช้ความรุนแรงและการปะทะต่อสู้น้อยกว่าบรรพชนทางอุดมการณ์มาก ส่วนใหญ่จะปะทะกับตำรวจระหว่างการชุมนุมและการจลาจล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแคนาดา (Anarchism in Canada) กรีซ (Anarchism in Greece) และเม็กซิโก (Anarchism in Mexico) เป็นต้น กลุ่มประท้วงแนวร่วมชุดดำแบบเผชิญหน้าเป็นที่รู้จักจากการปะทะกับตำรวจ[131] ทว่าอนาธิปัตย์ไม่ได้ปะทะกับผู้กระทำที่เป็นรัฐเท่านั้น แต่ยังต่อสู้กับฟาสซิสต์และพวกเหยียดเชื้อชาติด้วย ด้วยการดำเนินปฏิบัติการต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ (anti-fascism) และการระดมพลป้องกันไม่ให้การเดินขบวนแสดงความเกลียดชังจัดขึ้นได้[132]

วิวัฒนาการ

อนาธิปัตย์โดยทั่วไปใช้การกระทำโดยตรง อาจเป็นในรูปแบบของการขัดขวางและการประท้วงต่อต้านลำดับชั้น (hierarchy) ที่อยุติธรรม หรือในรูปแบบของการจัดการชีวิตของตนเองผ่านการสร้างสถาบันต่อต้านไม่ว่าจะเป็นคอมมูนหรือคอลเลกทีฟที่ไม่มีลำดับชั้น[117] ซึ่งการตัดสินใจทำในแนวทางต่อต้านอำนาจนิยม โดยทุกคนมีปากเสียงเท่า ๆ กันในการตัดสินใจแต่ละกรณี แนวทางนี้เรียกว่าวิถีระนาบ (horizontalism)[133] อนาธิปัตย์ร่วมสมัยมีส่วนร่วมในหลายขบวนการรากหญ้าที่ตั้งอยู่บนวิถีระนาบไม่มากก็น้อยแม้ว่าจะไม่ได้เป็นแนวอนาธิปไตยอย่างชัดเจน ซึ่งเคารพในอัตตาณัติของบุคคลและเข้าร่วมดำเนินกิจกรรมของมวลชนไม่ว่าจะเป็นการนัดหยุดงานหรือการชุมนุม ลัทธิอนาธิปไตยแบบ a ตัวเล็กแบบใหม่นี้แสดงถึงความแตกต่างจากลัทธิอนาธิปไตยแบบ A ตัวใหญ่ของสมัยคลาสสิกตรงที่แนวทางของการไม่วางความคิดและการกระทำไว้บนฐานของลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกหรืออ้างอิงอนาธิปัตย์สมัยคลาสสิกอย่างปิออตร์ โครปอตกิน และปีแยร์-โฌแซ็ฟ พรูดง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ความคิดเห็นของพวกเขา อนาธิปัตย์พวกนี้นิยมวางความคิดและปฏิบัติการของพวกเขาบนฐานของประสบการณ์ของตัวเองซึ่งจะนำมาสร้างทฤษฎีในภายหลัง[134]

กระบวนการตัดสินใจของกลุ่มเครือสหาย (affinity group) อนาธิปัตย์ขนาดเล็กมีบทบาทที่สำคัญทางยุทธวิธี[135] อนาธิปัตย์สร้างฉันทมติภายในสมาชิกกลุ่มโดยไม่ต้องมีผู้นำหรือกลุ่มผู้นำด้วยวิธีการที่หลากหลาย วิธีการหนึ่งให้บุคคลหนึ่งจากกลุ่มทำหน้าที่เป็นผู้เอื้ออำนวยการสร้างฉันทมติโดยไม่เข้ามีส่วนร่วมในการสนทนาเองหรือชูประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เสียงข้างน้อยโดยปกติจะยอมรับฉันทมติคร่าว ๆ ยกเว้นเมื่อรู้สึกว่าข้อเสนอนั้นขัดแย้งกับจริยธรรม เป้าหมาย และค่านิยมแบบอนาธิปไตย อนาธิปัตย์โดยปกติจะสร้างกลุ่มที่มีขนาดเล็ก (5-20 คน) เพื่อพัฒนาอัตตาณัติและมิตรภาพระหว่างสมาชิก กลุ่มจำพวกนี้มักเชื่อมโยงกันระหว่างแต่ละกลุ่มเป็นเครือข่ายที่ใหญ่กว่า อนาธิปัตย์ยังคงสนับสนุนและเข้าร่วมการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานโดยพลการ (Wildcat strike action) เพราะเป็นการนัดหยุดงานที่ไม่มีผู้นำและไม่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นจากส่วนกลางโดยสหการ[136]

ในอดีต อนาธิปัตย์ใช้หนังสือพิมพ์และวารสาร และได้เปลี่ยนมาเผยแพร่ข้อเรียกร้องของพวกเขาทางออนไลน์ผ่านเวิลด์ไวด์เว็บ เนื่องด้วยความยากลำบากทางการแจกจ่ายและอื่น ๆ อนาธิปัตย์จึงสร้างเว็บไซต์ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์และช่องทางอื่น ๆ ขึ้นมาซึ่งทำได้ง่ายกว่า[137] นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการพัฒนาซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ที่เผยแพร่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย วิธีการพัฒนาและแจกจ่ายของแฮกติวิสต์มีความคล้ายกับอุดมการณ์แบบอนาธิปไตย โดยเฉพาะในเรื่องของการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้จากการสอดส่องโดยรัฐ[138]

อนาธิปัตย์อาจรวมพลเข้าจับจองและยึดพื้นที่สาธารณะคืนในเหตุการณ์สำคัญอย่างการประท้วงหรือเมื่อพื้นที่กำลังถูกยึดครอง เรียกว่าเขตปกครองตนเองชั่วคราว (TAZ) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ศิลปะ กวีนิพนธ์ และลัทธิเหนือจริงผสมเข้ากันเพื่อจัดแสดงอุดมคติแบบอนาธิปไตย[139] อนาธิปัตย์มองว่าการจับจองเป็นวิถีทางหนึ่งในการยึดเอาพื้นที่เมืองคืนมาจากตลาดทุนนิยม โดยทำไปด้วยความต้องการทางปฏิบัติและเพื่อให้เป็นแบบอย่างของการกระทำโดยตรง[140] การหาพื้นที่มาได้ทำให้อนาธิปัตย์สามารถทดลองกับแนวคิดของตัวเองและสร้างพันธะทางสังคม[141] เมื่อพิจารณายุทธวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเข้าใจว่าอนาธิปัตย์แต่ละคนไม่ได้มีมุมมองต่อพวกมันในแบบเดียวกัน ประกอบกับการประท้วงรูปแบบต่าง ๆ ในเหตุการณ์ที่มีความเป็นสัญลักษณ์สูง เหล่านี้เป็นบรรยากาศแบบคาร์นิวัล (carnivalesque) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างหลากหลายภายในลัทธิอนาธิปไตยของยุคร่วมสมัย[142]

