Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

อาหารจีน

อาหารจีน หมายถึงอาหารที่ประกอบขึ้นตามวัฒนธรรมของชาวจีน ซึ่งรวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน และฮ่องกง นอกจากนี้ยังมาจากชาวจีนผู้อพยพและผู้พลัดถิ่นซึ่งไปตั้งถิ่นฐานทั่วโลก เนื่องจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ส่งผลให้อาหารจีนมีอิทธิพลสูงต่อต่ออาหารอื่น ๆ มากมายในทวีปเอเชียและภูมิภาคอื่น โดยมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะกับรสนิยมของท้องถิ่น โดยทั่วไปนิยมรับประทานอาหารจานผักและธัญพืชเป็นหลัก นอกจากในราชสำนักที่จะมีอาหารประเภทเนื้อ อาหารที่รู้จักกัน เช่น ก๋วยเตี๋ยว ติ่มซำ หูฉลาม กระเพาะปลา วัฒนธรรมการกินเป็นการกินร่วมกันโดยอุปกรณ์การกินหลัก คือตะเกียบ

ร้านอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในโลกซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะร้านอาหารตามการนิยามสมัยใหม่ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ซ่งในศตวรรษที่ 11 และ 12[1] อาหารข้างถนนกลายเป็นส่วนสำคัญทางวัฒนธรรมของอาหารจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง และวัฒนธรรมการทานอาหารข้างทางส่วนใหญ่ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับอิทธิพลมาจากแรงงานชาวจีนที่เข้ามาในช่วงปลายศตวรรษที่ 19[2]

รสนิยมในการปรุงรส และเทคนิคการทำอาหารในมณฑลต่าง ๆ ของจีนนั้นขึ้นอยู่กับความแตกต่างจากหลายปัจจัย เช่น ชนชั้นทางสังคม ศาสนา ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ และกลุ่มชาติพันธุ์ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ และทะเลทรายก็มีผลกระทบอย่างมากต่อส่วนวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของประเทศจีนแตกต่างกันไปตั้งแต่ภูมิอากาศแบบเมืองร้อน ทางตอนใต้ไปจนถึงภูมิอากาศแบบกึ่งอาร์กติกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ราชวงศ์และจักรพรรดิมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงอาหารจีนเช่นกัน เนื่องจากการขยายตัวของจักรวรรดิ การย้ายถิ่นฐาน และการค้าขาย ส่วนผสมและเทคนิคการทำอาหารจากวัฒนธรรมอื่นจึงถูกรวมเข้ากับอาหารจีนในเวลาต่อมา และอิทธิพลการทำอาหารของจีนก็แพร่กระจายไปทั่วโลก อาหารจีนมีคามหลากหลายตามภูมิภาค ศาสนา และชาติพันธุ์ที่พบทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จึงทำให้อาหารจีนมักถูกจัดประเภทเป็นตระกูลตามมณฑลหรือภูมิภาค ในสมัยราชวงศ์ชิงมีการยกย่องอาหารสี่ประเภทอย่างยิ่งใหญ่ ได้แก่ อาหารเสฉวน, อาหารชานตง, อาหารกวางตุ้ง และอาหารฮ่วยหยาง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนอาหารจีนในภาคตะวันตก เหนือ ใต้ และตะวันออก ตามลำดับ[3][4]

อาหารจีนมีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้งกับแพทย์แผนจีน เช่น การบำบัดด้วยอาหาร สี กลิ่น และรสชาติเป็นลักษณะดั้งเดิมสามประการที่ใช้อธิบายคุณลักษะเด่นของอาหารจีน เช่นเดียวกับลักษณะและคุณค่าทางโภชนาการ การปรุงอาหารของชาวจีนประเมินโดยคำนึงถึงส่วนผสมที่ใช้ เทคนิคการใช้มีด เวลาในการปรุงอาหาร และเครื่องปรุง

ประวัติ

สมัยก่อนราชวงศ์ถัง

การประกอบอาหารถือเป็นศิลปะที่ผูกพันกับวิถีชีวิตชาวจีนมาช้านาน สังคมจีนให้ความสำคัญกับวิทยาการทำอาหารอย่างมาก และพัฒนาการศึกษาเรื่องนี้โดยอิงความเชื่อทางการแพทย์แบบดั้งเดิม แรกเริ่มนั้น วัฒนธรรมจีนมีศูนย์กลางอยู่ที่บริเวณที่ราบตอนเหนือแถบจง-ยฺเหวียน พืชที่ถูกนำมาปรุงอาหารชนิดแรก ๆ ได้แก่ ข้าวฟ่างหางหมาและข้าวโพด ในขณะที่ข้าวเริ่มมีปลูกทางตอนใต้ ในขณะที่ข้าวสาลีมีประวัติสืบไปถึง 2,000 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีแหล่งกำเนิดจากเอเชียตะวันตก โดยทั่วไปแล้วธัญพืชเหล่านี้จะเสิร์ฟในรูปแบบซุปพร้อมบะหมี่ แทนการอบเป็นขนมปังเหมือนในทวีปยุโรป การล่าสัตว์เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในหมู่ขุนนาง และการบริโภคเนื้อสัตว์ เช่น แกะ หมู หรือแม้กระทั่งสุนัขมีประวัติยาวนานเนื่องจากสัตว์เหล่านี้ถูกเลี้ยงตั้งแต่สมัยโบราณ

ในอดีตกาล ชาวจีนมีการกักตุนเมล็ดข้าวจำนวนมากเพื่อบริโภคในภาวะอุทกภัย และบรรเทาความอดอยากจากภัยธรรมชาติ เนื้อสัตว์ถูกเก็บรักษาด้วยเกลือ น้ำส้มสายชู การบ่ม และการหมัก รสชาติของเนื้อสัตว์ได้รับการปรุงให้ดีขึ้นโดยใช้ไขมันสัตว์ แม้ว่าวิถีปฏิบัตินี้จะจำกัดไว้เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น[5] ศาสตร์การปรุงอาหารของชาวจีนได้กลายเป็นศิลปะขั้นสูงในสมัยขงจื้อปลายสมัยราชวงศ์โจว ขงจื๊อกล่าวถึงหลักปฏิบัติในการรับประทานอาหารว่า "ข้าวจะต้องไม่กลายเป็นสีขาวจนเกินไป เนื้อสัตว์จะต้องไม่ถูกสับละเอียดเกินไป... เมื่อหุงไม่ถูกหลัก คนก็ไม่กิน เมื่อเนื้อสัตว์ไม่สุก คนก็ไม่กิน เมื่อตัดเนื้อไม่ถูกวิธี คนก็ไม่กิน เมื่ออาหารไม่ได้ปรุงด้วยซอสและเครื่องปรุงอย่างถูกต้อง คนก็ไม่กิน...แม้จะมีเนื้อสัตว์มากมาย แต่ก็ไม่ควรปรุงมากกว่าอาหารหลัก และไม่มีการจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จนกว่าผู้ชายจะเมา"

