Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

บึงพระราม

บึงพระราม
ที่ตั้งเกาะเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเทศไทย
พิกัด14°21′23.78″N 100°33′46.55″E / 14.3566056°N 100.5629306°E / 14.3566056; 100.5629306
องค์กรที่จัดการเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา

บึงพระราม หรือเดิมเรียกว่า หนองโสน หรือ บึงชีชัน เป็นหนองน้ำหรือบึงน้ำขนาดใหญ่กลางเกาะเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอดีตบึงแห่งนี้เป็นชุมชนโบราณมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาด้วยสังเกตจากวัดร้างและสถานที่สำคัญจำนวนมากรอบบึงน้ำนี้ ปัจจุบันบึงพระรามได้รับการปรับปรุงจนกลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวพระนครศรีอยุธยา

ศัพทมูลวิทยา

บึงพระราม มีชื่อมาแต่เดิมว่า หนองโสน แปลว่า "แอ่งน้ำใหญ่ที่มีต้นโสนขึ้นมาก"[1][2] อีกชื่อเก่าคือ บึงชีชัน ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาลนั้น[3] บ้างเรียก บึงญี่ขัน[4] ไม่ทราบว่ามาจากคำว่ากระไร และไม่สามารถเทียบคำที่ใกล้เคียงเพื่อหาความหมายได้[1]

ส่วนชื่อ บึงพระราม นั้น บ้างก็ว่าเกี่ยวเนื่องมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่สถาปนากรุงศรีอยุธยาโดยมีบึงน้ำนี้เป็นศูนย์กลาง[1] บ้างก็ว่าตั้งตามชื่อวัดพระราม[3][5] ที่เป็นวัดเก่าสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนเรียกว่าบึงพระรามตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่เป็นที่ทราบเช่นกัน[3]

ประวัติ

บึงพระรามเป็นหนองน้ำที่เก่าแก่ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นแอ่งน้ำที่อยู่กลางดอนที่เกิดจากการทับถมของตะกอนแม่น้ำหลายสายรอบเกาะเมืองอันได้แก่แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสักเป็นอาทิ[1] บ้างก็ว่าเกิดจากการขุดดินเพื่อนำไปสร้างวัดและวังต่าง ๆ จนบริเวณดังกล่าวได้กลายสภาพเป็นบึงน้ำไป[3]

บึงพระรามถือว่ามีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นชุมชนเก่าที่มีขนาดใหญ่มาแต่อดีตกาลแล้ว[6] ดังจะพบได้จากโบราณสถานที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ได้แก่ วัดมหาธาตุ วัดพระราม วัดนก วัดหลังคาดำ วัดหลังคาขาว วัดสังขปัตถ์ วัดโพง วัดชุมแสง พระที่นั่งเย็น วัดไตรตรึงษ์ วัดราชบูรณะ วัดธรรมิกราช วัดมงคลบพิตร วัดพระศรีสรรเพชญ์ ลานหน้าจักรวรรดิ และอยุธยามหาปราสาท[1][3][5] นอกจากนี้ยังมีวัดที่ไม่ปรากฏซากแล้ว เช่น วัดสัตตบรรณ และวัดจันทร์ เป็นต้น[5] ในอดีตถือว่าพื้นที่โดยรอบบึงพระรามนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์[1] จากเอกสารของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต หรือวันวลิต วานิชชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขายในกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบึงพระรามตามคำบอกเล่าของชาวกรุงศรีอยุธยาว่า ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาคือพระเจ้าอู่นั้นเป็นพระโอรสพระเจ้ากรุงจีนที่ถูกเนรเทศเพราะทำกรรมชั่วไว้มาก พระองค์จึงเดินทางเพื่อหาภูมิสถานเพื่อสร้างเมืองขึ้นใหม่ จนพบเกาะเมืองอยุธยาที่ชัยภูมิดีแต่กลับไร้คนอยู่อาศัย พระเจ้าอู่ได้พบฤๅษีตนหนึ่ง ที่ต่อมาฤๅษีตนนั้นได้อธิบายความว่าที่เมืองไร้คนก็เป็นเพราะมังกรในหนองโสนพ่นน้ำลายพิษจนคนตายทั้งเมือง หากจะฆ่ามังกรให้ได้จะต้องไขปัญหาของฤๅษีให้ครบทั้งสามข้อ ซึ่งพระเจ้าอู่ก็ทรงทำได้ครบ ฤๅษีจึงบอกวิธีกำจัดมังกรคือต้องหาฤๅษีที่มีลักษณะเดียวกับตนโยนลงหนองโสน แต่พระเจ้าอู่ก็ทรงหาฤๅษีลักษณะดังกล่าวไม่ได้ ครั้นเมื่อถึงเวลาทั้งสองเดินทางไปถึงหนองน้ำ พระเจ้าอู่ก็ทรงเหวี่ยงฤๅษีตนนี้ลงไปในหนอง มังกรก็ไม่โผล่ขึ้นมาอีก และเมืองก็ปลอดจากโรคระบาด[2] สุจิตต์ วงษ์เทศอธิบายว่า มังกรพ่นพิษน่าจะสื่อถึงกาฬโรค[1] ส่วนกำพล จำปาพันธ์ว่ามังกร (คือพญานาค) และฤๅษี (คือพราหมณ์) น่าจะสื่อถึงขอม ที่ไม่สนับสนุนให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มาตั้งถิ่นฐานที่นี่จนเกิดการกระทบกระทั่งกัน[5]