ประเด็นหลัก

ลัทธิอนาธิปไตยเป็นปรัชญาที่ครอบคลุมทัศนคติ แนวคิด และสำนักคิดที่หลากหลาย เป็นเรื่องปกติที่จะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับค่านิยม อุดมการณ์ และยุทธวิธี ความหลากหลายนี้ทำให้มีการใช้คำศัพท์คำเดียวกันแต่คนละความหมายในแนวคิดแบบอนาธิปไตยต่าง ๆ ซึ่งทำให้เกิดข้อกังวลทางนิยามในทฤษฎีอนาธิปไตย (definitional concerns in anarchist theory) ความเข้ากันได้ระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับทุนนิยม (Anarchism and capitalism)[143] ชาตินิยม (Anarchism and nationalism) และศาสนา (Anarchism and religion) เป็นข้อถกเถียงในวงกว้าง ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนกับอุดมการณ์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ กลุ่มนิยม ลัทธิมากซ์ หรือสหภาพแรงงาน นักอนาธิปัตย์อาจได้แรงผลักดันจากมนุษยนิยม พระเป็นเจ้า ประโยชน์ส่วนตน (enlightened self-interest) วีแกน (Veganarchism) หรือหลักจริยธรรมทางเลือกอื่น ๆ ลัทธิอนาธิปไตยบางกลุ่มอาจวิจารณ์ปรากฏการณ์เช่นอารยธรรม เทคโนโลยี (เช่นในบรรพกาลนิยมแบบอนาธิปไตย) และกระบวนการประชาธิปไตย แต่อาจมีบางกลุ่มที่สรรเสริญสิ่งเหล่านี้ในขณะเดียวกัน[144]

รัฐ

การต่อต้านรัฐและสถาบันของรัฐเป็นหลักที่ขาดไม่ได้ (sine qua non) ของลัทธิอนาธิปไตย[145] อนาธิปัตย์มองว่ารัฐเป็นเพียงเครื่องมือครอบงำและเชื่อว่าไม่มีความชอบธรรมไม่ว่าจะมีแนวคิดทางการเมืองแบบใดก็ตาม อภิสิทธิ์ชนกลุ่มน้อยเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องใหญ่ ๆ แทนที่ผู้คนจะสามารถควบคุมทุกแง่มุมในชีวิตของตัวเองได้ ไม่ว่าอย่างไรสุดท้ายผู้มีอำนาจก็ตั้งอยู่บนอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่เปิดเผย (Open government) หรือโปร่งใสก็ตาม เพราะยังคงสามารถบีบบังคับผู้คนได้ เหตุผลในการต่อต้านรัฐอีกแบบของลัทธิอนาธิปไตยอ้างว่าผู้คนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลจะพยายามเพิ่มอำนาจตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเท่าใดก็ตาม และจะนำไปสู่การทุจริต อนาธิปัตย์มองแนวคิดที่กล่าวว่ารัฐคือเจตจำนงร่วมกันของประชาชนว่าเป็นเพียงนิยายที่ไม่มีทางเป็นไปได้ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าชนชั้นปกครอง (ruling class) เป็นกลุ่มคนที่แตกต่างจากสังคมที่เหลือ[146]

ทัศนคติที่อนาธิปัตย์มีต่อรัฐมีความแตกต่างกันไป รอเบิร์ต พอล โวล์ฟ (Robert Paul Wolff) เชื่อว่าความตึงเครียดระหว่างอำนาจกับอัตตาณัติจะทำให้รัฐไม่มีทางมีความชอบธรรมได้ บาคูนินมองว่ารัฐหมายถึง "การบีบบังคับ การครอบงำด้วยการบีบบังคับ อาจอำพรางตัว แต่อาจโจ่งแจ้งไม่ไว้หน้าใครถ้าจำเป็น"[] เอ. จอห์น ซิมมอนส์ (A. John Simmons) และเลสลี กรีน (Leslie Green (philosopher)) ซึ่งมีแนวโน้มลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาเชื่อว่ารัฐสามารถชอบธรรมได้ถ้าปกครองผ่านฉันทมติ แต่ก็มองว่าสิ่งนี้มีโอกาสเป็นไปได้น้อย[147] นอกจากนี้ ความเชื่อในวิธีการล้มล้างรัฐก็มีความแตกต่างเช่นกัน[148]

สถานะเพศ เพศวิถี และความรักเสรี

เอมีล อาร์ม็อง (Émile Armand) เป็นนักอนาธิปัตย์แบบปัจเจกชาวฝรั่งเศสที่เสนอค่านิยมความรักเสรีในแวดวงอนาธิปัตย์เมืองปารีสในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

เพราะสถานะเพศและเพศวิถีมาพร้อมกับพลวัตทางลำดับชั้น นักอนาธิปัตย์หลายคนกล่าวถึง วิเคราะห์ และต่อต้านการกดทับอัตตาณัติของบุคคลจากบทบาททางเพศ[149]

