ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (เกิด 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521) ชื่อเล่น เอก[1] เป็นนักธุรกิจ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักการเมืองชาวไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขาดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทตั้งแต่ พ.ศ. 2545 และปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานคณะก้าวหน้า เขาตัดสินใจเข้าสู่การเมืองเมื่อ พ.ศ. 2561[2] เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก พรรคการเมืองของเขามีแนวนโยบายก้าวหน้าซึ่งได้รับความนิยมสูงในหมู่เยาวชน หลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ใน พ.ศ. 2563 เขาตั้งคณะก้าวหน้าเพื่อสานต่อแนวคิดของพรรค ปฐมวัยและครอบครัวธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจเกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 ที่กรุงเทพมหานคร เขาเกิดในครอบครัวพ่อค้าเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว มีชื่อเล่นว่า เอก เป็นบุตรคนที่ 2 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ของพัฒนากับสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ บิดาพัฒนาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท[3] เขาจบการศึกษาระดับประถมถึงมัธยมต้นจากโรงเรียนเซนต์ดอมินิก มัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา[4] และเข้าศึกษาต่อในภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ ขณะเรียนปริญญาตรีเขาเริ่มสนใจกิจกรรมนักศึกษา[5] จนกระทั่งใน พ.ศ. 2542 ธนาธรได้รับเลือกเป็นอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และใน พ.ศ. 2543 ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)[5] ด้วยความสนใจในบ้านเมืองรวมทั้งแนวคิดและทฤษฎีเสรีนิยมเขาจึงตัดสินใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทใบที่ 2 สาขาการเงินโลกที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกงและมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (Dual degrees) และศึกษาต่อปริญญาโทใบที่ 3 สาขากฎหมายธุรกิจระหว่างประเทศ ที่มหาวิทยาลัยแซงต์ กาลเลิน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[3] เมื่อสำเร็จการศึกษา เขาเข้าทำงานในองค์การนอกภาครัฐกลุ่มเพื่อนประชาชน (FOP) ได้พักหนึ่ง เขายังแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่ออยู่เป็นระยะ ๆ ทั้งยังเปิดเผยด้วยว่ามีความคิดที่จะเล่นการเมือง[4] การเคลื่อนไหวทางสังคมระหว่างที่เรียนอยู่ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาร่วมในกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคม ใน พ.ศ. 2543 ขณะร่วมเรียกร้องสิทธิกับกลุ่มสมัชชาคนจน ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล จนตัวเองได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย[5] เมื่อขึ้นชั้นปีที่ 3 เขาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม ประเทศอังกฤษ เขาเริ่มศึกษาทฤษฎีของคาร์ล มากซ์ และวลาดีมีร์ เลนิน เขาได้เข้าร่วมกลุ่ม Socialist Worker Student Society ซึ่งเป็นองค์กรจัดตั้งระดับนักศึกษาในอังกฤษ หลังสำเร็จการศึกษา เขาได้กลับมาทำงานกับองค์การนอกภาครัฐในประเทศไทยได้ราวครึ่งปี[5] ต่อมาบิดาของเขาเสียชีวิตจากโรคมะเร็งใน พ.ศ. 2545 เขามีศักดิ์เป็นหลานอาของสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาธรและสุริยะให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าทั้งสองมีความเห็นทางการเมืองต่างกันตั้งแต่สมัยธนาธรยังเป็นนักศึกษา เพราะธนาธรไม่เห็นด้วยกับโครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลย์ เป็นอย่างมากเพราะจะทำให้ประเทศไทยเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล นำไปสู่ความขัดแย้งกับสุริยะ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลดร.ทักษิณ ชินวัตร ขณะนั้น[6] ใน พ.ศ. 2561 สุริยะที่ไปเข้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงธนาธรว่า “ถ้าคุณพ่อเขาไม่เสีย ทุกวันนี้เขาคงไปเดินสายเอ็นจีโอ สมัยที่เขายังเรียนอยู่ บางทีซีเอ็นเอ็นออกข่าวเรื่องการต่อต้านอะไร คุณจะได้เห็นธนาธรโผล่ไปหมดแหละครับ ต่างประเทศก็ด้วย เพราะจริง ๆ เขาอยากจะเห็นโลกที่สมบูรณ์แบบ ขอสรุปว่าคุณธนาธรเป็นคนดี เป็นคนแบบนี้ของเขามาตั้งแต่เรียน”[7] พ.ศ. 2545 เอก ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ และเพื่อน, ต๋อม ชัยธวัช และปุ๊ (ธนาพล อิ๋วสกุล) ได้ลงขันตั้ง “สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน” เพื่อผลิตวารสารฟ้าเดียวกัน ตอนนั้น อุเชนทร์ เรียนปริญญาโทอยู่ธรรมศาสตร์ ก็มาร่วมด้วยช่วยเขียน ซึ่งหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ กล่าวหาว่าเนื้อหาส่วนใหญ่โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์[8] หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ลงว่า 10 เมษายน พ.