บึงพระรามถือเป็นหนึ่งในความสามารถของชาวกรุงศรีอยุธยาด้านการจัดการน้ำ โดยเกาะเมืองจะมีโครงสร้างในการระบายน้ำคือคลองสายต่าง ๆ โดยคลองจะทำหน้าที่ชักน้ำเข้าไปยังบึงพระรามและบึงต่าง ๆ ภายในเกาะเพื่อหล่อเลี้ยงผู้คน โดยจะมีการก่อสร้างประตูน้ำ หากถึงฤดูฝนก็จะมีการเปิดประตูน้ำเพื่อให้น้ำไหลผ่านคลองสายต่าง ๆ บนเกาะ หากถึงฤดูน้ำหลากก็จะปิดประตูน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัยบนเกาะเมือง และยามฤดูแล้งก็จะกักเก็บน้ำในบึงไว้ใช้ โดยมีคลองไหลเข้าเกาะเมือง 4 สาย คลองบางสายก็จะชักน้ำไปหล่อเลี้ยงบึงพระรามมิให้เหือดแห้ง และมีคลองระบายน้ำออกจากเกาะเมืองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาทางใต้อีก 6 สาย[7]

ปัจจุบัน

ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงครามเป็นรัฐบาล ได้มีการฟื้นฟูและพัฒนาบึงพระรามขึ้นใหม่ มีการบูรณะตึกดินซึ่งเป็นโบราณสถานช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขึ้นใหม่[3] หลังจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้พัฒนาให้บึงพระรามเป็นสวนสาธารณะเรียกว่า สวนสาธารณะบึงพระราม เพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนโดยทั่วไป[3] และถือว่าบึงพระรามเป็นหนึ่งในสามบึงน้ำบนเกาะเมืองที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน จากที่มีทั้งหมด 5 แห่ง แต่ปริมาณการกักเก็บน้ำของบึงที่เหลือทั้งสามแห่งนั้นก็ลดพื้นที่ลงกว่าเดิมครึ่งหนึ่ง[7] โดยเฉพาะบึงพระรามที่คลองลำคูปากสระ และคลองประตูเทพหมีที่ทำหน้าที่ชักน้ำเข้าบึง ถูกรุกล้ำจนสิ้น[7]

ปัจจุบันบึงพระรามมักมีการจัดงานเทศกาลที่มีการตั้งร้านขายอาหารจนเกิดปัญหาด้านมลพิษ[1] ซ้ำยังเป็นแหล่งมั่วสุมทั้งการพนัน คนเร่ร่อน คนดมกาว และพบขยะเกลื่อนกล่นในบึง รวมทั้งหญ้ารกชัฏจนไม่เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ[8] และทำให้อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาสุ่มเสี่ยงต่อการถูกถอดถอนจากการเป็นมรดกโลก[9] แม้จะมีการทำความสะอาดใหญ่บริเวณพื้นที่โดยรอบบึงพระรามก็ตาม[10]

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 สุจิตต์ วงษ์เทศ (22 ธันวาคม 2015). "บึงพระราม (ที่อยุธยา) งอมพระราม". มติชนออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.
  2. 2.0 2.1 เรือนอินทร์ หน้าพระลาน (22 กันยายน 2553). “หนองโสน” มีตำนานการสร้างเมืองอยุธยา. คมชัดลึก. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2560.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 "สวนสาธารณะบึงพระราม". กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.
  4. ส. พลายน้อย (2555). แม่น้ำลำคลอง. กรุงเทพฯ : มติชน. หน้า 107. ISBN 9789740210061.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 กำพล จำปาพันธ์ (2559). อยุธยา จากสังคมเมืองท่านานาชาติ สู่มรดกโลก. นนทบุรี : มิวเซียมเพรส. หน้า 21. ISBN 9786167674100.
  6. น. ณ ปากน้ำ (2540). ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. พิมพ์ครั้งที่ 3. หน้า 157. ISBN 9789747367935.
  7. 7.0 7.1 7.2 ณัฐดนัย ใหม่ซ้อน (8 พฤศจิกายน 2015). "อยุธยา (อยู่) กับน้ำ ฟื้นคูคลองเมืองมรดกโลก". อิศรา. สืบค้นเมื่อ 18 มีนาคม 2017.
  8. Patt Taengpun (7 มกราคม 2016). "รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ศ. ๒๕๕๘". สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
  9. "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เตรียมจัดระเบียบร้านต้นไม้รอบสวนสาธารณะบึงพระราม โดยจัดพื้นที่ให้ขายภายในสวนสาธารณะบึงพระราม". ข่าวชัด. 3 กันยายน 2016. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.[ลิงก์เสีย]
  10. "บิ๊กคลีนนิ่งบึงพระราม". เนชั่นทีวี. 20 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 22 มีนาคม 2017.
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9