นักอนาธิปัตย์สมัยคลาสสิกไม่ค่อยพูดถึงเพศวิถี แต่บางคนที่พูดถึงมองว่าสังคมอนาธิปไตยจะนำไปสู่เพศวิถีที่พัฒนาขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ[150] นักอนาธิปัตย์สนใจกับประเด็นความรุนแรงทางเพศ แต่บางคนเช่นเบนจามิน ทักเกอร์ (Benjamin Tucker) ต่อต้านกฎหมายกำหนดอายุที่ยอมให้ร่วมประเวณีได้[151] ขบวนการในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นและเฟื่องฟูในลัทธิอนาธิปไตยระหว่าง ค.ศ. 1890 กับ 1920 คือความรักเสรี (free love) กระแสการเมืองนี้เหลือรอดมาในลัทธิอนาธิปไตยร่วมสมัยในรูปของแนวคิดที่สนับสนุนการมีคนรักหลายคน อนาธิปไตยความสัมพันธ์ (relationship anarchy) และลัทธิอนาธิปไตยเควียร์ (queer anarchism)[152] ผู้สนับสนุนความรักเสรีต่อต้านการสมรส เพราะมองว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ผู้ชายใช้อำนาจเหนือผู้หญิง เหตุผลหลักเป็นเพราะกฎหมายการสมรสเข้าข้างอำนาจของผู้ชายอย่างมาก ความรักเสรีมีนัยที่กว้างและยังรวมถึงการวิพากษ์ระเบียบสังคมที่เป็นอยู่ซึ่งจำกัดเสรีภาพและสุขารมณ์ทางเพศของผู้หญิง[153] ขบวนการความรักเสรีมีส่วนในการก่อตั้งบ้านส่วนรวมที่ให้นักเดินทางกลุ่มใหญ่ นักอนาธิปัตย์ และนักกิจกรรมอื่น ๆ นอนด้วยกัน[154] ความรักเสรีมีรากเหง้าอยู่ในยุโรปและสหรัฐ นักอนาธิปัตย์บางส่วนมีปัญหากับความอิจฉาที่เกิดขึ้นจากความรักเสรี[155] นักสตรีสิทธินิยมแนวอนาธิปไตยมีวาระสนับสนุนความรักเสรี ต่อต้านการสมรส และสนับสนุนสิทธิการทำแท้งซึ่งคล้ายกัน นักสตรีสิทธินิยมแนวอนาธิปไตยกับไม่อนาธิปไตยมีความเห็นต่างกันในเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง แต่สนับสนุนกันและกัน[156]

การประท้วง สัญลักษณ์ และธงของสตรีสิทธินิยมแบบอนาธิปไตย

ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ลัทธิอนาธิปไตยเข้าไปข้องเกี่ยวกับขบวนการสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง ซึ่งส่งอิทธิผลต่อขบวนการสตรีสิทธินิยมบางกลุ่มและยังได้รับอิทธิพลกลับมาเช่นกัน จนทศวรรษท้าย ๆ ของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทั้งนักอนาธิปัตย์กับนักสตรีสิทธินิยมเรียกร้องสิทธิและอัตตาณัติให้กับผู้หญิง เกย์ เควียร์ และกลุ่มคนชายขอบกลุ่มอื่น ๆ และมีนักคิดสตรีสิทธินิยมบางคนเสนอให้หลอมรวมสองกลุ่มการเมืองนี้เข้าด้วยกัน[157] ต่อมาในกระแสสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สาม (Third-wave feminism) นักอนาธิปัตย์เริ่มศึกษาเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศและความรักต่างเพศภาคบังคับ กลายเป็นข้อวิจารณ์ความปรกติทางเพศแบบหลังโครงสร้างนิยม[158] นักอนาธิปัตย์บางคนแยกตัวเองออกจากความคิดแนวนี้ โดยกล่าวว่าเป็นการเอนเอียงเข้าหาปัจเจกนิยมที่กำลังทิ้งเป้าหมายการปลดปล่อยทางสังคม[159]

การศึกษา

มุมมองด้านการศึกษาแบบอนาธิปไตยกับแบบรัฐนิยม
Ruth Kinna (2019)[160]
การศึกษาแบบอนาธิปไตย การศึกษาโดยรัฐ
แนวคิด การศึกษาเป็นการพัฒนาตัวเอง การศึกษาเป็นบริการ
การจัดการ โดยฐานชุมชน ดำเนินการโดยรัฐ
วิธีการ การเรียนรู้ฐานปฏิบัติ การฝึกอบรมทางอาชีพ
เป้าหมาย เป็นสมาชิกที่สำคัญของสังคม เป็นสมาชิกที่สร้างผลผลิตของสังคม

นักอนาธิปัตย์สนใจด้านการศึกษาตั้งแต่เริ่มแรกลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิก โดยมองว่าการศึกษาที่เหมาะสมจะต้องวางพื้นฐานอัตตาณัติในอนาคตให้กับปัจเจกกับสังคมและเป็นระบบร่วมด้วยช่วยกันแบบหนึ่ง[161] นักเขียนอนาธิปัตย์อย่างวิลเลียม กอดวิน (Enquiry Concerning Political Justice) และมัคส์ ชเตียร์เนอร์ (The False Principle of Our Education) โจมดีทั้งการศึกษาโดยรัฐและเอกชนว่าเป็นเพียงวิธีการผลิตซ้ำอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง[162]

ใน ค.ศ. 1901 นักอนาธิปัตย์ชาวกาตาลาและนักคิดอย่างอิสระฟรันซิสโก เฟร์เรร์ (Francisco Ferrer) ก่อตั้งเอสกูเอลา โมเดร์นา (Escuela Moderna) ในบาร์เซโลนาเพื่อต่อต้านสถาบันระบบการศึกษาที่ศาสนจักรคาทอลิกควบคุม[163] แนวทางของเฟร์เรร์เป็นแบบโลกวิสัยที่ปฏิเสธการแทรกแซงกระบวนการศึกษาไม่ว่าจะโดยรัฐหรือศาสนจักร และมอบอัตตาณัติให้กับนักเรียนในการวางแผนการทำงานและการเข้าเรียนเอง เฟร์เรร์ตั้งเป้าให้การศึกษากับชนชั้นแรงงานและพยายามฟูมฟักสำนึกทางชนชั้น (class consciousness) ภายในกลุ่มนักเรียน โรงเรียนต้องปิดตัวลงหลังรัฐคุกคามและจับกุมตัวเฟร์เรร์ในเวลาต่อมา แต่ถึงอย่างนั้น แนวคิดของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนแบบโมเดิร์น (Ferrer Center and Colony) ทั่วโลก[164] นักอนาธิปัตย์คริสเตียนเลโอ ตอลสตอย ที่เขียนความเรียน Education and Culture ก่อตั้งโรงเรียนที่คล้ายกันโดยมีหลักการพื้นฐานว่า "การศึกษาจะมีประสิทธิภาพได้จะต้องไม่มีค่าใช้จ่าย"[165] เอ. เอส. นีล (A. S. Neill) ก่อตั้งโรงเรียนซัมเมอร์ฮิลล์ขึ้นใน ค.ศ. 1921 ด้วยเหตุผลเดียวกันและประกาศว่าจะปราศจากการบีบบังคับ[166]