ศ. 2553 ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่สี่แยกคอกวัว[9] ในระหว่างการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจโพสต์ข้อความและรูปภาพนิสิต-นักศึกษาร่วมแฟลชม็อบหนุนประชาธิปไตยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว[10] 20 ก.ค.63 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปฏิเสธอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก และย้ำว่าไม่เคยให้เงินเป็นค่าจ้างกับกลุ่มแกนนำ หรือกลุ่มผู้ชุมนุม[11] นอกจากนี้นายธนาธรยังได้ ทวีตชวนชุมนุม 19 ก.ย. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ [12] การทำงานทางธุรกิจหลังเรียนจบเขาเกือบเดินทางไปเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเยาวชนของสหประชาชาติที่ประเทศแอลจีเรียอยู่แล้ว[13] แต่บิดาเสียชีวิต ทำให้เขาเข้ารับตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิททันทีด้วยอายุ 23 ปีในขณะนั้น[14] ตั้งแต่เขาเริ่มเข้าไปบริหารธุรกิจ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทได้เติบโตขึ้นอย่างมาก จากรายได้ 16,000 ล้านบาท[15] เพิ่มขึ้นเป็นรายได้ 80,000 ล้านบาท เขาทำให้ธุรกิจครอบครัวกลายเป็นกลุ่มบริษัทระดับโลกที่มีโรงงานผลิตใน 7 ประเทศยักษ์ใหญ่ทั่วโลก รวมจำนวนพนักงานมากถึงราว 16,000 คน[16][17] ข้อตกลงทางธุรกิจที่สำคัญ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2548 เมื่อเขาได้ดีลเป็นผู้ผลิตตัวถังรถยนต์ให้บริษัทเทสลา (Tesla) บริษัทสัญชาติอเมริกัน จำนวน 500,000 คันต่อปี[18] คิดเป็นกำไร 5,980 ล้านบาท[19] จากข้อตกลงนี้ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิทขยายฐานการผลิตกว้างไกลออกไปอีก ด้วยการเปิดโรงงานในสหรัฐ และใน พ.ศ. 2552 ไทยซัมมิทโดยการนำของนายธนาธรก็ได้ตัดสินใจซื้อ โอกิฮาระ (Ogihara) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นผู้ผลิตแบบพิมพ์ชิ้นส่วนยานยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก[20] เขายังได้รับตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครนายก ตั้งแต่ พ.ศ. 2550–2554[21] และเขายังเป็นคนที่อายุน้อยที่สุดที่ได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ระหว่าง พ.ศ. 2550–2553 ธนาธรยังมีรายชื่ออยู่ในบอร์ดพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติอีกด้วย[22] ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เขาลาออกอย่างเป็นทางการเพื่อทำงานทางการเมืองภายใต้บทบาทหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่[23] ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า จะยึดมั่นงานการเมืองอย่างเดียวนับจากนี้ และจะไม่กลับไปทำธุรกิจอีก[24] บทบาทการเมืองพรรคอนาคตใหม่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2561 ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ รศ. ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้สนับสนุนจำนวน 24 คน ได้ยื่นขอจดทะเบียนพรรคการเมืองภายใต้ชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง[25] ต่อมา เขาได้รับมติเห็นชอบ 473 เสียงจากที่ประชุมใหญ่ผู้จดจัดตั้งพรรค เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนแรก[26] เขาประกาศเจตนารมณ์ของพรรคในการยุติระบอบรัฐประหาร กลับคืนสู่ระบอบรัฐสภา สร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงในสังคมไทย กระจายอำนาจ รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่โดยประชาชนต้องมีส่วนร่วม[27][28][29] ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 พรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งใน 30 เขต และได้รับคะแนนมหาชนมากเป็นอันดับสาม รองจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย และยังเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมหาชนในกรุงเทพมหานครมากที่สุด[30] หลังการเลือกตั้ง พรรคอนาคตใหม่และพันธมิตรทางการเมือง รวมทั้งพรรคเพื่อไทย แถลงร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ธนาธรได้รับข้อเสนอตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อแลกกับการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ธนาธรปฏิเสธ[31] จากการจัดตั้งของพรรคที่จะร่วมรัฐบาลจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันว่าพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 136 ที่นั่ง พรรคอนาคตใหม่ 79 ที่นั่ง รวมถึงพรรคอื่น ๆ อีก 29 ที่นั่ง รวมทั้งหมดได้ 244 เสียงในสภา ในขณะที่ฝั่งรัฐบาลเดิมได้ที่นั่งน้อยกว่า คือ 241 เสียง แต่ธนาธรนั้นไม่ได้รับการโหวตเสนอชื่อจากบรรดาเหล่าสมาชิกวุฒิสภา โดยฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาได้โหวตเสนอ 249 เสียงจาก 250 เสียงให้กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ทำให้พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันอันมีที่มาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศผ่านการเลือกตั้ง มีเพียงแค่ 244 เสียง ส่วนพรรคร่วมที่สืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารเดิมเมื่อรวมกับเสียงของสมาชิกวุฒิสภาแล้วจึงมีเสียงในสภาสูงถึง 500 เสียง ทำให้ได้กลายเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา และได้จัดตั้งรัฐบาลในที่สุด ส่วนฝ่ายพรรคร่วมฝ่ายประชาธิปไตยนั้นได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านแทน[32] วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562 เขาถูกยื่นคำร้องว่ามีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าขณะสมัครรับเลือกตั้งยังถือหุ้นสื่ออยู่[33] วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ธนาธร ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า สิ้นสุดความเป็น ส.