ตำนานโบราณอย่างลฺหวี่ชื่อชุนชิว ยังระบุว่า "เฉพาะผู้ที่ได้รับเลือกในฐานะบุตรแห่งสวรรค์เท่านั้น จึงจะเตรียมอาหารที่อร่อยที่สุด [สำหรับเขา] ได้"[6] ในรัชสมัยของปฐมกษัตริย์อย่างจิ๋นซีฮ่องเต้ มีการขยายอาณาเขตจักรวรรดิแผ่ไพศาลไปทางทิศใต้ เมื่อถึงสมัยราชวงศ์ฮั่น ภูมิภาคและอาหารต่าง ๆ ของชาวจีนมีการเชื่อมโยงกันด้วยคลองสายหลัก และนำไปสู่ความซับซ้อนมากขึ้นในการประกอบอาหารประจำภูมิภาคต่าง ๆ ในยุคนั้น อาหารไม่ได้ถูกมองเป็นแหล่งให้พลังงาน (Qi) เท่านั้น แต่การบริโภคอาหารยังสอดคล้องกับหลักหยิน-หยาง[7] ปรัชญาการประกอบอาหารมีรากฐานมาจากอี้จิง และแพทย์แผนจีน คุณภาพของอาหารจะถูกพิจารณาจาก สี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส และอาหารที่ดีควรมีความสมดุลอย่างลงตัวระหว่างอุณภูมิทั้งสี่ (ร้อน อุ่น เย็น และเย็นจัด) และรสชาติทั้งห้า (เผ็ด หวาน เปรี้ยว ขม และเค็ม) เกลือถูกใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการถนอมอาหารตั้งแต่สมัยแรก ๆ แต่ในการปรุงอาหารกลับเติมในรูปของซีอิ๊ว[8]

ภายหลังสมัยราชวงศ์ฮั่น (ประมาณศตวรรษที่ 2) กวีจำนวนมากพรรณาลักษณะและพฤติกรรมของขุนนางที่เกียจคร้าน โดยไม่ทำสิ่งใดตลอดวันนอกจากทานเนื้อรมควันและอาหารย่าง ชาวจีนได้พัฒนาวิธีการถนอมอาหารเพื่อใช้ในยามสงคราม เช่น การตากเนื้อแดดเดียว การปรุง การคั่ว และการตากเมล็ดพืช แป้งทอดซึ่งเป็นขนมปังแผ่นแบนย่างถูกนำกลับมาจาก Xiyu (ภูมิภาคตะวันตกซึ่งเป็นชื่อของเอเชียกลาง) โดยแบน เชา เชื่อกันว่าเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากเปอร์เซีย และพีตา[9][10][11] ชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาขายเค้กซึ่งโรยด้วยงาในประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถัง[12]

ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ กลุ่มคนเร่ร่อนอย่างเซียนเปย์ในราชวงศ์เว่ย์เหนือ นำอาหารท้องถิ่นของพวกเขาไปยังเผยแพร่ทางตอนเหนือของประเทศจีน และอิทธิพลเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปจนถึงสมัยราชวงศ์ถัง รวมถึงเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อแกะ และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมแพะ โยเกิร์ต และเหล้านมม้าในหมู่ชาวฮั่นด้วย และในช่วงสมับราชวงศ์ซ่งนั้นเองที่ชาวจีนฮั่นเริ่มละทิ้งผลิตภัณฑ์จากนมที่แนะนำไปก่อนหน้านี้ หวัง ซู กบฏชาวจีนฮั่น ซึ่งได้รับการลี้ภัยในภูมิภาคตอนเหนือ ในช่วงแรกทนไม่ได้กับการทานผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมแพะ และเนื้อ เช่น เนื้อแกะ และต้องทานชาและปลาแทน แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีเขาก็สามารถทานโยเกิร์ตและเนื้อแกะได้ และจักรพรรดิเซียนเปยก็ถามเขาว่าอาหารจานไหนของจีน (จงกั๋ว) ที่ถูกปากที่สุด คำตอบที่ได้คือ ปลา, แกะ, ชา และ โยเกิร์ต[13][14][15]

ยุคหลังราชวงศ์ถัง

ปลานึ่งซีอิ๊ว เสริ์ฟพร้อมขิงหั่นแบบบางและต้นหอมวางด้านบน

การอพยพครั้งใหญ่ของชาวจีนทางใต้ในช่วงการรุกรานก่อนและระหว่างราชวงศ์ซ่ง ทำให้อาหารหลักทางตอนใต้ของจีนมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนมากขึ้น เช่น ข้าวและโจ๊ก และเป็นยุคที่เมนูขึ้นชื่ออย่างหมูตงพัว (หมูสามชั้นตุ๋น) ถือกำเนิดขึ้น[16] พฤติกรรมการบริโภคอาหารและการประกอบอาหารก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงเวลานี้ โดยส่วนผสมหลายอย่าง เช่น ซีอิ๊ว และอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากเอเชียกลางเริ่มแพร่หลาย รวมถึงการสร้างตำราอาหารที่สำคัญ เช่น Shanjia Qinggong (อักษรจีนตัวเต็ม: 山家清供; พินอิน: Shānjiā qīnggòng) และ Wushi Zhongkuilu (อักษรจีนตัวเต็ม: 吳氏中饋錄; พินอิน: Wúshì zhōngkuìlù) รวบรวมสูตรลับของเมนูท้องถิ่นที่ขึ้นชื่อในยุคนั้น[17]

ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์ชิงได้นำเสนออาหารมองโกเลียและแมนจู ซึ่งเป็นอาหารทางเหนือที่เสริ์ฟแบบอุ่น และเป็นที่นิยมในการปรุงอาหารหม้อไฟ ในช่วงราชวงศ์หยวน ชุมชนมุสลิมจำนวนมากได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศจีน โดยปรุงอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของเนื้อหมู ซึ่งปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์โดยร้านอาหาร Hui ทั่วประเทศ โยเกิร์ตอาจมีที่มาจากการผสมผสานระหว่างอิทธิพลของมองโกเลียในสมัยราชวงศ์หยวน การตั้งถิ่นฐานของเอเชียกลางในยูนนาน และ ความใกล้ชิดและอิทธิพลของอินเดียและทิเบตที่มีต่อยูนนาน

ในช่วงสุดท้ายของการแลกเปลี่ยนการค้าโคลอมเบีย ผู้ค้าชาวสเปนและโปรตุเกสได้เริ่มแนะนำอาหารจากโลกใหม่ไปยังประเทศจีนผ่านทางเมืองท่ากว่างโจวและมาเก๊า พริกเม็กซิกันกลายเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารเสฉวน ส่วนมันฝรั่งและข้าวโพดที่ให้พลังงานสูงก็กลายเป็นอาหารหลักทั่วไปในที่ราบทางตอนเหนือ ในสมัยราชวงศ์ชิง นักชิมอาหารของจีน เช่น หยวน เหม่ย มุ่งเน้นเป้าหมายหลักในการสกัดรสชาติสูงสุดของส่วนผสมแต่ละชนิด เมื่อวิถีชีวิตของชาวจีนสมัยใหม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาหารจานด่วน เช่น บะหมี่ผัด ข้าวผัด และอาหารต้นทุนต่ำอย่างไกฟาน หรือ ไกเจียวฟาน (อาหารที่ปรุงอย่างง่ายด้วยเนื้อสัตว์ ปลา หรือผักราดบนข้าว) ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