การศึกษาแบบอนาธิปไตยตั้งอยู่บนแนวคิดของการเคารพในสิทธิของเด็กที่จะพัฒนาอย่างอิสระโดยปราศจากการบิดเบือนและการที่ความมีเหตุผลจะนำพาเด็กไปสู่บทสรุปที่ถูกต้องทางศีลธรรม ทว่ายังไม่มีฉันทมติในหมู่นักอนาธิปัตย์ว่าอะไรบ้างที่เป็นการบิดเบือน เฟร์เรร์เชื่อว่าการปลูกฝังความเชื่อทางศีลธรรมเป็นสิ่งจำเป็นและสั่งสอนนักเรียนอย่างชัดเจนว่าความเท่าเทียม เสรีภาพ และความยุติธรรมทางสังคมไม่มีทางเป็นไปได้ภายในระบอบทุนนิยม พร้อมกับการวิจารณ์รัฐบาลและชาตินิยม[167]

นักเขียนอนาธิปัตย์ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 และร่วมสมัย (พอล กูดแมน (Paul Goodman) เฮอร์เบิร์ต รีด (Herbert Read) and โคลิน วอร์ด (Colin Ward)) เน้นและขยายข้อวิจารณ์การศึกษาโดยรัฐของลัทธิอนาธิปไตย โดยชี้ไปที่ความจำเป็นต้องมีระบบที่ให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ของเด็กมากกว่าความสามารถในการงานอาชีพหรือการบริโภค (consumerism) ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมผู้บริโภค[168] โคลิน วอร์ด กล่าวว่าการศึกษาโดยรัฐทำหน้าที่เป็นเครื่องผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคม[169]

แม้สถาบันการศึกษาแบบอนาธิปไตยหลงเหลืออยู่ในสมัยใหม่ไม่มาก แต่หลักการสำคัญของโรงเรียนอนาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นความเคารพในอัตตาณัติของเด็กและการใช้วิธีการสอนด้วยการให้เหตุผลมากกว่าการปลูกฝังได้แพร่กระจายเข้าสู่สถาบันการศึกษากระแสหลักแล้ว จูดิธ ซูยซา (Judith Suissa) ยกตัวอย่างโรงเรียนสามแห่งที่เป็นโรงเรียนของอนาธิปัตย์อย่างเด่นชัด กล่าวคือ Free Skool Santa Cruz ในสหรัฐซึ่งเป็นส่วนของเครือข่ายหนึ่งของโรงเรียนอเมริกัน-แคนาดา Self-Managed Learning College ที่ไบรตันในสหราชอาณาจักร และ Paideia School ในสเปน[170]

ศิลปกรรม

Les chataigniers a Osny (ค.ศ. 1888) ของจิตรกรอนาธิปัตย์กามีย์ ปีซาโร เป็นตัวอย่างของการผสมผสานระหว่างลัทธิอนาธิปไตยกับศิลปกรรม[171]

ลัทธิอนาธิปไตยกับศิลปะมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งในสมัยคลาสสิกของลัทธิอนาธิปไตย โดยเฉพาะในกระแสศิลปะที่กำลังพัฒนาขึ้นในยุคสมัยนั้นไม่ว่าจะเป็นอนาคตนิยม ลัทธิเหนือจริง และอื่น ๆ[172] ในวรรณกรรม ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับกลุ่ม New Apocalyptics และขบวนการจินตนิยมใหม่ (neo-romanticism)[173] ในดนตรี ลัทธิอนาธิปไตยมีความสัมพันธ์กับดนตรีแนวต่าง ๆ เช่นพังก์[174] นักอนาธิปัตย์อย่างเลโอ ตอลสตอย และเฮอร์เบิร์ต รีด กล่าวว่าเส้นแบ่งระหว่างศิลปินกับคนที่ไม่ใช่ศิลปิน ระหว่างศิลปะกับกิจประจำวัน คือสิ่งประกอบสร้างอันเป็นผลผลิตจากความแปลกแยกที่เกิดขึ้นจากทุนนิยมและเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข[175]

นักอนาธิปัตย์บางคนสนับสนุนและใช้ศิลปะเป็นวิธีการบรรลุเป้าหมายอนาธิปไตย[176] ในหนังสือ Breaking the Spell: A History of Anarchist Filmmakers, Videotape Guerrillas, and Digital Ninjas คริสโตเฟอร์ โรเบ (Christopher Robe) กล่าว่า "แนวปฏิบัติแบบอนาธิปไตยถูกนำมาใช้วางโครงสร้างการดำเนินกิจกรรมทางวิดิโอในขบวนการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น"[177] ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 20 นักอนาธิปัตย์คนสำคัญหลายคน (ปิออตร์ โครปอตกิน เอมมา โกลด์แมน กุสตาฟ ลันเดาเออร์ (Gustav Landauer) และกามิลโล แบร์เนรี (Camillo Berneri)) และสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อาทินิตยสาร Anarchy เขียนถึงประเด็นที่เกี่ยวกับศิลปกรรม[178]

ศิลปะมีสมบัติสามประการที่ทับซ้อนกันซึ่งทำให้มีประโยชน์ใช้สอยกับนักอนาธิปัตย์ เช่นความสามารถในการวาดภาพข้อวิจารณ์สังคมและลำดับชั้นที่เป็นอยู่ การทำหน้าที่เป็นเครื่องมือฉายภาพอนาคตสะท้อนสังคมในอุดมคติของอนาธิปัตย์ และการเป็นวิธีการกระทำโดยตรงในฐานะส่วนหนึ่งของการประท้วง ศิลปะดึงดูดใจมนุษย์และส่งผลกระทบอย่างทรงพลังเพราะศิลปะดึงดูดทั้งอารมณ์และเหตุผล[179] ขบวนการลัทธิประทับใจใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีสุนทรียะแบบนิเวศวิทยาและแสดงแบบอย่างของเส้นทางสู่สังคมนิยมในมุมมองของอนาธิปัตย์[180] การผสมผสานระหว่างสุนทรียะและความบรรสานทางสังคมใน Les chataigniers a Osny ของจิตรกรอนาธิปัตย์กามีย์ ปีซาโร เป็นการฉายภาพของชุมชนเกษตรกรรมแนวอนาธิปไตยในอุดมคติ[171]

