Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

วัดวัง (จังหวัดพัทลุง)

วัดวัง
พระประธานในอุโบสถ
แผนที่
ที่ตั้งตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดวัง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 2 ครั้ง

ประวัติ

ที่มาของชื่อวัดมี 2 ประการ คือ เนื่องจากทางทิศใต้ของวัดมีวังน้ำลึกมากเรียกว่า "หัววัง" จึงเรียกวัดวัง อีกประการหนึ่งคือ วัดอยู่ใกล้กับวังหรือจวนเจ้าเมืองจึงเรียกวัดวัง วัดสร้างขึ้นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่ไม่ทราบศักราชที่แน่ชัดเนื่องจากหลักฐานยังขัดแย้งกันอยู่ จากจารึกระบุว่า วัดมีงานฉลองเมื่อ พ.ศ. 2403 ส่วนพงศาวดารเมืองพัทลุง ระบุว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้สร้างวัดวังแต่ไม่ปรากฏปีศักราช ได้ทำการแล้วเสร็จ มีการฉลองเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 พ.ศ. 2359

หนังสือพงศาวดารและลำดับวงศ์สกุลเมืองพัทลุงซึ่งเรียบเรียงโดยพระยาโสภณพัทลุงกุล (สว่าง ณ พัทลุง) ระบุว่า พระยาพัทลุง (ทองขาว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น มีอุโบสถ พัทธสีมา และวิหาร และเป็นวัดสำหรับรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยา แต่ในหนังสือประวัติวัดวังของหลวงคเชนทรามาตย์ ระบุไว้ว่าพระยาพัทลุง (ทองขาว) บุตรพระยาพัทลุง (ขุน) เป็นหัวหน้านำญาติพี่น้องและชาวบ้านปฏิสังขรณ์วัดวังขึ้น ส่วนคุณยายประไพ มุตตามระ (จันทโรจวงศ์) บุตรีหลวงศรีวรวัตร (พิณ จันทโรจวงศ์ ผู้เขียนพงศาวดารเมืองพัทลุง) ระบุว่า วัดวังสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2331 จากหลักฐานดังกล่าวพอสรุปได้ว่า วัดวังสร้างก่อน พ.ศ. 2359 โดยมีจุดประสงค์คือเป็นวัดประจำเมืองหรือประจำตระกูล และเมื่อสร้างวัดวังขึ้นแล้ว เห็นว่าวัดควนมะพร้าวซึ่งใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา มาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีนั้นอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองมากเกินไป จึงได้พิจารณายกวัดวังขึ้นเป็นวัดถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา[1]

วัดวังเริ่มทรุดโทรม จนราว พ.ศ. 2512 ทางราชการจึงได้ทำการบูรณะซ่อมแซมวัดวัง[2]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ 2 ครั้ง ครั้งแรกขึ้นทะเบียนโดยมิได้กำหนดแนวเขต ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ครั้งที่ 2 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 102 ตอนที่ 108 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 หน้า 151 (ฉบับพิเศษ) พื้นที่ประมาณ 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา[3]

อุโบสถ

พระประธานวัดวัง

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาทรงไทยมุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผามีช่อระกาประดับด้วยกระจกสี หน้าบันอุโบสถทั้งสองจำหลักไม้ลงรักปิดทองด้านหน้าแกะสลักเป็นรูปพระพายทรงม้า 3 เศียรประดับด้วยลายกระหนกก้านแย่งรูปยักษ์รูปเทพธิดาและกินรีลงรักปิดทอง ด้านหลังเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ 3 เศียรประกอบด้วยลายกระหนกลงรักปิดทองโดยหน้าบันทั้ง 2 ด้านได้จำลองจากของเดิมเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา

ตัวอุโบสถเดิมมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน แต่ได้ปฏิสังขรณ์ใหม่ในสมัยพระยาพัทลุง (ทับ) เมื่อ พ.ศ. 2403 โดยได้ก่อฝาผนังอุโบสถขึ้นมาใหม่ให้มีความกว้างยาวกว่าเดิมด้านหน้าอุโบสถ มีมุขยื่นออกมามีเสากลมรองรับ 2 เสา ภายในมุขมีพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางเลไลยก์ มีช้างและลิงปูนปั้นถวายรังผึ้งเป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ด้านข้างเป็นเสานางเรียงกลมก่อด้วยอิฐถือปูนอยู่บนฐานไพทีรับปีกชายคาด้านละ 7 เสา หัวเสาประดับลายปูนปั้นรูปกลีบบัวหงายอุโบสถมีประตูทางเข้าด้านหน้า 2 ประตูมีบานประตู 4 บาน เดิมมีภาพลายรดน้ำรูปทรงทวารบาลแต่เมื่อ พ.ศ. 2512 ขุนอรรถวิบูลย์ (อรรถ จันทโรจวงศ์) ได้บูรณะใหม่โดยบานประตูด้านขวามือของอุโบสถ 2 บาน แกะเป็นรูปกินรีบานละ 6 คู่ ลงรักปิดทอง ส่วนประตูด้านซ้ายมือแกะเป็นรูปทวารบาล บานแรกรูปเทพธิดาถือดอกไม้ตอนล่างแกะเป็นรูปหนุมานแบกอีกบานหนึ่งแกะเป็นรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงถือสังข์คฑาจักรและตรีทรงพญานาคเป็นพาหนะ ตอนล่างของภาพเป็นรูปหนุมานแบกลงรักปิดทองเหนือขอบประตูทั้ง 2 มีลวดลายปูนปั้นรูปดอกไม้พรรณพฤกษาประกอบด้วยรูปสัตว์ต่าง ๆ ตอนใต้ของภาพเป็นรูปสิงห์โตแบบศิลปะจีนตรงกลางเป็นลายขมวดประสานกันอย่างสอดคล้อง