วัตถุดิบหลัก

อาหารหลักในประเทศจีน ได้แก่ ข้าว ขนมปัง และบะหมี่หลากหลายชนิด

บรรพบุรุษชาวจีนประสบความสำเร็จในการปลูกข้าวฟ่าง ข้าว และธัญพืชอื่น ๆ เมื่อประมาณ 8,000 ถึง 9,000 ปีมาแล้ว[18] ข้าวสาลีซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักอีกชนิดหนึ่งต้องใช้เวลาอีกสามถึงสี่พันปี นับเป็นครั้งแรกที่ธัญพืชมีบทบาทสำคัญในการเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหาร และเนื่องจากขาดความหลากหลายของวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ชาวจีนจึงต้องปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมการบริโภคแบบใหม่ เนื้อสัตว์นั้นหายากในหลายภูมิภาค ผู้คนจึงปรุงอาหารโดยใช้เนื้อสัตว์ ข้าว หรือเส้นก๋วยเตี๋ยวในปริมาณเพียงเล็กน้อย[19]

ข้าว

ข้าวถูกปลูกบริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีทางตอนใต้ของจีนเมื่อประมาณ 9,000 ปีที่แล้ว และเป็นอาหารหลักสำหรับผู้คนจากพื้นที่ปลูกข้าวทางตอนใต้ของจีน ข้าวสวยซึ่งโดยมากเป็นข้าวขาวกลายเป็นส่วนประกอบหลักของมื้ออาหาร โดยผู้คนบริเวณตอนใต้ยังนิยมนำข้าวสวยมาทำเป็นโจ๊กเพื่อเป็นอาหารเช้า[20] ข้าวยังถูกใช้ในการผลิตเบียร์และน้ำส้มสายชู ในขณะที่ข้าวเหนียวถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของอาหารจานพิเศษ เช่น ข้าวใบบัว และข้าวเหนียวปั้น

ข้าวสาลี

ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวสาลีทางตอนเหนือของจีน ผู้คนส่วนใหญ่พึ่งพาอาหารที่ทำจากแป้ง เช่น บะหมี่ ปิง (ขนมปัง) เกี๊ยวซ่า และหมั่นโถว (ซาลาเปาชนิดหนึ่ง) สันนิษฐานว่าข้าวสาลีน่าจะ "ปรากฏขึ้นในแม่น้ำหวงตอนล่างประมาณ 2600 ปีก่อนคริสตศักราช ตามมาด้วยมณฑลกานซูและซินเจียงประมาณ 1900 ก่อนคริสตศักราช และสุดท้ายก็ถือกำเนิดขึ้นที่แม่น้ำเหลืองตอนกลางและภูมิภาคทิเบตเมื่อ 1600 ก่อนคริสตศักราช"[21]

ก๋วยเตี๋ยว

บะหมี่ถือกำเนิดในประเทศจีนเมื่อกว่า 4,000 ปีที่แล้ว และได้แพร่กระจายไปทั่วโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เส้นหมี่ของจีนมีทั้งแบบแห้งหรือแบบสด และความหลากหลายทั้งขนาด รูปร่าง และเนื้อสัมผัส และมักเสิร์ฟในรูปแบบซุปหรือทอด เส้นบางชนิด เช่น ฉางโชวเมี่ยน (寿 แปลว่า มีอายุยืนยาว) เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว และสุขภาพที่ดีตามประเพณีชาวจีน เส้นก๋วยเตี๋ยวสามารถเสิร์ฟแบบร้อนหรือเย็นก็ได้ มักมาพร้อมกับท็อปปิ้งต่าง ๆ และน้ำซุป และบางครั้งก็ทานแบบแห้งได้เช่นกัน (เช่นในกรณีของ เหม่ยฟัน หรือหมี่ผัดแห้งไต้หวัน) โดยทั่วไปบะหมี่จะทำจากแป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลี แต่แป้งอื่น ๆ เช่น ถั่วเหลือง ก็ใช้ในบางกรณีเช่นกัน ชื่อของบะหมี่บางชื่อยังสื่อถึงกรรมวิธีในการทำ เช่น ลาเมียน (拉麵;) หมายถึง เส้นบะหมี่ดึงมือ[22]

ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง

เต้าหู้ทำจากถั่วเหลืองและเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่ให้โปรตีน กระบวนการผลิตเต้าหู้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศจีน ส่งผลให้ได้เต้าหู้ชนิดต่าง ๆ ที่มีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่หลากหลาย[23] ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว น้ำมันถั่วเหลือง และซีอิ๊วหมัก ก็มีความสำคัญต่อการปรุงอาหารจีนเช่นกัน มีผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองหลายชนิด เช่น เต้าหู้รมควัน เต้าหู้แห้ง และเต้าหู้ทอด

เต้าหู้เหม็นคือเต้าหู้หมัก มีกลิ่นแรงเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับบลูชีสหรือทุเรียน เต้าหู้เหม็นที่แข็งมักจะทอดและทานคู่กับซีอิ๊วหรือเครื่องเทศรสเค็ม เต้าหู้เหม็นแบบนุ่มมักจะถูกวางบนซาลาเปา

เต้าหู้ยี้ ได้จากการหมักเต้าหู้กับเกลือและเครื่องปรุงแต่งรสต่าง ๆ และผ่านกรรมวิธีทุติยภูมิด้วยเชื้อรา ผลิตในจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน รีวกีว และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เป็นเครื่องปรุงรสทั่วไปในอาหารเอเชียตะวันออก และมีรสชาติคล้ายกับมิโซะของญี่ปุ่นแต่มีความเค็มน้อยกว่า สามารถใช้ทานคู่กับขนมปังนึ่งหรือคู่กับโจ๊กได้ ในขณะที่นมถั่วเหลืองเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มเป็นอาหารเช้า และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ[24]

ผัก

นอกเหนือจากผักที่สามารถพบได้ทั่วไปแล้ว ผักที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบางชนิดที่ใช้ในอาหารจีน ได้แก่ ข้าวโพดอ่อน, กวางตุ้ง ถั่วลันเตา มะเขือม่วง บรอกโคลีจีน และเห็ดฟาง ผักอื่น ๆ เช่น ถั่วงอก ปลายเถาถั่ว แพงพวย รากบัว เกาลัด แห้ว และหน่อไม้ ก็ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารต่าง ๆ ของจีนเช่นกัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศและสภาพดินที่แตกต่างกันเราจึงสามารถพบพันธุ์ถั่วเขียว ถั่วลันเตา และเห็ดได้หลากหลายพันธุ์ ผักแห้งหรือผักดองหลากหลายชนิดยังได้รับการปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แห้งหรือเย็นกว่า