ข้อวิจารณ์

ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยข้อหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดกล่าวว่ามนุษย์ไม่สามารถปกครองตนเอง (Self-governance) และจึงจำเป็นต้องมีรัฐขึ้นมาเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติ เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ สนับสนุนข้อวิจารณ์นี้โดยกล่าวว่า "สันติ สงคราม ภาษี การควบคุมสุขาภิบาลและการซื้อขายยาเสพติดให้โทษ การพิทักษ์รักษาระบบการกระจายที่ยุติธรรม เหล่านี้และอื่น ๆ เป็นภารกิจที่มิอาจกระทำได้เลยในประชาคมซึ่งไม่มีรัฐบาลกลาง"[181] ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยอีกข้อหนึ่งกล่าวว่ามันเหมาะสมกับโลกที่อยู่กันแบบสันโดษซึ่งรวมกลุ่มกันขนาดเล็กพอที่จะสามารถปกครองตนเองได้เท่านั้น นักคิดอนาธิปัตย์ตอบโต้ว่าพวกเขาสนับสนุนให้มีระบบสหพันธรัฐแบบอนาธิปไตย[182]

อาจารย์ปรัชญาแอนดรูว์ จี. ฟีอาลา (Andrew G. Fiala) รวมรวมเหตุผลต่อต้านลัทธิอนาธิปไตยที่พบได้บ่อยไว้ ซึ่งรวมถึงข้อวิจารณ์ว่าลัทธิอนาธิปไตยมีธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและการทำลายล้างเป็นต้น โดยไม่เพียงแต่ในโลกจริงเช่นในการประท้วงเท่านั้นแต่ในโลกของจริยธรรมเช่นกัน ข้อที่สองประเมินว่าลัทธิอนาธิปไตยเป็นไปไม่ได้หรือเป็นแนวคิดแบบยูโทเปียเพราะจะไม่สามารถมีชัยชนะเหนือรัฐได้ในทางปฏิบัติ เหตุผลแนวนี้ถูกใช้เพื่อเรียกร้องให้มีการกระทำทางการเมืองเพื่อปฏิรูปจากภายในระบบ เหตุผลข้อที่สามกล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยมีความขัดแย้งในตัวเองเพราะเป็นทฤษฎีการปกครองที่ไม่มีทฤษฎีการปกครอง และยังเรียกร้องให้มีการกระทำเป็นกลุ่มแต่ส่งเสริมอัตตาณัติของปัจเจกในเวลาเดียวกัน การกระทำเป็นกลุ่มจึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ข้อสุดท้าย ฟีอาลากล่าวถึงข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาว่าไม่เป็นผล (ดีแต่พูดกับคิด) และทุนนิยมกับชนชั้นกระฎุมพีจะยังคงเข้มแข็งต่อไป[183]

ลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาได้รับคำวิจารณ์จากวงการวิชาการหลังจากการตีพิมพ์ของหนังสือต่าง ๆ ที่สนับสนุนลัทธิอนาธิปไตยอาทิ Moral Principles and Political Obligations ของ เอ. จอห์น ซิมมอนส์ (A. John Simmons)[184] ศาสสตราจารย์ด้านกฎหมายวิลเลียม เอ. เอดมันด์สัน (William A. Edmundson) เขียนความเรียงให้เหตุผลต่อต้านหลักการอนาธิปไตยเชิงปรัชญาหลักสามข้อที่เขามองว่าผิด เอดมันด์สันกล่าวว่าแม้ปัจเจกจะไม่มีหน้าที่เชื่อฟังรัฐแต่ก็ไม่ได้แปลว่าลัทธิอนาธิปไตยจะเป็นบทสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และรัฐยังคงถือความชอบธรรมทางศีลธรรม[185] ใน The Problem of Political Authority ไมเคิล ฮิวเมอร์ (Michael Huemer) ปกป้องลัทธิอนาธิปไตยเชิงปรัชญาว่า[186] "อำนาจหน้าที่ทางการเมืองเป็นภาพลวงตาทางศีลธรรม"[187]

ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยที่เกิดขึ้นมาครั้งแรก ๆ กล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยขัดขืนและไม่เข้าใจความโน้มเอียงทางชีววิทยาเข้าหาอำนาจ[188] โยเซฟ ราซ (Joseph Raz) กล่าวว่าการยอมรับอำนาจหมายถึงความเชื่อมั่นว่าเมื่อทำตามคำสั่งของอำนาจจะทำให้ประสบความสำเร็จมากกว่า[189] ราซเชื่อว่าเหตุผลนี้เป็นจริงไม่ว่าจะเป็นการทำตามคำสั่งที่สร้างความสำเร็จหรือความผิดพลาดก็ตาม[190] นักอนาธิปัตย์ปฏิเสธข้อวิจารณ์นี้เพราะการท้าทายหรือไม่เชื่อฟังอำนาจไม่ได้แปลว่าข้อได้เปรียบจากการยอมรับอำนาจเช่นแพทย์หรือทนายว่าน่าเชื่อถือจะหายไป เพียงไม่ได้เป็นการยอมสละการตัดสินใจโดยอิสระของตนไปโดยสิ้นเชิง[191] นักวิชาการต่าง ๆ วิจารณ์แนวคิดเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ในมุมมองอนาธิปัตย์ การปฏิเสธรัฐ และความมุ่งมั่นปฏิวัติสังคมว่าไร้เดียงสา เรียบง่ายเกินไป และไม่สมจริงตามลำดับ[192] ลัทธิอนาธิปไตยสมัยคลาสสิกถูกวิจารณ์ว่าพึ่งพาในความเชื่อว่าการล้มล้างรัฐจะนำไปสู่มนุษย์ที่ร่วมมือกันเจริญก้าวหน้ามากเกินไป[150]

ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักของลัทธิมากซ์วิจารณ์การต่อต้านอำนาจนิยมของลัทธิอนาธิปไตยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ เพราะในมุมมองของเขา การปฏิวัติเป็นอำนาจนิยมในตัวมันเอง[193] จอห์น มอลีนิว (John Molyneux (trotskyist)) เขียนในหนังสือ Anarchism: A Marxist Criticism ว่าอนาธิปไตยไม่สามารถชนะได้ โดยเชื่อว่าขาดความสามารถนำแนวคิดของมันมาปฏิบัติใช้จริงได้อย่างเหมาะสม[194] ข้อวิจารณ์ลัทธิอนาธิปไตยแบบมาร์กซิสต์กล่าวว่ามีลักษณะเป็นยูโทเปียเพราะทุก ๆ คนจะต้องมีมุมมองและค่านิยมแบบอนาธิปไตย มาร์กซิสต์มองว่าเนื้อแท้ของลัทธิอนาธิปไตยคือการที่ความคิดทางสังคมจะเกิดขึ้นโดยตรงจากทั้งอุดมคติมนุษย์แบบนี้กับเจตจำนงเสรีของปัจเจกทั้งปวงและกล่าวว่าความขัดแย้งนี้เป็นเหตุให้มันไร้ความสามารถในการกระทำ อนาธิปัตย์มองว่าความขัดแย้งระหว่างเสรีภาพกับความเท่าเทียมสามารถตกลงกันได้ผ่านการอยู่ร่วมกันและการสานเข้าด้วยกัน[195]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

