วัดศาลาแดงเหนือ
วัดศาลาแดงเหนือ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ในตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ประวัติชาวมอญเมืองเมาะตะมะที่อพยพมา เนื่องจากพ่ายแพ้สงครามพม่า จึงพากันอพยพครอบครัวเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นการอพยพครั้งที่ 8 ของชาวมอญเข้าสู่ประเทศไทย[1] ได้ตั้งบ้านเรือนและได้สร้างวัดศาลาแดงเหนือไว้ในราว พ.ศ. 2382 วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2409 ชื่อวัด ศาลาแดง หรือ เภียปราน ในภาษามอญที่แปลว่า "วัดไม้แดง" มาจากชื่อ บ้านศาลาแดง เป็นชื่อหมู่บ้านและวัดไปตามชื่อบ้านเมืองเก่าของตนที่เมืองมอญ วัดเภียปรานที่เมืองมอญนั้นมีอยู่จริงที่เมืองเมาะตะมะ (แต่ปัจจุบันถูกทิ้งร้างไปแล้ว) ด้านทิศตะวันออกของตัววัดติดกับแม่น้ำสาละวิน ด้านทิศตะวันตกติดภูเขามีต้นไม้แดงอยู่มากที่มาของชื่อว่าวัดหรือบ้านศาลาแดง สันนิษฐานว่าหน่วยงานราชการไทยไม่สามารถถอดเสียงภาษามอญเป็นอักษรไทยได้ จึงอาศัยสิ่งที่มีอยู่ในวัดตั้งชื่อ เช่น เอาศาลาท่าน้ำหลังเก่ามาตั้งชื่อวัด อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลว่า วัดศาลาแดงเหนือนี้อาจเป็นชื่อที่มีมาแต่เดิม เพราะในอดีตเคยมีวัดศาลาแดงใต้อยู่บริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงใต้คลองเชียงรากใหญ่ ปัจจุบันวัดนี้ได้ถูกยุบรวมกับวัดเกรินไปแล้ว[2] เสนาสนะภายในวัดพบสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่น่าสนใจดังนี้ ศาลาการเปรียญสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2417 เดิมเป็นโรงโขนหลวงที่กรุงเทพ มีหน้าบันไม้ฉลุลวดลายอันงดงาม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์และพระประธานในโบสถ์เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยา บนศาลามีตู้พระพุทธรูปดัดแปลงจากธรรมาสน์ลายจำหลักไม้ และมีการสวดมนต์ภาษามอญทุกวัน บนกุฏิมีเครื่องกรองน้ำสมัยโบราณที่เกิดจาก ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งหาชมได้ยาก[3] วิหารหลวงปู่บุนนาค เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อโลหะ หอไตรก่ออิฐถือปูนอยู่กลางสระน้ำใน พ.ศ. 2473 สร้างแทนหอไตรหลังเดิมที่เป็นอาคารไม้หลังคามุง กุฏิสงฆ์ทรงปั้นหยา สร้างใน พ.ศ. 2451 เพื่อใช้เป็นกุฏิของหลวงปู่บุนนาค อดีตเจ้าอาวาสวัดศาลาแดงเหนือ ตั้งอยู่ติดกับหอสวดมนต์ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงาม กรอบหน้าต่างด้านบนทำเป็นช่องแสงฉลุลายพรรณพฤกษาแบบตะวันตก เจดีย์มอญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นของเก่ามีมาแต่แรกสร้างวัดอย่างน้อยก็ตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2409 ขึ้นมาเล็กน้อย เดิมเป็นเจดีย์ทรงจอมแห มีฐานองค์ระฆัง ปล้องไฉน และปลียอดแบบมอญ ต่อมาใน พ.ศ. 2525 องค์เจดีย์ถูกกิ่งไม้ล้มทับเสียหาย ปี พ.ศ. 2533 ได้รับการบูรณะเปลี่ยนแปลงรูปทรงไปจากเดิม และหอระฆัง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาการเปรียญ เป็นหอระฆังไม้ทรงไทยขนาดเล็กเครื่องบนมีใบระกาหางหงษ์ครบถ้วน ตั้งบนเสายกสูงสี่ต้นด้านบนแขวนระฆัง[2] อ้างอิง
|