เนื้อสัตว์

พ่อครัวในเฉวียนจวี้เต๋อขณะเตรียมเป็ดปักกิ่ง

เนื้อหมูได้รับความนิยมมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึงสามในสี่ของการบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วประเทศ เนื้อหมูนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายในอาหารจีน เช่น ต้ม นึ่ง หมัก ทอด อบ ตุ๋น และอีกมากมาย เมนูที่ได้รับความนิยมและมักปรากฏในร้านอาหารทุกแห่งคือ หมูแดง หมูกรอบ และหมูหันมักเสริ์ฟพร้อมผักกวางตุ้ง อาหารทะเลได้รับความนิยมในบางจังหวัดและพื้นที่ เป็ดและไก่ได้รับความนิยมในทุกภูมิภาค เมนูขึ้นชื่อ เช่น เป็ดปักกิ่ง ไก่อบเหล้าจีน ไก่ทอดเหล้าแดง ไก่ผัดพริกแห้งเสฉวน และเนื้อวัวได้รับความนิยมสูงเช่นกัน จากข้อมูลในปี 2024 ระบุว่าประเทศจีนเป็นตลาดการบริโภคเนื้อวัวขนาดใหญ่อันดับสองของโลก เมนูขึ้นชื่อ เช่น เนื้อวัวตุ๋นมันฝรั่ง[25] ร้านสเต็กและร้านหม้อไฟซึ่งใช้เนื้อวัวเป็นวัตถุดิบหลักได้รับความนิยมสูงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว ชาวจีนให้ความสำคัญกับการเชือดวัวแบบสด ๆ เพื่อนำเนื้อมาประกอบอาหาร

สมุนไพรและเครื่องปรุงรส

เครื่องปรุงรส เช่น รากขิงสด, กระเทียม, ต้นหอม, ผักชี และงา ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในอาหารประจำภูมิภาคหลายชนิด พริกไทยเสฉวน, โป๊ยกั้ก, อบเชย, ยี่หร่า, กานพลู, พริกไทยขาว และวัชพืชยังใช้ในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติพิเศษให้กับอาหาร อาหารจีนจำนวนมากยังประกอบด้วยเห็ดจีนแห้ง กุ้งแห้ง เปลือกส้มเขียวหวานแห้ง และพริกเสฉวนแห้ง หากกล่าวถึงซอส จีนเป็นแหล่งที่กำเนิดของซีอิ๊วซึ่งทำจากถั่วเหลืองหมักและข้าวสาลี ซอสปรุงรสหลายชนิดยังใช้ถั่วเหลืองหมักเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น ซอสฮอยซินม ซอสถั่วบด และซอสถั่วเหลือง นอกจากนี้ยังมีซอสต่าง ๆ ที่นิยมใช้กันในอาหารประจำภูมิภาค เช่น ซอสหอยนางรม, น้ำปลา และฟุรุ (เต้าหู้หมัก) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย น้ำส้มสายชูยังมีความหลากหลายและรสชาติที่แตกต่างกัน เช่น น้ำส้มสายชูข้าวใส น้ำส้มสายชูข้าวดำ, น้ำส้มสายชูชานซี เป็นต้น

อาหารจานเย็น

หูหมูตุ๋นปรุงแบบพะโล้ มักเสริ์ฟแบบเย็น
เต้าหู้และไข่เยี่ยวม้าเสริ์ฟแบบเย็น ทานเป็นอาหารเรียกน้ำย่อย

ในประเทศจีน อาหารเย็น (อาหารที่เสริ์ฟโดยเลี่ยงการใช้อุณหภูมิสูง) มักถูกเสริ์ฟก่อนอาหารจานหลัก บางครั้งอาจเรียกว่าเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยของอาหารจีน นอกเหนือจากสลัดและของดองแล้ว อาหารจานเย็นอื่น ๆ เช่น เยลลี่, เต้าหู้, สลัดบะหมี่, เนื้อปรุงสุก และไส้กรอก ไปจนถึงแมงกะพรุนหรือซุปเย็น

ไส้กรอกจีนได้รับความนิยมเช่นกัน มีรูปแบบแตกต่างกันตามภูมิภาค ไส้กรอกที่พบมากที่สุดทำจากเนื้อหมูและมันหมู รสชาติโดยทั่วไปจะออกเค็มและหวาน นิยมทานในภูมิภาคตอนใต้ ในขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ของจีน ไส้กรอกจะถูกถนอมไว้ด้วยเกลือ นอกจากนี้ กุนเชียงยังเป็นส่วนผสมหลักในบางเมนู สามารถเตรียมได้หลายวิธี เช่น การอบ การผัด และการนึ่งก็ได้

ซุป

ในบางส่วนของภูมิภาคจีนตอนใต้ ซุปจะถูกเสิร์ฟในระหว่างอาหารจานเย็น และอาหารจานหลัก ในส่วนอื่น ๆ ของประเทศจะเสิร์ฟระหว่างอาหารจานหลัก และอาหารหลักเท่านั้น หรือก่อนการทานของหวานหรือสลัด และผลไม้ มีซุปจีนโบราณมากมาย เช่น ซุปเกี๊ยว ซุปไก่สมุนไพร ซุปร้อน ซุปเปรี้ยว ซุปแตงฤดูหนาว เป็นต้น[26]

ของหวานและขนม

โดยทั่วไปแล้ว ผลไม้ตามฤดูกาลถือเป็นรูปแบบของหวานที่นิยมบริโภคหลังอาหารเย็นมากที่สุด[27] ติ่มซำ แต่เดิมนั้นหมายถึงอาหารชิ้นเล็ก ๆ รวมถึง ของหวาน หรือขนมอบ แต่ในเวลาต่อมามีการใช้คำว่า Tian Dian (甜点) และ Gao Dian (糕点) เพื่อสื่อของหวานและขนมอบเพื่อแก้ความกำกวม โดยปกติ ขนมของชาวจีนมักมีรสหวานและเสิร์ฟพร้อมกับชา[28] หรือทานหลังมื้ออาหาร[29] ขนมอบได้รับความนิยมหลายศตวรรษ โดยนอกจากจะเสิร์ฟเป็นติ่มซำทานพร้อมกับชาแล้ว ยังมีการใช้ขนมอบเพื่อเฉลิมฉลองเทศกาลตามประเพณีอีกด้วย ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือขนมไหว้พระจันทร์[30]

ขนมของจีนมีให้เลือกหลากหลายชนิด มักได้จากกรรมวิธีนึ่งหรือต้ม Bing (餠) เป็นคำที่ใช้เรียกขนมปังทุกชนิดในภาษาจีน รวมถึงขนมอบและขนมหวานด้วย เหล่านี้ล้วนเป็นขนมที่ทำจากแป้งสาลีอบ โดยมีไส้ต่าง ๆ เช่น ถั่วแดงบด พุทรา และอื่น ๆ ซู (酥) เป็นขนมอีกประเภทหนึ่งที่ทำจากน้ำมันในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ขนมมีความกรอบมากขึ้น ลูกอมและขนมหวานของจีนเรียกว่า táng (糖) มักทำด้วยน้ำตาลอ้อย น้ำตาลมอลต์ น้ำผึ้ง ถั่ว และผลไม้