หมายเหตุ

หมายเหตุอธิบาย

  1. ใน Anarchism: From Theory to Practice (ค.ศ. 1970)[14] นักประวัติศาสตร์อนาธิปไตย ดาเนียล เกแร็ง (Daniel Guérin) อธิบายว่าลัทธิอนาธิปไตยเป็นคำพ้องความหมายกับคำว่าสังคมนิยมแบบอิสรนิยม และเขียนว่าลัทธิอนาธิปไตย "จริง ๆ แล้วเป็นคำพ้องความหมายกับคำว่าสังคมนิยม นักอนาธิปัตย์หลัก ๆ คือนักสังคมนิยมที่มุ่งหมายยกเลิกการฉวยประโยชน์จากมนุษย์โดยมนุษย์ ลัทธิอนาธิปไตยเป็นเพียงหนึ่งในสายธารความคิดสังคมนิยม ซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นการสนใจในเสรีภาพและการเร่งยกเลิกรัฐ"[][15] ใน Chomsky on Anarchism (ค.ศ. 2005)[16] โนม ชอมสกี อธิบายว่าลัทธิอนาธิปไตยและลัทธิมากซ์แบบอิสรนิยมคือปีกอิสรนิยมของสังคมนิยม[17]
  2. เฮอร์เบิร์ต แอล. ออสกูด (Herbert L. Osgood) กล่าวว่าลัทธิอนาธิปไตยคือ "ภาวะแย้งสุดโต่ง" ของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอำนาจนิยมและสังคมนิยมรัฐ (state socialism)[18] ปีเตอร์ มาร์แชลล์ (Peter Marshall (author)) กล่าวว่า "โดยทั่วไป ลัทธิอนาธิปไตยใกล้เคียงกับสังคมนิยมมากกว่าเสรีนิยม ลัทธิอนาธิปไตยส่วนใหญ่อยู่ในค่ายสังคมนิยม แต่ก็มีแนวหน้าอยู่ในเสรีนิยม เราลดทอนมันเป็นสังคมนิยมไม่ได้ และดีที่สุดให้มองมันเป็นลัทธิที่เป็นอิสระและแตกต่าง"[][11] เจเรมี เจนนิงส์ (Jeremy Jennings) กล่าวถึงลัทธิอนาธิปไตย-ทุนนิยมว่า "ยากที่จะไม่กล่าวสรุปเกี่ยวกับแนวคิดเหล่านี้ว่าถูกเรียกเป็นลัทธิอนาธิปไตยเพราะความเข้าใจผิดว่าอะไรคือลัทธิอนาธิปไตยเพียงเท่านั้น" และเสริมว่า "ลัทธิอนาธิปไตยไม่ได้มีจุดยืนเพื่อเสรีภาพของปัจเจกแบบไร้ขีดจำกัด (เช่นที่ 'นักอนาธิปไตยทุนนิยม' ดูเหมือนจะเชื่อ) แต่อย่างที่เราได้เห็น เพื่อการขยายความเป็นปัจเจกและชุมชน"[][23] นิโคลัส วอลเตอร์ (Nicolas Walter) เขียนว่า "ลัทธิอนาธิปไตยมาจากเสรีนิยมกับสังคมนิยมทั้งในทางประวัติศาสตร์และทางอุดมการณ์ ... ในแง่หนึ่ง นักอนาธิปัตย์ยังคงเป็นนักเสรีนิยมและนักสังคมนิยมเสมอ และเมื่อใดที่ปฏิเสธสิ่งที่ดีในทั้งสองก็เป็นทรยศต่อลัทธิอนาธิปไตยเอง ... เราเป็นนักเสรีนิยมแต่มากกว่านั้น และเป็นนักสังคมนิยมแต่มากกว่านั้น"[][21] ไมเคิล นิวแมน (Michael Newman) จัดให้ลัทธิอนาธิปไตยเป็นหนึ่งในหลายธรรมเนียมของสังคมนิยม (types of socialism) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธรรมเนียมที่เป็นแนวสังคมนิยมมากกว่าตามพรูดงและมีฮาอิล บาคูนิน[19] ไบรอัน มอร์ริส (Brian Morris (anthropologist)) กล่าวว่าการ "แบ่งขั้วระหว่างสังคมนิยมและลัทธิอนาธิปไตย" เป็น "ความไขว้เขวทางความคิดและทางประวัติศาสตร์"[][20]
  3. หนึ่งในนิยามของลัทธิอนาธิปไตยที่นักอนาธิปัตย์ใช้อย่างแพร่หลายคือกลุ่มก้อนปรัชญาการเมืองที่ต่อต้านอำนาจหรือองค์กรแบบลำดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นทุนนิยม (Anarchism and capitalism) ชาตินิยม (Anarchism and nationalism) รัฐ และสถาบันที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ภายในมนุษยสัมพันธ์ (human relations) ทุกรูปแบบ และสนับสนุนสังคมที่ตั้งอยู่บนฐานของการกระจายอำนาจ (decentralization) เสรีภาพ และสมาคมสมัครใจ (voluntary association) นักวิชาการชี้ว่านิยามนี้มีจุดอ่อนแบบเดียวกันกับการให้นิยามด้วยคติต่อต้านอำนาจนิยม (ซึ่งเป็นข้อสรุปหลังประสบการณ์ (a posteriori)) คติต่อต้านรัฐนิยม (อนาธิปไตยเป็นมากกว่านั้น)[25] และรากศัพท์ (การไม่มีผู้ปกครอง)[26]

หมายเหตุคำแปล

  1. "is really a synonym for socialism. The anarchist is primarily a socialist whose aim is to abolish the exploitation of man by man. Anarchism is only one of the streams of socialist thought, that stream whose main components are concern for liberty and haste to abolish the State."
  2. "[i]n general anarchism is closer to socialism than liberalism. ... Anarchism finds itself largely in the socialist camp, but it also has outriders in liberalism. It cannot be reduced to socialism, and is best seen as a separate and distinctive doctrine."
  3. "[i]t is hard not to conclude that these ideas are described as anarchist only on the basis of a misunderstanding of what anarchism is. ... anarchism does not stand for the untrammelled freedom of the individual (as the 'anarcho-capitalists' appear to believe) but, as we have already seen, for the extension of individuality and community."
  4. "anarchism does derive from liberalism and socialism both historically and ideologically. ... In a sense, anarchists always remain liberals and socialists, and whenever they reject what is good in either they betray anarchism itself. ... We are liberals but more so, and socialists but more so."
  5. "conceptually and historically misleading ... create a dichotomy between socialism and anarchism."
  6. "troisième forme de société, synthèse de la communauté et de la propriété"
  7. "all centralized and hierarchical forms of government (e.g., monarchy, representative democracy, state socialism, etc.), economic class systems (e.g., capitalism, Bolshevism, feudalism, slavery, etc.), autocratic religions (e.g., fundamentalist Islam, Roman Catholicism, etc.), patriarchy, heterosexism, white supremacy, and imperialism."
  8. "coercion, domination by means of coercion, camouflaged if possible but unceremonious and overt if need be."