ส. จากคดีถือหุ้นสื่อ[34] คดีฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.พ.อ. บุรินทร์ ทองประไพ ฐานะตัวแทนของ คสช. แจ้งข้อหาความผิดแก่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (2) กรณีจัดรายการ "คืนวันศุกร์ให้ประชาชน" ผ่านเฟซบุ้กไลฟ์ ที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำคะแนนเสียง สส. เพื่อเป็นเสียง คสช. เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยทั้งธนาธรรับทราบข้อหากล่าวต่อพนักงานสอบสวนเมื่อ 17 กันยายน พ.ศ. 2561 และส่งคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาพนักงานสอบสวนให้ส่งสำนวนคดีแก่พนักงานอัยการภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ และนัดเข้าพบพนักงานอัยการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่สำนักงานอัยการสูงสุด[35][36][37] วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2562 เขาถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและให้ที่พักพิงแก่ผู้ต้องหาอื่น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 189 โดยตัวแทน คสช. อ้างว่า ข้อหาดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มดาวดินทำกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ. 2558 แล้วกลุ่มดังกล่าวหลบหนีไปด้วยรถตู้ของธนาธร[38] คณะก้าวหน้าภายหลังการที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบจากคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2563 ธนาธร, ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช ได้ถูกศาลตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลาถึง 10 ปี พรรคอนาคตใหม่จึงได้ส่งมอบเจตนารมณ์ทางการเมืองให้แก่พรรคก้าวไกล โดยได้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์มารับตำแหน่งเป็นหัวหน้าของพรรคเพื่อสานต่ออุดมการณ์ หลังพ้นตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เขายังเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปในชื่อ "คณะก้าวหน้า" และมีบทบาทในการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย พ.ศ. 2563 และการเลือกตั้ง ส.ส. ใน พ.ศ. 2566 เพื่อช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครพรรคก้าวไกล ร่วมกับ ปิยบุตร แสงกนกกุล และพรรณิการ์ วานิช[39] ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เขาถูกรัฐบาลแจ้งความฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ หลังตั้งคำถามถึงบริษัทผลิตวัคซีนที่พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของ[40] ภาพลักษณ์บางทีสื่อไทยเรียกเขาว่า "ไพร่หมื่นล้าน" ซึ่งแสดงถึงการต่อสู้ระหว่างชนชั้นทางสังคมในประเทศไทย[41] ผู้สนับสนุนเขาที่เป็นหญิงบางส่วนยังเรียกเขาว่า "พ่อ"[42][43][44] ประโยค "ฟ้ารักพ่อ" นั้นมาจากตัวละครหญิง เรยา จากเรื่อง ดอกส้มสีทอง ซึ่งเป็นการเรียกสามีที่สูงอายุกว่าและเป็นนักธุรกิจใหญ่[45] วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2562 ธนาธรลงนามบันทึกความเข้าใจโอนทรัพย์สิน 5 พันล้านบาทเข้ากองทุนบลายด์ทรัสต์ (blind trust) คือ กองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลโดยที่เจ้าของทรัพย์สินไม่มีอำนาจสั่งผู้จัดการกองทุนได้[46] ชีวิตส่วนตัวธนาธรแต่งงานกับรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ มีบุตรธิดารวมด้วยกัน 4 คน[47] เขามักเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยตนเอง เพราะต้องการให้เด็กใช้ความคิดสร้างสรรค์ เกิดความสงสัยและตั้งคำถามเป็น[48] นอกจากนี้ เขายังชื่นชอบการเล่นกีฬาและกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ อาทิ ปีนเขา พายเรือคายัค วิ่งระยะไกล ขี่จักรยานทางไกล ปีนผา ไตรกีฬา เขาเคยเข้าแข่งรายการต่าง ๆ ได้แก่ การวิ่ง 250 กิโลเมตรในทะเลทรายซาฮาร่า[48] รายการ 6633 Arctic Ultra มาราธอน 560 กิโลเมตร ใน พ.ศ. 2558[49] ธนาธรอ่านหนังสือพิมพ์ เดอะนิวยอร์กไทมส์, ดิอีโคโนมิสต์, ไฟแนนเชียลไทมส์, มติชน และ กรุงเทพธุรกิจ เขายังเป็นแฟนอีสปอร์ตและเกมอย่างไมน์คราฟต์ และอารีนาออฟเวเลอร์ ซึ่งเขาว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสัมพันธ์กับบุตร[48] ลำดับสาแหรก
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่นวิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อที่เกี่ยวข้องกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ วิกิคำคมมีคำคมเกี่ยวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
|