ของหวานประเภทอื่น เช่น เป้าปิง ได้รับความนิยมสูงทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวัน เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในฤดูร้อนเนื่องจากราคาถูก มีลักษณะเป็นน้ำแข็งใสราดน้ำเชื่อม ขนมเยลลี่หลายชนิดมักปรุงด้วยวุ้นและปรุงรสด้วยผลไม้ เรียกว่า กัวตง (果冻) แม้ว่าเยลลี่ที่ทำจากเจลาตินก็พบได้ทั่วไปในของหวานร่วมสมัยเช่นกัน ขนมหวานในรูปแบบซุปมักเสริ์ฟแบบร้อน

ขนมอบซึ่งได้รับอิทธิพลจากตะวันมีให้เห็นทั่วไป เช่น มีลเฟย, แครมบรูว์เล และชีสเค้ก แต่ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าขนมหวานแท้ ๆ ของจีน เนื่องจากขนมของจีนจะมีความหวานและน้ำตาลน้อยกว่า ในขณะที่อาหารข้างถนนหลายชนิดสามารถทานเป็นของหวาน อาหารว่าง หรืออาหารเบาได้ ข้าวเกรียบกุ้ง พบเห็นได้ทั่วไปและเป็นที่นิยมในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้

ประเภท

ติ่มซำ อาหารจีนที่รู้จักกันดี
ล่าจื่อจี อาหารประเภทผัดซึ่งประกอบด้วยเนื้อไก่หมักแล้วทอด พริกแห้งเสฉวน โต้วป้านเจี้ยง เป็นอาหารประจำมณฑลเสฉวน

อาหารจีนจะมีอุปกรณ์การทำหลักๆเพียงสี่อย่างคือ มีด เขียง กระทะก้นกลม และตะหลิว[31] สมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว ได้เริ่มมีการแบ่งอาหารจีนเป็น 2 ตระกูลใหญ่ คือ อาหารเมืองเหนือ และอาหารเมืองใต้ กระทั่งต้นราชวงศ์ชิง ได้มีการแบ่งอาหารเป็น 4 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ [32]

และปัจจุบันมี 8 ตระกูลใหญ่ โดยเพิ่ม

และบางแหล่งก็แบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามมณฑลต่าง ๆ ได้อีกเช่น [33] [34]

  • อาหารเสฉวน เป็นอาหารจีนที่ใช้เครื่องเทศและของป่ามาก เครื่องปรุงที่เป็นเอกลักษณ์คือพริกหอมหรือพริกเสฉวน เป็นอาหารรสจัดรวมทั้งรสเผ็ดร้อน ใช้เต้าซี่เป็นเครื่องปรุงมีเครื่องเทศมาก อาหารที่มีชื่อเสียงคือซุปเสฉวน
  • อาหารกวางตุ้ง เป็นอาหารจีนที่เด่นด้านการใช้เทคนิคการปรุงเพื่อคงความสดใหม่ของอาหารมากที่สุดมักใช้น้ำมันหอยและผักมาก ปรุงเน้นการปรุงอาหารได้ดูสด รสชาตินุ่มนวล และมีอาหารประเภทติ่มซำที่เป็นรู้จักกันดี อาหารที่มีชื่อเสียง ได้แก่ หมูหัน เป็ดย่างและนกพิราบทอดกรอบ
  • อาหารฮกเกี้ยน เป็นอาหารจีนที่เด่นด้านการใช้น้ำซุป มักใช้ข้าวหมักสีแดงสด โดยที่นำมาหมักเต้าหู้ยี้สีแดงมีน้ำซุปใสที่เก่าที่สุดและใช้เครื่องปรุงบางอย่างจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นน้ำปลาและผงกะหรี่ อาหารทีมีชื่อเสียงคือพระกระโดดกำแพง
  • อาหารไหหลำ อาหารส่วนใหญ่มีเต้าเจี้ยวถั่วเหลืองและถั่วดำ เป็นเอกลักษณ์พิเศษ และใช้น้ำส้มปรุงรสได้ โดยทั่วไปจะมีชนิดอาหารคล้ายอาหารจีนแบบอื่นๆ แต่จะมีรสชาติและหน้าตาที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น ขนมไหว้พระจันทร์แบบไหหลำจะมีไส้น้อยกว่าแบบอื่น และบ๊ะจ่างแบบไหหลำก็จะเน้นข้าวเหนียวมากกว่าแบบอื่น อาหารที่มีชื่อเสียงคือ ขนมจีนไหหลำ
  • อาหารปักกิ่ง เน้นการทอดที่กรอบและนิ่มนวล แต่อาหารไขมันค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะภูมิอากาศที่หนาวเย็น
  • อาหารซัวเถา เน้นในการตุ๋นและเคี่ยวเปื่อย รสชาติของอาหารที่เปื่อยนุ่มจนแทบละลายเมื่อถูกลิ้น
  • อาหารชานตง เป็นอาหารจีนที่มีความโดดเด่นในด้านเป็นอาหารในราชสำนัก และได้รวมอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชาวแมนจูและชาวมองโกลเข้าไว้ด้วย เช่น เป็ดปักกิ่งและหม้อไฟมองโกเลีย
  • อาหารเซี่ยงไฮ้ เป็นอาหารจีนที่ได้รับอิทธิพลอาหารตะวันตกมาก เพราะเป็นเมืองท่าเมืองเดียวของจีนในสมัยที่เริ่มติดต่อกับชาติตะวันตก อาหารที่มีชื่อเสียงเช่น เป็ดอัดแห้ง และอาหารที่ปรุงจากปูขน
  • อาหารจีนแต้จิ๋ว มีลักษณะคล้ายอาหารจีนกวางตุ้ง แต่เน้นอาหารทะเลมากกว่า
  • อาหารจีนแคะ เป็นอาหารที่เน้นข้าว เนื้อสัตว์ ผักดองและผักตากแห้ง อาหารที่มีชื่อเสียงคือลูกชิ้นหมูแคะและผักดำต้มหมูสามชั้น

เครื่องดื่ม

ชาหลงจิ่ง หนึ่งในชาที่เป็นที่รู้จักมากที่สุด มีต้นกำเนิดในหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ซึ่งผลิตด้วยมือเป็นส่วนใหญ่ และมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพสูง จนได้รับสมญานามเป็นชาชื่อดังแห่งประเทศจีน

ชามีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของจีน ในประเทศจีนมีชาอยู่สองประเภทหลัก ประเภทหนึ่งคือชาที่ทำจากใบชาแห้ง และอีกประเภทหนึ่งได้จากสารสกัดจากใบชา เหล้าจีนอย่างเหมาไถ (ไป๋จิ่ว) และ ฮวงจิ่ว เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นเป็นที่ชื่นชอบเช่นกัน ในขณะที่ไวน์ไม่ได้รับความนิยมเท่ากับเครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ แม้ว่าโดยปกติจะมีอยู่ในเมนูทั่วไปก็ตาม

เหล้าจีนเหมาไถ (ไป๋จิ่ว)