อ้างอิง

  1. Suissa 2019b: "...as many anarchists have stressed, it is not government as such that they find objectionable, but the hierarchical forms of government associated with the nation state."
  2. Carlson 1972, pp. 22–23.
  3. Bates 2017, p. 128; Long 2013, p. 217.
  4. Merriam-Webster 2019, "Anarchism"; Oxford English Dictionary 2005, "Anarchism"; Sylvan 2007, p. 260.
  5. Joll 1964, pp. 27–37.
  6. Nettlau 1996, p. 162.
  7. Guérin 1970, "The Basic Ideas of Anarchism".
  8. Ward 2004, p. 62; Goodway 2006, p. 4; Skirda 2002, p. 183; Fernández 2009, p. 9.
  9. Morris 2002, p. 61.
  10. Marshall 1992, p. 641; Cohn 2009, p. 6.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Marshall 1992, p. 641.
  12. Marshall 1992, p. 641; Chomsky 2005, p. 123; Cohn 2009, p. 6; Levy & Adams 2018, p. 104.
  13. Levy & Adams 2018, p. 104.
  14. 14.0 14.1 Guérin 1970, p. 12.
  15. Arvidsson 2017.
  16. Chomsky 2005, p. 123.
  17. Otero 1994, p. 617.
  18. 18.0 18.1 Osgood 1889, p. 1.
  19. 19.0 19.1 Newman 2005, p. 15.
  20. 20.0 20.1 Morris 2015, p. 64.
  21. 21.0 21.1 Walter 2002, p. 44.
  22. 22.0 22.1 Marshall 1992, pp. 564–565; Jennings 1993, p. 143; Gay & Gay 1999, p. 15; Morris 2008, p. 13; Johnson 2008, p. 169; Franks 2013, pp. 393–394.
  23. Jennings 1999, p. 147.
  24. Long 2013, p. 217.
  25. McLaughlin 2007, p. 166; Jun 2009, p. 507; Franks 2013, pp. 386–388.
  26. McLaughlin 2007, pp. 25–29; Long 2013, pp. 217.
  27. McLaughlin 2007, pp. 25–26.
  28. Marshall 1993, p. 70.
  29. Graham 2005, pp. xi–xiv.
  30. Coutinho 2016; Marshall 1993, p. 54.
  31. Sylvan 2007, p. 257.
  32. Marshall 1993, pp. 4, 66–73.
  33. Marshall 1993, p. 86.
  34. Crone, Patricia (2000). "Ninth-Century Muslim Anarchists" (PDF). Past & Present. 167: 3, 21–25. doi:10.1093/past/167.1.3. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 28 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2022.
  35. Nettlau 1996, p. 8.
  36. Marshall 1993, p. 108.
  37. Levy & Adams 2018, p. 307.
  38. Marshall 1993, p. 4.
  39. 39.0 39.1 Marshall 1993, pp. 4–5.
  40. Levy 2011, pp. 10–15.
  41. Dodson 2002, p. 312; Thomas 1985, p. 187; Chaliand & Blin 2007, p. 116.
  42. Graham 2019, pp. 334–336; Marshall 1993, p. 24.
  43. Levy 2011, p. 12.
  44. Marshall 1993, p. 5.
  45. Graham 2005, p. xii.
  46. Moya 2015, p. 327.
  47. Levy 2011, p. 16.
  48. Marshall 1993, pp. 519–521.
  49. Dirlik 1991, p. 133; Ramnath 2019, pp. 681–682.
  50. Levy 2011, p. 23; Laursen 2019, p. 157; Marshall 1993, pp. 504–508.
  51. Marshall 1993, pp. 633–636.
  52. Anderson 2004.
  53. Marshall 1993, pp. 633–636; Lutz & Ulmschneider 2019, p. 46.
  54. Bantman 2019, p. 374.
  55. Avrich 2006, p. 204.
  56. Nomad 1966, p. 88.
  57. Bolloten 1984, p. 1107.
  58. Marshall 1993, pp. xi, 466.
  59. Marshall 1993, p. xi.
  60. Marshall 1993, p. 539.
  61. Marshall 1993, pp. xi, 539.
  62. Levy 2011, pp. 5.
  63. Marshall 1993, pp. 493–494.
  64. Marshall 1993, pp. 556–557.
  65. Williams 2015, p. 680.
  66. Harmon 2011, p. 70.
  67. 67.0 67.1 Rupert 2006, p. 66.
  68. Ramnath 2019, p. 691.
  69. Honeywell 2021, pp. 34–44.
  70. Honeywell 2021, pp. 1–2.
  71. Honeywell 2021, pp. 1–3.
  72. McLean & McMillan 2003, "Anarchism"; Ostergaard 2003, p. 14, "Anarchism".
  73. Harrison & Boyd 2003, p. 251.
  74. Levy & Adams 2018, p. 9.
  75. Egoumenides 2014, p. 2.
  76. Ostergaard 2003, p. 12; Gabardi 1986, pp. 300–302.
  77. Klosko 2005, p. 4.
  78. Franks 2019, p. 549.
  79. Brooks 1994, p. xi; Kahn 2000; Moynihan 2007.
  80. Guérin 1970, p. 35, "Critique of authoritarian socialism".
  81. Sylvan 2007, p. 262.
  82. Marshall 1993, pp. 14–17.
  83. Avrich 1996, p. 6.
  84. Walter 2002, p. 52.
  85. Marshall 1993, pp. 1–6; Angelbeck & Grier 2012, p. 551.
  86. Wilbur 2019, pp. 216–218.
  87. Levy & Adams 2018, p. 2.
  88. Wilbur 2019, pp. 213–218.
  89. Avrich 1996, p. 6; Miller 1991, p. 11.
  90. Pierson 2013, p. 187.
  91. Morris 1993, p. 76.
  92. Shannon 2019, p. 101.
  93. Avrich 1996, pp. 3–4.
  94. Heywood 2017, pp. 146–147; Bakunin 1990.
  95. Mayne 1999, p. 131.
  96. Marshall 1993, p. 327.
  97. Marshall 1993, p. 327; Turcato 2019, pp. 237–238.
  98. Graham 2005.
  99. Pernicone 2009, pp. 111–113.
  100. Turcato 2019, pp. 239–244.
  101. Levy 2011, p. 6.