อุโบสถมีหน้าต่างด้านละ 6 ช่อง ประดับด้วยลวดลายปูนปั้นพรรณพฤกษา บางช่องปั้นเป็นรูปหน้ากาล ลวดลายปูนปั้นทั้งหมดซ่อมใหม่เมื่อ พ.ศ. 2525 ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัยจำนวน 4 องค์[4] ประดิษฐานบนฐานชุกชีย่อมุมไม้สิบสองฐานพระเป็นฐานสิงห์ มีผ้าทิพย์ด้านหน้าพระประธานขนาดหน้าตักกว้าง 2 เมตร มีพระสาวกปูนปั้นประทับยืนพนมมือด้านขวามือ ของพระประธานมีพระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางห้ามสมุทรพร้อมฉัตร 5 ชั้น สูงรวมฐาน 221 เซนติเมตร ส่วนด้านซ้ายมือของพระประธานมีพระพุทธรูปไม้จำหลักบุด้วยโลหะทรงเครื่องปางอุ้มบาตร 1 องค์มีขนาดสูงฐาน 164 เซนติเมตร ปัจจุบันถูกขโมยไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม พ.ศ. 2525 ยังไม่ได้คืนผนังอุโบสถ ผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นเรื่องพุทธประวัติหรือปฐมสมโพธิ์เทพชุมนุมทั้ง 4 ด้าน เดิมผนังระหว่างช่องหน้าต่างมีภาพเขียนเรื่องทศชาติชาดก แต่ปัจจุบันลบเลือนหมดแล้ว

ระเบียงคดและเจดีย์

รอบอุโบสถมีระเบียงคดล้อมรอบภายในระเบียงประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น จำนวน 108 องค์ มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองจำนวน 2 องค์ อยู่ทางด้านทิศใต้และทิศเหนือของอุโบสถทิศละ 1 องค์ ฐานเจดีย์เป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุมมีซุ้มจระนำทั้ง 4 ด้าน ๆ ละซุ้ม องค์ระฆังทรงเหลี่ยมย่อมุมรับกับฐานส่วนยอดเป็นบัวกลุ่ม ด้านหลังอุโบสถมีเจดีย์ทรงกลีบมะเฟือง จำนวน 1 องค์ฐานเป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุม 3 ชั้น ชั้นที่ 4 เป็นบัวปากระฆังรูปกลีบมะเฟือง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเจดีย์ทรงกลมมีจำนวน 5 องค์ อยู่ทางด้านทิศใต้จำนวน 1 องค์ทิศตะวันออกหน้าอุโบสถ 2 องค์ทิศเหนือ 1 องค์ ทิศตะวันตก 1 องค์ ฐานสิงห์ย่อมุมไม้สิบสององค์ระฆังกลม (ทรงลังกา) ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มและเจดีย์ทรงกลมอันใหญ่อยู่มุมกำแพงวัด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือก่อด้วยอิฐถือปูน ตามประวัติว่าพระยาพัทลุง (ทับ) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2403 ฐานเป็นแปดเหลี่ยมถัดไปเป็นชุดฐานสิงห์ย่อมุม 4 ชั้น เหนือฐานสิงห์เป็นลูกแก้วปากระฆังและองค์ระฆังกลม ส่วนยอดไม่มีบัลลังก์มีแต่ปล้องไฉนและปลียอด ด้านหน้าเจดีย์องค์ระฆังกลมเป็นอนุสาวรีย์พระยาพัทลุง (ขุนคางเหล็ก)

ปูชนียวัตถุ

วัดยังมีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ ธรรมาสน์จำหลักไม้ลายทองรูปดอกไม้พรรณพฤกษา โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น เพื่อทรงพระราชอุทิศในงานพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2453 และมีตู้พระธรรมลายรดน้ำ ซึ่งเก็บรักษาไว้ในกุฏิเจ้าอาวาส ลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมแบบขาสิงห์ เขียนลายรดน้ำกระหนกก้านแย่งประกอบลายสัตว์[5]

อ้างอิง

  1. "วัดวัง (Wat Woeng)". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง.
  2. "วัดวัง (Wat Woeng)". ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้-มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
  3. "วัดวัง". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  4. "วัดวัง จังหวัดพัทลุง". กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]
  5. "วัดวัง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9