ชาวจีนจำนวนมากดื่มชาพร้อมกับของว่างเช่นเดียวกับติ่มซำ เช่น ถั่ว พลัม ผลไม้แห้ง (โดยเฉพาะพุทรา) ขนมหวานชิ้นเล็ก เมล็ดแตงโม และเบอร์รี่ จีนเป็นประเทศแรกของโลกซึ่งเป็นผู้นำในการปลูกและดื่มชาซึ่งผู้คนจากทุกชนชั้นทางสังคมชื่นชอบ การแปรรูปชาเริ่มขึ้นภายหลังยุคราชวงศ์ฉินและฮั่น[35] ชาจีนประเภทต่าง ๆ ได้แก่ ชาดำ ชาขาว ชาเขียว ชาเหลือง ชาอู่หลง และชาดำ ชาจีนมักถูกแบ่งออกเป็นหลายประเภทตามความหลากหลายของต้นชาที่เป็นแหล่งที่มา ภูมิภาคที่ปลูก และวิธีการผลิต มีพื้นที่ปลูกชาหลักๆ อยู่ 4 ภูมิภาค ได้แก่ เขตเจียงเป่ย, เจียงหนาน, มณฑลหัวหนาน และภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ประเภทของชาเขียวที่มีชื่อเสียง เช่น ชาหลงจิ่ง และชาปี่โหลวซุน

ฮวงจิ่ว ไวน์ข้า่วชนิดหนึ่งซึ่งได้รับความนิยมสูงในประเทศจีน

ไปจิ่วหรือสุราขาว เป็นที่นิยมสูงมากโดยคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 99.5% ของตลาดเครื่องดิ่มแอลกอฮอล์ในประเทศ ทำให้เป็นสุราที่มีการบริโภคมากที่สุดในโลก (ความเข้มข้นสูงถึง 60%) มีประวัติย้อนกลับไปถึงการกลั่นในสมัยราชวงศ์ซ่งซึ่งอาจทำจากข้าวสาลี ข้าวโพด หรือข้าว ยี่ห้อที่แพร่หลายที่สุดคือ Erguotou ในขณะที่ไวน์อย่างฮวงจิ่วมีความเข้มขนน้อยกว่าที่ 10–15% แม้ว่าเครื่องดื่มธัญพืชหมักจะมีการผลิตในประเทศจีนมานานกว่า 9,000 ปีแล้ว แต่ความนิยมก็ถูกบดบังด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เข้มข้นกว่าเหล้าจีน และไวนน์ที่กล่าวไปข้างต้น[36]

นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมวอลนัท และกะทิยังถูกดื่มระหว่างมื้ออาหารในภูมิภาคต่างๆ ในบางส่วนของประเทศจีน ในขณะที่น้ำส้มสายชูผสมผลไม้ถูกดื่มเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยในมณฑลชานซี

แนวปฏิบัติ และมารยาทบนโต๊ะอาหาร

ขนมไหว้พระจันทร์ ทำขึ้นเพื่อใช้ในเทศกาลกลางฤดูใบไม้ร่วง หรือเทศกาลไหว้พระจันทร์ (中秋節)

โดยปกติแล้วเด็กไม่ควรตักอาหารหรือทานก่อนผู้ใหญ่ เมื่อรับประทานข้าวในชามไม่ควรถือชามข้าวโดยใช้มือประคองด้านล่างชามหรือถ้วย เพราะมีลักษณะคล้ายขอทาน ตะเกียบเป็นอุปกรณ์หลักในการรับประทานอาหารของชาวจีนซึ่งสามารถใช้หั่น ตัด และหยิบอาหารได้[37] และไม่ควรวางตะเกียบในลักษณะทิ่มลงในข้าวขณะพักการทานอาหาร เนื่องจากคล้ายกับแนวปฏิบัติในพิธีศพซึ่งเกี่ยวข้องกับการใส่ตะเกียบในชามข้าวในแนวตั้เพื่อเคารพศพ

แม้ว่ามีดจะเป็นอุปกรณ์หลักในการปรุงอาหารจีน แต่การใช้มีดบนโต๊ะอาหารถือว่าไม่เหมาะสม[38] ขณะรับประทานอาหาร ไม่ควรโบกตะเกียบไปมา และควรหยิบหรือตักอาหารที่อยู่ตรงหน้าก่อนเสมอ การจ้องอาหารในจานนาน ๆ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่สุภาพ การชมโทรทัศน์ การใช้โทรศัพท์ หรือการทำกิจกรรมอื่น ๆ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากชาวจีนถือธรรมเนียมปฏิบัติว่าการร่วมโต๊ะอาหารเป็นกิจกรรมของครอบครัว และแสดงถึงมิตรภาพและความจริงใจ หากผู้ที่สูงวัยกว่าตักอาหารให้ผู้ที่อายุน้อยกว่า ผู้นั้นควรกล่าวขอบคุณทุกครั้ง[39]

วัฒนธรรมจีนเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดช่วงเวลาในการรับประทานอาหารของคนจีน โดยทั่วไปแล้ว ชาวจีนจะทานอาหารสามมื้อต่อวัน เช่นเดียวกับประเทศส่วนใหญ่ ได้แก่ อาหารเช้า อาหารกลางวัน และอาหารค่ำ อาหารเช้าจะทานตั้งแต่หกถึงเก้านาฬิกา, ตามด้วยอาหารกลางวันตั้งแต่เที่ยงถึงบ่ายสองโมง ในขณะที่ช่วงเวลาตั้งแต่หกโมงเย็นถึงสามทุ่มเป็นเวลาของอาหารค่ำ[40] การรับประทานมื้อที่สี่หรือมื้อดึกที่เรียกว่า Siu yeh เริ่มตั้งแต่หลังสามทุ่มเป็นต้นไปจนถึงสี่นาฬิกา ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดชาติตะวันตกในการทานอาหารมื้อค่ำ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมและช่วงเวลาในการทานอาหารในแต่ละครอบครัวอาจแตกต่างกันตามภูมิภาคและวิถีชีวิต เช่น ศาสนา ประเพณี ในบางครอบครัว ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กที่อายุน้อยที่สุดในบ้านจะได้รับอาหารก่อน จึงจะตามด้วยพ่อแม่ และเด็กโต นอกจากนี้ บางครอบครัวอาจถือธรรมเนียมปฏิบัติให้ชายและหญิงนั่งทานอาหารแยกกันในที่นั่งที่จัดไว้ต่างกัน[41] แนวปฏิบัติเหล่านี้มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเคารพต่อครอบครัวและผู้ร่วมโต๊ะ

ความเกี่ยวข้องกับปรัชญาและศาสนา

อาหารมีบทบาทสำคัญต่อวิถีชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของชาวจีนหลายสหัสวรรษ ในศาสนาชาวบ้านจีนอาหารถูกใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการบูชาบรรพบุรุษหรือผู้ล่วงลับ และเทศกาลของจีนเกี่ยวข้องกับการบริโภคและการเตรียมอาหารเฉพาะที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ติดอยู่ ศาสนาเฉพาะในประเทศจีนมีอาหารเป็นของตนเอง เช่น อาหารลัทธิเต๋า อาหารพุทธ และอาหารอิสลามของจีน

