Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

 

ราชประสงค์

สี่แยก ราชประสงค์
แผนที่
ชื่ออักษรไทยราชประสงค์
ชื่ออักษรโรมันRatchaprasong
รหัสทางแยกN054 (ESRI), 003 (กทม.)
ที่ตั้งแขวงปทุมวันและแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ทิศทางการจราจร
ถนนราชดำริ
» แยกประตูน้ำ
ถนนเพลินจิต
» แยกชิดลม
ถนนราชดำริ
» แยกราชดำริ
ถนนพระรามที่ 1
» แยกเฉลิมเผ่า

ราชประสงค์ เป็นชื่อสี่แยกและย่านการค้าสำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่แขวงปทุมวันและแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เป็นจุดตัดระหว่างถนนราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 และถนนเพลินจิต โดยเมื่อรวมกับย่านสยามที่อยู่ติดกันแล้วจึงถูกเรียกรวมว่า "ย่านการค้าใจกลางเมือง"

ป้ายชื่อทางแยกราชประสงค์

ย่านราชประสงค์เป็นสถานที่ประดิษฐานศาลเทพเจ้าต่าง ๆ ทั้งสิ้น 6 ศาล บางคนจึงเรียกสี่แยกนี้ว่า "แยก 6 เทพ" ซึ่งเทพทั้งหกองค์นั้นเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ จากคำขวัญของเขตปทุมวันที่ว่า "บูชาท้าวมหาพรหม ชื่นชมวังสมเด็จย่า ศูนย์การค้ามากมี ลุมพินีสวนสาธารณะ ศิลปะมวยไทย สถานีรถไฟหัวลำโพง เชื่อมโยงรถไฟฟ้า สถานศึกษาเลื่องชื่อ นามระบือจุฬาลงกรณ์" ล้วนแล้วแต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับย่านราชประสงค์นี้อย่างมาก รวมไปถึงการมีจุดเชื่อมโยงรถไฟฟ้าอีกด้วย เพราะย่านราชประสงค์อยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าถึง 3 สถานี โดยมีสถานีหลักคือสถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางของรถไฟฟ้าบีทีเอสทั้ง 2 สาย คือสายสุขุมวิทกับสายสีลม บนถนนพระรามที่ 1 ในพื้นที่ย่านสยาม และมีสถานีย่อยอีก 2 สถานี คือสถานีชิดลมของสายสุขุมวิทบนถนนเพลินจิต และสถานีราชดำริของสายสีลมบนถนนราชดำริ[1]

บริเวณย่านราชประสงค์ยังมีสำนักงานราชการที่สำคัญตั้งอยู่จำนวนมาก เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การไฟฟ้านครหลวง และราชกรีฑาสโมสร ฯลฯ นอกจากนี้ ย่านราชประสงค์ยังมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมักถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุมในช่วงวิกฤตการณ์ของประเทศอยู่บ่อยครั้ง

ประวัติ

ภูมิหลัง

ก่อน พ.ศ. 2325 บริเวณย่านราชประสงค์แต่เดิมเป็นทุ่งนาและสระบัวเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งบางกะปิ ในช่วงนั้นจัดอยู่เป็นชานพระนคร มีการเดินทางได้อย่างยากลำบาก จนเมื่อ พ.ศ. 2380 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการขุดคลองแสนแสบ ด้วยพระราชประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งอาวุธยุทธภัณฑ์ กำลังรบและเสบียงอาหารไปยังญวน[2] ซึ่งในเวลาต่อมาได้เริ่มมีการอพยพผู้คนเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณริมคลองแสนแสบ เป็นชุมชนขนาดเล็กที่มีความหนาแน่นของบ้านเรือนเบาบาง ปลูกสร้างแบบท้องถิ่นจากวัสดุที่หาง่ายในท้องที่

