หมู่บ้านทะลุฟ้าหมู่บ้านทะลุฟ้า เป็นค่ายพักแรมของผู้ประท้วงในระหว่างการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2564 ก่อตั้งโดยกลุ่มเดินทะลุฟ้า เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564[1] ตั้งอยู่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, การยกเลิกกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งผู้จัดประกาศว่าจะปักหลักชุมนุมไปอย่างไม่มีกำหนด มีการจัดให้ลงทะเบียนและคัดกรองโรคโควิด-19 ตามมาตรการของรัฐบาล[1] โดยก่อนหน้านี้กลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยปักหลักชุมนุในพื้นที่ดังกล่าวอยู่ก่อนแล้ว[2] ต่อมามีการจัดสรรพื้นที่ตั้งเป็นเวทีปราศรัย ครัว ที่พักภิกษุสงฆ์ ที่พัก และหน่วยแพทย์[3] วันที่ 16 มีนาคม ตัวแทนไปยื่นจดหมายถึงสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐและสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยเพื่อขอให้จับตาการใช้กำลังและบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลประยุทธ์[4] วันที่ 17 มีนาคม รวมกันจัดกิจกรรมเขียนจดหมายถึงนักกิจกรรมในเรือนจำ[5] กลุ่มยังประกาศให้ผู้ประท้วงที่ไม่มีที่พักเข้าพักได้ฟรี[6] วันเดียวกัน กลุ่มพีมูฟและภาคีเซฟบางกลอยประกาศเลิกปักหลักชุมนุม โดยอ้างว่าเพื่อรอดูผลงานของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้ง การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เสียก่อน[7] หลังจากก่อนหน้านี้ เข้าหารือกับร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาขัดแย้งบางกลอย[2] ทำให้เหลือเฉพาะกลุ่มเดินทะลุฟ้า โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุว่าผู้ชุมนุมมีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 แต่ยอมย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากพื้นที่เนื่องจากประเมินแล้วไม่มีความเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรง[8] ผู้ชุมนุมระบุว่ามีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์[9] และมีการตามไปข่มขู่ถึงเขตวัดโสมนัสราชวรวิหาร ซึ่งอยู่ในละแวกเดียวกับค่ายพัก[10] เช้าวันที่ 28 มีนาคม ตำรวจเข้าสลายหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการชุมนุมที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน[11] แต่ในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมทวงคืนหมู่บ้านทะลุฟ้า พร้อมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมในหมู่บ้านทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข[12] อ้างอิง
|