ชาวยิวไคเฟิงซึ่งตั้งรกรากในมณฑลเหอหนานเคยมีเอกลักษณ์การปรุงอาหารจีนแบบยิวของตนเอง แต่ชุมชนดังกล่าวแทบจะสูญพันธุ์ไปในปัจจุบัน และไม่ค่อยมีใครทราบถึงลักษณะเฉพาะของอาหารของพวกเขามากนัก แต่พวกเขามีอิทธิพลต่ออาหารที่รับประทานในภูมิภาคของตน และบางจานก็ยังคงอยู่ อาหารจีนที่มีรากฐานมาจากยิวไคเฟิง ได้แก่ ไคเฟิงเสี่ยวหลงเปา, ไก่มายูซิง, หม้อไฟดอกเบญจมาศ และสมบัติสี่ประการ[42]

วิธีการจัดเตรียมอาหารยังบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และประเภทของอาหารสามารถบ่งบอกถึงสถานะทางสังคมและประเทศต้นกำเนิดของพวกเขาได้ ในบริบททางการ จะมีการเสิร์ฟอาหารจานร้อนและจานเย็นรวมกันไม่เกิน 16 รายการเพื่อแสดงความเคารพแขกในงาน ในทางกลับกัน ในบรรยากาศสบาย ๆ ผู้คนจะรับประทานอาหารราคาไม่แพง เช่น แผงขายอาหาร หรืออาหารง่าย ๆ ที่ทำเองที่บ้าน ความแตกต่างโดยทั่วไปของอาหารในสังคมชาวจีนระหว่างคนรวย และทุกคนที่ฐานะรองลงมาอยู่ที่ความหายาก และราคาของอาหารหรือส่วนผสม เช่น หูฉลาม และอุ้งเท้าหมี เป็นต้น

ชาวจีนสามารถเลือกรับประทานข้าวหรืออาหารที่ทำจากแป้งสาลีอื่น ๆ เช่น ขนมปังหรือบะหมี่เป็นแหล่งอาหารหลัก ผู้คนในวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันหรือมีภูมิหลังที่แตกต่างกันสามารถคาดเดาประเทศต้นทางของอีกฝ่ายได้เมื่อต้องทานอาหารร่วมกัน ในภูมิภาคทางใต้หรือทางเหนือของจีน อาหารที่แตกต่างกันสามารถสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แตกต่างกัน ขนมไหว้พระจันทร์ และเกี๊ยวเป็นสัญลักษณ์บอกว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์ และฤดูใบไม้ผลิได้เริ่มขึ้นแล้ว สาลี่เป็นสัญลักษณ์ของความโชคร้ายเนื่องจากการออกเสียงในภาษาจีนว่า "ห่างไกล หรือ การจากลา" และเส้นบะหมี่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการมีชีวิตยืนยาวเนื่องจากความยาวของเส้น

นอกประเทศจีน

จ๋าเจี้ยงเมี่ยน อาหารประเภทบะหมี่ที่มีต้นกำเนิดมาจากมณฑลชานตง ประเทศจีน แพร่หลายไปทั่วประเทศ และไปยังประเทศใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกได้แก่ เกาหลีและญี่ปุ่น ในเวลาต่อมา

อาหารจีนได้แผ่ขยายไปทุกภูมิภาคในโลกจากอิทธิพลทางประวัติศาสตร์ในอดีต ชาวจีนจำนวนมากอพยพไปทุกทวีป และอาหารจีนที่ในต่างประเทศล้วนได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน หากแต่มีการพัฒนาและปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยและสภาพสังคมนั้น ๆ ความแตกต่างกันที่พบในแต่ละประเทศ เช่น วัตถุดิบ และเครื่องปรุงท้องถื่น สิ่งนี้ส่งผลให้จีนมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่ออาหารประจำชาติอื่น ๆ เช่น อาหารกัมพูชา, อาหารฟิลิปปินส์, อาหารสิงคโปร์ รวมถึงอาหารไทย

ไชน่าทาวน์ทั่วโลกมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอาหารประจำชาติของประเทศนั้น ๆ เช่น การนำวัฒนธรรมอาหารข้างถนนมาสู่ประเทศไทยในย่านไชน่าทาวน์ หรือถนนเยาวราชของกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีอาหารผสมผสานหลากหลายรูปแบบซึ่งมักเป็นที่นิยมในประเทศดังกล่าว เช่น ราเม็ง (อาหารจีนญี่ปุ่น) ซึ่งมีต้นกำเนิดในโยโกฮามะ ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ

เนื้อทอดผสมกับซอสเปรี้ยวหวานเป็นสไตล์การทำอาหารได้รับความนิยมอย่างมากนอกประเทศจีน ดังนั้น อาหารจีนนานาชาติที่คล้ายกันหลายรายการจึงถูกคิดค้นโดยใช้ซอสเปรี้ยวหวานเป็นส่วนผสมหลัก ได้แก่ ไก่ผัดเปรี้ยวหวาน (ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ), ไก่แมนจูเรีย (อินเดีย) หรือทังซูยุก (เกาหลีใต้) อาหารที่พัฒนาขึ้นจากชาวจีนโพ้นทะเลยังมีอิทธิพลอย่างมาก อาหารจีนเกาหลีส่วนใหญ่รับอิทธิพลมาจากอาหารซานตง ในขณะที่อาหารจีนฟิลิปปินส์ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอาหารฝูเจี้ยน อาหารจีนแบบอเมริกันมีอาหารที่โดดเด่น (เช่นจับอุย หรือ ช็อพสุย) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากอาหารกวางตุ้งได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันที่ไม่ใช่ชาวจีนมากกว่าชาวอเมริกันเชื้อสายจีนเอง[43][44]

ในประเทศไทย

อาหารจีนมีความผูกพันกับวิถีชีวิตชาวไทยบางกลุ่มมายาวนาน แม้ไม่พบหลักฐานปรากฏแน่ชัดว่าอาหารจีนเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อไร วัฒนธรรมฮั่นแพร่กระจายถึงอุษาคเนย์ราว 2,000 ปีมาแล้ว และอาหารจีนน่าจะเข้ามาในภูมิภาคหลังจากนั้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยและจีนก็มีความผูกพันและติดต่อกันมาอย่างยาวนานนับแต่โบราณกาล โดยสืบย้อนไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้) การค้าขายและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างสองชาติเด่นชัดขึ้นในสมัยสุโขทัย ต่อเนื่องถึงอยุธยาและกรุงธนบุรี นอกจากนี้ อาหารจีนในไทยได้รับอิทธิพลจากการอพยพและตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษชาวจีน รวมถึงชาวจีนโพ้นทะเล เมื่อเวลาผ่านไป อาหารจีนถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยและความนิยมของชาวไทย แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ทางวัตถุดิบ และคุณลักษณะเด่น เช่น กลิ่น สี รสชาติ และเนื้อสัมผัส ชาวจีนอพยพเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง[45]

ย่านเยาราชซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวจีนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในฐานะศูนย์รวมอาหารจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ปัจจุบัน อาหารจีนหาทานได้ทั่วไปในประเทศไทย ตั้งแต่อาหารข้างถนน จนถึงภัตตาคารและโรงแรมระดับสูง