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อขึ้นครองราชย์ต้องประทับอยู่แต่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ทรงรู้สึกอึดอัดไม่มีสถานที่กว้างขวางให้เป็นที่ทรงสำราญพระอิริยาบถ ในปี พ.ศ. 2396 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดลอกสระกว้าง 2 สระขึ้นที่ริมคลองแสนแสบฝั่งใต้ซึ่งเป็นที่นาหลวงและสร้างพระราชวังตากอากาศเรียกว่า พระราชวังปทุมวัน รวมถึงสร้างพระอารามนามว่า วัดปทุมวนาราม[3]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนพระรามที่ 1 รวมถึงสร้างถนนราชดำริ โดยการขุดคลองขนานกับถนนทางฝั่งซ้ายของถนน (คลองถูกถมไปเมื่อ พ.ศ. 2500) เริ่มตั้งแต่ตำบลศาลาแดง (ถนนสีลม) ผ่านทุ่งปทุมวันตรงขึ้นไปทางทิศเหนือถึงคลองบางกะปิ (คลองแสนแสบ) หรือแยกประตูน้ำในปัจจุบัน เปิดใช้ถนนเมื่อ พ.ศ. 2445[4]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานที่ดินบริเวณพระราชวังปทุมวันให้แก่พระอนุชา คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย เพื่อสร้างเป็นวังเพ็ชรบูรณ์[5]

กำเนิดย่าน

พ.ศ. 2448 มีการสร้างประตูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำในคลองแสนแสบ เพื่อใช้ในการเกษตรแก่ราษฎร พ.ศ. 2450 มีรถรางกรุงเทพเชื่อมระหว่างถนนสีลมกับย่านประตูน้ำ พ.ศ. 2451 รถเมล์นายเลิศวิ่งระหว่างสี่พระยาถึงสีลมและจากสีลมถึงประตูน้ำ[6] พ.ศ. 2452 มีการสร้างสะพานเฉลิมโลก 55 บริเวณประตูน้ำเริ่มแลกเปลี่ยนสินค้าเกิดเป็นตลาด[7]

เมื่อ พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณ ขึ้นบริเวณย่านราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ แต่การก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุมากมายจึงได้มีการตั้งศาลท้าวมหาพรหม ได้อัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499[8] โรงแรมเอราวัณถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2531 เพื่อสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ในชื่อ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

พ.ศ. 2504–2513 ช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านการสัญจรจากทางน้ำมาเป็นทางบกเป็นหลัก เกิดรูปแบบการค้าแบบใหม่ เปลี่ยนจากการค้าปลีกแบบห้องแถวเช่ามาเป็นห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้าในอาคารพาณิชย์ (ตึกแถว) สูง 3–4 ชั้น เป็นการรวมสินค้าหลายชนิดมารวมไว้ที่เดียวกัน[7]

ไทยไดมารูที่ราชดำริอาเขต ห้างสรรพสินค้าไทยสัญชาติญี่ปุ่น เปิดบริการครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2507 ย่านราชดำริและราชประสงค์ถือเป็นทำเลที่เหมาะสมสำหรับยุคนั้น เพราะมีสำนักงานของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นตั้งอยู่จำนวนหนึ่ง[9] ห้างประสบความสำเร็จส่งผลทำให้เกิดกระแสพัฒนาพื้นที่ในบริเวณนั้น เช่นมีสถานเริงรมย์ชื่อ "ย่านเกสร" เป็นลานโบว์ลิงและคอฟฟีช็อปซึ่งขยายกิจการจากย่านพัฒน์พงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2517 เซ็นทรัลเปิดสาขาที่ 2 ที่ราชดำริ (ภายหลังปิดตัว)[10] เดอะมอลล์สาขาแรกเปิดตัวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2524 แต่ก็ต้องปิดตัวไปในปี พ.ศ. 2531 ซึ่งต่อมาภายหลังได้ให้ บริษัท นารายณ์ภัณฑ์พาวิลเลี่ยน จำกัด เช่าดำเนินการ เป็นศูนย์ศิลปหัตถกรรม[11]

ปี พ.ศ. 2525–ปัจจุบัน

พ.ศ. 2525 กลุ่มบริษัท วังเพ็ชรบูรณ์ ของนายอุเทน เตชะไพบูลย์ เข้ามาประมูลที่ดินบริเวณนั้น จำนวน 75 ไร่ และก่อตั้งศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2532 ในเวลาต่อมา ในปี พ.ศ. 2545 บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จึงได้เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการต่อและบูรณะซ่อมแซม จนเกิดเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซา และภายหลังตัดคําพลาซาออกเหลือเพียง เซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550[12] ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์ เปิดบริการ พ.ศ. 2528 เกษรวิลเลจเปิดทำการตั้งแต่ พ.ศ. 2537 อาคารมณียาเซ็นเตอร์เปิดทำการเมื่อปี 2531[13]

มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าช่วงปี 2537-2538 และเสร็จในปี พ.ศ. 2542 การเปิดบริการรถไฟฟ้าบีทีเอส[7] บิ๊กซี สาขาราชดำริเปิดเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 ได้เปิดศูนย์การค้าใหม่ติดถนนราชดำริ[14] ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงค็อกเป็นการลงทุนและบริหารโดยเดอะ แพลทินัม กรุ๊ป ในรูปแบบโครงการมิกซ์ยูส มีพื้นที่ 21 ไร่ ประกอบด้วย 2 อาคาร มีศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงค็อก เปิดบริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[15]

จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ. 2561 ย่านราชประสงค์มีห้องพักโรงแรมระดับ 5 ดาว กว่า 4,000 ห้อง พื้นที่ช้อปปิ้งรวม 884,200 ตารางเมตร ร้านค้าภายในย่าน 5,500 ร้านค้า และอาคารสำนักงาน 169,000 ตารางเมตร[16]

ย่านราชประสงค์มีเครือข่ายเส้นทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์ก โดยเมื่อ พ.ศ. 2545 มีการสร้างสกายวอล์กเชื่อมการเดินทางจากรถไฟฟ้าสถานีชิดลมถึงย่านราชประสงค์ เข้าสู่อาคารต่าง ๆ ในย่านราชประสงค์ ระยะทาง 150 เมตร ต่อมา พ.ศ. 2548 ได้ขยาย ราชประสงค์สกายวอลก์ ระยะ 2 เชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้า ตั้งแต่ย่านราชประสงค์ ถึงแยกเฉลิมเผ่า ระยะทาง 500 เมตร พ.ศ. 2554 สร้างเส้นทางเชื่อมต่อทางเดินลอยฟ้าจากเกสรวิลเลจ ไปยังศูนย์การค้าเดอะ แพลทินัม รวมระยะทาง 500 เมตร ภายใต้ชื่อ แบงค็อกสกายไลน์ พ.ศ. 2561 ดำเนินการเชื่อมต่อจากทิศตะวันออกสู่ทิศตะวันตก (เริ่มต้นสถานีรถไฟฟ้าชิดลม มุ่งสู่แยกเฉลิมเผ่า ความยาวกว่า 650 เมตร) และทิศใต้ สู่ทิศเหนือ (จากย่านราชประสงค์ ผ่านเกษรวิลเลจ สู่ เดอะ แพลทินัม ความยาว 500 เมตร รวมระยะ 1,150 เมตร เรียกว่า ราชประสงค์วอล์ก หรือ R-Walk[16]

พ.ศ. 2566 เปิดสวนปทุมวนานุรักษ์ที่เคยเป็นที่ตั้งของชุมชนโรงปูน มีบ้านมากกว่า 1,000 หลังคา ตั้งอยู่บนเนื้อที่ 40 ไร่ ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เริ่มปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นสาธารณะในปี พ.ศ. 2558 และแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2561 แต่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ เนื่องจากยังมีบ้านจำนวน 3 หลังที่ยังไม่ได้ย้ายออกจากพื้นที่[17]

ในปี 2567 เกษรอัมรินทร์ ได้เปิดตัว คาเฟ่หลุยส์วิตอง LV the palace[18][19]

สถานที่สำคัญบริเวณทางแยก

ศูนย์การค้า

บิ๊กซี สาขาราชดำริ (ฝั่งซ้าย) และโรงแรมอโนมา (ฝั่งขวา)
เกษรทาวเวอร์ (ฝั่งซ้าย) และ เกษรวิลเลจ (ฝั่งขวา)
ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ

โรงแรมระดับ 5 ดาว

โรงแรมระดับ 4 ดาว

  • โรงแรมอโนมา
  • โรงแรมอะโฟรดิตี้ อินน์

โรงแรมระดับอื่นๆ

  • โรงแรมบางกอก ซิตี้ อินน์ (ระดับ 3 ดาวครึ่ง)

