วอยซ์ทีวี
วอยซ์ ทีวี (อังกฤษ: Voice TV) เป็นอดีตสถานีโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ในประเทศไทย ออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมและเครือข่ายโทรทัศน์เคเบิล ก่อนหน้านี้เป็นผู้รับใบอนุญาตออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวและเหตุการณ์ปัจจุบัน ออกอากาศทางช่องหมายเลข 21, อินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.voicetv.co.thและแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่อัจฉริยะ (smartphone)[2] เริ่มทดลองออกอากาศเป็นครั้งแรก ผ่านระบบดาวเทียมดีทีวี ของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในระบบซีแบนด์เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2552[3], เปิดตัวเว็บไซต์วอยซ์ทีวี เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน[4], เริ่มแพร่ภาพตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553[5], เริ่มออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมเคยูแบนด์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2554[6] และเริ่มออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557[7] โดยประมูลด้วยมูลค่า 1,338 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาที่ออกอากาศในระบบทีวีดิจิทัล ทำรายได้รวม 384 ล้านบาท เรตติ้งดีที่สุด 0.031 ในปี พ.ศ. 2561 และต่ำสุด 0.004 ในปี พ.ศ. 2557[8] วอยซ์ทีวี เป็นสื่อที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลก รายงานเจาะลึกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากสื่อมวลชนกระแสหลัก รวมทั้งสาระบันเทิงต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่ ด้วยกระบวนการผลิตคุณภาพสูง เพื่อสร้างความแปลกใหม่ หลากหลาย แต่สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย และเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ตอบสนองวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ ของคนทำงานในเมือง เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ปัจจุบันสามารถเข้าถึงผู้ชม 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และยังนำเสนอผ่านสื่อเครือข่ายสังคมทุกรูปแบบคือ เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม และยูทูบ[2] ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2557 มีเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย, ทรงศักดิ์ เปรมสุข อดีตผู้บริหารไอทีวี เป็นกรรมการที่ปรึกษา[9] เป็นกรรมการผู้อำนวยการ, พานทองแท้ ชินวัตร เป็นกรรมการรองผู้อำนวยการ และพินทองทา คุณากรวงศ์ เป็นกรรมการบริษัท[4] ประวัติบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ในนามบริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ด้วยทุนจำนวน 300 ล้านบาท ประกอบธุรกิจผลิตรายการโทรทัศน์ เพื่อนำออกอากาศเป็นการทั่วไป เดิมตั้งอยู่เลขที่ 414 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร (อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 1 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น อาคารเอไอเอสทาวเวอร์ 1) ประกอบด้วยกรรมการบริษัท 4 คนคือ พานทองแท้ ชินวัตร, พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์, ทรงศักดิ์ เปรมสุข, เฉลิม แผลงศร และมีผู้ถือหุ้นจำนวน 8 รายคือ บริษัท พี.ที.คอร์ปอเรชัน จำกัด (ร้อยละ 56.00), พานทองแท้ ชินวัตร (ร้อยละ 36.96), พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ (ร้อยละ 7.04) และบุคคลอื่นๆ รวมอีก 5 หุ้น มีผลงานผลิตรายการโทรทัศน์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดออกอากาศทางไอทีวี เช่น I Style, ใครรักใครหัวใจตรงกัน,ปลาเก๋าราดพริก,บางกอกรามา ฯลฯ รวมถึงเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์การ์ตูนญี่ปุ่น ฮิคารุเซียนโกะ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 อีกด้วย[10] เปลี่ยนชื่อครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นบริษัท วอยซ์สเตชัน จำกัด, เปลี่ยนครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552 เป็นชื่อปัจจุบัน[4] ต่อมาได้เข้าร่วมประมูลโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล ประเภทบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าว เหตุการณ์ปัจจุบัน และสาระ ได้ช่องหมายเลข 21 และเริ่มทดลองออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557[7] คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ลงมติอนุมัติการคืนใบอนุญาตวอยซ์ทีวี ของบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด และให้ยุติการออกอากาศเฉพาะทีวีดิจิทัลช่อง 21 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2562[11] จากนั้นวอยซ์ทีวีจึงแพร่ภาพออกอากาศบนดาวเทียม ตั้งแต่เวลา 00:01 น. เป็นต้นไป ในหลาย ๆ ช่องทางของทีวีดาวเทียมสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเช่าสัญญาณช่อง V2H2 ในระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมช่อง 51 ของเอ็มวีทีวี ในการออกอากาศ[12][13][14][15][16] ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 วอยซ์ทีวีได้ประกาศปิดกิจการ และยุติการออกอากาศทุกช่องทาง โดยจะเลิกจ้างพร้อมทั้งจ่ายเงินชดเชยให้พนักงานฝ่ายต่าง ๆ ทั้งหมด จำนวนมากกว่า 100 คน และทยอยยุติการออกอากาศรายการต่าง ๆ ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม[17] โดยได้ปิดสถานีทางโทรทัศน์เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 และยุติการออกอากาศในช่องทางออนไลน์ลงอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567[18] ส่วนอาคารสถานีนั้น พรรคเพื่อไทยได้นำไปใช้เป็นที่ทำการพรรคตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีเดียวกัน[19][20] ผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวผู้ประกาศข่าวและผู้รายงานข่าวและพิธีกรในอดีต
รายการที่ยุติการออกอากาศไปแล้ว
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น |