ฌูแซ ซารามากู
ฌูแซ ดึ โซซา ซารามากู (โปรตุเกส: José de Sousa Saramago; 16 พฤศจิกายน ค.ศ. 1922 – 18 มิถุนายน ค.ศ. 2010) เป็นนักเขียนนวนิยายและความเรียง นักเขียนบทละคร กวี นักแปล และนักหนังสือพิมพ์ชาวโปรตุเกส เขาได้รับรางวัลกามอยช์ (รางวัลนักเขียนภาษาโปรตุเกส) ประจำปี ค.ศ. 1995 และรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ. 1998 นอกจากนี้ยังได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ที่ทำให้งานร้อยแก้วภาษาโปรตุเกสเป็นที่รับรู้อย่างดีในระดับนานาชาติ[1] นวนิยายของซารามากูมักมีเค้าโครงสถานการณ์อัศจรรย์ เขากล่าวถึงประเด็นจริงจังต่าง ๆ โดยมีอารมณ์ร่วมไปกับมนุษยภาวะและการแยกอยู่โดดเดี่ยวของชีวิตแบบเมืองในปัจจุบัน ตัวละครของเขาต้องต่อสู้กับความต้องการสร้างความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ทั้งในระดับบุคคลและในระดับสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการความเป็นปัจเจกและค้นหาความหมายและเกียรติภูมินอกโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ แฮเริลด์ บลูม นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอเมริกัน พรรณนาซารามากูว่าเป็น "นักเขียนนวนิยายที่มีพรสวรรค์ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกทุกวันนี้"[2] ใน ค.ศ. 2003 และกล่าวว่า เขาถือว่าซารามากูเป็น "ส่วนหนึ่งของบัญญัติตะวันตกอย่างถาวร" ใน ค.ศ. 2010[3] ส่วนเจมส์ วุด นักวิจารณ์วรรณกรรมชาวอังกฤษ ยกย่อง "น้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ในบันเทิงคดีของเขา เพราะเขาเล่าเรื่องในนวนิยายราวกับว่าเขาเป็นคนที่ทั้งชาญฉลาดและไม่รู้เรื่องรู้ราว"[4] หนังสือของซารามากูจำหน่ายได้มากกว่าสองล้านเล่มเฉพาะในโปรตุเกสประเทศเดียว และงานเขียนของเขายังได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 25 ภาษา[5][6] ในฐานะผู้สนับสนุนเรียกร้องลัทธิคอมมิวนิสต์แบบอิสรนิยม[7] ซารามากูได้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่าง ๆ อย่างพระศาสนจักรคาทอลิก สหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศเป็นต้น ในฐานะผู้ถืออเทวนิยม เขาเสนอว่าความรักเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนามนุษยภาวะ ใน ค.ศ. 1992 รัฐบาลโปรตุเกสสมัยนายกรัฐมนตรีอานีบัล กาวากู ซิลวา มีคำสั่งให้ถอนเรื่อง O Evangelho Segundo Jesus Cristo ("พระวรสารตามพระเยซูคริสต์") ออกจากการตัดสินรางวัลอาริสเทออน (Aristeion Prize) ในรอบสุดท้ายโดยอ้างว่างานชิ้นนี้มีเนื้อหาดูหมิ่นศาสนา ซารามากูรู้สึกท้อใจกับการตรวจพิจารณาทางการเมืองเช่นนี้[8] จึงลี้ภัยไปยังเกาะลันซาโรเตของสเปนและอาศัยอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 2010[9][10] ซารามากูเป็นสมาชิกก่อตั้งของแนวหน้าแห่งชาติเพื่อการปกป้องวัฒนธรรม (Frente Nacional para a Defesa da Cultura) ในลิสบอนเมื่อ ค.ศ. 1992 และเป็นผู้ก่อตั้งสภานักเขียนยุโรป (European Writers’ Parliament) ร่วมกับออร์ฮัน พามุค อ้างอิง
|