อ้างอิง

  1. Gernet, Jacques (1970). Daily life in China : on the eve of the Mongol invasion, 1250-1276. Internet Archive. Stanford, Calif. : Stanford University Press.
  2. Petrini, Carlo; Watson, Ben; Editore, Slow Food (2001-10-01). Slow Food: Collected Thoughts on Taste, Tradition and the Honest Pleasures of Food (ภาษาอังกฤษ). Chelsea Green Publishing. ISBN 978-1-60358-172-1.
  3. "Four Major Cuisines in China, Chinese Cuisine, Chinese Cooking - CITS". www.cits.net.
  4. Dunlop, Fuchsia (2023). Invitation to a Banquet.
  5. "The Cultural Heritage of China :: Food & Drink :: Cuisine :: Introduction". www.ibiblio.org.
  6. Hollman, Thomas. The Land of the Five Flavors. Columbia University Press.
  7. Roberts, J. A. G. China to Chinatown: Chinese Food in the West. Globalities (ภาษาอังกฤษ). Reaktion Books.
  8. Anderson, E. N. (1988). The food of China (2. [print] ed.). New Haven: Yale Univ. Pr. ISBN 978-0-300-04739-4.
  9. Simoons, Frederick J. (1990-11-12). Food in China: A Cultural and Historical Inquiry (ภาษาอังกฤษ). CRC Press. ISBN 978-0-8493-8804-0.
  10. Free China Review (ภาษาอังกฤษ). W.Y. Tsao. 1995.
  11. Holcombe, Charles (2001-05-01). The Genesis of East Asia, 221 B.C.-A.D. 907 (ภาษาอังกฤษ). University of Hawaii Press. ISBN 978-0-8248-2465-5.
  12. Schafer, Edward H. (1963). The Golden Peaches of Samarkand (ภาษาอังกฤษ). University of California Press.
  13. Pearce, Scott; Spiro, Audrey G.; Ebrey, Patricia Buckley (2001). Culture and Power in the Reconstitution of the Chinese Realm, 200-600 (ภาษาอังกฤษ). Harvard Univ Asia Center. ISBN 978-0-674-00523-5.
  14. Huang, H. T. (2000). Fermentations and Food Science (ภาษาอังกฤษ). Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-65270-4.
  15. Swartz, Wendy; Campany, Robert Ford; Lu, Yang; Choo, Jessey (2014-03-11). Early Medieval China: A Sourcebook (ภาษาอังกฤษ). Columbia University Press. ISBN 978-0-231-53100-9.
  16. 《東坡續集》卷十:《豬肉頌》:“洗凈鐺,少著水,柴頭罨煙燄不起。待他自熟莫催他,火候足時他自美。黃州好豬肉,價賤如泥土。貴者不肯食,貧者不解煮。早晨起來打兩碗,飽得自家君莫管。”
  17. "The land of the five flavors : a cultural history of Chinese cuisine | WorldCat.org". search.worldcat.org.
  18. Callaway, Ewen (2014-10). "Domestication: The birth of rice". Nature (ภาษาอังกฤษ). 514 (7524): S58–S59. doi:10.1038/514S58a. ISSN 1476-4687. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  19. Ma, Guansheng (2015-12-01). "Food, eating behavior, and culture in Chinese society". Journal of Ethnic Foods. 2 (4): 195–199. doi:10.1016/j.jef.2015.11.004. ISSN 2352-6181.
  20. "Chinese Rice Porridge (Congee) Recipe". Eating China (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
  21. Long, Tengwen; Leipe, Christian; Jin, Guiyun; Wagner, Mayke; Guo, Rongzhen; Schröder, Oskar; Tarasov, Pavel E. (2018-05). "The early history of wheat in China from 14C dating and Bayesian chronological modelling". Nature Plants (ภาษาอังกฤษ). 4 (5): 272–279. doi:10.1038/s41477-018-0141-x. ISSN 2055-0278. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  22. Zhang, Na; Ma, Guansheng (2016-09-01). "Noodles, traditionally and today". Journal of Ethnic Foods. 3 (3): 209–212. doi:10.1016/j.jef.2016.08.003. ISSN 2352-6181.
  23. Ramachandran, Uma (2002-09-26). "Traditional food formulation and its future: Examples from South Asia". Asia Pacific Journal of Clinical Nutrition. 11 (s6). doi:10.1046/j.1440-6047.11.s6.2.x. ISSN 0964-7058.
  24. Yu, Hansong; Liu, Ruixue; Hu, Yaohui; Xu, Baojun (2017-12-31). "Flavor profiles of soymilk processed with four different processing technologies and 26 soybean cultivars grown in China". International Journal of Food Properties. 20 (sup3): S2887–S2898. doi:10.1080/10942912.2017.1382507. ISSN 1094-2912.
  25. Han, Enze (2024). The ripple effect: China's complex presence in Southeast Asia (First edition ed.). New York: Oxford University Press. ISBN 978-0-19-769658-3. {{cite book}}: |edition= has extra text (help)
  26. "Winter Melon Soup Recipe - Simple Chinese Food". simplechinesefood.com.
  27. "Chinese Food Cultural Profile". EthnoMed (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  28. Jurafsky, Dan (2009-10-06). "The Language of Food: Dessert". The Language of Food.
  29. "The Cultural Heritage of China :: Food & Drink :: Cuisine :: Introduction". www.ibiblio.org.
  30. "稻香村 - 北京特产介绍|北京特产门店 - 北京旅游网". web.archive.org. 2017-01-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-01-13. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
  31. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-14. สืบค้นเมื่อ 2008-04-16.
  32. http://www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9510000050613[ลิงก์เสีย]
  33. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-18. สืบค้นเมื่อ 2008-04-16.
  34. Easy Chinese Cooking. พิมพ์ครั้งที่ 2. กทม. อมรินทร์. 2551. หน้า 16 - 18
  35. Q. Hong & F. Chunjian. Origins of Chinese Tea and Wine. Asiapac Books Pte Ltd. 2005.ISBN 9812293698.
  36. "Craft beer in China: A brief and complete history - SupChina". web.archive.org. 2020-08-23. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-23. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  37. sina_mobile (2017-02-16). "为什么中国人使用筷子,西方人使用刀叉?". think.sina.cn.
  38. "Where did British Chinese food come from? in 2023". web.archive.org. 2023-05-21. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-05-21. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  39. Cooper, Eugene (1986). "Chinese Table Manners: You Are How You Eat". Human Organization. 45 (2): 179–184.
  40. "Chinese Food Culture - Understand your behavior when eating in China". web.archive.org. 2021-11-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-11-08. สืบค้นเมื่อ 2024-12-01.
  41. Ma, Guansheng (2015-12-01). "Food, eating behavior, and culture in Chinese society". Journal of Ethnic Foods. 2 (4): 195–199. doi:10.1016/j.jef.2015.11.004. ISSN 2352-6181.
  42. "Kaifeng: A Chinese Jewish Haven". www.flavorandfortune.com.
  43. Andrew Coe, Chop Suey: A Cultural History of Chinese Food in the United States (2009)
  44. Yong Chen, Chop Suey, USA: The Story of Chinese Food in America (2014)
  45. "Chinese Influence". Feast Thailand (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย).
Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9