ศาลเทพเจ้า

ปัจจุบันมีศาลเทพเจ้าฮินดูทั้งหมดเก้าศาล ในจำนวนนี้มีศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณที่เป็นที่รู้จักกันมาก

โรงพยาบาล

สถานที่สำคัญทางราชการ

เหตุการณ์สำคัญ

การชุมนุมของ นปช. พ.ศ. 2553

ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เริ่มใช้พื้นที่ย่านราชประสงค์ เป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม จนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม จากนั้นเกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร มีการยิงกระสุนปืน ยิงระเบิด และเกิดเพลิงไหม้ในหลายพื้นที่ ลุกลามไปสู่จังหวัดปริมณฑลและต่างจังหวัด เป็นผลให้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เกิดเพลิงไหม้เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไม่สามารถเข้าควบคุมเพลิงได้ เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีความปลอดภัย และถูกขัดขวางการปฏิบัติงานจากกลุ่มผู้ชุมนุม จนกระทั่งอาคารฝั่งห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลง และยังมีควันคุกรุ่นอยู่อีกหลายวัน จนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม จึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ เป็นผลให้ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดทำการ เพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมห้าง ในส่วนของเซนดีพาร์ตเมนต์สโตร์ทั้งหมด และยังมีส่วนของโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ซินีมา และอุทยานการเรียนรู้ ทีเคปาร์ก ที่ต้องปรับปรุงใหม่

ซึ่งในคืนวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554 พรรคประชาธิปัตย์จัดการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2554 ที่ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น[20]

ระเบิดย่านราชประสงค์

เมื่อเวลา 18.53 น.วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เกิดระเบิดที่ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ สามารถจับผู้วางระเบิดได้แล้วคือนายยูซูฟุ ไมรารี และนายอาเด็ม คาราดัก โดยทั้งสองคนได้ซัดทอดว่ามีคนไทยอยู่เบื่องหลังการก่อเหตุในครั้งนี้ คือนายอ๊อด พยุงวงษ์ และนางสาววรรณา สวนสัน ซึ่งในขณะนี้เชื่อว่าออกนอกประเทศไปแล้ว

การเดินทางไปย่านราชประสงค์

  • รถไฟฟ้าบีทีเอส โดยนั่งมาลงที่สถานีสยามหรือสถานีชิดลมแล้วเดินบนสกายวอล์ค (Sky Walk)เป็นเวลา 8 นาทีจากสถานีสยามหรือ 2 นาทีจากสถานีชิดลม โดยบริเวณสกายวอล์คจะมีทางเชื่อมเข้าห้างเกษร พลาซ่า, ห้างเอราวัณ, ห้างเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างอัมรินทร์, อาคารสำนักงานมณียา เซ็นเตอร์และโรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนทัล
  • รถประจำทาง โดยนั่งมาลงที่หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างบิ๊กซี, วัดปทุมวนาราม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายที่ผ่านมีดังนี้ 2, 13, 14, 15, 16, 17, 25, 40, 48, 54, 73, 74, 77, 79, 204, 501, 504, 505, 508, 511, 514, A3
  • เรือโดยสาร สามารถโดยสารเรือนี้มาลงที่ท่าสะพานเฉลิมโลก