  102. Van der Walt 2019, p. 249.
  103. Ryley 2019, p. 225.
  104. Marshall 1993, p. 440.
  105. Imrie 1994; Parry 1987, p. 15.
  106. Evren 2011, p. 1.
  107. 107.0 107.1 Evren 2011, p. 2.
  108. Williams 2007, p. 303.
  109. Williams 2018, p. 4.
  110. Williams 2010, p. 110; Evren 2011, p. 1; Angelbeck & Grier 2012, p. 549.
  111. Franks 2013, pp. 385–386.
  112. Franks 2013, p. 386.
  113. Jun 2009, pp. 507–508.
  114. Jun 2009, p. 507.
  115. Egoumenides 2014, p. 91.
  116. Williams 2019, pp. 107–108.
  117. 117.0 117.1 Williams 2018, pp. 4–5.
  118. Kinna 2019, p. 125.
  119. Williams 2019, p. 112.
  120. Williams 2019, pp. 112–113.
  121. Norris 2020, pp. 7–8.
  122. Levy 2011, p. 13; Nesser 2012, p. 62.
  123. Harmon 2011, p. 55.
  124. Carter 1978, p. 320.
  125. Fiala 2017, section 3.1.
  126. Kinna 2019, pp. 116–117.
  127. Carter 1978, pp. 320–325.
  128. Williams 2019, p. 113.
  129. Williams 2019, p. 114.
  130. Kinna 2019, pp. 134–135.
  131. Williams 2019, p. 115.
  132. Williams 2019, p. 117.
  133. Williams 2019, pp. 109–117.
  134. Kinna 2019, pp. 145–149.
  135. Williams 2019, pp. 109, 119.
  136. Williams 2019, pp. 119–121.
  137. Williams 2019, pp. 118–119.
  138. Williams 2019, pp. 120–121.
  139. Kinna 2019, p. 139; Mattern 2019, p. 596; Williams 2018, pp. 5–6.
  140. Kinna 2012, p. 250; Williams 2019, p. 119.
  141. Williams 2019, p. 122.
  142. Morland 2004, pp. 37–38.
  143. Marshall 1993, p. 565; Honderich 1995, p. 31; Meltzer 2000, p. 50; Goodway 2006, p. 4; Newman 2010, p. 53.
  144. De George 2005, pp. 31–32.
  145. Carter 1971, p. 14; Jun 2019, pp. 29–30.
  146. Jun 2019, pp. 32–38.
  147. Wendt 2020, p. 2; Ashwood 2018, p. 727.
  148. Ashwood 2018, p. 735.
  149. Nicholas 2019, p. 603.
  150. 150.0 150.1 Lucy 2020, p. 162.
  151. Lucy 2020, p. 178: "Sexual violence has long been a concern in anarchism, ... While some early individualist manarchists may have used anarchist arguments to undermine attempts to protect women from sexual violence, such as Benjamin Tucker's 1888 use of anarchism to oppose age of consent laws that would inevitably benefit predatory men, ..."
  152. Nicholas 2019, p. 611; Jeppesen & Nazar 2012, pp. 175–176.
  153. Jeppesen & Nazar 2012, pp. 175–176.
  154. Jeppesen & Nazar 2012, p. 177.
  155. Jeppesen & Nazar 2012, pp. 175–177.
  156. Kinna2019, pp. 166–167.
  157. Nicholas 2019, pp. 609–611.
  158. Nicholas 2019, pp. 610–611.
  159. Nicholas 2019, pp. 616–617.
  160. Kinna 2019, p. 97.
  161. Kinna 2019, pp. 83–85.
  162. Suissa 2019, pp. 514, 521; Kinna 2019, pp. 83–86; Marshall 1993, p. 222.
  163. Suissa 2019, pp. 511–512.
  164. Suissa 2019, pp. 511–514.
  165. Suissa 2019, pp. 517–518: "for education to be effective it had to be free."
  166. Suissa 2019, pp. 518–519.
  167. Avrich 1980, pp. 3–33; Suissa 2019, pp. 519–522.
  168. Kinna 2019, pp. 89–96.
  169. Ward 1973, pp. 39–48.
  170. Suissa 2019, pp. 523–526.
  171. 171.0 171.1 Antliff 1998, p. 99.
  172. Mattern 2019, p. 592.
  173. Gifford 2019, p. 577.
  174. Marshall 1993, pp. 493–494; Dunn 2012; Evren, Kinna & Rouselle 2013.
  175. Mattern 2019, pp. 592–593.
  176. Mattern 2019, p. 593.
  177. Robé 2017, p. 44: "anarchist-inflected practices have increasingly structured movement-based video activism."
  178. Miller et al. 2019, p. 1.
  179. Mattern 2019, pp. 593–596.
  180. Antliff 1998, p. 78.
  181. Krimerman & Perry 1966, p. 494: "[p]eace and war, tariffs, regulations of sanitary conditions and the sale of noxious drugs, the preservation of a just system of distribution: these, among others, are functions which could hardly be performed in a community in which there was no central government."
  182. Ward 2004, p. 78.
  183. Fiala 2017, "4. Objections and Replies".
  184. Klosko 1999, p. 536.
  185. Klosko 1999, p. 536; Kristjánsson 2000, p. 896.
  186. Dagger 2018, p. 35.
  187. Rogers 2020: "political authority is a moral illusion."
  188. Ferguson 1886.
  189. Gans 1992, p. 37.
  190. Gans 1992, p. 38.
  191. Gans 1992, pp. 34, 38.
  192. Brinn 2020, p. 206.
  193. Tucker 1978.
  194. Dodds 2011.
  195. Baár et al. 2016, p. 488.

บรรณานุกรม

แหล่งปฐมภูมิ

แหล่งทุติยภูมิ

แหล่งตติยภูมิ

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น


Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9