Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา)

เจ้าพระยามหาเสนา
(บุญมา)
สมุหพระกลาโหม
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2352 - ?
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
ก่อนหน้าเจ้าพระยามหาเสนา (ปิ่น)
ถัดไปเจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ (แสง วงศาโรจน์)
เสนาบดีกรมพระนครบาล
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2337 - 2352
กษัตริย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก
ก่อนหน้าพระยายมราช (บุนนาค)
ถัดไปเจ้าพระยายมราช (น้อย บุณยรัตพันธุ์)
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
บุญมา
ศาสนาพุทธ
บุพการี
ตระกูลวงศ์เฉกอะหมัด

เจ้าพระยามหาเสนา ชื่อเดิม บุญมา เป็นสมุหกลาโหมในช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นแม่ทัพในสงครามพม่าตีเชียงใหม่ พ.ศ. 2340 และ 2345

เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) เกิดในสมัยอยุธยา เป็นบุตรของพระยาจ่าแสนยากร (เสน) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นที่จักรีวังหน้าฯในกรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต มารดาคือท่านผู้หญิงพวงแก้ว ธิดาของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (ขุนทอง)[1] เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) มีพี่สาวร่วมมารดาเดียวกันสามคนชื่อว่า เป้า แป้น และทองดี[2][1]และมีพี่น้องต่างมารดาคนหนึ่ง คือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) พระยาจ่าแสนยากร (เสน) ได้นำบุตรชายทั้งสองของตน คือนายบุญมาและนายบุนนาค เข้ารับราชการในกรมพระราชวังบวรฯ โดยนายบุญมาได้รับแต่งตั้งเป็นหลวงมหาใจภักดิ์ นายเวรมหาดเล็กวังหน้าฯ และนายบุนนาคเป็นนายฉลองไนยนาถ เมื่อพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสวรรคตในพ.ศ. 2301 กรมพระราชวังบวรฯเจ้าฟ้าอุทุมพรจึงขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร พระยาจ่าแสนยากร (เสน) บิดาของหลวงมหาใจภักดิ์ (บุญมา) และ นายฉลองไนยนาถ (บุนนาค) ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยามหาเสนาสมุหกลาโหม เป็นที่รู้จักในนามว่า”เจ้าคุณกลาโหมวัดสามวิหาร” จากนิวาสสถานซึ่งอยู่บริเวณวัดสามวิหารในกรุงศรีอยุธยา

หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในพ.ศ. 2310 พี่สาวทั้งสามของนายบุญมาถูกกวาดต้อนไปพม่า[2] นายบุญมาเดินทางลี้ภัยไปอาศัยที่เมืองเพชรบูรณ์ นายบุญมาเข้ารับราชการอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ดำรงตำแหน่งเป็นพระพลเมืองเพชรบูรณ์ อยู่กับพระยาเพชรบูรณ์ (ปลี) ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2325 นายบุญมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่พระยาตะเกิง[3] จางวางกรมพระแสงปืนซ้าย ต่อมาในพ.ศ. 2337 เมื่อพระยายมราช (บุนนาค) เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาสมุหกลาโหม พระยาตะเกิง (บุญมา) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยายมราช เสนาบดีกรมพระนครบาล

พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์โก้นบองของพม่า ต้องการที่จะนำหัวเมืองล้านนาเข้าสู่การปกครองของพม่าอีกครั้ง จึงส่งทัพเข้าโจมตีและล้อมเมืองเชียงใหม่สองครั้ง ในพ.ศ. 2340 และพ.ศ. 2345 ทั้งสองครั้งพระยายมราช (บุญมา) ได้ติดตามพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ ยกทัพฝ่ายพระราชวังหลวงขึ้นไปช่วยพระยากาวิละป้องกันเมืองเชียงใหม่[4] ในครั้งเมื่อยกทัพไปช่วยเมืองเชียงใหม่ในพ.ศ. 2345 นั้น ด้วยเหตุบางประการทัพของกรมหลวงเทพหริรักษ์ฯและพระยายมราชรั้งรอล่าช้าตามหลังทัพของฝ่ายพระราชวังบวรฯ[5] กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจึงทรงมีพระราชบัณฑูรให้กรมหลวงเทพหริรักษ์ฯ พระยายมราช และเจ้าอนุวงศ์ ยกทัพไปตีเมืองเชียงแสนจากพม่าให้ได้เพื่อเป็นการปรับโทษ[4] นำไปสู่สงครามเชียงแสนในพ.ศ. 2347 พระยายมราช (บุญมา) ติดตามเสด็จกรมหลวงเทพหริรักษ์ยกทัพเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน แต่ทัพฝ่ายกรุงเทพฯประสบปัญหาไพร่พลล้มป่วยขาดแคลนเสบียงอาหารจึงถอยทัพออกมาก่อน[4] ต่อมาพระยาอุปราชน้อยธรรมแห่งเชียงใหม่จึงสามารถเข้ายึดเมืองเชียงแสนได้ มีการกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนออกเป็นห้าส่วน แบ่งให้กรุงเทพฯหนึ่งส่วน กรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงจัดให้ชาวเชียงแสนเหล่านั้นไปอยู่ที่เมืองสระบุรีและเมืองราชบุรี เมื่อทัพกลับถึงกรุงเทพแล้ว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงขัดเคือง[4] ด้วยเหตุว่าทัพกรุงฯนั้นกลับลงมาจากเชียงแสนนั้นกลับมาเปล่าไม่ได้ราชการสิ่งใด จึงมีพระบรมราชโองการให้จำกรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชไว้ที่ทิมดาบชั้นนอกไว้สี่วัน เมื่อคลายพระพิโรธแล้วจึงให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชให้พ้นโทษออกมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2352 ทรงแต่งตั้งพระยายมราช (บุญมา) ขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนาที่สมุหกลาโหม[6] เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลที่ 2[3]

เจ้าพระยามหาเสนา (บุญมา) ปรากฏบุตรดังนี้;[2]

ภรรยาชื่อ ไตร

  • ธิดาชื่อ แข
  • บุตรชื่อ เขียน

ทั้งสองคนข้างต้นนี้ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังเสียกรุงศรีฯ[2]

ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงเป้า

  • เจ้าจอมทรัพย์ ในรัชกาลที่ 1
  • พระยาอภัยพิพิธ (กระต่าย)

ภรรยาชื่อ ท่านผู้หญิงไข่

  • บุตรชื่อ ม่วง
  • พระยาเพชรบูรณ์ (นุช)

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "วงศ์เฉกอะหมัด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-24. สืบค้นเมื่อ 2021-06-21.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 ลำดับสกุลเก่าบางสกุลภาคที่ ๓: สกุลเฉกอหมัด ฉะบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระตำรวจเอก เจ้าพระยาราชศุภมิตร (อ๊อด ศุภมิตร) ณ เมรุวัดเบญจมบพิตร เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๘๓.
  3. 3.0 3.1 สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๖.
  5. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. พงษาวดารเรื่องเรารบพม่า ครั้งกรุงธน ฯ แลกรุงเทพ ฯ.
  6. ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา.. พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ปีมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙; พิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทย ณสพานยศเส
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9