อ้างอิง

  1. "ทัวร์ไหว้ 6 เทพศักดิ์สิทธิ์กลางกรุงย่านราชประสงค์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-23. สืบค้นเมื่อ 2011-06-24.
  2. "คลองแสนแสบมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่". ข่าวสด.
  3. โรม บุนนาค. "จากสระอโนดาตแหล่งสำราญของสนมนางในสมัย ร.๔! มาเป็นแดนอาถรรพ์ราชประสงค์!!". ผู้จัดการออนไลน์.
  4. "ราชดำริ ถนนสายประวัติศาสตร์ที่ผลิดอกเป็นศูนย์กลางย่านเศรษฐกิจ". เดอะแมตเทอร์.
  5. "อาถรรพณ์วังเพชรบูรณ์". ไทยรัฐ.
  6. "พลิกตำนานรถเมล์ไทย จากปฐมบทรถนายเลิศ สู่สารพัดสีเกือบ 500 เส้นทาง". ไทยรัฐ.
  7. 7.0 7.1 7.2 นรา พงษ์พานิช. "แนวทางการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่พาณิชยกรรมย่านราชประสงค์" (PDF). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สถาปัตยกรรมศาสตร์.
  8. "องค์เทพศักดิ์สิทธิ์ราชประสงค์ "พระพรหมเอราวัณ" (ศาลท้าวมหาพรหม)". ผู้จัดการออนไลน์.
  9. "แรกมี "บันไดเลื่อน" ที่ห้างสรรพสินค้าในตำนาน "ไทย ไดมารู"". ศิลปวัฒนธรรม.
  10. "ย้อนรอย 40 ปี "ทุกข์" และ "สุข" ของโรบินสัน". marketeeronline.co.
  11. "The Mall Ratchadamri".
  12. "เปิดตำนาน 'แยกราชประสงค์' อาถรรพ์ที่ดินต้องคำสาป". ไบรท์ทีวี.
  13. https://www.bangkokoffice.net/content/7551/อาคาร-มณียา-เซ็นเตอร์ มณียา
  14. "ภาคผนวกที่ 3 บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์" (PDF).
  15. "ดองกิ ปิดสาขา The Market Bangkok ย่านราชประสงค์". ประชาชาติธุรกิจ.
  16. 16.0 16.1 "5 เบื้องหลังดัน "ย่านราชประสงค์" เป็น "World-class Shopping Destination" เทียบชั้นย่านกินซ่า". marketingoops.
  17. ""สวนปทุมวนานุรักษ์" เสร็จแต่เปิดไม่ได้ 5 ปี มหากาพย์ต่อสู้ไล่รื้อบ้านในสวน". คมชัดลึก.
  18. "'หลุยส์ วิตตอง' สู่ LV The Place Bangkok แห่งแรกในไทยที่ 'เกษรอัมรินทร์'". bangkokbiznews. 2024-03-01.
  19. Chaimongkoltrakul, Janenita (2024-03-14). "Louis Vuitton เปิดตัว 'LV THE PLACE BANGKOK' ที่เเรกในไทย ณ ศูนย์การค้าเกษรอัมรินทร์". L'Officiel Thailand (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  20. เปิดแผน ปชป.ปราศรัย "ราชประสงค์" เน้นเล่าเหตุการณ์ชุมนุม เก็บถาวร 2011-06-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากเนชั่นแชนแนล

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′41″N 100°32′25″E / 13.744604°N 100.540251°E / 13.744604; 100.540251

Kembali kehalaman sebelumnya


Index: pl ar de en es fr it arz nl ja pt ceb sv uk vi war zh ru af ast az bg zh-min-nan bn be ca cs cy da et el eo eu fa gl ko hi hr id he ka la lv lt hu mk ms min no nn ce uz kk ro simple sk sl sr sh fi ta tt th tg azb tr ur zh-yue hy my ace als am an hyw ban bjn map-bms ba be-tarask bcl bpy bar bs br cv nv eml hif fo fy ga gd gu hak ha hsb io ig ilo ia ie os is jv kn ht ku ckb ky mrj lb lij li lmo mai mg ml zh-classical mr xmf mzn cdo mn nap new ne frr oc mhr or as pa pnb ps pms nds crh qu sa sah sco sq scn si sd szl su sw tl shn te bug vec vo wa wuu yi yo diq bat-smg zu lad kbd ang smn ab roa-rup frp arc gn av ay bh bi bo bxr cbk-zam co za dag ary se pdc dv dsb myv ext fur gv gag inh ki glk gan guw xal haw rw kbp pam csb kw km kv koi kg gom ks gcr lo lbe ltg lez nia ln jbo lg mt mi tw mwl mdf mnw nqo fj nah na nds-nl nrm nov om pi pag pap pfl pcd krc kaa ksh rm rue sm sat sc trv stq nso sn cu so srn kab roa-tara tet tpi to chr tum tk tyv udm ug vep fiu-vro vls wo xh zea ty ak bm ch ny ee ff got iu ik kl mad cr pih ami pwn pnt dz rmy rn sg st tn ss ti din chy ts kcg ve 
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9